จงติดตามแนวทางอันยอดเยี่ยมของความรัก
พระยะโฮวาพระเจ้าทรงเป็นแบบฉบับแห่งความรัก. (1 โยฮัน 4:8) พระเยซูคริสต์ พระบุตรของพระองค์ตรัสว่าเราควรรักพระเจ้าและรักเพื่อนบ้านของเรา. (มัดธาย 22:37-40) พระเจ้าทรงควบคุมเอกภพทั้งสิ้นบนพื้นฐานของคุณลักษณะนี้! ดังนั้น เพื่อจะได้ชีวิตถาวรไม่ว่าที่ไหนก็ตาม เราต้องติดตามแนวทางแห่งความรัก.
พระเจ้าทรงแสดงความรักต่อชาติยิศราเอล แต่ภายหลังได้ทรงปฏิเสธองค์การนั้นเนื่องด้วยความไม่ซื่อสัตย์. ครั้นแล้วพระองค์ทรงระบุประชาคมแห่งเหล่าสาวกของพระเยซูเป็นองค์การใหม่ของพระองค์. โดยวิธีใด? โดยปรากฏการณ์พิเศษของพระวิญญาณบริสุทธิ์ซึ่งทำให้พวกเขาสามารถพูดภาษาต่าง ๆ และกล่าวพยากรณ์ได้. ด้วยเหตุนี้ ณ วันเพ็นเตคอสเตปีสากลศักราช 33 นั้น ชาวยิวและผู้ที่เปลี่ยนมาถือศาสนายิว 3,000 คนได้เข้ามาเป็นผู้เชื่อถือและออกจากองค์การเก่ามาสู่องค์การใหม่ของพระเจ้า. (กิจการ 2:1-41) เนื่องด้วยหลังจากนั้นมีการให้ของประทานแห่งพระวิญญาณผ่านทางอัครสาวกของพระเยซู ปรากฏการณ์ดังกล่าวจึงได้ยุติลงเมื่อพวกเขาตาย. (กิจการ 8:5-18; 19:1-6) แต่ตอนนั้น ของประทานต่าง ๆ ได้พิสูจน์ว่าความโปรดปรานของพระเจ้าอยู่กับยิศราเอลฝ่ายวิญญาณ.—ฆะลาเตีย 6:16.
การอัศจรรย์ต่าง ๆ อันเป็นผลมาจากของประทานแห่งพระวิญญาณนั้นได้เป็นประโยชน์. อย่างไรก็ดี การแสดงความรักหรือความห่วงใยอย่างไม่เห็นแก่ตัวต่อคนอื่นนั้นสำคัญกว่าการมีของประทานแห่งพระวิญญาณ. อัครสาวกเปาโลแสดงให้เห็นเรื่องนี้ในจดหมายฉบับแรกของท่านถึงชาวโกรินโธ (ประมาณปีสากลศักราช 55). ในจดหมายนั้นท่านได้กล่าวถึงความรักว่าเป็น “แนวทางอันยอดเยี่ยม.” (1 โกรินโธ 12:31, ล.ม.) ได้มีการสาธยายแนวทางนั้นไว้ใน 1 โกรินโธบท 13.
ถ้าปราศจากความรัก เราก็ไม่เป็นอะไรเลย
เปาโลให้เหตุผลไว้ว่า “ถ้าข้าพเจ้าพูดภาษามนุษย์ก็ดี ภาษาทูตสวรรค์ก็ดี แต่ไม่มีความรัก ข้าพเจ้าก็เป็นเหมือนฉาบหรือฉิ่งที่กำลังส่งเสียง.” (1 โกรินโธ 13:1, ล.ม.) ถ้าปราศจากความรัก ก็คงไม่มีความหมายอะไรในการพูดภาษามนุษย์ที่พระวิญญาณถ่ายทอดให้หรือภาษาทูตสวรรค์. เปาโลเลือกที่จะพูดคำที่สั่งสอนห้าคำยิ่งกว่าที่จะพูดหมื่นคำในภาษาที่คนไม่เข้าใจ. (1 โกรินโธ 14:19) บุคคลที่ขาดความรักจะเป็นเหมือน “ฉาบที่กำลังส่งเสียง”—ฆ้องที่อึกทึก น่ารำคาญ—หรือ “ฉิ่งที่กำลังส่งเสียง” มีท่วงทำนองไม่ไพเราะ. การพูดเป็นภาษาต่าง ๆ ที่ขาดความรักนั้นมิใช่วิธีการปลอบประโลม เสริมสร้างทางฝ่ายวิญญาณเพื่อยกย่องสรรเสริญพระเจ้าและช่วยเหลือพลไพร่ของพระองค์. ปัจจุบัน เราแสดงความรักโดยการใช้คำพูดที่เข้าใจได้ในงานรับใช้ฝ่ายคริสเตียน.
