การรับมือ “หนามในเนื้อหนัง”
“ความกรุณาอันไม่พึงได้รับของเราเพียงพอแล้วสำหรับเจ้า.”—2 โกรินโธ 12:9, ล.ม.
1, 2. (ก) เหตุใดเราไม่ควรประหลาดใจในข้อเท็จจริงที่ว่าเราเผชิญการทดสอบและปัญหาต่าง ๆ? (ข) เหตุใดเราจึงมั่นใจได้เมื่อเผชิญความยากลำบาก?
“ทุกคนที่ปรารถนาจะดำเนินชีวิตด้วยความเลื่อมใสในพระเจ้าร่วมกับพระคริสต์เยซูก็จะถูกข่มเหงด้วย.” (2 ติโมเธียว 3:12, ล.ม.) เหตุใดจึงเป็นอย่างนั้น? เพราะซาตานกล่าวอ้างว่ามนุษย์รับใช้พระเจ้าด้วยเหตุผลอันเห็นแก่ตัวเท่านั้น และมันปรารถนาอย่างยิ่งที่จะพิสูจน์เรื่องนี้. ครั้งหนึ่ง พระเยซูทรงเตือนเหล่าอัครสาวกที่ซื่อสัตย์ว่า “ซาตานเรียกเอาพวกเจ้าไว้เพื่อจะฝัดเจ้าเหมือนฝัดข้าวสาลี.” (ลูกา 22:31, ล.ม.) พระเยซูทรงทราบดีว่าพระเจ้าทรงอนุญาตให้ซาตานทดสอบเราด้วยปัญหาต่าง ๆ ที่ก่อความทุกข์เจ็บปวด. แน่นอน นั่นไม่ได้หมายความว่าเรื่องยุ่งยากทุกอย่างที่เราเผชิญในชีวิตเกิดขึ้นโดยตรงจากซาตานหรือพวกผีปิศาจของมัน. (ท่านผู้ประกาศ 9:11) แต่ซาตานกระหายที่จะใช้วิธีใดก็ตามที่มันทำได้เพื่อทำลายความซื่อสัตย์มั่นคงของเรา.
2 คัมภีร์ไบเบิลบอกเราว่าเราไม่น่าจะประหลาดใจที่ถูกทดลอง. ไม่ว่าอาจเกิดอะไรขึ้นกับเรา นั่นไม่ใช่เรื่องแปลกหรือเกินความคาดหมาย. (1 เปโตร 4:12) ที่จริง “ความยากลำบากอย่างนั้นก็มีแก่พวกพี่น้องทั้งหลายของ [เรา] ที่อยู่ในโลกเช่นเดียวกัน.” (1 เปโตร 5:9) ปัจจุบัน ซาตานกำลังกดดันผู้รับใช้ทุกคนของพระเจ้าอย่างหนัก. พญามารพอใจอย่างยิ่งที่เห็นเราทุกข์ทรมานใจเนื่องด้วยปัญหาต่าง ๆ ซึ่งเป็นเหมือนหนาม. เพื่อจะบรรลุผลเช่นนั้น มันใช้ระบบของมันอย่างที่จะเป็นการเพิ่ม ‘หนามในเนื้อหนังของเรา’ ให้มากขึ้นหรือทำให้ก่อผลรุนแรงยิ่งขึ้น. (2 โกรินโธ 12:7) อย่างไรก็ตาม การโจมตีของซาตานไม่จำเป็นต้องเกิดผลเป็นการทำลายความซื่อสัตย์มั่นคงของเรา. เช่นเดียวกับที่พระยะโฮวาจะ “จัดทางออกให้” เพื่อเราจะทนการล่อใจได้ พระองค์จะทรงทำอย่างเดียวกันเมื่อเราเผชิญความยุ่งยากลำบากซึ่งเป็นเหมือนหนามในเนื้อหนังของเรา.—1 โกรินโธ 10:13, ล.ม.
วิธีรับมือหนาม
3. พระยะโฮวาทรงตอบอย่างไรเมื่อเปาโลทูลขอพระองค์ให้ช่วยขจัดหนามในเนื้อหนังของท่าน?
