“พระเจ้าทรงรักคนนั้นที่ให้ด้วยใจยินดี”
พระยะโฮวาทรงเป็นแบบฉบับแห่งความเอื้อเฟื้อ. ที่จริง คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่าพระองค์ทรงเป็นผู้ประทาน “ของประทานอันดีทุกอย่าง และของประทานอันสมบูรณ์ทุกอย่าง.” (ยาโกโบ 1:17, ล.ม.) เพื่อเป็นตัวอย่าง ขอให้พิจารณาสิ่งทั้งหลายที่พระเจ้าทรงสร้าง. พระองค์ทรงสร้างอาหารที่มีรสอร่อย ไม่ใช่ไร้รสชาติ; ทรงสร้างดอกไม้ที่มีสีสัน ไม่ใช่สีทึม ๆ จืดชืด; อาทิตย์อัสดงที่งดงามตระการตา ไม่ใช่ไร้ชีวิตชีวาหม่นหมอง. ใช่แล้ว ไม่ว่าจะแง่มุมใดในสิ่งทรงสร้างของพระยะโฮวาล้วนให้หลักฐานแห่งความรักและความเอื้อเฟื้อของพระองค์. (บทเพลงสรรเสริญ 19:1, 2; 139:14) นอกจากนั้น พระยะโฮวายังทรงเป็นผู้ประทานด้วยพระทัยยินดี. พระองค์ทรงยินดีในการทำดีเพื่อประโยชน์ของผู้รับใช้พระองค์.—บทเพลงสรรเสริญ 84:11; 149:4.
ชาวยิศราเอลได้รับพระบัญชาให้สะท้อนความเอื้อเฟื้อของพระเจ้าในการปฏิบัติต่อกัน. โมเซกล่าวแก่พวกเขาดังนี้: “เจ้าทั้งหลายอย่ามีใจแข็ง, กำมือของเจ้าไว้แก่พี่น้องของเจ้าที่ยากจนนั้น: เจ้าทั้งหลายต้องให้ของแก่เขาจงได้และเมื่อให้ของแก่เขาดังนั้นแล้ว ใจของเจ้าทั้งหลายอย่าได้เสียดายเลย.” (พระบัญญัติ 15:7, 10) เนื่องจากการให้ต้องออกมาจากใจ ชาวยิศราเอลควรมีความยินดีในการแสดงความเอื้อเฟื้อ.
คริสเตียนได้รับคำแนะนำคล้าย ๆ กันนี้. ที่จริง พระเยซูตรัสว่า “การให้ทำให้มีความสุข.” (กิจการ 20:35, ล.ม.) สาวกของพระเยซูเป็นแบบอย่างในการให้ด้วยใจยินดี. ตัวอย่างเช่น คัมภีร์ไบเบิลรายงานว่าที่กรุงยะรูซาเลมมีคนที่ได้เข้ามาเป็นผู้เชื่อถือ “ขายที่ดินและทรัพย์สิ่งของมาแบ่งให้แก่คนทั้งปวงตามซึ่งทุกคนต้องการ.”—กิจการ 2:44, 45.
ทว่า ในภายหลังชาวยูดายที่เอื้อเฟื้อเหล่านี้กลายเป็นคนยากจน. คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้บอกอย่างแน่ชัดว่าอะไรทำให้เขามีสภาพเช่นนี้. ผู้คงแก่เรียนบางคนกล่าวว่า การกันดารอาหารดังที่มีเอ่ยถึงที่กิจการ 11:28, 29 อาจเป็นสาเหตุ. ไม่ว่าเหตุการณ์เป็นอย่างไร คริสเตียนชาวยูดายตกอยู่ในความทุกข์ร้อน และเปาโลต้องการทำให้แน่ใจว่ามีการเอาใจใส่ดูแลตามความจำเป็นของคนเหล่านี้. ท่านทำเช่นนั้นอย่างไร?
