เปาโลจัดระเบียบการบริจาคเพื่อบรรเทาทุกข์สำหรับเหล่าผู้บริสุทธิ์
ผลประโยชน์ฝ่ายวิญญาณมีความสำคัญเป็นอันดับแรกสำหรับคริสเตียนแท้. ถึงกระนั้น ความห่วงใยต่อสวัสดิภาพทางกายของคนอื่นเป็นเรื่องสำคัญสำหรับพวกเขาด้วย. บ่อยครั้งพวกเขาได้จัดหาให้คนเหล่านั้นที่ประสบความยากลำบาก. ความรักฉันพี่น้องกระตุ้นให้คริสเตียนช่วยเหลือเพื่อนร่วมความเชื่อที่ขัดสน.—โยฮัน 13:34, 35.
ความรักต่อพี่น้องชายหญิงฝ่ายวิญญาณได้กระตุ้นอัครสาวกเปาโลให้จัดระเบียบการบริจาคในท่ามกลางประชาคมในมณฑลอะฆายะ, ฆะลาเตีย, มากะโดเนีย, และมณฑลอาเซีย. อะไรทำให้เรื่องนี้จำเป็น? ได้มีการจัดระเบียบโครงการบรรเทาทุกข์อย่างไร? การตอบรับเป็นเช่นไร? และทำไมเราควรสนใจสิ่งที่ได้เกิดขึ้น?
สถานการณ์ของประชาคมยะรูซาเลม
หลังจากเทศกาลเพนเตคอสเต ส.ศ. 33 ชาวยิวและคนที่เปลี่ยนมาถือศาสนายิวจากที่อื่นซึ่งเข้ามาเป็นสาวกในวันเพนเตคอสเตยังคงอยู่ในกรุงยะรูซาเลมต่อไปชั่วระยะหนึ่งเพื่อเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับความเชื่อแท้. ในกรณีที่จำเป็น เพื่อนร่วมนมัสการยินดีช่วยแบกภาระในการที่ต้องพักอยู่ต่อไปเช่นนั้น. (กิจการ 2:7-11, 41-44; 4:32-37) ความไม่สงบภายในเมืองอาจยังผลด้วยความขัดสนยิ่งขึ้นไปอีกเมื่อชาวยิวที่นิยมชาติปลุกปั่นให้เกิดการกบฏและฝูงชนที่ก่อความรุนแรง. อย่างไรก็ตาม เพื่อที่จะไม่มีสาวกคนใดของพระคริสต์ต้องประสบความหิวโหย จึงมีการแจกจ่ายสิ่งของทุกวันให้แก่แม่ม่ายที่ขัดสน. (กิจการ 6:1-6) เฮโรดได้ข่มเหงประชาคมอย่างรุนแรง และใน ส.ศ. 45 การกันดารอาหารได้สร้างความเสียหายแก่แคว้นยูเดีย. ตราบใดที่มีเหล่าสาวกของพระเยซูเกี่ยวข้องด้วย เหตุการณ์ทั้งหมดนี้อาจยังผลเป็น “ความยากลำบาก,” “[การ] ข่มเหง,” และ “[การ] ปล้นชิงเอาสิ่งของของ [เขา] ไป” ดังที่เปาโลกล่าว.—เฮ็บราย 10:32-34; กิจการ 11:27–12:1.
ในราวปี ส.ศ. 49 สถานการณ์ยังคงย่ำแย่อยู่. ดังนั้น หลังจากตกลงกันว่าเปาโลจะมุ่งความสนใจในการประกาศเผยแพร่แก่คนต่างชาติ เปโตร, ยาโกโบ, และโยฮันได้กระตุ้นท่าน ‘ไม่ให้ลืมคนจน.’ นั่นคือสิ่งที่เปาโลได้พยายามทำ.—ฆะลาเตีย 2:7-10.