3 อัครสาวกเปาโลทูลขอพระเจ้าให้ช่วยขจัดหนามจากเนื้อหนังของท่าน. “ข้าพเจ้าได้ทูลวิงวอนองค์พระผู้เป็นเจ้าสามครั้ง เพื่อให้หนามนี้หลุดไปจากข้าพเจ้า.” พระยะโฮวาทรงตอบอย่างไรต่อคำขออย่างกระตือรือร้นของเปาโล? “ความกรุณาอันไม่พึงได้รับของเราเพียงพอแล้วสำหรับเจ้า; ด้วยว่าฤทธิ์ของเราจะถูกทำให้สมบูรณ์ในความอ่อนแอ.” (2 โกรินโธ 12:8, 9, ล.ม.) ขอให้เราวิเคราะห์คำตอบนี้และดูว่าคำตอบนี้สามารถช่วยเราอย่างไรให้รับมือปัญหาต่าง ๆ อันเหมือนกับหนามที่สร้างความทุกข์เจ็บปวดแก่เรา.
4. เปาโลได้รับประโยชน์ในทางใดบ้างจากพระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระยะโฮวา?
4 โปรดสังเกตว่าพระเจ้าทรงสนับสนุนเปาโลให้หยั่งรู้ค่าพระกรุณาอันไม่พึงได้รับที่ได้ให้แก่ท่านแล้วโดยทางพระคริสต์. ที่จริง เปาโลได้รับพระพรมากมายในหลาย ๆ ทาง. พระยะโฮวาประทานสิทธิพิเศษแห่งการเป็นสาวกแก่ท่านด้วยความรัก แม้ว่าท่านเคยต่อต้านเหล่าสาวกของพระเยซูอย่างบ้าคลั่ง. (กิจการ 7:58; 8:3; 9:1-4) หลังจากนั้น พระยะโฮวาประทานงานมอบหมายและสิทธิพิเศษอันน่าตื่นเต้นมากมายแก่เปาโล. บทเรียนสำหรับเราในเรื่องนี้เห็นได้ชัดเจน. แม้แต่ในสมัยที่เลวร้ายที่สุด เรายังมีพระพรมากมายที่จะหยั่งรู้ค่า. อย่าให้ความยากลำบากต่าง ๆ ทำให้เราลืมความดีอันอุดมล้นเหลือที่พระยะโฮวาทรงแสดงต่อเรา.—บทเพลงสรรเสริญ 31:19.
5, 6. (ก) พระยะโฮวาทรงสอนเปาโลโดยวิธีใดว่าฤทธิ์ของพระองค์ “จะถูกทำให้สมบูรณ์ในความอ่อนแอ”? (ข) ตัวอย่างของเปาโลพิสูจน์อย่างไรว่าซาตานเป็นผู้พูดมุสา?
5 พระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระยะโฮวาเพียงพอแล้วในอีกทางหนึ่งด้วย. ฤทธิ์อำนาจของพระเจ้านั้นมีเหลือเฟือที่จะช่วยเราให้ผ่านพ้นความยากลำบาก. (เอเฟโซ 3:20) พระยะโฮวาทรงสอนเปาโลว่าฤทธิ์ของพระองค์ “จะถูกทำให้สมบูรณ์ในความอ่อนแอ.” เป็นเช่นนั้นอย่างไร? ด้วยความรัก พระองค์ประทานกำลังทั้งสิ้นที่เปาโลจำเป็นต้องมีเพื่อรับมือความยากลำบากของท่าน. เมื่อเป็นอย่างนั้น ความอดทนของเปาโลและความไว้วางใจเต็มที่ในพระยะโฮวาเผยให้คริสเตียนทุกคนเห็นว่าฤทธิ์ของพระเจ้ากำลังมีชัยชนะในกรณีของมนุษย์ผู้อ่อนแอและผิดบาปผู้นี้. ตอนนี้ ขอให้พิจารณาผลที่มีต่อพญามารซึ่งอ้างว่ามนุษย์จะรับใช้พระเจ้าก็ต่อเมื่อเขามีชีวิตที่สะดวกสบายและปราศจากปัญหาเท่านั้น. ความซื่อสัตย์มั่นคงของเปาโลเป็นเหมือนกับการตบหน้าผู้ใส่ร้ายผู้นี้!
