-
การรู้จัก “พระทัยของพระคริสต์”หอสังเกตการณ์ 2000 | 15 กุมภาพันธ์
-
-
การรู้จัก “พระทัยของพระคริสต์”
“ใครเล่าได้รู้จักพระทัยของพระเจ้า, เพื่อจะสอนพระองค์ได้? แต่เรามีพระทัยของพระคริสต์.”—1 โกรินโธ 2:16.
1, 2. ในพระคำของพระองค์ พระยะโฮวาทรงเห็นสมควรที่จะเปิดเผยอะไรเกี่ยวกับพระเยซู?
พระเยซูทรงมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร? พระเกศาของพระองค์สีอะไร? พระฉวี (ผิวกาย) สีอะไร? พระจักษุสีอะไร? พระองค์ทรงสูงขนาดไหน? ทรงหนักเท่าไร? ตลอดหลายศตวรรษ ภาพลักษณ์ของพระเยซูในผลงานศิลปะต่าง ๆ มีหลากหลาย นับตั้งแต่แบบที่สมเหตุสมผลไปจนถึงแบบที่ผิดความเป็นจริงไปไกล. บางคนสร้างภาพให้พระองค์มีลักษณะสมชายและมีชีวิตชีวา ในขณะที่บางคนสร้างภาพให้พระองค์มีลักษณะบอบบางและซูบซีด.
2 อย่างไรก็ตาม คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้เน้นถึงรูปลักษณ์ภายนอกของพระเยซู. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น พระยะโฮวาทรงเห็นสมควรที่จะเปิดเผยสิ่งที่สำคัญกว่ามาก: บุคคลแบบที่พระเยซูทรงเป็น. บันทึกพระธรรมกิตติคุณไม่ได้รายงานแต่เพียงสิ่งที่พระเยซูตรัสและทำ แต่ยังเผยให้เห็นถึงความรู้สึกอันลึกซึ้งและแบบแผนการคิดที่อยู่เบื้องหลังคำพูดและการกระทำของพระองค์ด้วย. บันทึกที่มีขึ้นโดยการดลใจสี่เล่มนี้ช่วยเราให้เพ่งพิจารณาสิ่งที่อัครสาวกเปาโลกล่าวถึงว่าเป็น “พระทัยของพระคริสต์.” (1 โกรินโธ 2:16) นับว่าสำคัญที่เราจะคุ้นเคยกับแนวคิด, ความรู้สึก, และบุคลิกภาพของพระเยซู. เพราะเหตุใด? มีเหตุผลอย่างน้อยสองประการ.
3. การที่เราคุ้นเคยกับพระทัยของพระคริสต์สามารถให้ความหยั่งเห็นเข้าใจอะไรแก่เรา?
3 ประการแรก พระทัยของพระคริสต์ช่วยให้เราเข้าใจพระทัยของพระยะโฮวาพระเจ้าดีขึ้น. พระเยซูทรงใกล้ชิดสนิทสนมกับพระบิดามากจนพระองค์ตรัสได้ว่า “ไม่มีใครรู้ว่าพระบุตรเป็นผู้ใดเว้นแต่พระบิดา. และไม่มีใครรู้ว่าพระบิดาเป็นผู้ใดเว้นแต่พระบุตร และผู้ที่พระบุตรพอพระทัยจะสำแดงให้รู้.” (ลูกา 10:22) ด้วยคำพูดดังกล่าว ก็เหมือนกับพระเยซูกำลังตรัสว่า ‘หากเจ้าอยากรู้ว่าพระยะโฮวาทรงเป็นอย่างไร จงมองดูเรา.’ (โยฮัน 14:9) ฉะนั้น เมื่อเราศึกษาสิ่งที่พระธรรมกิตติคุณเปิดเผยเกี่ยวกับวิธีที่พระเยซูคิดและรู้สึก จริง ๆ แล้วเรากำลังเรียนรู้ถึงวิธีที่พระยะโฮวาทรงคิดและรู้สึก. ความรู้เช่นนั้นช่วยเราให้ใกล้ชิดพระเจ้าของเรามากขึ้น.—ยาโกโบ 4:8.
4. เพื่อเราจะทำอย่างพระคริสต์ได้จริง ๆ ก่อนอื่นเราต้องเรียนรู้อะไร และทำไม?
4 ประการที่สอง การที่เรารู้จักพระทัยของพระคริสต์ช่วยเราให้ “ดำเนินตามรอยพระบาทของพระองค์อย่างใกล้ชิด.” (1 เปโตร 2:21, ล.ม.) การดำเนินตามพระเยซูไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของการกล่าวซ้ำคำตรัสของพระองค์และเลียนแบบการกระทำของพระองค์. เนื่องจากคำพูดและการกระทำได้รับอิทธิพลจากความคิดและความรู้สึก การดำเนินตามพระคริสต์จึงเรียกร้องให้เราปลูกฝัง “เจตคติ” อย่างเดียวกับที่พระองค์ทรงมี. (ฟิลิปปอย 2:5, ล.ม.) กล่าวอีกอย่างคือ เพื่อที่เราจะทำอย่างพระคริสต์ได้จริง ๆ ก่อนอื่นเราต้องเรียนที่จะคิดและรู้สึกอย่างพระองค์ ซึ่งก็หมายถึงว่าทำให้ดีที่สุดเท่าที่ความสามารถของเราในฐานะมนุษย์ไม่สมบูรณ์จะทำได้. ดังนั้น ด้วยความช่วยเหลือจากผู้เขียนพระธรรมกิตติคุณ ขอให้เราเพ่งพิจารณาพระทัยของพระคริสต์. ก่อนอื่น เราจะพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อวิธีที่พระเยซูทรงคิดและรู้สึก.
ความเป็นอยู่ก่อนเป็นมนุษย์
5, 6. (ก) คนที่เราคบหาสมาคมด้วยอาจก่อผลกระทบต่อเราเช่นไร? (ข) พระบุตรหัวปีของพระเจ้าทรงมีการคบหาสมาคมเช่นไรในสวรรค์ก่อนเสด็จมายังแผ่นดินโลก และการคบหาสมาคมดังกล่าวมีผลอย่างไรต่อพระองค์?
5 คนที่เราคบหาใกล้ชิดอาจก่อผลกระทบต่อเรา โน้มนำความคิด, ความรู้สึก, และการกระทำของเราได้ทั้งในทางดีและทางเลว.a (สุภาษิต 13:20) ขอให้พิจารณาการคบหาสมาคมที่พระเยซูทรงมีในสวรรค์ก่อนเสด็จมายังแผ่นดินโลก. พระธรรมกิตติคุณโยฮันบอกเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของพระเยซูก่อนเป็นมนุษย์ในฐานะ “พระวาทะ” หรือโฆษกของพระเจ้า. โยฮันกล่าวว่า “เริ่มแรกพระวาทะเป็นอยู่แล้ว และพระวาทะนั้นได้อยู่กับพระเจ้า และพระวาทะนั้นเป็นพระเจ้าองค์หนึ่ง. เมื่อเดิมพระองค์ผู้นี้ได้อยู่กับพระเจ้า.” (โยฮัน 1:1, 2, ล.ม.) เนื่องจากพระยะโฮวาไม่มีจุดเริ่มต้น การที่พระวาทะอยู่กับพระเจ้าตั้งแต่ “เริ่มแรก” คงต้องหมายถึงตอนเริ่มต้นแห่งงานสร้างสรรค์ของพระเจ้า. (บทเพลงสรรเสริญ 90:2) พระเยซูทรงเป็น “ผู้แรกที่บังเกิดก่อนสรรพสิ่งทรงสร้าง.” ด้วยเหตุนั้น พระองค์ทรงดำรงอยู่ก่อนที่กายวิญญาณอื่น ๆ และเอกภพจะถูกสร้างขึ้น.—โกโลซาย 1:15, ล.ม.; วิวรณ์ 3:14.
6 ตามการประมาณของนักวิทยาศาสตร์บางคน เอกภพดำรงอยู่เป็นเวลาอย่างน้อยหนึ่งหมื่นสองพันล้านปี. หากการประมาณดังกล่าวใกล้เคียงความเป็นจริง พระบุตรหัวปีของพระเจ้าทรงมีสัมพันธภาพใกล้ชิดกับพระบิดาเป็นเวลานับหมื่นล้านปีก่อนการสร้างอาดาม. (เทียบกับมีคา 5:2.) สายสัมพันธ์อันเปี่ยมด้วยความรักและลึกซึ้งจึงพัฒนาขึ้นระหว่างพระองค์ทั้งสอง. ในฐานะพระปัญญาซึ่งมีการกล่าวถึงราวกับเป็นบุคคล มีการพรรณนาถึงพระบุตรหัวปีองค์นี้เมื่อทรงดำรงอยู่ก่อนเป็นมนุษย์ว่าพระองค์ตรัสดังนี้: “เราได้มาเป็นผู้ที่พระองค์ [พระยะโฮวา] ทรงโปรดปรานเป็นพิเศษวันแล้ววันเล่า เราชื่นชมยินดีเฉพาะพระพักตร์พระองค์ตลอดเวลา.” (สุภาษิต 8:30, ล.ม.) แน่นอน การใช้เวลามากมายจนไม่อาจนับได้ในการมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับแหล่งแห่งความรักย่อมก่อผลกระทบที่ลึกล้ำต่อพระบุตรของพระเจ้า! (1 โยฮัน 4:8) พระบุตรองค์นี้ได้มารู้จักและสะท้อนถึงความคิด, ความรู้สึก, และวิถีทางของพระบิดาอย่างที่ไม่มีใครจะทำได้เหมือนพระองค์.—มัดธาย 11:27.
ชีวิตบนแผ่นดินโลกและปัจจัยที่ก่อผลกระทบ
7. เหตุผลหนึ่งที่ทำให้พระบุตรหัวปีของพระเจ้าจำเป็นต้องเสด็จมายังแผ่นดินโลกคืออะไร?
7 พระบุตรของพระเจ้ายังต้องเรียนรู้มากกว่านี้ เพราะพระประสงค์ของพระยะโฮวาคือการเตรียมพระบุตรไว้ให้เป็นมหาปุโรหิตที่กรุณา สามารถจะ “ร่วมรู้สึกกับความอ่อนแอของเรา.” (เฮ็บราย 4:15, ล.ม.) การบรรลุข้อเรียกร้องสำหรับบทบาทนี้เป็นเหตุผลอย่างหนึ่งที่พระบุตรเสด็จมายังแผ่นดินโลกในฐานะมนุษย์. ที่นี่ ในฐานะมนุษย์ที่ประกอบด้วยเลือดเนื้อ พระเยซูต้องพบกับสถานการณ์แวดล้อมและปัจจัยต่าง ๆ ที่ก่อผลกระทบซึ่งก่อนหน้านั้นพระองค์เพียงแต่สังเกตเห็นจากสวรรค์. บัดนี้ พระองค์ทรงสามารถมีอารมณ์และความรู้สึกแบบมนุษย์ด้วยพระองค์เอง. บางครั้งพระองค์รู้สึกเหน็ดเหนื่อย, กระหาย, และหิว. (มัดธาย 4:2; โยฮัน 4:6, 7) ยิ่งกว่านั้น พระองค์ทรงอดทนความลำบากและความทุกข์ทุกรูปแบบ. โดยวิธีนี้ พระองค์ “ทรงเรียนรู้การเชื่อฟัง” และมีคุณสมบัติครบถ้วนสำหรับบทบาทของพระองค์ในฐานะมหาปุโรหิต.—เฮ็บราย 5:8-10, ล.ม.
8. เราทราบอะไรเกี่ยวกับชีวิตในช่วงแรก ๆ ของพระเยซูบนแผ่นดินโลก?
