“คนตายจะเป็นขึ้นมา”
“เพราะแตรจะดังขึ้นและคนตายจะเป็นขึ้นมาสู่สภาพไม่เน่าเปื่อยและเราจะถูกเปลี่ยน.”—1 โกรินโธ 15:52, ล.ม.
1, 2. (ก) เราได้รับคำสัญญาอะไรที่ปลอบประโลมใจทางผู้พยากรณ์โฮเซอา? (ข) เราทราบอย่างไรว่าพระเจ้าทรงมีพระประสงค์จะปลุกคนตายให้มีชีวิตอีก?
คุณเคยสูญเสียคนใกล้ชิดเนื่องด้วยความตายไหม? ถ้าอย่างนั้น คุณคงทราบดีถึงความเจ็บปวดที่ความตายนำมาให้. ถึงกระนั้น คริสเตียนได้รับการปลอบโยนจากคำสัญญาที่พระเจ้าประทานทางผู้พยากรณ์โฮเซอาที่ว่า “จากเงื้อมมือของเชโอลเราจะไถ่เขา; จากความตายเราจะนำเขากลับมา. โอ้ความตาย เหล็กในของเจ้าอยู่ไหน? โอ้เชโอล อำนาจทำลายของเจ้าอยู่ไหน?”—โฮเซอา 13:14, ล.ม.
2 ความคิดที่ว่าคนตายกลับมีชีวิตอีกครั้งหนึ่งดูเหมือนไร้สาระสำหรับคนที่มีทัศนะแบบกังขาคติ. แต่พระเจ้าองค์ทรงฤทธานุภาพทุกประการทรงมีอำนาจที่จะทำการอัศจรรย์เช่นนั้นได้อย่างแน่นอน! ประเด็นที่แท้จริงคือ พระยะโฮวาทรงประสงค์ จะนำคนตายกลับสู่ชีวิตหรือไม่. โยบ ชายผู้ชอบธรรม ถามว่า “ถ้ามนุษย์ตายแล้ว เขาจะมีชีวิตอีกหรือ.” จากนั้น ท่านให้คำตอบยืนยันดังนี้: “พระองค์จะทรงเรียก และข้าพระองค์จะทูลตอบพระองค์ พระองค์จะทรงอาลัยอาวรณ์พระหัตถกิจของพระองค์.” (โยบ 14:14, 15, ฉบับแปลใหม่) คำ “อาลัยอาวรณ์” บ่งบอกถึงความต้องการหรือความปรารถนาอย่างจริงจัง. (เทียบกับบทเพลงสรรเสริญ 84:2.) ถูกแล้ว พระยะโฮวาทรงเฝ้าคอยอย่างกระตือรือร้นให้มีการกลับเป็นขึ้นจากตาย—พระองค์ทรงปรารถนาอย่างยิ่งที่จะเห็นผู้ซื่อสัตย์ที่จากไปแล้วอีกครั้งหนึ่ง ผู้ซึ่งยังมีชีวิตอยู่ในความทรงจำของพระองค์.—มัดธาย 22:31, 32.
พระเยซูทรงให้ความกระจ่างในเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตาย
3, 4. (ก) พระเยซูทรงให้ความกระจ่างอะไรในเรื่องความหวังเกี่ยวกับการกลับเป็นขึ้นจากตาย? (ข) เหตุใดพระเยซูทรงถูกปลุกให้เป็นกายวิญญาณ ไม่ใช่กายเนื้อหนัง?
