คริสเตียนสะท้อนสง่าราศีของพระยะโฮวา
“ตาของท่านทั้งหลายก็เป็นสุขเพราะได้เห็น, และหูของท่านก็เป็นสุขเพราะได้ยิน.”—มัดธาย 13:16.
1. เกิดคำถามอะไรขึ้นมาเกี่ยวกับปฏิกิริยาของชาวอิสราเอลที่มีต่อโมเซ ณ ภูเขาไซนาย?
ชาวอิสราเอลที่ชุมนุมกันตรงภูเขาไซนายนั้นมีเหตุผลทุกประการที่จะเข้าใกล้พระยะโฮวา. ทั้งนี้ก็เนื่องจากก่อนหน้านี้ พระองค์ได้ปลดปล่อยพวกเขาให้พ้นจากอียิปต์ด้วยพระหัตถ์อันทรงฤทธิ์. พระองค์ทรงเอาใจใส่ดูแลความจำเป็นของพวกเขา จัดให้มีอาหารและน้ำขณะอยู่ในถิ่นทุรกันดาร. ต่อจากนั้น พระองค์ทรงช่วยพวกเขาให้ชนะกองทัพชาติอะมาเลคที่เข้ามาโจมตี. (เอ็กโซโด 14:26-31; 16:2–17:13) เมื่อชาวอิสราเอลตั้งค่ายในถิ่นทุรกันดารตรงเชิงเขาไซนาย พวกเขากลัวฟ้าแลบฟ้าร้องกันจนตัวสั่น. ต่อมา พวกเขาเห็นโมเซลงมาจากภูเขาไซนาย ใบหน้าของท่านสะท้อนพระรัศมีของพระยะโฮวา. แต่แทนที่จะตอบสนองด้วยความรู้สึกพิศวงและชื่นชมที่ได้เห็นพระรัศมีนั้น พวกเขากลับถอยห่าง. พวกเขา “กลัวไม่กล้าเข้ามาใกล้ [โมเซ].” (เอ็กโซโด 19:10-19; 34:30) ทำไมพวกเขาถึงกลัวที่จะมองดูแสงสะท้อนแห่งพระรัศมีของพระยะโฮวาผู้ทรงทำมากมายหลายอย่างเพื่อพวกเขา?
2. ทำไมชาวอิสราเอลอาจกลัวที่จะมองดูพระรัศมีของพระเจ้าที่โมเซสะท้อน?
2 เป็นไปได้ว่าที่ชาวอิสราเอลมีความกลัวในครั้งนี้ส่วนใหญ่คงเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ได้เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น. เมื่อชาวอิสราเอลเจตนาไม่เชื่อฟังพระยะโฮวาด้วยการสร้างรูปโคทองคำ พระองค์ทรงตีสอนพวกเขา. (เอ็กโซโด 32:4, 35) พวกเขาเรียนรู้จากการตีสอนของพระยะโฮวาและสำนึกบุญคุณที่ได้รับการตีสอนนั้นไหม? ส่วนใหญ่ในพวกเขาไม่. ในบั้นปลายชีวิต โมเซย้อนระลึกถึงเหตุการณ์คราวที่มีการสร้างรูปโคทองคำรวมถึงกรณีอื่น ๆ ที่ชาวอิสราเอลไม่เชื่อฟังพระยะโฮวา. ท่านกล่าวแก่ชาวอิสราเอลว่า “เจ้าทั้งหลาย . . . ได้กบฏต่อคำรับสั่งของพระยะโฮวาพระเจ้าของเจ้า, มิได้เชื่อพระองค์, มิได้ฟังคำตรัสของพระองค์. เจ้าทั้งหลายเป็นคนกบฏต่อพระยะโฮวาตั้งแต่วันแรกเราได้รู้จักเจ้าทั้งหลาย.”—พระบัญญัติ 9:15-24.
3. โมเซทำเช่นไรในเรื่องการปิดคลุมหน้า?