การบริจาคสำหรับผู้ขัดสน
เปาโลขอความช่วยเหลือไปยังประชาคมต่าง ๆ ไกลถึงมณฑลมากะโดเนีย และท่านจัดให้มีการเรี่ยไรเพื่อช่วยคริสเตียนที่ยากจนข้นแค้นในยูดาย. เปาโลเขียนถึงพี่น้องในเมืองโกรินโธดังนี้: “ข้าพเจ้าได้สั่งคริสตจักรที่มณฑลฆะลาเตียอย่างไร, ท่านทั้งหลายจงกระทำเหมือนอย่างนั้น. ทุกวันอาทิตย์ให้พวกท่านทุกคนเก็บเงินผลประโยชน์ที่ได้ไว้บ้าง.”a—1 โกรินโธ 16:1, 2.
เปาโลประสงค์ให้ส่งเงินกองทุนนี้ต่อไปให้พี่น้องที่กรุงยะรูซาเลมโดยเร็ว แต่ชาวโกรินโธชักช้าในการตอบรับคำสั่งของเปาโล. เพราะเหตุใด? พวกเขาไม่รู้สึกเห็นใจในความลำบากที่พี่น้องในยูดายประสบหรือ? ไม่ใช่เช่นนั้น เพราะเปาโลทราบว่าชาวโกรินโธนั้น “มีใจประกอบบริบูรณ์ด้วยทุกสิ่ง, คือความเชื่อและถ้อยคำและความรู้และความกะตือรือร้น.” (2 โกรินโธ 8:7) พวกเขาคงมัวยุ่งอยู่กับเรื่องสำคัญอื่น ๆ ที่เปาโลเขียนถึงพวกเขาในจดหมายฉบับแรก. แต่ตอนนี้สภาพการณ์ในกรุงยะรูซาเลมเร่งด่วน. ดังนั้น เปาโลเขียนเรื่องนี้ในจดหมายฉบับที่สองถึงชาวโกรินโธ.
คำวิงวอนขอความเอื้อเฟื้อ
ก่อนอื่น เปาโลกล่าวแก่ชาวโกรินโธเกี่ยวกับชาวมากะโดเนียซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีในการตอบรับต่อความพยายามในการจัดให้มีการบรรเทาทุกข์. เปาโลเขียนว่า “เมื่อคราวเขารับความทุกข์ลำบากเป็นอันมาก, ความยินดีอันอุดมของเขาพร้อมด้วยความยากจนแสนเข็ญของเขาก็ล้นปรากฏออกเป็นใจศรัทธาอย่างยิ่ง.” ไม่จำเป็นต้องมีการกระตุ้นสำหรับชาวมากะโดเนีย. ตรงกันข้าม เปาโลกล่าวว่าพวกเขา “ได้วิงวอนเรามากมายขอให้เขาเข้าส่วนในการกุศลที่จะช่วยสิทธชน.” ความเอื้อเฟื้อด้วยใจยินดีของชาวมากะโดเนียเด่นยิ่งขึ้นกว่านั้นอีกเมื่อเราคิดถึงว่าตัวเขาเองก็อยู่ในสภาพ “ยากจนแสนเข็ญ.”—2 โกรินโธ 8:2-4.