3 ชายผู้มีความเชื่อในสมัยโบราณอย่างเช่นโยบมีความเข้าใจเกี่ยวกับการกลับเป็นขึ้นจากตายเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น. พระเยซูคริสต์ทรงให้ความกระจ่างในเรื่องความหวังอันยอดเยี่ยมนี้. พระองค์ทรงแสดงให้เห็นบทบาทสำคัญของพระองค์เองเมื่อตรัสว่า “ผู้ที่แสดงความเชื่อในพระบุตรก็มีชีวิตนิรันดร์.” (โยฮัน 3:36, ล.ม.) ชีวิตนิรันดร์ดังกล่าวจะมีขึ้นที่ไหน? สำหรับคนส่วนใหญ่ที่สำแดงความเชื่อ พวกเขาจะได้รับชีวิตนิรันดร์บนแผ่นดินโลก. (บทเพลงสรรเสริญ 37:11) อย่างไรก็ตาม พระเยซูคริสต์ทรงบอกสาวกของพระองค์ว่า “ฝูงเล็กเอ๋ย อย่ากลัวเลย เพราะว่าพระบิดาของท่านพอพระทัยจะประทานราชอาณาจักรนั้นแก่ท่าน.” (ลูกา 12:32, ล.ม.) ราชอาณาจักรของพระเจ้าเป็นราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์. ฉะนั้น คำสัญญานี้หมายความว่า “ฝูงเล็ก” จะต้องได้อยู่กับพระเยซูในสวรรค์ในฐานะสิ่งมีชีวิตที่เป็นกายวิญญาณ. (โยฮัน 14:2, 3; 1 เปโตร 1:3, 4) ช่างเป็นความหวังที่รุ่งโรจน์อะไรเช่นนั้น! นอกจากนั้น พระเยซูทรงเปิดเผยแก่อัครสาวกโยฮันว่า “ฝูงเล็ก” นี้จะมีจำนวนเพียง 144,000 คน.—วิวรณ์ 14:1.
4 อย่างไรก็ตาม ชน 144,000 คนนี้จะเข้าสู่สง่าราศีฝ่ายสวรรค์อย่างไร? พระเยซู “ทรงนำชีวิตและซึ่งไม่รู้เปื่อยเน่านั้นให้กระจ่างแจ้งโดยกิตติคุณ.” โดยทางพระโลหิตของพระองค์ พระองค์ทรงเปิด “ทางใหม่และเป็นทางที่มีชีวิต” สู่สวรรค์. (2 ติโมเธียว 1:10; เฮ็บราย 10:19, 20) ก่อนอื่น พระองค์ทรงสิ้นพระชนม์ ตามที่คัมภีร์ไบเบิลบอกล่วงหน้าเอาไว้. (ยะซายา 53:12) จากนั้น ดังที่อัครสาวกเปโตรประกาศในเวลาต่อมา “พระเยซูนี้พระเจ้าได้ทรงบันดาลให้คืนพระชนม์.” (กิจการ 2:32) กระนั้น พระเยซูไม่ได้ทรง คืนพระชนม์ในฐานะ มนุษย์. พระองค์ได้ตรัสไว้ดังนี้: “อาหารที่เราจะให้นั้นคือเนื้อของเรา, ซึ่งเราจะให้เพื่อเป็นชีวิตของโลก.” (โยฮัน 6:51) หากพระองค์ทรงกลับมีชีวิตในกายเนื้อหนังอีกย่อมทำให้เครื่องบูชานั้นไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง. ดังนั้น พระเยซู “ทรงถูกประหารในเนื้อหนัง แต่ทรงถูกทำให้มีชีวิตในสภาพเป็นวิญญาณ.” (1 เปโตร 3:18, ล.ม.) ด้วยเหตุนั้น พระเยซู “ทรงได้ความรอดนิรันดร์ไว้” เพื่อ “ฝูงเล็ก.” (เฮ็บราย 9:12) พระองค์ทรงเสนอคุณค่าแห่งชีวิตมนุษย์สมบูรณ์แด่พระเจ้าเพื่อเป็นค่าไถ่สำหรับมนุษยชาติที่ผิดบาป และชน 144,000 คนเป็นกลุ่มแรกที่ได้ประโยชน์จากค่าไถ่นี้.
5. ความหวังอะไรที่เสนอให้แก่ผู้ติดตามพระเยซูในศตวรรษแรก?
5 พระเยซูไม่ใช่ผู้เดียวที่ถูกปลุกให้คืนพระชนม์สู่ชีวิตทางภาคสวรรค์. เปาโลบอกเพื่อนคริสเตียนในกรุงโรมว่า พวกเขาได้รับการเจิมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้เป็นบุตรของพระเจ้าและรัชทายาทร่วมกับพระคริสต์ หากพวกเขาทำให้การเจิมนั้นมั่นคงโดยการอดทนจนถึงที่สุด. (โรม 8:16, 17) เปาโลอธิบายด้วยว่า “ถ้าเราร่วมสนิทกับพระองค์แล้วโดยได้ตายเหมือนอย่างพระองค์, เราคงจะร่วมสนิทกับพระองค์โดยได้เป็นขึ้นมาเหมือนอย่างพระองค์ได้ทรงเป็นขึ้นมาจากความตายนั้นด้วย.”—โรม 6:5.
