พระธรรมเล่มที่ 47—2 โกรินโธ
ผู้เขียน: เปาโล
สถานที่เขียน: มาซิโดเนีย (มากะโดเนีย)
เขียนเสร็จ: ประมาณปี ส.ศ. 55
1, 2. (ก) อะไรทำให้เปาโลเขียนจดหมายฉบับที่สองถึงคริสเตียนชาวโกรินโธ? (ข) เปาโลเขียนจากที่ไหน และท่านเป็นห่วงเรื่องอะไร?
ตอนนี้คงเป็นช่วงปลายฤดูร้อนหรือไม่ก็ต้นฤดูใบไม้ร่วงปี ส.ศ. 55. ยังมีบางเรื่องในประชาคมคริสเตียนที่โกรินโธซึ่งทำให้อัครสาวกเปาโลเป็นห่วง. ไม่กี่เดือนเพิ่งผ่านไปนับตั้งแต่ท่านเขียนจดหมายฉบับแรกถึงคริสเตียนชาวโกรินโธ. ตั้งแต่นั้นติโตถูกส่งไปที่โกรินโธเพื่อช่วยรวบรวมเงินบริจาคซึ่งดำเนินการอยู่ที่นั่นสำหรับพวกผู้บริสุทธิ์ในยูเดีย และเป็นไปได้ว่าเพื่อสังเกตปฏิกิริยาที่คริสเตียนชาวโกรินโธมีต่อจดหมายฉบับแรกด้วย. (2 โก. 8:1-6; 2:13) พวกเขามีปฏิกิริยาอย่างไรต่อจดหมายนั้น? เป็นเรื่องที่ทำให้เปาโลสบายใจขึ้นจริง ๆ ที่ได้ทราบว่าจดหมายนั้นกระตุ้นให้พวกเขารู้สึกเสียใจและกลับใจ! ติโตกลับไปหาเปาโลที่มาซิโดเนียพร้อมกับข่าวดีนี้ และบัดนี้หัวใจท่านอัครสาวกเปี่ยมล้นด้วยความรักต่อเพื่อนร่วมความเชื่อชาวโกรินโธที่รักของท่าน.—7:5-7; 6:11.
2 ดังนั้น เปาโลจึงเขียนถึงชาวโกรินโธอีก. จดหมายฉบับที่สองซึ่งทำให้อบอุ่นใจและมีพลังนี้เขียนจากมาซิโดเนีย และดูเหมือนว่าติโตเป็นผู้นำส่ง. (9:2, 4; 8:16-18, 22-24) เรื่องหนึ่งที่น่าเป็นห่วงซึ่งกระตุ้นเปาโลให้เขียนจดหมายนี้ก็คือการมี “พวกอัครสาวกสุดวิเศษ” อยู่ท่ามกลางคริสเตียนชาวโกรินโธซึ่งท่านกล่าวถึงพวกเขาด้วยว่าเป็น “อัครสาวกปลอม เป็นคนงานชอบหลอกลวง.” (11:5, 13, 14, ล.ม.) สวัสดิภาพฝ่ายวิญญาณของประชาคมที่ค่อนข้างใหม่ตกอยู่ในอันตราย และอำนาจของเปาโลในฐานะอัครสาวกถูกโจมตี. ฉะนั้น จดหมายฉบับที่สองของท่านถึงพี่น้องที่โกรินโธจึงสนองความจำเป็นอันใหญ่หลวง.
3, 4. (ก) เปาโลเยี่ยมที่โกรินโธเองในครั้งใดบ้าง? (ข) พระธรรมโกรินโธฉบับสองเป็นประโยชน์แก่พวกเราในสมัยนี้อย่างไร?