3 ขอพิจารณาว่าโมเซทำอย่างไรเมื่อเห็นชาวอิสราเอลกลัว. เรื่องราวบอกว่า “เมื่อท่านประกาศแล้วก็ได้ใช้ผ้าคลุมหน้าไว้. แต่เมื่อโมเซเข้าไปเฝ้าทูลพระยะโฮวา [ในพลับพลา], ท่านก็ปลดผ้านั้นเสียจนกว่าจะกลับออกมา; แล้วท่านได้ออกมาเล่าให้พวกยิศราเอลฟังตามที่ท่านได้รับคำสั่งมาแล้วนั้น. และพวกยิศราเอลได้เห็นหน้าของโมเซมีแสงรัศมี; ฝ่ายโมเซได้ใช้ผ้าคลุมหน้าท่านไว้อีกจนกว่าจะได้เข้าไปทูลพระองค์.” (เอ็กโซโด 34:33-35) ทำไมโมเซจึงปิดคลุมหน้าเป็นครั้งคราว? เราเรียนอะไรได้จากเรื่องนี้? คำตอบสำหรับคำถามเหล่านี้จะช่วยเราให้ตรวจสอบสัมพันธภาพที่ตัวเราเองมีกับพระยะโฮวา.
ปล่อยให้โอกาสผ่านไป
4. อัครสาวกเปาโลเผยความหมายของการปิดคลุมหน้าของโมเซไว้ว่าอย่างไร?
4 อัครสาวกเปาโลอธิบายว่าการที่โมเซปิดคลุมหน้านั้นเกี่ยวข้องกับสภาพของจิตใจและหัวใจของชาวอิสราเอล. เปาโลเขียนว่า ‘พวกยิศราเอลจะแลดูหน้าของโมเซไม่ได้เพราะรัศมีของท่าน . . . ใจของพวกเขาแข็งกะด้างไป.’ (2 โกรินโธ 3:7, 14) ช่างน่าเสียดายจริง ๆ! ชาวอิสราเอลเป็นชนชาติที่พระยะโฮวาเลือกไว้เป็นพิเศษ และพระองค์ปรารถนาให้พวกเขาเข้าใกล้พระองค์. (เอ็กโซโด 19:4-6) กระนั้น พวกเขากลับไม่อยากจะได้เห็นแสงสะท้อนจากพระรัศมีของพระเจ้า. แทนที่พวกเขาจะหันจิตใจและหัวใจมาหาพระยะโฮวาด้วยความเลื่อมใสที่มาจากความรักต่อพระองค์ พวกเขาทำเหมือนกับว่าหันหน้าหนีไปจากพระองค์.
5, 6. (ก) มีความคล้ายคลึงกันอย่างไรระหว่างชาวยิวในศตวรรษแรกกับชาติอิสราเอลในสมัยของโมเซ? (ข) มีความแตกต่างอะไรระหว่างผู้ที่รับฟังพระเยซูกับผู้ที่ไม่รับฟัง?
5 ในแง่นี้ เราพบว่ามีความคล้ายคลึงกันกับในศตวรรษแรกแห่งสากลศักราช. ตอนที่เปาโลเปลี่ยนศาสนาเข้ามาเป็นคริสเตียนนั้น สัญญาไมตรีแห่งพระบัญญัติถูกแทนที่แล้วด้วยสัญญาใหม่ที่มีพระเยซูคริสต์ ผู้ใหญ่ยิ่งกว่าโมเซ เป็นคนกลาง. พระเยซูสะท้อนสง่าราศีของพระยะโฮวาได้อย่างสมบูรณ์แบบทั้งในคำพูดและการกระทำ. เปาโลเขียนเกี่ยวกับพระเยซูผู้คืนพระชนม์ว่า “พระบุตรทรงเป็นผู้ที่สะท้อนสง่าราศีของพระเจ้าและเป็นผู้ถอดแบบมาจากพระเจ้าอย่างไม่ผิดเพี้ยน.” (เฮ็บราย 1:3, ล.ม.) ชาวยิวมีโอกาสอันดีเยี่ยมสักเพียงไร! พวกเขาสามารถฟังถ้อยคำเกี่ยวกับชีวิตนิรันดร์จากพระบุตรของพระเจ้าโดยตรง! น่าเศร้าใจ ชาวยิวส่วนใหญ่ที่พระเยซูประกาศแก่พวกเขานั้นไม่ยอมรับฟังพระองค์. เกี่ยวกับคนเหล่านี้ พระเยซูยกคำตรัสของพระยะโฮวาที่แถลงไว้ล่วงหน้าผ่านทางยะซายาว่า “ใจของคนเหล่านี้ก็แข็งกะด้าง, หูก็ตึง, และตาเขาก็หลับเสีย, กลัวเกลือกว่าจะได้เห็นด้วยตา, และจะได้ยินกับหู, และจะได้เข้าใจ, แล้วจะได้กลับใจเสียใหม่, และเราจะได้รักษาเขาให้หาย.”—มัดธาย 13:15; ยะซายา 6:9, 10.
