“ได้ทรงไถ่ท่านทั้งหลายไว้แล้วตามราคา”
“ด้วยว่าได้ทรงไถ่ท่านทั้งหลายไว้แล้วตามราคา. เหตุฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงถวายเกียรติยศแก่พระเจ้าด้วยร่างกายของท่าน.”—1 โกรินโธ 6:20, ล.ม.
1, 2. (ก) อะไรได้เปิด “ทางที่ให้พ้นจากความตาย”? (ข) จำต้องได้ทำอะไรเพื่อว่าเครื่องบูชาของพระคริสต์จะใช้ได้ถูกต้องตามกฎหมาย ดังตัวอย่างอะไรที่แสดงไว้ล่วงหน้า?
“พระเจ้าเป็นพระเจ้าผู้ทรงช่วยให้เรารอด” ผู้ประพันธ์บทเพลงสรรเสริญได้กล่าวว่า “และทางที่ให้พ้นจากความตายนั้นเป็นของพระยะโฮวา.” (บทเพลงสรรเสริญ 68:20) เครื่องบูชาของพระเยซูคริสต์เปิดทางให้รอดพ้น. แต่เพื่อเครื่องบูชานั้นจะใช้ได้ถูกต้องตามกฎหมาย พระคริสต์จำต้องปรากฏตัวต่อพระเจ้าโดยตรง.
2 มีการแสดงภาพเล็งถึงเรื่องนี้ในวันไถ่โทษสมัยยิศราเอล เมื่อมหาปุโรหิตได้เข้าไปในที่บริสุทธิ์ที่สุด. (เลวีติโก 16:12-15) อัครสาวกเปาโลเขียนไว้ว่า “แต่เมื่อพระคริสต์เสด็จมาเป็นมหาปุโรหิต . . . พระองค์ไม่ได้ทรงนำเลือดแพะและเลือดลูกวัวเข้าไป แต่ทรงนำพระโลหิตของพระองค์เอง เสด็จเข้าไปในที่บริสุทธิ์นั้นแต่เพียงครั้งเดียวและทรงได้ความรอดนิรันดร์ไว้. เพราะว่าพระคริสต์ไม่ได้เสด็จเข้าในที่บริสุทธิ์ซึ่งมือมนุษย์ได้กระทำไว้เป็นตัวจำลองจากแบบเท่านั้น แต่ได้เสด็จเข้าไปในสวรรค์นั้นเอง และบัดนี้ทรงปรากฏจำเพาะพระพักตร์พระเจ้าเพื่อเราทั้งหลาย.”—เฮ็บราย 9:11, 12, 24.
ฤทธิ์โลหิต
3. (ก) ผู้นมัสการพระยะโฮวามีทัศนะเช่นไรต่อเลือด และทำไม? (ข) อะไรแสดงให้เห็นว่าเลือดมีฤทธิ์ตามกฎหมายที่จะไถ่บาปได้?
3 โลหิตของพระคริสต์มีบทบาทเช่นไรต่อความรอดของเรา? ตั้งแต่สมัยโนฮา ผู้นมัสการแท้ถือว่าเลือดเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์. (เยเนซิศ 9:4-6) เลือดเป็นส่วนประกอบสำคัญในขบวนการแห่งชีวิต เพราะพระคัมภีร์บอกว่า “เพราะชีวิตของเนื้อหนังคือโลหิต.” (เลวีติโก 17:11) ดังนั้น พระบัญญัติของโมเซจึงกำหนดไว้ว่า เมื่อนำสัตว์มาถวายเป็นเครื่องบูชา จะต้องเทเลือดสัตว์ลงต่อพระพักตร์พระยะโฮวา. บางครั้งก็ได้เทเลือดสัตว์ลงที่เชิงแท่นบูชาด้วยเช่นกัน. เห็นได้ชัดว่า ฤทธิ์ไถ่ถอนของเครื่องบูชาไถ่มีอยู่ในเลือด. (เลวีติโก 8:15; 9:9) “ตามพระบัญญัตินั้น . . . เกือบ . . . ทุกสิ่งถูกชำระด้วยโลหิต และถ้าไม่มีโลหิตไหลออกแล้ว ก็จะไม่มีการยกบาป.”—เฮ็บราย 9:22.
4. (ก) ที่พระเจ้าควบคุมการใช้เลือดนั้นเพื่อจุดมุ่งหมายอะไร? (ข) อะไรเป็นสิ่งสำคัญเกี่ยวด้วยวิธีการสังหารพระเยซู?