ด้วยการสรรเสริญชาวมากะโดเนียเช่นนี้ เปาโลกำลังพยายามปลุกเร้าน้ำใจแข่งขันให้เกิดขึ้นในหมู่ชาวโกรินโธไหม? ไม่ใช่อย่างนั้นแน่ เพราะท่านทราบว่านี่ไม่ใช่วิธีที่ถูกที่ควรในการกระตุ้นผู้อื่น. (ฆะลาเตีย 6:4) นอกจากนั้น ท่านทราบว่าชาวโกรินโธไม่จำเป็นต้องถูกกระตุ้นให้รู้สึกอายเพื่อให้เขาทำสิ่งที่ถูกต้อง. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น ท่านมีความเชื่อมั่นว่าชาวโกรินโธรักพี่น้องในยูดายอย่างแท้จริง และปรารถนาจะบริจาคสมทบในความพยายามเพื่อบรรเทาทุกข์. ท่านกล่าวแก่พวกเขาว่า “ท่านได้ตั้งต้นก่อนเขาเมื่อปีกลายแล้ว, และมิใช่ตั้งตนจะกระทำเท่านั้น, แต่ว่ามีน้ำใจจะกระทำด้วย.” (2 โกรินโธ 8:10) จริงทีเดียว ในบางแง่ของความพยายามในการบรรเทาทุกข์ ชาวโกรินโธเองเป็นแบบอย่าง. “ข้าพเจ้ารู้แล้วว่าใจของท่านพร้อมอยู่แล้ว, ข้าพเจ้าจึงพูดอวดท่านแก่พวกมากะโดเนีย” เปาโลกล่าวแก่พวกเขาเช่นนี้ แล้วก็เสริมอีกว่า “ใจร้อนรนของท่านทั้งหลาย เป็นที่เร้าใจคนเป็นอันมากในพวกเขา.” (2 โกรินโธ 9:2) อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ชาวโกรินโธจำเป็นต้องเปลี่ยนความกระตือรือร้นและความพร้อมของจิตใจให้เป็นการกระทำ.
ฉะนั้น เปาโลกล่าวแก่พวกเขาดังนี้: “ทุกคนจงให้ตามซึ่งเขาได้คิดหมายไว้ในใจ มิใช่ด้วยนึกเสียดาย, มิใช่ด้วยขืนใจให้ เพราะว่าพระเจ้าทรงรักคนนั้นที่ให้ด้วยใจยินดี.” (2 โกรินโธ 9:7) ดังนั้น เป้าประสงค์ของเปาโลไม่ใช่เพื่อกดดันชาวโกรินโธ เพราะคงไม่มีใครจะสามารถให้ด้วยใจยินดีเมื่อเขาถูกบีบบังคับ. ดูเหมือนว่า เปาโลสันนิษฐานว่าแรงกระตุ้นที่ถูกต้องนั้นมีอยู่แล้วในการที่แต่ละคนได้คิดหมายไว้ในใจ ว่าจะให้. นอกจากนั้น เปาโลกล่าวแก่พวกเขาว่า “ถ้ามีน้ำใจพร้อมอยู่ก่อนแล้ว, พระเจ้าก็พอพระทัยที่จะทรงโปรดรับไว้ตามซึ่งทุกคนมีอยู่, มิใช่ตามซึ่งเขาไม่มี.” (2 โกรินโธ 8:12) ใช่แล้ว เมื่อมีความพร้อมอยู่แล้ว คือเมื่อคนคนหนึ่งถูกกระตุ้นโดยความรัก สิ่งที่เขาให้ย่อมจะเป็นที่ยอมรับของพระเจ้า ไม่ว่าจะเป็นจำนวนที่ดูเหมือนเล็กน้อยเพียงใดก็ตาม.—เทียบกับลูกา 21:1-4.
ผู้ให้ด้วยใจยินดีในทุกวันนี้
ความพยายามในการบรรเทาทุกข์เพื่อช่วยเหลือคริสเตียนในยูดายนับเป็นตัวอย่างที่ดีเยี่ยมสำหรับสมัยของเรา. พยานพระยะโฮวาได้จัดให้มีการรณรงค์ประกาศสั่งสอนทั่วโลกซึ่งทำให้หลายล้านคนที่อดอยากฝ่ายวิญญาณได้รับการบำรุงเลี้ยง. (ยะซายา 65:13, 14) พวกเขาทำเช่นนี้เนื่องจากเชื่อฟังพระบัญชาของพระเยซูที่ว่า “เหตุฉะนั้น จงไปและทำให้ชนจากทุกชาติเป็นสาวก ให้เขารับบัพติสมา . . . สอนเขาให้ถือรักษาสิ่งสารพัดซึ่งเราได้สั่งพวกเจ้าไว้.”—มัดธาย 28:19, 20, ล.ม.