6 เปาโลเคยเป็นพันธมิตรของซาตานในการต่อสู้พระเจ้า, เป็นคนหยิ่งยโสโอหังผู้ข่มเหงคริสเตียน, และเป็นฟาริซายที่ร้อนรนซึ่งมีชีวิตที่สะดวกสบายอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะท่านเกิดในตระกูลชนชั้นสูง. บัดนี้ เปาโลเปลี่ยนมารับใช้พระยะโฮวาและพระคริสต์ในฐานะ “ผู้น้อยที่สุดในพวกอัครสาวก.” (1 โกรินโธ 15:9) ด้วยฐานะเช่นนั้น ท่านยอมอยู่ใต้อำนาจของคณะกรรมการปกครองคริสเตียนในศตวรรษแรกอย่างถ่อมใจ. และท่านอดทนอย่างซื่อสัตย์แม้มีหนามในเนื้อหนัง. ความยากลำบากในชีวิตไม่ได้ทำให้ความมีใจแรงกล้าของเปาโลลดน้อยลงไป ซึ่งก็คงทำให้ซาตานหงุดหงิดมากทีเดียว. เปาโลไม่เคยลืมความหวังที่ท่านจะมีส่วนร่วมในราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์ของพระคริสต์. (2 ติโมเธียว 2:12; 4:18) ไม่มีหนามใด ๆ ไม่ว่าจะเจ็บปวดเพียงไร ที่สามารถทำให้ความมีใจแรงกล้าของท่านลดน้อยลงไป. ขอให้ความมีใจแรงกล้าของเรามั่นคงแข็งแรงต่อ ๆ ไปเช่นกัน! โดยค้ำจุนเราให้ผ่านความยากลำบากต่าง ๆ พระยะโฮวาทรงยกชูเราขึ้นโดยให้เรามีสิทธิพิเศษในการพิสูจน์ว่าซาตานเป็นผู้พูดมุสา.—สุภาษิต 27:11.
การจัดเตรียมของพระยะโฮวาสำคัญยิ่ง
7, 8. (ก) พระยะโฮวาประทานกำลังแก่ผู้รับใช้ของพระองค์โดยวิธีใดในปัจจุบัน? (ข) เหตุใดการอ่านและการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลในแต่ละวันจึงสำคัญอย่างยิ่งเพื่อจะรับมือหนามในเนื้อหนังของเราได้?
7 ปัจจุบัน พระยะโฮวาประทานกำลังแก่คริสเตียนผู้ซื่อสัตย์โดยทางพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระองค์, พระคำของพระองค์, และภราดรภาพแบบคริสเตียนท่ามกลางพวกเรา. เช่นเดียวกับอัครสาวกเปาโล เราสามารถมอบภาระของเราไว้กับพระยะโฮวาในคำอธิษฐาน. (บทเพลงสรรเสริญ 55:22) แม้ว่าพระเจ้าอาจจะไม่ขจัดความยากลำบากที่เกิดขึ้นกับเราให้หมดไป พระองค์ทรงสามารถประทานสติปัญญาแก่เราเพื่อจะรับมือได้ แม้แต่เมื่อความยากลำบากเหล่านั้นยากเป็นพิเศษที่จะทนรับได้. นอกจากนี้ พระยะโฮวาทรงสามารถช่วยให้เรามีจิตใจที่เข้มแข็ง โดยประทาน “กำลังที่มากกว่าปกติ” เพื่อช่วยเราให้อดทน.—2 โกรินโธ 4:7, ล.ม.