6 มีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดระหว่างชาวยิวเหล่านี้กับสาวกของพระเยซูซึ่งพระองค์ตรัสถึงพวกเขาว่า “ตาของท่านทั้งหลายก็เป็นสุขเพราะได้เห็น, และหูของท่านก็เป็นสุขเพราะได้ยิน.” (มัดธาย 13:16) คริสเตียนแท้ปรารถนาจะเรียนรู้เกี่ยวกับพระยะโฮวาและรับใช้พระองค์. พวกเขายินดีที่จะทำตามพระทัยประสงค์ของพระองค์ ดังที่มีเปิดเผยไว้ในคัมภีร์ไบเบิล. ผลก็คือ คริสเตียนผู้ถูกเจิมสะท้อนสง่าราศีของพระยะโฮวาในงานรับใช้แห่งสัญญาใหม่ และชนจำพวกแกะอื่นก็ทำคล้ายกันนั้น.—2 โกรินโธ 3:6, 18.
เหตุที่ข่าวดีถูกปิดคลุมไว้
7. เหตุใดจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ตอบรับข่าวดี?
7 ดังที่เราได้เห็นแล้ว ชาวอิสราเอลส่วนใหญ่ทั้งในสมัยของพระเยซูและในสมัยของโมเซไม่ตอบรับโอกาสอันพิเศษสุดที่เปิดออกแก่พวกเขา. ในสมัยของเราก็คล้ายกัน. ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ตอบรับข่าวดีที่เราประกาศ. เรื่องนี้ไม่ได้ทำให้เราแปลกใจ. เปาโลเขียนว่า “บัดนี้ถ้าข่าวดีที่เราประกาศถูกปิดคลุมไว้จริง ๆ ข่าวนี้ก็ถูกปิดคลุมไว้ท่ามกลางผู้ซึ่งกำลังพินาศในท่ามกลางพวกเขา ซึ่งพระเจ้าของระบบนี้ได้ทำให้จิตใจของคนที่ไม่เชื่อมืดไป.” (2 โกรินโธ 4:3, 4, ล.ม.) นอกจากความพยายามของซาตานในการปิดซ่อนข่าวดีแล้ว หลายคนก็ยังปิดหน้าของตัวเองเพราะพวกเขาไม่ต้องการจะเห็น.
8. ในทางใดที่หลายคนตามืดบอดเพราะความไม่รู้ และเราจะป้องกันไม่ให้ตัวเองตกอยู่ในสภาพเช่นนั้นได้อย่างไร?
