เราจะคิดบวกอยู่เสมอได้อย่างไร?
“ถ้าคนใดจะดำรงชีวิตอยู่หลายปี จงให้เขาชื่นชมยินดีในบรรดาปีเดือนเหล่านั้น”—ผู้ป. 11:8
1. พระยะโฮวาให้อะไรเราบ้างเพื่อเราจะมีความสุข?
พระยะโฮวาอยากให้เรามีความสุข พระองค์ให้สิ่งดี ๆ หลายอย่างแก่เราเพื่อเราจะมีความสุข เช่น ให้ชีวิตและลมหายใจเราและชักนำเราเข้ามานมัสการพระองค์ เราจึงสามารถใช้ชีวิตเพื่อสรรเสริญพระองค์ (เพลง. 144:15; โย. 6:44) พระยะโฮวารับรองกับเราว่าพระองค์รักเราและจะช่วยเราให้รับใช้พระองค์และอดทนต่อ ๆ ไปไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น (ยิระ. 31:3; 2 โค. 4:16) เมื่อเรามาอยู่ในองค์การของพระยะโฮวาเราได้รับการปกป้องดูแลหลายด้าน เรามีพี่น้องคริสเตียนทั่วโลกที่รักใคร่กลมเกลียวกันและเรายังมีความหวังเรื่องโลกใหม่ด้วย
2. ผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระเจ้าบางคนรู้สึกอย่างไร?
2 แม้ผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระเจ้าจะมีทุกอย่างที่ทำให้มีความสุข แต่บางคนก็ยังมีความรู้สึกในแง่ลบอยู่ เขาอาจคิดว่างานรับใช้ที่เขาทำไม่มีค่าหรือตัวเองไม่ดีพอสำหรับพระยะโฮวา เมื่อคิดอย่างนี้บ่อย ๆ เขาก็ไม่อยาก “ดำรงชีวิตอยู่หลายปี” เพราะเขารู้สึกว่าชีวิตไม่มีอะไรน่าชื่นชมเลย—ผู้ป. 11:8
3. อะไรทำให้เรากลายเป็นคนคิดลบ?
3 เราอาจกลายเป็นคนคิดลบ เพราะผิดหวัง ป่วยออด ๆ แอด ๆ หรือเริ่มแก่ลง (เพลง. 71:9; สุภา. 13:12; ผู้ป. 7:7) นอกจากนั้น เราต้องยอมรับว่าหัวใจไว้ใจไม่ได้ ใจเราอาจชวนให้คิดว่าตัวเองไม่ดีพอทั้ง ๆ ที่พระเจ้าไม่ได้คิดอย่างนั้นเลย (ยิระ. 17:9; 1 โย. 3:20) ซาตานชอบใส่ร้ายผู้รับใช้พระเจ้า และบางคนที่คิดเหมือนซาตานอาจจะพยายามทำให้เราคิดว่าเราไม่มีค่าอะไรเลยในสายตาพระเจ้า เหมือนที่อะลีฟาศเคยบอกกับโยบ ซึ่งที่แท้แล้วไม่ใช่ความจริง—โยบ 4:18, 19
4. บทความนี้จะช่วยเราอย่างไร?
4 พระยะโฮวาบอกไว้ชัดเจนในพระคัมภีร์ว่าพระองค์จะอยู่เคียงข้างเราเมื่อเรารู้สึกแย่หรือทุกข์ใจเหมือนกำลังเดินอยู่ใน “หว่างเขาอันมัวมืดแห่งความตาย” (เพลง. 23:4) พระเจ้าอยู่กับเราโดยทางพระคำของพระองค์ คัมภีร์ไบเบิลเป็น “ฤทธิ์อำนาจของพระเจ้าสามารถทำลายล้างที่มั่นต่าง ๆ” ซึ่งรวมถึงความเข้าใจผิด ๆ และความคิดในแง่ลบของเรา (2 โค. 10:4, 5) บทความนี้จะทำให้เราเห็นว่าพระคัมภีร์ช่วยเราให้มองในแง่ดีและคิดบวกอยู่เสมอได้ คุณเองจะได้รับประโยชน์จากเรื่องนี้และรู้วิธีให้กำลังใจคนอื่นด้วย
พระคัมภีร์ช่วยเราเป็นคนคิดบวก
5. การทดสอบอะไรจะช่วยเราให้เป็นคนคิดบวก?
