คุณจำได้ไหม?
คุณชื่นชอบเรื่องในหอสังเกตการณ์ ฉบับต่าง ๆ เมื่อเร็ว ๆ นี้ไหม? ถ้าเช่นนั้นคุณจะพบว่าน่าสนใจที่จะฟื้นความจำดังต่อไปนี้:
▫ เหตุใดเราจึงมีความมั่นใจได้ในบุคคลต่าง ๆ ที่พระยะโฮวาทรงเลือกให้ชี้นำไพร่พลของพระองค์?
พระยะโฮวาทรงเลือกบางคนไว้ให้ทำหน้าที่รับผิดชอบบางอย่าง ซึ่งเป็นผู้มีคุณวุฒิเฉพาะด้านที่จำเป็นเพื่อนำไพร่พลไปในแนวทางที่พระองค์ทรงประสงค์ให้เขาดำเนินไปในเวลานั้น ๆ.—15/8 หน้า 14.
▫ เราได้บทเรียนอะไรจากประสบการณ์ของโยนา?
โยนาคิดถึงตัวเองมากเกินไปและคิดถึงคนอื่นน้อยเกินไป. เราสามารถได้บทเรียนจากโยนาโดยคอยควบคุมให้ตัวเราเองและความรู้สึกส่วนตัวมีความสำคัญอยู่ในอันดับรอง.—15/8 หน้า 19.
▫ จะกล่าวได้อย่างไรว่า “พระนามพระยะโฮวาเป็นป้อมเข้มแข็ง”? (สุภาษิต 18:10)
การแสวงหาความปลอดภัยในพระนามของพระเจ้าหมายถึงการไว้วางใจพระยะโฮวานั่นเอง. (บทเพลงสรรเสริญ 20:1; 122:4) ทั้งนี้หมายถึงการสนับสนุนพระบรมเดชานุภาพของพระองค์, เชิดชูข้อกฎหมายและหลักการของพระองค์, มีความเชื่อในคำสัญญาต่าง ๆ ของพระองค์, และถวายความเลื่อมใสโดยเฉพาะแด่พระองค์. (ยะซายา 50:10; เฮ็บราย 11:6)—1/9 หน้า 10.
▫ วิธีที่เปาโลให้คำพยานแก่ผู้มีตำแหน่งสูงเป็นตัวอย่างสำหรับพวกเราอย่างไร?
เมื่อให้การต่อกษัตริย์อะฆะริปา เปาโลใช้ความสุขุมรอบคอบ ท่านเน้นจุดที่ท่านและอะฆะริปาเห็นพ้องกัน. เช่นเดียวกัน เราพึงเน้นด้านบวกของข่าวดีและย้ำถึงความหวังที่ต่างฝ่ายก็มีด้วยกัน. (1 โกรินโธ 9:22)—1/9 หน้า 31.
▫ ใครได้ประโยชน์จากความอดกลั้นพระทัยของพระยะโฮวา?
เนื่องด้วยความอดทนของพระยะโฮวา เวลานี้มีอีกหลายล้านคนกำลังได้รับโอกาสจะรอดผ่าน “วันของพระยะโฮวา.” (2 เปโตร 3:9-15) ความอดทนของพระองค์ยังทำให้เราแต่ละคนจะ “อุตส่าห์ประพฤติให้ความรอดของตนบริบูรณ์ด้วยความเกรงกลัวตัวสั่น” ด้วย. (ฟิลิปปอย 2:12)—15/9 หน้า 20.
▫ คัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลเซปตัวจินต์ มีคุณค่าอย่างไร?
คัมภีร์ฉบับแปลเซปตัวจินต์ มีบทบาทโดดเด่นในการแพร่กระจายความรู้เรื่องพระยะโฮวาพระเจ้าและราชอาณาจักรของพระองค์ซึ่งมีพระเยซูคริสต์ปกครองเป็นกษัตริย์. โดยทางคัมภีร์ฉบับแปลเซปตัวจินต์ นี่เอง ได้มีการวางพื้นฐานที่สำคัญไว้สำหรับชาวยิวที่พูดภาษากรีกและชาวต่างชาติในศตวรรษแรกที่จะตอบรับข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร.—15/9 หน้า 30.
▫ อุทาหรณ์เรื่องบุตรสุรุ่ยสุร่ายสอนอะไรแก่เราเกี่ยวกับพระเจ้า?
ประการแรก เรื่องนี้สอนเราว่าพระยะโฮวา “ทรงเมตตาและอุดมด้วยพระคุณ ช้าในการโกรธและบริบูรณ์ด้วยความรักกรุณาและความจริง.” (เอ็กโซโด 34:6, ล.ม.) ประการที่สอง พระองค์ “พร้อมจะให้อภัย” หากว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพหัวใจแสดงหลักฐานว่าควรจะได้รับการเผื่อแผ่ความเมตตา. (บทเพลงสรรเสริญ 86:5, ล.ม.)—1/10 หน้า 12, 13.
▫ สภาพสงบสุขตามคำสัญญาในยะซายา 65:21-25 จะเป็นจริงเมื่อไร?
