สภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออกทางเทววิทยา
“แนวความคิดในเรื่องจิตวิญญาณเป็นอมตะและความเชื่อในเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตาย . . . เป็นสองแนวความคิดที่เห็นได้ชัดว่าต่างกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งจำต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง.” คำพูดเหล่านี้ของฟิลิป เมนู สรุปสภาพที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกที่นักเทววิทยาฝ่ายโปรเตสแตนต์ และคาทอลิกเผชิญเกี่ยวกับสภาพของคนตาย. คัมภีร์ไบเบิลพูดถึงความหวังของการปลุกให้เป็นขึ้นจากตาย “ในวันสุดท้าย.” (โยฮัน 6:39, 40, 44, 54, ล.ม.) แต่ความหวังของผู้เชื่อถือหลายคน ตามที่กิสเบิร์ต เกรชาเก นักเทววิทยากล่าวไว้ “ยึดหลักจิตวิญญาณเป็นอมตะ ซึ่งแยกออกจากร่างเมื่อตายและกลับไปยังพระเจ้า ขณะที่ความหวังในเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตายนั้น ได้สูญหายไป ถ้าไม่ทั้งหมดก็ส่วนใหญ่.”
เบอร์นาร์ เซบูเอ อธิบายว่า ในสถานการณ์เช่นนั้น เกิดปัญหาที่ยุ่งยากขึ้นที่ว่า “สภาพของคนตายเป็นอย่างไรในช่วง ‘เว้นว่าง’ ระหว่างที่ร่างกายของเขาตายกับการปลุกให้เป็นขึ้นจากตายในที่สุด?” คำถามนี้ดูเหมือนเป็นจุดสำคัญของการถกเถียงทางเทววิทยาในสองสามปีหลังนี้. อะไรนำไปสู่การถกเถียงเช่นนี้? และสำคัญยิ่งกว่านั้น ความหวังอันแท้จริงสำหรับคนตายคืออะไร?
ต้นตอและการขยายตัวของสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก
พวกคริสเตียนรุ่นแรกมีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างชัดแจ้ง. พวกเขาทราบจากพระคัมภีร์ว่า คนตายไม่รู้สึกอะไรเลย เพราะพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูกล่าวดังนี้: “คนเป็นย่อมรู้ว่าเขาเองคงจะตาย, แต่คนตายแล้วก็ไม่รู้อะไรเลย, . . . ไม่มีการงาน, หรือโครงการ, หรือความรู้หรือสติปัญญาในเมืองผี [หลุมฝังศพ, ล.ม., เชิงอรรถ] ที่เจ้าจะไปนั้น.” (ท่านผู้ประกาศ 9:5, 10) คริสเตียนเหล่านั้นหวังการปลุกให้เป็นขึ้นจากตายที่จะมีในระหว่าง “การประทับขององค์พระผู้เป็นเจ้า” ในอนาคต. (1 เธซะโลนิเก 4:13-17) พวกเขาไม่ได้คาดหมายที่จะรู้สึกตัว ณ ที่ใดที่หนึ่งขณะที่เขาคอยเวลานั้น. โยเซฟ ราตซิงเกอร์ ปัจจุบันเป็นหัวหน้าคณะบาทหลวงแห่งวาติกันด้านหลักข้อเชื่อ กล่าวว่า “ไม่มีการรับรองหลักคำสอนเกี่ยวกับจิตวิญญาณเป็นอมตะในคริสตจักรสมัยโบราณ.”
อย่างไรก็ตาม หนังสือ นูออโว ดีซีออนารีโย ดี เทโอลอซีอา อธิบายว่า เมื่ออ่านข้อเขียนต่าง ๆ ของพวกนักเขียนคริสเตียน เช่น ออกัสติน หรือแอมบรอส “เราได้มารู้อะไรใหม่ ๆ เกี่ยวกับคำสอนสืบต่อกันมาด้านคัมภีร์ไบเบิล นั่นคือการปรากฏของแนวคิดแบบกรีกว่าด้วยตอนสิ้นสุดของสิ่งต่าง ๆ ซึ่งต่างกันโดยสิ้นเชิงจากคำสอนของทั้งศาสนายิวและคริสเตียน.” คำสอนใหม่นี้ยึดหลัก “จิตวิญญาณเป็นอมตะ และการถูกพิพากษาเป็นรายบุคคล โดยจะได้รางวัลหรือการลงโทษทันทีหลังจากตาย.” ด้วยเหตุนี้ จึงมีการยกคำถามขึ้นมาเกี่ยวกับ “สภาพระหว่างกลาง” ว่า ถ้าจิตวิญญาณรอดเหลืออยู่จากร่างกายที่ตายแล้ว จะเกิดอะไรขึ้นกับจิตวิญญาณนั้นขณะที่คอยการปลุกให้เป็นขึ้นจากตายใน “วันสุดท้าย”? นี่คือสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออกซึ่งพวกนักเทววิทยาได้เพียรพยายามจะแก้.