5 อัครสาวกเปาโลพูดถึงการทดสอบอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้เราเป็นคนคิดบวก เขาเตือนพี่น้องในประชาคมโครินท์ว่า “จงหมั่นทดสอบว่าท่านทั้งหลายยึดมั่นกับหลักความเชื่อหรือไม่” (2 โค. 13:5) “หลักความเชื่อ” ที่ว่านี้หมายถึงคำสอนทั้งหมดของคริสเตียนที่เขียนไว้ในพระคัมภีร์ เราต้องเทียบดูว่าคำพูดและการกระทำของเราตรงกับคำสอนในพระคัมภีร์ไหม ถ้าใช่ เราก็ผ่านการทดสอบและแสดงว่าเรากำลัง “ยึดมั่นกับหลักความเชื่อ” แต่เราต้องให้พระคัมภีร์ตรวจสอบเราทุกด้านและทำตามคำสอนทั้งหมดของพระคัมภีร์ ไม่ใช่เลือกทำเฉพาะบางอย่าง—ยโก. 2:10, 11
6. ทำไมเราควรตรวจดูตัวเองว่าเรา “ยึดมั่นกับหลักความเชื่อหรือไม่”? (ดูภาพแรก)
6 คุณอาจไม่กล้าตรวจสอบความเชื่อของตัวเอง โดยเฉพาะถ้าคุณคิดว่าจะไม่ผ่านแน่ ๆ แต่ความคิดของพระยะโฮวาสำคัญกว่าและสูงส่งกว่าความคิดของเรามาก (ยซา. 55:8, 9) พระองค์สังเกตดูผู้รับใช้แต่ละคนไม่ใช่เพื่อดูว่าเรามีข้อบกพร่องตรงไหนแต่เพื่อมองหาข้อดีของเราและช่วยเรา เมื่อคุณใช้พระคำของพระเจ้าตรวจดูตัวเองว่า “ยึดมั่นกับหลักความเชื่อหรือไม่” คุณก็จะเห็นว่าพระเจ้ามองคุณอย่างไร แล้วคุณก็จะไม่คิดลบอีกต่อไป เพราะคุณรู้ว่าจริง ๆ แล้วคุณมีค่ามากในสายตาของพระยะโฮวา เหมือนกับว่าคุณได้เปิดผ้าม่านออกเพื่อให้แสงอาทิตย์ที่สดใสส่องเข้ามาในห้องที่มืดมิดของคุณ
7. เราจะได้ประโยชน์อะไรจากเรื่องราวของผู้ซื่อสัตย์ในพระคัมภีร์?
7 วิธีทดสอบที่ได้ผลอย่างหนึ่งคือ วิเคราะห์เรื่องราวของผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ในพระคัมภีร์ ลองเปรียบเทียบสภาพการณ์และความรู้สึกของพวกเขากับตัวคุณเอง คิดดูว่าถ้าคุณเจอเหตุการณ์แบบเดียวกันคุณจะทำอย่างไร ตอนนี้ให้เรามาดูตัวอย่างของสามคนในพระคัมภีร์ที่จะช่วยตรวจดูว่าคุณ “ยึดมั่นกับหลักความเชื่อ” หรือไม่ และช่วยคุณให้มองตัวเองในแง่บวก
หญิงม่ายยากจน
8, 9. (ก) หญิงม่ายคนนี้ลำบากขนาดไหน? (ข) เธออาจคิดในแง่ลบอย่างไรบ้าง?