4 เช่นนั้นก็ไม่แปลกที่ว่า ภายใต้พระบัญญัตินั้น การใช้เลือดในทางผิดมีโทษถึงตาย! (เลวีติโก 17:10) พวกเราทุกคนรู้ว่าเมื่อสารวัตถุเป็นของหายาก หรือมีการจำกัดการใช้สิ่งนั้น ๆ ค่าของสิ่งนั้นย่อมทวีขึ้น. การที่พระยะโฮวาทรงควบคุมการใช้เลือดเช่นนั้น ทำให้แน่ใจว่าผู้คนจะถือว่าโลหิตเป็นสิ่งประเสริฐ มีคุณค่า หาใช่เป็นของธรรมดา. (กิจการ 15:29; เฮ็บราย 10:29) ทั้งนี้สอดคล้องกับการใช้โลหิตของพระคริสต์ด้วยจุดมุ่งหมายอันสูงส่ง. นับว่าเหมาะสมทีเดียว พระองค์วายพระชนม์ในลักษณะที่ให้โลหิตของพระองค์ได้หลั่งออกมา. ดังนั้น ปรากฏชัดว่าพระคริสต์ไม่เพียงแต่สละร่างกายมนุษย์เป็นเครื่องบูชาเท่านั้น แต่ได้สละจิตวิญญาณอันเป็นชีวิตแท้ ๆ ของพระองค์ในฐานะมนุษย์สมบูรณ์ด้วย! (ยะซายา 53:12) พระคริสต์ไม่ได้สูญสิทธิอันถูกต้องในเรื่องชีวิตนั้นเพราะเหตุความไม่สมบูรณ์ ฉะนั้น การหลั่งพระโลหิตของพระองค์จึงมีคุณค่าอย่างใหญ่หลวงและสามารถนำเสนอจำเพาะพระเจ้าเพื่อไถ่ความผิดบาปของมนุษยชาติ.
5. (ก) พระคริสต์ทรงนำอะไรเข้าไปในสวรรค์ และเพราะเหตุใด? (ข) ปรากฏหลักฐานอย่างไรว่าพระเจ้าทรงรับรองเครื่องบูชาของพระคริสต์?
5 พระคริสต์ไม่อาจนำพระโลหิตจริง ๆ ของพระองค์เข้าไปถึงสวรรค์ได้. (1 โกรินโธ 15:50) แต่พระองค์ทรงนำสิ่งที่โลหิตหมายถึงอันได้แก่คุณค่าแห่งชีวิตมนุษย์ที่ปราศจากบาปซึ่งพระองค์ถวายเป็นเครื่องบูชา. เมื่อเข้าเฝ้าเฉพาะพระพักตร์พระเจ้า พระคริสต์จึงสามารถถวายคุณค่าแห่งชีวิตนั้นเป็นค่าไถ่เพื่อมนุษย์ผู้ผิดบาปได้. ที่ว่าพระยะโฮวาได้ทรงรับรองเครื่องบูชานั้นก็ปรากฏชัดในวันเพนเตคอสเตปีสากลศักราช 33 เมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์ได้ลงมาสถิตกับสาวก 120 คนในกรุงยะรูซาเลม. (กิจการ 2:1-4) เวลานี้พระคริสต์เป็นเสมือนเจ้าของเผ่าพันธุ์มนุษย์เพราะได้ซื้อเขาไว้แล้ว. (ฆะลาเตีย 3:13; 4:5; 2 เปโตร 2:1) ด้วยเหตุนี้ ประโยชน์มากมายอันเนื่องมาจากค่าไถ่จึงหลั่งไหลไปยังมนุษยชาติได้.
จำพวกแรกที่ได้ประโยชน์จากค่าไถ่
6. พระเจ้าได้ทรงจัดเตรียมอะไรไว้สำหรับการใช้ประโยชน์แห่งค่าไถ่ของพระคริสต์?
6 อย่างไรก็ดี ทั้งนี้ไม่หมายความว่ามนุษย์เราจะได้มาซึ่งความสมบูรณ์พร้อมทางด้านร่างกายในทันทีทันใด เพราะว่าความสมบูรณ์ด้านร่างกายจะเป็นไปไม่ได้เว้นเสียแต่ว่าลักษณะนิสัยที่ผิดบาปของมนุษย์ถูกขจัดให้หมดสิ้นไป. (โรม 7:18-24) ความผิดบาปจะถูกขจัดออกไปอย่างไรและเมื่อไร? ประการแรก พระเจ้าได้ทรงจัดเตรียมชน 144,000 คนให้เป็น ‘ปุโรหิตของพระเจ้าและเป็นกษัตริย์ปกครองแผ่นดินโลก’ จากสวรรค์ร่วมกับพระเยซูคริสต์. (วิวรณ์ 5:9, 10; 7:4; 14:1-3) โดยบุคคลเหล่านี้ประโยชน์อันเนื่องจากค่าไถ่จะถูกนำมาใช้กับมนุษยชาติเป็นลำดับขั้นในช่วงเวลาหนึ่งพันปี.—1 โกรินโธ 15:24-26; วิวรณ์ 21:3, 4.