ในศตวรรษที่หกสากลศักราช โปป เกรกอรี ที่ 1 อ้างว่าขณะที่ตาย จิตวิญญาณไปยังสถานที่ปลายทางของพวกเขาทันที. โปป จอห์น ที่ 22 แห่งศตวรรษที่ 14 สากลศักราช เชื่อมั่นว่าคนตายจะได้รับรางวัลขั้นสุดท้ายของเขาในวันพิพากษา. อย่างไรก็ตาม โปป เบเนดิกต์ ที่ 12 ได้โต้แย้งกับโปปคนก่อน. ในพระราชกฤษฎีกา เบเนดิกทุซ เดอุซ (ปี 1336) ของโปป เขาประกาศว่า “จิตวิญญาณของผู้ตายเข้าสู่สภาพแห่งความสุขสำราญ [สวรรค์], การชำระล้างบาป [ไฟชำระ], หรือการตัดสินลงโทษ [นรก] ทันทีหลังจากตาย เพียงแต่กลับมาอยู่กับร่างที่ถูกปลุกให้เป็นขึ้นจากตายอีกตอนสิ้นโลกแล้วเท่านั้น.”
ทั้งที่มีการขัดแย้งและการถกเถียงกัน คริสตจักรต่าง ๆ แห่งคริสต์ศาสนจักรได้ยึดมั่นในเรื่องนี้มาเป็นเวลาหลายศตวรรษ แม้ว่าคริสตจักรโปรเตสแตนต์และออร์โทด็อกซ์โดยทั่วไปไม่เชื่อเรื่องไฟชำระ. อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ช่วงท้ายของศตวรรษที่แล้ว ผู้คงแก่เรียนที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นได้นำความสนใจของผู้คนไปยังต้นตอของหลักคำสอนเกี่ยวกับจิตวิญญาณเป็นอมตะที่ไม่เป็นไปตามหลักการของคัมภีร์ไบเบิล และผลที่ตามมาก็คือ “ตอนนี้ เทววิทยาสมัยใหม่มักพยายามมองมนุษย์เป็นหน่วยหนึ่งที่ชีวิตจะสิ้นสุดอย่างสิ้นเชิงด้วยความตาย.” (สารานุกรมเกี่ยวกับศาสนา, ภาษาอังกฤษ) ดังนั้น ผู้วิจารณ์คัมภีร์ไบเบิลพบว่ายากที่จะพิสูจน์ว่า “สภาพระหว่างกลาง” นั้นมีจริง. คัมภีร์ไบเบิลพูดเกี่ยวกับเรื่องนี้ไหม หรือเสนอความหวังที่ต่างออกไปไหม?
เปาโลเชื่อเรื่อง “สภาพระหว่างกลาง” ไหม?
หนังสือคู่มือถามตอบของคริสตจักรคาทอลิก (ภาษาอังกฤษ) กล่าวดังนี้: “ที่จะเป็นขึ้นมากับพระคริสต์ เราต้องตายกับพระคริสต์ เราต้อง ‘ไปจากร่างและอยู่กับองค์พระผู้เป็นเจ้า’. [2 โกรินโธ 5:8] ใน ‘การจากไป’ เช่นนั้น ซึ่งก็คือความตาย จิตวิญญาณถูกแยกออกจากร่าง. [ฟิลิปปอย 1:23] จิตวิญญาณนั้นจะกลับมาอยู่กับร่างอีกในวันที่คนตายถูกปลุกให้เป็นขึ้นจากตาย.” แต่ในข้อคัมภีร์ต่าง ๆ ที่ยกขึ้นมากล่าว ณ ที่นี้ อัครสาวกเปาโลพูดไหมว่าจิตวิญญาณรอดเหลืออยู่จากร่างกายที่ตายแล้ว และครั้นแล้วก็คอย “การพิพากษาครั้งสุดท้าย” เพื่อกลับมาอยู่ร่วมกับร่างนั้นอีก?
