ทำให้พระยะโฮวาพอพระทัยโดยการแสดงความกรุณา
“พระยะโฮวาทรงพระประสงค์อะไรจากท่านเล่า นอกจากทำการยุติธรรมและรักความเมตตากรุณาและดำเนินชีวิตอย่างสุภาพเคียงคู่กันไปกับพระเจ้าของท่าน?”—มีคา 6:8.
1, ทำไมเราไม่น่าจะประหลาดใจที่พระยะโฮวาทรงคาดหมายให้พลไพร่ของพระองค์แสดงความกรุณา?
พระยะโฮวาทรงคาดหมายให้ไพร่พลของพระองค์สำแดงความกรุณา. เรื่องนี้ไม่น่าจะยังความประหลาดใจแก่พวกเรา. พระเจ้าเองทรงเมตตากรุณาต่อคนทั้งปวงกระทั่งต่อคนชั่วที่ไม่รู้จักขอบคุณด้วยซ้ำ. ในเรื่องนี้พระเยซูคริสต์ทรงกำชับสาวกของพระองค์ว่า “จงรักศัตรูของท่านทั้งหลายและทำการดีต่อเขา จงให้เขายืมโดยไม่พะวงที่จะได้คืนอีก บำเหน็จของท่านทั้งหลายจึงจะมีบริบูรณ์ และท่านทั้งหลายจะเป็นบุตรของผู้สูงสุด เพราะว่าพระองค์ยังทรงโปรดแก่คนอกตัญญูและคนชั่ว. ท่านทั้งหลายจงมีความเมตตากรุณาเหมือนอย่างพระบิดาของท่านมีพระทัยเมตตาปรานี.”—ลูกา 6:35, 36.
2. เราควรพิจารณาคำถามอะไรบ้างซึ่งเกี่ยวกับความกรุณา?
2 ดังคำแถลงในมีคา 6:8 ผู้ที่ดำเนินกับพระเจ้าต้อง “รัก ความเมตตากรุณา” จริง ๆ. ปรากฏชัดว่า พระยะโฮวาทรงพอพระทัยเมื่อผู้รับใช้ของพระองค์รักความเมตตากรุณาและสำแดงความกรุณาจากใจจริง ๆ. ทว่าความกรุณาคืออะไร? มีคุณประโยชน์อะไรบ้างสืบเนื่องจากการแสดงความกรุณา? และจะสำแดงคุณลักษณะนี้โดยวิธีใด?
สิ่งที่ความกรุณาหมายถึง
3. คุณจะนิยามความกรุณาอย่างไร?
3 ความกรุณาเป็นคุณลักษณะแสดงความเอาใจใส่ผู้อื่นอย่างจริงจัง. คนเราแสดงความกรุณาโดยการกระทำในทางช่วยเหลือและคำพูดอย่างที่คำนึงถึงผู้อื่น. การเป็นคนกรุณาหมายถึงการทำดีแทนการทำสิ่งใด ๆ ที่จะเสียหาย. ผู้ที่กรุณาย่อมมีอัธยาศัยไมตรี สุภาพ เห็นอกเห็นใจ และมีมารยาทอันควร. เขาเป็นคนใจกว้าง มีท่าทีแสดงการเอาใจใส่ต่อผู้อื่น. และความกรุณาเป็นส่วนแห่งอาภรณ์ตกแต่งร่างกายโดยนัยของคริสเตียนแท้ทุกคน เพราะอัครสาวกเปาโลได้ตักเตือนว่า “จงสวมความเอ็นดูอย่างลึกซึ้ง ความกรุณา ใจถ่อม ความอ่อนสุภาพ และความอดกลั้นไว้นาน.”—โกโลซาย 3:12, ล.ม.
4, พระยะโฮวาทรงนำหน้าอย่างไรในการแสดงความกรุณาต่อมนุษยชาติ?
