“ที่ข้าพเจ้ายังขาดความเชื่อนั้นขอโปรดช่วยให้เชื่อเถิด!”
“บิดาของเด็กก็ร้องทูลว่า ‘ข้าพเจ้าเชื่อ! แต่ที่ข้าพเจ้ายังขาดความเชื่อนั้น ขอโปรดช่วยให้เชื่อเถิด!’”—มาระโก 9:24, ล.ม.
1. อะไรเป็นสาเหตุให้บิดาคนหนึ่งร้องขึ้นว่า “ที่ข้าพเจ้ายังขาดความเชื่อนั้น ขอโปรดช่วยให้เชื่อเถิด”?
บิดาของเด็กชายที่ถูกผีสิงยืนอยู่ตรงหน้าพระเยซูคริสต์. ชายผู้นั้นปรารถนาเป็นอย่างยิ่งใคร่ให้บุตรชายวัยเยาว์หายจากโรค! สาวกของพระเยซูมีความเชื่อไม่มากพอที่จะขับผี แต่บิดาของเด็กร้องเสียงดังว่า “ข้าพเจ้าเชื่อ! ที่ข้าพเจ้ายังขาดความเชื่อนั้น ขอโปรดช่วยให้เชื่อเถิด!” โดยฤทธิ์อำนาจที่พระเจ้าประทาน พระเยซูจึงได้ขับผีออก การนี้คงได้เสริมความเชื่อแก่บิดาของเด็กอย่างแน่นอน.—มาระโก 9:14-29.
2. เกี่ยวกับความเชื่อ คริสเตียนไม่รู้สึกละอายเลยในสองประการอะไรบ้าง?
2 เช่นเดียวกันกับบิดาผู้เปี่ยมด้วยความหวัง ผู้รับใช้ซื่อสัตย์ของพระยะโฮวาย่อมไม่ละอายที่จะกล่าวว่า “ข้าพเจ้าเชื่อ!” คนช่างเยาะอาจปฏิเสธอำนาจของพระเจ้า ปฏิเสธความจริงแห่งพระวจนะของพระองค์ และแม้กระทั่งสภาพการดำรงอยู่ของพระองค์ด้วยซ้ำ. แต่คริสเตียนแท้ยอมรับทันทีว่าเขามีความเชื่อในพระเจ้ายะโฮวา. กระนั้น ครั้นทูลอธิษฐานเป็นการส่วนตัวต่อพระบิดาในสวรรค์ คนเดียวกันเหล่านี้อาจวิงวอนว่า “ที่ข้าพเจ้ายังขาดความเชื่อ ขอโปรดช่วยให้เชื่อเถิด!” ทั้งนี้ก็เช่นกัน เขาทำโดยไม่ละอาย เพราะรู้ว่าแม้แต่อัครสาวกก็ได้ทูลขอดังนี้: “ขอพระองค์โปรดให้ความเชื่อของข้าพเจ้ามากยิ่งขึ้น.”—ลูกา 17:5.
3. อะไรเป็นสิ่งที่น่าสังเกตเกี่ยวกับวิธีที่โยฮันใช้คำ “ความเชื่อ” ในหนังสือกิตติคุณของท่าน และทำไมนั่นจึงเหมาะสม?
3 โดยเฉพาะอย่างยิ่งคัมภีร์ไบเบิลภาคภาษากรีกพูดเกี่ยวกับความเชื่อบ่อย ๆ. ที่จริง กิตติคุณของพระเยซูเขียนโดยโยฮันใช้คำต่าง ๆ ภาษากรีกที่เกี่ยวข้องกันกับ “ความเชื่อ” 40 เปอร์เซ็นต์มากกว่าที่ใช้ในกิตติคุณอีกสามเล่มรวมกัน. โยฮันได้เน้นว่า การมี ความเชื่อยังไม่พอ การสำแดง ความเชื่อเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง. เมื่อท่านเขียนกิตติคุณประมาณปีสากลศักราช 98 ท่านมองเห็นการแผ่อำนาจอันมีพิษสงของการออกหากซึ่งแผ่กระจายไปเพื่อดักคริสเตียนที่อ่อนความเชื่อ. (กิจการ 20:28-30; 2 เปโตร 2:1-3; 1 โยฮัน 2:18, 19) ฉะนั้น เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในครั้งกระโน้นที่จะสำแดงความเชื่อ ที่จะให้หลักฐานเกี่ยวกับความเชื่อโดยการงานซึ่งแสดงความเลื่อมใสในพระเจ้า. ยุคที่จะมีความยุ่งยากรออยู่ข้างหน้า.