ปกป้องความหวังในการกลับเป็นขึ้นจากตาย
6. เหตุใดความเชื่อเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตายถูกโจมตีในเมืองโกรินโธ และอัครสาวกเปาโลตอบอย่างไร?
6 การกลับเป็นขึ้นจากตายเป็นส่วนหนึ่งใน “หลักคำสอนเบื้องต้น” ของหลักการคริสเตียน. (เฮ็บราย 6:1, 2, ล.ม.) อย่างไรก็ตาม หลักคำสอนนี้ถูกโจมตีในเมืองโกรินโธ. ดูเหมือนว่า บางคนในประชาคมได้รับอิทธิพลจากปรัชญากรีก จึงพูดว่า “การเป็นขึ้นมาจากตายไม่มี.” (1 โกรินโธ 15:12) เมื่อรายงานเรื่องนี้ไปถึงอัครสาวกเปาโล ท่านปกป้องความหวังในการกลับเป็นขึ้นจากตาย โดยเฉพาะความหวังของคริสเตียนผู้ถูกเจิม. ให้เราพิจารณาถ้อยคำของเปาโลดังบันทึกใน 1 โกรินโธ บท 15. คุณจะพบว่าเป็นประโยชน์ที่จะอ่านตลอดทั้งบท ดังได้แนะไว้ในบทความก่อน.
7. (ก) เปาโลเน้นประเด็นสำคัญอะไร? (ข) มีใครบ้างที่เห็นพระเยซูผู้ถูกปลุกให้คืนพระชนม์?
7 ในสองข้อแรกของ 1 โกรินโธ บท 15 เปาโลวางเค้าโครงหลักแห่งการพิจารณาของท่านดังนี้: “ข้าพเจ้าใคร่ให้ท่านระลึกถึงกิตติคุณที่ข้าพเจ้าได้เคยประกาศไว้แก่ท่านทั้งหลายแล้ว, ซึ่งท่านได้ยอมรับไว้แล้วด้วย, อันจะเป็นฐานซึ่งท่านทั้งหลายยืนอยู่, และโดยกิตติคุณนั้นท่านกำลังจะรอดด้วย . . . เว้นเสียแต่ท่านไม่เชื่อจริง.” ถ้าชาวโกรินโธไม่ยึดข่าวดีนั้นไว้ให้มั่น พวกเขาก็รับเอาความจริงโดยเปล่าประโยชน์. เปาโลกล่าวต่อไปว่า “ข้อความอันสำคัญที่สุดซึ่งข้าพเจ้ารับไว้แล้วนั้น ข้าพเจ้าได้ประกาศแก่ท่านทั้งหลาย, คือว่าพระคริสต์ได้วายพระชนม์เพราะความผิดของเราทั้งหลายตามคัมภีร์ที่เขียนไว้แล้วนั้น, และทรงถูกฝังไว้, แล้ววันที่สามพระองค์ทรงเป็นขึ้นมาใหม่ตามคัมภีร์ที่เขียนไว้แล้วนั้น. แล้วพระองค์ทรงปรากฏแก่เกฟา ภายหลังทรงปรากฏแก่อัครสาวกสิบสองคนนั้น. ภายหลังพระองค์ทรงปรากฏแก่พวกพี่น้องกว่าห้าร้อยคนในคราวเดียว, ซึ่งส่วนมากยังอยู่จนถึงทุกวันนี้, แต่บางคนก็ล่วงหลับไปแล้ว. ภายหลังพระองค์ทรงปรากฏแก่ยาโกโบอีก, แล้วทรงปรากฏแก่อัครสาวกทั้งหมด. ภายหลังที่สุดพระองค์ทรงปรากฏแก่ข้าพเจ้าด้วย, [ผู้เป็น] เหมือนอย่างเด็กคลอดก่อนกำหนด.”—1 โกรินโธ 15:3-8.
8, 9. (ก) ความเชื่อเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตายสำคัญเพียงใด? (ข) พระเยซูคงได้ปรากฏแก่ “พวกพี่น้องกว่าห้าร้อยคน” ในโอกาสใด?