8 ตาโดยนัยของหลายคนมืดบอดไปเพราะความไม่รู้. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงผู้คนในชาติต่าง ๆ ที่ “ความคิดของเขามืดไป, และเขาอยู่ห่างจากชีวิตซึ่งมาจากพระเจ้าเพราะเหตุความโง่ [“ความไม่รู้,” ฉบับแปลใหม่] ซึ่งอยู่ในตัวเขา.” (เอเฟโซ 4:18) ก่อนเข้ามาเป็นคริสเตียน เปาโลผู้ซึ่งมีความรู้ดีในพระบัญญัติ ตามืดบอดไปด้วยความไม่รู้ถึงขนาดที่ข่มเหงประชาคมของพระเจ้า. (1 โกรินโธ 15:9) ถึงกระนั้น พระยะโฮวาก็ยังเปิดเผยความจริงแก่ท่าน. เปาโลอธิบายว่า “เพราะเหตุนี้เองข้าพเจ้าจึงได้รับพระกรุณา, คือว่าเพื่อพระเยซูคริสต์จะได้ทรงสำแดงความอดกลั้นพระทัยทุกอย่างให้เห็นในตัวข้าพเจ้าซึ่งเป็นตัวเอ้นั้น, ให้เป็นแบบแผนแก่คนทั้งปวงที่ภายหลังจะเชื่อในพระองค์, จึงจะได้ชีวิตนิรันดร์.” (1 ติโมเธียว 1:16) เช่นเดียวกับเปาโล หลายคนที่เมื่อก่อนเคยต่อต้านความจริงของพระเจ้านั้นบัดนี้กำลังรับใช้พระองค์. นี่เป็นเหตุผลที่ดีอย่างหนึ่งที่เราควรให้คำพยานต่อ ๆ ไปแม้แต่กับคนที่ต่อต้านเรา. ในขณะเดียวกัน โดยการที่เราศึกษาพระคำของพระเจ้าเป็นประจำและเข้าใจความหมาย เราได้รับการป้องกันไม่ให้ทำอะไรผิด ๆ ด้วยความไม่รู้ ซึ่งจะยังผลให้พระยะโฮวาไม่พอพระทัย.
9, 10. (ก) ชาวยิวในศตวรรษแรกแสดงให้เห็นโดยวิธีใดว่าพวกเขาไม่ต้องการเรียนรู้และยังยึดมั่นในความคิดเห็นของตนเอง? (ข) มีความคล้ายคลึงกันนั้นไหมในคริสต์ศาสนจักรทุกวันนี้? จงอธิบาย.
9 หลายคนไม่สามารถเข้าใจเรื่องฝ่ายวิญญาณเนื่องจากพวกเขาไม่ต้องการเรียนรู้ อีกทั้งยังยึดมั่นในความคิดเห็นของตนเอง. ชาวยิวหลายคนปฏิเสธพระเยซูและคำสอนของพระองค์เพราะพวกเขายึดแน่นอย่างดื้อรั้นกับพระบัญญัติของโมเซ. แน่นอน ก็ใช่ว่าจะเป็นอย่างนั้นเสมอไป. ตัวอย่างเช่น หลังจากพระเยซูคืนพระชนม์ “ปุโรหิตจำนวนมากเริ่มปฏิบัติตามความเชื่อนั้น.” (กิจการ 6:7, ล.ม.) กระนั้น เปาโลเขียนเกี่ยวกับชาวยิวส่วนใหญ่ว่า “จนถึงทุกวันนี้ เมื่อใดก็ตามที่มีการอ่านหนังสือของโมเซ มีผ้าคลุมหัวใจพวกเขาอยู่.” (2 โกรินโธ 3:15, ล.ม.) เปาโลคงรู้สิ่งที่พระเยซูเคยตรัสกับพวกผู้นำศาสนาชาวยิวที่ว่า “เจ้าทั้งหลายค้นดูพระคัมภีร์ เพราะเจ้าคิดว่าโดยทางพระคัมภีร์เจ้าจะมีชีวิตนิรันดร์; และพระคัมภีร์นั้นแหละเป็นพยานถึงเรา.” (โยฮัน 5:39, ล.ม.) พระคัมภีร์ที่พวกเขาค้นดูอย่างถี่ถ้วนนั้นน่าจะช่วยพวกเขาให้มองออกว่าพระเยซูคือพระมาซีฮา. ทว่าชาวยิวเหล่านี้มีความคิดเป็นของตนเอง และแม้แต่พระบุตรของพระเจ้าผู้ทำการอัศจรรย์ก็ไม่สามารถเปลี่ยนความคิดพวกเขาได้.