3 น่าสังเกตที่เปาโลได้กล่าวว่า “นี่เป็นครั้งที่สามที่ข้าพเจ้าอยู่พร้อมจะมาหาท่านทั้งหลาย.” (2 โก. 12:14, ล.ม.; 13:1, ล.ม.) ท่านเคยวางแผนจะไปเยี่ยมพวกเขาเป็นครั้งที่สองตอนที่ท่านเขียนจดหมายฉบับแรก แต่ถึงแม้ท่านพร้อม “โอกาสสำหรับความยินดีครั้งที่สอง” นี้ก็ไม่ได้เป็นจริงขึ้นมา. (1 โก. 16:5; 2 โก. 1:15, ล.ม.) ดังนั้น ตามจริงแล้ว ก่อนนี้เปาโลเคยอยู่ที่นั่นเพียงครั้งเดียวเป็นเวลาสิบแปดเดือนในปี ส.ศ. 50-52 คราวที่ประชาคมคริสเตียนถูกตั้งขึ้นในโกรินโธ. (กิจ. 18:1-18) อย่างไรก็ตาม ต่อมาเปาโลได้ทำให้ความปรารถนาจะไปเยี่ยมที่โกรินโธนั้นสำเร็จเป็นจริงขึ้นมาอีกครั้ง. ขณะที่อยู่ในประเทศกรีซเป็นเวลาสามเดือน คงเป็นในปี ส.ศ. 56 ท่านใช้เวลาอย่างน้อยก็ส่วนหนึ่งในโกรินโธ และจากที่นี่เองที่ท่านเขียนจดหมายไปถึงคริสเตียนในกรุงโรม.—โรม 16:1, 23; 1 โก. 1:14.
4 พระธรรมโกรินโธฉบับสองถูกนับว่าเป็นส่วนแห่งสารบบพระคัมภีร์เสมอพร้อมกับพระธรรมโกรินโธฉบับต้นและจดหมายฉบับอื่นของเปาโล. อีกครั้งหนึ่งที่เราสามารถมองดูภายในประชาคมที่โกรินโธและรับประโยชน์จากถ้อยคำโดยการดลใจของเปาโลซึ่งให้คำเตือนสติแก่พวกเขาและพวกเราด้วย.
เนื้อเรื่องในโกรินโธฉบับสอง
5. (ก) เปาโลเขียนอะไรเกี่ยวกับการปลอบโยน? (ข) อะไรที่มาโดยทางพระคริสต์ซึ่งทำให้แน่ใจยิ่งขึ้น?
5 ความช่วยเหลือจาก “พระเจ้าแห่งการปลอบโยนทุกอย่าง” (1:1–2:11). เปาโลรวมติโมเธียวไว้ด้วยในคำอวยพรขึ้นต้นจดหมาย. เปาโลกล่าวว่า “จงสรรเสริญ . . . พระบิดาแห่งความเมตตาอันอ่อนละมุนและพระเจ้าแห่งการปลอบโยนทุกอย่าง พระองค์ผู้ทรงปลอบโยนเราในความทุกข์ยากทั้งสิ้นของเรา” เพื่อเราจะปลอบโยนคนอื่นต่อไปได้. ถึงแม้เปาโลกับเพื่อนร่วมงานของท่านตกอยู่ใต้ความกดดันอย่างหนักหนาสาหัสและชีวิตของพวกท่านอยู่ในอันตราย พระเจ้าได้ทรงช่วยชีวิตพวกท่าน. คริสเตียนชาวโกรินโธก็สามารถช่วยได้เช่นกันโดยการอธิษฐานเพื่อพวกท่าน. เปาโลเขียนจดหมายถึงพวกเขาด้วยความมั่นใจในความจริงใจของตนและในพระกรุณาอันไม่พึงได้รับจากพระเจ้า. คำสัญญาของพระเจ้าได้มาเป็น “จริง” โดยพระเยซู และพระองค์ได้ทรงเจิมคนเหล่านั้นที่เป็นของพระคริสต์และทรงประทาน “หลักฐานของสิ่งที่จะมีมา นั่นคือพระวิญญาณ” ไว้ในหัวใจของเขา.—1:3, 4, 20, 22, ล.ม.
6. เปาโลแนะนำว่าควรทำอย่างไรต่อผู้ทำผิดที่ถูกตัดสัมพันธ์ซึ่งบัดนี้ได้กลับใจ?
6 ปรากฏว่าคนที่เปาโลมุ่งกล่าวถึงในบทที่ห้าของจดหมายฉบับแรกของท่านนั้นถูกขับออกจากประชาคม. เขาได้กลับใจและแสดงความเสียใจ. ดังนั้น เปาโลจึงบอกคริสเตียนชาวโกรินโธให้สำแดงการให้อภัยที่แท้จริงและยืนยันความรักที่พวกเขามีต่อผู้สำนึกเสียใจนั้น.
7. เปาโลบรรยายถึงตัวท่านเองกับชาวโกรินโธอย่างไร และท่านยืนยันอะไร?
