จงปฏิบัติตามสิ่งที่ท่านได้เรียนรู้
“สิ่งที่ท่านทั้งหลายได้เรียนรู้ทั้งได้รับไว้และได้ยินและได้เห็นอันเกี่ยวเนื่องกับข้าพเจ้า จงปฏิบัติสิ่งเหล่านี้; และพระเจ้าแห่งสันติสุขจะสถิตกับท่าน.”—ฟิลิปปอย 4:9, ล.ม.
1, 2. โดยทั่วไป คัมภีร์ไบเบิลมีผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนที่ถือว่าตัวเองเคร่งศาสนาไหม? จงอธิบาย.
“ศาสนากำลังเป็นที่นิยมมากขึ้น แต่ศีลธรรมกำลังเสื่อมลง.” ข้อความพาดหัวในจดหมายข่าว จับกระแสโลก (ภาษาอังกฤษ) นี้สรุปผลการสำรวจความเห็นของประชาชนทั่วสหรัฐ. ปรากฏว่าผู้คนในประเทศนั้นจำนวนมากขึ้นไปโบสถ์และกล่าวว่าศาสนายังคงมีบทบาทสำคัญในชีวิตของตน. อย่างไรก็ตาม รายงานนั้นกล่าวว่า “แม้ตัวเลขนี้น่าประทับใจ แต่ชาวอเมริกันหลายคนสงสัยว่าความเชื่อทางศาสนากำลังมีผลกระทบต่อชีวิตของแต่ละคนและสังคมโดยรวมหรือไม่.”
2 สถานการณ์เช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในสหรัฐประเทศเดียว. ตลอดทั่วโลก หลายคนที่บอกว่าพวกเขายอมรับคัมภีร์ไบเบิลและเคร่งศาสนาไม่ได้ให้พระคัมภีร์มีผลกระทบใด ๆ ต่อชีวิตของพวกเขาอย่างแท้จริง. (2 ติโมเธียว 3:5) หัวหน้าทีมวิจัยคนหนึ่งกล่าวว่า “เรายังคงให้ความนับถืออย่างสูงต่อคัมภีร์ไบเบิล แต่ที่จะให้เวลาอ่าน, ศึกษา, และนำคัมภีร์ไบเบิลมาใช้จริง ๆ นั้นเป็นเรื่องของอดีต.”
3. (ก) คัมภีร์ไบเบิลมีผลกระทบต่อคนเหล่านั้นที่เข้ามาเป็นคริสเตียนแท้อย่างไร? (ข) เหล่าสาวกของพระเยซูใช้คำแนะนำของเปาโลซึ่งบันทึกไว้ที่ฟิลิปปอย 4:9 อย่างไร?
3 อย่างไรก็ตาม สำหรับคริสเตียนแท้แล้ว สภาพการณ์ต่างออกไป. การใช้คำแนะนำจากพระคำของพระเจ้าทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความคิดและความประพฤติของพวกเขา. และบุคลิกภาพใหม่ที่พวกเขาแสดงออกนั้นปรากฏชัดต่อสายตาคนอื่น. (โกโลซาย 3:5-10) สำหรับสาวกของพระเยซู คัมภีร์ไบเบิลไม่ใช่หนังสือที่ไม่ได้ใช้ซึ่งวางจับฝุ่นอยู่บนชั้นหนังสือ. ตรงกันข้าม อัครสาวกเปาโลบอกคริสเตียนในฟิลิปปีดังนี้: “สิ่งที่ท่านทั้งหลายได้เรียนรู้ทั้งได้รับไว้และได้ยินและได้เห็นอันเกี่ยวเนื่องกับข้าพเจ้า จงปฏิบัติสิ่งเหล่านี้; และพระเจ้าแห่งสันติสุขจะสถิตกับท่าน.” (ฟิลิปปอย 4:9, ล.ม.) คริสเตียนทำมากกว่ายอมรับความจริงแห่งพระคำของพระเจ้า. พวกเขาประพฤติตามสิ่งที่ได้เรียนรู้ ใช้คำแนะนำของคัมภีร์ไบเบิลตลอดเวลา ทั้งในครอบครัว, ในที่ทำงาน, ในประชาคม, และในแง่มุมอื่นทั้งสิ้นของชีวิต.
