จากปก
ทำไมคุณควรอธิษฐาน?
คุณอาจสงสัยว่า ‘ถ้าพระเจ้ารู้ทุกอย่าง ถึงขนาดที่รู้ว่าฉันคิดหรือต้องการอะไร แล้วฉันจะอธิษฐานไปทำไมอีก?’ คำถามนี้ฟังดูมีเหตุผล เพราะแม้แต่พระเยซูก็ยังบอกว่า พระเจ้า “ทราบว่าท่านต้องการอะไรก่อนที่ท่านจะทูลขอต่อพระองค์” (มัดธาย 6:8, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย ) กษัตริย์ดาวิดของชาติอิสราเอลโบราณรู้เรื่องนี้ดี เขาเขียนว่า “ข้าแต่พระยะโฮวา ถ้อยคำที่ลิ้นของข้าพเจ้า ไม่มีสักคำเดียวที่พระองค์ไม่ทรงทราบ” (บทเพลงสรรเสริญ 139:4) แล้วทำไมเรายังต้องหันเข้าหาพระเจ้าและอธิษฐานถึงพระองค์? เพื่อตอบคำถามนี้ ให้เรามาดูกันว่าคัมภีร์ไบเบิลพูดอย่างไรเกี่ยวกับคำอธิษฐานของผู้นมัสการพระเจ้าa
“จงเข้าไปใกล้พระเจ้า แล้วพระองค์จะทรงเข้ามาใกล้พวกท่าน”—ยาโกโบ 4:8
การอธิษฐานช่วยให้เราใกล้ชิดพระเจ้า
ถึงแม้คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าพระยะโฮวาbพระเจ้ารู้ทุกสิ่ง แต่พระองค์ไม่ได้แค่ต้องการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับผู้นมัสการพระองค์ (บทเพลงสรรเสริญ 139:6; โรม 11:33) พระเจ้าไม่เหมือนกับคอมพิวเตอร์ที่ไร้ชีวิตจิตใจซึ่งได้แต่เก็บข้อมูลของผู้คนไว้มากมาย ที่จริง พระเจ้ามีความทรงจำที่ไร้ขีดจำกัด พระองค์สนใจว่าลึก ๆ แล้วเราคิดอะไร และอยากให้เราเข้ามาใกล้ชิดพระองค์มากขึ้น (บทเพลงสรรเสริญ 139:23, 24; ยาโกโบ 4:8) นี่เป็นเหตุผลที่พระเยซูสนับสนุนคนที่ติดตามท่านให้อธิษฐานต่อไป ทั้ง ๆ ที่พระเจ้าก็รู้อยู่แล้วว่าเราขาดสิ่งจำเป็นอะไร (มัดธาย 6:6-8) ยิ่งเราเปิดเผยให้พระเจ้าผู้สร้างตัวเรารู้ว่าเราคิดและรู้สึกอย่างไร เราก็จะยิ่งใกล้ชิดพระองค์มากเท่านั้น
บางครั้ง เราอาจรู้สึกว่าไม่รู้จะขอหรือพูดอะไรในคำอธิษฐาน ถ้าอย่างนั้น ขอให้รู้ว่าพระเจ้าเห็นแม้แต่สิ่งที่อยู่ในความคิดของเราทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้พูดออกมาด้วยซ้ำ เพราะพระเจ้ารู้ทุกอย่างเกี่ยวกับสภาพการณ์ของเรา พระองค์จึงสามารถให้ความช่วยเหลือตามความจำเป็นของเรา (โรม 8:26, 27; เอเฟโซส์ 3:20) เมื่อรู้ว่าพระเจ้ายื่นมือเข้ามาช่วยเหลือในวิธีที่แม้แต่เราเองก็มองไม่ออก เราก็ยิ่งรู้สึกใกล้ชิดพระองค์มากขึ้น
พระเจ้าตอบทุกคำอธิษฐานไหม?