8 สำหรับคนที่ได้ยอมรับข่าวดี ความเชื่อในการคืนพระชนม์ของพระเยซูไม่ใช่สิ่งที่จะเลือกเชื่อหรือไม่เชื่อก็ได้. มีประจักษ์พยานมากมายที่ยืนยันว่า “พระคริสต์ได้วายพระชนม์เพราะความผิดของเราทั้งหลาย” และพระองค์ได้ทรงถูกปลุกให้เป็นขึ้นแล้ว. คนหนึ่งที่เป็นพยานคือเกฟาซึ่งรู้จักกันมากกว่าในชื่อเปโตร. หลังจากเปโตรปฏิเสธพระเยซูในคืนที่พระองค์ถูกทรยศและถูกจับ ท่านคงต้องได้รับการปลอบใจอย่างมากจากการที่พระเยซูทรงปรากฏแก่ท่าน. พระเยซูผู้ถูกปลุกให้คืนพระชนม์ยังเสด็จไปเยี่ยม “อัครสาวกสิบสองคน” ด้วย ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่านี่เป็นประสบการณ์ที่ช่วยพวกเขาให้เอาชนะความกลัวและให้คำพยานอย่างกล้าหาญถึงการคืนพระชนม์ของพระเยซู.—โยฮัน 20:19-23; กิจการ 2:32.
9 พระคริสต์ทรงปรากฏแก่คนกลุ่มใหญ่กว่านั้นด้วย คือ “พวกพี่น้องกว่าห้าร้อยคน.” เนื่องจากมีเพียงในแคว้นฆาลิลายเท่านั้นที่พระองค์ทรงมีผู้ติดตามจำนวนมาก เหตุการณ์ดังกล่าวนี้จึงอาจเกิดขึ้นในคราวที่พระเยซูทรงมีพระบัญชาให้ทำคนเป็นสาวก ดังพรรณนาไว้ที่มัดธาย 28:16-20. คนเหล่านี้ย่อมให้ปากคำได้อย่างมีพลังสักเพียงไร! บางคนยังคงมีชีวิตอยู่ในปีสากลศักราช 55 เมื่อเปาโลเขียนจดหมายฉบับแรกถึงชาวโกรินโธ. อย่างไรก็ตาม โปรดสังเกตว่าคนที่ตายไปแล้วถูกกล่าวถึงว่าเป็นผู้ที่ “ล่วงหลับไปแล้ว.” พวกเขายังไม่ได้ถูกปลุกเพื่อรับบำเหน็จทางภาคสวรรค์.
10. (ก) การประชุมครั้งสุดท้ายของพระเยซูกับเหล่าสาวกของพระองค์ก่อผลเช่นไร? (ข) พระเยซูทรงปรากฏแก่เปาโล “[ผู้เป็น] เหมือนอย่างเด็กคลอดก่อนกำหนด” อย่างไร?
10 อีกคนหนึ่งที่เด่นในการเป็นพยานถึงการคืนพระชนม์ของพระเยซูได้แก่ยาโกโบ บุตรของโยเซฟและมาเรียมารดาของพระเยซู. ก่อนการคืนพระชนม์ ดูเหมือนว่ายาโกโบยังไม่ได้เป็นผู้เชื่อถือ. (โยฮัน 7:5) แต่หลังจากพระเยซูทรงปรากฏแก่เขา ยาโกโบกลายเป็นคนหนึ่งที่เชื่อถือ และอาจเป็นได้ว่ามีบทบาทในการช่วยพี่น้องคนอื่น ๆ ของเขาให้เปลี่ยนมาเชื่อถือ. (กิจการ 1:13, 14) ในการประชุมครั้งสุดท้ายกับสาวกของพระองค์ ซึ่งก็ได้แก่คราวที่พระองค์จะเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ พระเยซูทรงมีพระบัญชาให้พวกเขา “เป็นพยาน . . . จนถึงที่สุดปลายแผ่นดินโลก.” (กิจการ 1:6-11) ต่อมา พระองค์ทรงปรากฏแก่เซาโลแห่งตาระโซ ผู้ข่มเหงคริสเตียน. (กิจการ 22:6-8) พระเยซูทรงปรากฏแก่เซาโล “[ผู้เป็น] เหมือนอย่างเด็กคลอดก่อนกำหนด.” กล่าวคือ ราวกับว่าเซาโลได้ถูกปลุกให้เป็นขึ้นจากตายให้มีชีวิตฝ่ายวิญญาณแล้วและสามารถเห็นองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสง่าราศี หลายศตวรรษก่อนถึงกำหนดเวลาที่จะมีการกลับเป็นขึ้นจากตาย. ประสบการณ์นี้ทำให้เซาโลหยุดจากแนวทางการต่อต้านฆ่าฟันประชาคมคริสเตียนทันที และเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างน่าทึ่ง. (กิจการ 9:3-9, 17-19) เซาโลกลายมาเป็นอัครสาวกเปาโล ผู้ปกป้องความเชื่อของคริสเตียนที่เด่นที่สุดคนหนึ่ง.—1 โกรินโธ 15:9, 10.