4 พระยะโฮวาทรงนำหน้าในการแสดงความกรุณา. อย่างที่อัครสาวกเปาโลกล่าวดังนี้: “แต่ว่าเมื่อพระเจ้าผู้เป็นที่รอดของเราทรงพระกรุณาโปรดและประทานความรักแก่มนุษย์ให้ปรากฏแล้ว พระองค์ได้ทรงช่วยเราให้รอดโดยชำระให้เรามีใจบังเกิดใหม่ และโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงสร้างขึ้นใหม่.” (ติโต 3:4, 5) พระเจ้าทรงชำระหรือ ‘ล้าง.’ คริสเตียนผู้ถูกเจิมด้วยพระโลหิตของพระเยซู ทรงใช้บารมีคุณแห่งเครื่องบูชาไถ่ของพระคริสต์เพื่อเขาทั้งหลาย. บุคคลเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นใหม่โดยทางพระวิญญาณบริสุทธิ์ กลายเป็น “สิ่งใหม่” ฐานะบุตรฝ่ายวิญญาณที่พระเจ้าทรงให้กำเนิด. (2 โกรินโธ 5:17) แน่นอน ความกรุณาของพระเจ้าและความรักที่พระองค์มีต่อมนุษย์แผ่ไปถึง “ชนฝูงใหญ่” แห่งนานาชาติเช่นกันซึ่ง “เขาได้ชำระเสื้อยาวของเขาและทำให้ขาวในพระโลหิตของพระเมษโปดก.” (วิวรณ์ 7:9, 14, ล.ม.; 1 โยฮัน 2:1, 2) ยิ่งกว่านั้น เหล่าชนผู้ถูกเจิมและชนฝูงใหญ่ที่มีความหวังทางแผ่นดินโลกต่างก็เข้ามาอยู่ภายใต้แอก “อันพอเหมาะ” ของพระเยซู.—มัดธาย 11:30, ล.ม.
5. เหตุใดเราควรคาดหมายผู้ที่รับการทรงนำจากพระวิญญาณของพระเจ้าจะแสดงความกรุณาแก่คนอื่น?
5 อีกประการหนึ่ง ความกรุณาเป็นผลแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์หรือพลังปฏิบัติการของพระเจ้าเช่นกัน. เปาโลได้กล่าวว่า “ผลแห่งพระวิญญาณคือ ความรัก ความยินดี สันติสุข ความอดกลั้นทนนาน ความกรุณา ความดี ความเชื่อ ความอ่อนสุภาพ การรู้จักบังคบตน. การเช่นนี้ไม่มีกฎหมายห้ามเลย.” (ฆะลาเตีย 5:22, 23, ล.ม.) ดังนั้น เราน่าจะคาดหมายอะไรจากคนเหล่านั้นที่พระวิญญาณของพระเจ้าทรงนำเขา? แน่ทีเดียว พวกเขาย่อมจะแสดงความกรุณาต่อผู้อื่น.
6. ความกรุณาน่าจะเป็นเหตุให้ผู้ปกครองและคริสเตียนคนอื่น ๆ ปฏิบัติอย่างไร?
6 คนเราสามารถแสดงความกรุณาให้ปรากฏได้ในหลายทาง. เราแสดงความกรุณาเมื่อเราเป็นคนมีใจเมตตา. ยกตัวอย่าง คริสเตียนผู้ปกครองแสดงความกรุณาเมื่อเขาแสดงความเมตตาต่อผู้กระทำผิดที่สำนึกและกลับใจ และพยายามช่วยเขาทางด้านวิญญาณ. คุณลักษณะแห่งความกรุณาตามที่พระเจ้าประทานได้ทำให้ผู้ดูแลเป็นคนพากเพียรอดทน เอาใจใส่ผู้อื่น รักใคร่สงสารและสุภาพอ่อนโยน. ความกรุณาเป็นแรงกระตุ้นเขาให้ปฏิบัติต่อ ‘ฝูงแกะด้วยความอ่อนโยน.’ (กิจการ 20:28, 29) ที่จริง ผลแห่งพระวิญญาณอันได้แก่ความกรุณาน่าจะทำให้คริสเตียนทุกคนมีความเมตตา เพียรอดทน คำนึงถึงผู้อื่น รักใคร่สงสาร มีไมตรีจิต และโอบอ้อมอารี.
หลีกเลี่ยงการแสดงความกรุณาอย่างไม่บังควร
7. เหตุใดคุณจะกล่าวได้ว่าการแสดงความกรุณาที่ไม่บังควรนั้นเป็นความอ่อนแอ?