อัครสาวกได้กล่าวต่อไปว่า “ถ้าข้าพเจ้ามีของประทานกล่าวพยากรณ์ได้ และเข้าใจในข้อลึกลับอันศักดิ์สิทธิ์ และมีความรู้ทั้งสิ้น แม้ข้าพเจ้ามีความเชื่อทั้งสิ้นพอจะโยกย้ายภูเขาได้ แต่ไม่มีความรัก ข้าพเจ้าก็ไม่เป็นอะไรเลย.” (1 โกรินโธ 13:2, ล.ม.) การกล่าวพยากรณ์แบบอัศจรรย์ ความเข้าใจเป็นพิเศษในข้อลึกลับอันศักดิ์สิทธิ์ และความรู้ที่พระวิญญาณถ่ายทอดให้นั้นอาจเป็นประโยชน์แก่คนอื่น ๆ แต่ไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้ครอบครองของประทานดังกล่าวถ้าหากผู้ที่มีของประทานนั้นไม่มีความรัก. เปาโลใช้ความเข้าใจเป็นพิเศษในเรื่องข้อลึกลับอันศักดิ์สิทธิ์นั้นเพื่อช่วยคนอื่น และของประทานเกี่ยวกับความรู้ทำให้ท่านสามารถบอกล่วงหน้าถึงการรอดชีวิตของผู้ประสบภัยเรือแตก. (กิจการ 27:20-44; 1 โกรินโธ 4:1, 2) กระนั้น หากท่านมี ‘ความรู้ทั้งสิ้นและความเชื่อทั้งสิ้น’ แต่ไม่มีความรัก ท่านคงไม่เป็นอะไรเลยในสายพระเนตรของพระยะโฮวา.
ปัจจุบัน พระวิญญาณของพระยะโฮวาทำให้เหล่าพยานฯของพระองค์สามารถเข้าใจคำพยากรณ์ในพระคัมภีร์และข้อลึกลับอันศักดิ์สิทธิ์แล้วชี้นำพวกเขาในการถ่ายทอดความรู้ดังกล่าวแก่คนอื่น ๆ. (โยเอล 2:28, 29) พระวิญญาณยังก่อให้เกิดความเชื่อที่จำเป็นเพื่อเอาชนะอุปสรรคที่เป็นเหมือนภูเขาได้ด้วย. (มัดธาย 17:20) เนื่องจากพระวิญญาณกระทำสิ่งเหล่านี้ จึงนับว่าผิดที่จะแสวงหาเกียรติยศส่วนตัวจากสิ่งเหล่านั้น. เราเท่ากับไม่เป็นอะไรเลยนอกเสียจากว่าเรากระทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อพระเกียรติของพระเจ้า และด้วยความรักต่อพระองค์และต่อเพื่อนมนุษย์.—ฆะลาเตีย 5:6.