7 มีคุณวุฒิเป็นผู้รับใช้แห่งสัญญาไมตรีใหม่ (2:12–6:10). เปาโลบรรยายถึงตัวท่านเองกับคริสเตียนชาวโกรินโธว่าอยู่ในขบวนแห่ฉลองชัยกับพระคริสต์. (ชาวโกรินโธคุ้นเคยกับกลิ่นหอมหวนของเครื่องหอมที่ถูกเผาตามเส้นทางขบวนแห่ฉลองชัยของกองทัพในสมัยนั้น.) มีความแตกต่างอย่างเด่นชัดระหว่าง “กลิ่น” ของคริสเตียนสำหรับผู้ซึ่งจะได้ชีวิตกับ “กลิ่น” สำหรับผู้ที่จะพินาศ. เปาโลยืนยันว่า “เราไม่ใช่คนเร่ขายพระคำของพระเจ้า.”—2:16, 17, ล.ม.
8. (ก) เปาโลกับเพื่อนร่วมงานของท่านมีหนังสือรับรองอะไรในฐานะเป็นผู้รับใช้? (ข) งานรับใช้แห่งสัญญาไมตรีใหม่เหนือกว่าอย่างไร?
8 เปาโลกับเพื่อนร่วมงานของท่านไม่จำเป็นต้องมีเอกสารหรือหนังสือแนะนำตัวแก่หรือจากชาวโกรินโธ. เปาโลแถลงว่า ผู้เชื่อถือชาวโกรินโธนั่นแหละคือหนังสือแนะนำตัวซึ่งเขียนไว้ “โดยเราในฐานะผู้รับใช้” และจารึกไว้มิใช่บนแผ่นหิน แต่ “บนแผ่นเนื้อ คือบนหัวใจ.” พระเจ้าได้ทรงทำให้เหล่าผู้รับใช้แห่งสัญญาไมตรีใหม่มีคุณวุฒิพอเพียง. ประมวลกฎหมายซึ่งเขียนไว้นั้นเป็นการดำเนินการแห่งความตาย พร้อมกับสง่าราศีที่เสื่อมลงและเป็นเพียงชั่วคราว. แต่การดำเนินการของพระวิญญาณนำไปถึงชีวิต ยั่งยืน และบริบูรณ์ด้วยสง่าราศี. เมื่อมีการ “อ่านหนังสือของโมเซ” มีผ้าคลุมหัวใจชาวยิศราเอลอยู่ แต่เมื่อมีการหันกลับมาหาพระยะโฮวา ผ้าคลุมนั้นถูกเปิดออก และพวกเขาก็ “ถูกเปลี่ยนแปลงให้เป็นภาพเดียวกันจากสง่าราศีไปสู่สง่าราศี”—3:3, 15, 18, ล.ม.
9. เปาโลพรรณนาทรัพย์ล้ำค่าแห่งงานรับใช้อย่างไร?
9 แล้วเปาโลกล่าวต่อไปว่า ‘เรามีการรับใช้นี้ตามความเมตตาที่ได้แสดงต่อเรา. เราได้สลัดทิ้งสิ่งต่าง ๆ อันเต็มด้วยเล่ห์เหลี่ยมและไม่บิดเบือนพระคำของพระเจ้า แต่เราได้แนะนำตนเองโดยการสำแดงความจริงให้ปรากฏ. ถ้าข่าวสารแห่งข่าวดีถูกปิดคลุมไว้ นั่นเป็นเพราะพระเจ้าแห่งโลกนี้ได้ทำให้จิตใจคนที่ไม่เชื่อมืดไป. แต่หัวใจของเรานั้นสว่างด้วยความรู้อันรุ่งโรจน์ของพระเจ้าโดยพระพักตร์พระคริสต์. ทรัพย์ที่เรามีอยู่นี้ช่างล้ำค่าจริง ๆ! ทรัพย์นั้นอยู่ในภาชนะดินเพื่อว่ากำลังที่มากกว่าปกตินั้นจะเป็นของพระเจ้า. ภายใต้การกดขี่ข่มเหงและการบีบคั้นกดดัน ใช่แล้ว ในการเผชิญกับความตายด้วยซ้ำ เราสำแดงความเชื่อและไม่ยอมแพ้ เพราะความทุกข์ลำบากชั่วประเดี๋ยวเดียวนั้นจะทำให้เรามีเกียรติสูงยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ และอยู่นิรันดร. ดังนั้น เราจึงเพ่งตาไปยังสิ่งที่มองไม่เห็น.’—4:1-18, ล.ม.
