บทความศึกษา 50
“คนตายจะถูกปลุกให้ฟื้นขึ้นมาอย่างไร?”
“ความตาย ไหนล่ะชัยชนะของเจ้า? ความตาย พิษสงที่มีหายไปไหนหมด?”—1 คร. 15:55
เพลง 141 ชีวิตเป็นสิ่งมหัศจรรย์
ใจความสำคัญa
1-2. ทำไมคริสเตียนทุกคนควรสนใจเรื่องการฟื้นขึ้นจากตายไปสวรรค์?
ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาส่วนใหญ่ในทุกวันนี้มีความหวังที่จะมีชีวิตตลอดไปบนโลก แต่ก็มีคริสเตียนที่ได้รับการเจิมกลุ่มเล็ก ๆ ที่มีความหวังที่จะถูกปลุกให้ไปสวรรค์ด้วย ผู้ถูกเจิมเหล่านี้อยากรู้ว่าชีวิตในอนาคตของพวกเขาจะเป็นอย่างไร แต่ทำไมคริสเตียนคนอื่นที่มีความหวังบนโลกต้องสนใจเรื่องนี้ด้วย? ก็เพราะว่าการฟื้นขึ้นจากตายไปสวรรค์จะทำให้คนที่มีความหวังที่จะอยู่บนโลกได้รับพรด้วย ดังนั้นไม่ว่าเราจะมีความหวังที่จะไปสวรรค์หรือจะอยู่บนโลกตลอดไป เราต้องสนใจเรื่องการฟื้นขึ้นจากตายไปสวรรค์
2 พระยะโฮวาดลใจสาวกของพระเยซูในศตวรรษแรกให้เขียนเกี่ยวกับความหวังเรื่องการฟื้นขึ้นจากตายไปสวรรค์ อัครสาวกยอห์นอธิบายเรื่องนี้ว่า “ตอนนี้เราเป็นลูกของพระเจ้าแล้ว แต่เรายังไม่รู้ว่าเราจะมีสภาพอย่างไรในอนาคต เรารู้ว่าเมื่อพระองค์ปรากฏตัวให้เราเห็น เราจะมีสภาพอย่างพระองค์” (1 ยน. 3:2) ถึงคริสเตียนผู้ถูกเจิมจะไม่รู้ว่าชีวิตในสวรรค์จะเป็นอย่างไร แต่พวกเขารู้ว่าพวกเขาจะได้เห็นพระยะโฮวาจริง ๆ คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้บอกรายละเอียดทุกอย่างเกี่ยวกับการฟื้นขึ้นจากตายไปสวรรค์ แต่เปาโลให้ข้อมูลบางอย่างเกี่ยวกับเรื่องนี้ เขาบอกว่าผู้ถูกเจิมจะอยู่กับพระคริสต์ตอนที่ท่าน “ทำลายรัฐบาล ผู้มีอำนาจ และผู้มีฤทธิ์ทั้งหมด” รวมถึง “ศัตรูตัวสุดท้าย . . . คือความตาย” ในที่สุดพระเยซูและผู้ที่ร่วมปกครองกับท่านจะทำให้ทุกสิ่งอยู่ใต้อำนาจของพระยะโฮวา แล้วตัวท่านเองกับคนที่ร่วมปกครองกับท่านก็จะอยู่ใต้อำนาจของพระองค์ด้วย (1 คร. 15:24-28) นั่นคงเป็นเวลาที่น่าตื่นเต้นจริง ๆ b
3. จาก 1 โครินธ์ 15:30-32 ความเชื่อเรื่องการฟื้นขึ้นจากตายของเปาโลช่วยเขาอย่างไร?