ไม่ได้รับประโยชน์โดยการเสียสละแบบที่ขาดความรัก
เปาโลกล่าวว่า “แม้ข้าพเจ้าจะบริจาคสมบัติทั้งสิ้นของข้าพเจ้าเพื่อเลี้ยงคนอื่น และแม้ข้าพเจ้าจะสละร่างกายเสีย เพื่อข้าพเจ้าอาจอวดได้ แต่ไม่มีความรัก ข้าพเจ้าก็ไม่ได้รับประโยชน์เลย.” (1 โกรินโธ 13:3, ล.ม.) ถ้าไม่มีความรัก เปาโลคงจะไม่ได้รับประโยชน์แม้ท่านให้ทุกสิ่งที่ท่านเป็นเจ้าของนั้นเพื่อเลี้ยงคนอื่น. พระเจ้าประทานบำเหน็จแก่เราเนื่องด้วยความรักอยู่เบื้องหลังการให้ของเรา มิใช่เพราะคุณค่าทางวัตถุของการให้นั้น หรือเพราะเราแสวงหาเกียรติยศฐานะผู้ให้ เช่นเดียวกับอะนาเนียและสัปไฟเรผู้โกหก. (กิจการ 5:1-11) เปาโลวางตัวอย่างที่ดีโดยการอุทิศตัวเองด้วยความรักอันเกี่ยวข้องกับงานรับใช้เพื่อบรรเทาทุกข์ผู้มีความเชื่อในยูดาย.—1 โกรินโธ 16:1-4; 2 โกรินโธ 8:1-24; 9:7.
แม้แต่การพลีชีพฐานะพยานต่อความจริงโดยขาดความรักก็ไม่มีความหมายอะไรสำหรับพระเจ้า. (สุภาษิต 25:27) พระเยซูตรัสถึงการเสียสละของพระองค์ แต่มิได้โอ้อวดในเรื่องนั้น. แทนการโอ้อวด พระองค์ได้สละตัวพระองค์เองด้วยความเต็มพระทัยเนื่องด้วยความรัก. (มาระโก 10:45; เอเฟโซ 5:2; เฮ็บราย 10:5-10) พวกพี่น้องฝ่ายวิญญาณของพระองค์ ‘ถวายร่างกายของพวกเขาเป็นเครื่องบูชาอันมีชีวิตอยู่’ ในการรับใช้พระเจ้า หาใช่ในการพลีชีพเพื่อศาสนาแบบยกย่องตัวเอง หากแต่ในวิธีที่ไม่โดดเด่นซึ่งถวายพระเกียรติพระยะโฮวาและพิสูจน์ถึงความรักของพวกเขาต่อพระองค์.—โรม 12:1, 2.
บางวิธีที่ความรักจะทำให้เราลงมือปฏิบัติ
เปาโลเขียนไว้ว่า “ความรักอดทนนานและแสดงความกรุณา.” (1 โกรินโธ 13:4 ก, ล.ม.) สำหรับหลายคนแล้ว ความอดกลั้นพระทัยของพระเจ้าตั้งแต่บาปของอาดามนั้นหมายถึงการกลับใจซึ่งนำไปสู่ความรอด. (2 เปโตร 3:9, 15) หากเรามีความรัก เราจะสอนความจริงคนอื่นด้วยความอดทน. เราจะหลีกเลี่ยงการระเบิดอารมณ์และเราจะเป็นคนเห็นอกเห็นใจและให้อภัย. (มัดธาย 18:21, 22) ความรักแสดงความกรุณาด้วย และเราถูกชักนำให้มาหาพระเจ้าเพราะความกรุณาของพระองค์. ผลแห่งพระวิญญาณของพระองค์เกี่ยวกับความกรุณาป้องกันเราไว้จากการเป็นคนเรียกร้องจากคนอื่นมากกว่าที่พระองค์เรียกร้องเอาจากเรา. (เอเฟโซ 4:32) ความรักทำให้เราแสดงความกรุณาต่อคนที่ไม่สำนึกบุญคุณด้วยซ้ำ.—ลูกา 6:35.
