คุณจะแผ่ความรักออกไปได้ไหม?
โซ่ที่ยึดสมอเรือจะต้องทนทานต่อแรงดึงอันมหาศาลเพื่อยึดเรือไว้ไม่ให้เคลื่อนไปที่อื่น. แต่จะเป็นเช่นนั้นได้ก็ต่อเมื่อห่วงโซ่ที่คล้องต่อกันมีความเหนียวแน่นแข็งแรง. มิฉะนั้นโซ่ก็จะขาด.
อาจกล่าวได้อย่างเดียวกันสำหรับประชาคมคริสเตียน. เพื่อประชาคมจะเข้มแข็งมั่นคง สมาชิกแต่ละคนจำต้องผูกพันกันเป็นหนึ่งเดียว. อะไรคือสิ่งที่ยึดพวกเขาไว้ด้วยกัน? สิ่งนั้นคือ ความรัก พลังอันทรงอานุภาพที่สุดซึ่งทำให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียว. ไม่น่าแปลกใจที่พระเยซูคริสต์ทรงบอกสาวกของพระองค์ว่า “เราให้บัญญัติใหม่ไว้แก่เจ้าทั้งหลาย, คือให้เจ้ารักซึ่งกันและกัน. เรารักเจ้าทั้งหลายมาแล้วฉันใด, เจ้าจงรักซึ่งกันและกันด้วยฉันนั้น. คนทั้งปวงจะรู้ได้ว่าเจ้าเป็นเหล่าสาวกของเราก็เพราะว่าเจ้าทั้งหลายรักซึ่งกันและกัน.” จริงทีเดียว คริสเตียนแท้มีความรักเช่นนั้นต่อกัน ซึ่งลึกซึ้งยิ่งกว่าเพียงมิตรภาพหรือความนับถือต่อกัน. พวกเขาพัฒนาความรักแบบเสียสละตัวเอง.—โยฮัน 13:34, 35.
หยั่งรู้ค่าเพื่อนร่วมความเชื่อของเรา
ประชาคมมากมายประกอบด้วยผู้คนที่แตกต่างกันทั้งในเรื่องอายุ, เผ่าพันธุ์, เชื้อชาติ, วัฒนธรรม, ภาษา, และพื้นเพทางสังคม. สมาชิกแต่ละคนต่างก็มีสิ่งที่ตนเองชอบและไม่ชอบ, สิ่งที่คาดหวังและหวั่นกลัว, และตามปกติแล้วแต่ละคนมีภาระส่วนตัวที่ต้องรับผิดชอบ ซึ่งอาจเป็นสุขภาพที่ย่ำแย่หรือสภาพไม่มั่นคงทางการเงิน. ความหลากหลายเช่นนี้อาจทำให้ยากที่คริสเตียนจะเป็นเอกภาพ. ถ้าเช่นนั้น อะไรจะช่วยเราให้แผ่ความรักของเราออกไปและรักษาความเป็นเอกภาพเอาไว้แม้ไม่ใช่เรื่องง่าย? การหยั่งรู้ค่าอย่างแท้จริงต่อทุกคนในประชาคมจะช่วยให้ความรักที่เรามีต่อกันนั้นลึกซึ้งยิ่งขึ้น.
แต่เราจะหยั่งรู้ค่ากันและกันโดยวิธีใด? ก็โดยที่เรามีความรู้สึกไวต่อกัน, มองเห็นคุณค่าของกัน, สำนึกถึงคุณความดีของกัน, และรู้สึกขอบคุณกัน. ถ้าเราหยั่งรู้ค่าเพื่อนร่วมความเชื่อของเรา เราจะไวต่อความจำเป็นของพวกเขา, เราจะถือว่าพวกเขามีค่ามาก, เราจะสำนึกถึงคุณความดีของพวกเขา, และเราจะรู้สึกขอบคุณที่ได้นมัสการพระเจ้าร่วมกันกับพวกเขา. เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะเกิดความรักต่อพวกเขาอย่างมาก. การพิจารณาสั้น ๆ เกี่ยวกับสิ่งที่อัครสาวกเปาโลเขียนไปถึงคริสเตียนในศตวรรษแรกที่เมืองโครินท์จะช่วยเราให้มองเห็นว่าเราจะแสดงความรักแบบคริสเตียนอย่างเต็มที่ได้อย่างไร.