10 เรื่องนี้เป็นจริงกับหลายคนในคริสต์ศาสนจักรทุกวันนี้. เช่นเดียวกับชาวยิวในศตวรรษแรก “พวกเขามีใจแรงกล้าเพื่อพระเจ้า; แต่หาเป็นไปตามความรู้ถ่องแท้ไม่.” (โรม 10:2, ล.ม.) แม้ว่าบางคนศึกษาคัมภีร์ไบเบิล แต่พวกเขาไม่ต้องการจะเชื่อสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลกล่าว. พวกเขาไม่ยอมรับว่าพระยะโฮวาทรงสอนประชาชนของพระองค์โดยทางชนชั้นทาสสัตย์ซื่อและสุขุมแห่งเหล่าคริสเตียนผู้ถูกเจิม. (มัดธาย 24:45, ล.ม.) แต่พวกเรามองออกว่าพระยะโฮวากำลังสอนประชาชนของพระองค์และเราเห็นว่าความเข้าใจของเราเกี่ยวกับความจริงเรื่องพระเจ้าก็เพิ่มขึ้นอยู่เสมอ. (สุภาษิต 4:18) โดยการยอมให้พระยะโฮวาสอนเรา เราจึงได้รับความรู้เกี่ยวกับพระทัยประสงค์และจุดมุ่งหมายของพระองค์.
11. การเลือกเชื่อเฉพาะแต่สิ่งที่อยากเชื่อมีส่วนทำให้ความจริงถูกปิดซ่อนไว้อย่างไร?
11 ส่วนคนอื่น ๆ ก็ตามืดบอดไปเพราะพวกเขาเชื่อเฉพาะในสิ่งที่ตนประสงค์จะเชื่อเท่านั้น. มีการบอกไว้ล่วงหน้าว่าบางคนจะเยาะเย้ยประชาชนของพระเจ้าและข่าวสารที่พวกเขาประกาศในเรื่องการประทับของพระเยซู. อัครสาวกเปโตรเขียนว่า “ตามความประสงค์ของเขา ข้อเท็จจริงเรื่องนี้พ้นจากการสังเกตของเขา” ที่ว่าพระเจ้าบันดาลให้น้ำมาท่วมทำลายโลกสมัยโนฮา. (2 เปโตร 3:3-6, ล.ม.) ในทำนองเดียวกัน หลายคนที่อ้างว่าเป็นคริสเตียนพร้อมจะยอมรับว่าพระยะโฮวาทรงสำแดงความเมตตากรุณาและทรงให้อภัย กระนั้น พวกเขาเพิกเฉยหรือไม่ยอมรับข้อเท็จจริงที่ว่าพระองค์ไม่ทรงละเว้นการลงโทษ. (เอ็กโซโด 34:6, 7) คริสเตียนแท้พยายามอย่างจริงจังที่จะเข้าใจสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลสอนจริง ๆ.
12. ธรรมเนียมทางศาสนาปิดตาผู้คนอย่างไร?
12 หลายคนที่ไปโบสถ์ถูกทำให้ตามืดบอดไปโดยธรรมเนียม. พระเยซูตรัสแก่ผู้นำศาสนาในสมัยของพระองค์ว่า “เจ้าทั้งหลายทำลายพระบัญญัติของพระเจ้าด้วยคำสอน [“ธรรมเนียม,” ล.ม.] ของพวกเจ้า.” (มัดธาย 15:6) ชาวยิวได้ฟื้นฟูการนมัสการบริสุทธิ์ขึ้นด้วยใจแรงกล้าหลังกลับจากการเป็นเชลยในบาบิโลน กระนั้น พวกปุโรหิตได้กลายเป็นคนที่ทะนงตนและถือว่าตัวเองชอบธรรม. เทศกาลทางศาสนากลายเป็นเรื่องพิธีรีตอง โดยปราศจากความเคารพนับถือพระเจ้าอย่างแท้จริง. (มาลาคี 1:6-8) พอถึงสมัยของพระเยซู พวกอาลักษณ์และฟาริซายได้เพิ่มธรรมเนียมทางศาสนาอีกนับไม่ถ้วนเข้ากับพระบัญญัติของโมเซ. พระเยซูเปิดโปงคนเหล่านี้ว่าหน้าซื่อใจคดเพราะพวกเขาไม่คำนึงถึงหลักการที่ชอบธรรมอันเป็นพื้นฐานของพระบัญญัติ. (มัดธาย 23:23, 24) คริสเตียนแท้ต้องระวังไม่ยอมให้ธรรมเนียมทางศาสนาที่มนุษย์ตั้งขึ้นมาทำให้พวกเขาหันเหไปจากการนมัสการแท้.