จำเป็นต้องมีความเชื่อในการกลับเป็นขึ้นจากตาย
11. เปาโลเผยให้เห็นอย่างไรถึงความผิดพลาดของคำกล่าวที่ว่า “การเป็นขึ้นมาจากตายไม่มี”?
11 ดังนั้น การคืนพระชนม์ของพระเยซูเป็นข้อเท็จจริงที่มีพยานยืนยันหนักแน่น. เปาโลชักเหตุผลดังนี้: “ถ้าเทศนาว่าพระคริสต์ได้ทรงคืนพระชนม์แล้ว, เป็นไฉนบางคนในพวกท่านยังกล่าวว่า การเป็นขึ้นมาจากตายไม่มี?” (1 โกรินโธ 15:12) คนเหล่านั้นไม่เพียงมีข้อสงสัยหรือคำถามที่เก็บไว้ในใจเกี่ยวกับการกลับเป็นขึ้นจากตาย แต่พวกเขาพูดออกมาอย่างเปิดเผยด้วยว่าไม่เชื่อเรื่องนี้. ดังนั้น เปาโลเผยให้เห็นความผิดพลาดในการหาเหตุผลของพวกเขา. ท่านกล่าวว่าถ้าพระคริสต์ไม่ได้ถูกปลุกให้เป็นขึ้นมา ข่าวสารของคริสเตียนก็เป็นคำมุสา และคนเหล่านั้นที่เป็นพยานถึงการคืนพระชนม์ของพระคริสต์ก็เป็น “พยานเท็จในกิจของพระเจ้า.” ถ้าพระคริสต์ไม่ได้ถูกปลุก ก็ไม่มีค่าไถ่จะชำระให้แก่พระเจ้า; คริสเตียนก็ “ยังคงอยู่ในความบาปของตน.” (1 โกรินโธ 15:13-19; โรม 3:23, 24; เฮ็บราย 9:11-14) และคริสเตียนที่ได้ “ล่วงหลับไปแล้ว” ซึ่งบางกรณีเป็นการสละชีพเพื่อความเชื่อ ก็ย่อมเสียชีวิตไปโดยปราศจากความหวังแท้. คริสเตียนย่อมตกอยู่ในสภาพที่น่าเวทนาสักเพียงไรถ้าทั้งหมดที่พวกเขาคาดหวังได้มีเพียงชีวิตนี้! ความทุกข์ลำบากที่พวกเขาทนรับเอานั้นกลายเป็นเรื่องไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง.
12. (ก) การเรียกพระคริสต์ว่า “ผลแรกในพวกคนทั้งหลายที่ได้ล่วงหลับไปแล้วนั้น” แสดงนัยถึงอะไร? (ข) พระคริสต์ทรงทำให้การกลับเป็นขึ้นจากตายเป็นไปได้โดยวิธีใด?
12 อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น. เปาโลกล่าวต่อไปว่า “พระคริสต์ทรงคืนพระชนม์แล้ว.” นอกจากนั้น พระองค์ทรงเป็น “ผลแรกในพวกคนทั้งหลายที่ได้ล่วงหลับไปแล้วนั้น.” (1 โกรินโธ 15:20) เมื่อชาวยิศราเอลเชื่อฟังโดยถวายผลแรกแห่งผลผลิตของตนแด่พระยะโฮวา พระองค์ทรงอวยพระพรให้พวกเขาเก็บเกี่ยวได้อย่างอุดม. (เอ็กโซโด 22:29, 30; 23:19; สุภาษิต 3:9, 10) โดยเรียกพระคริสต์เป็น “ผลแรก” เปาโลกล่าวแสดงนัยว่าจะมีอีกบางคนที่เป็นผลเก็บเกี่ยวโดยถูกปลุกให้เป็นขึ้นจากตายสู่ชีวิตทางภาคสวรรค์. เปาโลกล่าวดังนี้: “เพราะว่าความตายได้อุบัติขึ้นเนื่องด้วยมนุษย์เป็นเหตุฉันใด, การเป็นขึ้นมาจากตายนั้นก็ได้อุบัติขึ้นเนื่องด้วยมนุษย์เป็นเหตุฉันนั้น. ด้วยว่าคนทั้งปวงได้ตายเพราะเกี่ยวเนื่องกับอาดามฉันใด, คนทั้งปวงก็จะกลับได้ชีวิตคืนใหม่เพราะเกี่ยวเนื่องกับพระคริสต์ฉันนั้น.” (1 โกรินโธ 15:21, 22) พระเยซูทรงทำให้การกลับเป็นขึ้นจากตายเป็นไปได้โดยประทานชีวิตมนุษย์สมบูรณ์ของพระองค์เป็นค่าไถ่ เปิดทางให้มนุษยชาติได้รับการปลดปล่อยจากการเป็นทาสของบาปและความตาย.—ฆะลาเตีย 1:4; 1 เปโตร 1:18, 19.a
13. (ก) การกลับเป็นขึ้นจากตายสู่ชีวิตทางภาคสวรรค์เกิดขึ้นเมื่อไร? (ข) ผู้ถูกเจิมบางคนไม่ได้ “ล่วงหลับในความตาย” อย่างไร?