ชาวโครินท์ “คับที่”
เปาโลเขียนจดหมายฉบับแรกของท่านไปถึงชาวโครินท์ในปีสากลศักราช 55 และเขียนจดหมายฉบับที่สองในปีเดียวกัน. คำพูดของท่านแสดงให้เห็นว่ามีบางคนในประชาคมโครินท์ขาดความหยั่งรู้ค่าต่อเพื่อนร่วมความเชื่อ. เปาโลพรรณนาสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยคำพูดต่อไปนี้: “เราพูดกับท่านทั้งหลายอย่างเปิดเผยแล้ว ชาวโครินท์ หัวใจเราเปิดกว้างแล้ว. ท่านไม่คับที่ภายในเรา แต่ท่านคับที่ในความรักใคร่อันอ่อนละมุนของท่าน.” (2 โกรินโธ 6:11, 12, ล.ม.) เปาโลหมายความว่าอย่างไรเมื่อบอกว่าพวกเขา “คับที่”?
ท่านหมายความว่าพวกเขามีใจคับแคบ ไม่เปิดกว้าง. ผู้คงแก่เรียนด้านคัมภีร์ไบเบิลคนหนึ่งรู้สึกว่า ความรักของชาวโครินท์ที่มีต่อเปาโลถูก “ขัดขวางโดยสถานการณ์ยุ่งยากซึ่งเกิดจากความระแวงสงสัยโดยไม่มีมูลเหตุ . . . และความรู้สึกว่าถูกเหยียบย่ำศักดิ์ศรี.”
ขอให้สังเกตคำแนะนำที่เปาโลให้ ที่ว่า “ข้าพเจ้าพูดกับท่านทั้งหลายเหมือนพูดกับบุตร จงทำกับเราอย่างที่เราทำกับท่าน, คือจงตีแผ่ใจของท่านด้วยเหมือนกัน.” (2 โกรินโธ 6:13) เปาโลสนับสนุนชาวโครินท์ให้แผ่ความรักไปยังเพื่อนร่วมความเชื่อ. นี่คงหมายถึงการถูกกระตุ้นจากทัศนคติในแง่บวกและหัวใจที่เปิดกว้าง ไม่ใช่จากความระแวงสงสัยและขุ่นเคืองกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ.
การแผ่ความรักออกไปในทุกวันนี้
ช่างน่าปลื้มใจที่เห็นว่าผู้นมัสการแท้ของพระเจ้าในทุกวันนี้พยายามมากจริง ๆ ที่จะแผ่ความรักให้แก่กัน. ต้องยอมรับว่า การตีแผ่ใจเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความพยายาม และไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของทฤษฎี. การทำเช่นนั้นเรียกร้องให้เราปฏิบัติตัวต่างไปจากคนที่ไม่ได้ดำเนินชีวิตตามมาตรฐานของคัมภีร์ไบเบิล. บ่อยครั้งคนเหล่านั้นไม่ค่อยเห็นค่าของคนอื่น. พวกเขาอาจเป็นคนที่ไม่คำนึงถึงคนอื่น, ไม่ให้ความนับถือ, และชอบเหน็บแนม. ฉะนั้น ขอเราอย่าปล่อยให้ตัวเราได้รับอิทธิพลจากทัศนคติเช่นนี้. คงจะเป็นเรื่องน่าเศร้าหากความรักของเราถูกกีดกั้นด้วยความรู้สึกระแวงสงสัย เหมือนความรักของพี่น้องในเมืองโครินท์! สิ่งนี้อาจเกิดขึ้นได้หากเราไวในการมองเห็นข้อผิดพลาดของพี่น้อง แต่ช้าในการยอมรับข้อดีของเขา. และสิ่งนี้อาจเกิดขึ้นได้ด้วยถ้าเราไม่เปิดใจที่จะรักใครบางคนเพราะว่าเขามาจากอีกวัฒนธรรมหนึ่ง.