เปาโลกล่าวเสริมว่า “ความรักไม่อิจฉาริษยาหวงแหน ไม่อวดตัว ไม่พองตัว.” (1 โกรินโธ 13:4 ข, ล.ม.) ความอิจฉาริษยาหวงแหนเป็นการของเนื้อหนังซึ่งจะกีดกันคนเราไม่ให้เข้าราชอาณาจักรของพระเจ้า. (ฆะลาเตีย 5:19-21) ความรักป้องกันเราไว้จากการอิจฉาริษยาในสมบัติหรือสภาพแวดล้อมที่ราบรื่นของบุคคลอื่น. หากเขาได้รับสิทธิพิเศษแห่งการรับใช้ที่เราปรารถนา ความรักจะทำให้เราชื่นชมยินดีกับเขา ให้การสนับสนุนเขา และขอบพระคุณพระเจ้าที่ทรงใช้เขาได้เพื่อเป็นประโยชน์แก่ประชาคม.
เนื่องจากความรัก “ไม่อวดตัว” ความรักไม่กระตุ้นเราให้โอ้อวดในเรื่องสิ่งที่พระเจ้าปล่อยให้เราทำในการรับใช้พระองค์. ชาวโกรินโธบางคนโอ้อวดประหนึ่งว่าของประทานแห่งพระวิญญาณนั้นกำเนิดมาจากตัวเขา แต่ทว่าสิ่งเหล่านี้เป็นมาจากพระเจ้า เช่นเดียวกับสิทธิพิเศษต่าง ๆ ในองค์การของพระองค์สมัยปัจจุบัน. ดังนั้นแล้ว แทนการโอ้อวดในเรื่องฐานะของเราในองค์การของพระเจ้า ขอให้เราระวังเพื่อเราจะไม่ล้มพลาด. (1 โกรินโธ 1:31; 4:7; 10:12) ความรัก “ไม่พองตัว” แต่จิตใจของคนที่ไม่มีความรักอาจลำพองด้วยการถือว่าตัวเองสำคัญ. คนที่มีความรักไม่รู้สึกว่าเหนือกว่าคนอื่น.—1 โกรินโธ 4:18, 19; ฆะลาเตีย 6:3.
ไม่หยาบโลน, เห็นแก่ตัว, แค้นเคือง
ความรัก “ไม่ประพฤติหยาบโลน ไม่แสวงหาผลประโยชน์สำหรับตนเอง ไม่ปล่อยตัวให้เกิดโทโส.” (1 โกรินโธ 13:5ก, ล.ม.) ความรักส่งเสริมมารยาทที่ดี ความประพฤติเยี่ยงพระเจ้า ความนับถือต่อผู้มีอำนาจ และพฤติกรรมที่บังควร ณ การประชุมคริสเตียน. (เอเฟโซ 5:3-5; 1 โกรินโธ 11:17-34; 14:40; เทียบกับยูดา 4, 8-10.) เนื่องจากความรักทำให้ทุกคนรู้สึกว่าเป็นที่ต้องการ เช่นเดียวกับอวัยวะทุกส่วนในร่างกายมนุษย์ ประชาคมที่มีความรักเป็นสถานที่แห่งสันติสุขและที่คุ้มภัย. (1 โกรินโธ 12:22-25) แทนที่จะ ‘แสวงหาผลประโยชน์สำหรับตนเอง’ อย่างเห็นแก่ตัว ความรักทำให้เราสละสิทธิของเราในบางครั้งและแสดงความสนใจในคนอื่น ๆ และในสวัสดิภาพของเขา. (ฟิลิปปอย 2:1-4) ความรักทำให้เรา ‘ยอมเป็นทุกอย่างกับคนทุกชนิด เพื่อเราจะช่วยบางคนให้รอดได้’ โดยงานรับใช้ของเรา.—1 โกรินโธ 9:22, 23.
ความรัก “ไม่ปล่อยตัวให้เกิดโทโส.” การบันดาลโทสะเป็นการของเนื้อหนังที่ผิดบาป แต่ความรักทำให้เรา “ช้าในการโกรธ.” (ยาโกโบ 1:19; ฆะลาเตีย 5:19, 20) ถึงแม้เรารู้สึกโกรธโดยมีเหตุผลก็ตาม ความรักไม่ปล่อยให้เราเกิดโทโสอยู่เรื่อยไป ด้วยเหตุนี้จึงเปิดช่องให้พญามาร. (เอเฟโซ 4:26, 27) โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ปกครองต้องหลีกเลี่ยงความโมโหหากเพื่อนร่วมความเชื่อล้มเหลวในการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะบางประการ.