8 จะว่าอย่างไรสำหรับประสบการณ์ของพระเยซูบนแผ่นดินโลกในวัยเด็ก? ประวัติบันทึกเกี่ยวกับช่วงวัยเด็กของพระองค์มีน้อยมาก. ที่จริง มีเพียงมัดธายและลูกาที่บอกเล่าเหตุการณ์ในช่วงที่พระองค์ประสูติ. ผู้เขียนพระธรรมกิตติคุณทราบว่าพระเยซูเคยมีพระชนม์ชีพในสวรรค์ก่อนเสด็จมายังแผ่นดินโลก. การดำรงอยู่ก่อนเป็นมนุษย์นั่นแหละที่ทำให้เข้าใจได้ดียิ่งกว่าปัจจัยอื่นใดว่าพระองค์จะกลายเป็นบุคคลแบบไหน. อย่างไรก็ตาม พระเยซูทรงเป็นมนุษย์โดยครบถ้วนสมบูรณ์. แม้ว่าทรงสมบูรณ์ พระองค์ยังคงต้องเติบโตจากวัยทารก แล้วมาเป็นเด็กและเข้าสู่วัยรุ่นจนในที่สุดเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ตลอดเวลาดังกล่าวพระองค์ทรงเรียนรู้. (ลูกา 2:51, 52) คัมภีร์ไบเบิลเปิดเผยบางสิ่งเกี่ยวกับชีวิตในช่วงแรก ๆ ของพระเยซูซึ่งคงมีผลต่อพระองค์อย่างไม่มีข้อสงสัย.
9. (ก) มีข้อบ่งชี้อะไรว่าพระเยซูประสูติในครอบครัวยากจน? (ข) พระเยซูคงเติบโตขึ้นมาในสภาพเศรษฐกิจแบบใด?
9 มีหลักฐานแสดงว่า พระเยซูประสูติในครอบครัวยากจน. เรื่องนี้เห็นได้จากของถวายที่โยเซฟและมาเรียนำไปถวายที่พระวิหารประมาณ 40 วันหลังการประสูติ. แทนที่จะนำลูกแกะไปถวายเป็นเครื่องบูชาเผาและลูกนกพิราบหรือนกเขาถวายเป็นเครื่องบูชาไถ่บาป ทั้งสองถวาย “นกเขาคู่หนึ่ง หรือ ลูกนกพิราบสองตัว” อย่างใดอย่างหนึ่ง. (ลูกา 2:24) ตามพระบัญญัติของโมเซ ของถวายนี้กำหนดไว้สำหรับให้คนจนถวาย. (เลวีติโก 12:6-8) ต่อมา ครอบครัวที่ต่ำต้อยนี้ขยายใหญ่ขึ้น. โยเซฟและมาเรียมีลูกตามปกติธรรมดาอย่างน้อยอีกหกคนภายหลังการประสูติโดยวิธีอัศจรรย์ของพระเยซู. (มัดธาย 13:55, 56) ดังนั้น พระเยซูทรงเติบโตขึ้นมาในครอบครัวใหญ่ และคงจะในสภาพเศรษฐกิจที่ต้องมัธยัสถ์อดออม.
10. อะไรแสดงว่ามาเรียและโยเซฟเป็นคนที่เกรงกลัวพระเจ้า?
10 พระเยซูได้รับการเลี้ยงดูโดยบิดามารดาที่ยำเกรงพระเจ้า. มาเรีย มารดาของพระองค์เป็นสตรีที่เด่นคนหนึ่ง. ขอให้นึกถึงตอนที่ทูตสวรรค์ฆับรีเอลทักทายเธอ โดยกล่าวว่า “จงจำเริญเถิด เธอเป็นที่ทรงโปรดปรานมาก ขอพระเจ้าทรงสถิตอยู่กับเธอเถิด.” (ลูกา 1:28) โยเซฟก็เช่นกันเป็นชายผู้เลื่อมใสพระเจ้า. ด้วยความซื่อสัตย์ ทุก ๆ ปีเขาเดินทาง 150 กิโลเมตรไปยังกรุงยะรูซาเลมเพื่อเข้าร่วมเทศกาลปัศคา. มาเรียก็ไปด้วย แม้ว่ามีข้อเรียกร้องเฉพาะผู้ชายเท่านั้นให้ทำเช่นนี้. (เอ็กโซโด 23:17; ลูกา 2:41) ณ โอกาสดังกล่าวคราวหนึ่ง หลังจากเที่ยวตามหาจนทั่ว โยเซฟและมาเรียก็พบพระเยซูผู้ทรงมีพระชนมายุได้ 12 พรรษาอยู่ที่พระวิหารในหมู่อาจารย์. พระเยซูตรัสแก่บิดามารดาผู้เป็นห่วงกังวลว่า “ท่านยังไม่ทราบหรือว่า ฉันคงต้องอยู่ในราชฐานแห่งพระบิดาของฉัน?” (ลูกา 2:49) “พระบิดา”—คำนี้คงต้องมีนัยความหมายที่อบอุ่นและเสริมสร้างสำหรับพระเยซูผู้ยังเยาว์. ประการหนึ่งนั้น คงมีคนบอกพระองค์ว่าพระยะโฮวาทรงเป็นบิดาที่แท้จริงของพระองค์. นอกจากนี้ โยเซฟคงต้องเป็นบิดาเลี้ยงที่ดี. พระยะโฮวาคงไม่เลือกชายที่เกรี้ยวกราดหรือโหดร้ายให้เลี้ยงดูพระบุตรที่รักของพระองค์แน่!
11. พระเยซูทรงเรียนรู้งานอะไร และในสมัยคัมภีร์ไบเบิล การทำงานในอาชีพนี้หมายรวมถึงอะไร?
11 ขณะเจริญวัยขึ้นในเมืองนาซาเร็ธ พระเยซูทรงเรียนรู้เกี่ยวกับงานช่างไม้ ซึ่งก็คงเรียนจากโยเซฟบิดาเลี้ยงของพระองค์นั่นเอง. พระเยซูทรงชำนาญในงานนี้จนมีคนเรียกพระองค์ว่า “ช่างไม้.” (มาระโก 6:3) ในสมัยคัมภีร์ไบเบิล ช่างไม้ได้รับการว่าจ้างให้สร้างบ้าน, ทำเฟอร์นิเจอร์ (อาทิเช่น โต๊ะ, เก้าอี้, และม้านั่ง), และทำเครื่องมือการเกษตร. ในหนังสือบทสนทนากับไทรโฟ จัสติน มาร์เทอร์ แห่งศตวรรษที่สองเขียนเกี่ยวกับพระเยซูว่า “เมื่ออยู่ในหมู่ผู้ชาย งานที่พระองค์ทรงทำเป็นประจำคืองานช่างไม้ ทำผาลและแอก.” งานดังกล่าวไม่ง่ายเลย เพราะช่างไม้ในสมัยโบราณคงไม่สามารถหาซื้อไม้. เป็นไปได้มากกว่าว่า เขาต้องออกไปหาและเลือกต้นไม้ เหวี่ยงขวานตัดต้นไม้ แล้วลากไม้นั้นมาที่บ้าน. ดังนั้น พระเยซูอาจทราบดีถึงข้อท้าทายของการหาเลี้ยงชีพ, การติดต่อกับลูกค้า, และการชักหน้าให้ถึงหลัง.
12. อะไรแสดงว่าโยเซฟคงจะเสียชีวิตก่อนพระเยซู และเรื่องนี้คงจะหมายถึงอะไรสำหรับพระเยซู?
12 ในฐานะบุตรชายคนโต พระเยซูคงช่วยดูแลครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื่องจากดูเหมือนว่าโยเซฟเสียชีวิตก่อนพระเยซู.b หอสังเกตการณ์แห่งซีโอน ฉบับ 1 มกราคม 1900 (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า “ตามคำเล่าสืบปาก โยเซฟเสียชีวิตขณะที่พระเยซูยังทรงเยาว์ พระองค์จึงทรงทำงานเป็นช่างไม้และเป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัว. เรื่องนี้ปรากฏมีข้อสนับสนุนบางอย่างในพระคัมภีร์ซึ่งมีการเรียกพระเยซูว่าช่างไม้ และกล่าวถึงมารดากับน้องชายของพระองค์ด้วย แต่กลับไม่ได้กล่าวถึงโยเซฟเลย. (มาระโก 6:3) . . . ดังนั้น จึงเป็นไปได้ทีเดียวว่า ช่วงเวลายาวนานถึงสิบแปดปีของชีวิตองค์พระผู้เป็นเจ้า คือนับตั้งแต่เหตุการณ์ [ดังบันทึกไว้ที่ลูกา 2:41-49] จนถึงตอนที่พระองค์รับบัพติสมา พระองค์ทรงใช้เวลาช่วงนั้นในการทำหน้าที่การงานตามปกติธรรมดาในชีวิต.” มาเรียกับลูก ๆ รวมทั้งพระเยซูด้วย คงรู้ซึ้งดีถึงความเจ็บปวดซึ่งเกิดจากการที่สามีและบิดาผู้เป็นที่รักเสียชีวิต.
13. เมื่อพระเยซูทรงเริ่มต้นงานรับใช้ของพระองค์ เหตุใดพระองค์จึงทรงทำด้วยความรู้, ความหยั่งเห็นเข้าใจ, และความรู้สึกอันลึกซึ้งอย่างที่ไม่มีมนุษย์คนใดสามารถทำได้อย่างนั้น?
13 เห็นได้ชัด พระเยซูไม่ได้ประสูติมามีชีวิตที่สมบูรณ์พูนสุข. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น พระองค์ทรงมีประสบการณ์ชีวิตอย่างคนธรรมดาทั่วไป. ต่อมา ในปี ส.ศ. 29 พระเยซูทรงปฏิบัติงานมอบหมายของพระเจ้าที่คอยพระองค์อยู่. ในฤดูใบไม้ร่วงของปีนั้น พระองค์ทรงรับบัพติสมาในน้ำและได้รับการบังเกิดเป็นบุตรฝ่ายวิญญาณของพระเจ้า. ‘ฟ้าสวรรค์แหวกออกแก่พระองค์’ ซึ่งก็คงเป็นการระบุว่าบัดนี้พระองค์ทรงระลึกได้ถึงชีวิตของพระองค์ในสวรรค์ก่อนเป็นมนุษย์ รวมถึงความคิดและความรู้สึกที่พระองค์ทรงเคยมี. (ลูกา 3:21, 22) ดังนั้น เมื่อพระเยซูทรงเริ่มต้นงานรับใช้ของพระองค์ พระองค์จึงทรงทำงานนั้นด้วยความรู้, ความหยั่งเห็นเข้าใจ, และความรู้สึกอันลึกซึ้งอย่างที่ไม่มีมนุษย์คนใดจะทำได้อย่างนั้น. ด้วยเหตุผลที่ดี ผู้เขียนพระธรรมกิตติคุณจึงได้อุทิศการเขียนส่วนใหญ่ของตนให้แก่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในงานรับใช้ของพระเยซู. แม้กระนั้น พวกเขาไม่สามารถบันทึกทุกสิ่งที่พระองค์ตรัสและทำ. (โยฮัน 21:25) แต่สิ่งที่พวกเขาได้รับการดลใจให้บันทึกช่วยเราให้เพ่งพิจารณาพระทัยของบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา.
บุคคลอย่างที่พระเยซูทรงเป็น
14. พระธรรมกิตติคุณพรรณนาพระเยซูไว้อย่างไรในฐานะบุรุษที่อบอุ่นนุ่มนวลและมีความรู้สึกอันลึกซึ้ง?
14 บุคลิกภาพของพระเยซูที่เห็นเด่นชัดจากพระธรรมกิตติคุณคือบุรุษที่อบอุ่นนุ่มนวลและมีความรู้สึกอันลึกซึ้ง. พระองค์ทรงแสดงให้เห็นถึงการตอบสนองทางอารมณ์ในขอบเขตที่กว้างขวาง: ทรงสงสารคนโรคเรื้อน (มาระโก 1:40, 41); ทรงโศกเศร้าเนื่องด้วยประชาชนที่ไม่ตอบรับ (ลูกา 19:41, 42); ทรงแสดงความขุ่นเคืองอย่างชอบธรรมต่อคนแลกเงินที่ละโมบ (โยฮัน 2:13-17). เนื่องจากทรงเป็นคนที่ร่วมรู้สึก พระเยซูตื้นตันพระทัยจนถึงกับกันแสง และพระองค์ไม่ทรงปิดซ่อนความรู้สึกของพระองค์. เมื่อลาซะโรสหายที่พระองค์ทรงรักเสียชีวิต ภาพของมาเรียพี่สาวลาซะโรร้องไห้ทำให้พระเยซูสะเทือนพระทัยมากจนถึงกับกันแสงออกมาต่อหน้าคนอื่น ๆ.—โยฮัน 11:32-36.
15. ความรู้สึกอันอ่อนละมุนของพระเยซูเห็นได้อย่างไรจากวิธีที่พระองค์ทรงมองดูและปฏิบัติต่อผู้อื่น?