4. เหตุใดไม่มีสิ่งใดที่เป็นไปไม่ได้สำหรับคนมีความเชื่อ?
4 ความเชื่อเป็นพลังหนุนคริสเตียนที่จะจัดการกับความยุ่งยากใด ๆ ก็ได้. พระเยซูทรงกำชับสาวกของพระองค์ว่าหากเขามี “ความเชื่อเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาดเมล็ดหนึ่ง” จะไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เขาทำไม่ได้. (มัดธาย 17:20) ด้วยวิธีนี้ พระองค์ทรงเน้นถึงพลังของความเชื่อ ผลประการหนึ่งแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์. ฉะนั้น พระเยซูได้เน้น ไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์สามารถทำได้ แต่เน้นถึงสิ่งซึ่งพระวิญญาณของพระเจ้าหรือพลังปฏิบัติการสามารถทำได้. ผู้ที่มีพระวิญญาณบริสุทธิ์ชี้นำย่อมไม่นึกว่าปัญหาและอุปสรรคขนาดจอมปลวกเป็นภูเขา. การใช้สติปัญญาตามที่พระวิญญาณของพระเจ้าโปรดแก่เขานั้นทำให้เขาจัดสิ่งต่าง ๆ เข้าที่ทางได้อย่างเหมาะสม. แม้แต่ปัญหาหนักหนาร้ายแรงก็จะลดลงไปได้เมื่อยอมอยู่ภายใต้อำนาจแห่งความเชื่อที่ช่วยค้ำจุนได้.—มัดธาย 21:21, 22; มาระโก 11:22-24; ลูกา 17:5, 6.
การอธิษฐานเพื่อความเชื่อจะไม่หมดไป
5-7. (ก) พระเยซูตรัสคำเตือนอะไรในเรื่องความเชื่อเมื่อพระองค์ก่อตั้งการประชุมอนุสรณ์? (ข) โดยวิธีใดความเชื่อของเปโตรส่งเสริมท่านให้หนุนใจพวกพี่น้องของท่าน?
5 เมื่อปีสากลศักราช 33 พระเยซูทรงฉลองปัศคากับสาวกของพระองค์เป็นครั้งสุดท้าย. ภายหลังยูดาอิศการิโอดได้ออกไปจากที่นั่นแล้ว พระองค์ทรงก่อตั้งการฉลองอนุสรณ์ขึ้นโดยตรัสว่า “เราทำคำสัญญาไมตรีกับท่านทั้งหลาย เช่นเดียวกับพระบิดาของเราได้ทำคำสัญญาไมตรีกับเราในเรื่องราชอาณาจักร . . . “ซีโมน ซีโมนเอ๋ย ดูเถิด! ซาตานเรียกเอาพวกเจ้าไว้เพื่อจะฝัดเจ้าเหมือนฝัดข้าวสาลี. แต่เราได้อธิษฐานเผื่อเจ้า เพื่อความเชื่อของเจ้าจะไม่ได้หมดไป; และเจ้า เมื่อหันกลับแล้ว จงชูกำลังพี่น้องของเจ้า.”—ลูกา 22:28-32, ล.ม.
6 พระเยซูได้อธิษฐานเผื่อเพื่อว่าความเชื่อของซีโมนเปโตรจะไม่ได้หมดไป. แม้เปโตรคุยโตอย่างมั่นใจเต็มที่ว่าตนไม่มีวันจะปฏิเสธพระเยซู แต่แล้วไม่นานหลังจากนั้นท่านได้ปฏิเสธพระองค์ถึงสามครั้ง. (ลูกา 22:33, 34, 54–62) ที่จริง มีคำพยากรณ์กล่าวถึงการตีผู้เลี้ยงแกะถึงตายและฝูงแกะต่างก็กระจัดกระจายไป. (ซะคาระยา 13:7; มาระโก 14:27) อย่างไรก็ดี เมื่อเปโตรได้หันกลับจากการผิดที่ทำให้ท่านต้องตกหลุมพรางแห่งความกลัวแล้ว ท่านเป็นฝ่ายชูใจพวกพี่น้องฝ่ายวิญญาณของท่าน. ท่านได้ยกเอาเรื่องการแต่งตั้งบุคคลที่จะแทนยูดาอิศการิโอดผู้ทรยศ. ท่านทำหน้าที่เป็นโฆษกท่ามกลางพวกอัครสาวก ณ วันเพ็นเตคอสเตปีสากลศักราช 33. เปโตรได้ใช้ “ลูกกุญแจ” ดอกแรกที่พระเยซูทรงมอบไว้กับท่านเปิดทางให้พวกยิวเข้ามาเป็นสมาชิกในราชอาณาจักร. (มัดธาย 16:19; กิจการ 1:15-2:41) ซาตานเรียกร้องเอาพวกอัครสาวกเพื่อฝัดพวกเขาเหมือนฝัดข้าวสาลี แต่พระเจ้าทรงเฝ้าดูแลเพื่อความเชื่อของเขาจะไม่ได้หมดไป.