8 เมื่อพระเยซูอยู่ที่พระวิหารในกรุงเยรูซาเลม ท่านสังเกตดูหญิงม่ายยากจนคนหนึ่ง ตัวอย่างของเธอสอนว่าถึงแม้เราจะยากจนและลำบาก เราก็คิดบวกได้ (อ่านลูกา 21:1-4) คิดดูสิว่าชีวิตของหญิงม่ายคนนี้ลำบากขนาดไหน เธอต้องทุกข์ใจที่สามีตาย และผู้นำศาสนาในสมัยนั้นก็ไม่ได้ช่วยเหลือแต่กลับ “ยึดบ้านของหญิงม่าย” (ลูกา 20:47, ฉบับมาตรฐาน ) หญิงม่ายคนนี้ยากจนมาก เงินที่เธอบริจาคให้พระวิหารมีค่าเท่ากับค่าจ้างทำงานเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น
9 คุณคิดว่าหญิงม่ายคนนี้รู้สึกอย่างไรเมื่อเธอกำเงินเหรียญเล็ก ๆ แค่สองเหรียญเข้ามาในพระวิหาร เธอเศร้าใจไหมที่ตัวเองมีเงินน้อยมาก และเธอจะคิดไหมว่าถ้าสามียังไม่ตายเธอคงบริจาคได้มากกว่านี้แน่ ๆ? เมื่อหญิงม่ายเห็นว่าคนที่อยู่ข้างหน้าบริจาคมากกว่าเธอหลายเท่า เธอจะรู้สึกอายหรือคิดว่าเงินของเธอไม่มีค่าไหม? เธออาจจะคิดอย่างนั้นก็ได้ แต่เธอก็ยังทำสุดความสามารถเพื่อสนับสนุนการนมัสการแท้
10. พระเยซูแสดงให้เห็นอย่างไรว่าหญิงม่ายคนนี้มีค่าในสายตาของพระเจ้า?
10 พระเยซูแสดงให้เห็นว่าทั้งหญิงม่ายและเงินที่เธอบริจาคมีค่ามากสำหรับพระยะโฮวา พระเยซูบอกว่าเธอ “ใส่เงินลงไปมากกว่า [คนรวย] ทุกคน” เงินบริจาคของเธออาจปะปนไปกับเงินของคนอื่น ๆ แต่พระเยซูกลับชื่นชมเธอเป็นพิเศษ ตอนที่เจ้าหน้าที่พระวิหารมานับเงินบริจาคและเห็นเงินเหรียญเล็ก ๆ สองเหรียญนั้น เขาคงไม่รู้หรอกว่าในสายตาของพระเจ้าหญิงม่ายและเงินของเธอมีค่ามากแค่ไหน แต่ความคิดของพระยะโฮวาต่างหากที่สำคัญ ไม่ใช่ความคิดของคนใดคนหนึ่งหรือแม้แต่ความรู้สึกของหญิงม่ายเอง คุณจะใช้เรื่องนี้ตรวจดูความเชื่อของตัวเองได้ไหม?
11. เรื่องของหญิงม่ายช่วยเราให้คิดในแง่บวกได้อย่างไร?
11 คุณจะทำเพื่อพระยะโฮวาได้มากน้อยแค่ไหนบางทีก็ขึ้นอยู่กับสภาพการณ์ของคุณ ถ้าคุณอายุมากแล้วหรือสุขภาพไม่ดีคุณคงออกประกาศได้ไม่มาก แต่คุณควรคิดไหมว่าถ้ารับใช้ได้น้อยขนาดนี้ไม่ส่งรายงานเลยจะดีกว่า? แม้แต่คนที่อายุยังไม่มากและสุขภาพดีก็อาจคิดว่างานรับใช้ที่เขาพยายามทำเป็นแค่เศษเสี้ยวของเวลาที่พยานฯ ทั่วโลกทำได้ในแต่ละปีเท่านั้น แต่เรื่องของหญิงม่ายทำให้รู้ว่าพระยะโฮวาสังเกตและเห็นค่าทุกสิ่งที่เราทำเพื่อพระองค์ไม่ว่าจะเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม โดยเฉพาะถ้าเราพยายามทำทั้ง ๆ ที่มีปัญหาสุขภาพ ลองคิดถึงงานรับใช้ของคุณในปีที่ผ่านมา กว่าจะได้สักชั่วโมงหนึ่งคงยากลำบากมากใช่ไหม? แต่คุณก็พยายามสุดกำลังแล้วเพื่อรับใช้พระเจ้า เพราะฉะนั้น ขอให้มั่นใจว่าทุกนาทีที่คุณทำมีค่าสำหรับพระเจ้า ถ้าคุณรับใช้พระยะโฮวาอย่างสุดกำลังความสามารถเหมือนกับหญิงม่าย คุณก็กำลังพิสูจน์ให้เห็นว่าคุณ “ยึดมั่นกับหลักความเชื่อ”
“ประหารชีวิตข้าพเจ้าเสียเดี๋ยวนี้เถิด”
12-14. (ก) ความรู้สึกในแง่ลบมีผลอย่างไรต่อเอลียาห์? (ข) อะไรอาจทำให้เอลียาห์รู้สึกแบบนั้น?