7 บางคนถือว่าความกรุณาเป็นความอ่อนแอ. เขาคิดว่าคนเราต้องใจแข็งถึงกับหยาบคายในบางครั้ง เพื่อว่าคนอื่นจะเกิดความประทับใจในความเข้มแข็งของตน. แต่ก็มีการกล่าวไว้อย่างคมคายว่า “ความหยาบคายคือการเสแสร้งของคนอ่อนแอแสดงตัวเป็นคนเข้มแข็ง.” อันที่จริง จำต้องมีความเข้มแข็งอย่างแท้จริงที่จะเป็นคนกรุณาจริง ๆ และที่จะหลีกเลี่ยงความกรุณาอย่างไม่บังควร. ความกรุณาซึ่งเป็นผลแห่งพระวิญญาณของพระเจ้านั้นหาใช่ท่าทีอันอ่อนแอหรือยอมออมชอมต่อการประพฤติที่ไม่ถูกต้อง. แต่ความกรุณาอย่างไม่บังควรนั้นต่างหากเป็นความอ่อนแอ เป็นการไม่เอาผิดกับการกระทำที่ไม่ถูกต้อง.
8. (ก) ในกรณีเกี่ยวกับบุตรชายของเขา เอลีเป็นบิดาที่หย่อนยานอย่างไร? (ข) ทำไมพวกผู้ปกครองต้องระมัดระวังเพื่อที่จะไม่แสดงความกรุณาอย่างไม่บังควร?
8 เอลีมหาปุโรหิตแห่งยิศราเอลเป็นคนไม่เข้มงวดในการตีสอนบุตรชายของตนคือฮฟนีกับพีนะฮาศ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ปุโรหิตในพลับพลาประชุม. เมื่อไม่พอใจกับส่วนแบ่งเครื่องบูชาถวายตามที่กำหนดไว้ในพระบัญญัติของพระเจ้า บุตรทั้งสองได้สั่งคนรับใช้เรียกเก็บเอาเนื้อจากคนนำมาถวายก่อนจะได้มีการเผาเปลวมันบนแท่นด้วยซ้ำ. นอกจากนั้น บุตรของเอลียังได้ทำการผิดประเวณีร่วมหลับนอนกับหญิงรับใช้ตรงทางเข้าประตูพลับพลาประชุม. แทนที่เอลีจะไล่ฮฟนีและฟีนะฮาศออกจากหน้าที่ แต่เขาก็ได้ตำหนิโทษเพียงเบา ๆ เท่านั้น เป็นการให้เกียรติบุตรชายของเขามากกว่าพระเจ้า. (1 ซามูเอล 2:12-29) ไม่แปลกที่ “พระดำรัสของพระยะโฮวาไม่สู้จะมีในสมัยนั้น!” (1 ซามูเอล 3:1, ล.ม.) ฉะนั้น คริสเตียนผู้ปกครองต้องไม่ชักเหตุผลอย่างผิด ๆ หรือแสดงความกรุณาอย่างไม่บังควรซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสภาพฝ่ายวิญญาณของประชาคมได้. ความกรุณาที่แท้จริงย่อมจะไม่ปิดหูปิดตาต่อคำพูดและการกระทำที่ชั่วช้าซึ่งละเมิดมาตรฐานของพระเจ้า.
9. (ก) ทัศนะเช่นไรจะป้องกันไม่ให้เราตกเข้าสู่การแสดงความกรุณาที่ไม่บังควร? (ข) พระเยซูทรงแสดงความเข้มแข็งอย่างไรเมื่อทรงจัดการกับนักศาสนาที่ออกหาก?