7 นึกภาพเปโตรมีความรู้สึกอย่างไรเมื่อท่านได้ยินพระเยซูตรัสว่า “เราได้อธิษฐานเผื่อเจ้าเพื่อความเชื่อของเจ้าจะไม่ได้หมดไป.” คิดดูซิ! องค์พระผู้เป็นเจ้าและเป็นนายแท้ ๆ ได้อธิษฐานเพื่อความเชื่อของเปโตรจะไม่ได้หมดไป. และก็ไม่หมดไปจริง ๆ. ที่จริง ณ วันเพ็นเตคอสเต เปโตรพร้อมกับคนอื่นได้รับการเจิมโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นกลุ่มแรกให้มาเป็นบุตรฝ่ายวิญญาณของพระเจ้า เป็นทายาทร่วมกับพระคริสต์ซึ่งมีความหวังจะรับสง่าราศีทางภาคสวรรค์. โดยที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ปฏิบัติกิจภายในตัวเขาอย่างไม่เคยมีมาก่อนหน้านี้ พวกเขาสามารถแสดงผลแห่งพระวิญญาณรวมทั้งความเชื่ออย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน. ช่างเป็นการตอบคำวิงวอนของพวกเขาอย่างน่าอัศจรรย์จริง ๆ ที่ว่า “ขอโปรดช่วยให้เชื่อเถิด!”—ลูกา 17:5; ฆะลาเตีย 3:2, 22–26; 5:22, 23.
เผชิญการทดลองในภายหน้าด้วยความเชื่อ
8. คำเตือนอะไรที่มาทันเวลาซึ่งเราได้รับจากองค์การเกี่ยวด้วยความสมจริงของคำพยากรณ์ที่ 1 เธซะโลนิเก 5:3?
8 สมจริงตามคำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิล อีกไม่นานเราจะได้ยินเสียงร้องประกาศ “สันติภาพและความปลอดภัย!” (1 เธซะโลนิเก 5:3, ล.ม.) การนี้จะทดลองความเชื่อของพวกเราไหม? ใช่ เพราะเราอยู่ในภาวะอันตรายที่จะไม่ระมัดระวัง เนื่องจากดูเหมือนว่านานาชาติบรรลุความสำเร็จในการนำสันติภาพมาสู่โลก. แต่เราจะไม่ร่วมน้ำใจกับพวกที่ร้องประกาศว่ามีสันติภาพแบบนั้น ถ้าเราระลึกอยู่เสมอว่าพระเจ้ายะโฮวาจะไม่ทรงใช้ตัวแทนใด ๆ ของโลกนี้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น. พระองค์ทรงมีวิธีของพระองค์เองที่จะนำสันติภาพแท้มา และนั้นคือโดยทางราชอาณาจักรของพระองค์เท่านั้นภายใต้พระเยซูคริสต์. ดังนั้น ไม่ว่าผลสำเร็จใด ๆ ซึ่งนานาชาติอาจมีในการทำให้เกิดสันติภาพขึ้นมา แต่จะเป็นช่วงสั้น ๆ และแค่เปลือกนอกเท่านั้น. ที่จะช่วยเราเฝ้าระวังในเรื่องนี้ “บ่าวสัตย์ซื่อและสุขุมรอบคอบ” จะออกหนังสือเตือนไม่ขาดระยะเพื่อผู้รับใช้ของพระยะโฮวาจะไม่ประมาทด้วยการคล้อยตามคำประกาศอย่างบ้าคลั่งจากระบบเก่านี้ที่ว่า “สันติภาพและความปลอดภัย” ใกล้เข้ามาแล้ว.—มัดธาย 24:45-47.
