ความอ่อนแอของมนุษย์ทำให้เห็นความยิ่งใหญ่แห่งอำนาจของพระยะโฮวา
“ทุกคนคิดว่าดิฉันช่างเป็นผู้รับใช้เต็มเวลาที่มีความสุขและมีชีวิตชีวาเสียจริง ๆ. ดิฉันเป็นผู้ที่ช่วยคนอื่นในเรื่องปัญหาของเขาเสมอ. แต่ในขณะเดียวกัน ดิฉันรู้สึกประหนึ่งว่ากำลังจะตายอยู่ข้างใน. การคิดกังวลและความเจ็บปวดด้านจิตใจก่อผลกระทบที่เสียหายต่อดิฉัน. ดิฉันเริ่มรู้สึกเหินห่างจากผู้คน. ดิฉันไม่อยากไปไหนอยากนอนอยู่แต่ที่บ้าน. เป็นเวลาหลายเดือน ดิฉันอ้อนวอนพระยะโฮวาขอปล่อยให้ดิฉันตายไปเสีย.”—วาเนสซา.
ดังกรณีที่อ้างอิงถึงข้างต้น เป็นเรื่องที่คาดหมายได้ว่า บางครั้งผู้รับใช้ของพระยะโฮวาจะรู้สึกถึงผลกระทบของการมีชีวิตอยู่ใน “วิกฤตกาลซึ่งยากที่จะรับมือได้” นี้. (2 ติโมเธียว 3:1, ล.ม.) บางคนอาจถึงกับหมดกำลังใจ. (ฟิลิปปอย 2:25-27) ความสลดหดหู่ใจ ถ้ามีอยู่ยืดเยื้อก็อาจทำให้เราหมดกำลังได้ เพราะคัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “เจ้าแสดงตัวท้อแท้ในวันที่มีความทุกข์ยากหรือ? กำลังของเจ้าจะมีน้อย.” (สุภาษิต 24:10, ล.ม.) ถูกแล้ว เมื่อเราท้อแท้ เราจำเป็นต้องได้รับกำลัง—บางทีอาจถึงกับต้องได้รับสิ่งที่อัครสาวกเปาโลเรียกว่า “กำลังที่มากกว่าปกติ” ด้วยซ้ำ.—2 โกรินโธ 4:7, ล.ม.
พระยะโฮวาพระเจ้าทรงเป็นบ่อเกิดของกำลังที่ไม่มีขอบเขตจำกัด. เรื่องนี้ปรากฏชัดเมื่อเราตรวจสอบดูสิ่งที่พระองค์ทรงสร้าง. (โรม 1:20) ตัวอย่างเช่น ขอพิจารณาดูดวงอาทิตย์. แผ่นดินโลกดักพลังงานที่ออกมาไม่ขาดสายจากดวงอาทิตย์ไว้ประมาณ 240 ล้านล้านแรงม้า. กระนั้น ตัวเลขนี้เท่ากับเพียงแค่ราว ๆ หนึ่งในสองพันล้าน ของปริมาณพลังงานที่ดวงอาทิตย์ส่งออกมาเท่านั้น. และดวงอาทิตย์มีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับดวงดาวที่รู้จักกันว่าซูเปอร์ไจแอนท์. ในบรรดาดาวเหล่านี้ก็มีริเจล ดาวดวงหนึ่งในกลุ่มดาวไถซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ของเรา 50 เท่าและปล่อยพลังงานออกมาถึง 150,000 เท่า!
พระผู้สร้างแหล่งกำเนิดของพลังงานบนฟากฟ้าเช่นนั้นคงต้องมี “อานุภาพอันใหญ่ยิ่ง.” (ยะซายา 40:26; บทเพลงสรรเสริญ 8:3, 4) ที่จริง ผู้พยากรณ์ยะซายากล่าวว่า พระยะโฮวา “มิได้ทรงอิดโรยและอ่อนเปลี้ย.” และพระเจ้าทรงเต็มพระทัยจะแบ่งปันพลังของพระองค์ให้ใคร ๆ ที่รู้สึกว่าตนกำลังอิดโรย เนื่องจากความอ่อนแอของมนุษย์. (ยะซายา 40:28, 29) วิธีที่พระองค์ทำเช่นนี้มีตัวอย่างให้เห็นในกรณีของคริสเตียนอัครสาวกเปาโล.