7. (ก) คำสัญญาไมตรีใหม่คืออะไร ใครบ้างร่วมในคำสัญญานั้น และคำสัญญาไมตรีใหม่มีจุดมุ่งหมายอะไร? (ข) เหตุใดจึงต้องมีการเสียชีวิตเพื่อคำสัญญาไมตรีใหม่เป็นไปได้ และพระโลหิตของพระคริสต์มีบทบาทอะไร?
7 เพื่อนำไปสู่เรื่องนั้น บรรดาปุโรหิตที่ปกครองเป็นกษัตริย์ 144,000 องค์ “ได้ทรงไถ่ไว้แล้วจากแผ่นดินโลก.” (วิวรณ์ 14:4) ทั้งนี้ลุล่วงไปได้โดย “คำสัญญาไมตรีใหม่.” คำสัญญาไมตรีนี้เป็นข้อสัญญาระหว่างพระเจ้ายะโฮวากับยิศราเอลฝ่ายวิญญาณที่พระเจ้าทรงสรรไว้เพื่อสมาชิกภายใต้คำสัญญานี้จะปฏิบัติหน้าที่เยี่ยงกษัตริย์และปุโรหิต. (ยิระมะยา 31:31-34; ฆะลาเตีย 6:16; เฮ็บราย 8:6-13; 1 เปโตร 2:9) แต่คำสัญญาไมตรีระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ผู้ไม่สมบูรณ์จะเป็นไปได้อย่างไร? เปาโลอธิบายดังนี้ “ถ้ามีหนังสือพินัยกรรม [ระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ผู้ไม่สมบูรณ์] ผู้ทำหนังสือนั้นก็ต้องถึงแก่ความตายแล้ว. เพราะว่าเมื่อคนตายแล้วหนังสือพินัยกรรมนั้นจึงใช้ได้. แต่ว่าเมื่อผู้ทำยังมีชีวิตอยู่หนังสือพินัยกรรมนั้นก็ใช้ไม่ได้.”—เฮ็บราย 9:16, 17.
8, 9. ค่าไถ่เกี่ยวข้องอย่างไรกับคำสัญญาไมตรีใหม่?
8 ดังนั้น เครื่องบูชาไถ่เป็นหลักสำคัญแห่งคำสัญญาไมตรีใหม่ซึ่งพระเยซูเป็นผู้กลาง. เปาโลเขียนดังนี้: “เพราะว่ามีพระเจ้าองค์เดียวและมีคนกลางแต่ผู้เดียวระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ คือพระเยซูคริสต์ผู้ทรงสภาพเป็นมนุษย์ ซึ่งทรงประทานพระองค์เองเป็นค่าไถ่สำหรับคนเป็นอันมาก. ข้อนี้ได้มีพยานในเวลาอันเหมาะ.” (1 ติโมเธียว 2:5, 6) ถ้อยคำเหล่านี้นำมาใช้โดยเฉพาะกับชน 144,000 คนซึ่งร่วมอยู่ในคำสัญญาไมตรีใหม่.
9 คราวที่พระเจ้าทรงกระทำคำสัญญาไมตรีกับชาติยิศราเอลฝ่ายเนื้อหนัง คำสัญญานั้นมีผลบังคับตามกฎหมายใช้ได้ก็ต่อเมื่อได้นำเอาเลือดสัตว์เทออกในการถวายเป็นเครื่องบูชา. (เฮ็บราย 9:18-21) ในทำนองเดียวกัน เพื่อคำสัญญาไมตรีใหม่จะมีผลบังคับใช้ได้ พระคริสต์จึงต้องหลั่ง “โลหิตแห่งคำสัญญาไมตรี.” (มัดธาย 26:28, ลูกา 22:20) โดยที่พระคริสต์ปฏิบัติหน้าที่เป็นมหาปุโรหิตและ “ผู้กลางแห่งคำสัญญาไมตรีใหม่” พระเจ้าจึงทรงใช้คุณค่าแห่งพระโลหิตของพระเยซูให้เป็นประโยชน์ต่อบุคคลเหล่านั้นซึ่งถูกนำเข้ามาอยู่ภายใต้คำสัญญาไมตรีใหม่ ในแง่กฎหมายแล้วพระองค์ยกฐานะให้เขาเป็นมนุษย์ชอบธรรม. (เฮ็บราย 9:15; โรม 3:24; 8:1, 2) ครั้นแล้วพระเจ้าสามารถรับเขาเข้ามาอยู่ในคำสัญญาไมตรีใหม่ฐานะเป็นปุโรหิตและกษัตริย์ทางสวรรค์! พระเยซูซึ่งเป็นผู้กลางและมหาปุโรหิตสนับสนุนเขาให้ธำรงไว้ซึ่งฐานะที่สะอาดจำเพาะพระเจ้า.—เฮ็บราย 2:16; 1 โยฮัน 2:1, 2.