ในฐานะผู้นมัสการของพระยะโฮวาที่เป็นเอกภาพอยู่ในอุทยานฝ่ายวิญญาณทุกวันนี้ บรรดาผู้ถูกเจิมและคนเหล่านั้นที่เป็น “แกะอื่น” ต่างก็กำลังประสบสันติสุขที่พระเจ้าประทาน. (โยฮัน 10:16) และสันติสุขดังกล่าวจะแผ่เข้าไปถึงอุทยานธรรมชาติ เมื่อ ‘พระทัยประสงค์ของพระเจ้าได้มาสำเร็จทั่วทั้งแผ่นดินโลก ดังสำเร็จแล้วในสวรรค์.’ ตอนนั้นแหละ ถ้อยคำแห่งผู้พยากรณ์ยะซายาจะเป็นจริงครบถ้วนทุกประการ. (มัดธาย 6:10)—15/10 หน้า 24.
▫ ทำไมคริสเตียนฉลองวันครบรอบการสมรสแต่ไม่ฉลองวันเกิด?
คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้กล่าวถึงการสมรสในแง่ไม่ดี. เป็นเรื่องส่วนตัวโดยสิ้นเชิงว่าคริสเตียนจะเลือกฉลองหรือไม่ฉลองวันครบรอบแต่งงาน เพื่อระลึกถึงโอกาสความชื่นชมยินดีในเหตุการณ์นั้น และความตั้งใจของเขาที่จะมุ่งความสำเร็จฐานะเป็นคู่สามีภรรยา. อย่างไรก็ตาม การฉลองวันเกิดตามบันทึกของคัมภีร์ไบเบิลเป็นการฉลองของชาวนอกรีตทั้งนั้น และการฉลองดังกล่าวเชื่อมโยงกับความโหดร้ายทารุณ.—15/10 หน้า 30, 31.
▫ ในอุทาหรณ์ของเปาโลที่บันทึกใน 1 โกรินโธ 3:12, 13 นั้น “ไฟ” หมายถึงอะไร และคริสเตียนทุกคนควรสำนึกถึงอะไร?
มีไฟอย่างหนึ่งที่เราทุกคนเผชิญในชีวิต นั่นคือการทดสอบความเชื่อของเรา. (โยฮัน 15:20; ยาโกโบ 1:2, 3) ทุกคนที่เราสอนความจริงแก่เขาจะถูกทดสอบ. หากเราสอนไม่ดี ผลก็อาจเป็นเรื่องน่าเศร้า อย่างที่เปาโลได้เตือนไว้. (1 โกรินโธ 3:15)—1/11 หน้า 11.
▫ โดยวิธีใดโนฮาได้ “ดำเนินกับพระเจ้า” องค์เที่ยงแท้? (เยเนซิศ 6:9)
โนฮาดำเนินกับพระเจ้าโดยกระทำสิ่งที่พระเจ้าตรัสสั่งให้ท่านทำ. เนื่องจากโนฮาได้อุทิศชีวิตของตนที่จะทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้า ท่านจึงมีสัมพันธภาพอันอบอุ่นและใกล้ชิดกับพระเจ้า.—15/11 หน้า 10.
▫ การที่เราไม่ทราบเวลาแน่นอนที่พระเจ้าจะทำลายระบบชั่ว จึงเป็นโอกาสที่เราจะทำอะไร?
ทั้งนี้ทำให้เรามีโอกาสพิสูจน์ว่าเรารักพระยะโฮวาอย่างแท้จริง และต้องการดำเนินในแนวทางของพระองค์ตลอดไป. เรื่องนี้ยังแสดงว่าเราภักดีต่อพระเจ้าและไว้วางใจแนวทางของพระองค์ที่จะจัดการกับเรื่องราวต่าง ๆ. ยิ่งกว่านั้น ยังกระตุ้นเราให้เข้มแข็งและตื่นตัวฝ่ายวิญญาณอยู่เสมอ. (มัดธาย 24:42-44)—15/11 หน้า 18.
▫ ที่จะแสดงความเชื่อ “ในพระนามพระบุตรของพระเจ้า” หมายความอย่างไร? (1 โยฮัน 5:13)
ข้อนี้หมายถึงการเชื่อฟังพระบัญชาทั้งสิ้นของพระคริสต์ รวมถึงพระบัญชาให้ “รักซึ่งกันและกัน.” (โยฮัน 15:14, 17) ความรักย่อมแสวงจะทำดีต่อผู้อื่น ขจัดอคติด้านเชื้อชาติ, ศาสนา, และสังคม.—1/12 หน้า 7.
▫ ทำไมพยานพระยะโฮวา “ตกเป็นเป้าความเกลียดชัง”? (มัดธาย 10:22, ล.ม.)
พยานพระยะโฮวาเป็นที่เกลียดชังอย่างไม่เป็นธรรมด้วยเหตุผลอย่างเดียวกันกับที่คริสเตียนยุคแรกถูกกดขี่. ประการแรก พยานพระยะโฮวาปฏิบัติตามความเชื่อทางศาสนาของตนในแนวทางซึ่งไม่เป็นที่นิยมชมชอบสำหรับบางคน. ประการที่สอง เขาตกเป็นเป้าการกล่าวหาเท็จ—การโกหกที่ปราศจากความจริง และการพูดถึงความเชื่อของเขาในลักษณะที่บิดเบือน.—1/12 หน้า 14.