รับมือกับการทดลอง
เปาโลบอกชาวโกรินโธถึงอุปสรรคอย่างหนึ่งที่ท่านต้องทนเอา. ท่านเรียกอุปสรรคนั้นว่า “เสี้ยนหนามในเนื้อหนัง.” (2 โกรินโธ 12:7) “เสี้ยนหนาม” นี้อาจเป็นปัญหาด้านสุขภาพ บางทีอาจจะเป็นสายตาเสื่อมก็ได้. (ฆะลาเตีย 4:15; 6:11) หรือมิฉะนั้นเปาโลก็อาจพาดพิงถึงอัครสาวกเท็จและผู้ก่อกวนคนอื่น ๆ ซึ่งท้าทายตำแหน่งอัครสาวกและการงานของท่าน. (2 โกรินโธ 11:5, 6, 12-15; ฆะลาเตีย 1:6-9; 5:12) ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม “เสี้ยนหนามในเนื้อหนัง” นี้ทำให้เปาโลเป็นทุกข์เหลือเกิน และท่านได้อธิษฐานหลายครั้งเพื่อให้มันหลุดออกไป.—2 โกรินโธ 12:8.
อย่างไรก็ดี พระยะโฮวามิได้ประทานให้ตามคำทูลขอของเปาโล. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น พระองค์ตรัสแก่เปาโลว่า “ความกรุณาคุณ [“ความกรุณาอันไม่พึงได้รับ,” ล.ม.] ของเรามีพอสำหรับเจ้าแล้ว.” (2 โกรินโธ 12:9) โดยคำตรัสเช่นนี้พระยะโฮวาทรงหมายความเช่นไร? เอาละ เมื่อเราพิจารณาแนวทางในอดีตของเปาโลที่ได้ข่มเหงคริสเตียน ก็เพียงแต่โดยความกรุณาอันไม่พึงได้รับเท่านั้นที่ท่านสามารถมีสัมพันธภาพกับพระเจ้า—อย่าว่าแต่รับใช้ฐานะอัครสาวกเลย!a (เทียบกับซะคาระยา 2:8; วิวรณ์ 16:5, 6.) พระยะโฮวาอาจได้บอกเปาโลว่า สิทธิพิเศษในการเป็นสาวกนั้นก็ “พอ . . . แล้ว.” พร้อมกับสิทธิพิเศษนั้นคงจะไม่มีการขจัดปัญหาส่วนตัวในชีวิตออกไปอย่างอัศจรรย์. ตามความเป็นจริงแล้ว ความทุกข์ลำบากบางอย่างอาจเกิดขึ้นเป็นผลสืบเนื่องจากสิทธิพิเศษที่เพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ. (2 โกรินโธ 11:24-27; 2 ติโมเธียว 3:12) ไม่ว่าจะเป็นกรณีใดก็ตาม เปาโลคงเพียงแต่ต้องอดทนกับ “เสี้ยนหนามในเนื้อหนัง” ของท่าน.
แต่พระยะโฮวามิได้ละทิ้งเปาโลอย่างไร้ความปรานีเลย. แทนที่จะทำเช่นนั้น พระองค์ตรัสแก่ท่านว่า “โดยความอ่อนแอของเจ้าเดชของเราจึงปรากฏมีฤทธิ์ขึ้นเต็มขนาด.” (2 โกรินโธ 12:9) ถูกแล้ว ด้วยความรักพระยะโฮวาจะจัดให้เปาโลมีกำลังที่จะรับมือกับสภาพการณ์ของท่าน. ฉะนั้น “เสี้ยนหนามในเนื้อหนัง” ของเปาโลจึงกลายเป็นบทเรียนที่เป็นตัวอย่าง. นั่นสอนท่านให้พึ่งอาศัยกำลังของพระยะโฮวาแทนที่จะพึ่งกำลังของตนเอง. ดูเหมือนว่าเปาโลเรียนรู้บทเรียนนี้อย่างทะลุปรุโปร่ง เพราะหลายปีต่อมา ท่านได้เขียนถึงชาวฟิลิปปอยว่า “ข้าพเจ้าเรียนรู้มาแล้วที่จะอยู่อย่างสันโดษ ไม่ว่าข้าพเจ้าอยู่ในสภาพการณ์อย่างไร. ข้าพเจ้ามีกำลังสำหรับทุกสิ่งโดยพระองค์ผู้ทรงประทานพลังให้ข้าพเจ้า.”—ฟิลิปปอย 4:11, 13, ล.ม.