การรวบรวมสิ่งสารพัดบนแผ่นดินโลก
10, 11. (ก) ค่าไถ่ให้ประโยชน์กว้างไกลอย่างไรไม่เฉพาะสำหรับคริสเตียนผู้ถูกเจิม? (ข) “ชนฝูงใหญ่” คือใคร และพวกเขาอยู่ในฐานะอะไรกับพระเจ้า?
10 เฉพาะคริสเตียนผู้ถูกเจิมเท่านั้นหรือจะได้รับการปลดเปลื้องพ้นบาปของตนโดยอาศัยค่าไถ่นั้น? หามิได้ พระเจ้าทรงนำทุกสิ่งให้กลับคืนดีกับพระองค์อีกโดยการสร้างสันติทางโลหิตซึ่งหลั่งลงบนเสาทรมาน ดังระบุไว้ที่โกโลซาย 1:14, 20. การนี้รวมเอาสิ่งต่าง ๆ ในสวรรค์ (คือชนจำพวก 144,000) และสิ่งที่อยู่บนแผ่นดินโลก. สิ่งที่อยู่บนแผ่นดินโลกได้แก่บุคคลในข่ายจะได้รับชีวิตทางโลกนี้ คือมนุษย์ผู้ซึ่งจะชื่นชมกับชีวิตสมบูรณ์ในอุทยานบนแผ่นดินโลก. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตั้งแต่ปี 1935 ได้มีการร่วมมือกันเพื่อรวบรวมบุคคลจำพวกนี้. วิวรณ์ 7:9-17 พรรณนาพวกเขาเป็น “ชนฝูงใหญ่” ซึ่งความรอดของเขาเป็นมาแต่พระเจ้าและพระเมษโปดก. ชนเหล่านี้ยังคงต้องการจะรอดพ้นความทุกข์ลำบากใหญ่และได้รับ ‘การนำทางไปถึงน้ำพุแห่งชีวิต’ เพราะวิวรณ์ 20:5 แสดงว่าในตอนสิ้นรัชสมัยพันปีของพระคริสต์ พวกเขาจะบรรลุชีวิตอย่างเต็มที่คือมีชีวิตอย่างมนุษย์สมบูรณ์. ผู้ที่ผ่านการทดลองขั้นสุดท้ายในสภาพมนุษย์สมบูรณ์ก็จะได้รับการประกาศว่าเป็นคนชอบธรรมเพื่อชีวิตนิรันดร์บนแผ่นดินโลก.—วิวรณ์ 20:7, 8.
11 กระนั้นก็ดี ในวิธีการขั้นต้น ชนฝูงใหญ่ได้ “ชำระเสื้อยาวของเขา และทำให้ขาวในพระโลหิตของพระเมษโปดก” อยู่แล้ว. (วิวรณ์ 7:14, ล.ม.) พระคริสต์ไม่ได้เป็นผู้กลางแห่งคำสัญญาไมตรีใหม่เพื่อพวกเขา แต่เขาก็ได้ประโยชน์จากคำสัญญาไมตรีนี้โดยการดำเนินงานแห่งราชอาณาจักรของพระเจ้า. อย่างไรก็ดี พระคริสต์ปฏิบัติเพื่อพวกเขาในฐานะที่ทรงเป็นมหาปุโรหิต โดยพระองค์นี้เองพระยะโฮวาสามารถและจะทรงใช้ประโยชน์แห่งค่าไถ่ถึงขนาดเพื่อพวกเขาจะได้รับการประกาศเป็นคนชอบธรรมฐานะเป็นมิตรของพระเจ้า. (เทียบกับยาโกโบ 2:23.) ในระหว่างสมัยปีพวกเขาก็จะค่อย ๆ “รอดจากอำนาจแห่งความเสื่อมเสีย [กระทั่งในที่สุดเขา] จะเข้าในสง่าราศีแห่งบุตรทั้งหลายของพระเจ้า.”—โรม 8:21.
12. โดยพื้นฐานเช่นไรพระเจ้าได้ทรงดำเนินงานกับผู้ซื่อสัตย์ก่อนสมัยคริสเตียน?