9. ทำไมเราจะต้องมีความกล้าและความเชื่อเมื่อบาบูโลนใหญ่ประสบความพินาศ?
9 เสียงร้อง “สันติภาพและความปลอดภัย!” จะเป็นหมายสำคัญบอก ‘ความพินาศอย่างฉับพลัน’ ที่จะมีมายังบาบูโลนใหญ่ จักรภาพแห่งศาสนาเท็จ. (วิวรณ์ 17:1-6; 18:4, 5) การนี้จะทดสอบความเชื่อของคริสเตียนเช่นกัน. เมื่อศาสนาเท็จพังพินาศ พยานพระยะโฮวาจะยังคงมั่นคงอยู่ในความเชื่อไหม? เขาจะมั่นคงแน่. เหตุการณ์นี้—คนส่วนใหญ่ไม่คาดคิดและไม่สามารถเข้าใจได้—จะไม่ใช่เป็นโดยความคิดริเริ่มของมนุษย์. ประชาชนต้องรู้ว่าที่แท้แล้วเป็นการพิพากษาของพระยะโฮวาที่จะเชิดชูพระนามของพระองค์ให้บริสุทธิ์เนื่อจากศาสนาเท็จได้หมิ่นประมาทมานานแล้ว. แต่ประชาชนจะรู้ได้อย่างไรเว้นแต่จะมีบางคนบอกให้เขารู้? และนอกจากพยานพระยะโฮวาแล้วจะคาดหมายผู้ใดอีกเล่าให้บอกล่วงหน้าเรื่องนี้แก่ประชาชน?—เทียบกับยะเอศเคล 35:14, 15; โรม 10:13-15.
10. การโจมตีของโฆฆต่อไพร่พลของพระยะโฮวานั้นจะเป็นการทดลองความเชื่อเช่นเดียวกันอย่างไร?
10 พยานผู้ถูกเจิมของพระยะโฮวาพร้อมกับเพื่อนผู้มีความหวังทางแผ่นดินโลกล้วนแต่มีความกล้าพอที่จะบอกคนอื่นเกี่ยวกับการสำเร็จโทษที่ใกล้จะถึงแล้วจากพระยะโฮวาต่อบาบูโลนใหญ่และระบบทั้งสิ้นของซาตาน. (2 โกรินโธ 4:4) ซาตานในบทบาทของโฆฆแห่งมาโฆฆ อันบ่งบอกฐานะเสื่อมของมันในปัจจุบัน พร้อมด้วยกองกำลังทางแผ่นดินโลกจะจู่โจมทำร้ายไพร่พลของพระเจ้าจากทุกด้าน. ความเชื่อในฤทธิ์อำนาจของพระเจ้าที่จะคุ้มครองพยานพระยะโฮวานั้นจะได้รับการพิสูจน์ทดลอง. แต่เราเชื่อมั่นได้ว่าตามที่พระวจนะของพระเจ้าบอกไว้ล่วงหน้า พระยะโฮวาจะช่วยชีวิตไพร่พลของพระองค์ให้รอด.—ยะเอศเคล 38:16; 39:18-23.
11, 12. (ก) อะไรเป็นสิ่งค้ำประกันความรอดสำหรับโนฮาและครอบครัวของท่านในคราวน้ำท่วมโลก? (ข) เราไม่จำเป็นต้องวิตกกังวลในสิ่งใดในระหว่างที่เกิดความทุกข์ลำบากใหญ่?