15 ความรู้สึกอันอ่อนละมุนของพระเยซูเห็นได้ชัดเป็นพิเศษในวิธีที่พระองค์ทรงมองดูและปฏิบัติต่อผู้อื่น. พระองค์ทรงเข้าถึงคนจนและคนที่ถูกกดขี่ ช่วยพวกเขา ‘ได้ความสดชื่นสำหรับจิตวิญญาณของเขา.’ (มัดธาย 11:4, 5, 28-30, ล.ม.) พระองค์ไม่ทรงมีธุระยุ่งเกินไปที่จะตอบสนองความจำเป็นของคนที่ทนทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นหญิงตกเลือดที่แอบสัมผัสฉลองพระองค์หรือชายขอทานตาบอดที่ไม่ยอมเงียบเสียง. (มัดธาย 9:20-22; มาระโก 10:46-52) พระเยซูทรงมองหาข้อดีในผู้อื่นและชมเชยเขา; กระนั้น พระองค์ทรงพร้อมด้วยที่จะว่ากล่าวเมื่อจำเป็น. (มัดธาย 16:23; โยฮัน 1:47; 8:44) ในสมัยซึ่งผู้หญิงถูกจำกัดสิทธิ พระเยซูทรงปฏิบัติอย่างสมดุลต่อผู้หญิงโดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีและให้ความนับถือ. (โยฮัน 4:9, 27) จึงไม่แปลกที่สตรีกลุ่มหนึ่งเต็มใจสนับสนุนพระองค์ด้วยทรัพย์สิ่งของส่วนตัว.—ลูกา 8:3.
16. อะไรแสดงว่าพระเยซูทรงมีทัศนะที่สมดุลต่อชีวิตและสิ่งฝ่ายวัตถุ?
16 พระเยซูทรงมีทัศนะที่สมดุลต่อชีวิต. สิ่งฝ่ายวัตถุไม่ใช่เรื่องสำคัญเป็นอันดับแรกสำหรับพระองค์. ดูเหมือนว่า พระองค์ทรงมีน้อยมากในด้านวัตถุ. พระองค์ตรัสว่าพระองค์ “ไม่มีที่ ๆ จะวางศีรษะ.” (มัดธาย 8:20) ในขณะเดียวกัน พระเยซูทรงเพิ่มเติมความยินดีให้แก่ผู้อื่น. เมื่อพระองค์ทรงเข้าร่วมงานเลี้ยงสมรส—งานซึ่งตามปกติจะมีดนตรี การร้องเพลง และการละเล่นรื่นเริงกัน—เห็นได้ชัดว่าพระองค์ไม่ได้ไปอยู่ที่นั่นแล้วทำให้งานนั้นหมดสนุก. ที่จริง พระเยซูทรงทำการอัศจรรย์ครั้งแรกที่นั่น. เมื่อเหล้าองุ่นหมด พระองค์ทรงเปลี่ยนน้ำให้กลายเป็นเหล้าองุ่นชั้นเยี่ยม เครื่องดื่มซึ่ง “ทำให้ใจมนุษย์ชื่นบาน.” (บทเพลงสรรเสริญ 104:15; โยฮัน 2:1-11) ด้วยเหตุนั้น งานเลี้ยงรื่นเริงจึงดำเนินต่อไปได้ และไม่ต้องสงสัยเลยว่าช่วยให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวไม่ต้องเสียหน้า. นอกจากนั้น ความสมดุลของพระองค์ยังสะท้อนให้เห็นจากที่มีการกล่าวถึงบ่อยยิ่งกว่านั้นมากว่าพระเยซูทรงทำงานรับใช้ของพระองค์อย่างหนักและต่อเนื่องยาวนาน.—โยฮัน 4:34.
17. เหตุใดจึงไม่น่าแปลกใจที่พระเยซูทรงเป็นครูชั้นยอด และคำสอนของพระองค์สะท้อนถึงอะไร?
17 พระเยซูทรงเป็นครูชั้นยอด. การสอนส่วนใหญ่ของพระองค์สะท้อนถึงความเป็นจริงของชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นเรื่องที่พระองค์ทรงคุ้นเคยดี. (มัดธาย 13:33; ลูกา 15:8) ลักษณะการสอนของพระองค์นั้นไม่มีใครเทียบ—ชัดเจน, เรียบง่าย, และใช้ได้ผลเสมอ. ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือสิ่งที่พระองค์ทรงสอน. คำสอนของพระองค์สะท้อนถึงความปรารถนาจากหัวใจที่จะช่วยผู้ฟังให้คุ้นเคยกับความคิด, ความรู้สึก, และวิถีทางของพระยะโฮวา.—โยฮัน 17:6-8.
18, 19. (ก) พระเยซูทรงพรรณนาเกี่ยวกับพระบิดาของพระองค์ด้วยภาพพจน์ที่ชัดเจนเช่นไร? (ข) จะมีการพิจารณาอะไรในบทความถัดไป?
18 ด้วยการใช้อุทาหรณ์บ่อย ๆ พระเยซูทรงเปิดเผยเกี่ยวกับพระบิดาของพระองค์ด้วยภาพพจน์อันแจ่มชัดที่ไม่อาจลืมได้ง่าย ๆ. การกล่าวถึงความเมตตาของพระเจ้าอย่างกว้าง ๆ เป็นวิธีหนึ่งที่อาจทำได้. แต่นับเป็นคนละเรื่องเลยทีเดียวที่จะเปรียบพระยะโฮวากับบิดาที่ให้อภัยซึ่งรู้สึกตื้นตันใจอย่างยิ่งเมื่อเห็นบุตรชายกลับมา จนได้ ‘วิ่งมาซบที่คอบุตรแล้วจูบเขาด้วยความอ่อนโยน.’ (ลูกา 15:11-24, ล.ม.) พระเยซูทรงปฏิเสธวัฒนธรรมอันเข้มงวดที่พวกหัวหน้าศาสนาดูถูกสามัญชน โดยอธิบายว่าพระบิดาของพระองค์เป็นพระเจ้าที่เข้าหาได้ง่าย ผู้พอพระทัยคำอ้อนวอนของคนเก็บภาษีที่ถ่อมตนมากกว่าคำอธิษฐานอย่างวางท่าของฟาริซายที่อวดตัว. (ลูกา 18:9-14) พระเยซูทรงพรรณนาถึงพระยะโฮวาในฐานะพระเจ้าที่ใฝ่พระทัยผู้ทรงทราบเมื่อนกกระจอกตัวเล็ก ๆ ตกถึงดิน. พระเยซูทรงรับรองกับเหล่าสาวกว่า “อย่ากลัวเลย ท่านทั้งหลายก็ประเสริฐกว่านกกระจาบหลายตัว.” (มัดธาย 10:29, 31) จึงไม่แปลกที่ประชาชนรู้สึกทึ่งใน “คำสั่งสอน” ของพระเยซู และถูกดึงดูดให้เข้ามาหาพระองค์. (มัดธาย 7:28, 29) คิดดูซิ ในครั้งหนึ่ง “ประชาชนพากันมามากมาย” และค้างอยู่กับพระองค์สามวัน แม้ไม่มีอาหารรับประทาน!—มาระโก 8:1, 2, ฉบับแปลใหม่.
19 เราสามารถแสดงความขอบพระคุณที่พระยะโฮวาได้เปิดเผยถึงพระทัยของพระคริสต์ไว้ในพระคำของพระองค์! อย่างไรก็ตาม เราจะปลูกฝังและแสดงพระทัยของพระคริสต์ได้อย่างไรในการติดต่อสัมพันธ์กับผู้อื่น? จะมีการพิจารณาเรื่องนี้ในบทความถัดไป.
[เชิงอรรถ]
a ในเรื่องที่ว่าเหล่ากายวิญญาณอาจถูกโน้มนำจากการคบหาสมาคมจะเห็นได้ที่วิวรณ์ 12:3, 4. ที่นั่น มีการให้ภาพซาตานว่าเป็น “พญานาค” ซึ่งสามารถใช้อิทธิพลของมันเพื่อจะได้ “ดาว” อื่น ๆ ซึ่งก็คือเหล่าบุตรที่เป็นกายวิญญาณ มาร่วมสมทบกับมันในแนวทางกบฏ.—เทียบกับโยบ 38:7.
b มีการกล่าวถึงโยเซฟโดยตรงครั้งสุดท้ายตอนที่พบพระเยซูผู้มีพระชนมายุได้ 12 พรรษาอยู่ที่พระวิหาร. ไม่มีการกล่าวถึงโยเซฟที่งานเลี้ยงสมรส ณ บ้านคานา ในคราวการเริ่มต้นงานรับใช้ของพระเยซู. (โยฮัน 2:1-3) ในปี ส.ศ. 33 พระเยซูผู้ถูกตรึงทรงฝากฝังมาเรียไว้ในความดูแลของอัครสาวกโยฮันที่ทรงรัก. พระเยซูคงไม่ทำอย่างนั้นหากโยเซฟยังมีชีวิตอยู่.—โยฮัน 19:26, 27.
-
-
คุณมี “พระทัยของพระคริสต์” ไหม?หอสังเกตการณ์ 2000 | 15 กุมภาพันธ์
-
-
คุณมี “พระทัยของพระคริสต์” ไหม?
“ขอพระเจ้าผู้ทรงให้ท่านทั้งหลายมีความอดทนและการปลอบโยน โปรดให้ท่านทั้งหลายมีทัศนคติอย่างเดียวกัน . . . เหมือนพระคริสต์เยซูทรงมี.”—โรม 15:5, ล.ม.
1. มีการพรรณนาถึงพระเยซูอย่างไรในภาพวาดจำนวนมากของคริสต์ศาสนจักร และเหตุใดนี่ไม่ใช่การพรรณนาถึงพระเยซูอย่างยุติธรรม?
“ไม่เคยมีใครเห็นพระองค์ทรงพระสรวลแม้แต่ครั้งเดียว.” นั่นคือคำพรรณนาถึงพระเยซูในเอกสารฉบับหนึ่งซึ่งอ้างอย่างที่ไม่เป็นความจริงว่าเขียนโดยเจ้าหน้าที่ชาวโรมันโบราณผู้หนึ่ง. กล่าวกันว่าเอกสารนี้ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในรูปแบบปัจจุบันตั้งแต่ประมาณศตวรรษที่ 11 มีอิทธิพลต่อศิลปินมากมาย.a พระเยซูทรงปรากฏในภาพวาดจำนวนมากในฐานะบุคคลที่เคร่งขรึม ซึ่งหากเคยแย้มพระโอษฐ์ก็คงน้อยครั้งเต็มที. แต่นั่นย่อมเป็นการพรรณนาถึงพระเยซูอย่างไม่ยุติธรรม เพราะพระธรรมกิตติคุณพรรณนาถึงพระองค์ว่าทรงเป็นบุรุษที่อบอุ่น, มีพระทัยกรุณา, และมีความรู้สึกอันลึกซึ้ง.
2. เราอาจปลูกฝัง “ทัศนคติอย่างเดียวกัน . . . เหมือนพระคริสต์เยซูทรงมี” ได้อย่างไร และการปลูกฝังดังกล่าวจะช่วยเราให้พร้อมจะทำอะไร?
2 เห็นได้ชัด เพื่อจะรู้จักตัวจริงของพระเยซู เราต้องบรรจุความคิดและหัวใจของเราด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับบุคคลแบบที่พระเยซูทรงเป็นจริง ๆ ขณะอยู่บนแผ่นดินโลกนี้. ด้วยเหตุนั้น ให้เราตรวจสอบเรื่องราวบางอย่างจากพระธรรมกิตติคุณที่ให้ความหยั่งเห็นเข้าใจแก่เราในเรื่อง “พระทัยของพระคริสต์”—กล่าวคือความรู้สึก, การรับรู้, ความคิด, และการหาเหตุผลของพระองค์. (1 โกรินโธ 2:16) ขณะที่เราทำอย่างนั้น ให้เราพิจารณาวิธีที่เราอาจปลูกฝัง “ทัศนคติอย่างเดียวกัน . . . เหมือนพระคริสต์เยซูทรงมี.” (โรม 15:5, ล.ม.) โดยวิธีนี้ เราอาจพร้อมมากกว่าในการดำเนินชีวิตและในการติดต่อสัมพันธ์กับผู้อื่นเพื่อดำเนินตามแบบอย่างที่พระองค์ทรงวางไว้สำหรับเรา.—โยฮัน 13:15.