เปาโลยังกล่าวถึงความรักด้วยว่า “ไม่จดจำความเสียหาย.” (1 โกรินโธ 13:5ข, ล.ม.) ความรักไม่จดรายการความผิด เหมือนการจดลงในบัญชีแยกประเภท. ความรักมองเห็นส่วนดีในตัวเพื่อนร่วมความเชื่อและไม่แก้เผ็ดต่อความผิดจริง ๆ หรือความผิดที่นึกคิดเอง. (สุภาษิต 20:22; 24:29; 25:21, 22) ความรักช่วยเราให้ “ประพฤติตามสิ่งเหล่านั้นซึ่งทำให้เกิดความสงบสุขแก่กันและกัน.” (โรม 14:19) เปาโลกับบาระนาบามีการโต้เถียงกันและแยกทางกันในการรับใช้พระเจ้า แต่ความรักทำให้ความแตกร้าวนั้นยุติลงและยับยั้งเขาไว้จากการมีความขุ่นแค้น.—เลวีติโก 19:17, 18; กิจการ 15:36-41.
มีแนวโน้มไปทางความชอบธรรมและความจริง
เปาโลกล่าวต่อไปเกี่ยวกับความรักว่า “ไม่ยินดีในการอธรรม แต่ยินดีกับความจริง.” (1 โกรินโธ 13:6, ล.ม.) บางคนมีความยินดีในการอธรรมดังกล่าวถึงขนาดที่ “[เขา] นอนไม่หลับจนกว่าจะได้ทำชั่วเสียก่อน.” (สุภาษิต 4:16) แต่ในองค์การของพระเจ้า เราไม่แข่งขันชิงดีกันหรือยินดีถ้าคนหนึ่งติดกับเนื่องจากการทำบาป. (สุภาษิต 17:5; 24:17, 18) หากมีความรักต่อพระเจ้าและต่อความชอบธรรมมากพอในประชาคมโกรินโธแล้ว คงจะไม่มีการยอมทนกับการผิดศีลธรรมที่นั่น. (1 โกรินโธ 5:1-13) นอกจากสิ่งอื่น ๆ แล้ว ความรักต่อความชอบธรรมยับยั้งเราไว้จากการสนุกเพลิดเพลินกับโทรทัศน์, ภาพยนต์, หรือการแสดงละครเรื่องการอธรรม.
ความรัก “ยินดีกับความจริง.” ในที่นี้มีการแสดงให้เห็นว่าความจริงต่างกันอย่างเห็นได้ชัดกับการอธรรม. นี้หมายความอย่างชัดแจ้งว่าความรักเป็นเหตุให้เราชื่นชมยินดีในผลกระทบทางด้านความชอบธรรมที่ความจริงมีต่อประชาชน. เราประสบความยินดีในสิ่งต่าง ๆ ที่เสริมสร้างคนขึ้น และที่ส่งเสริมเป้าหมายของความจริงและความชอบธรรม. ความรักป้องกันเราไว้จากการพูดโกหก ทำให้เรามีความยินดีเมื่อคนซื่อตรงถูกพิสูจน์ว่าปราศจากผิด และเป็นเหตุให้เรายินดีในชัยชนะแห่งความจริงของพระเจ้า.—บทเพลงสรรเสริญ 45:4.
วิธีที่ความรักรับมือกับทุกสิ่ง
เปาโลเขียนคำจำกัดความของท่านเกี่ยวกับความรักต่อไปว่า “ความรักทนรับเอาทุกสิ่ง, เชื่อทุกสิ่ง, หวังทุกสิ่ง, อดทนทุกสิ่ง.” (1 โกรินโธ 13:7, ล.ม.) โดย ‘ทนรับเอาทุกสิ่ง’ ความรักกันความขุ่นเคืองไว้เหมือนหลังคาที่ดีกันฝน. หากคนใดทำให้เราขัดเคืองใจ แต่แล้วก็ขอการให้อภัย ความรักทำให้เราทนรับเอาความเสียหาย ให้อภัยผู้กระทำผิดแทนที่จะพูดซุบซิบนินทาเกี่ยวกับเรื่องนั้น. ด้วยความรัก เราพยายามจะ ‘คืนดีเป็นพี่น้องกันอีก.’—มัดธาย 18:15-17; โกโลซาย 3:13.