8 เราได้รับความช่วยเหลือเช่นนั้นอย่างไร? เราต้องศึกษาพระคำของพระเจ้าอย่างขยันขันแข็ง เพราะเราจะพบคำปลอบประโลมใจของพระองค์ในพระคำนั้นซึ่งวางใจได้. (บทเพลงสรรเสริญ 94:19) ในคัมภีร์ไบเบิล เราอ่านถ้อยคำที่กระตุ้นความรู้สึกซึ่งเขียนโดยผู้รับใช้ของพระเจ้าขณะที่พวกเขาขอความช่วยเหลือจากพระองค์. คำตอบของพระยะโฮวา ซึ่งมักรวมถึงการใช้ถ้อยคำที่ปลอบโยน เป็นสิ่งที่น่านำไปคิดใคร่ครวญ. การศึกษาพระคำของพระเจ้าจะเสริมความแข็งแกร่งแก่เราเพื่อ “กำลังที่มากกว่าปกติจะมาจากพระเจ้าและมิใช่มาจากตัวเราเอง.” เช่นเดียวกับที่เราจำเป็นต้องรับประทานอาหารทุกวันเพื่อบำรุงร่างกายและมีกำลังแข็งแรง เราต้องอ่านพระคำของพระเจ้าเป็นประจำ. เราทำอย่างนี้ไหม? หากเราทำอย่างนั้น เราจะเห็นว่าการที่เรารับเอา “กำลังที่มากกว่าปกติ” ช่วยเราให้อดทนสิ่งใดก็ตามที่เป็นหนามโดยนัยซึ่งอาจก่อความทุกข์แก่เราอยู่ในเวลานี้.
9. ผู้ปกครองอาจให้การสนับสนุนโดยวิธีใดแก่คนที่กำลังรับมือปัญหา?
9 คริสเตียนผู้ปกครองที่เกรงกลัวพระเจ้าสามารถ “เป็นเหมือนที่หลบซ่อนให้พ้นลม” แห่งความทุกข์เดือดร้อน และ “ที่กำบังจากพายุฝน” แห่งปัญหา. ผู้ปกครองที่ต้องการเป็นเหมือนคำพรรณนาดังกล่าวทูลขอพระยะโฮวาอย่างถ่อมใจและจริงใจให้ประทาน “ลิ้นของคนที่ได้รับการสั่งสอน” แก่พวกเขา เพื่อพวกเขาจะทราบวิธีตอบผู้ประสบความทุกข์ยากด้วยถ้อยคำที่ถูกต้อง. ถ้อยคำของผู้ปกครองสามารถเป็นเหมือนฝนพรำที่ทำให้จิตใจของเราชุ่มฉ่ำและผ่อนคลายในช่วงเวลาที่ยากลำบากของชีวิต. โดยการพูด “ปลอบโยนจิตวิญญาณที่หดหู่ใจ” ผู้ปกครองสนับสนุนพี่น้องฝ่ายวิญญาณอย่างแท้จริงที่อาจกำลังอ่อนระอาใจหรือเศร้าโศกเนื่องจากหนามบางอย่างในเนื้อหนังของตน.—ยะซายา 32:2; 50:4, ล.ม.; 1 เธซะโลนิเก 5:14, ล.ม..
10, 11. ผู้รับใช้ของพระเจ้าสามารถให้กำลังใจแก่ผู้อื่นที่กำลังถูกทดสอบอย่างหนักได้โดยวิธีใด?
10 ผู้รับใช้ทุกคนของพระยะโฮวาเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวคริสเตียนที่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน. ถูกแล้ว เราเป็น “อวัยวะแก่กันและกัน” และ “มีพันธะที่จะรักซึ่งกันและกัน.” (โรม 12:5; 1 โยฮัน 4:11, ล.ม.) เราทำให้พันธะนี้สำเร็จโดยวิธีใด? ตามที่บอกไว้ใน 1 เปโตร 3:8 (ล.ม.) เราทำเช่นนี้โดย “แสดงความเห็นอกเห็นใจ, มีความรักใคร่ฉันพี่น้อง, [และมี] ความเมตตารักใคร่อันอ่อนละมุน” ต่อทุกคนที่สัมพันธ์กับเราในความเชื่อ. สำหรับคนที่กำลังรับมือหนามอันเจ็บปวดอย่างหนึ่งอย่างใดในเนื้อหนัง ไม่ว่าคนหนุ่มหรือผู้สูงอายุ เราทุกคนสามารถให้ความเอาใจใส่เป็นพิเศษแก่พวกเขา. โดยวิธีใด?