10. (ก) เปาโลกล่าวอย่างไรเกี่ยวกับคนเหล่านั้นที่ร่วมสามัคคีกับพระคริสต์? (ข) เปาโลแนะนำตัวเองอย่างไรในฐานะผู้รับใช้ของพระเจ้า?
10 เปาโลเขียนว่า ‘เรารู้อยู่ว่าเรือนดินของเราจะถูกแทนด้วยเรือนถาวรในสวรรค์. ขณะเดียวกัน เรามุ่งไปด้วยความเชื่อและมีความกล้าหาญ. แม้จะไม่ได้อยู่กับพระคริสต์ก็ตาม แต่เราก็พยายามทำตัวให้เป็นที่พอพระทัยพระองค์.’ (5:1, 7-9) คนเหล่านั้นที่ร่วมสามัคคีกับพระคริสต์เป็น “สิ่งทรงสร้างใหม่” และทำงานรับใช้แห่งการคืนดีกัน. พวกเขาเป็น “ราชทูตทำหน้าที่แทนพระคริสต์.” (5:17, 20, ล.ม.) ในทุกวิถีทาง เปาโลแนะนำตัวเองในฐานะผู้รับใช้ของพระเจ้า. โดยวิธีใด? ‘โดยความเพียรอดทนอย่างมากในความทุกข์, ในการถูกเฆี่ยน, ในงานหนักต่าง ๆ, ในการอดหลับอดนอน; โดยความบริสุทธิ์, โดยความรู้, โดยการอดกลั้นไว้นาน, โดยความกรุณา, โดยพระวิญญาณบริสุทธิ์, โดยความรักที่ปราศจากการหน้าซื่อใจคด, โดยถ้อยคำสัตย์จริง, โดยฤทธิ์เดชของพระเจ้า, เหมือนคนยากจนแต่ก็ทำให้คนเป็นอันมากมั่งมี, เสมือนคนที่ไม่มีอะไรเลย แต่ก็มีสารพัดสิ่ง.’—6:4-10.
11. เปาโลให้คำแนะนำและคำเตือนอะไร?
11 “ทำความบริสุทธิ์ให้สมบูรณ์ด้วยความเกรงกลัวพระเจ้า” (6:11–7:16). เปาโลบอกคริสเตียนชาวโกรินโธว่า ‘หัวใจเราเปิดกว้างออกเพื่อรับท่านทั้งหลาย.’ พวกเขาเช่นกันควรแผ่ความรักใคร่อันอ่อนละมุนของเขาให้กว้างออกไปด้วย. แต่บัดนี้มีคำเตือน! “อย่าเข้าเทียมแอกอย่างไม่เสมอกันกับคนไม่มีความเชื่อ.” (6:11, 14, ล.ม.) ความสว่างจะเป็นมิตรอย่างไรกับความมืด หรือพระคริสต์กับเบลิอาล? ในฐานะเป็นพระวิหารของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่ พวกเขาต้องแยกตัวเองอยู่ต่างหากและเลิกถูกต้องสิ่งไม่สะอาด. เปาโลกล่าวว่า “ให้เราชำระตัวเราจากมลทินทุกอย่างแห่งเนื้อหนังและวิญญาณ ทำความบริสุทธิ์ให้สมบูรณ์ด้วยความเกรงกลัวพระเจ้า.”—7:1, ล.ม.
12. เหตุใดเปาโลยินดีกับรายงานจากโกรินโธ?
12 เปาโลกล่าวต่อไปอีกว่า “ข้าพเจ้าเปี่ยมด้วยความสบายใจ ข้าพเจ้ามีความยินดีเหลือล้นในความยากลำบากทั้งสิ้นของพวกเรา.” (7:4, ล.ม.) เพราะเหตุใด? ไม่เพียงเนื่องจากการมาของติโตเท่านั้น แต่ยังเนื่องด้วยรายงานที่ดีจากโกรินโธด้วย ซึ่งเกี่ยวกับความอาลัยอาวรณ์, ความเศร้าใจ, และใจแรงกล้าที่พวกเขามีต่อเปาโล. เปาโลตระหนักว่าจดหมายฉบับแรกของท่านได้ยังความเศร้าใจชั่วระยะหนึ่ง แต่ท่านยินดีที่พี่น้องชาวโกรินโธโศกเศร้าเพื่อกลับใจสู่ความรอด. ท่านชมเชยพวกเขาที่ร่วมมือกับติโต.