การจัดระเบียบเงินบริจาค
เปาโลดูแลเงินทุนสำหรับคริสเตียนที่ยากจนในแคว้นยูเดีย. ในราว ส.ศ. 55 ท่านได้บอกชาวโกรินโธว่า “เรื่องการเรี่ยไรสำหรับสิทธชนนั้น, ข้าพเจ้าได้สั่งคริสตจักรที่มณฑลฆะลาเตียอย่างไร, ท่านทั้งหลายจงกระทำเหมือนอย่างนั้น. ทุกวันอาทิตย์ให้พวกท่านทุกคนเก็บเงินผลประโยชน์ที่ได้ไว้บ้าง . . . [ครั้นแล้ว] พวกท่านจะเห็นชอบเลือกผู้ใดไปแทน, ข้าพเจ้าจะใช้ผู้นั้นถือหนังสือและเงินถวายของท่านส่งไปยังกรุงยะรูซาเลม.” (1 โกรินโธ 16:1-3) หนึ่งปีต่อมาเปาโลได้กล่าวว่าพวกมากะโดเนียและพวกอะฆายะได้มีส่วนร่วมในการบรรเทาทุกข์นั้น. และเมื่อมีการส่งเงินที่ได้รับบริจาคนั้นไปยังกรุงยะรูซาเลม การที่ตัวแทนจากมณฑลอาเซียอยู่ที่นั่นดูเหมือนจะบ่งบอกว่าประชาคมต่าง ๆ ในเขตนั้นได้บริจาคด้วยเช่นกัน.—กิจการ 20:4; 2 โกรินโธ 8:1-4; 9:1, 2.
ไม่มีใครถูกบีบให้บริจาคเกินกว่าที่เขาจะสามารถให้ได้. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น นั่นเป็นเรื่องของการให้กันไปให้กันมาเพื่อคนที่มีบริบูรณ์จะช่วยคนที่ขัดสนในท่ามกลางผู้บริสุทธิ์ในกรุงยะรูซาเลมและแคว้นยูเดีย. (2 โกรินโธ 8:13-15) เปาโลกล่าวว่า “ทุกคนจงให้ตามซึ่งเขาได้คิดหมายไว้ในใจมิใช่ด้วยนึกเสียดาย, มิใช่ด้วยขืนใจให้ เพราะว่าพระเจ้าทรงรักคนนั้นที่ให้ด้วยใจยินดี.”—2 โกรินโธ 9:7.
อัครสาวกให้เหตุผลที่ดีแก่ชาวโกรินโธที่จะเป็นคนใจกว้าง. พระเยซู ‘ทรงยอมเป็นคนยากจนเพราะเห็นแก่พวกเขา, เพื่อพวกเขาจะได้เป็นคนมั่งมี’ ทางฝ่ายวิญญาณ. (2 โกรินโธ 8:9) แน่นอน พวกเขาคงจะต้องการเลียนแบบน้ำใจในการให้ของพระองค์. นอกจากนี้ เนื่องจากพระเจ้าทรงทำให้พวกเขา “มีสิ่งสารพัตรมั่งคั่งบริบูรณ์ขึ้น” ก็นับว่าเหมาะสมที่พวกเขาจะช่วยสนองความจำเป็นของผู้บริสุทธิ์.—2 โกรินโธ 9:10-12.
เจตคติของผู้มีส่วนร่วม
เราเรียนรู้ได้มากมายเกี่ยวกับการให้โดยสมัครใจจากการพิจารณาเจตคติของผู้มีส่วนร่วมในโครงการบรรเทาทุกข์สำหรับผู้บริสุทธิ์ในศตวรรษแรก. การบริจาคนั้นแสดงให้เห็นไม่เพียงแต่ความห่วงใยต่อเพื่อนผู้นมัสการพระยะโฮวาเท่านั้น แต่บ่งบอกว่ามีความผูกพันของภราดรภาพระหว่างคริสเตียนที่เป็นชาวยิวและคนต่างชาติ. การให้และการรับเงินบริจาคแสดงให้เห็นเอกภาพและมิตรภาพระหว่างคนต่างชาติเหล่านี้กับชาวยิว. การแบ่งปันของพวกเขาเป็นทั้งทางฝ่ายวัตถุและทางฝ่ายวิญญาณด้วย.—โรม 15:26, 27.
เดิมทีเปาโลอาจไม่ได้เชิญคริสเตียนชาวมากะโดเนียให้มีส่วนร่วม—พวกเขาอยู่ในสภาพยากจนแสนเข็ญเช่นกัน. อย่างไรก็ตาม พวกเขา ‘วิงวอนมากมายขอเข้าส่วนในการให้.’ ถึงแม้พวกเขาประสบ “ความทุกข์ลำบากเป็นอันมาก” พวกเขาก็ยังให้ด้วยความยินดี “เกินความสามารถของเขาเสียอีก”! (2 โกรินโธ 8:1-4) การทดลองอย่างหนักของพวกเขาดูเหมือนรวมเอาข้อกล่าวหาที่ว่าพวกเขาปฏิบัติศาสนาที่ผิดกฎหมายสำหรับชาวโรมัน. ดังนั้น เป็นที่เข้าใจได้ว่า พวกเขาจะมีความร่วมรู้สึกต่อพี่น้องชาวยูดายซึ่งประสบความยากลำบากคล้ายกัน.—กิจการ 16:20, 21; 17:5-9; 1 เธซะโลนิเก 2:14.