11 เราควรพยายามไวต่อความรู้สึกทุกข์ร้อนของพวกเขา. หากเราไม่แสดงความเห็นอกเห็นใจ, เย็นชา, หรือไม่แยแส โดยไม่ตั้งใจเราอาจทำให้พวกเขารู้สึกเป็นทุกข์หนักกว่าเดิม. การที่เราทราบเกี่ยวกับความยากลำบากของเขาน่าจะกระตุ้นเราให้ระวังคำพูดของเรา, วิธีที่เราพูด, และวิธีที่เราปฏิบัติ. การมองในแง่ดีและให้การหนุนใจสามารถช่วยลดความเจ็บปวดที่รุนแรงของหนามใด ๆ ก็ตามที่มีผลกระทบต่อพวกเขา. โดยวิธีนั้น เราอาจเป็นผู้ช่วยเสริมกำลังแก่พวกเขา.—โกโลซาย 4:11.
วิธีที่บางคนรับมือได้อย่างเป็นผลสำเร็จ
12-14. (ก) คริสเตียนคนหนึ่งได้ทำเช่นไรเพื่อรับมือโรคมะเร็ง? (ข) พี่น้องฝ่ายวิญญาณของสตรีคนนี้สนับสนุนและให้กำลังใจเธออย่างไร?
12 ขณะที่เราเข้าไปใกล้อวสานแห่งสมัยสุดท้ายนี้ “ความปวดร้าวแห่งความทุกข์” กำลังเพิ่มขึ้นในแต่ละวัน. (มัดธาย 24:8, ล.ม.) ด้วยเหตุนั้น ความยากลำบากมักเกิดขึ้นกับทุกคนบนแผ่นดินโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระยะโฮวาซึ่งพยายามทำตามพระทัยประสงค์ของพระองค์. เพื่อเป็นตัวอย่าง ขอให้พิจารณาประสบการณ์ของคริสเตียนคนหนึ่งซึ่งรับใช้เต็มเวลา. หมอตรวจพบว่าเธอเป็นโรคมะเร็งและต้องผ่าตัดเอาต่อมน้ำลายและต่อมน้ำเหลืองออก. เมื่อเธอและสามีทราบว่าเธอเป็นโรคนี้ ทั้งสองหันเข้าหาพระยะโฮวาทันทีด้วยการอธิษฐานอ้อนวอนอย่างยาวนาน. ในเวลาต่อมา เธอกล่าวว่าเธอกับสามีสามารถสงบใจได้อย่างไม่น่าเชื่อ. ถึงกระนั้นก็ตาม เธอต้องอดทนกับอาการเดี๋ยวดีเดี๋ยวทรุดอยู่เป็นเวลานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องรับมือผลข้างเคียงของการรักษา.
13 เพื่อรับมือสถานการณ์อย่างนี้ พี่น้องหญิงคนนี้พยายามเรียนรู้ให้มากเท่าที่จะทำได้เกี่ยวกับโรคมะเร็ง. เธอปรึกษาหมอหลายคนที่รักษาเธอ. ในวารสารหอสังเกตการณ์, ตื่นเถิด!, และสรรพหนังสือคริสเตียนที่เกี่ยวข้อง เธอพบเรื่องราวชีวิตของหลายคนซึ่งแสดงถึงวิธีที่หลายคนได้รับมือโรคนี้ทางด้านอารมณ์. นอกจากนี้ เธออ่านข้อความบางตอนในคัมภีร์ไบเบิลซึ่งแสดงถึงความสามารถของพระยะโฮวาที่จะค้ำจุนไพร่พลของพระองค์ในช่วงเวลาที่ยุ่งยากลำบาก ตลอดจนข้อมูลที่เป็นประโยชน์อื่น ๆ.
14 บทความหนึ่งเกี่ยวกับการรับมือความท้อแท้ใจอ้างคำกล่าวที่ฉลาดสุขุมดังต่อไปนี้: “คนที่ปลีกตัวออกไปจากผู้อื่นจงใจจะทำตามตนเอง.” (สุภาษิต 18:1) ด้วยเหตุนั้น บทความนี้จึงให้คำแนะนำว่า “อย่าแยกตัวอยู่คนเดียว.”a พี่น้องหญิงคนนี้เล่าว่า “หลายคนบอกดิฉันว่าพวกเขาอธิษฐานเพื่อดิฉัน; ส่วนคนอื่นก็โทรศัพท์มาคุยกับดิฉัน. ผู้ปกครองสองคนโทรศัพท์มาถามไถ่เป็นประจำเพื่อจะทราบว่าดิฉันรู้สึกอย่างไรบ้าง. ดิฉันได้รับดอกไม้และบัตรแสดงความปรารถนาดีมากมาย. บางคนถึงกับช่วยหุงหาอาหารให้. นอกจากนั้น มีหลายคนอาสาพาดิฉันไปหาหมอ.”