9 ถ้าเราต้องการหลีกเลี่ยงการแสดงความกรุณาอย่างไม่บังควร เราต้องอธิษฐานขอการช่วยเหลือจากพระเจ้าเพื่อจะได้มาซึ่งความเข้มแข็ง ดังปรากฏในถ้อยแถลงของผู้ประพันธ์บทเพลงสรรเสริญว่า “แน่ะ คนทั้งปวงที่กระทำชั่ว จงไปให้พ้นจากข้าเถิด เพื่อข้าจะได้รักษาข้อบัญญัติแห่งพระเจ้าของข้า.” (บทเพลงสรรเสริญ 119:115) อนึ่ง เราพึงติดตามตัวอย่างของพระเยซูคริสต์ผู้ซึ่งไม่เคยกระทำผิดในการแสดงความกรุณาอย่างไม่บังควร. ที่จริง พระเยซูนั่นแหละทรงมีความกรุณาเต็มเปี่ยมในพระองค์เอง. ตัวอย่างเช่น ‘พระองค์ทรงรู้สึกรักใคร่สงสารประชาชน เพราะเขาถูกหลอกลวงและเตร็ดเตร่ไปเหมือนแกะไม่มีผู้เลี้ยง.’ เหตุฉะนั้น ผู้คนที่มีความสุจริตใจจึงพอใจจะเข้าพบพระเยซู กระทั่งได้นำลูกเล็กเด็กแดงไปหาพระองค์ด้วยซ้ำ และลองนึกภาพซิว่าพระองค์ได้ทรงสำแดงความกรุณารักใคร่ขนาดไหน เมื่อ “พระองค์ทรงอุ้มเด็กเล็ก ๆ เหล่านั้น วางพระหัตถ์บนเขา และทรงอวยพรให้!” (มัดธาย 9:36; มาระโก 10:13-16) แม้นว่าพระเยซูทรงกรุณา กระนั้นก็ดี พระองค์มั่นคงหนักแน่นสำหรับสิ่งถูกต้องในคลองพระเนตรพระบิดาทางภาคสวรรค์. พระเยซูไม่เคยอนุโลมตามการชั่ว พลังอันเข้มแข็งซึ่งพระเจ้าประทานให้นั้นทำให้พระองค์สามารถประกาศโทษผู้นำศาสนาที่หน้าซื่อใจคด. ในมัดธาย 23:13-26 พระองค์ตรัสซ้ำคำแถลงเช่นนั้นหลายหนว่า “วิบัติแก่เจ้า พวกอาลักษณ์และพวกฟาริซาย คนหน้าซื่อใจคด!” แต่ละครั้งพระเยซูทรงให้เหตุผลสำหรับการพิพากษาที่มาจากพระเจ้า.
ความกรุณาถูกเชื่อมโยงเข้ากับความรัก
10. สาวกของพระเยซูแสดงความกรุณาและความรักต่อเพื่อนร่วมความเชื่อโดยวิธีใด?
10 เกี่ยวกับสาวกของพระองค์ พระเยซูได้ตรัสว่า “โดยเหตุนี้คนทั้งปวงจะรู้ว่าเจ้าทั้งหลายเป็นสาวกของเรา ถ้าเจ้ามีความรักระหว่างพวกเจ้าเอง.” (โยฮัน 13:35, ล.ม.) และอะไรล่ะเป็นแง่มุมหนึ่งของความรักซึ่งระบุตัวสาวกแท้ของพระเยซู? เปาโลบอกว่า “ความรักอดทนนาน และแสดงความกรุณา.” (1 โกรินโธ 13:4, ล.ม.) การมีความอดทนนานและกรุณาหมายความว่า เราอดทนกับความไม่สมบูรณ์และความผิดพลาดของผู้อื่น ดังเช่นพระยะโฮวาทรงกระทำอย่างนั้นด้วยความกรุณา. (บทเพลงสรรเสริญ 103:10-14; โรม 2:4; 2 เปโตร 3:9, 15) ความรักและความกรุณาของคริสเตียนปรากฏออกมาด้วยเช่นกันเมื่อความยากลำบากเกิดขึ้นกับเพื่อนร่วมความเชื่อ ณ ที่หนึ่งที่ใดบนแผ่นดินโลก. ด้วยการตอบสนองไม่ใช่เพียงแต่ทำเพื่อ “มนุษยธรรม” คริสเตียนจากที่อื่น ๆ ได้แสดงความรักฉันพี่น้องดังกล่าวโดยได้บริจาควัตถุสิ่งของช่วยเหลือผู้นมัสการพระยะโฮวา.—กิจการ 28:2.
11. กล่าวตามหลักคัมภีร์ ความกรุณารักใคร่หมายความอย่างไร?