3 ความเชื่อเรื่องการฟื้นขึ้นจากตายช่วยเปาโลให้อดทนกับปัญหาและความลำบากหลายอย่างได้ (อ่าน 1 โครินธ์ 15:30-32) เขาเขียนถึงชาวเมืองโครินธ์ว่า “ผมเฉียดตายทุกวัน” และยังบอกอีกว่า “ผมสู้กับสัตว์ร้ายในเมืองเอเฟซัส” เขาอาจจะพูดถึงการต่อสู้กับสัตว์จริง ๆ ในสนามกีฬาที่เมืองเอเฟซัส (2 คร. 1:8; 4:10; 11:23) หรือบางทีเขาอาจจะพูดถึงการต่อต้านจากคนยิวและคนอื่น ๆ ที่เป็นเหมือนกับ “สัตว์ร้าย” (กจ. 19:26-34; 1 คร. 16:9) ไม่ว่าจะแบบไหน เปาโลก็ต้องเจอเรื่องที่อันตรายมากแน่ ๆ แต่เขาก็ยังมองไปที่อนาคตในแง่บวก—2 คร. 4:16-18
4. ความหวังเรื่องการฟื้นขึ้นจากตายช่วยคริสเตียนในทุกวันนี้ให้เข้มแข็งอย่างไร? (ดูภาพหน้าปก)
4 เราอยู่ในช่วงเวลาที่อันตรายมาก พี่น้องของเราบางคนตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรม และบางคนก็อยู่ในที่ที่มีสงครามซึ่งทำให้เขารู้สึกไม่ปลอดภัยเลย ส่วนพี่น้องอีกหลายคนอยู่ในประเทศที่งานของเราถูกสั่งห้ามหรือไม่มีอิสระเต็มที่ แต่พวกเขาก็ยังรับใช้พระยะโฮวาทั้ง ๆ ที่รู้ว่าการทำแบบนั้นอาจทำให้พวกเขาถูกจับหรือถูกฆ่าก็ได้ พวกเขาทั้งหมดยังนมัสการพระยะโฮวาต่อไปและเป็นตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมให้กับพวกเรา พวกเขาไม่กลัวเพราะพวกเขารู้ว่าถึงตอนนี้พวกเขาจะตาย แต่พระยะโฮวาสัญญาว่าจะให้สิ่งที่ดีกว่ากับพวกเขาในอนาคต
5. ความคิดแบบไหนอาจทำให้ความเชื่อเรื่องการฟื้นขึ้นจากตายของเราน้อยลง?
5 เปาโลบอกพี่น้องให้ระวังความคิดของบางคนที่บอกว่า “ถ้าคนตายจะไม่ถูกปลุกให้ฟื้นขึ้นมาก็ ‘มากินมาดื่มกันดีกว่า เพราะพรุ่งนี้เราก็จะตาย’” ความคิดแบบนี้มีมาตั้งแต่ก่อนสมัยของเปาโลแล้ว เปาโลอาจจะพูดถึงความคิดของชาวอิสราเอลที่อยู่ในอิสยาห์ 22:13 แทนที่พวกเขาจะพยายามสนิทกับพระยะโฮวาให้มากขึ้น พวกเขากลับสนใจแต่ความสนุกสนาน คนสมัยนี้ก็คิดเหมือนกับชาวอิสราเอล หลายคนบอกว่า “ชีวิตของเราใช้ซะ เดี๋ยวก็จะตายแล้ว” แต่คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าความคิดแบบนี้ทำให้ชาวอิสราเอลต้องเจอกับเรื่องที่เลวร้ายมากจริง ๆ—2 พศ. 36:15-20
6. การที่เรารู้ว่าพระยะโฮวาจะปลุกคนตายให้ฟื้นควรมีผลกับการเลือกคบเพื่อนของเราอย่างไร?
6 การที่เรารู้ว่าพระยะโฮวาปลุกคนตายให้ฟื้นควรมีผลกับการเลือกคบเพื่อนของเรา พี่น้องในเมืองโครินธ์ต้องระวังที่จะไม่คบกับคนที่ไม่เชื่อเรื่องการฟื้นขึ้นจากตาย บทเรียนสำหรับเราก็คือไม่มีประโยชน์อะไรเลยที่จะคบกับคนที่สนใจแต่เรื่องสนุกสนานโดยที่ไม่คิดถึงอนาคต การใช้เวลามากกับคนแบบนี้จะมีผลเสียกับความคิดและนิสัยของเรา และอาจถึงกับทำให้เราทำสิ่งที่พระยะโฮวาเกลียดด้วยซ้ำ นี่เป็นเหตุผลที่เปาโลเตือนตรง ๆ ว่า “ตื่นได้แล้วและกลับมาทำสิ่งที่ถูกต้องเถอะและอย่าทำบาปอีกเลย”—1 คร. 15:33, 34
ร่างกายแบบไหน?
7. จาก 1 โครินธ์ 15:35-38 บางคนอาจจะถามอะไรเกี่ยวกับการฟื้นขึ้นจากตาย?
7 อ่าน 1 โครินธ์ 15:35-38 คนที่ไม่อยากให้คนอื่นเชื่อเรื่องการฟื้นขึ้นจากตายอาจจะถามว่า “คนตายจะถูกปลุกให้ฟื้นขึ้นมาอย่างไร? พวกเขาจะมีร่างกายแบบไหน?” เราน่าจะสนใจคำตอบของเปาโลเพราะคนในทุกวันนี้คิดไปต่าง ๆ นานาว่าชีวิตหลังความตายเป็นอย่างไร ให้เรามาดูว่าคัมภีร์ไบเบิลสอนอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้
8. ตัวอย่างเปรียบเทียบอะไรที่ช่วยให้เราเข้าใจเรื่องการฟื้นขึ้นจากตายไปสวรรค์?