15-17. (ก) คริสเตียนคนหนึ่งรับมืออย่างไรกับปัญหายุ่งยากที่เกิดจากอุบัติเหตุ? (ข) พี่น้องในประชาคมให้การสนับสนุนเธออย่างไร?
15 สตรีผู้หนึ่งซึ่งได้รับใช้พระยะโฮวามานานในรัฐนิวเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์สองครั้ง. คอและไหล่ของเธอได้รับบาดเจ็บ ซึ่งทำให้อาการของโรคข้ออักเสบที่เธอต้องรับมือมากว่า 25 ปีกำเริบหนักยิ่งขึ้น. เธอเล่าว่า “ดิฉันมีปัญหามากในการฝืนศีรษะให้ตั้งตรงและเมื่อยกอะไรก็ตามที่หนักเกินสองกิโลกรัม. แต่การอธิษฐานอย่างแรงกล้าต่อพระยะโฮวาให้ความเข้มแข็งและกำลังใจแก่ดิฉันอย่างมาก. บทความศึกษาบางเรื่องในหอสังเกตการณ์ ก็ช่วยมากทีเดียว. บทความหนึ่งที่อธิบายมีคา 6:8 ชี้ว่าการดำเนินอย่างเจียมตัวกับพระเจ้าหมายถึงการทราบข้อจำกัดของตัวเอง. บทความนี้ช่วยดิฉันให้ตระหนักว่าแม้สภาพของดิฉันเป็นอย่างนี้ ดิฉันไม่ควรท้อใจแม้ว่าเวลาที่ดิฉันสามารถรับใช้น้อยกว่าที่ดิฉันอยากจะทำ. การรับใช้พระองค์ด้วยแรงกระตุ้นที่บริสุทธิ์คือสิ่งสำคัญอันดับแรก.”
16 เธอยังรายงานด้วยว่า “ผู้ปกครองชมเชยดิฉันเสมอสำหรับความพยายามของดิฉันในการเข้าร่วมการประชุมและออกไปรับใช้ในเขตประกาศ. คนหนุ่มสาวจะเข้ามากอดทักทายดิฉัน. พี่น้องที่เป็นไพโอเนียร์อดทนกับดิฉันมาก และบ่อยครั้งพวกเขาปรับเปลี่ยนแผนการในวันที่อาการของดิฉันไม่ค่อยดีนักและออกไปไม่ได้ตามที่นัดหมายกัน. เมื่ออากาศไม่ดี พวกเขาจะพาดิฉันไปเยี่ยมเยียนด้วยกันหรือเชิญดิฉันให้ร่วมในการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลบางราย. และเนื่องจากดิฉันไม่สามารถถือกระเป๋าหนังสือ ผู้ประกาศคนอื่น ๆ จะช่วยเอาหนังสือของดิฉันใส่ไว้ในกระเป๋าของเขาเมื่อดิฉันออกไปในงานประกาศ.”
17 โปรดสังเกตวิธีที่ผู้ปกครองในประชาคมและเพื่อนร่วมความเชื่อช่วยพี่น้องหญิงสองคนนี้ให้รับมือความเจ็บป่วยที่เป็นเหมือนหนาม. พวกเขาเสนอตัวให้การช่วยเหลือที่กรุณาและใช้ได้จริงซึ่งมุ่งหมายจะช่วยให้สามารถรับมือความจำเป็นเฉพาะอย่างทางฝ่ายวิญญาณ, ทางกาย, และทางอารมณ์. ตัวอย่างดังกล่าวสนับสนุนคุณที่จะให้ความช่วยเหลือแก่พี่น้องที่ประสบปัญหาไหม? พวกคุณที่เป็นคนหนุ่มสาวก็เช่นกัน สามารถเป็นผู้ที่ให้ความช่วยเหลือบางคนในประชาคมที่ต่อสู้อยู่กับหนามในเนื้อหนังของตน.—สุภาษิต 20:29.