11 ความกรุณาถูกเชื่อมโยงเข้ากับความรักด้วยถ้อยคำที่ว่า “ความกรุณารักใคร่” ซึ่งใช้บ่อยในคัมภีร์ไบเบิล. ความกรุณาอย่างนี้เกิดจากความรักด้วยภักดี. คำนามภาษาฮีบรู “ความกรุณารักใคร่” หรือ (เชʹเซดห์) มีความหมายลึกซึ้งยิ่งกว่าเพียงการแสดงท่าทีอ่อนโยน. ความกรุณานี้เองซึ่งโดยความรักได้ถูกนำไปผูกโยงกับเป้าหมายกระทั่งวัตถุประสงค์ซึ่งเกี่ยวข้องอยู่ด้วยนั้นลุล่วงเป็นจริง. ความกรุณารักใคร่ของพระยะโฮวาหรือความรักภักดีแสดงให้ปรากฏหลายวิธีต่าง ๆ กัน. ตัวอย่างเช่น ได้แสดงออกเมื่อพระองค์ทรงดำเนินการช่วยให้รอดและคุ้มครอง.—บทเพลงสรรเสริญ 6:4; 40:11; 143:12.
12. เมื่อผู้รับใช้ของพระยะโฮวาทูลอธิษฐานขอการช่วยเหลือ หรือขอการช่วยให้รอด พวกเขาย่อมแน่ใจได้ในเรื่องใด?
12 ไม่เป็นที่น่าประหลาดใจ ความกรุณารักใคร่ของพระยะโฮวาชักนำผู้คนมาหาพระองค์! (ยิระมะยา 31:3) คราใดผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระเจ้าจำเป็นได้รับการช่วยให้รอดหรือการสงเคราะห์ พวกเขารู้ว่าความกรุณารักใคร่ของพระองค์เป็นความรักที่ซื่อสัตย์ จะไม่ปล่อยพวกเขาให้ระหกระเหิน. ดังนั้น ผู้รับใช้ของพระองค์สามารถทูลอธิษฐานด้วยความเชื่อ ดังท่านผู้ประพันธ์บทเพลงสรรเสริญซึ่งกล่าวว่า “แต่ข้าพเจ้าได้วางใจในพระกรุณาของพระองค์ ใจของข้าพเจ้าจะชื่นชมยินดีในความรอดของพระองค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 13:5) เพราะเหตุความรักของพระเจ้าเป็นความรักที่ภักดี ผู้รับใช้ของพระองค์จึงไม่วางใจในพระกรุณารักใคร่ของพระองค์อย่างไร้ประโยชน์. เมื่อเขาทูลอธิษฐานขอการสงเคราะห์หรือการช่วยให้รอด พวกเขามีคำรับรองดังนี้: “พระยะโฮวาจะไม่ทรงละทิ้งพลไพร่ของพระองค์ เหล่าคนที่เป็นมรดกของพระองค์นั้น พระองค์จะไม่ทรงละไว้.”—บทเพลงสรรเสริญ 94:14.
บำเหน็จของความกรุณา
13, 14. ทำไมผู้มีความกรุณาจึงมีเพื่อนที่ภักดี?
13 ด้วยการเลียนแบบพระยะโฮวา ผู้รับใช้ของพระองค์จึง “ประพฤติการประกอบด้วยคุณและความเมตตาต่อกันและกัน.” (ซะคาระยา 7:9; เอเฟโซ 5:1) “สิ่งที่ทำให้คนมีความปรารถนาคบค้าก็คือความอารีของคนนั้น ๆ” และผู้ที่สำแดงคุณลักษณะนี้ย่อมได้บำเหน็จบริบูรณ์. (สุภาษิต 19:22) บำเหน็จที่จะรับนั้นได้แก่อะไร?