เป็นผู้ที่เข้าหาได้ง่าย
3, 4. (ก) ฉากของเหตุการณ์ซึ่งบันทึกไว้ที่มาระโก 10:13-16 เป็นอย่างไร? (ข) พระเยซูทรงแสดงปฏิกิริยาอย่างไรเมื่อเหล่าสาวกพยายามห้ามเด็กเล็ก ๆ ไว้ไม่ให้เข้ามาหาพระองค์?
3 ผู้คนรู้สึกถูกดึงดูดให้เข้าไปหาพระเยซู. ในหลายโอกาส คนในวัยและภูมิหลังต่าง ๆ กันเข้าหาพระองค์อย่างเป็นอิสระ. ขอให้พิจารณาเหตุการณ์ซึ่งบันทึกไว้ที่มาระโก 10:13-16. เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นขณะจวนจะถึงตอนสิ้นสุดงานรับใช้ของพระองค์ ขณะพระองค์กำลังมุ่งตรงไปยังกรุงยะรูซาเลมเป็นครั้งสุดท้าย เพื่อเผชิญหน้ากับความตายอันเจ็บปวดรวดร้าว.—มาระโก 10:32-34.
4 ขอให้นึกถึงฉากเหตุการณ์. ประชาชนเริ่มพาเด็ก ๆ รวมทั้งทารกมาให้พระเยซูอวยพร.b อย่างไรก็ตาม เหล่าสาวกพยายามห้ามพวกเด็ก ๆ ไม่ให้เข้ามาหาพระเยซู. อาจเป็นได้ พวกสาวกคิดว่าพระเยซูคงไม่ต้องการถูกรบกวนจากพวกเด็ก ๆ เป็นแน่ในช่วงสัปดาห์สำคัญที่เหลืออยู่นี้. แต่พวกเขาคิดผิด. เมื่อพระเยซูทรงทราบว่าพวกสาวกกำลังทำอะไร พระองค์แสดงความไม่พอพระทัย. พระเยซูทรงเรียกเด็ก ๆ ให้เข้าไปหาพระองค์ ตรัสว่า “จงยอมให้เด็กเล็ก ๆ เข้ามาหาเรา, อย่าห้ามเขาเลย.” (มาระโก 10:14) ตอนนั้นเอง พระองค์ทรงทำสิ่งซึ่งเผยให้เห็นลักษณะที่อ่อนโยนและเปี่ยมด้วยความรักแท้จริง. บันทึกกล่าวว่า “พระองค์ทรงอุ้มเด็กเล็ก ๆ เหล่านั้น . . . และทรงอวยพรให้.” (มาระโก 10:16) เห็นได้ชัด พวกเด็ก ๆ รู้สึกสบายใจขณะที่พระเยซูทรงอุ้มเขาไว้ในวงแขนที่อาทรของพระองค์.
5. บันทึกที่มาระโก 10:13-16 บอกอะไรแก่เราเกี่ยวกับบุคคลแบบที่พระเยซูทรงเป็น?
5 บันทึกสั้น ๆ นั้นบอกเรามากทีเดียวเกี่ยวกับบุคคลแบบที่พระเยซูทรงเป็น. สังเกตว่าพระองค์เป็นผู้ที่เข้าหาได้ง่าย. แม้ว่าพระองค์ทรงเคยมีตำแหน่งสูงในสวรรค์ พระองค์มิได้เหยียดหยามมนุษย์ไม่สมบูรณ์หรือทำให้เขากลัว. (โยฮัน 17:5) การที่แม้แต่เด็กก็รู้สึกสบายใจเมื่ออยู่กับพระองค์ย่อมบ่งถึงอะไรบางอย่างด้วยมิใช่หรือ? แน่นอน พวกเด็ก ๆ คงไม่รู้สึกถูกดึงดูดให้เข้าไปหาคนที่เย็นชาไร้ความยินดีผู้ไม่เคยยิ้มหรือหัวเราะ! ผู้คนทุกวัยเข้าหาพระเยซูเนื่องจากพวกเขารู้สึกได้ว่าพระองค์ทรงเป็นคนอบอุ่นเอื้ออาทร และพวกเขาเชื่อมั่นว่าพระองค์จะไม่ผลักไสพวกเขา.
6. ผู้ปกครองจะทำให้ตัวเองเป็นคนที่เข้าหาได้ง่ายขึ้นได้อย่างไร?
6 เมื่อใคร่ครวญในบันทึกนี้ เราอาจถามตัวเราเองว่า ‘ฉันมีพระทัยของพระคริสต์ไหม? ฉันเป็นคนที่เข้าหาได้ง่ายไหม?’ ในสมัยวิกฤตินี้ แกะของพระเจ้าจำเป็นต้องมีผู้บำรุงเลี้ยงที่เข้าหาได้ง่าย ชายที่เป็นเหมือน “ที่หลบซ่อนให้พ้นลม.” (ยะซายา 32:1, 2, ล.ม.; 2 ติโมเธียว 3:1) ผู้ปกครองทั้งหลาย หากคุณปลูกฝังความสนใจที่ออกมาจากใจอย่างแท้จริงต่อพี่น้องของคุณและเต็มใจจะสละตัวเองเพื่อประโยชน์ของพวกเขา พวกเขาก็จะรับรู้ได้ถึงความห่วงใยของคุณ. พวกเขาจะเห็นได้อย่างนั้นจากการแสดงออกทางสีหน้าของคุณ, ฟังออกจากน้ำเสียงของคุณ, และสังเกตได้จากท่าทีที่กรุณาของคุณ. ความอบอุ่นและความห่วงใยแท้จริงเช่นนั้นสามารถสร้างบรรยากาศแห่งความไว้วางใจ ซึ่งจะทำให้ง่ายขึ้นที่ผู้อื่น รวมทั้งเด็ก ๆ ด้วย จะเข้าหาคุณ. สตรีคริสเตียนคนหนึ่งอธิบายถึงเหตุผลที่เธอสามารถเปิดใจพูดกับผู้ปกครองคนหนึ่งว่า “เขาพูดกับดิฉันด้วยท่าทีที่นุ่มนวลและเมตตารักใคร่. ถ้าไม่อย่างนั้นแล้ว ดิฉันก็คงพูดไม่ออก. เขาทำให้ดิฉันรู้สึกปลอดภัย.”
คำนึงถึงผู้อื่น
7. (ก) พระเยซูทรงแสดงให้เห็นอย่างไรว่าพระองค์ทรงคำนึงถึงผู้อื่น? (ข) อาจเป็นเพราะเหตุใดที่พระเยซูทรงฟื้นฟูความสามารถในการมองเห็นให้ชายตาบอดคนหนึ่งอย่างค่อยเป็นค่อยไป?
7 พระเยซูทรงคำนึงถึงผู้อื่น. พระองค์ทรงมีความรู้สึกไวต่อความรู้สึกของผู้อื่น. เพียงได้เห็นคนที่ทนทุกข์ก็ทำให้สะเทือนพระทัยอย่างยิ่งจนกระตุ้นพระองค์ให้บรรเทาทุกข์ของพวกเขา. (มัดธาย 14:14) พระองค์ทรงคำนึงถึงขีดจำกัดและความจำเป็นของผู้อื่นด้วย. (โยฮัน 16:12) ครั้งหนึ่ง ผู้คนพาชายตาบอดคนหนึ่งมาขอให้พระเยซูรักษาเขา. พระเยซูทรงฟื้นฟูความสามารถในการมองเห็นให้แก่ชายคนนี้ แต่ทรงรักษาอย่างค่อยเป็นค่อยไป. ทีแรก ชายคนนี้เริ่มมองเห็นผู้คนแต่เพียงรางเลือน—“เหมือนต้นไม้เดินไปเดินมา.” ต่อจากนั้น พระเยซูทรงทำให้เขามองเห็นชัดเป็นปกติ. เหตุใดพระองค์ทรงค่อย ๆ รักษาชายคนนี้ทีละน้อย? ที่ทำอย่างนั้นคงจะเพื่อให้ชายคนนี้ซึ่งคุ้นเคยกับความมืดมานานสามารถปรับสายตารับการมองเห็นโลกอันสลับซับซ้อนซึ่งสว่างจ้าด้วยแสงอาทิตย์.—มาระโก 8:22-26.
8, 9. (ก)เกิดอะไรขึ้นหลังจากพระเยซูกับเหล่าสาวกเข้าไปในแขวงเดกาโปลีได้ไม่นาน? (ข) จงพรรณนาถึงการรักษาชายหูหนวกที่พระเยซูทรงทำ.
8 ขอให้พิจารณาอีกเหตุการณ์หนึ่งซึ่งเกิดขึ้นหลังวันปัศคาปี ส.ศ. 32. พระเยซูกับเหล่าสาวกได้เข้าไปในแขวงเดกาโปลี ฟากตะวันออกของทะเลฆาลิลาย. ไม่นานนัก ก็มีคนกลุ่มใหญ่พบพระเยซูกับสาวกที่นั่นและนำคนป่วยกับคนพิการจำนวนมากมาหาพระเยซู และพระองค์ทรงรักษาเขาสิ้นทุกคน. (มัดธาย 15:29, 30) ที่น่าสนใจคือ พระเยซูทรงแยกชายคนหนึ่งออกมาเพื่อให้เขาได้รับการดูแลเป็นพิเศษ. ผู้เขียนพระธรรมกิตติคุณมาระโก ซึ่งเป็นคนเดียวที่บันทึกเหตุการณ์นี้ไว้ รายงานสิ่งที่เกิดขึ้น.—มาระโก 7:31-35.
9 ชายคนนี้หูหนวกและแทบจะพูดไม่ได้. พระเยซูอาจทราบว่าชายคนนี้รู้สึกกังวลหรือกระดากอายเป็นพิเศษ. ตอนนั้นเอง พระเยซูทรงทำเรื่องที่ค่อนข้างแปลก. พระองค์ทรงพาชายคนนี้ออกจากฝูงชนไปอยู่ต่างหาก. จากนั้น พระเยซูทรงแสดงท่าทางบางอย่างเพื่อสื่อให้ชายคนนี้เข้าใจถึงสิ่งที่พระองค์กำลังจะทำ. พระองค์ “ทรงเอานิ้วพระหัตถ์ยอนเข้าที่หูของชายผู้นั้น, และทรงบ้วนน้ำลายเอานิ้วพระหัตถ์จิ้มแตะลิ้นคนนั้น.” (มาระโก 7:33) แล้วพระเยซูทรงแหงนพระพักตร์ดูฟ้าและถอนพระทัยอธิษฐาน. การแสดงออกเหล่านี้ย่อมเท่ากับเป็นการบอกชายผู้นี้ว่า ‘สิ่งที่เราจะทำแก่เจ้านี้เป็นอำนาจจากพระเจ้า.’ ในที่สุด พระเยซูตรัสว่า “จงเปิดออก.” (มาระโก 7:34) ทันใดนั้นเอง ชายคนนี้ก็สามารถได้ยินและพูดได้เป็นปกติ.
10, 11. โดยวิธีใดที่เราอาจแสดงการคำนึงถึงความรู้สึกของผู้อื่นในประชาคม? ในครอบครัว?
10 ช่างคำนึงถึงผู้อื่นอะไรเช่นนี้! พระเยซูทรงไวต่อความรู้สึกของพวกเขา และการคำนึงถึงอย่างร่วมรู้สึกเช่นนี้เองที่กระตุ้นพระองค์ให้ลงมือทำด้วยวิธีที่ถนอมความรู้สึกของพวกเขา. ในฐานะคริสเตียน เราควรปลูกฝังและแสดงออกซึ่งพระทัยของพระคริสต์ในแง่นี้. คัมภีร์ไบเบิลเตือนสติเราว่า “ท่านทั้งหลายทุกคน จงมีความคิดจิตใจอย่างเดียวกัน, แสดงความเห็นอกเห็นใจ, มีความรักใคร่ฉันพี่น้อง, ความเมตตารักใคร่อันอ่อนละมุน, จิตใจถ่อม.” (1 เปโตร 3:8, ล.ม.) แน่นอน เพื่อจะทำได้อย่างนี้จำเป็นที่เราจะต้องพูดและทำในวิธีที่คำนึงถึงความรู้สึกของผู้อื่น.