การทำหน้าที่มอบหมายนี้ให้สำเร็จไม่ใช่งานง่ายเลย. งานนี้ครอบคลุมไปถึงการบำรุงรักษาบ้านมิชชันนารีและอาคารสำนักงานสาขาร้อยกว่าแห่งทั่วโลก. การทำตามหน้าที่มอบหมายนี้ยังทำให้จำเป็นต้องสร้างหอประชุมราชอาณาจักรและหอประชุมสำหรับการประชุมใหญ่ด้วย เพื่อผู้นมัสการพระยะโฮวาจะมีสถานที่เหมาะสมที่จะประชุมและหนุนกำลังใจกันและกัน. (เฮ็บราย 10:24, 25) บางครั้ง พยานพระยะโฮวาได้จัดให้มีการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ในเขตที่ประสบความเสียหายจากภัยพิบัติธรรมชาติ.
นอกจากนี้แล้ว ยังต้องคิดถึงค่าใช้จ่ายมหาศาลที่ใช้ในการพิมพ์อีกด้วย. แต่ละสัปดาห์ โดยเฉลี่ยแล้วมีการพิมพ์วารสารหอสังเกตการณ์ ประมาณ 22,000,000 เล่ม หรือไม่ก็วารสารตื่นเถิด! ประมาณ 20,000,000 เล่ม. นอกเหนือจากอาหารฝ่ายวิญญาณที่ออกเป็นประจำดังกล่าวแล้ว ก็ยังมีการผลิตหนังสือ, จุลสาร, ตลับเทปบันทึกเสียง, และตลับวีดิทัศน์เป็นจำนวนอีกหลายล้านในแต่ละปี.
งานทั้งหมดนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างไร? โดยการบริจาคด้วยใจสมัคร. การบริจาคเหล่านี้ไม่ได้ทำเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์หรือเกิดจากแรงจูงใจที่เห็นแก่ตัว แต่เพื่อทำให้การนมัสการแท้เจริญรุดหน้าไป. ฉะนั้น การให้เช่นนั้นนำความสุขมาสู่ผู้ให้ พร้อมกับพระพรจากพระเจ้าด้วย. (มาลาคี 3:10; มัดธาย 6:1-4) แม้แต่เด็ก ๆ ในหมู่พยานพระยะโฮวาก็แสดงให้เห็นว่าเขาเป็นผู้ให้ด้วยใจกว้างและด้วยใจยินดี. ตัวอย่างเช่น หลังจากได้ยินเกี่ยวกับความพินาศเสียหายซึ่งเกิดจากพายุเฮอร์ริเคนลูกหนึ่งที่ถล่มพื้นที่หนึ่งของสหรัฐ แอลลิสันซึ่งอายุเพียงสี่ขวบได้ส่งเงินบริจาคมาสองดอลลาร์. เธอเขียนว่า “นี่เป็นเงินทั้งหมดที่หนูมีในกระปุกออมสิน. หนูทราบว่าพวกเด็ก ๆ สูญเสียของเล่นและหนังสือและตุ๊กตาของเขาไปหมด. บางทีคุณอาจใช้เงินนี้ซื้อหนังสือให้แก่เด็กหญิงตัวเล็ก ๆ ที่อายุขนาดหนูได้.” แมกเลนซึ่งมีอายุแปดขวบเขียนมาว่า เขารู้สึกดีใจที่ไม่มีพี่น้องเสียชีวิตเพราะพายุนี้. เขากล่าวเสริมอีกว่า “ผมช่วยพ่อขายฝาครอบดุมล้อได้เงินมา 17 ดอลลาร์. ผมเกือบซื้ออะไรบางอย่างด้วยเงินนี้อยู่แล้ว แต่แล้วผมก็นึกขึ้นได้ถึงพวกพี่น้อง.”—โปรดดูกรอบสี่เหลี่ยมข้างบนด้วย.