14 ความกรุณาทำให้เราเป็นคนผ่อนหนักผ่อนเบา ด้วยเหตุนั้น จึงช่วยเราคงไว้ซึ่งความสัมพันธ์อันดีกับผู้อื่น. คนผ่อนหนักผ่อนเบามักจะพูดหรือทำการงานต่าง ๆ หรือจัดการกับสภาพที่ยุ่งยากด้วยการคำนึงถึงผู้อื่นและไม่ทำให้คนอื่นเบื่อหน่าย. ในขณะที่ “คนดุร้าย” ทำให้ตัวเองเดือดร้อน แต่ “ชายผู้เมตตาย่อมทำดีให้เกิดแก่วิญญาณของเขาเอง.” (สุภาษิต 11:17) ผู้คนหลีกห่างคนดุร้ายแต่จะเข้าใกล้ผู้ที่แสดงความกรุณารักใคร่ต่อเขา. ฉะนั้น คนมีใจกรุณาจึงมีเพื่อนที่ภักดีต่อตน.—สุภาษิต 18:24.
15. ความกรุณาอาจมีผลเช่นไรในครอบครัวที่เชื่อศาสนาต่างกัน?
15 ภรรยาคริสเตียนซึ่งสามีเป็นผู้ไม่เชื่อพระเจ้าก็อาจชักนำเขามาถึงสัจธรรมของพระเจ้าได้โดยคุณลักษณะแห่งความกรุณา. ก่อนภรรยาได้มารู้จักความจริง แล้วได้ “สวมใส่บุคลิกลักษณะใหม่ซึ่งถูกสร้างขึ้นตามพระประสงค์ของพระเจ้าในความชอบธรรมและความจงรักภักดีที่แท้จริง” เธออาจเคยขาดความกรุณา และชอบการโต้เถียงด้วยซ้ำ. (เอเฟโซ 4:24, ล.ม.) ถ้าสามีของเธอเคยรู้จักสุภาษิตบางข้อ เขาอาจเห็นพ้องทีเดียวว่า “การทะเลาะวิวาทของภรรยาก็เหมือนน้ำฝนย้อยหยดไม่หยุด” และ “อยู่ในแผ่นดินทุรกันดารดีกว่าอยู่กับผู้หญิงที่ขี้ทะเลาะและจู้จี้ขี้บ่น.” (สุภาษิต 19:13; 21:19, ฉบับแปลใหม่) มาบัดนี้ การประพฤติอันบริสุทธิ์และความนับถืออย่างลึกซึ้งของภรรยาคริสเตียนควบกับคุณลักษณะประการต่าง ๆ เป็นต้นว่า ความกรุณา ก็อาจจะชนะใจคู่สมรสให้หันมาหาความเชื่อที่แท้จริงได้. (1 เปโตร 3:1, 2) ใช่แล้ว ผลดีข้อนี้อาจเป็นบำเหน็จสำหรับภรรยาที่แสดงความกรุณา.
16. เราจะได้ประโยชน์อย่างไรจากความกรุณาที่ผู้อื่นแสดงต่อเรา?
16 การแสดงความกรุณาต่อเราอาจเป็นคุณประโยชน์ทำให้เราเป็นคนมีใจเมตตากรุณาและให้อภัยมากขึ้น. ตัวอย่างเช่น ถ้าเราต้องได้รับความช่วยเหลือฝ่ายวิญญาณ และก็มีคนปฏิบัติต่อเราอย่างกรุณา และด้วยท่าทีอันอ่อนโยน ทั้งนี้คงทำให้เรานึกอยากจะปฏิบัติกับคนอื่นด้วยวิธีคล้าย ๆ กันมิใช่หรือ? นั่นแหละ เราน่าจะคาดหมายได้ว่าผู้ชายมีคุณวุฒิฝ่ายวิญญาณจะปฏิบัติด้วยความกรุณาและอ่อนสุภาพ เพราะเปาโลเขียนดังนี้: “พี่น้องทั้งหลาย ถ้าแม้นผู้ใดก้าวพลาดไปประการใดก่อนที่เขารู้ตัว ท่านทั้งหลายผู้มีคุณวุฒิฝ่ายวิญญาณจงพยายามปรับคนเช่นนั้นให้เข้าที่ด้วยใจอ่อนสุภาพ ขณะที่ท่านแต่ละคนเฝ้าระวังตนเอง เกรงว่าท่านอาจถูกล่อใจด้วย.” (ฆะลาเตีย 6:1, ล.ม.) ผู้ปกครองที่รับการแต่งตั้งย่อมพูดสุภาพและนุ่มนวลเมื่อเขาพยายามจะช่วยเพื่อนร่วมความเชื่อซึ่งทำผิดพลาดไป. อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าโดยส่วนตัวแล้ว เราอาจได้รับหรือไม่เคยรับการช่วยเหลือแบบนี้มาก่อน พระเจ้าทรงคาดหมายอะไรจากทุกคนที่รับใช้พระองค์? คริสเตียนทุกคนควรสำแดงความกรุณาต่อผู้อื่นและน่าจะฟังคำแนะนำของเปาโลที่ว่า “ท่านทั้งหลายจงเมตตาซึ่งกันและกัน มีใจเอ็นดูซึ่งกันและกัน และอภัยโทษให้กันและกันเหมือนพระเจ้าได้ทรงโปรดยกโทษให้ท่านทั้งหลายในพระคริสต์.” (เอเฟโซ 4:32) แน่นอน ถ้าบางคนยกโทษให้เราหรือเราได้รับการช่วยเหลือด้วยความกรุณาจนเราผ่านความยุ่งยากมาได้เช่นนั้น เราก็น่าจะเพิ่มพูนคุณสมบัติด้านนี้ของตัวเองเพื่อการให้อภัย การแสดงความรักใคร่เอ็นดูและความกรุณา.