ที่ 2 โกรินโธ 5:1 เปาโลพาดพิงถึงความตายของท่านและพูดถึง “เรือนดิน” ที่ถูก “พังทำลายเสีย.” ท่านนึกถึงร่างกายที่ถูกละไว้โดยที่จิตวิญญาณอมตะออกจากร่างไปอย่างนั้นไหม? ไม่. เปาโลเชื่อว่ามนุษย์เป็น จิตวิญญาณ ไม่ใช่ว่าเขามี จิตวิญญาณ. (เยเนซิศ 2:7; 1 โกรินโธ 15:45) เปาโลเป็นคริสเตียนที่ถูกเจิมโดยพระวิญญาณ ความหวังของท่าน เหมือนกับความหวังของพี่น้องในศตวรรษแรก คือถูก ‘สะสมไว้ในสวรรค์.’ (โกโลซาย 1:5; โรม 8:14-18) ดังนั้น ‘ความปรารถนาอันจริงจัง’ ของท่านก็คือที่จะได้รับการปลุกให้เป็นขึ้นจากตายสู่สวรรค์ในฐานะสิ่งทรงสร้างฝ่ายวิญญาณอมตะตามเวลากำหนดของพระเจ้า. (2 โกรินโธ 5:2-4) เมื่อพูดถึงความหวังนี้ ท่านเขียนว่า “เราทุกคนจะถูกเปลี่ยน . . . ในระหว่างการเป่าแตรครั้งสุดท้าย. เพราะแตรจะดังขึ้นและคนตายจะเป็นขึ้นมาสู่สภาพไม่เน่าเปื่อยและเราจะถูกเปลี่ยน.”—1 โกรินโธ 15:51, 52, ล.ม.
ที่ 2 โกรินโธ 5:8 เปาโลกล่าวว่า “เรามีความมั่นใจอยากจะอยู่กับองค์พระผู้เป็นเจ้ามากกว่าอยู่ในร่างกายนี้.” บางคนคิดว่าถ้อยคำเหล่านี้พาดพิงถึงสภาพระหว่างกลางแห่งการคอย. บุคคลดังกล่าวพาดพิงเช่นกันถึงคำสัญญาของพระเยซูที่มีต่อสาวกที่สัตย์ซื่อของพระองค์ว่า พระองค์ไปจัดเตรียมสถานที่แห่งหนึ่งเพื่อจะ ‘รับพวกเขาไปอยู่กับพระองค์’ ในสถานที่นั้น. แต่เมื่อไรล่ะที่ความคาดหวังเช่นนั้นจะเป็นจริง? พระคริสต์ตรัสว่า ความคาดหวังนี้จะเป็นจริงเมื่อพระองค์ ‘มาอีก’ ในการประทับของพระองค์ในอนาคต. (โยฮัน 14:1-3) คล้ายกัน ที่ 2 โกรินโธ 5:1-10 เปาโลกล่าวว่า ความหวังร่วมกันของคริสเตียนผู้ถูกเจิมคือที่จะได้รับที่อยู่ในสวรรค์เป็นมรดก. เรื่องนี้จะเป็นจริง ไม่ใช่โดยทางจิตวิญญาณอมตะตามที่เข้าใจกัน แต่โดยการปลุกให้เป็นขึ้นจากตายระหว่างการประทับของพระคริสต์. (1 โกรินโธ 15:23, 42-44) ชาร์ลส์ มาโซง นักอรรถาธิบายลงความเห็นว่า 2 โกรินโธ 5:1-10 “สามารถเข้าใจได้เป็นอย่างดี โดยไม่ต้องอาศัยสมมุติฐานเกี่ยวกับ ‘สภาพระหว่างกลาง.’”
ที่ฟิลิปปอย 1:21, 23 เปาโลกล่าวดังนี้: “สำหรับข้าพเจ้านั้น การที่มีชีวิตอยู่ก็ได้พระคริสต์, และการที่ตายก็ได้ดีกว่านั้น. แต่ข้าพเจ้าคิดลังเลอยู่ในระหว่างสองฝ่ายนี้ คือว่าข้าพเจ้ามีความปรารถนาจะลาไปอยู่กับพระคริสต์, ซึ่งประเสริฐกว่ามากนัก.” ในที่นี้เปาโลพาดพิงถึง “สภาพระหว่างกลาง” ไหม? บางคนคิดอย่างนั้น. อย่างไรก็ตาม เปาโลกล่าวว่า ท่านอยู่ภายใต้ความกดดันสองทางที่เป็นไปได้คือชีวิตและความตาย. ท่านเสริม โดยกล่าวถึงความเป็นไปได้ประการที่สามว่า “คือว่าข้าพเจ้ามีความปรารถนาจะลาไปอยู่กับพระคริสต์.” “ลา” ไปอยู่กับพระคริสต์ทันทีหลังจากตายไหม? ตามที่กล่าวมาแล้ว เปาโลเชื่อว่า คริสเตียนผู้ถูกเจิมที่สัตย์ซื่อจะได้รับการปลุกให้เป็นขึ้นจากตายระหว่างการประทับของพระคริสต์. ดังนั้น ท่านต้องได้พูดถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ในช่วงเวลานั้น.