18. เราอาจได้รับกำลังใจเช่นไรจากเรื่องราวชีวิตของหลายคนที่ลงในวารสารหอสังเกตการณ์ และตื่นเถิด!?
18 วารสารหอสังเกตการณ์ และตื่นเถิด! ได้ลงเรื่องราวชีวิตและประสบการณ์ของพยานฯ หลายคนที่ได้รับมือและยังคงรับมือปัญหาต่าง ๆ ในชีวิต. เมื่อคุณอ่านบทความเหล่านี้เป็นประจำ คุณจะเห็นว่าพี่น้องฝ่ายวิญญาณของคุณหลายคนทั่วโลกได้อดทนความยากลำบากด้านเศรษฐกิจ, การสูญเสียผู้เป็นที่รักในภัยพิบัติ, และสภาพที่เต็มไปด้วยอันตรายในช่วงที่เกิดสงคราม. ส่วนบางคนมีชีวิตอยู่กับโรคภัยไข้เจ็บที่ทำให้พิการ. หลายคนไม่สามารถทำแม้แต่เรื่องง่าย ๆ ในชีวิตที่คนสุขภาพดีเห็นเป็นเรื่องธรรมดา. ความเจ็บป่วยทดสอบพวกเขาอย่างหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพวกเขาไม่สามารถร่วมกิจกรรมของคริสเตียนได้มากอย่างที่อยากจะทำ. พวกเขาหยั่งรู้ค่ามากสักเพียงไรสำหรับความช่วยเหลือและการสนับสนุนที่พวกพี่น้องทั้งเยาว์วัยและสูงอายุได้ให้แก่พวกเขา!
ความอดทนนำมาซึ่งความสุข
19. เหตุใดเปาโลสามารถยินดีแม้ประสบความยากลำบากและข้ออ่อนแอที่เป็นเหมือนหนาม?
19 เปาโลยินดีที่เห็นวิธีซึ่งพระเจ้าทรงเสริมกำลังท่าน. ท่านกล่าวว่า “ข้าพเจ้าจึงภูมิใจในความอ่อนแอของข้าพเจ้า, เพื่อฤทธิ์เดชของพระคริสต์จะได้สถิตอยู่ในข้าพเจ้า. เหตุฉะนั้นข้าพเจ้าจึงชื่นใจในความอ่อนแอของข้าพเจ้า, ในเหตุร้ายต่าง ๆ, ในการยากลำบาก, ในการถูกข่มเหง, ในความอับจน, เพราะเห็นแก่พระคริสต์ ด้วยว่าข้าพเจ้าอ่อนแอเมื่อใด, ข้าพเจ้าจึงแข็งแรงมากเมื่อนั้น.” (2 โกรินโธ 12:9, 10) เนื่องจากเปาโลมีประสบการณ์ด้วยตัวท่านเอง ท่านจึงกล่าวได้อย่างมั่นใจว่า “มิใช่ว่าข้าพเจ้ากล่าวถึงความยากจน ด้วยว่าข้าพเจ้าเรียนรู้มาแล้วว่าข้าพเจ้ามีฐานะอย่างไร, ข้าพเจ้าก็อิ่มใจอยู่อย่างนั้น. ข้าพเจ้ารู้จักที่จะเจียมตัว, และรู้จักที่จะฟุ่มเฟือยด้วย. ข้าพเจ้ารู้จักอาณัติสัญญาณของการอิ่มท้อง, และของการอดอยาก ของการฟุ่มเฟือยและของการขัดสนในสิ่งสารพัตรทุกอย่าง. ข้าพเจ้ากระทำทุกสิ่งได้โดยพระเยซูคริสต์ผู้ทรงชูกำลังข้าพเจ้า.”—ฟิลิปปอย 4:11-13.
20, 21. (ก) เหตุใดเราอาจพบความยินดีในการใคร่ครวญ “สิ่งซึ่งแลไม่เห็น”? (ข) “สิ่งซึ่งแลไม่เห็น” ซึ่งคุณหวังจะได้เห็นในอุทยานบนแผ่นดินโลกได้แก่อะไร?