12 ผู้พยากรณ์เอลียาห์ซื่อสัตย์ภักดีต่อพระยะโฮวาและมีความเชื่อที่มั่นคง แต่พอเจอเหตุการณ์ที่ทำให้ท้อใจอย่างหนัก เขาถึงกับขอพระยะโฮวาว่า “พอแล้วพระองค์เจ้าข้า ขอพระยะโฮวาทรงประหารชีวิตข้าพเจ้าเสียเดี๋ยวนี้เถิด” (1 กษัต. 19:4) คนที่ไม่เคยมีความทุกข์ขนาดนั้นคงคิดว่าเอลียาห์ “พูดไม่ยั้งคิด” (โยบ 6:3, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย ) แต่เขารู้สึกแย่ขนาดนั้นจริง ๆ ขอให้สังเกตว่า พระยะโฮวาไม่ได้โกรธเอลียาห์เลยที่พูดอย่างนั้น แต่กลับช่วยเขาด้วยซ้ำ
13 ทำไมเอลียาห์ถึงกับอยากตาย? ก่อนหน้านี้ไม่นาน เขาเพิ่งทำการอัศจรรย์ที่พิสูจน์ว่าพระยะโฮวาเป็นพระเจ้าเที่ยงแท้และทำให้ผู้พยากรณ์ของบาอัล 450 คนถูกฆ่า (1 กษัต. 18:37-40) เอลียาห์อาจคาดหวังว่าตอนนี้ประชาชนของพระเจ้าคงจะกลับมาหาการนมัสการแท้แล้วแต่ก็ไม่เป็นอย่างนั้น อีซาเบ็ลราชินีชั่วก็ยังส่งคนมาบอกเอลียาห์ว่านางจะไม่ไว้ชีวิตเขาแน่ เอลียาห์กลัวมาก เขาจึงรีบหนีไปทางใต้ของอิสราเอลข้ามชายแดนเข้าไปในเขตทุรกันดารของอาณาจักรยูดาห์—1 กษัต. 19:2-4
14 เมื่ออยู่คนเดียว ผู้พยากรณ์เอลียาห์เริ่มคิดว่างานรับใช้ของเขาไม่มีค่าอะไรเลย เขาบอกพระยะโฮวาว่า “ข้าพเจ้าไม่ดีกว่าปู่ย่าตายายของข้าพเจ้า” คำพูดของเอลียาห์หมายความว่าเขารู้สึกไร้ค่าเหมือนเป็นแค่เถ้าธุลีและซากกระดูกของบรรพบุรุษที่ตายไปแล้ว เอลียาห์กำลังใช้มาตรฐานของเขาตัดสินตัวเองแล้วก็สรุปว่าเขาไม่มีค่าสำหรับพระยะโฮวาหรือใครทั้งนั้น
15. พระเจ้าช่วยเอลียาห์อย่างไรให้มั่นใจว่าเขามีค่าสำหรับพระองค์?
15 แต่พระยะโฮวาไม่ได้คิดเหมือนเอลียาห์ พระองค์คิดว่าเอลียาห์มีค่าเสมอ และพระองค์ทำหลายอย่างเพื่อช่วยเขาให้มั่นใจในเรื่องนี้โดยส่งทูตสวรรค์มาให้กำลังใจเอลียาห์ แล้วก็คอยดูแลให้เขามีอาหารและน้ำตลอด 40 วัน จนเขามีเรี่ยวแรงเดินไปถึงภูเขาโฮเร็บซึ่งอยู่ทางใต้ เมื่อเอลียาห์เข้าใจผิดคิดว่าในแผ่นดินอิสราเอลมีเขาเพียงคนเดียวที่ยังซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวา พระองค์ก็ช่วยเขาให้เข้าใจถูกต้อง ยิ่งกว่านั้น พระเจ้ายังมอบหมายงานอีกอย่างหนึ่งให้เขาด้วยและเขาก็ตอบรับ เมื่อได้รับความช่วยเหลือจากพระยะโฮวาแล้ว เอลียาห์ก็มีกำลังกายกำลังใจมากขึ้น และสามารถกลับไปทำหน้าที่ผู้พยากรณ์ได้อีกครั้ง—1 กษัต. 19:5-8, 15-19
16. พระเจ้าดูแลคุณโดยวิธีใดบ้าง?