13 เปาโลกล่าวต่อไปอีกว่า “แต่ทุกคนจะเป็นไปตามตำแหน่งของเขา: พระคริสต์ซึ่งเป็นผลแรก หลังจากนั้น บรรดาผู้ที่เป็นของพระคริสต์ระหว่างการประทับของพระองค์.” (1 โกรินโธ 15:23, ล.ม.) พระคริสต์ทรงคืนพระชนม์ในปี ส.ศ. 33. อย่างไรก็ตาม ผู้ติดตามที่ได้รับการเจิมของพระองค์—“บรรดาผู้ที่เป็นของพระคริสต์”—จะต้องคอยจนกว่าจะถึงช่วงสั้น ๆ หลังจากที่พระเยซูทรงเริ่มครองราชย์ ซึ่งคำพยากรณ์ของคัมภีร์ไบเบิลชี้ว่าเกิดขึ้นในปี 1914. (1 เธซะโลนิเก 4:14-16: วิวรณ์ 11:18) จะว่าอย่างไรสำหรับคนเหล่านั้นที่มีชีวิตระหว่างการประทับนั้น? เปาโลกล่าวดังนี้: “นี่แน่ะ! ข้าพเจ้าจะบอกให้พวกท่านทราบถึงความลับอันศักดิ์สิทธิ์: เราจะไม่ล่วงหลับในความตายหมดทุกคน แต่เราทุกคนจะถูกเปลี่ยน ในขณะเดียว ในกะพริบตาเดียว ในระหว่างการเป่าแตรครั้งสุดท้าย. เพราะแตรจะดังขึ้นและคนตายจะเป็นขึ้นมาสู่สภาพไม่เน่าเปื่อยและเราจะถูกเปลี่ยน.” (1 โกรินโธ 15:51, 52, ล.ม.) เห็นได้ชัด ไม่ใช่ผู้ถูกเจิมทุกคนที่หลับอยู่ในหลุมฝังศพคอยการกลับเป็นขึ้นจากตาย. คนที่ตายในระหว่างการประทับของพระคริสต์จะถูกเปลี่ยนทันที.—วิวรณ์ 14:13.
14. ผู้ถูกเจิม “รับบัพติสมาเพื่อ [จะเป็น] คนตาย” อย่างไร?
14 เปาโลถามว่า “มิฉะนั้น พวกเขาที่รับบัพติสมาเพื่อ [จะเป็น] คนตายจะทำอะไร? ถ้าคนตายแล้วไม่ได้รับการปลุกให้เป็นขึ้นเลย พวกเขารับบัพติสมาเพื่อ [จะเป็น] คนตายด้วยทำไมเล่า? เพราะเหตุใดเราจึงตกอยู่ในอันตรายทุกชั่วโมงเล่า?” (1 โกรินโธ 15:29, 30, ล.ม.) เปาโลไม่ได้หมายความว่าคนที่มีชีวิตบางคนรับบัพติสมาเพื่อเห็นแก่คนตาย ดังที่ฉบับแปลคัมภีร์ไบเบิลบางฉบับทำให้เข้าใจไปอย่างนั้น. ที่จริง การรับบัพติสมาเกี่ยวข้องกับการเป็นสาวกของพระคริสต์ และจิตวิญญาณที่ตายแล้วไม่สามารถเป็นสาวกได้. (โยฮัน 4:1) แทนที่จะเป็นอย่างนั้น เปาโลกำลังพิจารณาถึงคริสเตียนที่มีชีวิตอยู่ซึ่งหลายคนเป็นเช่นเดียวกับเปาโลเอง คือ “ตกอยู่ในอันตรายทุกชั่วโมง.” คริสเตียนผู้ถูกเจิม ‘ได้รับบัพติศมาเข้าส่วนในความตายของพระคริสต์.’ (โรม 6:3) นับตั้งแต่ถูกเจิม พวกเขา “ได้รับบัพติศมา” อย่างที่กล่าวโดยนัยได้ว่า เพื่อเข้าสู่แนวทางซึ่งนำไปสู่ความตายแบบเดียวกับพระคริสต์. (มาระโก 10:35-40) พวกเขาจะตายโดยที่มีความหวังจะได้รับการปลุกให้เป็นขึ้นเพื่อรับสง่าราศีทางภาคสวรรค์.—1 โกรินโธ 6:14; ฟิลิปปอย 3:10, 11.