11 เวลานี้ เราไม่ทราบแน่นอนว่าพระยะโฮวาจะคุ้มครองไพร่พลของพระองค์โดยวิธีใดในช่วง “ความทุกข์ลำบากใหญ่” แต่ทั้งนี้ก็ไม่มีเหตุผลที่จะสงสัยว่าพระองค์จะทรงกระทำเช่นนั้น. (มัดธาย 24:21, 22) สถานภาพของผู้รับใช้ของพระเจ้าในปัจจุบันจะคล้ายกันกับสถานภาพของโนฮาและครอบครัวของท่านระหว่างน้ำท่วมโลก. เมื่อรวมกันอยู่อย่างมิดชิดภายในนาวาใหญ่และรอบตัวมีน้ำปั่นป่วนท่วมทำลายทุกสิ่ง เมื่อประสบเหตุการณ์ซึ่งแสดงถึงฤทธานุภาพของพระเจ้าพวกเขาคงรู้สึกหวาดเสียวมากและคงได้อธิษฐานอย่างจริงจัง. ไม่มีข้อบ่งชี้ในพระคัมภีร์ว่าพวกเขาวิตกกังวลและถามกันเองว่า ‘นาวานี้แข็งแรงพอจะต้านทานพลังอันยังความหายนะเช่นนี้ได้ไหม? พวกเรามีอาหารพอกินไหมจนกว่าน้ำจะงวดลง? หลังจากนี้พวกเราจะรับมือได้ไหมกับสภาพการณ์ที่ได้เปลี่ยนไปบนแผ่นดินโลก?’ เหตุการณ์ที่ตามมาพิสูจน์ว่าความกังวลเช่นนั้นไม่มีเหตุผล.
12 เพื่อพวกเขาจะแน่ใจได้ในเรื่องความรอด โนฮาพร้อมกับครอบครัวจำต้องสำแดงความเชื่อ. ทั้งนี้หมายถึงการเชื่อฟังคำแนะนำและการชี้นำโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้า. ในระหว่างความทุกข์ลำบากใหญ่จะเป็นสิ่งจำเป็นเช่นกันที่เราจะปฏิบัติตามการชี้นำแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ทีเดียว และเชื่อฟังคำแนะนำต่าง ๆ ของพระยะโฮวาที่ผ่านมาทางองค์การของพระองค์. แล้วเราจะไม่มีเหตุผลที่จะวิตกกังวลแล้วถามว่า “เราจะได้สิ่งจำเป็นสำหรับฝ่ายวิญญาณและทางด้านวัตถุพอกับความต้องการโดยวิธีใด? จะมีการจัดเตรียมอะไรเพื่อสงเคราะห์คนชราหรือคนที่ต้องรับการดูแลสุขภาพและการรักษาเป็นพิเศษ? พระยะโฮวาจะทรงช่วยเราให้ผ่านเข้าไปในโลกใหม่ได้โดยวิธีใด?’ ด้วยความเชื่อเข้มแข็ง บรรดาผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระยะโฮวาจะมอบทุกสิ่งไว้ในพระหัตถ์อันทรงฤทธิ์ของพระองค์.—เทียบกับมัดธาย 6:25-33.
13. ครั้นความทุกข์ลำบากใหญ่เริ่มขึ้น เพราะเหตุใดเราต้องมีความเชื่อเหมือนที่อับราฮามเคยมี?
13 ครั้นความทุกข์ลำบากใหญ่ได้เริ่มขึ้น โดยไม่สงสัย ความเชื่อของเราในพระเจ้าจะมั่นคงเข้มแข็งยิ่งขึ้น. เราจะเห็นว่าพระยะโฮวาทรงดำเนินการให้สำเร็จเสร็จสิ้นตามที่พระองค์ตรัสว่าจะทรงกระทำ. เราจะเห็นด้วยตาตัวเองเมื่อพระองค์สำเร็จโทษ! แต่ตัวเราเองล่ะมีความเชื่อมั่นคงไหมถึงขนาดเชื่อแน่ว่าขณะที่ทรงทำลายคนชั่วพระเจ้าจะพิทักษ์ไพร่พลของพระองค์? เราจะเป็นอย่างอับราฮามไหมซึ่งมีความเชื่อว่า ‘ผู้พิพากษาแห่งแผ่นดินโลกทั้งสิ้นจะทำสิ่งที่ถูกต้อง’ ไม่ทำลายคนชอบธรรมพร้อมกับคนชั่ว?—เยเนซิศ 18:23, 25.
14. คำถามอะไรบ้างซึ่งเราน่าจะนึกถึงเพื่อวิเคราะห์ความเชื่อของเราแล้วพยายามอย่างจริงจังที่จะเสริมความเชื่อให้มั่นคง?