ถึงแม้เปาโลใช้ความมีใจแรงกล้าของชาวโกรินโธในตอนแรกที่มีต่อการบริจาคเพื่อสนับสนุนชาวมากะโดเนียก็ตาม ความกระตือรือร้นในโกรินโธค่อย ๆ ลดลง. ตอนนี้อัครสาวกจึงอ้างถึงความเอื้อเฟื้อของชาวมากะโดเนียเพื่อกระตุ้นชาวโกรินโธ. ท่านพบว่าจำเป็นที่จะเตือนพวกเขาให้ระลึกว่า ถึงเวลาที่จะทำสิ่งที่พวกเขาได้ตั้งต้นหนึ่งปีก่อนหน้านั้นให้สำเร็จ. เกิดอะไรขึ้น?—2 โกรินโธ 8:10, 11; 9:1-5.
ติโตได้ริเริ่มการบริจาคในเมืองโกรินโธ แต่เกิดปัญหาขึ้นที่ดูเหมือนจะขัดขวางความพยายามของเขา. หลังจากปรึกษากับเปาโลในมากะโดเนียแล้ว ติโตได้กลับมาพร้อมกับคนอื่นอีกสองคนเพื่อสนับสนุนประชาคมในเมืองโกรินโธและทำการบริจาคนั้นให้สำเร็จ. บางคนอาจพูดเป็นนัยว่าเปาโลพยายามแสวงประโยชน์จากชาวโกรินโธ. บางทีเพราะเหตุนี้ท่านจึงส่งชายสามคนไปเพื่อทำให้การบริจาคสำเร็จและแนะนำตัวพวกเขาแต่ละคน. เปาโลกล่าวว่า “จะได้ระวังไม่ให้คนหนึ่งคนใดติเตียนเราได้ในการที่เราได้รับสิ่งของเป็นอันมากมาแจกทานนั้น. เพราะเราคิดปรารถนาเป็นคนสัตย์ซื่อ, มิใช่เฉพาะพระพักตร์องค์พระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น, แต่ต่อหน้าคนทั้งปวงด้วย.”—2 โกรินโธ 8:6, 18-23; 12:18.
การนำส่งเงินบริจาค
พอถึงฤดูใบไม้ผลิปี ส.ศ. 56 ก็มีการเตรียมพร้อมที่จะส่งเงินบริจาคไปกรุงยะรูซาเลม. เปาโลคงจะไปกับคณะผู้แทนที่ผู้บริจาคได้เลือกไป. กิจการ 20:4 บอกว่า “คนที่ไปยังมณฑลอาเซียกับเปาโลนั้นคือโซปาโตรบุตรของปุโรชาวเมืองเบรอยะ, อะริศตาโคกับเซกุนโดชาวเมืองเธซะโลนิเก, คาโยชาวเมืองเดระเบ, และติโมเธียว, ตุคิโกกับโตรฟีโมชาวมณฑลอาเซีย.” จากหลักฐานที่หาได้ ในท่ามกลางพวกเขามีลูกาอยู่ด้วย ผู้ซึ่งอาจเป็นตัวแทนของคริสเตียนในเมืองฟิลิปปอย. ดังนั้น อย่างน้อยมีผู้ชายเก้าคนไปในการปฏิบัติภารกิจพิเศษนี้.
ดีเทอร์ เกออร์กี ผู้คงแก่เรียนกล่าวว่า “เงินที่รวบรวมได้ทั้งหมดคงต้องมีเป็นจำนวนมาก เพราะความพยายามในตอนท้ายสุดที่เกี่ยวข้องกับเปาโลและตัวแทนหลายคนเช่นนั้น คงจะไม่คุ้มกับความลำบากและค่าใช้จ่ายในด้านอื่น.” คนกลุ่มนี้ทำหน้าที่ไม่เพียงเพื่อรับประกันความปลอดภัยเท่านั้น แต่ยังช่วยปกป้องเปาโลไว้จากข้อกล่าวหาใด ๆ เกี่ยวกับความไม่ซื่อสัตย์นั้นด้วย. คนเหล่านั้นที่ถูกส่งไปเป็นตัวแทนของประชาคมคนต่างชาติต่อหน้าผู้บริสุทธิ์ในกรุงยะรูซาเลม.