เรื่องนี้อาจเห็นได้จากถ้อยคำของท่านที่พบในฟิลิปปอย 3:20, 21 และ 1 เธซะโลนิเก 4:16. การ “ลา” ไปเช่นนั้นระหว่างการประทับของพระเยซูคริสต์จะทำให้เปาโลสามารถรับรางวัลที่พระเจ้าทรงจัดเตรียมไว้สำหรับท่าน. ความจริงที่ว่า เรื่องนี้เป็นความหวังของท่านเห็นได้จากถ้อยคำของท่านที่มีไปถึงชายหนุ่มติโมเธียวที่ว่า “ตั้งแต่นี้ไปมีมงกุฎแห่งความชอบธรรมเก็บไว้สำหรับข้าพเจ้า, ซึ่งองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้พิพากษาอันชอบธรรมจะทรงประทานแก่ข้าพเจ้าในกาลวันนั้น และไม่ใช่แก่ข้าพเจ้าคนเดียว, แต่จะทรงประทานแก่คนทั้งปวงที่มีใจรักยินดีในการที่พระองค์จะเสด็จมาปรากฏนั้น.”—2 ติโมเธียว 4:8.
การปลุกให้เป็นขึ้นจากตาย—ความจริงอันเยี่ยมยอดในคัมภีร์ไบเบิล
คริสเตียนรุ่นแรกพิจารณาถึงการปลุกให้เป็นขึ้นจากตายว่าเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่จะเริ่มระหว่างการประทับของพระคริสต์ และพวกเขาได้รับกำลังและการปลอบประโลมจากความจริงอันเยี่ยมยอดนี้ในคัมภีร์ไบเบิล. (มัดธาย 24:3; โยฮัน 5:28, 29; 11:24, 25; 1 โกรินโธ 15:19, 20; 1 เธซะโลนิเก 4:13) พวกเขาคอยท่าความยินดีที่จะมีในอนาคตนั้นอย่างซื่อสัตย์ โดยบอกปัดคำสอนต่าง ๆ ที่ออกหากเกี่ยวกับจิตวิญญาณอมตะ.—กิจการ 20:28-30; 2 ติโมเธียว 4:3, 4; 2 เปโตร 2:1-3.
แน่นอน การปลุกให้เป็นขึ้นจากตายไม่ถูกจำกัดกับคริสเตียนที่มีความหวังทางภาคสวรรค์. (1 เปโตร 1:3-5) เหล่าปฐมบรรพบุรุษและผู้รับใช้ของพระเจ้าคนอื่น ๆ ได้สำแดงความเชื่อในพระปรีชาสามารถของพระยะโฮวาที่จะนำคนตายกลับมาสู่ชีวิตบนแผ่นดินโลกอีก. (โยบ 14:14, 15; ดานิเอล 12:2; ลูกา 20:37, 38; เฮ็บราย 11:19, 35) แม้แต่คนนับพันล้านในช่วงหลายศตวรรษซึ่งไม่เคยรู้จักพระเจ้า ก็มีโอกาสกลับมามีชีวิตอีกในอุทยานบนแผ่นดินโลก เนื่องจาก “คนทั้งปวงทั้งคนชอบธรรมและคนที่ไม่ชอบธรรมจะเป็นขึ้นมาจากความตาย.” (กิจการ 24:15; ลูกา 23:42, 43) เรื่องนี้เป็นการคาดหวังที่น่าตื่นเต้นมิใช่หรือ?
แทนที่เราจะเชื่อว่า การทนทุกข์และความตายจะมีอยู่เสมอ พระยะโฮวาทรงชี้ถึงเวลาเมื่อ “ศัตรูสุดท้าย ความตาย” จะถูกขจัดตลอดไปและมนุษยชาติที่สัตย์ซื่อจะอยู่ชั่วนิรันดรบนแผ่นดินโลกที่ได้รับการฟื้นฟูเป็นอุทยาน. (1 โกรินโธ 15:26, ล.ม.; โยฮัน 3:16; 2 เปโตร 3:13) ช่างจะวิเศษสักเพียงไรที่เห็นผู้เป็นที่รักของเรากลับมามีชีวิตอีก! ความหวังที่แน่นอนนี้ดีกว่าความเชื่อเรื่องจิตวิญญาณเป็นอมตะที่สมมุติขึ้น ซึ่งเป็นหลักคำสอนที่ไม่ได้อาศัยพระคำของพระเจ้า แต่อาศัยปรัชญากรีกเป็นหลัก! ถ้าคุณให้ความหวังของคุณยึดอยู่กับคำสัญญาที่แน่นอนของพระเจ้า คุณก็เช่นกัน สามารถมั่นใจได้ว่า ไม่ช้า “ความตายจะไม่มีต่อไป”!—วิวรณ์ 21:3-5.
[รูปภาพหน้า 31]
การปลุกให้เป็นขึ้นจากตายเป็นความจริงอันเยี่ยมยอดในคัมภีร์ไบเบิล