ความรัก “เชื่อทุกสิ่ง” ในพระวจนะของพระเจ้าและทำให้เรารู้สึกขอบพระคุณสำหรับอาหารฝ่ายวิญญาณที่ทรงจัดเตรียมผ่านทาง “บ่าวสัตย์ซื่อและฉลาด.” (มัดธาย 24:45-47) แม้เราไม่ใช่เป็นคนถูกหลอกง่าย ความรักป้องกันเราไว้จากการมีหัวใจที่ไม่เชื่อ และยับยั้งเราไว้จากการปัดเจตนาที่ไม่ดีไปให้เพื่อนร่วมความเชื่อ. (ท่านผู้ประกาศ 7:21, 22) ความรักยัง “หวังทุกสิ่ง” ที่มีบันทึกอยู่ในพระคัมภีร์ด้วย เช่นความจริงเกี่ยวกับราชอาณาจักรของพระเจ้า. เพราะถูกกระตุ้นด้วยความรัก เราหวังและอธิษฐานขอเพื่อผลลัพธ์ดีที่สุดในสถานการณ์ที่เป็นการทดลอง. ความรักยังกระตุ้นเราให้บอกคนอื่นถึงเหตุผลในเรื่องความหวังของเราด้วย. (1 เปโตร 3:15) นอกจากนี้ ความรัก “อดทนทุกสิ่ง” รวมทั้งความบาปที่ต่อสู้เรา. (สุภาษิต 10:12) ความรักต่อพระเจ้ายังช่วยเราให้อดทนการข่มเหงและการทดลองอื่น ๆ ด้วย.
เปาโลกล่าวเสริมอีกว่า “ความรักไม่ล้มเหลวเลย.” (1 โกรินโธ 13:8 ก, ล.ม.) ความรักไม่จบสิ้นหรือไม่ล้มเหลวเช่นเดียวกับพระยะโฮวาไม่ล้มเหลว. เนื่องจากพระเจ้าองค์ถาวรของเราเป็นแบบอย่างอันสมบูรณ์พร้อมในเรื่องความรัก คุณลักษณะนี้จะไม่สิ้นสุดลงเลย. (1 ติโมเธียว 1:17; 1 โยฮัน 4:16) เอกภพจะถูกควบคุมโดยความรักตลอดไป. เพราะฉะนั้น ขอให้เราอธิษฐานเพื่อพระเจ้าจะทรงช่วยเราให้เอาชนะอุปนิสัยที่เห็นแก่ตัว และแสดงผลแห่งพระวิญญาณที่ไม่ล้มเหลวนี้.—ลูกา 11:13.
สิ่งต่าง ๆ ที่จะผ่านพ้นไป
เปาโลเขียนชี้แจงต่อไปว่า “แม้จะมีคำพยากรณ์ ก็จะเสื่อมศูนย์ไป แม้จะพูดภาษาแปลก ๆ ได้ การพูดภาษานั้นก็จะมีเวลาเลิกกัน แม้มีวิชาความรู้ ก็มีวันเสื่อมทรามไป.” (1 โกรินโธ 13:8 ข) ‘ของประทานเกี่ยวกับการกล่าวพยากรณ์’ ทำให้ผู้มีของประทานนั้นสามารถกล่าวคำพยากรณ์ใหม่ ๆ ได้. ถึงแม้ของประทานดังกล่าวผ่านพ้นไปแล้วภายหลังประชาคมคริสเตียนได้ถูกสถาปนาขึ้นเป็นองค์การของพระเจ้าก็ตาม อำนาจในการพยากรณ์ของพระองค์ไม่เคยผ่านพ้นไปเลย และพระวจนะของพระองค์มีคำพยากรณ์ทั้งมวลที่เราต้องการในขณะนี้. ความสามารถที่จะพูดเป็นภาษาต่าง ๆ ตามที่พระวิญญาณถ่ายทอดให้นั้นได้สิ้นสุดลงด้วย และความรู้พิเศษได้ถูก “ยกเลิกไปแล้ว” ตามที่บอกไว้ล่วงหน้า. แต่พระวจนะที่ครบถ้วนของพระยะโฮวาจัดให้มีสิ่งที่เราจำเป็นต้องทราบเพื่อความรอด. (โรม 10:8-10) ยิ่งกว่านั้น ประชาชนของพระเจ้าเปี่ยมด้วยพระวิญญาณของพระองค์และก่อให้เกิดผลของพระวิญญาณนั้น.