4. เหตุใดการปฏิบัติตามกฎหมายของพระเจ้าจึงเป็นเรื่องท้าทาย?
4 การปฏิบัติตามกฎหมายและหลักการของพระเจ้าไม่ใช่เรื่องง่าย. เรามีชีวิตในโลกที่อยู่ใต้อำนาจซาตานพญามาร ซึ่งคัมภีร์ไบเบิลเรียกมันว่าเป็น “พระเจ้าของระบบนี้.” (2 โกรินโธ 4:4, ล.ม.; 1 โยฮัน 5:19) ดังนั้น เราต้องระวังไม่ให้สิ่งใดขัดขวางเราจากการมุ่งติดตามแนวทางแห่งความซื่อสัตย์มั่นคงต่อพระยะโฮวาพระเจ้า. เราจะรักษาความซื่อสัตย์มั่นคงได้อย่างไร?
ยึดถือ “แบบแห่งถ้อยคำที่ก่อประโยชน์”
5. คำแถลงของพระเยซูที่ว่า “ให้ .. . ติดตามเราเรื่อยไป” บ่งชี้ถึงอะไร?
5 แง่หนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามสิ่งที่เราได้เรียนรู้คือ การยืนหยัดอย่างภักดีในการนมัสการแท้ แม้จะมีการต่อต้านจากคนที่ไม่เชื่อ. ความเพียรอดทนเรียกร้องความพยายาม. พระเยซูตรัสไว้ว่า “ถ้าผู้ใดต้องการตามเรามา ก็ให้ผู้นั้นปฏิเสธตัวเอง และรับเอาเสาทรมานของตนแล้วติดตามเราเรื่อยไป.” (มัดธาย 16:24, ล.ม.) พระเยซูไม่ได้กำหนดว่าเราควรติดตามพระองค์แค่หนึ่งสัปดาห์, หนึ่งเดือน, หรือหนึ่งปี. แต่พระองค์ตรัสว่า “ให้ .. . ติดตามเราเรื่อยไป.” คำตรัสของพระองค์บ่งชี้ว่าการเป็นสาวกไม่ใช่เพียงช่วงเวลาหนึ่งในชีวิตหรือเป็นการอุทิศตนเพื่อศาสนาชั่วระยะหนึ่ง. การยืนหยัดอย่างภักดีในการนมัสการแท้หมายถึงเราเพียรอดทนอย่างซื่อสัตย์ในแนวทางที่เราได้เลือก ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม. เราจะทำอย่างนั้นได้อย่างไร?
6. อะไรคือแบบแห่งถ้อยคำที่ก่อประโยชน์ที่คริสเตียนในศตวรรษแรกได้เรียนรู้จากเปาโล?
6 เปาโลกระตุ้นติโมเธียว เพื่อนร่วมงานของท่านดังนี้: “จงยึดถือแบบแห่งถ้อยคำที่ก่อประโยชน์ ที่ท่านได้ยินจากข้าพเจ้าด้วยความเชื่อและความรักซึ่งเกี่ยวเนื่องกับพระคริสต์เยซู.” (2 ติโมเธียว 1:13, ล.ม.) เปาโลหมายความเช่นไร? คำภาษากรีกที่มีการแปลว่า “แบบ” ในที่นี้ ตามตัวอักษรหมายถึงภาพร่างด้วยลายเส้นของจิตรกร. แม้ว่าภาพร่างไม่ได้ลงรายละเอียดไว้ทุกอย่าง แต่ก็มีเส้นขอบหรือเค้าโครงที่แสดงรูปร่างลักษณะให้พอมองออกได้ว่าภาพรวมเป็นรูปอะไร. คล้ายกัน แบบแห่งความจริงที่เปาโลสอนติโมเธียวและคนอื่น ๆ นั้นไม่ได้ออกแบบเพื่อให้คำตอบเฉพาะเจาะจงสำหรับทุกคำถามเท่าที่จะนึกขึ้นได้. กระนั้น คำสอนทั้งสิ้นนี้ให้แนวชี้แนะที่มากพอ เหมือนกับภาพร่าง เพื่อคนที่มีหัวใจสุจริตจะสามารถมองออกว่าพระยะโฮวาทรงเรียกร้องอะไรจากพวกเขา. แน่นอน เพื่อจะเป็นที่พอพระทัยพระเจ้า พวกเขาต้องยึดถือแบบแห่งความจริงไว้โดยปฏิบัติตามสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้.