13. (ก) เปาโลอ้างถึงตัวอย่างอะไรบ้างในเรื่องความเอื้อเฟื้อ? (ข) เปาโลอธิบายถึงหลักการอะไรซึ่งเกี่ยวกับการให้?
13 ความเอื้อเฟื้อจะได้รับบำเหน็จ (8:1–9:15). เกี่ยวกับการบริจาคเพื่อ “เหล่าผู้บริสุทธิ์” ที่ขัดสนนั้น เปาโลอ้างถึงตัวอย่างของคริสเตียนชาวมาซิโดเนียซึ่งความเอื้อเฟื้อของพวกเขาทั้ง ๆ ที่ยากจนข้นแค้นก็เกินกว่าความสามารถของเขาจริง ๆ; และบัดนี้ท่านหวังจะเห็นการให้แบบเดียวกันของคริสเตียนชาวโกรินโธเพื่อเป็นการแสดงให้เห็นความรักแท้ที่พวกเขามีต่อพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้า ผู้ซึ่งได้กลายเป็นคนยากจนเพื่อพวกเขาจะเป็นคนร่ำรวย. การให้ตามที่เขามีเช่นนี้จะยังผลให้มีฐานะเท่าเทียมกัน เพื่อว่าผู้ซึ่งมีมากจะไม่มีมากเกินไป และผู้ซึ่งมีน้อยจะไม่มีน้อยเกินไป. เกี่ยวเนื่องกับการให้ด้วยความกรุณาอย่างนี้แหละที่ติโตกับคนอื่น ๆ ถูกส่งไปหาพวกเขา. เปาโลอวดเกี่ยวกับความเอื้อเฟื้อและความอยู่พร้อมของชาวโกรินโธ และท่านไม่ต้องการให้พวกเขาต้องละอายเนื่องจากไม่ได้ให้มากจนครบตามที่ตั้งใจไว้. ถูกแล้ว “คนที่หว่านมากจะเกี่ยวเก็บมาก.” ขอให้การให้นั้นออกมาจากหัวใจ ด้วยว่า “พระเจ้าทรงรักคนนั้นที่ให้ด้วยใจยินดี.” นอกจากนั้น พระองค์ทรงสามารถทำให้พระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระองค์มีบริบูรณ์แก่เขาและทำให้พวกเขามั่งคั่งเพื่อแสดงความเอื้อเฟื้อทุกแบบ. “ขอบพระคุณพระเจ้าสำหรับของประทานที่พระองค์ทรงให้เปล่าอันสุดจะพรรณนาได้.”—9:1, 6, 7, 15, ล.ม.
14. เปาโลใช้จุดสำคัญอะไรบ้างสนับสนุนฐานะอัครสาวกของท่าน?
14 เปาโลให้หลักฐานเกี่ยวกับฐานะอัครสาวกของท่าน (10:1–13:14). เปาโลยอมรับว่าท่านมีลักษณะภายนอกดูต่ำต้อย. แต่คริสเตียนไม่ได้ต่อสู้ตามเนื้อหนัง; ยุทธภัณฑ์ของพวกเขาเป็นฝ่ายวิญญาณ “มีพลังมากเนื่องจากพระเจ้า” เพื่อคว่ำการหาเหตุผลที่ขัดกับความรู้ของพระเจ้า. (10:4, ล.ม.) บางคนที่มองดูสิ่งต่าง ๆ แค่ตามที่ตาเห็น บอกว่าหนังสือของท่านอัครสาวกมีน้ำหนักแต่คำพูดของท่านน่าเหยียดหยาม. ให้พวกเขารู้เถอะว่าการกระทำของเปาโลจะเหมือนกับถ้อยคำที่ท่านเขียน. ชาวโกรินโธพึงตระหนักว่าเปาโลไม่ได้อวดเรื่องความสำเร็จในเขตงานของคนอื่น. ท่านได้นำข่าวดีไปยังพวกเขาด้วยตนเอง. นอกจากนั้น ถ้าจะมีการโอ้อวดอะไรละก็ จงอวดเรื่องพระยะโฮวาเถิด.
15. (ก) เปาโลกล่าวต่อต้านพวกอัครสาวกปลอมด้วยตัวอย่างเปรียบเทียบอะไรบ้าง? (ข) ประวัติของเปาโลเองเป็นอย่างไร?