เปาโลกล่าวต่อไปว่า “เพราะที่เรารู้นั้นก็รู้แต่ส่วนหนึ่ง และที่เราพยากรณ์นั้นก็พยากรณ์แต่ส่วนหนึ่ง แต่เมื่อถึงความสำเร็จครบ ความบกพร่องนั้นก็จะเสื่อมศูนย์ไป.” (1 โกรินโธ 13:9, 10) ของประทานเกี่ยวกับความรู้และคำพยากรณ์นั้นไม่ครบถ้วน. ดูเหมือนว่า คำพยากรณ์ดังกล่าวไม่ได้เจาะเข้าไปถึงข้อปลีกย่อย และผู้พยากรณ์แต่ละคนก็เปิดเผยอนาคตเป็นบางส่วน ขาดความรู้ที่สมบูรณ์พร้อมในเรื่องสิ่งที่เขาบอกล่วงหน้า. อย่างไรก็ดี บัดนี้ ความเข้าใจในเรื่องคำพยากรณ์ค่อย ๆ ครบถ้วน. ตัวอย่างเช่น ข้อเท็จจริงที่ทำให้คำพยากรณ์ของพระคัมภีร์สมจริงยืนยันว่าพระเยซูได้รับขัตติยะอำนาจเหนือมนุษยชาติในปี 1914. ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เราอยู่ใน “สมัยอวสาน” และกำลังประสบความเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องในด้านความรู้ฝ่ายวิญญาณและความเข้าใจเกี่ยวกับคำพยากรณ์ในพระคัมภีร์. (ดานิเอล 12:4) เนื่องจากเหตุนี้ เรากำลังบรรลุถึงความรู้ที่สมบูรณ์พร้อม และ “ความสำเร็จครบ” ต้องใกล้มาแล้ว.
คุณลักษณะอันใหญ่ยิ่งที่สุดดำรงอยู่ต่อไป
โดยกล่าวพาดพิงถึงความก้าวหน้าของประชาคม เปาโลเขียนว่า “เมื่อข้าพเจ้ายังเป็นเด็ก ข้าพเจ้าได้พูดอย่างเด็ก ได้คิดอย่างเด็ก ได้ไคร่ครวญหาเหตุผลอย่างเด็ก แต่ครั้นข้าพเจ้าเป็นผู้ใหญ่แล้ว ข้าพเจ้าจึงเลิกธรรมเนียม [นิสัย, ล.ม.] อย่างเด็กเสีย.” (1 โกรินโธ 13:11) เนื่องจากเด็กปฏิบัติโดยอาศัยความรู้และพัฒนาการทางร่างกายที่จำกัด เด็กจึงถูกโน้มน้าวไป ๆ มา ๆ เสมือนการถูกแกว่งอยู่ในเปล. แต่ผู้ใหญ่พัฒนาทางร่างกายมากกว่า มีความรู้มากกว่า และตามปกติไม่ถูกโน้มน้าวอย่างง่าย ๆ. เขาได้เลิกล้มความคิด เจตคติ และวิธีการในวัยเด็ก. ในทำนองเดียวกัน หลังจากที่องค์การทางภาคพื้นโลกของพระเจ้าได้เติบโตจากความเป็นทารกแล้ว พระองค์ทรงตัดสินว่าองค์การนั้นไม่จำเป็นต้องมีของประทานแห่งพระวิญญาณเกี่ยวกับคำพยากรณ์ การพูดภาษาต่าง ๆ และความรู้. ถึงแม้สมาชิกของประชาคมสมัยปัจจุบันขณะนี้อยู่ในช่วงที่ประชาคมมีมานานแล้วก็ตาม ก็ยังรู้สึกด้วยว่าไม่จำเป็นต้องมีของประทานดังกล่าว พวกเขายินดีที่จะรับใช้พระเจ้าภายใต้การทรงนำแห่งพระวิญญาณของพระองค์.