8 เมื่อคนเราตาย ร่างกายของเขาก็เน่าเปื่อยและสูญสลายไปหมด แต่พระเจ้าที่สร้างเอกภพจากความว่างเปล่าก็สามารถปลุกเขาให้ฟื้นขึ้นมาและสร้างร่างกายใหม่ที่เหมาะสมให้กับเขาได้แน่นอน (ปฐก. 1:1; 2:7) เมื่อเปาโลพูดถึงการฟื้นขึ้นจากตายไปสวรรค์ เขาใช้ตัวอย่างเปรียบเทียบที่ทำให้เราเห็นว่าพระเจ้าไม่จำเป็นต้องปลุกคนเราให้มีชีวิตในร่างกายเดิม ลองคิดถึงตอนที่เราเพาะ “เมล็ด” ลงในดิน พอมันโตขึ้นเป็นต้นใหม่ มันก็ไม่เหลือเค้าเดิมของเมล็ดเลย เปาโลใช้ตัวอย่างเปรียบเทียบนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่าพระเจ้าผู้สร้างทุกสิ่งสามารถให้ “ร่างกายตามที่พระองค์เห็นว่าดี”—1 คร. 15:38, เชิงอรรถ
9. ข้อคัมภีร์ที่ 1 โครินธ์ 15:39-41 พูดอะไรเกี่ยวกับร่างกายหลายแบบ?
9 อ่าน 1 โครินธ์ 15:39-41 เปาโลบอกว่าพระเจ้าไม่ได้สร้างร่างกายเพียงแค่แบบเดียว ตัวอย่างเช่น เนื้อหรือร่างกายของสิ่งมีชีวิตไม่ว่าจะเป็นวัว ปลา หรือนกก็แตกต่างกัน เขาบอกว่าแม้แต่ในท้องฟ้า ดวงอาทิตย์ก็ไม่เหมือนกับดวงจันทร์ และ “รัศมีของดาวแต่ละดวงก็แตกต่างกันไป” ถึงเราอาจจะมองไม่เห็นว่าดาวแต่ละดวงแตกต่างกันอย่างไร แต่นักวิทยาศาสตร์บอกว่าดาวมีหลายแบบ บางดวงใหญ่บางดวงเล็ก บางดวงสีแดง เช่น ดาวยักษ์แดง บางดวงก็สีขาว เช่น ดาวแคระขาว หรือบางดวงก็สีเหลืองเหมือนดวงอาทิตย์ของเรา แล้วเปาโลก็ยังบอกอีกว่ามี “ร่างกายสำหรับสวรรค์และร่างกายสำหรับโลก” เขาหมายความว่าอย่างไร? คนที่อยู่บนโลกมีร่างกายที่มีเลือดมีเนื้อ แต่คนที่อยู่ในสวรรค์มีร่างกายแบบทูตสวรรค์
10. คนที่ถูกปลุกให้ฟื้นขึ้นจากตายไปสวรรค์จะมีร่างกายแบบไหน?
10 ขอสังเกตสิ่งที่เปาโลพูดต่อไป เขาบอกว่า “การฟื้นขึ้นมาของคนตายก็เหมือนกัน ร่างกายเป็นเหมือนเมล็ดที่ถูกหว่านลงและเน่าเปื่อยไป แต่ร่างกายที่ถูกปลุกให้ฟื้นขึ้นมานั้นไม่เน่าเปื่อย” เรารู้ว่าถ้าคนเราตาย ร่างกายของเขาก็เน่าเปื่อยแล้วก็กลายเป็นดิน (ปฐก. 3:19) ถ้าอย่างนั้น “ร่างกายที่ถูกปลุกให้ฟื้นขึ้นมานั้นไม่เน่าเปื่อย” อย่างไร? เปาโลไม่ได้พูดถึงคนที่ถูกปลุกให้มีชีวิตบนโลก เช่นคนที่เอลียาห์ เอลีชา และพระเยซูปลุกให้ฟื้นขึ้นมา แต่เปาโลกำลังพูดถึงคนที่ถูกปลุกให้ฟื้นขึ้นมามี “ร่างกายสำหรับสวรรค์”—1 คร. 15:42-44
11-12. มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นกับพระเยซูตอนที่ท่านฟื้นขึ้นจากตาย? และเรื่องคล้ายกันนี้เกิดขึ้นกับพวกผู้ถูกเจิมอย่างไร?