จริงทีเดียว พระทัยของพระยะโฮวาชื่นบานยินดีที่เห็นทั้งคนหนุ่มและผู้สูงอายุจัดให้ผลประโยชน์ของราชอาณาจักรของพระองค์มาเป็นอันดับแรกด้วย ‘การถวายพระเกียรติยศแด่พระองค์ด้วยทรัพย์ของเขา.’ (สุภาษิต 3:9, 10) แน่นอน ไม่มีใครอาจทำให้พระยะโฮวาทรงมั่งคั่งขึ้นได้จริง ๆ เพราะพระองค์ทรงเป็นเจ้าของสรรพสิ่งทั้งสิ้น. (1 โครนิกา 29:14-17) แต่การสนับสนุนงานนี้เป็นสิทธิพิเศษที่เปิดโอกาสให้แก่ผู้นมัสการแสดงความรักของเขาต่อพระยะโฮวา. เรารู้สึกหยั่งรู้ค่าทุก ๆ คนที่หัวใจเขากระตุ้นให้ทำเช่นนี้.
[เชิงอรรถ]
a แม้ว่าเปาโล “สั่ง” แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าท่านเรียกร้องบังคับตามอำเภอใจ. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น เปาโลเพียงแต่ควบคุมดูแลการเรี่ยไรซึ่งทำกันในหลายประชาคม. นอกจากนั้น เปาโลกล่าวว่าเมื่ออยู่ “ที่บ้านของตนเอง” แต่ละคนควรจะ “เก็บเงินผลประโยชน์ที่ได้ไว้บ้าง.” พูดอีกอย่างคือ การบริจาคแต่ละรายทำกันเป็นส่วนตัวและตามความสมัครใจ. ไม่มีใครถูกบังคับ.
[กรอบหน้า 26, 27]
วิธีต่าง ๆ ที่บางคนเลือกใช้เพื่อการบริจาคสำหรับงานทั่วโลก
หลายคนกันเงินไว้หรือจัดงบประมาณไว้จำนวนหนึ่งสำหรับใส่ในหีบบริจาคที่ติดป้ายว่า “เงินบริจาคสำหรับงานของสมาคมฯ ตลอดทั่วโลก—มัดธาย 24:14.” แต่ละเดือนประชาคมจัดส่งเงินจำนวนนี้ไปยังสำนักงานใหญ่ในบรุกลิน นิวยอร์ก หรือส่งไปที่สำนักงานสาขาในท้องถิ่น.
เงินบริจาคด้วยใจสมัครอาจส่งตรงไปที่ Treasurer’s Office, Watch Tower Bible and Tract Society of Pennsylvania, 25 Columbia Heights, Brooklyn, New York 11201-2483 หรือสำนักงานของสมาคมฯ ที่ดำเนินงานในประเทศของคุณ. อาจบริจาคเพชรพลอยหรือของมีค่าอื่น ๆ ได้เช่นกัน. ส่งจดหมายสั้น ๆ ไปพร้อมกับของบริจาคเพื่อแจ้งว่าเป็นของที่ยกให้โดยสิ้นเชิง.
การบริจาคแบบมีเงื่อนไข
อาจฝากเงินไว้กับสมาคมว็อชเทาเวอร์ โดยมีข้อตกลงพิเศษว่า หากผู้บริจาคมีความจำเป็น ก็จะคืนเงินให้ผู้บริจาค. เพื่อจะทราบข้อมูลมากกว่านี้ โปรดติดต่อฝ่ายเหรัญญิกตามจ่าหน้าที่อยู่ข้างต้น.
การให้แบบเตรียมการ
นอกเหนือจากการบริจาคเงินแบบยกให้โดยสิ้นเชิงและการบริจาคแบบมีเงื่อนไขแล้ว ยังมีการให้ด้วยวิธีอื่นอีกเพื่อเป็นประโยชน์ต่องานรับใช้ราชอาณาจักรตลอดทั่วโลก. วิธีเหล่านี้รวมถึง:
การประกัน: อาจระบุชื่อสมาคมว็อชเทาเวอร์ [ในประเทศไทย: มูลนิธิส่งเสริมการศึกษาพระคัมภีร์] ให้เป็นผู้รับประโยชน์จากกรมธรรม์ประกันชีวิต หรือเงินบำเหน็จบำนาญ.