7. คริสเตียนจะยึดมั่นอยู่กับแบบแห่งถ้อยคำที่ก่อประโยชน์ได้โดยวิธีใด?
7 ในศตวรรษแรก บางคนเช่น ฮุเมนาย, อาเล็กซันดะโร, และฟิเลโต ได้ส่งเสริมความคิดที่ไม่สอดคล้องกับ “แบบแห่งถ้อยคำที่ก่อประโยชน์.” (1 ติโมเธียว 1:18-20; 2 ติโมเธียว 2:16, 17) คริสเตียนในยุคแรกจะหลีกเลี่ยงการถูกพวกผู้ออกหากชักจูงไปผิดทางได้โดยวิธีใด? โดยการศึกษาอย่างถี่ถ้วนในข้อเขียนที่มีขึ้นโดยการดลใจและนำไปใช้ในชีวิตของพวกเขา. คนเหล่านั้นที่ติดตามแบบอย่างของเปาโลและผู้ซื่อสัตย์คนอื่น ๆ สามารถแยกแยะและบอกปัดสิ่งใด ๆ ที่ไม่สอดคล้องกับแบบแห่งความจริงที่พวกเขาเคยได้รับการสอน. (ฟิลิปปอย 3:17; เฮ็บราย 5:14) แทนที่จะ “จิตใจเสื่อมด้วยการซักถามและการโต้เถียงกันเรื่องถ้อยคำ” พวกเขามุ่งหน้าต่อ ๆ ไปในแนวทางที่ถูกต้องแห่งความเลื่อมใสในพระเจ้า. (1 ติโมเธียว 6:3-6, ล.ม.) เราทำอย่างเดียวกันเมื่อเราปฏิบัติตามความจริงที่เราได้เรียนรู้ต่อ ๆ ไป. ช่างเป็นการเสริมสร้างความเชื่อสักเพียงไรที่ได้เห็นว่าหลายล้านคนที่กำลังรับใช้พระยะโฮวาอยู่ตลอดทั่วโลกนั้นกำลังยึดถือแบบแห่งความจริงจากคัมภีร์ไบเบิลที่พวกเขาได้รับการสอน.—1 เธซะโลนิเก 1:2-5.
บอกปัด “เรื่องเท็จ”
8. (ก) ซาตานพยายามทำลายความเชื่อของเราในทุกวันนี้โดยวิธีใด? (ข) เปาโลให้คำเตือนอะไรไว้ใน 2 ติโมเธียว 4:3, 4?
8 ซาตานพยายามทำลายความซื่อสัตย์มั่นคงของเราโดยหว่านความสงสัยในสิ่งที่เราได้รับการสอน. เช่นเดียวกับในศตวรรษแรก ทุกวันนี้พวกผู้ออกหากและคนอื่น ๆ พยายามทำลายความเชื่อของคนที่ไร้เดียงสา. (ฆะลาเตีย 2:4; 5:7, 8) บางครั้ง พวกเขาใช้สื่อเพื่อแพร่ข้อมูลที่บิดเบือนหรือเรื่องโกหกล้วน ๆ เกี่ยวกับวิธีการและเป้าหมายของไพร่พลของพระยะโฮวา. เปาโลเตือนว่าบางคนจะหันไปจากความจริง. ท่านเขียนว่า “จะมีช่วงเวลาหนึ่งที่เขาจะไม่ยอมรับฟังคำสอนที่ก่อประโยชน์ แต่ตรงกับความปรารถนาของเขาเอง เขาจะรวบรวมครูไว้สำหรับตนเอง ที่จะให้ยอนหูของตน; และเขาจะบ่ายหูจากความจริง แต่แล้วเขาจะหันไปยังเรื่องเท็จ.”—2 ติโมเธียว 4:3, 4, ล.ม.