14 ช่างเป็นสิ่งสำคัญสักเพียงใดที่พวกเราพึงสร้างเสริมความเชื่อให้มั่นคงเสียแต่บัดนี้! ขณะที่อวสานของระบบนี้ใกล้เข้ามามากแล้ว จงยอมให้พระวิญญาณของพระเจ้ากระตุ้นเรา “ในการประพฤติอันบริสุทธิ์และการกระทำด้วยความเลื่อมใสในพระเจ้า.” (2 เปโตร 3:11-14, ล.ม.) ครั้นแล้ว ขณะที่มีความทุกข์ลำบากใหญ่ เราจะได้ไม่วิตกร้อนใจด้วยความคิดกังวลเช่น ‘ฉันสมควรจะรับการคุ้มครองจากพระยะโฮวาไหม? ฉันจะได้ทำงานรับใช้พระองค์มากกว่าที่ทำไปแล้วได้ไหม? ฉันได้บากบั่นพยายามจริง ๆ พอที่จะสวมใส่ “บุคลิกลักษณะใหม่” ไหม? ฉันเป็นบุคคลชนิดที่พระยะโฮวาต้องการในโลกใหม่ไหม?’ คำถามแบบชวนให้ไตร่ตรองดังกล่าวน่าจะทำให้เราวิเคราะห์ความเชื่อของเราและพยายามอย่างหนักที่จะเสริมความเชื่อให้เข้มแข็งในขณะนี้!—โกโลซาย 3:8-10.
ความเชื่อที่จะทำให้เราหายปกติ
15. บางครั้งพระเยซูตรัสอย่างไรแก่คนที่พระองค์ได้รักษาโรคให้หาย แต่ทำไมคำตรัสอย่างนี้ไม่สนับสนุนวิธีรักษาโรคด้วยความเชื่อในปัจจุบัน?
15 พระเยซูหาได้ทรงจำกัดงานบำบัดรักษาไว้เฉพาะคนเจ็บที่มีความเชื่อเท่านั้นไม่. (โยฮัน 5:5-9, 13) ดังนั้น กิจกรรมที่พระองค์กระทำจึงไม่สนับสนุนหลักคำสอนอันไม่เป็นไปตามหลักพระคัมภีร์เรื่องการรักษาโรคโดยความเชื่อ. จริง บางครั้งพระเยซูได้ตรัสแก่คนที่พระองค์ได้รักษาให้หายว่า “ความเชื่อของเจ้าได้กระทำให้หายปกติ.” (มัดธาย 9:22; มาระโก 5:34; 10:52; ลูกา 8:48; 17:19; 18:42) แต่โดยการกล่าวเช่นนั้น พระองค์เพียงชี้ให้เห็นความจริงอันชัดแจ้งที่ว่า ถ้าคนป่วยเหล่านั้นขาดความเชื่อในความสามารถของพระเยซูที่จะรักษาโรค พวกเขาก็คงไม่มารับการรักษาจากพระองค์ตั้งแต่แรก.
16. ทุกวันนี้พระเยซูทรงบริหารในโครงการรักษาแบบไหน?
16 เวลานี้ พระเยซูคริสต์ทรงบริหารในโครงการรักษาฝ่ายวิญญาณและมีจำนวนมากกว่า 4,000,000 คนได้เข้ามาอยู่ในเส้นทางที่จะรับเอาประโยชน์จากโครงการรักษานี้แล้ว. พวกเขาในฐานะเป็นพยานพระยะโฮวา ต่างก็ชื่นชมกับสุขภาพฝ่ายวิญญาณแม้ด้านร่างกายของเขาอาจป่วยเจ็บ. คริสเตียนผู้ถูกเจิมที่อยู่ในท่ามกลางพวกเขามีความหวังทางภาคสวรรค์ และเขา ‘เห็นแก่สิ่งของที่มองไม่เห็น.’ (2 โกรินโธ 4:16-18; 5:6, 7) ส่วนคริสเตียนที่มีความหวังทางแผ่นดินโลกคอยท่าปฏิบัติการที่น่าพิศวงด้านการบำบัดรักษาร่างกายซึ่งจะมีขึ้นในโลกใหม่ของพระเจ้า.
17, 18. การจัดเตรียมอะไรของพระยะโฮวามีกล่าวไว้ที่วิวรณ์ 22:1, 2 และทำไมต้องมีความเชื่อเพื่อพวกเราจะได้ประโยชน์จากการจัดเตรียมนั้น?