15 เปาโลสำนึกถึงหน้าที่รับผิดชอบของท่านในการเสนอประชาคมโกรินโธแก่พระคริสต์เสมือนพรหมจารีที่บริสุทธิ์. ฮาวาถูกงูล่อลวงด้วยด้วยกลอุบายฉันใด ก็มีอันตรายที่จิตใจพวกเขาอาจถูกทำให้เสื่อมทรามไปฉันนั้น. เปาโลจึงกล่าวต่อต้าน “พวกอัครสาวกสุดวิเศษ” ในประชาคมโกรินโธอย่างแรง. (11:5, ล.ม.) พวกเขาเป็นอัครสาวกปลอม. ซาตานเองก็ปลอมตัวเป็นทูตแห่งความสว่างอยู่เรื่อย ๆ จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้รับใช้ของมันทำเหมือนกัน. แต่เกี่ยวกับการเป็นผู้รับใช้ของพระคริสต์ พวกเขาจะเทียบกับประวัติของท่านเปาโลได้อย่างไร? ท่านได้เพียรอดทนมากมาย เช่น ถูกจำคุก, ถูกตี, เรือแตกสามครั้ง, เผชิญอันตรายหลายอย่าง, อดหลับอดนอนและอดอาหารบ่อย ๆ. แต่ตลอดเหตุการณ์ทั้งปวงนั้น ท่านไม่เคยมองข้ามความจำเป็นของประชาคมต่าง ๆ และรู้สึกโกรธเสมอเมื่อมีคนใดถูกทำให้สะดุด.
16. (ก) เปาโลอาจอวดได้ในเรื่องใด แต่ทำไมท่านอยากกล่าวถึงความอ่อนแอของท่านแทน? (ข) เปาโลทำให้มีข้อพิสูจน์ฐานะอัครสาวกของท่านอย่างไร?
16 ดังนั้น หากคนใดคนหนึ่งมีเหตุผลจะอวด คนนั้นคือเปาโล. คนอื่น ๆ ที่เรียกกันว่าอัครสาวกที่โกรินโธจะบอกได้ไหมว่าเคยถูกพาเข้าไปในอุทยานเพื่อได้ยินเรื่องที่สุดจะพรรณนาได้? ถึงกระนั้น เปาโลกล่าวถึงความอ่อนแอของท่าน. เพื่อท่านจะไม่รู้สึกว่าสูงส่งเกินขนาด ท่านจึงถูกทำให้มี “หนามในเนื้อหนัง.” เปาโลทูลวิงวอนให้มีการถอนมันออกไปแต่ได้รับแจ้งว่า “ความกรุณาอันไม่พึงได้รับของเราพอเพียงแล้วสำหรับเจ้า.” เปาโลจึงเต็มใจจะอวดเรื่องความอ่อนแอของท่านมากกว่าว่า “ฤทธิ์เดชของพระคริสต์จะเสมือนเต็นท์อยู่เหนือข้าพเจ้าต่อ ๆ ไป.” (12:7, 9, ล.ม.) เปล่าเลย เปาโลไม่ได้ปรากฏว่าด้อยไปกว่า “พวกอัครสาวกสุดวิเศษ” และคริสเตียนชาวโกรินโธก็ได้เห็นข้อพิสูจน์ต่าง ๆ แล้วในเรื่องฐานะอัครสาวกของท่านที่ท่านทำให้มีขึ้นท่ามกลางพวกเขา “โดยความเพียรอดทนทุกอย่าง และโดยเครื่องหมายต่าง ๆ และสิ่งน่าอัศจรรย์และการงานด้วยอิทธิฤทธิ์.” ท่านไม่ได้หาทางจะได้ทรัพย์สมบัติของพวกเขา เหมือนที่ติโตกับเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ ซึ่งเปาโลส่งไปก็ไม่ได้ฉวยประโยชน์จากพวกเขา.—12:11, 12.
17. เปาโลให้คำเตือนสติอะไรแก่ชาวโกรินโธเป็นประการสุดท้าย?