9. เปาโลอาจนึกถึงอะไรเมื่อท่านกล่าวถึง “เรื่องเท็จ”?
9 แทนที่จะยึดถือแบบแห่งถ้อยคำที่ก่อประโยชน์ บางคนถูกล่อให้สนใจอยากรู้ “เรื่องเท็จ.” เรื่องเท็จนี้หมายถึงอะไร? เปาโลอาจนึกถึงนิยายที่แต่งขึ้นจากจินตนาการ เช่นเรื่องที่พบในโทบิต ซึ่งเป็นหนังสือนอกสารบบพระคัมภีร์.a เรื่องเท็จยังอาจหมายรวมถึงเรื่องเล่าลือที่น่าตื่นเต้นหรือมาจากการคาดเดา. นอกจากนี้ บางคนอาจถูกลวงอย่างแยบคายโดยพวกที่เห็นชอบกับทัศนะที่ผ่อนปรนมาตรฐานของพระเจ้าหรือพวกที่วิพากษ์วิจารณ์คนเหล่านั้นที่นำหน้าในประชาคม ซึ่ง “ตรงกับความปรารถนาของเขาเอง.” (3 โยฮัน 9, 10; ยูดา 4) ไม่ว่าอาจเป็นอะไรที่ทำให้สะดุด ดูเหมือนว่าบางคนชอบความเท็จมากกว่าความจริงแห่งพระคำของพระเจ้า. ในไม่ช้า พวกเขาก็หยุดปฏิบัติตามสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้ และนี่ได้นำความเสียหายฝ่ายวิญญาณมาสู่พวกเขาเอง.—2 เปโตร 3:15, 16.
10. เรื่องเท็จในสมัยปัจจุบันมีอะไรบ้าง และโยฮันได้เน้นอย่างไรถึงความจำเป็นที่จะต้องระวัง?
10 เราสามารถหลีกเลี่ยงจากการหันไปยังเรื่องเท็จสมัยปัจจุบันหากเราพิจารณาอย่างถี่ถ้วนและรู้จักเลือกเฟ้นสิ่งที่เราฟังและอ่าน. ยกตัวอย่าง สื่อมักส่งเสริมเรื่องผิดศีลธรรม. หลายคนสนับสนุนอไญยนิยมหรืออเทวนิยมอย่างโจ่งแจ้ง. นักวิจารณ์คัมภีร์ไบเบิลเยาะเย้ยคำกล่าวอ้างของคัมภีร์ไบเบิลที่ว่ามีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้า. และพวกผู้ออกหากสมัยปัจจุบันยังคงพยายามหว่านเมล็ดแห่งความสงสัยต่อ ๆ ไปเพื่อบ่อนทำลายความเชื่อของคริสเตียน. เกี่ยวกับอันตรายที่พอเทียบเคียงกันได้กับที่เหล่าผู้พยากรณ์เท็จในศตวรรษแรกได้ก่อให้เกิดขึ้น อัครสาวกโยฮันเตือนไว้ดังนี้: “ท่านที่รักทั้งหลาย อย่าเชื่อทุกถ้อยคำที่กล่าวโดยการดลใจ แต่จงตรวจดูว่าถ้อยคำเหล่านั้นมาจากพระเจ้าหรือไม่ เพราะมีผู้พยากรณ์เท็จเป็นอันมากออกไปในโลกแล้ว.” (1 โยฮัน 4:1, ล.ม.) ดังนั้น เราจำเป็นต้องระวัง.
11. อะไรคือวิธีหนึ่งที่จะทดสอบดูว่าเราอยู่ในความเชื่อหรือไม่?