11 ตอนที่พระเยซูอยู่บนโลก ท่านมีร่างกายที่มีเลือดมีเนื้อ แต่พอท่านถูกปลุกให้ฟื้นขึ้นจากตาย ท่านก็ “มีร่างกายสำหรับสวรรค์” แล้วท่านก็กลับไปสวรรค์ คริสเตียนผู้ถูกเจิมก็จะถูกปลุกให้ฟื้นขึ้นจากตายและมีร่างกายสำหรับสวรรค์เหมือนกัน เปาโลอธิบายว่า “ตอนนี้เรามีลักษณะเหมือนคนแรกที่ถูกสร้างจากดิน แต่อีกหน่อยเราจะมีลักษณะเหมือนท่านผู้นั้นที่มาจากสวรรค์”—1 คร. 15:45-49
12 เราต้องไม่ลืมว่าตอนที่พระเยซูถูกปลุกให้ฟื้นขึ้นมา ท่านไม่ได้มีร่างกายแบบมนุษย์ เปาโลอธิบายเหตุผลว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้น เขาบอกว่า “มนุษย์ที่มีเลือดเนื้อจะเข้ารัฐบาลของพระเจ้า [ในสวรรค์] ไม่ได้” (1 คร. 15:50) ตอนที่พวกอัครสาวกและผู้ถูกเจิมคนอื่นถูกปลุกให้ฟื้นขึ้นจากตายไปสวรรค์ พวกเขาจะไม่มีร่างกายที่มีเลือดมีเนื้อและเน่าเปื่อยได้ แล้วพวกเขาจะถูกปลุกเมื่อไหร่? เปาโลบอกว่าการฟื้นขึ้นจากตายของพวกเขาจะยังไม่เกิดขึ้นทันทีหลังจากที่พวกเขาตาย แต่จะเกิดขึ้นในอนาคต ตอนที่เขาเขียนหนังสือ 1 โครินธ์ สาวกบางคน “ตายไปแล้ว” เช่น อัครสาวกยากอบ (กจ. 12:1, 2) แต่ก็ยังมีอัครสาวกคนอื่นและผู้ถูกเจิมหลายคนที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ต่อมาพวกเขาก็ตายด้วยเหมือนกัน—1 คร. 15:6
ชัยชนะเหนือความตาย
13. จะเกิดอะไรขึ้นบ้างในช่วงการประทับของพระเยซู?
13 ทั้งพระเยซูและเปาโลพยากรณ์ถึงช่วงเวลาหนึ่งที่สำคัญมาก ช่วงเวลานั้นก็คือการประทับของพระคริสต์ ในช่วงการประทับของพระคริสต์จะมีสงครามในที่ต่าง ๆ และแผ่นดินไหวหลายแห่ง และมีโรคระบาดเกิดขึ้น นอกจากนั้นยังมีสิ่งเลวร้ายเกิดขึ้นมากมายทั่วโลก เราเห็นว่าคำพยากรณ์นี้เกิดขึ้นจริงตั้งแต่ปี 1914 แต่มีสัญญาณอีกอย่างที่บอกให้รู้ว่าพระเยซูกำลังประทับอยู่ พระเยซูบอกว่าข่าวดีที่ว่ารัฐบาลของพระเจ้ากำลังปกครองจะมีการประกาศ “ไปทั่วโลก เพื่อให้คนทุกชาติมีโอกาสได้ยิน แล้วจุดจบก็จะมาถึง” (มธ. 24:3, 7-14) เปาโลชี้ให้เห็นว่า “ช่วงการประทับของผู้เป็นนาย” จะเป็นช่วงเวลาที่คริสเตียนผู้ถูกเจิม “ที่ตายไปแล้ว” จะถูกปลุกให้ฟื้นขึ้นจากตาย—1 ธส. 4:14-16; 1 คร. 15:23
14. จะเกิดอะไรขึ้นกับผู้ถูกเจิมที่ตายในช่วงการประทับของพระเยซู?
14 คริสเตียนผู้ถูกเจิมที่ตายตอนนี้จะถูกปลุกให้ไปสวรรค์ทันที เปาโลยืนยันเรื่องนี้ใน 1 โครินธ์ 15:51, 52 ที่นั่นบอกว่า “พวกเราบางคนจะไม่ต้องหลับอยู่ในความตาย แต่จะถูกเปลี่ยนแปลงใหม่หมดในช่วงสั้น ๆ แค่พริบตาเดียว ระหว่างการเป่าแตรครั้งสุดท้าย” คำพูดของเปาโลกำลังเกิดขึ้นจริงในตอนนี้ ตอนที่พี่น้องของพระคริสต์ถูกปลุกให้ฟื้นขึ้นจากตาย พวกเขาจะมีความสุขมาก เพราะพวกเขา “จะได้อยู่กับผู้เป็นนายตลอดไป”—1 ธส. 4:17
15. คนที่ถูกเปลี่ยนแปลงใหม่ใน “แค่พริบตาเดียว” จะทำงานอะไร?