“เห็นพระองค์ผู้ไม่ทรงปรากฏแก่ตา”
13. ในสองทางอะไรที่โมเซเห็นพระรัศมีของพระเจ้าอยู่บ้าง?
13 โมเซทูลขอให้ท่านได้เห็นพระรัศมีของพระเจ้าที่ภูเขาไซนาย และท่านได้เห็นแสงแห่งพระรัศมีของพระยะโฮวาที่คงค้างอยู่. เมื่อท่านเข้าไปในพลับพลา ท่านไม่ปิดคลุมหน้า. โมเซเป็นบุรุษผู้มีความเชื่อมากอย่างยิ่งซึ่งปรารถนาจะทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้า. แม้ว่าท่านมีโอกาสได้เห็นพระรัศมีของพระยะโฮวาอยู่บ้างด้วยตาของท่าน แต่ในแง่หนึ่งท่านก็ได้เห็นพระเจ้าแล้วด้วยตาแห่งความเชื่อ. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่าโมเซ “มั่นใจอยู่เหมือนหนึ่งเห็นพระองค์ผู้ไม่ทรงปรากฏแก่ตา.” (เฮ็บราย 11:27; เอ็กโซโด 34:5-7) และท่านสะท้อนพระรัศมีของพระเจ้าไม่เพียงแต่โดยแสงที่เปล่งออกจากใบหน้าของท่านในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น แต่โดยที่ท่านพยายามช่วยให้ชาวอิสราเอลได้มารู้จักพระยะโฮวาและรับใช้พระองค์อีกด้วย.
14. พระเยซูทรงเห็นพระรัศมีของพระเจ้าโดยทางใด และพระองค์พอใจยินดีกับอะไร?
14 ในสวรรค์ พระเยซูได้เห็นพระรัศมีของพระเจ้าโดยตรงเป็นเวลานานเหลือที่จะกล่าวได้ ตั้งแต่ก่อนที่เอกภพจะถูกสร้างขึ้นด้วยซ้ำ. (สุภาษิต 8:22, 30) ตลอดช่วงเวลานั้น พระยะโฮวากับพระเยซูได้พัฒนาสัมพันธภาพที่เปี่ยมด้วยความรักและความรักใคร่อย่างลึกซึ้งต่อกัน. พระยะโฮวาพระเจ้าแสดงความรักและความรักใคร่อันอ่อนละมุนที่สุดต่อพระบุตรผู้นี้ซึ่งบังเกิดก่อนสิ่งทรงสร้างทั้งปวง. พระเยซูทรงตอบแทนพระบิดาโดยแสดงให้เห็นความรักและความรักใคร่อันลึกซึ้งต่อพระเจ้าผู้ประทานชีวิตแก่พระองค์. (โยฮัน 14:31; 17:24) ความรักของพระองค์ทั้งสองเป็นความรักที่สมบูรณ์แบบระหว่างบิดากับบุตร. เช่นเดียวกับโมเซ พระเยซูรู้สึกพอใจยินดีที่จะสะท้อนสง่าราศีของพระยะโฮวาในสิ่งต่าง ๆ ที่พระองค์ทรงสอน.
15. คริสเตียนพินิจพิจารณาสง่าราศีของพระเจ้าโดยวิธีใด?
15 เช่นเดียวกับโมเซและพระเยซู เหล่าพยานของพระเจ้าในยุคปัจจุบันบนแผ่นดินโลกปรารถนาอย่างยิ่งที่จะได้พินิจพิจารณาสง่าราศีของพระยะโฮวา. พวกเขาไม่หันหนีจากข่าวดีอันรุ่งโรจน์. อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “เมื่อผู้คนหันกลับมาหาพระยะโฮวา [เพื่อจะทำตามพระทัยประสงค์ของพระองค์] ผ้าคลุมนั้นก็ถูกเอาออกไป.” (2 โกรินโธ 3:16, ล.ม.) เราศึกษาพระคัมภีร์เพราะเราอยากจะทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้า. เราชื่นชมสง่าราศีที่สะท้อนบนพระพักตร์พระเยซูคริสต์ผู้เป็นพระบุตรและกษัตริย์ที่ได้รับการแต่งตั้งของพระยะโฮวา และเราเลียนแบบอย่างพระเยซู. เช่นเดียวกับโมเซและพระเยซู เราได้รับมอบหมายงานรับใช้ให้สอนคนอื่น ๆ เกี่ยวกับพระเจ้าผู้ทรงสง่าราศีที่เรานมัสการ.