บัญชีเงินฝาก: บัญชีเงินฝาก, ใบรับรองการฝากเงิน, หรือบัญชีเงินบำนาญส่วนบุคคลอาจมอบไว้ในความดูแล ของสมาคมว็อชเทาเวอร์ หรือให้สมาคมฯ เบิกได้เมื่อเจ้าของบัญชีสิ้นชีวิต ตรงตามข้อกำหนดของธนาคารท้องถิ่น.
หุ้นและพันธบัตร: อาจบริจาคหุ้นและพันธบัตรให้สมาคมว็อชเทาเวอร์โดยยกให้โดยสิ้นเชิง หรือโดยมีข้อตกลงกันว่าผู้บริจาคยังคงรับเงินปันผลได้ต่อไป.
อสังหาริมทรัพย์: อสังหาริมทรัพย์ที่สามารถนำออกขายได้ก็อาจบริจาคให้แก่สมาคมว็อชเทาเวอร์ ไม่ว่าเป็นการยกให้โดยสิ้นเชิง หรือโดยการสงวนเอาไว้ตลอดชีวิตของผู้บริจาค ซึ่งจะอยู่อาศัยในที่ดินหรือบ้านนั้นชั่วชีวิตของเขา. เขาควรติดต่อกับสมาคมฯ ก่อนจะทำสัญญาโอนอสังหาริมทรัพย์ให้สมาคมฯ.
พินัยกรรมและกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน: อาจทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินหรือเงินซึ่งมีการลงนามถูกต้องตามกฎหมายให้แก่สมาคมว็อชเทาเวอร์ [หรือมูลนิธิฯ] หรือระบุชื่อสมาคมฯ ฐานะผู้รับประโยชน์ตามข้อตกลงว่าด้วยกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน. กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินอันเป็นประโยชน์ต่อองค์การศาสนาอาจได้เปรียบในแง่ที่ได้รับการยกเว้นภาษี.
ตามสำนวนที่ว่า “การให้แบบเตรียมการ” แสดงให้เห็นว่า การบริจาคประเภทเหล่านี้ ผู้บริจาคจำเป็นต้องมีการวางแผนกันอยู่บ้าง. เพื่อช่วยแต่ละคนซึ่งประสงค์จะให้สมาคมฯ [มูลนิธิ] ได้รับประโยชน์จากการให้แบบเตรียมการบางประเภทนั้น จึงได้มีการเตรียมจุลสารที่ชื่อว่า การให้แบบเตรียมการเพื่องานราชอาณาจักรทั่วโลก. (ภาษาอังกฤษ) จุลสารนี้จัดทำขึ้นเพื่อตอบคำถามหลายข้อที่สมาคมฯ ได้รับเกี่ยวข้องกับการบริจาค, พินัยกรรม, และกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน. ทั้งยังมีข้อมูลเพิ่มเติมที่เป็นประโยชน์ในการวางแผนเกี่ยวด้วยเรื่องทรัพย์สิน, การเงิน, และภาษี. และได้ออกแบบเพื่อช่วยผู้คนในประเทศสหรัฐซึ่งวางแผนจะยกทรัพย์สินให้สมาคมฯ ในเวลานี้หรือทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้เมื่อตนเสียชีวิต ที่จะเลือกวิธีที่มีข้อได้เปรียบและได้ผลดีที่สุด เมื่อคำนึงถึงครอบครัวตัวเองและสภาพการณ์ส่วนตัว.