คุณล่ะเป็นอย่างไร? คุณกำลังอดทนกับ “เสี้ยนหนามในเนื้อหนัง” บางรูปแบบไหม บางทีอาจจะเป็นโรคภัยไข้เจ็บหรือสภาพแวดล้อมในชีวิตที่ทำให้คุณกระวนกระวายมาก? ถ้าเช่นนั้น ขอให้รับการปลอบโยน. ถึงแม้พระยะโฮวาอาจไม่ขจัดอุปสรรคออกไปอย่างอัศจรรย์ก็ตาม พระองค์สามารถประทานสติปัญญาและความทรหดให้คุณเพื่อจะรับมือกับอุปสรรคนั้นขณะที่คุณเอาผลประโยชน์แห่งราชอาณาจักรไว้เป็นอันดับแรกในชีวิต.—มัดธาย 6:33.
หากโรคภัยไข้เจ็บหรืออายุที่สูงขึ้นขัดขวางคุณไว้จากการทำให้บรรลุผลสำเร็จดังที่คุณอยากทำในกิจการงานคริสเตียน ก็อย่าได้สิ้นหวัง. แทนที่จะถือว่าการทดลองที่คุณประสบนั้นจำกัดการรับใช้พระยะโฮวา จงมองดูว่าเป็นโอกาสที่จะเพิ่มความไว้วางใจของคุณในพระองค์. โปรดรำลึกด้วยเช่นกันว่า คุณค่าของคริสเตียนไม่ได้วัดจากปริมาณของกิจการงานที่เขาทำ แต่วัดจากความเชื่อและความรักอันลึกซึ้งของเขา. (เทียบกับมาระโก 12:41-44.) การรักพระยะโฮวาด้วยสิ้นสุดจิตวิญญาณหมายความว่า คุณรับใช้พระองค์สุดความสามารถของคุณเอง—ไม่ใช่ของคนอื่น.—มัดธาย 22:37; ฆะลาเตีย 6:4, 5.
หาก “เสี้ยนหนามในเนื้อหนัง” ของคุณเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมในชีวิตที่ทำให้ทุกข์ระทม เช่น ความตายของผู้เป็นที่รัก จงปฏิบัติตามคำตักเตือนในคัมภีร์ไบเบิลที่ว่า “จงมอบภาระของท่านไว้กับพระยะโฮวา และพระองค์เองจะทรงค้ำจุนท่าน. ไม่มีวันที่พระองค์จะทรงยอมให้คนชอบธรรมกะปลกกะเปลี้ยเลย.” (บทเพลงสรรเสริญ 55:22, ล.ม.) สตรีคริสเตียนชื่อซิลเวียได้ทำเช่นนี้. ในช่วงระยะไม่กี่ปี เธอสูญเสียสามีเนื่องด้วยความตายหลังจากที่สมรสมา 50 ปีและสมาชิกคนอื่นในครอบครัวอีกเก้าคน—รวมทั้งหลานเล็ก ๆ สองคนด้วย. ซิลเวียบอกว่า “หากไม่ใช่เป็นเพราะพระยะโฮวาแล้ว ดิฉันคงจะเศร้าระทมอย่างควบคุมไม่ได้. แต่ดิฉันพบการปลอบโยนมากมายโดยการอธิษฐาน. ดิฉันสนทนากับพระยะโฮวาอย่างไม่หยุดหย่อน. ดิฉันรู้ว่าพระองค์ประทานกำลังให้ดิฉันเพื่อจะอดทนได้.”
ช่างทำให้สบายใจสักเพียงไรที่ทราบว่า “พระเจ้าแห่งการปลอบโยนทุกอย่าง” สามารถประทานกำลังที่จะอดทนให้แก่คนเหล่านั้นที่ทุกข์ระทมอยู่! (2 โกรินโธ 1:3, ล.ม.; 1 เธซะโลนิเก 4:13) โดยยอมรับข้อนี้ เราสามารถเข้าใจคำลงท้ายของเปาโลในเรื่องนั้น. ท่านเขียนว่า “ข้าพเจ้าจึงชื่นใจในความอ่อนแอของข้าพเจ้า, ในเหตุร้ายต่าง ๆ, ในการยากลำบาก, ในการถูกข่มเหง, ในความอับจน, เพราะเห็นแก่พระคริสต์ ด้วยว่าข้าพเจ้าอ่อนแอเมื่อใด, ข้าพเจ้าจึงแข็งแรงมากเมื่อนั้น.”—2 โกรินโธ 12:10.