11 ในประชาคม เราสามารถแสดงการคำนึงถึงความรู้สึกของผู้อื่นได้โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีของเขา ปฏิบัติต่อเขาอย่างที่เราอยากได้รับการปฏิบัติ. (มัดธาย 7:12) นั่นย่อมรวมถึงการระวังสิ่งที่เราพูด ตลอดจนวิธีที่เราพูด. (โกโลซาย 4:6) จำไว้ว่า ‘คำพูดพล่อย ๆ เหมือนการแทงของกระบี่.’ (สุภาษิต 12:18) ในครอบครัวล่ะจะว่าอย่างไร? สามีและภรรยาที่รักกันอย่างแท้จริงย่อมไวต่อความรู้สึกของกันและกัน. (เอเฟโซ 5:33) พวกเขาหลีกเลี่ยงคำพูดเกรี้ยวกราด, การวิพากษ์วิจารณ์ไม่หยุดหย่อน, และการพูดค่อนแคะเชือดเฉือน—ซึ่งทั้งหมดนี้อาจสร้างความเจ็บใจที่ไม่หายไปได้ง่าย ๆ. เด็ก ๆ ก็มีความรู้สึกเหมือนกัน และบิดามารดาผู้มีความรักต้องคำนึงถึงเรื่องนี้. เมื่อจำเป็นต้องว่ากล่าวแก้ไข บิดามารดาผู้เปี่ยมด้วยความรักทำอย่างที่ให้ความนับถือและคำนึงถึงศักดิ์ศรีของลูก ๆ และไม่ทำให้เขาได้อายโดยไม่จำเป็น.c (โกโลซาย 3:21) เมื่อเราแสดงออกด้วยการคำนึงถึงผู้อื่นอย่างนั้น ก็แสดงว่าเรามีพระทัยของพระคริสต์.
พร้อมจะไว้วางใจผู้อื่น
12. พระเยซูทรงมีทัศนะที่สมดุลและตรงตามความเป็นจริงเช่นไรต่อเหล่าสาวก?
12 พระเยซูทรงมีทัศนะต่อเหล่าสาวกอย่างสมดุลและตรงตามความเป็นจริง. พระองค์ทรงทราบดีว่าพวกเขาไม่สมบูรณ์. ที่จริง พระองค์ทรงสามารถอ่านใจคนเราได้. (โยฮัน 2:24, 25) แม้กระนั้น พระองค์มิได้มองเห็นเฉพาะข้อบกพร่อง แต่ทรงมองเห็นคุณลักษณะที่ดีของพวกเขาด้วย. นอกจากนั้น พระองค์ทรงเห็นศักยภาพที่มีอยู่ในคนเหล่านี้ซึ่งพระยะโฮวาได้ทรงชักนำพวกเขา. (โยฮัน 6:44) ทัศนะในแง่ดีที่พระเยซูทรงมีต่อเหล่าสาวกเห็นได้จากวิธีที่พระองค์ทรงดำเนินการและปฏิบัติต่อพวกเขา. ประการหนึ่งนั้น พระองค์ทรงแสดงให้เห็นว่าพร้อมจะไว้วางใจพวกเขา.
13. พระเยซูทรงแสดงอย่างไรว่าพระองค์ไว้วางใจเหล่าสาวก?
13 พระเยซูทรงแสดงความไว้วางใจเช่นนั้นอย่างไร? เมื่อพระองค์ทรงจากโลกนี้ไป พระองค์ทรงมอบหน้าที่รับผิดชอบอันหนักแก่เหล่าสาวกผู้ถูกเจิม. พระองค์ทรงมอบหน้าที่รับผิดชอบในการดูแลผลประโยชน์แห่งราชอาณาจักรของพระองค์ที่มีอยู่ทั่วโลกให้พวกเขาจัดการ. (มัดธาย 25:14, 15; ลูกา 12:42-44) ระหว่างการรับใช้ของพระองค์ พระองค์ทรงแสดงให้เห็นแม้แต่ในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งส่อว่าพระองค์ทรงไว้วางใจพวกเขา. เมื่อพระองค์ทรงเพิ่มปริมาณอาหารด้วยการอัศจรรย์เพื่อเลี้ยงฝูงชน พระองค์ทรงตั้งให้เหล่าสาวกรับผิดชอบในการแจกจ่ายอาหาร.—มัดธาย 14:15-21; 15:32-37.
14. คุณจะสรุปเรื่องซึ่งบันทึกไว้ที่มาระโก 4:35-41 อย่างไร?
14 ขอให้พิจารณาเหตุการณ์ซึ่งบันทึกไว้ที่มาระโก 4:35-41 ด้วย. ในโอกาสนี้ พระเยซูกับเหล่าสาวกลงเรือและแล่นไปทางตะวันออกข้ามทะเลฆาลิลาย. หลังจากออกเรือมาได้ไม่นาน พระเยซูก็เอนพระกายลงที่ท้ายเรือและบรรทมสนิท. แต่ในไม่ช้า “ลมพายุใหญ่ได้บังเกิดขึ้น.” พายุเช่นนั้นมักเกิดขึ้นในทะเลฆาลิลาย. เนื่องจากพื้นน้ำอยู่ในระดับต่ำ (ประมาณ 200 เมตรต่ำกว่าระดับน้ำทะเล) อากาศจึงอุ่นกว่าพื้นที่โดยรอบมาก และความแตกต่างนี้ก่อให้เกิดความปั่นป่วนของบรรยากาศ. นอกจากนี้แล้ว ยังมีลมแรงพัดลงมาตามหุบเขายาระเดนจากภูเขาเฮระโมนซึ่งตั้งอยู่ทางด้านเหนือ. อากาศที่สงบนิ่งอาจเปลี่ยนโดยฉับพลันกลายเป็นพายุกล้าในพริบตาต่อมา. ขอให้คิดดู: ไม่ต้องสงสัยเลยว่าพระเยซูทรงทราบในเรื่องพายุที่เกิดขึ้นเป็นปกติวิสัย เพราะพระองค์ทรงเติบโตในมณฑลฆาลิลาย. กระนั้น พระองค์ทรงบรรทมอย่างเป็นสุข ไว้วางใจในความชำนาญของเหล่าสาวกซึ่งบางคนเป็นชาวประมง.—มัดธาย 4:18, 19.
15. เราอาจเลียนแบบความเต็มพระทัยของพระเยซูที่จะไว้วางใจเหล่าสาวกได้อย่างไร?
15 เราจะเลียนแบบความเต็มพระทัยของพระเยซูที่จะไว้วางใจเหล่าสาวกได้ไหม? บางคนพบว่ายากจะมอบหน้าที่รับผิดชอบแก่ผู้อื่น. เขาต้องเป็นเสมือนคนถือท้ายเรือเสมอ. เขาอาจคิดว่า ‘ถ้าฉันต้องการให้อะไร ๆ ดำเนินไปด้วยดี ฉันต้องทำด้วยตัวเอง!’ แต่หากเราต้องทำทุกอย่างเสียเอง เราคงหมดเรี่ยวแรง และอาจไม่มีเวลาเหลือมากพอสำหรับครอบครัวโดยที่ไม่จำเป็นเลย. นอกจากนั้น หากเราไม่มอบงานและหน้าที่รับผิดชอบที่เหมาะสมแก่ผู้อื่น นั่นอาจเป็นเหมือนกับการกีดกันพวกเขาไว้ไม่ให้ได้รับประสบการณ์และการฝึกฝนที่จำเป็น. นับว่าเป็นความสุขุมที่จะเรียนรู้ในเรื่องการไว้วางใจผู้อื่น มอบงานบางอย่างแก่พวกเขา. เราควรถามตัวเองอย่างซื่อสัตย์ว่า ‘ฉันมีพระทัยของพระคริสต์ในแง่นี้ไหม? ฉันเต็มใจจะมอบงานบางอย่างแก่ผู้อื่นไหม โดยไว้ใจว่าเขาจะทำดีที่สุดเท่าที่เขาทำได้?’
พระองค์ทรงแสดงความเชื่อใจต่อเหล่าสาวก
16, 17. ในคืนสุดท้ายแห่งชีวิตของพระองค์บนแผ่นดินโลก พระเยซูทรงให้คำรับรองอะไรแก่เหล่าอัครสาวก แม้ทรงทราบว่าพวกเขาจะละทิ้งพระองค์?
16 พระเยซูทรงแสดงทัศนะในแง่ดีต่อเหล่าสาวกในอีกวิธีหนึ่งที่สำคัญ. พระองค์ทรงแสดงให้พวกเขาทราบว่าพระองค์เชื่อมั่นในพวกเขา. เรื่องนี้เห็นได้ชัดในคำรับรองที่พระองค์ตรัสแก่เหล่าอัครสาวกในคืนสุดท้ายแห่งชีวิตของพระองค์บนแผ่นดินโลก. โปรดสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้น.
17 คืนนี้พระเยซูทรงมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ต้องทำ. พระองค์ทรงสอนบทเรียนอันเป็นแบบอย่างในเรื่องความถ่อมแก่เหล่าอัครสาวกโดยทรงล้างเท้าพวกเขา. หลังจากนั้น พระองค์ทรงตั้งอาหารมื้อเย็นวันนั้นไว้ให้เป็นอนุสรณ์ถึงการวายพระชนม์ของพระองค์. ถัดจากนั้น เหล่าอัครสาวกเริ่มถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อนอีกครั้งหนึ่งว่าใครน่าจะเป็นใหญ่ที่สุด. พระเยซูยังคงอดทนอยู่ต่อไป โดยไม่ทรงดุด่าหากแต่หาเหตุผลกับพวกเขา. พระองค์ทรงบอกพวกเขาถึงสิ่งที่รออยู่ข้างหน้า: “ในคืนวันนี้ท่านทุกคนจะกะดากใจเพราะเรา ด้วยมีคำกล่าวไว้ในพระคัมภีร์ว่า, เราจะตีผู้เลี้ยงแกะ, และแกะฝูงนั้นจะกระจัดกระจายไป.” (มัดธาย 26:31; ซะคาระยา 13:7) พระองค์ทรงทราบว่ามิตรสหายใกล้ชิดที่สุดของพระองค์จะละทิ้งพระองค์ในยามคับขัน. กระนั้น พระองค์ไม่ทรงตำหนิพวกเขา. ตรงกันข้ามทีเดียว พระองค์ตรัสแก่พวกเขาว่า “แต่เมื่อเราเป็นขึ้นมาแล้ว, เราจะนำหน้าท่านไปยังแขวงฆาลิลาย.” (มัดธาย 26:32) ถูกแล้ว พระองค์ทรงรับรองกับพวกเขาว่า แม้พวกเขาจะละทิ้งพระองค์ พระองค์จะไม่ทรงละทิ้งพวกเขา. เมื่อการทดสอบอันแสนสาหัสนี้ผ่านพ้นไปแล้ว พระองค์จะพบพวกเขาอีกครั้งหนึ่ง.
18. ที่มณฑลฆาลิลาย พระเยซูทรงมอบหมายเหล่าสาวกให้ทำหน้าที่มอบหมายสำคัญอะไร และเหล่าอัครสาวกปฏิบัติตามหน้าที่มอบหมายนี้อย่างไร?
18 พระเยซูทรงรักษาคำตรัสของพระองค์. ต่อมา ในมณฑลฆาลิลาย พระเยซูผู้ถูกปลุกให้คืนพระชนม์ทรงปรากฏต่อหน้าอัครสาวกที่ซื่อสัตย์ทั้ง 11 คน ซึ่งดูเหมือนว่าได้ชุมนุมอยู่กับอีกหลายคน. (มัดธาย 28:16, 17; 1 โกรินโธ 15:6) ที่นั่น พระเยซูทรงมอบหมายงานสำคัญอย่างหนึ่งให้พวกเขาทำ: “เหตุฉะนั้น จงไปและทำให้ชนจากทุกชาติเป็นสาวก ให้เขารับบัพติสมาในนามแห่งพระบิดาและพระบุตรและพระวิญญาณบริสุทธิ์ สอนเขาให้ถือรักษาสิ่งสารพัดซึ่งเราได้สั่งพวกเจ้าไว้.” (มัดธาย 28:19, 20, ล.ม.) พระธรรมกิจการให้หลักฐานชัดเจนแก่เราว่า เหล่าอัครสาวกปฏิบัติตามหน้าที่มอบหมายนั้น. พวกเขานำหน้าอย่างซื่อสัตย์ในงานประกาศข่าวดีในศตวรรษแรก.—กิจการ 2:41, 42; 4:33; 5:27-32.