12 เกี่ยวด้วยฐานะของพวกเขาจำเพาะพระเจ้า อาจดูเหมือนว่าจำพวกชนฝูงใหญ่นี้ไม่ต่างจากผู้นมัสการก่อนยุคคริสเตียนมากนัก. อย่างไรก็ดี พระเจ้าทรงดำเนินการกับชนที่นมัสการพระองค์ครั้งกระโน้นโดยทรงคำนึงถึงการจัดให้มีค่าไถ่ขึ้นในภายหน้า. (โรม 3:25, 26) พวกเขาได้รับการอภัยบาปของเขาทางการจัดเตรียมเฉพาะกาลเท่านั้น. (บทเพลงสรรเสริญ 32:1, 2) แทนที่จะปลดเปลื้องพวกเขามิให้ “รู้สึกตัวว่าได้ทำบาป” แต่การใช้สัตว์บูชายัญเป็นเหตุให้ “ระลึกถึงความบาป.”—เฮ็บราย 10:1-3.
13. พวกเรามีข้อได้เปรียบอะไรมากกว่าผู้รับใช้ของพระเจ้าก่อนสมัยคริสเตียน?
13 ต่างไปจากคริสเตียนแท้สมัยนี้. คริสเตียนแท้นมัสการโดยอาศัยค่าไถ่ซึ่งได้ชำระไปแล้ว. โดยทางมหาปุโรหิตของเขา เขาจึงได้ “เข้าไปถึงพระที่นั่งแห่งพระกรุณาคุณอันไม่พึงได้รับและพูดอย่างสะดวกใจ.” (เฮ็บราย 4:14-16, ล.ม.) การกลับคืนดีกับพระเจ้า จึงหาใช่บางสิ่งที่หวังไว้ แต่เป็นความจริงอยู่แล้วขณะนี้! (2 โกรินโธ 5:20) เมื่อเขาพลาดพลั้ง เขาสามารถได้รับการอภัยอย่างแท้จริง. (เอเฟโซ 1:7) พวกเขาได้มาซึ่งสติรู้สึกผิดชอบที่สะอาดจริง ๆ. (เฮ็บราย 9:9; 10:22; 1 เปโตร 3:21) พระพรเหล่านี้เป็นการลิ้มรสล่วงหน้าเกี่ยวด้วยเสรีภาพอันรุ่งโรจน์แห่งบุตรทั้งหลายของพระเจ้า ซึ่งบรรดาผู้รับใช้ของพระยะโฮวาจะได้รับในวันข้างหน้า!
ความล้ำลึกแห่งพระปัญญาและความรักของพระเจ้า
14, 15. ค่าไถ่ทำให้พระสติปัญญาอันลึกล้ำเกินจะหยั่งได้นั้นปรากฏเด่นชัดอย่างไร อีกทั้งความชอบธรรมและความรักของพระองค์ด้วย?
14 ค่าไถ่เป็นของประทานอันวิเศษอะไรเช่นนั้นจากพระยะโฮวา! เป็นเรื่องที่สามารถเข้าใจได้ง่าย กระนั้น ก็ยังคงลึกซึ้งพอจนทำให้ผู้มีภูมิปัญญาสูงเกิดความเกรงขาม. การพิจารณาของเราถึงวิธีดำเนินงานเกี่ยวด้วยค่าไถ่นั้นเป็นแค่ผิวเผินเท่านั้น. แต่เราอุทานเหมือนกับอัครสาวกเปาโลดังนี้ “โอพระปัญญาและความรู้ของพระเจ้ามีเอนกอนันต์มากเท่าใด! พระดำริของพระองค์เหลือที่จะเข้าใจได้ และทางทั้งหลายของพระองค์เหลือที่จะสืบเสาะได้! (โรม 11:33) พระสติปัญญาของพระยะโฮวาปรากฏให้ประจักษ์ในการที่พระองค์สามารถช่วยชีวิตมนุษยชาติและเวลาเดียวกันชันสูตรเชิดชูพระบรมเดชานุภาพของพระองค์. โดยการจัดค่าไถ่นี้เอง “ความชอบธรรมของพระเจ้าทรงปรากฏ . . . พระเจ้าได้ทรงตั้ง [พระคริสต์] เป็นเครื่องบูชาเพื่อระงับพระพิโรธโดยความเชื่อในพระโลหิตของพระองค์.”—โรม 3:21-26, ล.ม.