11 ในเรื่องนี้ เปาโลเขียนว่า “จงตรวจสอบอยู่เสมอว่าท่านทั้งหลายอยู่ในความเชื่อหรือไม่.” (2 โกรินโธ 13:5, ล.ม.) ท่านอัครสาวกกระตุ้นเราให้ตรวจสอบตัวเองอยู่เสมอเพื่อจะรู้ว่าเรากำลังยึดมั่นอยู่ในข้อเชื่อทั้งสิ้นของคริสเตียนหรือไม่. ถ้าหูของเราเอนเอียงอยากฟังพวกที่ไม่พอใจ เราจำเป็นต้องวิเคราะห์ตัวเองพร้อมด้วยการอธิษฐาน. (บทเพลงสรรเสริญ 139:23, 24) เรามีแนวโน้มจะหาข้อบกพร่องของไพร่พลของพระยะโฮวาหรือ? ถ้าใช่ ทำไม? เป็นเพราะคำพูดหรือการกระทำของใครบางคนทำให้เราเจ็บใจไหม? ถ้าเช่นนั้น เรากำลังมองเรื่องราวต่าง ๆ อย่างเหมาะสมโดยนำทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องมาพิจารณาไหม? ความทุกข์ยากใด ๆ ที่เราทนรับในระบบนี้มีอยู่ชั่วคราว. (2 โกรินโธ 4:17) แม้แต่เมื่อเราเผชิญการทดลองบางอย่างในประชาคม ทำไมเราจะเลิกรับใช้พระเจ้าเล่า? ถ้าเราผิดหวังในบางสิ่ง ดีกว่ามากมิใช่หรือที่จะทำสิ่งที่เราทำได้เพื่อแก้ปัญหา แล้วปล่อยเรื่องนั้นไว้ในพระหัตถ์ของพระยะโฮวา?—บทเพลงสรรเสริญ 4:4, ล.ม.; สุภาษิต 3:5, 6; เอเฟโซ 4:26.
12. ชาวเมืองเบรอยะวางตัวอย่างที่ดีสำหรับเราอย่างไร?
12 แทนที่จะมีแนวโน้มชอบวิพากษ์วิจารณ์ ขอให้เรารักษาทัศนะที่เป็นประโยชน์ฝ่ายวิญญาณต่อข้อมูลที่ได้รับโดยการศึกษาส่วนตัวและการประชุมประจำประชาคม. (1 โกรินโธ 2:14, 15) และแทนที่จะสงสัยพระคำของพระเจ้า เป็นการสุขุมกว่าสักเพียงไรที่จะมีเจตคติเหมือนชาวเมืองเบรอยะในศตวรรษแรกที่ตรวจค้นดูข้อความในพระคัมภีร์อย่างถี่ถ้วน! (กิจการ 17:10, 11) ครั้นแล้ว ให้เราประพฤติตามสิ่งที่เราเรียนรู้, บอกปัดเรื่องเท็จ, และยึดมั่นอยู่ในความจริง.
13. เราอาจแพร่เรื่องเท็จไปโดยไม่เจตนาได้อย่างไร?
13 ยังมีเรื่องเท็จอีกแบบหนึ่งที่เราต้องระวัง. ประสบการณ์หรือเรื่องเล่าที่น่าตื่นเต้นหลายเรื่องส่งเวียนให้อ่านต่อ ๆ กัน บ่อยครั้งทางอีเมล. เป็นการสุขุมที่จะระวังเรื่องเหล่านั้นไว้ก่อน โดยเฉพาะถ้าเราไม่รู้แหล่งที่มาของข้อมูล. แม้แต่เมื่อประสบการณ์หรือเรื่องเล่าถูกส่งมาจากคริสเตียนคนหนึ่งที่มีชื่อเสียงดี แต่คนนั้นอาจไม่ใช่คนที่ได้รู้ข้อเท็จจริงนั้นมาโดยตรง. นั่นคือเหตุผลสำคัญที่เราต้องระวังการนำไปเล่าต่อหรือส่งต่อเรื่องราวที่ไม่ได้มีการรับรองความถูกต้อง. แน่นอนว่าเราไม่อยากจะกล่าวซ้ำ “ตำนานที่ไม่แสดงถึงความนับถือพระเจ้า” หรือ “เรื่องเท็จซึ่งละเมิดสิ่งบริสุทธิ์.” (1 ติโมเธียว 4:7, ล.ม.; ฉบับนิว อินเตอร์แนชันแนล) นอกจากนี้ เนื่องจากเรามีพันธะที่จะพูดความจริงต่อกัน เราจะปฏิบัติอย่างสุขุมโดยหลีกเลี่ยงสิ่งใด ๆ ที่จะเป็นเหตุให้เราแพร่กระจายเรื่องเท็จไปโดยไม่เจตนา.—เอเฟโซ 4:25.
ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการปฏิบัติตามความจริง
14. มีผลประโยชน์อะไรบ้างจากการปฏิบัติตามสิ่งที่เราเรียนรู้จากพระคำของพระเจ้า?
14 การปฏิบัติตามสิ่งที่เราเรียนรู้โดยการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเป็นส่วนตัวและการประชุมคริสเตียนนำมาซึ่งผลประโยชน์หลายประการ. ยกตัวอย่าง เราอาจพบว่าความสัมพันธ์ระหว่างเรากับผู้ที่สัมพันธ์กับเราในความเชื่อดีขึ้น. (ฆะลาเตีย 6:10, ล.ม.) แนวโน้มของตัวเราเองจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นเมื่อเราใช้หลักการในคัมภีร์ไบเบิล. (บทเพลงสรรเสริญ 19:8) ยิ่งกว่านั้น โดยการปฏิบัติตามสิ่งที่เราเรียนรู้ เรา ‘ทำให้คำสอนของพระเจ้างดงามยิ่งขึ้น’ และนั่นอาจดึงดูดคนอื่น ๆ เข้ามาสู่การนมัสการแท้.—ติโต 2:6-10, ล.ม.
15. (ก) เยาวชนคนหนึ่งได้รวบรวมความกล้าเพื่อให้คำพยานที่โรงเรียนอย่างไร? (ข) คุณได้เรียนรู้อะไรจากประสบการณ์นี้?
15 ท่ามกลางพยานพระยะโฮวามีคนหนุ่มสาวมากมายที่ปฏิบัติตามสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้โดยการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลและสรรพหนังสือคริสเตียนเป็นส่วนตัว อีกทั้งจากการเข้าร่วมการประชุมเป็นประจำกับประชาคม. ความประพฤติที่ดีของพวกเขาเป็นคำพยานอันทรงพลังแก่ครูและเพื่อนนักเรียนที่โรงเรียน. (1 เปโตร 2:12) ขอให้พิจารณาเลสลี เด็กหญิงวัย 13 ปีในสหรัฐ. เธอยอมรับว่า เธอเคยรู้สึกว่ายากที่จะพูดกับเพื่อนร่วมชั้นเกี่ยวกับความเชื่อของเธอ แต่แล้ววันหนึ่ง ความรู้สึกเช่นนั้นก็เปลี่ยนไป. “ในชั้นเรียนมีการพูดถึงวิธีที่ผู้คนพยายามขายสินค้า. เด็กหญิงคนหนึ่งยกมือขึ้นตอบและเอ่ยถึงพวกพยานพระยะโฮวา.” ในฐานะพยานฯ คนหนึ่ง เลสลีทำอย่างไร? “ฉันได้ปกป้องความเชื่อของฉัน” เธอบอก “ซึ่งฉันแน่ใจว่าทำให้ทุกคนประหลาดใจ เพราะปกติแล้วฉันเป็นคนไม่ค่อยพูดในโรงเรียน.” ความกล้าหาญของเลสลีนำไปสู่อะไร? เลสลีเล่าว่า “ฉันสามารถเสนอจุลสารเล่มหนึ่งและแผ่นพับอีกใบให้นักเรียนคนนั้น เนื่องจากเธอยังมีคำถามอื่น ๆ อีก.” พระยะโฮวาต้องชื่นชมยินดีสักเพียงไรเมื่อเหล่าเยาวชนที่ปฏิบัติตามสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ได้รวบรวมความกล้าเพื่อให้คำพยานที่โรงเรียน!—สุภาษิต 27:11; เฮ็บราย 6:10.
16. โรงเรียนการรับใช้ตามระบอบของพระเจ้าเป็นประโยชน์อย่างไรต่อพยานฯ วัยเยาว์คนหนึ่ง?