หยั่งรู้ค่าความกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระเจ้า
17. เนื่องจากเราเป็นคนผิดบาปแต่กำเนิด เราน่าจะขอบพระคุณเป็นพิเศษสำหรับความกรุณาแบบไหน?
17 เนื่องจากพวกเราทุกคนเกิดมาเป็นคนบาปที่ถูกปรับโทษให้ตาย ก็มีความกรุณาอย่างหนึ่งซึ่งพวกเราควรจะรู้สึกขอบพระคุณเป็นพิเศษ. นั้นคือความกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระยะโฮวานั่นเอง. ที่คนบาปจะรับการปลดเปลื้องจากการปรับโทษถึงตาย แล้วได้รับการประกาศตัวเป็นคนชอบธรรมนั้นเป็นไปได้ก็โดยความกรุณาอย่างที่ไม่สมควรจะได้รับ. เปาโลผู้ซึ่งกล่าวถึงความกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระเจ้าไว้ถึง 90 ครั้งในจดหมาย 14 ฉบับที่เขียนโดยการดลบันดาลจากพระเจ้า ท่านกำชับคริสเตียนในกรุงโรมสมัยโบราณนั้นว่า “เหตุว่าคนทั้งปวงได้กระทำบาปและขาดไปจากสง่าราศีของพระเจ้า และที่เขาได้รับการประกาศว่าชอบธรรมนั้นนับว่าเป็นของประทานอันไม่ต้องเสียค่าใด ๆ โดยพระกรุณาคุณอันไม่พึงได้รับของพระองค์ ด้วยการปลดเปลื้องด้วยค่าไถ่ที่พระเยซูคริสต์ได้ทรงชำระแล้ว.” (โรม 3:23, 24, ล.ม.) พวกเราสมควรขอบพระคุณพระเจ้ายะโฮวามากเพียงใดสำหรับความกรุณาอันไม่พึงได้รับเช่นนี้!
18, 19. เราอาจหลีกเลี่ยงการพลาดจุดมุ่งหมายแห่งพระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระเจ้าได้โดยวิธีใด?