การรับมือกับความไม่สมบูรณ์
เราทุกคนล้วนสืบทอดความไม่สมบูรณ์มาจากบิดามารดาที่เป็นมนุษย์คู่แรก. (โรม 5:12) ผลก็คือ เราต้องต่อสู้กับความปรารถนาของเนื้อหนังที่ผิดบาป. อาจทำให้หมดกำลังใจได้สักเพียงไรที่พบว่าลักษณะของ “บุคลิกภาพเก่า” มีพลังครอบงำเรามากกว่าที่เราเคยคิดเสียอีก! (เอเฟโซ 4:22-24, ล.ม.) ในสถานการณ์เช่นนั้นเราอาจรู้สึกเหมือนอัครสาวกเปาโลผู้ซึ่งเขียนว่า “ส่วนลึกในใจของข้าพเจ้านั้นข้าพเจ้าชื่นชมในธรรมบัญญัติของพระเจ้า แต่ข้าพเจ้าเห็นมีกฎอีกอย่างหนึ่งอยู่ในกายของข้าพเจ้า ซึ่งต่อสู้กับกฎแห่งจิตใจของข้าพเจ้า และชักนำให้ข้าพเจ้าอยู่ใต้บังคับกฎแห่งบาป ซึ่งอยู่ในกายของข้าพเจ้า.”—โรม 7:22, 23, ฉบับแปลใหม่.
ในจุดนี้ เราสามารถใช้กำลังจากพระยะโฮวาให้เป็นประโยชน์ได้เช่นกัน. ขณะที่ต่อสู้กับความอ่อนแอเฉพาะตัว อย่าเลิกหมายพึ่งพระองค์ในคำอธิษฐาน แสวงหาการอภัยจากพระองค์อย่างจริงจังไม่ว่าคุณต้องเข้าเฝ้าพระองค์เกี่ยวกับปัญหาเรื่องเดียวกันนั้นบ่อยเพียงไรก็ตาม. เนื่องจากความกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระองค์ พระยะโฮวา ผู้ทรง “ประเมินหัวใจ” และผู้ทรงเห็นว่าความจริงใจของคุณลึกซึ้งแค่ไหน จะประทานสติรู้สึกผิดชอบที่สะอาดให้คุณ. (สุภาษิต 21:2, ล.ม.) โดยทางพระวิญญาณบริสุทธิ์ พระยะโฮวาทรงสามารถจัดให้คุณมีกำลังที่จะต่อสู้กับความอ่อนแอฝ่ายเนื้อหนังได้ต่อไป.—ลูกา 11:13.
เราจำเป็นต้องได้รับกำลังจากพระยะโฮวาด้วยเมื่อรับมือกับความไม่สมบูรณ์ของคนอื่น. ตัวอย่างเช่น เพื่อนคริสเตียนอาจพูดกับเราอย่าง “พล่อย ๆ . . . เหมือนการแทงของกระบี่.” (สุภาษิต 12:18) นั่นอาจทำให้เราเจ็บใจเหลือเกิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามาจากคนที่เราคิดว่าน่าจะรู้ดีกว่า. เราอาจรู้สึกไม่สบายใจอย่างยิ่ง. บางคนถึงกับใช้ความขัดเคืองใจเช่นนั้นเป็นข้อแก้ตัวในการทิ้งพระยะโฮวาไป ซึ่งเป็นความผิดพลาดมหันต์ที่สุดในบรรดาความผิดพลาดทั้งมวล!
อย่างไรก็ดี เจตคติที่สมดุลจะช่วยเรามองดูข้อบกพร่องของคนอื่นด้วยทัศนะที่ถูกต้อง. เราไม่สามารถคาดหวังความสมบูรณ์จากมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์. ซะโลโมบุรุษผู้ฉลาดเตือนเราว่า “ไม่มีมนุษย์สักคนหนึ่งซึ่งมิได้กระทำบาป.” (1 กษัตริย์ 8:46, ฉบับแปลใหม่) อาเทอร์ คริสเตียนผู้ถูกเจิมคนหนึ่งซึ่งรับใช้พระยะโฮวาด้วยความภักดีมาเป็นเวลาราว ๆ เจ็ดทศวรรษให้ข้อสังเกตว่า “ความไม่สมบูรณ์ในตัวเพื่อนผู้รับใช้ทำให้เรามีโอกาสที่จะพิสูจน์ความซื่อสัตย์มั่นคง, ทดสอบนิสัยใจคอแบบคริสเตียนของเรา. หากเรายอมให้สิ่งที่มนุษย์พูดหรือทำขัดขวางการรับใช้พระยะโฮวาแล้ว เราก็กำลังรับใช้มนุษย์. นอกจากนี้ พี่น้องของเราคงต้องรักพระยะโฮวาด้วยเช่นกัน. หากเรามองหาความดีในตัวเขาแล้ว ในไม่ช้าเราก็จะพบว่า ถึงอย่างไรเขาก็ไม่ใช่เลวร้ายเสียทีเดียว.”