16 เรื่องของเอลียาห์สามารถช่วยให้คุณตรวจดูตัวเองว่ามั่นคงในความเชื่อหรือไม่และช่วยให้คุณมีกำลังใจทำงานรับใช้ต่อไปโดยคิดในแง่บวกอยู่เสมอ ข้อแรก ขอให้คิดดูว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาพระยะโฮวาดูแลคุณอย่างไรบ้าง เช่น ตอนที่คุณมีปัญหาแล้วไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร คุณเคยได้รับความช่วยเหลือจากผู้ปกครองหรือพี่น้องที่มีประสบการณ์บ้างไหม? (กลา. 6:2) เมื่อคุณอ่านหนังสือขององค์การและเข้าร่วมการประชุม คุณรู้สึกไหมว่าพระยะโฮวารักและห่วงใยคุณมาก? ถ้าคราวหน้าคุณได้รับความช่วยเหลือแบบนี้อีก ขอให้คิดดูว่าจริง ๆ แล้วความช่วยเหลือเหล่านั้นมาจากไหน และอย่าลืมอธิษฐานขอบคุณพระยะโฮวาผู้ให้สิ่งเหล่านั้นแก่คุณ—เพลง. 121:1, 2
17. อะไรทำให้ผู้รับใช้แต่ละคนมีค่าสำหรับพระยะโฮวา?
17 ข้อสอง ขอให้จำไว้ว่าถ้าคุณคิดในแง่ลบคุณอาจมองตัวเองไม่เหมือนกับที่พระยะโฮวามองแต่ความคิดของพระยะโฮวาสำคัญที่สุด (อ่านโรม 14:4) สำหรับพระเจ้าแล้วคุณค่าของเราไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเรารับใช้พระองค์ได้มากแค่ไหน พระยะโฮวาเห็นค่าความพยายามและความซื่อสัตย์ภักดีของเรา ตัวอย่างของเอลียาห์แสดงว่า สิ่งที่คุณพยายามทำมาตลอดอาจมีความหมายสำหรับพระยะโฮวามากกว่าที่คุณคิดก็ได้ งานของคุณอาจช่วยพี่น้องในประชาคมโดยที่คุณไม่รู้ตัว และช่วยคนมากมายในเขตประกาศให้ได้ยินความจริง
18. งานมอบหมายที่คุณได้รับให้หลักฐานในเรื่องอะไร?
18 ข้อสาม ขอให้คิดว่างานมอบหมายทุกอย่างที่คุณได้รับเป็นหลักฐานว่าพระยะโฮวาอยู่กับคุณ (ยิระ. 20:11) คุณอาจเคยท้อใจเหมือนกับเอลียาห์เพราะงานรับใช้ดูเหมือนไม่ได้ผลหรือเพราะคุณตั้งใจจะรับใช้มากขึ้นและพัฒนาตัวเองในด้านต่าง ๆ แต่ก็ทำไม่ได้อย่างที่คิด ถ้าคุณรู้สึกอย่างนี้ขออย่าลืมว่าคุณยังเป็นพยานของพระยะโฮวาและเป็นคนที่พระองค์ใช้ให้ทำงานประกาศข่าวดีซึ่งเป็นสิทธิพิเศษอันยิ่งใหญ่ ขอให้ซื่อสัตย์ต่อ ๆ ไป แล้วคุณจะได้ ‘ร่วมยินดีกับนายของคุณ’ อย่างที่พระเยซูบอกไว้—มัด. 25:23
คำอธิษฐานของคนทุกข์ใจ
19. ผู้เขียนเพลงสรรเสริญบท 102 รู้สึกอย่างไร?