หลังจากอ่านจุลสารนี้และปรึกษาแผนกการให้แบบเตรียมการ หลายคนจึงสามารถสนับสนุนสมาคมฯ และขณะเดียวกันก็ได้รับประโยชน์สูงสุดในแง่ที่เสียภาษีน้อยลง. ควรแจ้งไปยังแผนกการให้แบบเตรียมการซึ่งจะส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการจัดเตรียมเหล่านี้ให้คุณ. ผู้ที่สนใจการจัดเตรียมเรื่องการให้แบบเตรียมการประเภทใดประเภทหนึ่งควรเขียนไปยังสมาคมฯ ตามที่อยู่ข้างล่างนี้ หรือติดต่อสำนักงานสาขาในประเทศของคุณ.
การแบบเตรียมการเขียนถึง
Watch Tower Bible and Tract Society of Pennsylvania
100 Watchtower Drive, Patterson, New York 12563-9204 U.S.A.
Telephone: (914) 878-7000
[กรอบหน้า 28]
เด็ก ๆ ก็เป็นผู้ให้ด้วยใจยินดี!
หนูอยากบริจาคเงินจำนวนนี้เพื่อให้คุณผลิตหนังสือให้เราอ่านอีก. หนูเก็บออมเงินนี้ไว้จากการช่วยคุณพ่อ. ขอบคุณมากค่ะสำหรับงานหนักทั้งหมดที่คุณทำ.—พาเมลา อายุเจ็ดขวบ.
หนูส่งเงินมาให้คุณ 6.85 ดอลลาร์เพื่อช่วยสร้างหอประชุมราชอาณาจักรเพิ่มขึ้น. หนูได้เงินนี้จากการขายน้ำมะนาวข้างทางในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมานี้ค่ะ.—เซเลนา อายุหกขวบ.
ผมเลี้ยงแม่ไก่ตัวหนึ่งซึ่งมันฟักไข่ออกมาเป็นตัวผู้ตัวหนึ่ง ตัวเมียตัวหนึ่ง. ผมอุทิศตัวเมียให้แก่พระยะโฮวา. ในที่สุด มันออกลูกเป็นไก่ตัวเมียสามตัว ซึ่งผมได้ขายไป. ผมแนบเงินจำนวนนั้นมาด้วยเพื่อจะได้ใช้ในงานของพระยะโฮวา.—เทียร์รี อายุแปดขวบ.
นี่เป็นเงินทั้งหมดที่หนูมีอยู่! กรุณาใช้เงินนี้อย่างสุขุมนะคะ. การออมเงินไม่ใช่เรื่องง่าย. หนูส่งมาให้ 21 ดอลลาร์ค่ะ.—ซาราห์ อายุสิบขวบ.
หนูชนะรางวัลที่หนึ่งในการประกวดงานมอบหมายของโรงเรียน ดังนั้น หนูจึงต้องไปเข้าแข่งในการประกวดระดับอำเภอ. หนูชนะรางวัลที่หนึ่งอีกแล้วต่อจากนั้นก็มาได้รางวัลที่สองในรอบสุดท้ายในระดับจังหวัด. ในการชนะทั้งหมดที่ได้กล่าวไปนี้ หนูได้รับรางวัลเป็นเงินสด. หนูต้องการแบ่งเงินบางส่วนให้สมาคมฯ. หนูคิดว่าที่หนูชนะรางวัลเหล่านี้ได้ก็เพราะการฝึกอบรมที่หนูได้รับจากโรงเรียนการรับใช้ตามระบอบของพระเจ้า. หนูรู้สึกมั่นใจในการกล่าวรายงานต่อหน้าคณะกรรมการตัดสิน.—แอมเบอร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่หก.
หนูอยากให้เงินนี้แก่คุณเพื่อพระยะโฮวา. ช่วยถามพระองค์ด้วยนะคะว่าจะใช้เงินนี้ยังไงดี. พระองค์ทรงทราบทุกเรื่อง.—คาเรน อายุหกขวบ.
[รูปภาพหน้า 25]
กิจการงานของพยานพระยะโฮวาได้รับการสนับสนุนโดยการบริจาคด้วยใจสมัคร