20 ดังนั้น ด้วยการอดทนหนามโดยนัยใด ๆ ก็ตามที่มีอยู่ในเนื้อหนังของเรา เราสามารถพบความสุขอย่างยิ่งในการแสดงให้ทุกคนเห็นว่าฤทธิ์ของพระยะโฮวาถูกทำให้สมบูรณ์ในความอ่อนแอของเรา. เปาโลเขียนดังนี้: “เราจึงไม่ย่อท้อ . . . ใจภายในนั้นก็ยังจำเริญขึ้นใหม่ทุกวัน ๆ. เหตุว่าการทุกข์ยากที่เบาบางของเรานั้นซึ่งรับอยู่แต่ประเดี๋ยวเดียว จะกระทำให้เรามีสง่าราศีใหญ่ยิ่งนิรันดร์. ด้วยว่าเรา . . . เห็นแก่สิ่งของที่แลไม่เห็น. เพราะว่า . . . สิ่งซึ่งแลไม่เห็นนั้นก็ถาวรอยู่นิรันดร์.”—2 โกรินโธ 4:16-18.
21 ไพร่พลส่วนใหญ่ของพระยะโฮวาในทุกวันนี้หวังจะมีชีวิตในอุทยานบนแผ่นดินโลกและชื่นชมพระพรต่าง ๆ ที่พระองค์ได้ทรงสัญญาไว้. พระพรเช่นนั้นอาจถือได้ว่าเป็นสิ่งที่เรา “แลไม่เห็น” ในปัจจุบัน. อย่างไรก็ตาม เวลาที่เราจะได้เห็นด้วยตาของเราเองและได้ชื่นชมพระพรเหล่านั้นตลอดไปกำลังใกล้เข้ามาอย่างรวดเร็ว. พระพรอย่างหนึ่งจะได้แก่การได้รับการปลดเปลื้องเพื่อจะไม่ต้องมีชีวิตอยู่กับปัญหาใด ๆ ที่เป็นเสมือนหนามอีกต่อไป! พระบุตรของพระเจ้าจะ “ทรงทำลายกิจการของมารเสีย” และจะ “ทรงทำลายผู้นั้นที่มีอำนาจแห่งความตาย.”—1 โยฮัน 3:8; เฮ็บราย 2:14.
22. เราควรมีความเชื่อมั่นและความตั้งใจแน่วแน่เช่นไร?
22 ด้วยเหตุนั้น ไม่ว่ามีหนามใด ๆ ก็ตามในเนื้อหนังของเราที่ก่อความทุกข์เจ็บปวดอยู่ในเวลานี้ ให้เรารับมือหนามนั้นต่อไป. เช่นเดียวกับเปาโล เราจะมีพลังในการทำอย่างนั้นโดยอาศัยคุณความดีของพระยะโฮวา ผู้ประทานกำลังแก่เราอย่างไม่อั้น. เมื่อเรามีชีวิตอยู่ในอุทยานบนแผ่นดินโลก เราจะสรรเสริญพระยะโฮวาพระเจ้าของเราทุกวันสำหรับราชกิจอันน่ามหัศจรรย์ทั้งสิ้นที่พระองค์ทรงทำเพื่อเรา.—บทเพลงสรรเสริญ 103:2.
[เชิงอรรถ]
a โปรดดูบทความ “ทัศนะของคัมภีร์ไบเบิล: วิธีรับมือกับความท้อแท้สิ้นหวัง” ในวารสาร ตื่นเถิด! ฉบับ 8 พฤษภาคม 2000.
คุณจะตอบอย่างไร?
• เหตุใดพญามารพยายามทำลายความซื่อสัตย์มั่นคงของคริสเตียนแท้ และโดยวิธีใด?
• ฤทธิ์ของพระยะโฮวา “จะถูกทำให้สมบูรณ์ในความอ่อนแอ” อย่างไร?
• ผู้ปกครองและคนอื่น ๆ สามารถให้กำลังใจแก่คนที่เป็นทุกข์ด้วยปัญหาต่าง ๆ โดยวิธีใด?
[ภาพหน้า 18]
เปาโลอธิษฐานสามครั้งขอให้พระเจ้าช่วยขจัดหนามในเนื้อหนังของท่าน