19. การกระทำของพระเยซูหลังจากการฟื้นคืนพระชนม์สอนอะไรแก่เราเกี่ยวกับพระทัยของพระคริสต์?
19 บันทึกที่เปิดเผยเรื่องนี้สอนอะไรแก่เราเกี่ยวกับพระทัยของพระคริสต์? พระเยซูทรงเคยเห็นเหล่าอัครสาวกในสภาพตกต่ำที่สุด กระนั้น พระองค์ “ทรงรักเขาจนถึงที่สุด.” (โยฮัน 13:1) แม้พวกเขามีข้อบกพร่องหลายอย่าง พระองค์ทรงแสดงให้พวกเขาทราบว่าพระองค์ทรงเชื่อใจพวกเขา. พึงสังเกตว่าความเชื่อมั่นของพระเยซูไม่สูญเปล่า. ไม่ต้องสงสัยเลยว่าความเชื่อมั่นและความเชื่อใจที่พระองค์ได้ทรงแสดงต่อพวกเขาให้พลังเข้มแข็งแก่พวกเขาที่จะตั้งใจแน่วแน่ในการทำงานที่พระองค์ทรงบัญชาให้พวกเขาทำ.
20, 21. เราอาจแสดงทัศนะในแง่ดีต่อเพื่อนร่วมความเชื่อโดยวิธีใด?
20 เราจะแสดงพระทัยของพระคริสต์ในแง่นี้ได้อย่างไร? อย่าได้มองเพื่อนร่วมความเชื่อในแง่ร้าย. หากคุณคิดในแง่ร้ายเสียแล้ว คำพูดและการกระทำของคุณก็คงจะเผยให้เห็นอย่างนั้น. (ลูกา 6:45) อย่างไรก็ตาม คัมภีร์ไบเบิลบอกเราว่า ความรัก “เชื่อทุกสิ่ง.” (1 โกรินโธ 13:7, ล.ม.) ความรักเป็นคุณลักษณะด้านบวก ไม่ใช่ด้านลบ. ความรักก่อร่างสร้างขึ้นแทนที่จะรื้อทำลาย. ผู้คนพร้อมจะตอบสนองต่อความรักและการให้กำลังใจมากกว่าการข่มขู่. เราสามารถเสริมสร้างและให้กำลังใจผู้อื่นโดยแสดงความเชื่อมั่นในพวกเขา. (1 เธซะโลนิเก 5:11) เช่นเดียวกับพระคริสต์ หากเรามีทัศนะในแง่ดีต่อพี่น้องของเรา เราจะปฏิบัติต่อพวกเขาในวิธีที่เสริมสร้างพวกเขาขึ้นและดึงส่วนดีที่สุดในตัวเขาให้ปรากฏออกมา.
21 การปลูกฝังและการแสดงพระทัยของพระคริสต์นั้นลึกซึ้งกว่าเพียงแค่เลียนแบบการกระทำบางอย่างของพระเยซู. ดังกล่าวไปแล้วในบทความก่อน เพื่อที่เราจะสามารถทำได้เช่นเดียวกับพระเยซูอย่างแท้จริง ก่อนอื่นเราต้องเรียนรู้ที่จะมองเรื่องต่าง ๆ อย่างพระองค์. พระธรรมกิตติคุณช่วยเราให้เห็นแง่มุมอื่นแห่งบุคลิกภาพของพระองค์ คือความคิดและความรู้สึกเกี่ยวกับงานที่ทรงได้รับมอบหมาย ดังที่จะพิจารณาเรื่องนี้ในบทความถัดไป.
[เชิงอรรถ]
a ในเอกสารนี้ ผู้ปลอมแปลงพรรณนาลักษณะทางกายของพระเยซูว่าน่าจะเป็นอย่างไร รวมถึงสีของพระเกศา, พระทาฐิกะ (เครา), และพระจักษุ. เอดการ์ เจ. กูดสปีด ผู้แปลคัมภีร์ไบเบิลอธิบายว่า การปลอมแปลงนี้ “มุ่งหมายจะทำให้คำพรรณนาเกี่ยวกับลักษณะเฉพาะพระองค์ของพระเยซูในหนังสือคู่มือจิตรกรได้รับการยอมรับโดยทั่วไป.”
b ดูเหมือนว่า พวกเด็กอยู่ในวัยต่าง ๆ กัน. คำที่ใช้ในที่นี้ว่า “เด็กเล็ก ๆ” นั้นใช้กับลูกสาวอายุ 12 ขวบของญายโรด้วย. (มาระโก 5:39, 42; 10:13) อย่างไรก็ตาม ในบันทึกเรื่องราวคล้าย ๆ กันนี้ ลูกาใช้คำซึ่งหมายถึงทารกด้วย.—ลูกา 1:41; 2:12; 18:15.
c โปรดดูบทความเรื่อง “คุณเคารพศักดิ์ศรีของเขาไหม?” ในหอสังเกตการณ์ ฉบับ 1 เมษายน 1998.
-
-
คุณถูกกระตุ้นให้ทำอย่างพระเยซูไหม?หอสังเกตการณ์ 2000 | 15 กุมภาพันธ์
-
-
คุณถูกกระตุ้นให้ทำอย่างพระเยซูไหม?
“พระองค์ทรงเห็นชนฝูงใหญ่ แต่พระองค์ทรงรู้สึกสงสารพวกเขา เพราะพวกเขาเป็นเหมือนแกะที่ไม่มีผู้เลี้ยง. และพระองค์ทรงเริ่มสอนเขา.”—มาระโก 6:34, ล.ม.
1. เหตุใดจึงไม่แปลกที่หลายคนแสดงคุณลักษณะอันน่าชมเชย?
ตลอดมาในประวัติศาสตร์ หลายคนได้แสดงคุณลักษณะอันน่าชมเชย. คุณสามารถเข้าใจได้ว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น. พระยะโฮวาพระเจ้าทรงมีและทรงสำแดงความรัก, ความกรุณา, ความมีพระทัยกว้าง, และคุณลักษณะอื่น ๆ ที่เรายกย่อง. มนุษย์ถูกสร้างตามแบบพระฉายของพระเจ้า. ดังนั้น เราสามารถเข้าใจได้ว่าทำไมหลายคนจึงแสดงความรัก, ความกรุณา, ความสงสาร, และคุณลักษณะอื่น ๆ แบบพระเจ้าในระดับหนึ่ง เช่นเดียวกับที่คนส่วนใหญ่แสดงออกซึ่งสติรู้สึกผิดชอบ. (เยเนซิศ 1:26; โรม 2:14, 15) อย่างไรก็ตาม คุณอาจตระหนักดีว่าบางคนพร้อมจะแสดงคุณลักษณะเหล่านี้มากกว่าคนอื่น.
2. การดีอะไรบ้างที่บางคนอาจได้ทำโดยคิดว่าเขากำลังเลียนแบบพระคริสต์?
2 อาจเป็นได้ คุณคุ้นเคยกับชายหญิงที่มักไปเยี่ยมหรือให้ความช่วยเหลือคนป่วย, แสดงความเมตตาสงสารคนพิการ, หรือบริจาคช่วยเหลือคนจนอย่างใจกว้าง. นอกจากนั้น คุณอาจคิดถึงคนที่ความเมตตากระตุ้นเขาให้ใช้ชีวิตทำงานในนิคมโรคเรื้อนหรือสถานดูแลเด็กกำพร้า, คนที่ทำงานอาสาสมัครในโรงพยาบาลหรือสถานสงเคราะห์, หรือคนที่พยายามให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ไร้ที่อยู่อาศัยหรือผู้ลี้ภัย. คนเหล่านี้บางคนคงมีความรู้สึกว่าเขากำลังเลียนแบบพระเยซู ผู้วางแบบอย่างไว้สำหรับคริสเตียน. เราอ่านในพระธรรมกิตติคุณว่า พระคริสต์ทรงรักษาคนป่วยและเลี้ยงอาหารคนหิวโหย. (มาระโก 1:34; 8:1-9; ลูกา 4:40) การที่พระเยซูทรงแสดงความรัก, ความอ่อนโยน, และความเมตตาสงสารเป็นการแสดงให้เห็นถึง “พระทัยของพระคริสต์” ผู้ทรงเลียนแบบพระบิดาฝ่ายสวรรค์ของพระองค์.—1 โกรินโธ 2:16.
3. เพื่อจะมีทัศนะที่สมดุลเกี่ยวกับการดีของพระเยซู เราจำต้องพิจารณาอะไร?
3 อย่างไรก็ตาม คุณเคยสังเกตไหมว่าในปัจจุบันหลายคนที่ถูกกระตุ้นใจจากความรักและความเมตตาของพระเยซูมองข้ามลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งของพระทัยของพระคริสต์? เราอาจได้ความหยั่งเห็นเข้าใจในเรื่องนี้โดยการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนในมาระโกบท 6. ที่นั่น เราอ่านว่าประชาชนพาคนป่วยมาให้พระเยซูรักษา. จากบริบท เราได้ทราบด้วยว่าเมื่อทรงเห็นว่าหลายพันคนที่มาหาพระองค์นั้นหิวโหย พระเยซูทรงเลี้ยงอาหารพวกเขาด้วยการอัศจรรย์. (มาระโก 6:35-44, 54-56) การรักษาคนป่วยและการเลี้ยงอาหารคนหิวโหยเป็นการกระทำที่โดดเด่นซึ่งแสดงถึงความเมตตาสงสารอันเปี่ยมด้วยความรัก แต่นั่นเป็นวิธีหลักที่พระเยซูทรงช่วยผู้อื่นไหม? และเราจะเลียนแบบอย่างอันสมบูรณ์แบบแห่งความรัก, ความกรุณา, และความเมตตาของพระองค์ให้ดีที่สุดได้อย่างไร เหมือนกับที่พระองค์ทรงเลียนแบบพระยะโฮวา?
ถูกกระตุ้นให้ตอบสนองความจำเป็นฝ่ายวิญญาณ
4. ฉากของเรื่องที่มาระโก 6:30-34 เป็นเช่นไร?
4 พระเยซูทรงรู้สึกสงสารคนที่อยู่รอบ ๆ พระองค์ ในอันดับแรกนั้นเนื่องด้วยความจำเป็นฝ่ายวิญญาณของพวกเขา. ความจำเป็นดังกล่าวสำคัญยิ่งกว่าความจำเป็นฝ่ายร่างกาย. ขอพิจารณาเรื่องราวที่มาระโก 6:30-34. เหตุการณ์ซึ่งบันทึกไว้ที่นั่นเกิดขึ้นบนฝั่งทะเลฆาลิลาย เมื่อใกล้จะถึงเทศกาลปัศคา ส.ศ. 32. พวกอัครสาวกรู้สึกตื่นเต้น ซึ่งก็นับว่าชอบด้วยเหตุผล. หลังจากเสร็จสิ้นการเดินทางอย่างกว้างไกลไปในที่ต่าง ๆ พวกเขาเข้ามาหาพระเยซู ไม่ต้องสงสัยเลยว่าด้วยความกระตือรือร้นที่จะเล่าประสบการณ์ของตนให้พระองค์ฟัง. อย่างไรก็ตาม ฝูงชนเริ่มรวมตัวกันเข้ามา. ฝูงชนมีจำนวนมากจนพระเยซูกับเหล่าอัครสาวกไม่มีโอกาสจะรับประทานอาหารและพักผ่อน. พระเยซูตรัสแก่อัครสาวกว่า “ท่านทั้งหลายจงไปหาที่สงัดหยุดพักหายเหนื่อยสักหน่อยหนึ่ง.” (มาระโก 6:31) เมื่อลงเรือแล้ว อาจจะที่ใกล้ ๆ เมืองกัปเรนาอูม พวกเขาแล่นเรือข้ามฟากทะเลฆาลิลายไปยังที่สงัดแห่งหนึ่ง. แต่ฝูงชนวิ่งมาตามชายฝั่งและมาถึงก่อนเรืออีก. พระเยซูจะทรงแสดงปฏิกิริยาอย่างไร? พระองค์ทรงหัวเสียเนื่องจากถูกรบกวนจนไม่มีเวลาส่วนตัวไหม? ไม่เลย!