17 ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปเพื่อเสริมสร้างคริสเตียนที่นั่น. แต่เปาโลแสดงความหวั่นใจว่าเมื่อท่านไปถึงโกรินโธ ท่านจะพบว่ามีบางคนไม่ได้กลับใจจากการของเนื้อหนัง. ท่านให้คำเตือนล่วงหน้าแก่ผู้ที่ทำบาปว่า ท่านจะดำเนินการอย่างเหมาะสมและจะไม่ยกเว้นใครเลย และท่านแนะนำทุกคนในประชาคมให้ตรวจสอบเสมอว่าเขาอยู่ในความเชื่อร่วมสามัคคีกับพระเยซูคริสต์หรือไม่. เปาโลกับติโมเธียวจะอธิษฐานต่อพระเจ้าเพื่อพวกเขา. เปาโลบอกให้พวกเขาชื่นชมยินดีและกลับเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันอีก เพื่อว่าพระเจ้าแห่งความรักและสันติสุขจะสถิตกับเขา และท่านลงท้ายจดหมายด้วยการส่งคำทักทายจากเหล่าผู้บริสุทธิ์และความปรารถนาดีของท่านเองมาเพื่อความเจริญฝ่ายวิญญาณของพวกเขา.
เหตุที่เป็นประโยชน์
18. คริสเตียนควรรับเอาทัศนะที่ถูกต้องเช่นไรต่องานรับใช้?
18 ความหยั่งรู้ค่าที่เปาโลมีต่องานรับใช้ของคริสเตียนดังมีแสดงไว้ในพระธรรมโกรินโธฉบับสองช่างกระตุ้นหนุนใจจริง ๆ! ให้เรามองงานนั้นอย่างที่ท่านมอง. ผู้รับใช้คริสเตียนซึ่งพระเจ้าทรงทำให้มีคุณวุฒิพอเพียงนั้นไม่ใช่คนเร่ขายพระคำแต่รับใช้ด้วยความจริงใจ. สิ่งที่แนะนำตัวเขาไม่ใช่เอกสารที่เขียนขึ้นแต่เป็นผลที่เขาทำให้เกิดขึ้นในงานรับใช้. อย่างไรก็ตาม แม้งานรับใช้เป็นงานที่มีเกียรติ แต่งานนี้ไม่ใช่สาเหตุที่เขาจะกลายเป็นคนพองตัว. ผู้รับใช้ทั้งหลายของพระเจ้าซึ่งเป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์มีทรัพย์ล้ำค่าแห่งงานรับใช้นี้ในภาชนะดินที่เปราะบาง เพื่อฤทธิ์นั้นจะเป็นที่เห็นชัดเจนว่าเป็นของพระเจ้า. ฉะนั้น เรื่องนี้จึงเรียกร้องความถ่อมใจในการรับเอาสิทธิพิเศษอันรุ่งโรจน์แห่งการเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า และเป็นพระกรุณาอันไม่พึงได้รับจากพระเจ้าจริง ๆ ที่ได้รับใช้เป็น “ราชทูตทำหน้าที่แทนพระคริสต์”! ดังนั้น คำกระตุ้นเตือนของเปาโลจึงเหมาะสมจริง ๆ ที่ว่า “อย่ารับเอาพระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระเจ้าแล้วพลาดจุดมุ่งหมายของพระกรุณานั้น”!—2:14-17; 3:1-5; 4:7; 5:18-20; 6:1, ล.ม.
19. แบบอย่างอันโดดเด่นในหลายทางที่เปาโลวางไว้สำหรับคริสเตียนผู้รับใช้ในทุกวันนี้มีอะไรบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ดูแล?