16 อีกตัวอย่างหนึ่งเป็นของเอลิซาเบท. ตลอดหลายปีในชั้นประถมเริ่มตั้งแต่เธออายุเจ็ดขวบ เด็กหญิงคนนี้ได้เชิญครูหลายคนของเธอไปหอประชุมทุกครั้งที่เธอมีส่วนมอบหมายในโรงเรียนการรับใช้ตามระบอบของพระเจ้า. ถ้าครูคนใดไม่สะดวกที่จะไปหอประชุม เอลิซาเบทจะอยู่ต่อหลังเลิกเรียนและแสดงส่วนนั้นให้ครูคนนั้นฟัง. ในชั้นปีสุดท้ายของมัธยมปลาย เอลิซาเบทเขียนรายงานยาวสิบหน้ากระดาษเกี่ยวกับผลประโยชน์ของโรงเรียนการรับใช้ตามระบอบของพระเจ้าและนำเสนอรายงานนั้นต่อหน้าครูสี่คนที่เป็นคณะกรรมการประเมินผล. เธอยังถูกขอให้แสดงตัวอย่างหนึ่งของคำบรรยายในโรงเรียนการรับใช้ตามระบอบของพระเจ้าด้วย ซึ่งเธอได้เลือกหัวข้อ “ทำไมพระเจ้ายอมให้มีความชั่ว?” เอลิซาเบทได้รับประโยชน์จากระเบียบวาระที่ให้การศึกษาในโรงเรียนการรับใช้ตามระบอบของพระเจ้าที่ดำเนินการโดยพยานพระยะโฮวา. เธอเป็นเพียงหนึ่งในเยาวชนคริสเตียนจำนวนมากที่นำคำสรรเสริญมาสู่พระยะโฮวาโดยการปฏิบัติตามสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้จากพระคำของพระองค์.
17, 18. (ก) คัมภีร์ไบเบิลให้คำแนะนำอะไรในเรื่องความซื่อสัตย์? (ข) ความประพฤติที่ซื่อสัตย์ของพยานพระยะโฮวาคนหนึ่งส่งผลกระทบเช่นไรต่อชายคนหนึ่ง?
17 คัมภีร์ไบเบิลกล่าวเตือนสติคริสเตียนให้ประพฤติตัวซื่อสัตย์ในทุกสิ่ง. (เฮ็บราย 13:18, ล.ม.) ความไม่ซื่อสัตย์สามารถทำลายความสัมพันธ์ระหว่างเรากับผู้อื่น และที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ความสัมพันธ์กับพระยะโฮวา. (สุภาษิต 12:22) ความประพฤติของเราที่วางใจได้ให้หลักฐานว่าเรากำลังปฏิบัติตามสิ่งที่เราเรียนรู้ และนั่นทำให้หลายคนนับถือพยานพระยะโฮวามากขึ้น.
18 ขอให้พิจารณาประสบการณ์ของทหารคนหนึ่งที่ชื่อฟิลิป. เขาเซ็นเช็คไว้แต่ยังไม่ได้กรอกจำนวนเงินลงไป แล้วก็วางลืมไว้ที่ไหนสักแห่งและเขาก็ไม่ได้ตระหนักถึงเรื่องนี้จนกระทั่งเช็คใบนั้นถูกส่งคืนให้เขาทางจดหมาย. พยานพระยะโฮวาคนหนึ่งได้พบเช็คใบดังกล่าว และแนบกระดาษโน้ตใบหนึ่งไปพร้อมกับเช็คนั้นเขียนว่าความเชื่อทางศาสนาของผู้ที่พบเช็คใบนี้กระตุ้นตัวเขาให้ส่งเช็คคืนเจ้าของ. ฟิลิปตกตะลึง. เขากล่าวว่า “ผู้ที่เจอเช็คนั้นอาจเบิกเงินผมไปได้ถึง 9,000 ดอลลาร์ (สหรัฐ)!” เคยมีครั้งหนึ่งที่เขาผิดหวังเนื่องจากถูกขโมยหมวกในโบสถ์. ปรากฏว่าคนรู้จักคุ้นเคยคนหนึ่งได้ขโมยหมวกของเขาไป ในขณะที่คนแปลกหน้าอีกคนหนึ่งกลับส่งคืนเช็คที่มีมูลค่าหลายพันดอลลาร์ให้เขา! ใช่แล้ว คริสเตียนที่ซื่อสัตย์นำพระเกียรติมาสู่พระยะโฮวาพระเจ้า!