18 หากเราเป็นคนขาดการหยั่งรู้ค่า เราอาจพลาดจุดมุ่งหมายแห่งความกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระเจ้า. ในเรื่องนี้ เปาโลได้กล่าวว่า “เหตุฉะนั้น เราจึงเป็นราชทูตแทนพระคริสต์ เหมือนหนึ่งพระเจ้าทรงอ้อนวอนท่านทั้งหลายโดยเรา. ฐานะผู้แทนพระคริสต์ เราวิงวอนท่านทั้งหลาย ‘จงคืนดีกันกับพระเจ้า.’ พระเจ้าได้ทรงกระทำให้พระองค์นั้น ผู้ไม่รู้จักบาปเป็นบาปเพราะเห็นแก่เรา เพื่อเราจะได้เป็นคนชอบธรรมของพระเจ้าโดยพระองค์. การร่วมงานกับพระองค์ เราวิงวอนท่านทั้งหลายเช่นกันว่า อย่ารับเอาพระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระเจ้าแล้วพลาดจุดมุ่งหมายแห่งพระกรุณานั้น. เพราะพระองค์ตรัสว่า [ที่ยะซายา 49:8] ‘ในเวลาที่โปรด เราได้ฟังเจ้า และในวันแห่งความรอดเราได้ช่วยเจ้า.’ นี่แน่ะ! บัดนี้เป็นเวลาที่โปรดเป็นพิเศษ. นี่แน่ะ! บัดนี้เป็นวันแห่งความรอด. ไม่ว่าในทางใด เรามิได้เป็นเหตุให้มีการสะดุด เพื่องานของเราไม่เป็นที่ติเตียนได้ แต่ในทุกวิถีทางเราแนะนำตัวเองว่าเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า.” (2 โกรินโธ 5:20–6:4, ล.ม.) เปาโลหมายความอย่างไร?
19 คริสเตียนผู้ถูกเจิมเป็นราชทูตแทนพระคริสต์ และชนฝูงใหญ่เป็นทูตของพระองค์. ชนเหล่านี้ร่วมกันกล่าวเตือนประชาชนให้กลับมาคืนดีกับพระเจ้าเพื่อรับความรอด. เปาโลไม่ต้องการให้คนหนึ่งคนใดรับพระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระเจ้ายะโฮวาโดยพระเยซูคริสต์แล้วพลาดจุดมุ่งหมายแห่งพระกรุณานั้น. การดังกล่าวอาจอุบัติขึ้นกับเราได้หากเราไม่ทำการงานซึ่งเหมาะกับตัวตามที่จัดไว้ด้วยพระกรุณาอันไม่พึงได้รับ. ด้วยอาศัยความสัมพันธ์ที่ดีกับพระเจ้าอย่างคนที่ได้คืนดีกับพระองค์แล้ว เราคงจะไม่รับพระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระองค์ไว้โดยหาประโยชน์ไม่ได้ หากเราได้ “ประกาศเรื่องการคืนดีกันนั้น คือว่าพระเจ้าผู้สถิตในองค์พระคริสต์ทรงกระทำให้โลกนี้คืนดีกันกับพระองค์.” (2 โกรินโธ 5:18, 19) นอกจากนั้น เราจะแสดงความกรุณาที่ประเสริฐยิ่งแก่คนอื่นโดยช่วยพวกเขาให้คืนดีกันกับพระเจ้า.
20, ต่อจากนี้เราจะพิจารณาเรื่องอะไร?
20 ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาใช้เวลาและทรัพยากรที่เขามีอยู่ด้วยการประพฤติอย่างที่เปี่ยมด้วยความกรุณา ขณะที่พวกเขาตั้งใจจะช่วยประชาชนทางด้านวิญญาณด้วยการรับใช้ฝ่ายคริสเตียน. แต่เราสามารถเรียนอะไรได้จากตัวอย่างต่าง ๆ ในคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวด้วยความกรุณาในภาคปฏิบัติ? ต่อจากนี้ขอเราตรวจสอบตัวอย่างบางเรื่องและพิจารณาแนวทางอื่น ๆ ที่จะทำให้พระยะโฮวาพอพระทัยโดยการแสดงความกรุณา.
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ ความกรุณาคืออะไร?
▫ เราจะเลี่ยงการแสดงความกรุณาอย่างไม่บังควรได้อย่างไร?
▫ เพราะเหตุใดไพร่พลของพระยะโฮวาสามารถวางใจได้ในความกรุณารักใคร่ของพระองค์?
▫ บำเหน็จแห่งความกรุณามีอะไรบ้าง?
▫ โดยการทำอะไรเราจึงไม่พลาดจุดมุ่งหมายแห่งพระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระเจ้า?
[รูปภาพหน้า 15]
ความกรุณาของภรรยาอาจช่วยคู่สมรสเข้ามาสู่ความเชื่อที่ถูกต้อง
[รูปภาพหน้า 17]
เราจะแสดงความกรุณามากที่สุดต่อคนอื่น โดยช่วยเขาให้คืนดีกันกับพระเจ้า