19 ผู้เขียนเพลงสรรเสริญบท 102 ก็เคยท้อใจและมีความคิดในแง่ลบ เขาเป็นทุกข์มากจนกินไม่ได้นอนไม่หลับและไม่มีแรงสู้กับปัญหา คำพูดของเขาแสดงให้เห็นว่าเขาคิดถึงแต่ความทุกข์ ความหดหู่ และความรู้สึกของตนเอง (เพลง. 102:3, 4, 6, 11) เขาเชื่อว่าพระยะโฮวาทิ้งเขาแล้ว—เพลง. 102:10
20. การอธิษฐานจะช่วยคนที่มีความคิดในแง่ลบได้อย่างไร?
20 ถึงแม้ว่าจะทุกข์ใจแต่ผู้เขียนเพลงสรรเสริญก็ยังสรรเสริญพระยะโฮวาต่อไปได้ (อ่านบทเพลงสรรเสริญ 102:19-21) ในเพลงสรรเสริญบท 102 แสดงให้เห็นว่าแม้แต่คนที่ความเชื่อเข้มแข็งก็อาจทุกข์ใจและคิดถึงแต่ปัญหาของตัวเอง ผู้เขียนเพลงสรรเสริญรู้สึกโดดเดี่ยวเหมือน “นกเดียวดายบนหลังคา” เพราะดูเหมือนว่าเขากำลังต่อสู้กับปัญหาเพียงลำพัง (เพลง. 102:7, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย ) ถ้าคุณเคยรู้สึกอย่างนี้ ขอให้ระบายความในใจกับพระยะโฮวาเหมือนผู้เขียนเพลงสรรเสริญ เพราะการอธิษฐานจะช่วยคุณต่อสู้กับความคิดในแง่ลบ พระยะโฮวาสัญญาว่า “พระองค์จะทรงตอบคำอธิษฐานของคนสิ้นไร้ไม้ตอก พระองค์จะไม่ทรงดูแคลนคำทูลวิงวอนของพวกเขาเลย” (เพลง. 102:17, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย ) และคำสัญญาของพระองค์เชื่อถือได้
21. คนที่เคยคิดลบจะเปลี่ยนมาคิดบวกได้อย่างไร?
21 เพลงสรรเสริญบท 102 ยังทำให้เห็นอีกว่าแม้คุณจะเคยมีความคิดในแง่ลบ คุณก็กลับมาคิดบวกได้ ผู้เขียนเพลงสรรเสริญเริ่มมีความคิดในแง่บวกเมื่อเลิกคิดถึงแต่ตัวเอง แล้วคิดถึงพระยะโฮวาแทน (เพลง. 102:12, 27) เขาคิดถึงความสัมพันธ์ของเขากับพระเจ้า แล้วเขาก็มีกำลังใจเมื่อได้เข้าใจว่าพระยะโฮวาไม่เคยทอดทิ้งประชาชนของพระองค์ที่ตกทุกข์ได้ยาก ฉะนั้น เมื่อไรก็ตามที่คุณเป็นทุกข์จนทำงานรับใช้ได้ไม่มากอย่างที่ต้องการก็ให้บอกเรื่องนั้นกับพระยะโฮวาในคำอธิษฐานแล้วขอให้พระองค์ฟังคำอธิษฐานของคุณ เพื่อคุณจะสบายใจขึ้นและเพื่อนามของพระองค์จะเป็นที่ยกย่องสรรเสริญ—เพลง. 102:20, 21
22. เราแต่ละคนจะทำให้พระยะโฮวามีความสุขได้อย่างไร?
22 สรุปว่า เราสามารถใช้คัมภีร์ไบเบิลตรวจดูตัวเองว่าเรามีความเชื่อที่มั่นคงและมีค่าสำหรับพระยะโฮวาหรือไม่ ในโลกของซาตานนี้เราคงไม่สามารถขจัดความคิดในแง่ลบออกไปได้ทั้งหมด แต่ถ้าเราทุกคนพยายามรับใช้อย่างซื่อสัตย์และอดทนต่อ ๆ ไป เราจะทำให้พระยะโฮวามีความสุขและทำให้ตัวเราเองได้รับชีวิตนิรันดร์—มัด. 24:13