15 จะตำหนิพระเจ้าไม่ได้ในเรื่องการอภัยบาปซึ่งผู้นมัสการก่อนยุคคริสเตียนเคยได้กระทำในอดีต. ยิ่งกว่านั้น จะตำหนิพระยะโฮวาไม่ได้เลยที่พระองค์ทรงประกาศให้ผู้ถูกเจิมเป็นคนชอบธรรมฐานะเป็นบุตร หรือประกาศให้ชนฝูงใหญ่เป็นมิตรของพระองค์. (โรม 8:33) โดยการเสียสละอย่างใหญ่หลวง พระเจ้าเป็นฝ่ายกระทำอย่างถูกต้องตามกฎหมายและเที่ยงตรงในการปฏิบัติ จึงเป็นการหักล้างคำกล่าวเท็จของซาตานอย่างสิ้นเชิงที่ว่าพระยะโฮวาใช้อำนาจปกครองอย่างไม่เป็นธรรม! ความรักของพระเจ้าอย่างไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวต่อสรรพสิ่งที่มีชีวิตซึ่งพระองค์สร้างขึ้นก็ปรากฏว่าปราศจากข้อสงสัยใด ๆ ทั้งสิ้น.—โรม 5:8-11.
16. (ก) โดยวิธีใดที่ค่าไถ่ยุติประเด็นว่าด้วยความซื่อสัตย์ภักดีแห่งผู้รับใช้ของพระเจ้า? (ข) ค่าไถ่เป็นพื้นฐานสำหรับความเชื่อของเราในเรื่องโลกใหม่แห่งความชอบธรรมที่กำลังจะมาถึงนั้นอย่างไร?
16 วิธีการจัดค่าไถ่เช่นนี้เป็นการยุติประเด็นที่รวมไปถึงความซื่อสัตย์ภักดีของบรรดาผู้รับใช้พระเจ้าด้วย. เฉพาะการเชื่อฟังของพระเยซูเพียงอย่างเดียวก็ทำให้สัมฤทธิ์ผลแล้ว. (สุภาษิต 27:11; โรม 5:18, 19) แถมยังรวมเอาแนวทางการดำเนินชีวิตของคริสเตียนจำนวน 144,000 คนซึ่งแม้ถูกต่อต้านขัดขวางจากซาตาน แต่เขาธำรงความซื่อสัตย์กระทั่งตาย! (วิวรณ์ 2:10) ค่าไถ่ได้เปิดทางให้คนเหล่านี้ได้รับอมตชีพหรือชีวิตที่เสื่อมสูญไม่ได้เป็นรางวัล! (1 โกรินโธ 15:53; เฮ็บราย 7:16) ทั้งนี้ทำให้คำกล่าวอ้างของซาตานที่ว่า ผู้รับใช้ของพระเจ้าเป็นคนเชื่อถือวางใจไม่ได้กลายเป็นคำพูดที่เหลวไหล! อนึ่ง เรื่องค่าไถ่ได้เสริมพื้นฐานให้มั่นคงสำหรับความเชื่อศรัทธาในคำสัญญาของพระเจ้า. พวกเราจึงสามารถเห็นเค้าโครงความรอดซึ่ง “ได้ทรงตั้งขึ้น” โดยเครื่องบูชาไถ่. (เฮ็บราย 8:6) โลกใหม่แห่งความชอบธรรมจึงได้รับการประกันด้วยประการฉะนี้!—เฮ็บราย 6:16-19.
อย่าพลาดจุดมุ่งหมาย
17. (ก) บางคนแสดงให้เห็นอย่างไรว่าเขาได้พลาดจุดหมายของค่าไถ่? (ข) อะไรอาจจะกระตุ้นเราให้คงไว้ซึ่งความสะอาดทางศีลธรรม?
17 ที่จะได้ประโยชน์จากค่าไถ่ จำเป็นที่คนเราต้องรับเอาความรู้ สำแดงความเชื่อ และดำเนินชีวิตตามมาตรฐานพระคัมภีร์. (โยฮัน 3:16; 17:3) แต่ก็มีคนไม่มากนักเต็มใจกระทำดังกล่าว. (มัดธาย 7:13, 14) แม้ในท่ามกลางคริสเตียนแท้ก็ตาม บางคนอาจ “รับเอาพระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระเจ้าแล้วพลาดจุดมุ่งหมายของพระกรุณานั้น.” (2 โกรินโธ 6:1, ล.ม.) เพื่อให้ตัวอย่าง หลายปีที่ผ่านมา คนนับพันถูกตัดสัมพันธ์เนื่องจากการประพฤติผิดศีลธรรมทางเพศ. ช่างน่าอับอายอะไรอย่างนั้นเมื่อคำนึงถึงสิ่งที่พระยะโฮวาและพระคริสต์ได้กระทำเพื่อพวกเรา! ความหยั่งรู้ค่าสำหรับค่าไถ่น่าจะกระตุ้นเรามิใช่หรือที่จะไม่ “ลืมการที่เขาได้รับการชำระจากความบาปที่เขากระทำนานมาแล้ว”? (2 เปโตร 1:9) เป็นการเหมาะสมแล้วที่เปาโลเตือนคริสเตียนว่า “ด้วยว่าได้ทรงไถ่ท่านทั้งหลายไว้แล้วตามราคา. เหตุฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงถวายเกียรติยศแก่พระเจ้าด้วยร่างกายของท่าน.” (1 โกรินโธ 6:20) การจดจำข้อนี้ให้เรามุ่งมั่นตั้งใจรักษาตัวให้สะอาดทางศีลธรรมอยู่เรื่อยไป!—1 เปโตร 1:14-19.