15. เปาโลอาจเคยประสบภัยอะไร และความเชื่อเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตายมีส่วนอย่างไรในการอดทนภัยเหล่านั้น?
15 ถึงตรงนี้ เปาโลอธิบายว่าท่านเองได้เผชิญภัยอันตรายถึงขนาดที่ท่านกล่าวได้ว่าท่าน “เผชิญความตายอยู่ทุกวัน.” ด้วยเกรงว่าจะมีใครกล่าวหาว่าท่านพูดเกินจริง เปาโลกล่าวเสริมอีกว่า “เพราะความภูมิใจซึ่งข้าพเจ้ามีอยู่ในท่านทั้งหลายโดยพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา.” เดอะ เจรูซาเลม ไบเบิล แปลข้อนี้ดังนี้: “พี่น้องทั้งหลาย ข้าพเจ้าเผชิญความตายทุกวัน และข้าพเจ้าสาบานได้ด้วยความภาคภูมิที่ข้าพเจ้ามีในตัวท่านทั้งหลายในพระคริสต์เยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา.” เพื่อให้ตัวอย่างของภัยอันตรายที่ท่านเผชิญ ในข้อ 32 เปาโลกล่าวถึง ‘การต่อสู้กับสัตว์ร้ายในเมืองเอเฟโซ.’ ชาวโรมันมักประหารอาชญากรโดยโยนพวกเขาให้แก่สัตว์ป่าที่ดุร้ายในสนามกีฬา. หากเปาโลต้องต่อสู้กับสัตว์ร้ายจริง ๆ การที่ท่านรอดชีวิตมาได้ย่อมเป็นเพราะพระยะโฮวาทรงช่วยเอาไว้เท่านั้น. หากปราศจากความหวังแห่งการกลับเป็นขึ้นจากตาย การเลือกแนวทางชีวิตที่ทำให้ท่านประสบภัยเช่นนั้นคงเป็นเรื่องโง่เขลาอย่างแท้จริง. หากปราศจากความหวังเกี่ยวกับชีวิตในอนาคต การทนความยากลำบากและการเสียสละทั้งหลายซึ่งเกิดขึ้นเพราะการรับใช้พระเจ้าก็แทบจะไม่มีความหมาย. เปาโลกล่าวดังนี้: “ถ้าคนที่ตายไปนั้นไม่ได้เป็นขึ้นมาอีกแล้ว, ก็ให้เรากินและดื่มเถิด, เพราะว่าพรุ่งนี้เราก็จะตาย.”—1 โกรินโธ 15:31, 32; โปรดดู 2 โกรินโธ 1:8, 9; 11:23-27.
16. (ก) วลีที่ว่า “ให้เรากินและดื่มเถิด, เพราะว่าพรุ่งนี้เราก็จะตาย” อาจมาจากแหล่งไหน? (ข) มีอันตรายอะไรในการรับเอาความคิดอย่างนี้?