17 อัครสาวกโยฮันอ้างถึงการจัดเตรียมของพระเจ้าสำหรับชีวิตนิรันดร์ ดังถ้อยคำที่วิวรณ์ 22:1, 2: “ท่านได้ชี้ให้ข้าพเจ้าเห็นแม่น้ำแห่งชีวิต ใสดุจแก้วไหลออกมาจากพระที่นั่งของพระเจ้าและพระที่นั่งของพระเมษโปดกที่ท่ามกลางถนนในเมืองนั้น. ริมแม่น้ำทั้งสองฟากมีต้นไม้แห่งชีวิตซึ่งผลิตผลทุก ๆ เดือน ปีละสิบสองครั้ง และใบของต้นไม้นั้นสำหรับรักษาพวกนานาประเทศให้หาย.” “น้ำแห่งชีวิต” รวมเอาพระวจนะของพระเจ้าอันเป็นความจริง และการจัดเตรียมอื่น ๆ ทุกอย่างของพระยะโฮวาเพื่อกู้มนุษย์ที่เชื่อฟังให้หลุดพ้นบาปและความตาย และให้พวกเขาได้รับชีวิตนิรันดร์โดยอาศัยเครื่องบูชาไถ่ของพระเยซู. (เอเฟโซ 5:26; 1 โยฮัน 2:1, 2) ขณะที่อยู่ในโลก สาวกผู้ถูกเจิมของพระเยซูจำนวน 144,000 คนนั้นได้รับเอาการจัดเตรียมของพระเจ้าเพื่อชีวิตโดยทางพระคริสต์และถูกเรียกว่า “ต้นไม้ใหญ่แห่งความชอบธรรม.” (ยะซายา 61:1-3; วิวรณ์ 14:1-5) คนเหล่านี้ผลิตผลฝ่ายวิญญาณมากมายบนแผ่นดินโลก. ในฐานะเป็นคนที่กลับเป็นขึ้นจากตายอยู่ในสวรรค์ ในช่วงรัชสมัยพันปีของพระคริสต์ พวกเขาจะมีส่วนในการจัดสรรผลประโยชน์จากค่าไถ่เพื่อใช้ในการ “รักษาชนนานาประเทศ” ให้พ้นบาปและความตาย.
18 ยิ่งความเชื่อของเราต่อการจัดเตรียมของพระเจ้าเข้มแข็งมากเพียงใด เราก็ยิ่งมีความเต็มใจจะติดตามการทรงนำแห่งพระวิญญาณของพระเจ้าเพื่อจะเข้าไปมีส่วนจะได้รับประโยชน์จากการจัดเตรียมนั้น. ดูเหมือนว่าความสมบูรณ์ด้านร่างกายจะมีขึ้นเมื่อผู้คนแสดงความเชื่อในพระคริสต์และก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณ. ถึงแม้ผู้คนรับการรักษาโรคให้หายได้จากบาดเจ็บสาหัสขนาดพิการอย่างน่าอัศจรรย์แล้วก็ตาม เขาจะได้รับการยกระดับเข้าสู่ความสมบูรณ์มากขึ้นตราบเท่าที่เขาทำสิ่งที่ถูกต้อง. เขาจะมีส่วนได้รับประโยชน์เป็นประจำจากการจัดเตรียมของพระเจ้าเพื่อการรักษาโดยอาศัยเครื่องบูชาของพระคริสต์. ฉะนั้น ความเชื่อย่อมมีผลกระทบต่อการบำบัดรักษาสมบูรณ์ขึ้นด้านร่างกาย.
“รอดได้เพราะความเชื่อ”
19. เหตุใดการตั้งมั่นคงในความเชื่ออยู่เสมอเป็นสิ่งสำคัญ?
19 จนกว่าการคืบใกล้เข้ามาแห่งโลกใหม่ของพระเจ้าจะขจัดความมืดของโลกชั่วในปัจจุบันให้หมดไป เป็นสิ่งสำคัญเพียงไรสำหรับผู้รับใช้ของพระยะโฮวาจะยืนหยัดมั่นคงอยู่ในความเชื่อ! คน “ไม่มีความเชื่อ” จะถูกทิ้งลงใน “บึงที่มีไฟและกำมะถันไหม้อยู่นั้น” อันเป็นความตายที่สอง. อย่างช้าที่สุด เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นภายหลังการทดลองครั้งสุดท้ายตอนสิ้นรัชสมัยพันปีของพระคริสต์. (วิวรณ์ 20:6-10; 21:8) นับว่าเป็นพระพรเพียงไรสำหรับคนเหล่านั้นที่ยังคงแสดงความเชื่อต่อ ๆ ไปและรอดชีวิตอยู่เพื่อชื่นชมกับอนาคตอันยืนนานตลอดไป!