คัมภีร์ไบเบิลรับรองว่าพระเจ้าผู้ทรงฤทธิ์ใหญ่ยิ่งตอบคำอธิษฐานของผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระองค์แน่นอน แต่ให้เหตุผลว่าทำไมพระองค์ไม่ตอบคำอธิษฐานของบางคน ตัวอย่างเช่น ในช่วงที่ความรุนแรงแพร่หลายในหมู่ชาวอิสราเอลโบราณ พระเจ้าได้สั่งผู้พยากรณ์ยะซายาห์ให้ไปบอกประชาชนว่า “แม้เจ้าอธิษฐานมากมาย เราจะไม่ฟัง มือของเจ้าโชกชุ่มด้วยเลือด” (ยะซายา 1:15, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย ) คนที่ดูถูกกฎหมายของพระเจ้าหรืออธิษฐานเพราะอยากได้ในสิ่งที่ไม่เหมาะสม ก็อย่าหวังเลยว่าพระเจ้าจะฟังคำอธิษฐานของเขา—สุภาษิต 28:9; ยาโกโบ 4:3
แต่คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “สิ่งใดก็ตามที่เราทูลขอ ถ้าสิ่งนั้นสอดคล้องกับพระประสงค์ของพระองค์ พระองค์จะทรงฟังเรา” (1 โยฮัน 5:14) นี่หมายความว่า ถ้าผู้นมัสการพระเจ้าขออะไร พระองค์จะให้ทุกอย่างตามที่ขอโดยอัตโนมัติไหม? ไม่ใช่อย่างนั้น ให้เรามาดูตัวอย่างของเปาโล เขาขอร้องพระเจ้าถึง 3 ครั้งให้เอา “หนามในเนื้อหนัง” ออกไป (2 โครินท์ 12:7, 8) เปาโลคงต้องทนกับปัญหาเรื้อรังเกี่ยวกับตาหลายปีมาแล้ว ที่จริง พระเจ้าให้เขามีความสามารถที่จะรักษาคนป่วยให้หายคนตายให้ฟื้น แต่ตัวเองกลับต้องทนทุกข์กับปัญหาเรื้อรังแบบนี้ นี่คงทำให้เขารู้สึกคับข้องใจมาก! (กิจการ 19:11, 12; 20:9, 10) แม้ว่าคำอธิษฐานนั้นดูเหมือนไม่ได้รับคำตอบอย่างที่ต้องการ แต่เปาโลก็ยังขอบคุณที่พระเจ้าตอบคำอธิษฐานของเขา—2 โครินท์ 12:9, 10
“เรามั่นใจในพระเจ้าว่า สิ่งใดก็ตามที่เราทูลขอ ถ้าสิ่งนั้นสอดคล้องกับพระประสงค์ของพระองค์ พระองค์จะทรงฟังเรา”—1 โยฮัน 5:14
จริงอยู่ คัมภีร์ไบเบิลมีตัวอย่างที่แสดงว่าพระเจ้าตอบคำอธิฐานของบางคนด้วยวิธีที่น่าอัศจรรย์ (2 กษัตริย์ 20:1-7) แต่ในสมัยคัมภีร์ไบเบิล พระเจ้าก็ไม่ได้ตอบด้วยวิธีนี้เสมอไป คนที่เชื่อในพระเจ้าบางคนก็รู้สึกผิดหวังที่ดูเหมือนพระเจ้าไม่ตอบคำอธิษฐานของเขา กษัตริย์ดาวิดถึงกับถามว่า “ข้าแต่พระยะโฮวา พระองค์จะทรงละลืมข้าพเจ้านานเพียงใด? จะทรงลืมเสียเป็นนิตย์หรือ?” (บทเพลงสรรเสริญ 13:1) แต่เมื่อดาวิดผู้ซื่อสัตย์สำนึกว่าพระยะโฮวาได้ช่วยชีวิตเขาหลายต่อหลายครั้ง เขาก็กลับมามีความมั่นใจในพระเจ้าอีก ในคำอธิษฐานเดียวกันนั้น ดาวิดยังบอกอีกว่า “แต่ข้าพระองค์วางใจในความรักมั่นคงของพระองค์” (บทเพลงสรรเสริญ 13:5) เหมือนกับดาวิด ผู้นมัสการพระเจ้าทุกวันนี้ยังต้องพยายามอธิษฐานขอต่อ ๆ ไปจนกว่าจะรู้ว่าพระเจ้าตอบคำอธิษฐานของเขาจริง ๆ—โรม 12:12
พระเจ้าตอบคำอธิษฐานอย่างไร?