16 อาจเป็นได้ว่าเปาโลยกข้อความจากยะซายา 22:13 ซึ่งพรรณนาถึงเจตคติของประชากรหัวดื้อแห่งกรุงยะรูซาเลมที่เชื่อเรื่องชะตาลิขิต. หรือท่านอาจคิดถึงความเชื่อของพวกเอพิคิวเรียน ซึ่งเย้ยหยันความหวังใด ๆ เกี่ยวกับชีวิตหลังจากตายและเชื่อว่าความเพลิดเพลินทางกายเป็นคุณประโยชน์เหนือสิ่งอื่นใดในชีวิต. ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด ปรัชญาที่ว่า “กินและดื่มเถิด” เป็นการใช้ชีวิตอย่างไม่เลื่อมใสพระเจ้า. ฉะนั้น เปาโลเตือนดังนี้: “อย่าให้ผู้ใดลวงท่าน. การคบหาสมาคมที่ไม่ดีย่อมทำให้นิสัยดีเสียไป.” (1 โกรินโธ 15:33, ล.ม.) การคลุกคลีกับคนที่ปฏิเสธการกลับเป็นขึ้นจากตายอาจก่อผลเสียหายร้ายแรงได้. การคบหาสมาคมเช่นนั้นอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาที่เปาโลต้องจัดการในประชาคมโกรินโธ เช่นการประพฤติผิดศีลธรรม, การแตกพวก, การเป็นความกันในศาล, และความไม่นับถือต่ออาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า.—1 โกรินโธ 1:11; 5:1; 6:1; 11:20-22.
17. (ก) เปาโลกระตุ้นเตือนชาวโกรินโธเช่นไร? (ข) ยังมีคำถามอะไรที่ยังไม่ได้รับคำตอบ?
17 ด้วยเหตุนั้น เปาโลจึงให้คำกระตุ้นเตือนที่เสริมสร้างแก่ชาวโกรินโธดังนี้: “จงกลับมาสู่ความชอบธรรมและอย่าทำผิดอีกเลยเพราะว่าบางคนไม่รู้จักพระเจ้า ที่ข้าพเจ้าว่านี้ก็ให้ท่านมีความละอาย.” (1 โกรินโธ 15:34, ฉบับแปลใหม่) ทัศนะในแง่ลบเกี่ยวกับการกลับเป็นขึ้นจากตายชักนำให้บางคนมีอาการง่วงซึมฝ่ายวิญญาณราวกับคนเมา. พวกเขาจำต้องตื่นตัว รักษาสติให้แจ่มใสอยู่เสมอ. คริสเตียนผู้ถูกเจิมในทุกวันนี้ก็เช่นกัน จำเป็นต้องตื่นตัวทางฝ่ายวิญญาณ ไม่ถูกครอบงำโดยทัศนะของโลกที่ชอบสงสัย. พวกเขาต้องติดสนิทอยู่กับความหวังเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตายสู่ชีวิตทางภาคสวรรค์. แต่ก็ยังเหลือคำถามบางข้อที่ชาวโกรินโธในตอนนั้นและพวกเราในตอนนี้รอคำตอบอยู่. อย่างเช่น ชน 144,000 คนถูกปลุกสู่สวรรค์ในรูปกายชนิดใด? และจะว่าอย่างไรสำหรับคนอื่นหลายล้านคนที่ยังคงอยู่ในหลุมฝังศพและไม่มีความหวังชีวิตฝ่ายสวรรค์? การกลับเป็นขึ้นจากตายจะมีความหมายอะไรสำหรับคนเหล่านี้? ในบทความต่อไป เราจะมาดูการพิจารณาของเปาโลเกี่ยวกับการกลับเป็นขึ้นจากตายในส่วนที่เหลือ.
[เชิงอรรถ]
a สำหรับการพิจารณาเรื่องค่าไถ่ โปรดดูหอสังเกตการณ์ ฉบับ 15 กุมภาพันธ์ 1991.
คุณจำได้ไหม?
▫ พระเยซูทรงให้ความกระจ่างอะไรในเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตาย?
▫ ใครบ้างเป็นพยานถึงการกลับเป็นขึ้นจากตายของพระคริสต์?
▫ เหตุใดหลักคำสอนเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตายจึงถูกโต้แย้ง และเปาโลตอบเช่นไร?
▫ เหตุใดความเชื่อเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตายจึงสำคัญสำหรับคริสเตียนผู้ถูกเจิม?
[รูปภาพหน้า 15]
ลูกสาวของญายโร เป็นข้อพิสูจน์ว่าการกลับเป็นขึ้นจากตายเป็นไปได้
[รูปภาพหน้า 16, 17]
หากปราศจากความหวังเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตาย การสละชีวิตเพื่อความเชื่อของคริสเตียนที่ซื่อสัตย์ย่อมกลายเป็นเรื่องไร้ความหมาย