กำลังที่จะประกาศ
ก่อนเสด็จขึ้นสวรรค์ พระเยซูตรัสกับเหล่าสาวกว่า “ท่านทั้งหลายจะได้รับพระราชทานฤทธิ์เดชเมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์จะเสด็จมาเหนือท่าน และท่านทั้งหลายจะเป็นพยานฝ่ายเราในกรุงยะรูซาเลม, สิ้นทั้งมณฑลยูดาย, มณฑลซะมาเรีย, และจนถึงที่สุดปลายแผ่นดินโลก.”—กิจการ 1:8.
จริงตามคำตรัสของพระเยซู ปัจจุบันพยานพระยะโฮวากำลังปฏิบัติงานนี้ใน 233 ดินแดนทั่วลูกโลก. พวกเขาใช้เวลารวมกันแล้วมากกว่าหนึ่งพันล้านชั่วโมงทุกปีเพื่อช่วยคนอื่นให้ได้รับความรู้ของพระยะโฮวา. การทำงานนี้ให้สำเร็จลุล่วงไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป. ในบางประเทศงานประกาศราชอาณาจักรถูกสั่งห้ามหรือถูกจำกัด. ขอพิจารณาเช่นกันว่า ผู้ที่ทำงานนี้ก็คือ มนุษย์ที่อ่อนแอ, ไม่สมบูรณ์, แต่ละคนมีปัญหาและความกระวนกระวายของตนเองเหมือนกัน. กระนั้น งานนี้ก็ยังดำเนินต่อไป และผลก็คือ ในสามปีที่แล้ว มีมากกว่าหนึ่งล้านคนได้อุทิศชีวิตของตนแด่พระยะโฮวาและแสดงสัญลักษณ์การอุทิศตัวนั้นโดยการรับบัพติสมาในน้ำ. (มัดธาย 28:18-20) จริงทีเดียว งานนี้สำเร็จลุล่วงไปเฉพาะแต่โดยกำลังของพระเจ้าเท่านั้น. พระยะโฮวาได้ตรัสผ่านผู้พยากรณ์ซะคาระยาว่า “ไม่ใช่ด้วยกำลังแลฤทธิ์, แต่โดยพระวิญญาณของเรา.”—ซะคาระยา 4:6.
หากคุณเป็นผู้ประกาศข่าวดี คุณก็กำลังมีส่วน—ไม่ว่าจะดูเหมือนเล็กน้อยเพียงไรก็ตาม—ในความสำเร็จอันใหญ่ยิ่งนั้น. ไม่ว่าคุณต้องอดทนกับ ‘เสี้ยนหนาม’ อะไรก็ตาม คุณสามารถมั่นใจได้ว่า พระยะโฮวาจะไม่ทรงลืม “การงานของท่านและความรักที่ท่านได้สำแดงต่อพระนามของพระองค์.” (เฮ็บราย 6:10) ดังนั้น จงพึ่งอาศัยแหล่งกำเนิดแห่งอานุภาพทั้งมวลเพื่อได้รับการสนับสนุนนั้นต่อ ๆ ไป. โปรดระลึกว่า เฉพาะแต่โดยกำลังของพระยะโฮวาเท่านั้นที่เราสามารถอดทนได้ กำลังของพระองค์ได้รับการทำให้สมบูรณ์พร้อมโดยความอ่อนแอของเรา.
[เชิงอรรถ]
a แน่นอน เนื่องจาก “คนทั้งปวงได้ทำบาปและขาดไปจากสง่าราศีของพระเจ้า” จึงเป็นหลักฐานถึงความเมตตาของพระเจ้าที่มนุษย์คนใดคนหนึ่งอาจเข้ามามีสัมพันธภาพกับพระองค์ได้.—โรม 3:23, ล.ม.
[รูปภาพหน้า 26]
งานประกาศสำเร็จลุล่วงไปเฉพาะแต่โดยอำนาจของพระยะโฮวาเท่านั้น