19 เป็นที่แน่นอนว่าเปาโลได้วางตัวอย่างอันยอดเยี่ยมไว้ให้ผู้รับใช้คริสเตียนทั้งหลายเลียนแบบ. ประการหนึ่งคือ ท่านเห็นคุณค่าและศึกษาพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูที่มีขึ้นโดยการดลใจ หลายครั้งหลายหนที่ท่านยกข้อความจากพระคัมภีร์นั้นมากล่าว, อ้างถึง, และอธิบายข้อเหล่านั้น. (2 โก. 6:2, 16-18; 7:1; 8:15; 9:9; 13:1; ยซา. 49:8; เลวี. 26:12; ยซา. 52:11; ยเอศ. 20:41; 2 ซามู. 7:14; โฮ. 1:10) นอกจากนั้น ในฐานะเป็นผู้ดูแล ท่านแสดงความห่วงใยลึกซึ้งต่อฝูงแกะโดยกล่าวว่า “สำหรับข้าพเจ้า ข้าพเจ้ายินดีอย่างยิ่งจะทุ่มเทและทุ่มเทหมดตัวเพื่อจิตวิญญาณของท่านทั้งหลาย.” ท่านทุ่มเทตนเองจนหมดเพื่อประโยชน์ของพี่น้อง ดังที่บันทึกแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน. (2 โก. 12:15, ล.ม.; 6:3-10) ท่านทำงานหนักอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยขณะที่ท่านสอน, กระตุ้นเตือน, และจัดการเรื่องราวต่าง ๆ ให้เรียบร้อยในประชาคมโกรินโธ. ท่านเตือนอย่างชัดแจ้งให้ระวังการเป็นมิตรกับความมืด โดยบอกคริสเตียนชาวโกรินโธว่า “อย่าเข้าเทียมแอกอย่างไม่เสมอกันกับคนไม่มีความเชื่อ.” เนื่องด้วยความรักใคร่ห่วงใยที่ท่านมีต่อพวกเขา ท่านไม่ต้องการเห็นจิตใจของพวกเขาเสื่อมเสียไปอย่างที่ “งูนั้นได้ล่อลวงนางฮาวาด้วยอุบายของมัน” และดังนั้นท่านจึงเตือนสติพวกเขาด้วยใจจริงว่า “จงตรวจสอบอยู่เสมอว่าท่านทั้งหลายอยู่ในความเชื่อหรือไม่ จงพิสูจน์ให้เห็นเสมอว่าตัวท่านเป็นเช่นไร.” ท่านกระตุ้นเขาให้เป็นคริสเตียนที่มีความเอื้อเฟื้อ โดยแสดงให้เขาเห็นว่า “พระเจ้าทรงรักผู้ให้ด้วยใจยินดี” และท่านเองก็แสดงความขอบพระคุณด้วยความหยั่งรู้ค่าอย่างยิ่งต่อพระเจ้าเนื่องด้วยของประทานที่พระองค์ทรงให้เปล่าอันสุดจะพรรณนาได้นั้น. พี่น้องที่โกรินโธถูกจารึกไว้ด้วยความรักลงบนแผ่นหัวใจของเปาโลอย่างแท้จริง และการรับใช้อย่างไม่จำกัดของท่านเพื่อผลประโยชน์ของพวกเขาควรเป็นลักษณะประจำตัวของผู้ดูแลที่มีใจแรงกล้าและตื่นตัวเสมอ. นับเป็นแบบอย่างที่โดดเด่นจริง ๆ สำหรับพวกเราในทุกวันนี้!—6:14, ล.ม.; 11:3; 13:5, ล.ม.; 9:7, 15, ล.ม.; 3:2.
20. (ก) เปาโลจัดจิตใจของเราให้อยู่ในทิศทางที่ถูกต้องอย่างไร? (ข) พระธรรมโกรินโธฉบับสองชี้ถึงความหวังอันรุ่งโรจน์อะไร?
20 อัครสาวกเปาโลจัดจิตใจของเราให้อยู่ในทิศทางที่ถูกต้องโดยชี้ไปยัง “พระบิดาแห่งความเมตตาอันอ่อนละมุนและพระเจ้าแห่งการปลอบโยนทุกอย่าง” ว่าเป็นแหล่งที่แท้จริงแห่งความเข้มแข็งในเวลาแห่งการทดลอง. พระองค์ทรงเป็นผู้ “ปลอบโยนเราในความทุกข์ยากทั้งสิ้นของเรา” เพื่อเราจะเพียรอดทนแล้วรอดเข้าสู่โลกใหม่ของพระองค์. นอกจากนี้เปาโลยังได้ชี้ถึงความหวังอันรุ่งโรจน์เกี่ยวกับ “สิ่งก่อสร้างจากพระเจ้า เป็นเรือนซึ่งมิได้สร้างด้วยมือ คงอยู่นิรันดรในสวรรค์” และกล่าวว่า “ดังนั้นถ้าแม้คนใดร่วมสามัคคีกับพระคริสต์ เขาก็เป็นสิ่งทรงสร้างใหม่; สิ่งเก่า ๆ ได้ล่วงไป นี่แน่ะ สิ่งใหม่ ๆ ได้บังเกิดขึ้นแล้ว.” พระธรรมโกรินโธฉบับสองบรรจุถ้อยคำอันยอดเยี่ยมจริง ๆ เกี่ยวด้วยคำรับรองสำหรับผู้ซึ่งจะได้รับราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์เป็นมรดกเหมือนเปาโล.—1:3, 4, ล.ม.; 5:1, 17, ล.ม.