16. เราได้ประโยชน์อะไรจากการรู้จักความจริง?
16 พระเยซูอธิษฐานว่า “โอพระบิดา . . . ข้าพเจ้าขอบพระคุณพระองค์ เพราะว่าพระองค์ได้ทรงซ่อนสิ่งเหล่านี้ไว้จากผู้มีปัญญาและผู้ฉลาด, แต่ได้สำแดงให้ลูกอ่อนรู้.” (มัดธาย 11:25) พระยะโฮวาทรงประทานความเข้าใจในเรื่องพระประสงค์และบุคลิกลักษณะของพระองค์แก่คนที่บริสุทธิ์ใจและใจถ่อม. (1 โกรินโธ 1:26-28) เราได้มาอยู่ภายใต้การปกป้องดูแลของพระองค์ และพระองค์สอนเราถึงวิธีใช้ชีวิตอย่างที่จะเกิดประโยชน์มากที่สุด. ขอให้เราใช้ประโยชน์จากทุกโอกาสที่จะเข้าใกล้พระยะโฮวา และหยั่งรู้ค่าต่อการจัดเตรียมต่าง ๆ มากมายของพระองค์ที่ช่วยเราได้มารู้จักพระองค์ดียิ่งขึ้น.
17. เราจะรู้จักคุณลักษณะของพระยะโฮวาให้มากยิ่งขึ้นได้อย่างไร?
17 เปาโลเขียนถึงคริสเตียนผู้ถูกเจิมดังนี้: “เราไม่มีผ้าคลุมหน้าก็สะท้อนพระรัศมีของพระยะโฮวาเสมือนกระจก [และ] ถูกเปลี่ยนแปลงให้เป็นภาพเดียวกันจากสง่าราศีไปสู่สง่าราศีไม่ผิดเพี้ยน.” (2 โกรินโธ 3:18, ล.ม.) ไม่ว่าเราจะมีความหวังที่จะอยู่ในสวรรค์หรือบนแผ่นดินโลก ยิ่งเราได้มารู้จักพระยะโฮวา รู้จักคุณลักษณะและบุคลิกลักษณะของพระองค์ตามที่มีเผยไว้ในคัมภีร์ไบเบิลมากขึ้นเท่าใด เราก็จะกลายเป็นบุคคลที่เหมือนกับพระองค์มากขึ้นเท่านั้น. ถ้าเราพินิจพิจารณาชีวิต, งานรับใช้, และคำสอนของพระเยซูคริสต์ด้วยความสำนึกบุญคุณ เราจะสะท้อนคุณลักษณะของพระยะโฮวาอย่างเต็มที่ยิ่งขึ้น. ช่างน่ายินดีสักเพียงไรที่รู้ว่า โดยการทำเช่นนั้น เรานำคำสรรเสริญมาสู่พระเจ้าของเรา ผู้ซึ่งเราพยายามจะสะท้อนสง่าราศีของพระองค์!
คุณจำได้ไหม?
• ทำไมชาวอิสราเอลจึงกลัวที่จะมองดูพระรัศมีของพระเจ้าที่โมเซสะท้อน?
• ในทางใดบ้างที่ข่าวดีถูก “ปิดคลุม” ในสมัยศตวรรษแรก? ในสมัยของเรา?
• เราสะท้อนสง่าราศีของพระเจ้าโดยวิธีใด?
[ภาพหน้า 19]
พวกอิสราเอลแลดูหน้าโมเซไม่ได้
[ภาพหน้า 21]
เช่นเดียวกับเปาโล หลายคนที่เคยต่อต้านความจริงของพระเจ้า บัดนี้กำลังรับใช้พระองค์
[ภาพหน้า 23]
ผู้รับใช้พระยะโฮวารู้สึกยินดีที่จะสะท้อนสง่าราศีของพระเจ้า