5. พระเยซูทรงรู้สึกอย่างไรต่อฝูงชนที่มาหาพระองค์ และพระองค์ทรงแสดงปฏิกิริยาเช่นไร?
5 พระเยซูทรงสะเทือนพระทัยเมื่อเห็นฝูงชนหลายพันคน รวมทั้งคนป่วย คอยพระองค์อยู่อย่างใจจดใจจ่อ. (มัดธาย 14:14; มาระโก 6:44) โดยสนใจเป็นพิเศษที่ความเมตตาสงสารของพระเยซูซึ่งถูกเร้าให้เกิดขึ้นและวิธีที่พระองค์ทรงตอบสนอง มาระโกเขียนว่า “พระองค์ทรงเห็นชนฝูงใหญ่ แต่พระองค์ทรงรู้สึกสงสารพวกเขา เพราะพวกเขาเป็นเหมือนแกะที่ไม่มีผู้เลี้ยง. และพระองค์ทรงเริ่มสอนเขาหลายเรื่อง.” (มาระโก 6:34, ล.ม.) พระเยซูไม่เพียงแค่เห็นฝูงชนโดยรวม. พระองค์ทรงมองเห็นแต่ละคนซึ่งมีความจำเป็นฝ่ายวิญญาณ. พวกเขาเป็นเหมือนแกะพลัดหลงซึ่งปราศจากที่พึ่ง ไม่มีผู้เลี้ยงนำทางไปยังทุ่งหญ้าเขียวสดหรือปกป้องพวกเขาไว้. พระเยซูทรงทราบว่าพวกหัวหน้าศาสนาที่หัวใจเย็นชา ซึ่งน่าจะเป็นผู้บำรุงเลี้ยงที่คอยเอาใจใส่ดูแล โดยแท้แล้วเหยียดหยามสามัญชนและละเลยความจำเป็นฝ่ายวิญญาณของพวกเขา. (ยะเอศเคล 34:2-4; โยฮัน 7:47-49) พระเยซูทรงประสงค์จะปฏิบัติต่อพวกเขาในแบบที่ต่างออกไป ทำดีที่สุดเพื่อพวกเขาเท่าที่จะทรงทำได้. พระองค์เริ่มสอนพวกเขาเกี่ยวกับราชอาณาจักรของพระเจ้า.
6, 7. (ก) พระธรรมกิตติคุณเปิดเผยอย่างไรถึงลำดับความสำคัญที่พระเยซูตอบสนองความจำเป็นของประชาชน? (ข) พระเยซูทรงประกาศและสั่งสอนด้วยแรงกระตุ้นเช่นไร?
6 ขอให้สังเกตลำดับและข้อบ่งชี้ถึงลำดับความสำคัญของการงานซึ่งปรากฏอยู่ในบันทึกเหตุการณ์คล้าย ๆ กัน. เหตุการณ์ตอนนี้บันทึกโดยลูกาซึ่งเป็นแพทย์และเป็นผู้ที่สนใจอย่างยิ่งในสวัสดิภาพทางกายของผู้อื่น. “ประชาชน . . . ตาม [พระเยซู] ไป. พระองค์ทรงต้อนรับเขาตรัสสั่งสอนเขาถึงแผ่นดิน ของพระเจ้า. และ ทุกคนที่ต้องการให้หายโรคพระองค์ก็ทรงรักษา ให้.” (ลูกา 9:11; โกโลซาย 4:14) แม้ว่าไม่ได้เป็นอย่างนี้ทุกครั้งที่มีบันทึกเกี่ยวกับการอัศจรรย์ แต่ในกรณีนี้ บันทึกซึ่งลูกาเขียนภายใต้การดลใจกล่าวถึงอะไรก่อน? ข้อเท็จจริงที่ว่า พระเยซูทรงสอนประชาชน.
7 เรื่องนี้สอดคล้องอย่างแท้จริงกับการเน้นที่เราพบในมาระโก 6:34. ข้อนั้นแสดงไว้ชัดว่าพระเยซูทรงถูกกระตุ้นพระทัยให้แสดงความสงสารในวิธีใดเป็นประการสำคัญ. พระองค์ทรงสอนประชาชน ตอบสนองความจำเป็นฝ่ายวิญญาณของพวกเขา. ก่อนหน้านั้นในงานรับใช้ของพระองค์ พระเยซูตรัสว่า “เราต้องประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าแก่เมืองอื่น ๆ ด้วย เพราะเราถูกใช้มาเพื่อการนี้.” (ลูกา 4:43, ล.ม.) อย่างไรก็ตาม เราคงเข้าใจผิดแน่หากจะคิดว่าพระเยซูทรงประกาศข่าวสารเรื่องราชอาณาจักรตามหน้าที่เท่านั้น ราวกับว่าพระองค์ทรงทำเป็นกิจวัตรตามพันธะหน้าที่ซึ่งต้องทำในงานประกาศ. ความรักความเมตตาต่อประชาชนต่างหากเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้พระองค์แบ่งปันข่าวดีแก่พวกเขา. คุณความดีสุดยอดที่พระเยซูทรงสามารถทำ—แม้แต่กับคนป่วย, คนถูกผีปิศาจรังควาน, คนจน, หรือคนหิวโหย—คือการช่วยพวกเขาให้รู้จัก, ยอมรับ, และรักความจริงเกี่ยวกับราชอาณาจักรของพระเจ้า. ความจริงนั้นสำคัญที่สุดเนื่องจากราชอาณาจักรมีบทบาทในการพิสูจน์ความถูกต้องแห่งพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวาและจะอำนวยพระพรถาวรแก่มนุษย์.
8. พระเยซูทรงรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับการประกาศและการสอนของพระองค์?
8 การประกาศอย่างขันแข็งของพระเยซูเกี่ยวกับราชอาณาจักรเป็นเหตุผลสำคัญที่พระองค์เสด็จมายังโลกนี้. ขณะใกล้จะสิ้นสุดงานรับใช้ทางแผ่นดินโลก พระเยซูตรัสแก่ปีลาตว่า “เพราะเหตุนี้เราจึงเกิดมา และเพราะเหตุนี้เราได้เข้ามาในโลก เพื่อเราจะให้คำพยานถึงความจริง. ทุกคนที่อยู่ฝ่ายความจริงฟังเสียงของเรา.” (โยฮัน 18:37, ล.ม.) เราได้สังเกตในสองบทความก่อนหน้านี้แล้วว่าพระเยซูทรงเป็นคนที่มีความรู้สึกอ่อนละมุน—เอาใจใส่ดูแล, เข้าหาได้ง่าย, คำนึงถึงผู้อื่น, ไว้วางใจผู้อื่น, และที่เหนืออื่นใด เปี่ยมด้วยความรัก. เราจำเป็นต้องเข้าใจแง่มุมเหล่านี้แห่งบุคลิกภาพของพระองค์ หากเราต้องการอย่างแท้จริงที่จะเข้าใจพระทัยของพระคริสต์. สำคัญพอ ๆ กันด้วยที่จะตระหนักว่าพระทัยของพระคริสต์หมายรวมถึงการที่พระองค์ทรงให้ความสำคัญในอันดับแรกแก่การประกาศและงานสั่งสอน.
พระองค์ทรงกระตุ้นผู้อื่นให้คำพยาน
9. การประกาศและการสอนมีความสำคัญเป็นอันดับแรกสำหรับใคร?
9 การให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกแก่การประกาศและสั่งสอน—อันเป็นการแสดงออกซึ่งความรักและความเมตตา—ไม่ได้มีไว้สำหรับพระเยซูแต่ผู้เดียว. พระองค์ทรงกระตุ้นสาวกให้เลียนแบบแรงกระตุ้น, การจัดลำดับความสำคัญ, และการกระทำของพระองค์. ตัวอย่างเช่น หลังจากพระเยซูทรงเลือกอัครสาวก 12 คน พวกเขาต้องทำอะไร? มาระโก 3:14-16 บอกเราว่า “พระองค์จึงทรงตั้งศิษย์สิบสองคนไว้ให้อยู่กับพระองค์ เพื่อจะใช้เขาไปประกาศสั่งสอน. และให้มีอำนาจขับผีออก ได้.” คุณเห็นถึงการจัดลำดับความสำคัญสำหรับอัครสาวกไหม?
10, 11. (ก) เมื่อทรงส่งอัครสาวกออกไป พระเยซูทรงมีพระบัญชาให้พวกเขาทำอะไร? (ข) ในการส่งอัครสาวกออกไป มีการเน้นถึงเรื่องอะไร?
10 ต่อมา พระเยซูทรงให้อำนาจแก่ 12 คนนี้ที่จะรักษาคนป่วยและขับผี. (มัดธาย 10:1; ลูกา 9:1) จากนั้น พระองค์ทรงส่งพวกเขาให้เที่ยวตามหา “แกะที่หลงหายของเรือนยิศราเอล.” เพื่อจะทำอะไร? พระเยซูทรงมีพระบัญชาแก่พวกเขาว่า “ขณะที่พวกเจ้าไป จงประกาศ โดยบอกว่า ‘ราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์มาใกล้แล้ว.’ จงรักษาคนป่วยให้หาย, ปลุกคนตายให้ฟื้น, ทำให้คนโรคเรื้อนหายสะอาด, ขับผีปิศาจออก.” (มัดธาย 10:5-8, ล.ม.; ลูกา 9:2) พวกเขาทำอะไรจริง ๆ? “ฝ่ายเหล่าสาวกก็ออกไป [1] เทศนาประกาศให้กลับใจเสียใหม่. [2] เขาได้ขับผีให้ออกเสียหลายผี, และได้เอาน้ำมันทาคนเจ็บให้หายโรคหลายคน.”—มาระโก 6:12, 13.
11 เนื่องจากไม่ใช่ทุกกรณีที่มีการกล่าวถึงการสอนก่อน ข้อสังเกตดังข้างต้นให้ความสำคัญมากเกินไปไหมต่อการจัดลำดับความสำคัญหรือแรงกระตุ้นที่เกี่ยวข้อง? (ลูกา 10:1-8) จริง ๆ แล้ว เราไม่น่าจะให้ความสำคัญน้อยเกินไปต่อข้อเท็จจริงที่ว่ามักจะมีการกล่าวถึงการสอนก่อนการรักษาโรค. ขอให้พิจารณาบริบทในกรณีนี้. ก่อนหน้าที่จะส่งอัครสาวก 12 คนออกไป พระเยซูทรงรู้สึกสะเทือนพระทัยเพราะสภาพของฝูงชน. เราอ่านดังนี้: “พระเยซูจึงเสด็จดำเนินไปรอบบ้านรอบเมืองทรงสั่งสอนในธรรมศาลาของเขา, ประกาศกิตติคุณแห่งแผ่นดินของพระเจ้า, และได้ทรงรักษาโรคและความป่วยไข้ของพลเมืองให้หาย. แต่เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็นประชาชนก็ทรงพระกรุณาเขา, ด้วยเขาอิดโรยกระจัดกระจายไปดุจฝูงแกะไม่มีผู้เลี้ยง. แล้วพระองค์ตรัสแก่พวกศิษย์ของพระองค์ว่า, ‘การเกี่ยวนั้นเป็นการใหญ่นักหนา, แต่คนทำการยังน้อยอยู่. เหตุฉะนั้นจงอธิษฐานขอต่อเจ้าของของการเกี่ยวนั้น, ให้ใช้คนทำการหลายคนไปในการเกี่ยวของพระองค์.’ ”—มัดธาย 9:35-38.
12. การอัศจรรย์ที่พระเยซูและอัครสาวกทำสามารถบรรลุจุดประสงค์อะไรอีก?
12 โดยการอยู่กับพระเยซู อัครสาวกสามารถซึมซับพระทัยของพระคริสต์ได้บางส่วน. พวกเขาตระหนักได้ว่าการแสดงความรักและความเมตตาอันแท้จริงต่อประชาชนหมายรวมถึงการประกาศและสั่งสอนเกี่ยวกับราชอาณาจักร—และนั่นต้องเป็นแง่หลักแห่งการดีที่พวกเขาทำ. สอดคล้องกับการทำดังกล่าว การทำดีทางกาย เช่น การรักษาคนป่วย ก่อผลไม่เพียงแค่ช่วยคนที่เดือดร้อน. ดังที่คุณอาจนึกภาพออก บางคนอาจถูกชักนำเข้ามาโดยการรักษาโรคและการเลี้ยงอาหารด้วยการอัศจรรย์. (มัดธาย 4:24, 25; 8:16; 9:32, 33; 14:35, 36; โยฮัน 6:26) อย่างไรก็ตาม นอกจากการช่วยเหลือทางกายแล้ว งานเหล่านั้นยังกระตุ้นอย่างแท้จริงให้ผู้ที่สังเกตยอมรับว่าพระเยซูทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้าและเป็น “ผู้พยากรณ์คนนั้น” ที่โมเซได้บอกไว้ล่วงหน้า.—โยฮัน 6:14, ล.ม.; พระบัญญัติ 18:15.