จงปฏิบัติตามสิ่งที่คุณเรียนรู้ต่อ ๆ ไป
19, 20. เราจะได้รับประโยชน์อะไรจากการประพฤติสอดคล้องกับสิ่งที่เราเรียนรู้จากพระคัมภีร์?
19 คนเหล่านั้นที่ปฏิบัติตามสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้จากพระคำของพระเจ้าเก็บเกี่ยวผลประโยชน์มากมาย. สาวกยาโกโบเขียนดังนี้: “ผู้ที่เพ่งพิจารณาในกฎหมายอันสมบูรณ์แห่งเสรีภาพ และยึดมั่นอยู่ในกฎหมายนั้น ผู้นั้นจะเป็นสุขในการปฏิบัติตามกฎหมายแห่งเสรีภาพ เพราะว่าเขามิได้เป็นผู้ฟังที่หลงลืม แต่เป็นผู้ปฏิบัติการงาน.” (ยาโกโบ 1:25, ล.ม.) ถูกแล้ว ถ้าเราประพฤติสอดคล้องกับสิ่งที่เราเรียนรู้จากพระคัมภีร์ เราจะได้รับความสุขแท้และจะสามารถรับมือกับความกดดันในชีวิตได้ดีขึ้น. เหนือสิ่งอื่นใด เราจะได้รับพระพรจากพระยะโฮวาและมีความหวังเรื่องชีวิตนิรันดร์!—สุภาษิต 10:22; 1 ติโมเธียว 6:6.
20 ดังนั้น ในทุกทาง ขอให้เราทุ่มเทตัวเองต่อ ๆ ไปในการศึกษาพระคำของพระเจ้า. จงเข้าร่วมประชุมเป็นประจำกับผู้นมัสการพระยะโฮวา และเอาใจใส่เนื้อหาที่มีการนำเสนอ ณ การประชุมคริสเตียน. นำเอาสิ่งที่คุณเรียนรู้ไปใช้, ปฏิบัติตามสิ่งที่คุณเรียนรู้เรื่อยไป, แล้ว ‘พระเจ้าแห่งสันติสุขจะสถิตอยู่กับคุณ.’—ฟิลิปปอย 4:9.
[เชิงอรรถ]
a โทบิต ซึ่งอาจถูกเขียนขึ้นในศตวรรษที่สามก่อน ส.ศ. มีเรื่องราวที่เต็มไปด้วยการเชื่อโชคลางเกี่ยวกับชาวยิวคนหนึ่งที่ชื่อโทบิยาห์. มีการเล่าว่าเขามีความสามารถในการรักษาโรคและขับปิศาจด้วยอำนาจที่ได้จากการใช้หัวใจ, ดี, และตับของปลายักษ์ตัวหนึ่ง.
คุณจำได้ไหม?
• อะไรคือ “แบบแห่งถ้อยคำที่ก่อประโยชน์” และเราจะยึดถือสิ่งนี้ไว้โดยวิธีใด?
• “เรื่องเท็จ” อะไรที่เราต้องบอกปัด?
• คนเหล่านั้นที่ปฏิบัติตามสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้จากพระคำของพระเจ้าได้รับประโยชน์อะไรบ้าง?
[ภาพหน้า 17]
คริสเตียนในยุคแรกหลีกเลี่ยงการถูกผู้ออกหากชักจูงไปผิดทางได้โดยวิธีใด?
[ภาพหน้า 18]
เมล็ดแห่งความสงสัยอาจถูกหว่านผ่านทางสื่อ, อินเทอร์เน็ต, และผู้ออกหากสมัยปัจจุบัน
[ภาพหน้า 19]
ไม่เป็นการสุขุมที่จะส่งต่อเรื่องที่ไม่ได้มีการรับรองความถูกต้อง
[ภาพหน้า 20]
ไม่ว่าในที่ทำงาน, ที่โรงเรียน, หรือที่อื่นใด พยานพระยะโฮวานำเอาสิ่งที่พวกเขาอ่านจากพระคำของพระเจ้าไปใช้