โดยแล่นเรือจากเมืองโกรินโธไปมณฑลซุเรีย คณะผู้แทนคงจะถึงกรุงยะรูซาเลมช่วงเทศกาลปัศคา. อย่างไรก็ตาม ข่าวเรื่องการคิดร้ายจะสังหารเปาโลได้ทำให้มีการเปลี่ยนแผน. (กิจการ 20:3) บางทีพวกศัตรูตั้งใจจะฆ่าท่านที่ทะเล.
เปาโลมีความห่วงใยในเรื่องอื่นด้วย. ก่อนออกเดินทาง ท่านได้เขียนถึงคริสเตียนในกรุงโรมให้อธิษฐานเพื่อท่าน “จะพ้นจากมือคนเหล่านั้นในประเทศยูดายที่ไม่เชื่อ, และเพื่อการปรนนิบัติเนื่องด้วยผลทานซึ่งท่านนำไปยังกรุงยะรูซาเลมจะเป็นที่พอใจสิทธชน.” (โรม 15:30, 31) ถึงแม้ผู้บริสุทธิ์จะรับเงินบริจาคด้วยความรู้สึกขอบคุณอย่างสุดซึ้งโดยไม่ต้องสงสัยก็ตาม เปาโลอาจเป็นห่วงว่าการมาถึงของท่านจะก่อความยุ่งยากขึ้นในท่ามกลางชาวยิวโดยทั่วไปได้.
อัครสาวกคิดถึงคนยากจนอย่างแน่นอน. ถึงแม้พระคัมภีร์มิได้กล่าวว่ามีการส่งมอบเงินบริจาคกันเมื่อไรก็ตาม การส่งมอบนั้นได้ส่งเสริมเอกภาพและทำให้คริสเตียนที่เป็นคนต่างชาติสามารถแสดงความรู้สึกขอบคุณต่อเพื่อนร่วมความเชื่อที่เป็นชาวยูดายสำหรับทรัพย์ฝ่ายวิญญาณที่ได้รับจากพวกเขา. การปรากฏตัวของเปาโล ณ พระวิหารไม่นานหลังจากมาถึงกรุงยะรูซาเลมได้ยั่วยุให้เกิดความวุ่นวายและทำให้ท่านถูกจับกุม. แต่ในที่สุดเรื่องนี้ทำให้ท่านมีโอกาสจะให้คำพยานต่อผู้สำเร็จราชการและกษัตริย์.—กิจการ 9:15; 21:17-36; 23:11; 24:1–26:32.
การบริจาคของเราในทุกวันนี้
ตั้งแต่ศตวรรษแรกเป็นต้นมา มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก—แต่หลักการพื้นฐานมิได้เปลี่ยน. คริสเตียนได้รับการแจ้งอย่างเหมาะสมถึงความจำเป็นต่าง ๆ ทางด้านการเงิน. การบริจาคใด ๆ ที่เขาทำเพื่อคนเหล่านั้นที่ขัดสนควรเป็นไปโดยสมัครใจ ได้รับการกระตุ้นจากความรักต่อพระเจ้าและต่อเพื่อนมนุษย์.—มาระโก 12:28-31.
มาตรการบรรเทาทุกข์ที่ดำเนินการเพื่อประโยชน์ของผู้บริสุทธิ์ในศตวรรษแรกแสดงให้เห็นว่าการจัดการเกี่ยวกับการบริจาคดังกล่าวต้องได้รับการจัดระเบียบอย่างเหมาะสมและดำเนินการในวิธีที่ซื่อสัตย์อย่างละเอียดรอบคอบ. แน่นอน พระยะโฮวาพระเจ้าทรงทราบความจำเป็นต่าง ๆ และพระองค์ทรงทำการจัดเตรียมเพื่อผู้รับใช้ของพระองค์ เพื่อพวกเขาจะสามารถแบ่งปันข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรให้กับคนอื่นต่อ ๆ ไปแม้จะมีความยากลำบาก. (มัดธาย 6:25-34) กระนั้น พวกเราทุกคนสามารถทำส่วนของเรา ไม่ว่าฐานะทางเศรษฐกิจของเราจะเป็นเช่นไรก็ตาม. โดยวิธีนั้น “เขาเหล่านั้นที่ได้เก็บสะสมไว้มากไม่มีเหลือ, และเขาเหล่านั้นที่ได้เก็บสะสมไว้น้อยไม่ได้ขัดสน.”—2 โกรินโธ 8:15.