18. คริสเตียนผู้ซึ่งพลาดพลั้งกระทำบาปร้ายแรงจะรับประโยชน์จากค่าไถ่ได้โดยวิธีใด?
18 แต่ถ้าคนเราพลาดพลั้งเข้าสู่การบาปอย่างร้ายแรงล่ะ? เขาควรถือเอาประโยชน์ของการอภัยโทษซึ่งเป็นไปได้จากค่าไถ่นี้แหละ โดยรับการช่วยเหลือจากพวกผู้ดูแลที่แสดงความรัก. (ยาโกโบ 5:14, 15) แม้ถึงคราวต้องได้รับการตีสอนอย่างแรง คริสเตียนผู้สำนึกผิดก็ไม่ควรหมดกำลังใจเมื่อได้รับการแก้ไข. (เฮ็บราย 12:5) พวกเรามีคำรับรองอันดีเยี่ยมในพระคัมภีร์ที่ว่า “ถ้าเราสารภาพบาปของเรา พระองค์ทรงซื่อสัตย์และชอบธรรม ก็ทรงให้อภัยเราในบาปของเรา และทรงชำระเราให้พ้นจากความอธรรมทั้งสิ้น.”—1 โยฮัน 1:9, ล.ม.
19. คริสเตียนควรจะมีทัศนะเช่นไรต่อการประพฤติอย่างไม่ถูกต้องก่อนได้มาเรียนความจริง?
19 บางครั้งคริสเตียนรู้สึกท้อแท้เกินควรเนื่องด้วยความประพฤติไม่ถูกต้องในอดีต. พี่น้องชายที่ท้อแท้คนหนึ่งได้เขียนว่า “ก่อนเข้ามาในความจริง ผมกับภรรยาเป็นโรคเริมที่อวัยวะเพศ. บางครั้งเรามีความรู้สึกว่าเป็นคนไม่สะอาด เหมือนกับว่าเราไม่ ‘เหมาะสม’ ที่อยู่ในองค์การอันสะอาดของพระยะโฮวา.” เป็นที่ยอมรับกันว่า แม้หลังจากได้เข้ามาเป็นคริสเตียนแล้ว บางคนยังอาจทุกข์ระทมอยู่บ้างเนื่องจากความผิดพลาดในอดีต. (ฆะลาเตีย 6:7) กระนั้น ก็ไม่มีเหตุผลจะรู้สึกว่าตนไม่สะอาดในสายพระเนตรพระยะโฮวาถ้าผู้นั้นได้สำนึกผิดและกลับใจ. “พระโลหิตของพระคริสต์” จะได้ “ทรงชำระใจวินิจฉัยผิดและชอบของท่านทั้งหลายให้พ้นจากการประพฤติที่ตายแล้ว.”—เฮ็บราย 9:14.
20. ความเชื่อในค่าไถ่ปลดเปลื้องคริสเตียนจากความรู้สึกที่ไม่จำเป็นที่ว่าตนเคยทำผิดได้อย่างไร?
20 ใช่แล้ว ความเชื่อเรื่องค่าไถ่สามารถปลดเปลื้องเราจากความรู้สึกผิดอันเป็นข้อหนักใจโดยไม่จำเป็น. พี่น้องหญิงวัยสาวคนหนึ่งยอมรับว่า “ฉันพยายามเลิกนิสัยไม่ดีที่ได้สำเร็จความใคร่ด้วยตนเองมานานถึงสิบเอ็ดปีทีเดียว. มาถึงจุดหนึ่งฉันเกือบจะถอนตัวจากประชาคมเพราะมีความรู้สึกว่า พระยะโฮวาไม่ต้องการบุคคลที่น่าขยะแขยงเช่นนี้ทำให้ประชาคมของพระองค์เป็นมลทิน.” แต่เราต้องจำไว้ว่าพระยะโฮวา “ทรงประกอบด้วยพระคุณพร้อมที่จะทรงยกความผิด” ตราบใดที่เราตั้งใจบากบั่นจะต่อต้านการอธรรมด้วยความสุจริตใจ ไม่ใช่ยอมจำนนเสีย!—บทเพลงสรรเสริญ 86:5.