20. 1 โกรินโธ 13:13 จะมีความหมายเป็นพิเศษอย่างไรตอนสิ้นรัชสมัยหนึ่งพันปีของพระคริสต์?
20 ครั้นแล้วคำพูดของเปาโลที่ 1 โกรินโธ 13:13 จะมีความหมายเป็นพิเศษ: “ดังนั้นยังตั้งอยู่สามสิ่งคือความเชื่อ ความหวังใจ และความรัก แต่ความรักนั้นเป็นใหญ่.” เราไม่จำเป็นแสดงความเชื่ออีกต่อไปว่าคำสัญญาเชิงพยากรณ์ในเยเนซิศ 3:15 จะสำเร็จเป็นจริง หรือที่จะหวังให้คำพยากรณ์สำเร็จสมจริง. สิ่งนั้นจะได้เกิดขึ้นแล้ว. ในฐานะเป็นผู้รักษาความจงรักภักดี เราจะยังคงหวังในพระยะโฮวาอยู่ต่อ ๆ ไป เชื่อศรัทธาในพระองค์และพระบุตรของพระองค์ และแสดงความรักต่อพระองค์ทั้งสองในฐานะเป็นผู้ทรงบันดาลให้คำพยากรณ์นั้นสำเร็จ. ยิ่งกว่านั้น ความรักอย่างลึกซึ้งและความรู้สึกขอบคุณจากหัวใจสำหรับความรอดของเรานั้นจะผูกพันเรากับพระเจ้าโดยแสดงความเลื่อมใสศรัทธาต่อพระองค์อย่างไม่มีวันเสื่อมสลายชั่วกาลนาน.—1 เปโตร 1:8, 9.
21. ทุกวันนี้เราควรทำประการใดเพื่อว่าจะ “รอดได้เพราะความเชื่อ”?
21 โดยทางองค์การอันเห็นประจักษ์ของพระองค์พระยะโฮวาทรงจัดเตรียมหลายอย่างที่ดียิ่งเพื่อเสริมความเชื่อให้มั่นคง. จงใช้ประโยชน์เต็มที่จากการจัดเตรียมเหล่านี้ทุกอย่าง. จงเข้าร่วมและเข้าส่วนเป็นประจำในการประชุมแห่งไพร่พลของพระองค์. (เฮ็บราย 10:24, 25) หมั่นศึกษาพระวจนะของพระองค์และสรรพหนังสือทางคริสเตียน. เฝ้าทูลพระยะโฮวาขอพระองค์ประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้คุณ. (ลูกา 11:13) เลียนแบบความเชื่อของบุคคลในประชาคมที่นำหน้าด้วยความถ่อมใจ. (เฮ็บราย 13:7) ต้านทานการล่อใจใด ๆ จากโลกนี้. (มัดธาย 6:9, 13) และจงทำให้สัมพันธภาพระหว่างคุณกับพระยะโฮวากระชับแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นในทุกวิถีทางที่เป็นไปได้. ยิ่งกว่านั้น จงสำแดงความเชื่อต่อ ๆ ไปไม่ลดละ. แล้วคุณก็จะอยู่ท่ามกลางคนเหล่านั้นซึ่งพระยะโฮวาทรงพอพระทัยและบรรลุถึงความรอด เพราะเปาโลบอกว่า “ด้วยว่าซึ่งท่านทั้งหลายรอดนั้นก็รอดโดยพระคุณ [พระกรุณาอันไม่พึงได้รับ, ล.ม.] เพราะความเชื่อ และมิใช่แต่ตัวท่านทั้งหลายเอง แต่พระเจ้าทรงประทานให้.”—เอเฟโซ 2:8.
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ การทดสอบความเชื่อแบบไหนรอพวกเราอยู่?
▫ ความเชื่อของเราจะทำให้เราหายได้ในสองทางอะไรบ้าง?
▫ ตามที่กล่าวใน 1 เปโตร 1:9 นั้น เราต้องยืนหยัดมั่นคงในความเชื่ออีกนานเท่าไร?
▫ มีการจัดเตรียมอะไรให้เราเพื่อความเชื่อของเราจะมั่นคงยิ่งขึ้น?
[รูปภาพหน้า 17]
ความเชื่ออย่างเดียวกันกับความเชื่อของโนฮาและครอบครัวจะเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อจะผ่าน “ความทุกข์ลำบากใหญ่” ได้