ในทางตรงกันข้าม ผู้รับใช้ของพระเจ้าที่แผ่ความรักไปยังผู้อื่นมีความหยั่งรู้ค่าอย่างแท้จริงต่อเพื่อนร่วมความเชื่อ. เขาถือว่าคนเหล่านั้นมีค่ามาก, เคารพศักดิ์ศรีของพวกเขา, และไวต่อความจำเป็นของพวกเขา. แม้แต่เมื่อมีเหตุผลที่จะบ่นจริง ๆ เขาก็พร้อมที่จะให้อภัยและไม่ผูกใจเจ็บ. แทนที่จะทำอย่างนั้น เขาเชื่อในเจตนาดีของเพื่อนร่วมความเชื่อ. การมีใจกว้างช่วยเขาให้แสดงความรักแบบที่พระเยซูทรงคำนึงถึงเมื่อพระองค์ตรัสไว้ล่วงหน้าว่า “คนทั้งปวงจะรู้ได้ว่าเจ้าเป็นเหล่าสาวกของเราก็เพราะว่าเจ้าทั้งหลายรักซึ่งกันและกัน.”—โยฮัน 13:35.
มองหาเพื่อนใหม่ ๆ
ความรักที่จริงใจจะทำให้เรามองไปไกลกว่ากลุ่มเพื่อนของเราและสร้างมิตรภาพกับคนอื่นในประชาคมซึ่งตามปกติแล้วเราไม่ได้สนิทสนมด้วย. นั่นอาจหมายถึงใครบ้าง? พี่น้องคริสเตียนชายหญิงบางคนอาจเป็นคนขี้อาย หรือเนื่องด้วยเหตุผลอย่างใดอย่างหนึ่งพวกเขาอาจมีเพื่อนเพียงไม่กี่คน. ทีแรกเราอาจรู้สึกว่านอกจากการนมัสการที่เราทำร่วมกันแล้ว เราแทบไม่มีอะไรเหมือนกับพี่น้องเหล่านั้น. แต่เป็นความจริงมิใช่หรือว่า ในคัมภีร์ไบเบิลมีตัวอย่างของมิตรภาพที่สนิทสนมที่สุดซึ่งเกิดขึ้นระหว่างคนที่เมื่อดูเผิน ๆ แล้วแทบจะไม่มีอะไรเหมือนกันเลย?
ตัวอย่างเช่น รูธกับนาอะมี ซึ่งอยู่คนละวัย มาจากคนละชาติและวัฒนธรรม มิหนำซ้ำยังพูดคนละภาษาอีกด้วย. ถึงกระนั้นก็ตาม ความแตกต่างเหล่านี้ไม่เป็นอุปสรรคสำหรับมิตรภาพระหว่างคนทั้งสอง. โยนาธานถูกเลี้ยงดูมาอย่างเจ้าชาย ส่วนดาวิดโตมาแบบคนเลี้ยงแกะ. คนทั้งสองอายุห่างกันมาก แต่มิตรภาพของพวกเขาเป็นมิตรภาพที่สนิทสนมที่สุดคู่หนึ่งที่มีกล่าวถึงในพระคัมภีร์บริสุทธิ์. มิตรภาพของคนทั้งสองคู่เป็นแหล่งที่ทำให้ชื่นชมยินดีและให้การเกื้อหนุนด้านวิญญาณแก่ทั้งสองฝ่าย.—ประวัตินางรูธ 1:16; 4:15; 1 ซามูเอล 18:3; 2 ซามูเอล 1:26.