21. ค่าไถ่น่าจะมีผลกระทบทัศนะของเราอย่างไรต่อผู้ที่ทำให้เราขุ่นเคือง?
21 อีกประการหนึ่ง ค่าไถ่น่าจะมีผลต่อวิธีที่เราปฏิบัติกับคนอื่น. อย่างเช่นคุณแสดงปฏิกิริยาอย่างไรเมื่อเพื่อนคริสเตียนทำให้คุณขุ่นเคือง? คุณใจกว้างยอมให้อภัยอย่างพระคริสต์ไหม? (ลูกา 17:3, 4) คุณ “มีใจเอ็นดูซึ่งกันและกัน และอภัยโทษให้กันและกัน เหมือนพระเจ้าได้ทรงโปรดอภัยโทษให้ท่านทั้งหลายในพระคริสต์ไหม? (เอเฟโซ 4:32) หรือคุณเอนเอียงไปในทางที่จะผูกพยาบาทหรือเก็บความขุ่นเคือง? ถ้าเป็นอย่างนั้นก็คงจะพลาดจุดมุ่งหมายของค่าไถ่อย่างแน่นอน.—มัดธาย 6:15.
22, 23. (ก) ค่าไถ่น่าจะมีผลกระทบอย่างไรต่อจุดมุ่งหมาย และวิถีชีวิตของเรา? (ข) คริสเตียนทุกคนควรตั้งใจทำประการใดเกี่ยวกับค่าไถ่?
22 ประการสุดท้าย การหยั่งรู้ค่าค่าไถ่น่าจะมีผลกระทบอันลึกซึ้งต่อจุดหมายและวิถีชีวิตของเรา. เปาโลกล่าวดังนี้: “ท่านทั้งหลายถูกไถ่ค่าตัวไว้แล้วตามราคา อย่าเป็นทาสของมนุษย์เลย.” (1 โกรินโธ 7:23) ความจำเป็นทางวัตถุ—เช่น บ้าน การทำงานได้ค่าจ้าง อาหาร เครื่องนุ่งห่ม—ยังเป็นจุดรวมในชีวิตของคุณไหม? หรือว่าคุณแสวงราชอาณาจักรก่อน เชื่อและวางใจในคำสัญญาของพระเจ้าว่าพระองค์จะจัดเตรียมให้คุณ? (มัดธาย 6:25-33) คุณอาจตรากตรำทำงานให้นายจ้างแต่ไม่ได้จัดเวลาไว้สำหรับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับระบบการของพระเจ้าเช่นนั้นไหม? โปรดจำไว้ว่าพระคริสต์ “ประทานพระองค์เองเพื่อเรา ประสงค์จะ . . . ชำระเราให้เป็นคนบริสุทธิ์สำหรับให้เป็นคนของพระองค์เอง คือเป็นคนที่มีใจร้อนรนกระทำการดี.”—ติโต 2:14; 2 โกรินโธ 5:15.
23 “จงขอบพระคุณพระเจ้าโดยพระเยซูคริสต์” สำหรับของประทานที่ดีเลิศนี้—คือค่าไถ่! (โรม 7:25) ขออย่าให้เราพลาดจุดมุ่งหมายของค่าไถ่ แต่จงยอมให้ค่าไถ่เป็นพลังกระตุ้นที่แท้ในชีวิตของเรา. ขอให้เราถวายเกียรติแด่พระเจ้าเสมอด้วยความคิด คำพูด และการกระทำ รำลึกด้วยการสำนึกในพระคุณว่าเราถูกไถ่ค่าตัวไว้แล้วตามราคา.
คำถามทบทวน
▫ เหตุใดจึงถือว่าโลหิตเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และโลหิตของพระคริสต์ถูกนำเสนอต่อพระยะโฮวาในสวรรค์โดยวิธีใด?
▫ โลหิตของพระคริสต์มีบทบาทเช่นไรในการรับรองคำสัญญาไมตรี?
▫ ค่าไถ่เอื้อประโยชน์อย่างไรแก่ผู้ถูกเจิมและชนฝูงใหญ่?
▫ เราจะแสดงให้เห็นอย่างไรว่าเราไม่พลาดจุดมุ่งหมายของค่าไถ่?
[รูปภาพหน้า 16]
คุณค่าของเครื่องบูชาไถ่โทษมีอยู่ในโลหิตอันหมายถึงชีวิต
[รูปภาพหน้า 17]
บุคคลซึ่งหยั่งรู้ค่าการอภัยโทษจากพระเจ้าย่อมเต็มใจให้อภัยผู้อื่น