เปาโลกล่าวเสริมว่า “เพราะว่าบัดนี้เราทั้งหลายยังเห็นมัว ๆ เหมือนดูในกระจก แต่เวลานั้นจะได้เห็นหน้ากันชัดเจน. เดี๋ยวนี้ข้าพเจ้ารู้แต่ส่วนหนึ่ง เวลานั้นข้าพเจ้าจะรู้อะไร ๆ หมดเหมือนพระองค์ทรงรู้จักข้าพเจ้า.” (1 โกรินโธ 13:12) ระหว่างช่วงแรกของประชาคม ไม่ใช่เวลาที่พระเจ้าจะเปิดเผยบางสิ่ง. เนื่องจากเหตุนี้ สิ่งเหล่านั้นจึงปรากฏในเค้าโครงที่เลือนมัว ประหนึ่งคริสเตียนมองดูในกระจกที่ขาดคุณภาพที่ดีในการสะท้อนโฉมหน้า. (กิจการ 1:6, 7) แต่เราอยู่เหนือภาพที่เลือนมัว. ความสมจริงในปัจจุบันของคำพยากรณ์และสิ่งที่เป็นแบบเล็งถึงนั้นปรากฏอย่างชัดเจน เพราะนี้เป็นเวลาแห่งการเปิดเผยของพระเจ้า. (บทเพลงสรรเสริญ 97:11; ดานิเอล 2:28) ถึงแม้เปาโลเองรู้จักพระเจ้าก็ตาม สุดยอดแห่งความรู้เกี่ยวกับพระยะโฮวาและสัมพันธภาพอันสนิทสนมที่สุดกับพระองค์จะมีขึ้นคราวเมื่ออัครสาวกจะถูกปลุกขึ้นจากตายสู่ชีวิตฝ่ายสวรรค์ ด้วยเหตุนี้ จึงได้รับบำเหน็จครบถ้วนจากแนวทางคริสเตียนของท่าน.
โดยลงท้ายข้อสรุปเกี่ยวกับความรัก เปาโลเขียนว่า “อย่างไรก็ตาม บัดนี้ยังคงมีความเชื่อ, ความหวัง, ความรัก, สามอย่างนี้; แต่ที่ใหญ่ที่สุดคือความรัก.” (1 โกรินโธ 13:13, ล.ม.) ถึงแม้ไม่มีของประทานอัศจรรย์แห่งพระวิญญาณก็ตาม ประชาคมในปัจจุบันมีความรู้ที่ครบถ้วนมากกว่า และมีเหตุผลสำหรับความเชื่อ, ความหวัง, และความรักที่มั่งคั่งกว่า. ประชาคมมีความเชื่อว่าทุกสิ่งที่พระเจ้าได้ทรงสัญญาไว้เหมือนกับว่าสมจริงแล้วทีเดียว. (เฮ็บราย 11:1) ลักษณะเด่นต่าง ๆ ของความเชื่อจะสิ้นสุดลงขณะที่สิ่งต่าง ๆ ที่มีบอกไว้ล่วงหน้าในพระวจนะของพระเจ้านั้นบรรลุผลเป็นจริง. แง่มุมต่าง ๆ ของความหวังจะยุติลงเมื่อเราเห็นสิ่งต่าง ๆ ที่หวังไว้นั้นแล้ว. แต่ความรักจะดำรงอยู่ตลอดกาล. เนื่องจากเหตุนี้ ขอให้พยานพระยะโฮวาทุกคนติดตามแนวทางอันยอดเยี่ยมของความรักต่อ ๆ ไป.