13. คำพยากรณ์ที่พระบัญญัติ 18:18 เน้นถึงบทบาทอะไรสำหรับ “ผู้พยากรณ์คนนั้น” ที่จะมา?
13 เหตุใดจึงนับว่าสำคัญที่พระเยซูทรงเป็น “ผู้พยากรณ์คนนั้น”? เอาละ บทบาทสำคัญที่มีบอกไว้ล่วงหน้าสำหรับผู้พยากรณ์คนนั้นคืออะไร? “ผู้พยากรณ์คนนั้น” จะมีชื่อเสียงเพราะการรักษาโรคด้วยการอัศจรรย์หรือการแสดงความเมตตาด้วยการผลิตอาหารเลี้ยงคนหิวโหยไหม? พระบัญญัติ 18:18 บอกล่วงหน้าว่า “เราจะให้ผู้พยากรณ์บังเกิดขึ้นสำหรับเขาทั้งหลายจากในท่ามกลางพี่น้องเขา, เหมือนอย่างตัวเจ้า [โมเซ]; และเราจะเอาถ้อยคำของเราใส่ไว้ในปากผู้นั้น, และผู้นั้นจะกล่าวสำแดงแก่เขาทั้งหลาย สิ่งสารพัตรที่เราจะสั่งแก่ผู้นั้น.” ดังนั้น ในขณะที่อัครสาวกเรียนรู้ที่จะมีและแสดงความรู้สึกอันอ่อนละมุน พวกเขาสามารถลงความเห็นได้ว่า พระทัยของพระคริสต์ต้องปรากฏชัดด้วยในการประกาศและการสอนของพวกเขา. นั่นย่อมเป็นสิ่งดีที่สุดที่พวกเขาจะทำได้เพื่อประชาชน. โดยวิธีนั้น คนป่วยและคนยากจนสามารถได้รับผลประโยชน์ถาวร ไม่ใช่ผลประโยชน์ที่จำกัดไว้เพียงในช่วงชีวิตสั้น ๆ ของมนุษย์หรืออาหารมื้อสองมื้อ.—โยฮัน 6:26-30.
จงพัฒนาพระทัยของพระคริสต์ เสียแต่วันนี้
14. การมีพระทัยของพระคริสต์เกี่ยวข้องอย่างไรกับการประกาศของเรา?
14 ไม่มีใครในพวกเราที่จะถือว่าพระทัยของพระคริสต์เกี่ยวข้องเฉพาะแต่ในศตวรรษแรก—เฉพาะพระเยซูและเหล่าสาวกสมัยแรกที่อัครสาวกเปาโลเขียนถึงว่า “เรามีพระทัยของพระคริสต์.” (1 โกรินโธ 2:16) และเราพร้อมจะยอมรับว่า เรามีพันธะที่จะประกาศข่าวดีและทำให้คนเป็นสาวก. (มัดธาย 24:14; 28:19, 20) ถึงกระนั้น นับว่าเป็นประโยชน์ที่จะใคร่ครวญเกี่ยวกับแรงกระตุ้นของเราเองในการทำงานนั้น. ไม่ควรเป็นการทำเพียงเพราะสำนึกในหน้าที่. ความรักต่อพระเจ้าเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้เราร่วมในงานรับใช้ และการเป็นเหมือนพระเยซูอย่างแท้จริงหมายรวมถึงการถูกกระตุ้นจากความเมตตาให้ประกาศและสั่งสอน.—มัดธาย 22:37-39.
15. เหตุใดความเมตตาเป็นส่วนหนึ่งที่เหมาะสมในงานประกาศของเราต่อสาธารณชน?
15 จริงอยู่ ไม่ง่ายเสมอไปที่จะรู้สึกเมตตาคนที่ไม่มีความเชื่อเหมือนเรา โดยเฉพาะเมื่อเราเผชิญความไม่แยแส, การปฏิเสธ, หรือการต่อต้าน. กระนั้น หากเราสูญเสียความรักและความเมตตาต่อประชาชน เราอาจสูญเสียแรงกระตุ้นสำคัญที่ทำให้เราเข้าร่วมในงานรับใช้ของคริสเตียน. ดังนั้น เราจะปลูกฝังความเมตตาได้อย่างไร? เราอาจจะทำได้ด้วยการพยายามมองประชาชนเหมือนที่พระเยซูทรงมองพวกเขา คือ “อิดโรยกระจัดกระจายไปดุจฝูงแกะไม่มีผู้เลี้ยง.” (มัดธาย 9:36) นั่นคือสภาพของคนจำนวนมากในปัจจุบันนี้มิใช่หรือ? พวกเขาถูกพวกหัวหน้าศาสนาเท็จละเลยและทำให้เขาตาบอดฝ่ายวิญญาณ. ผลก็คือ พวกเขาไม่รู้จักเสียงชี้นำซึ่งมีอยู่ในคัมภีร์ไบเบิล อีกทั้งไม่ทราบเรื่องสภาพอุทยานที่ราชอาณาจักรของพระเจ้าจะนำมาสู่แผ่นดินโลกในอีกไม่ช้านี้. พวกเขาเผชิญปัญหาในชีวิตประจำวัน—อย่างเช่นความยากจน, ครอบครัวแตกแยก, ความเจ็บป่วย, และความตาย—โดยปราศจากความหวังที่ราชอาณาจักรเสนอให้. เรามีสิ่งที่พวกเขาจำเป็นต้องมี: ข่าวดีที่ช่วยชีวิตเกี่ยวกับราชอาณาจักรของพระเจ้าซึ่งบัดนี้ได้รับการสถาปนาแล้วในสวรรค์!
16. เหตุใดเราควรปรารถนาจะแบ่งปันข่าวดีแก่คนอื่น ๆ?
16 ดังนั้น เมื่อคุณใคร่ครวญถึงความจำเป็นฝ่ายวิญญาณของคนเหล่านั้นที่อยู่รอบตัวคุณ หัวใจคุณกระตุ้นคุณให้ปรารถนาจะทำทุกสิ่งที่ทำได้เพื่อบอกพวกเขาเกี่ยวกับพระประสงค์อันเปี่ยมด้วยความรักของพระเจ้ามิใช่หรือ? ใช่แล้ว งานของเราเป็นงานที่เปี่ยมด้วยความเมตตา. เมื่อเรารู้สึกต่อประชาชนแบบเดียวกับพระเยซู ความรู้สึกนั้นจะปรากฏให้เห็นในน้ำเสียงของเรา, สีหน้าของเรา, และท่าทีที่เราสอน. ทั้งหมดนี้จะทำให้ข่าวสารของเราเป็นที่ดึงดูดยิ่งขึ้นสำหรับคนเหล่านั้นที่ “มีความโน้มเอียงอย่างถูกต้องเพื่อชีวิตนิรันดร์.”—กิจการ 13:48, ล.ม.
17. (ก) เราสามารถแสดงความรักและความเมตตาของเราต่อผู้อื่นในทางใดบ้าง? (ข) เหตุใดเรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องของการเลือกว่าจะทำการดีหรือการเข้าร่วมในงานประกาศต่อสาธารณชน?
17 แน่นอน ความรักและความเมตตาของเราน่าจะปรากฏชัดในวิถีชีวิตทั้งสิ้นของเรา. นี่หมายรวมถึงการที่เราแสดงความกรุณาต่อคนที่เสียเปรียบ, คนป่วย, และคนจน—ทำสิ่งที่เราสามารถทำได้ตามที่สมเหตุผลเพื่อช่วยบรรเทาความทุกข์ร้อนของเขา. ทั้งนี้รวมไปถึงความพยายามของเราทั้งในคำพูดและการกระทำที่จะปลอบโยนคนทุกข์โศกเนื่องจากคนที่เขารักเสียชีวิต. (ลูกา 7:11-15; โยฮัน 11:33-35) กระนั้น การแสดงออกซึ่งความรัก, ความกรุณา, และความเมตตาเช่นนั้นต้องไม่กลายเป็นเป้าหมายสำคัญแห่งการดีของเรา เหมือนกับที่ผู้มีมนุษยธรรมบางคนทำ. งานที่มีความหมายยั่งยืนกว่ามากได้แก่ความพยายามที่ได้รับแรงกระตุ้นจากคุณลักษณะแบบพระเจ้าดังที่กล่าวไปแล้ว ซึ่งแสดงออกโดยการเข้าร่วมในงานประกาศและสั่งสอนของคริสเตียน. ขอให้ระลึกถึงสิ่งที่พระเยซูตรัสถึงพวกหัวหน้าศาสนาชาวยิวว่า “พวกเจ้าถวายสะระแหน่ยี่หร่าและขมิ้นสิบลดหนึ่ง ส่วนข้อสำคัญแห่งพระบัญญัติคือความชอบธรรมความเมตตาความเชื่อนั้นได้ละเว้นเสีย การถวายสิบลดพวกเจ้าควรได้กระทำอยู่แล้ว, แต่ข้ออื่น ๆ นั้นก็ไม่ควรละเว้นด้วย.” (มัดธาย 23:23) สำหรับพระเยซูแล้ว นี่ไม่ใช่เรื่องของการเลือกสิ่งนี้หรือสิ่งนั้น—เลือกที่จะช่วยประชาชนในส่วนที่พวกเขาจำเป็นต้องได้รับทางกาย หรือเลือกจะสอนสิ่งฝ่ายวิญญาณที่ให้ชีวิตแก่พวกเขา. พระเยซูทรงทำทั้งสองอย่าง. ถึงกระนั้น เห็นได้ชัดว่างานสอนของพระองค์สำคัญเป็นอันดับแรก เพราะผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นนั้นให้ความช่วยเหลือถาวรตลอดไป.—โยฮัน 20:16.
18. การพิจารณาถึงพระทัยของพระคริสต์น่าจะกระตุ้นเราให้ทำอะไร?
18 เราสามารถขอบคุณสักเพียงไรที่พระยะโฮวาทรงเปิดเผยพระทัยของพระคริสต์แก่เรา! โดยทางพระธรรมกิตติคุณ เราสามารถได้มารู้จักความคิด, ความรู้สึก, คุณลักษณะ, กิจการงาน, และงานที่สำคัญเป็นอันดับแรกของบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา. ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเราที่จะอ่าน, คิดรำพึง, และนำสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลเปิดเผยแก่เราเกี่ยวกับพระเยซูไปใช้ให้เกิดประโยชน์. จำไว้ว่า เพื่อที่เราจะทำได้เช่นเดียวกับพระเยซูอย่างแท้จริง ก่อนอื่นเราต้องเรียนที่จะคิด, รู้สึก, และประเมินเรื่องราวเหมือนกับพระองค์ เท่าที่ความสามารถของเราในฐานะมนุษย์ไม่สมบูรณ์จะทำได้. ดังนั้น ให้เราตั้งใจแน่วแน่จะปลูกฝังและแสดงออกซึ่งพระทัยของพระคริสต์. ไม่มีทางชีวิตอื่นใดที่ดีกว่านี้, ไม่มีวิธีช่วยประชาชนวิธีใดที่ดีกว่านี้, และไม่มีวิธีอื่นใดที่ดีกว่าสำหรับเราและคนอื่น ๆ ที่จะเข้าใกล้ชิดพระองค์ผู้นั้นที่พระเยซูทรงสะท้อนคุณลักษณะของพระองค์ได้อย่างสมบูรณ์แบบ คือพระเจ้าของเราผู้อ่อนละมุน พระยะโฮวา.—2 โกรินโธ 1:3; เฮ็บราย 1:3.
-
-
คุณถูกกระตุ้นให้ทำอย่างพระเยซูไหม?หอสังเกตการณ์ 2000 | 15 กุมภาพันธ์
-
-
[ภาพเต็มหน้า 23]
-