พระเจ้าตอบคำอธิษฐานตามความจำเป็นจริง ๆ ของเรา
พ่อแม่ที่รักและห่วงใยลูกจริง ๆ ย่อมมีเหตุผลที่จะไม่ยอมตามใจลูกทุกอย่าง หรือยอมให้ตามคำขอของลูกทุกครั้ง พระเจ้าก็เหมือนกัน พระองค์อาจไม่ได้ให้ทุกอย่างตามที่เราขอหรือในเวลาที่เราหวังไว้ แต่เราก็มั่นใจได้ว่าพระผู้สร้างเป็นพ่อที่รักเรา พระองค์จะตอบคำอธิษฐานตามความจำเป็นจริง ๆ ของเราในวิธีที่พระองค์เห็นว่าเหมาะสมและเหมาะกับเวลา—ลูกา 11:11-13
พระเจ้าอาจตอบคำอธิษฐานแบบที่เราคาดไม่ถึง
ถ้าเราอธิษฐานขอพระเจ้าให้ช่วยแก้ปัญหาที่คาราคาซังอยู่ แล้วพระเจ้าก็ไม่ได้ทำให้เกิดปาฏิหาริย์ขึ้นทันที เราจะสรุปได้ไหมว่าพระองค์ไม่ตอบคำอธิษฐานของเราเลย? แทนที่จะเป็นอย่างนั้น ดีกว่าไหมที่เราจะทบทวนดูว่าพระเจ้าอาจตอบคำอธิษฐานในแบบที่เราคาดไม่ถึง? ตัวอย่างเช่น เพื่อนที่รักและห่วงใยเราอาจสังเกตเห็นและยื่นมือเข้ามาช่วยในยามที่เราเดือดร้อนพอดี (สุภาษิต 17:17) เป็นไปได้ไหมว่าพระยะโฮวากระตุ้นเพื่อนที่รักและห่วงใยให้ลงมือช่วยเหลือเรา? ยิ่งกว่านั้น พระเจ้าอาจตอบคำอ้อนวอนของเราผ่านทางข้อความต่าง ๆ ในคัมภีร์ไบเบิล และเราอาจได้รับความเข้าใจที่ลึกซึ้งจนทำให้มองเห็นวิธีแก้ไขปัญหายุ่งยากนั้น—2 ติโมเธียว 3:16, 17
แทนที่จะขจัดปัญหาส่วนตัวให้หมดไปทันที หลายครั้งพระเจ้าช่วยคนของพระองค์ให้มีกำลังเข้มแข็งพอที่จะสู้กับปัญหาได้ (2 โครินท์ 4:7) ตัวอย่างเช่น เมื่อพระเยซูอธิษฐานขอต่อพระบิดาให้เอาความทุกข์แสนสาหัสออกไปให้พ้น เพราะกลัวว่าจะทำให้ชื่อเสียงของพระเจ้ามัวหมอง พระยะโฮวาได้ส่งทูตสวรรค์ไปให้กำลังใจพระเยซูบุตรของพระองค์ (ลูกา 22:42, 43) คล้ายกัน พระเจ้าอาจใช้เพื่อนสนิทมาพูดให้กำลังใจเราในเวลาที่ท้อแท้สิ้นหวัง (สุภาษิต 12:25) เพราะคำตอบจากพระเจ้าอาจเป็นแบบที่เราคาดไม่ถึง เราจึงต้องเป็นคนช่างสังเกตเพื่อจะมองออกว่าพระเจ้าตอบคำอธิษฐานของเราวิธีไหน
บางคำตอบอาจต้องรอให้ถึงเวลาที่พระเจ้าเห็นว่าเหมาะ
คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า พระเจ้าผู้ทรงฤทธิ์ใหญ่ยิ่งจะช่วยเหลือคนที่อ่อนน้อมถ่อมตน “ในเวลาอันควร” (1 เปโตร 5:6) ถ้ารู้สึกว่าพระองค์ตอบช้าแม้จะเป็นคำขอร้องจากใจจริง เราต้องจำไว้เสมอว่าการตอบช้าไม่ได้หมายความว่าพระเจ้าไม่สนใจ แต่พระองค์รู้ทุกอย่างดีกว่าเรา ขอให้มั่นใจว่าพระเจ้าที่รักและห่วงใยจะประเมินสถานการณ์ของเรา แล้วพระองค์จะตอบคำอธิษฐานในเวลาที่เหมาะและดีที่สุดสำหรับเรา
“ฉะนั้น จงถ่อมตัวอยู่ใต้พระหัตถ์อันทรงฤทธิ์ของพระเจ้าเพื่อพระองค์จะทรงยกฐานะท่านทั้งหลายให้สูงขึ้นในเวลาอันควร”—1 เปโตร 5:6