แม้แต่ในทุกวันนี้ มิตรภาพที่ใกล้ชิดได้เกิดขึ้นระหว่างคริสเตียนแท้ที่อยู่ในคนละวัยหรือมีสภาพการณ์ในชีวิตแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง. ตัวอย่างเช่น เรจินา มารดาไร้คู่ที่มีลูกวัยรุ่นสองคน.a เธอมีตารางเต็มแน่น และมีเวลาพบปะพูดคุยกับเพื่อนฝูงเพียงเล็กน้อย. ฮารัลด์และอูเทอ เป็นสามีภรรยาสูงวัยซึ่งไม่มีบุตร. ดูเผิน ๆ แล้วสองครอบครัวนี้แทบไม่มีอะไรเหมือนกันเลย. แต่ฮารัลด์และอูเทอใช้คำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิลที่ให้เปิดใจให้กว้าง. พวกเขาพยายามชวนเรจินากับลูก ๆ มาร่วมกิจกรรมหลายอย่าง และใช้เวลากับพวกเขาในการประกาศและในนันทนาการบางอย่าง.
เราจะเปิดใจเพื่อสนใจคนอื่นนอกจากเพื่อนที่คบหากันอยู่เป็นประจำได้ไหม? คุณอาจลองทำความสนิทสนมกับเพื่อนร่วมความเชื่อที่มีเชื้อชาติ, วัฒนธรรม, หรือวัยต่างไปจากคุณ.
ตอบสนองความจำเป็นของคนอื่น
การมีใจกว้างจะกระตุ้นเราให้สนใจความจำเป็นของคนอื่น. ความจำเป็นแบบใด? ก็ลองสังเกตสมาชิกในประชาคมคริสเตียนดูสิ. คนหนุ่มสาวต้องการคำแนะนำ, คนสูงวัยต้องการกำลังใจ, ผู้รับใช้เต็มเวลาต้องการการชมเชยและการสนับสนุน, และเพื่อนร่วมความเชื่อที่กำลังท้อใจต้องการคนรับฟัง. ทุกคนมีความจำเป็น. เราอยากจะตอบสนองความจำเป็นเหล่านี้ให้มากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้อย่างสมเหตุสมผล.
การตีแผ่ใจยังหมายรวมถึงการแสดงว่าเราเข้าใจคนที่มีความจำเป็นพิเศษด้วย. คุณรู้จักใครไหมที่ป่วยเรื้อรังหรือกำลังเผชิญความยากลำบากรูปแบบอื่น ๆ ในชีวิต? การแผ่ความรักออกไปและหัดมีใจกว้าง จะช่วยคุณให้เป็นคนที่มีความเข้าใจและพร้อมจะช่วยเหลือผู้ที่มีความจำเป็น.
ขณะที่คำพยากรณ์ของคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับอนาคตอันใกล้นี้กำลังจะสำเร็จเป็นจริง สิ่งที่มีค่ายิ่งกว่าทรัพย์สิ่งของ, ความสามารถ, หรือความสำเร็จใด ๆ มากนักก็คือ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างแน่นแฟ้นภายในประชาคม. (1 เปโตร 4:7, 8) เราแต่ละคนสามารถช่วยให้ประชาคมของเราเองมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้นโดยเผื่อแผ่ความรักให้แก่เพื่อนร่วมความเชื่อ. เรามั่นใจได้ว่า พระยะโฮวาจะทรงอวยพรเราอย่างเหลือล้นเมื่อเราทำตามที่พระเยซูคริสต์พระบุตรของพระองค์ตรัสไว้ที่ว่า “นี่แหละเป็นบัญญัติของเรา, คือให้ท่านทั้งหลายรักกันและกันเหมือนเราได้รักท่าน.”—โยฮัน 15:12.
[เชิงอรรถ]
a มีการเปลี่ยนบางชื่อ.
[คำโปรยหน้า 10]
การหยั่งรู้ค่าพี่น้องชายหญิงของเราหมายความว่าเราถือว่าพวกเขามีค่ามาก, เคารพศักดิ์ศรีของเขา, และไวต่อความจำเป็นของพวกเขา