15 คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าคนที่ถูกเปลี่ยนแปลงใหม่ใน “แค่พริบตาเดียว” จะทำงานอะไรในสวรรค์ พระเยซูพูดกับพวกเขาว่า “ผมจะให้คนที่ได้ชัยชนะและทำตามคำสั่งของผมจนถึงที่สุดมีอำนาจเหนือประเทศต่าง ๆ แล้วเขาจะปกครองประชาชนด้วยคทาเหล็กและทุบพวกนั้นให้แตกเป็นเสี่ยง ๆ เหมือนภาชนะดิน เขาจะได้รับอำนาจเหมือนที่ผมได้รับจากพ่อของผม” (วว. 2:26, 27) พวกเขาจะติดตามพระเยซูผู้นำของพวกเขาในการปกครองประเทศต่าง ๆ ด้วยคทาเหล็ก—วว. 19:11-15
16. มนุษย์จะเอาชนะความตายอย่างไร?
16 เมื่อพวกผู้ถูกเจิมถูกปลุกให้ฟื้นขึ้นจากตายไปสวรรค์ พวกเขาก็เอาชนะความตายแล้ว (1 คร. 15:54-57) นี่เลยทำให้พวกเขาสามารถกำจัดความชั่วทั่วโลกในสงครามอาร์มาเกดโดนที่จะมาถึง คริสเตียนหลายล้านคนทั้งผู้ชายและผู้หญิงจะ “ผ่านความทุกข์ยากลำบากครั้งใหญ่” เข้าสู่โลกใหม่ (วว. 7:14) คนที่รอดชีวิตเหล่านั้นจะได้เห็นการเอาชนะความตายอีกแบบหนึ่ง หลายล้านคนที่ตายไปจะถูกปลุกให้ฟื้นขึ้นมามีชีวิตอีกครั้ง ลองนึกภาพดูสิว่าเราจะตื่นเต้นและมีความสุขมากแค่ไหนในตอนนั้น (กจ. 24:15) และในที่สุดทุกคนที่พิสูจน์ว่าซื่อสัตย์ภักดีต่อพระยะโฮวาอย่างสมบูรณ์แบบจะเอาชนะความตายที่มาจากอาดัม พวกเขาจะมีชีวิตตลอดไป
17. จาก 1 โครินธ์ 15:58 เราควรทำอะไรตอนนี้?
17 สิ่งที่เปาโลเขียนถึงพี่น้องในโครินธ์เรื่องการฟื้นขึ้นจากตายควรทำให้เราทุกคนรู้สึกขอบคุณและได้กำลังใจ เรามีเหตุผลมากมายที่จะทำตามคำแนะนำของเปาโลที่ให้ทุ่มเทกับ “งานของผู้เป็นนาย” ในตอนนี้ (อ่าน 1 โครินธ์ 15:58) ถ้าเราทำงานนี้อย่างซื่อสัตย์และทำมากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ เราก็มีโอกาสที่จะมีชีวิตที่มีความสุขในอนาคต ชีวิตในตอนนั้นจะดีมากอย่างที่เราคิดไม่ถึงเลย และตอนนั้นเราจะเห็นว่างานหนักที่เราทำให้กับผู้เป็นนายไม่ได้เสียเปล่าเลย
เพลง 140 ในที่สุดก็มีชีวิตตลอดไป!
a ส่วนที่เหลือของ 1 โครินธ์บท 15 พูดถึงรายละเอียดหลายอย่างเกี่ยวกับการฟื้นขึ้นจากตาย โดยเฉพาะการฟื้นขึ้นจากตายของคริสเตียนผู้ถูกเจิม แต่สิ่งที่เปาโลเขียนก็สำคัญสำหรับแกะอื่นด้วย ในบทความนี้เราจะมาดูว่าความหวังเรื่องการฟื้นขึ้นจากตายควรมีผลต่อการใช้ชีวิตของเราในทุกวันนี้อย่างไร และช่วยเราอย่างไรให้มีเหตุผลที่จะมองไปที่อนาคตอย่างมีความหวัง
b “คำถามจากผู้อ่าน” ในเล่มนี้อธิบายคำพูดของเปาโลที่ 1 โครินธ์ 15:29