เพื่อเป็นตัวอย่าง ลูกชายตัวน้อยอาจรบเร้าคุณให้ซื้อจักรยานให้เขา คุณจะรีบไปซื้อมาทันทีเลยไหม? ถ้าคุณเห็นว่าลูกยังเล็กเกินไป คุณคงตัดสินใจที่จะยังไม่ซื้อให้ตอนนี้ และเมื่อคุณเห็นว่าลูกโตพอที่จะขี่จักรยานได้แล้ว คุณก็อาจซื้อให้เขาในภายหลัง พระเจ้าก็เหมือนกัน ถ้าเรายังคงอธิษฐานขอต่อ ๆ ไป พระองค์อาจจะให้ “ตามที่ใจ [เรา] ปรารถนา” เมื่อถึงเวลาที่พระองค์เห็นว่าเหมาะ—บทเพลงสรรเสริญ 37:4
ขอให้มั่นใจว่าพระยะโฮวารับฟัง
คัมภีร์ไบเบิลเตือนคริสเตียนแท้ว่าอย่ารู้สึกหมดหวังเพราะคิดว่าอธิษฐานไปก็ไร้ค่า บางคนอาจบอกว่า ‘พูดง่ายแต่ทำยาก’ จริงอยู่ ถ้าเราต้องทนกับปัญหายืดเยื้อไม่จบไม่สิ้น หรือถูกเอารัดเอาเปรียบ เราอาจรู้สึกว่ายากที่จะคอยคำตอบจากพระเจ้า แต่ขอให้นึกถึงคำสอนของพระเยซูที่สนับสนุนให้เราขยันอธิษฐานอยู่เสมอ
พระเยซูใช้ตัวอย่างเปรียบเทียบเกี่ยวกับหญิงม่ายยากจนคนหนึ่งที่พยายามร้องขอความเป็นธรรมจากผู้พิพากษาที่ใจร้าย (ลูกา 18:1-3) แม้ว่าตอนแรกเขาปฏิเสธไม่ยอมช่วยเหลือ แต่ในที่สุดเขาก็พูดกับตัวเองว่า “เราจะจัดการให้นางได้รับความยุติธรรม เพื่อว่านางจะได้ไม่คอยมารบเร้าจนเราทนไม่ไหว” (ลูกา 18:4, 5) ตามสำนวนในภาษาเดิม ผู้พิพากษายอมช่วยหญิงม่ายคนนี้เพื่อเธอจะไม่ “ชกใต้ตาของ [เขา]” ซึ่งหมายความว่า “ทำให้ [เขา] เสียชื่อเสียง”c ถ้าแม้แต่ผู้พิพากษาที่ไม่รักความยุติธรรมยังยอมช่วยหญิงม่ายที่ยากจนเพราะกลัวเสียชื่อเสียง พระเจ้าที่รักเราและรักความยุติธรรมจะไม่ทำยิ่งกว่าผู้พิพากษาคนนั้นหรือ เมื่อคนที่ “ร้องทูลพระองค์ทั้งวันทั้งคืน” อ้อนวอนขอความช่วยเหลือจากพระองค์—ลูกา 18:6-8
“ขอต่อ ๆ ไปแล้วจะได้รับ”—ลูกา 11:9
แม้ว่าเราอาจรู้สึกเบื่อที่ต้องอ้อนวอนขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าครั้งแล้วครั้งเล่า แต่เราไม่ควรย่อท้อและเลิกอธิษฐาน เมื่อทูลขออย่างไม่หยุดหย่อน เราก็กำลังแสดงออกอย่างจริงใจว่าเราอยากให้พระองค์ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเรา นอกจากนั้น เรายังได้ฝึกสังเกตด้วยว่าพระเจ้าตอบคำอธิษฐานของเราโดยวิธีใด ซึ่งจะช่วยให้เราผูกพันใกล้ชิดกับพระเจ้ามากขึ้น เราสามารถมั่นใจได้ว่าพระยะโฮวาจะตอบคำขอที่เหมาะสมของเรา ถ้าเราอธิษฐานขอพระองค์ด้วยความเชื่อต่อ ๆ ไป—ลูกา 11:9
a ถ้าอยากให้พระเจ้าฟังคำอธิษฐานของเรา เราต้องพยายามทำตามข้อเรียกร้องของพระองค์ด้วยความจริงใจ ถ้าทำอย่างนี้ เราก็จะได้เห็นพลังของคำอธิษฐานอย่างที่พูดถึงในบทความนี้ สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติม โปรดดูบท 17 ของหนังสือคัมภีร์ไบเบิลสอนอะไรจริงๆ? จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา
b ยะโฮวา คือ ชื่อของพระเจ้าที่มีบันทึกไว้ในคัมภีร์ไบเบิล
c ในสมัยคัมภีร์ไบเบิลพระเจ้าสั่งผู้พิพากษาทุกคนในอิสราเอลให้แสดงความเมตตาเป็นพิเศษต่อหญิงม่ายและลูกกำพร้า—พระบัญญัติ 1:16, 17; 24:17; บทเพลงสรรเสริญ 68:5