การกำจายสุคนธรสแห่งความรู้ของพระเจ้า
“จงขอบคุณพระเจ้า ผู้ทรงโปรดนำเรามาร่วมฉลองชัยชนะโดยพระคริสต์เสมอมา และโปรดให้กลิ่นอายแห่งความรู้ของพระองค์กำจายไปทุกแห่งด้วยตัวเรา!”—2 โกรินโธ 2:14, ล.ม.
1. ตอนนี้เรากำลังพูดเรื่องกลิ่นอะไร และควรมีทัศนะเช่นไรต่อสิทธิพิเศษที่ได้กำจายกลิ่นนี้?
คุณได้กลิ่นอะไรไหม? หอมชื่นใจจริง! ที่นี่เราไม่หมายถึงกลิ่นหอมจากมวลบุปผชาติ แต่กล่าวโดยนัยถึงกลิ่นหอมกำจรจากหนังสือที่คัดเลือกแล้วว่าดีที่สุดในโลก. หนังสือดังกล่าวหาใช่มีต้นตอมาจากมนุษย์ไม่ โดยนัยแล้วเป็นประหนึ่งช่อดอกไม้ซึ่งพระเจ้าทรงดลบันดาลให้เขียนขึ้น พระองค์ผู้นี้แหละที่ได้ทรงสร้างสรรค์มวลดอกไม้หอมไว้ประดับแผ่นดินโลก. สิทธิพิเศษของการกำจายสุคนธรสแห่งความรู้ของพระเจ้าเป็นสิ่งมีค่าล้ำเลิศ. ใช่แล้ว เป็นงานรับใช้พระเจ้าซึ่งมีคุณค่าเป็นพิเศษ—มีเพียงคนจำนวนน้อยรับเอา และมนุษยชาติโดยทั่วไปไม่ยอมรับ.
2. สาวกของพระเยซูเริ่มกำจายกลิ่นหอมโดยนัยนี้เมื่อไร และมีผลประการใด?
2 สมบัติอันมีค่านี้ได้มอบแก่บรรดาสาวกของพระคริสต์เมื่อพวกเขาเริ่มเข้าสู่งานรับใช้พระยะโฮวาเจ้าอย่างมีชีวิตชีวา ในวันเพ็นเตคอสเตปีสากลศักราช 33. เนื่องจากพวกเขาบริบูรณ์ด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ เขาจึงเริ่มกำจายกลิ่นหอมโดยนัย ด้วยการกล่าวถึง “อิทธิฤทธิ์ของพระเจ้า.” (กิจการ 2:1-4, 11) สุคนธรสแห่งความรู้ของพระเจ้าคงได้โชยกลิ่นจากพวกเขาไปยังคนอื่น ๆ ไม่เพียงแต่ชาวยิวโดยกำเนิดที่รับสุหนัตเท่านั้น แต่รวมทั้งพวกที่ไม่รับสุหนัต ไม่ว่าชาติใดเผ่าใดหรือพลเมืองประเทศไหน หรือภาษาใดเช่นกัน. (กิจการ 10:34, 35) สาวกแท้เหล่านั้นมองดูงานรับใช้แนวนี้เสมือนสิ่งมีค่ายิ่งกว่าความมั่งคั่งด้วยทรัพย์สินซึ่งมนุษย์ต่างก็ส่ำสมไว้สำหรับตัวเอง.
3. การกำจายสุคนธรสแห่งความรู้ของพระเจ้าได้ทำกันไปแล้วมากน้อยแค่ไหน และเราจำต้องถามตัวเองอย่างไรบ้าง?
3 ทุกวันนี้ งานสำคัญเกี่ยวด้วยการแพร่กำจายสุคนธรสแห่งความรู้ของพระเจ้ากำลังกระทำกันอยู่ทั่วโลก—ในขอบข่ายใหญ่โตยิ่งกว่ายุคใดในประวัติศาสตร์. งานนี้เกี่ยวข้องกับการให้คำพยานแก่มวลมนุษย์ถึงเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าซึ่งถูกสถาปนาภายใต้พระเยซูคริสต์ผู้ทรงรับการแต่งตั้งเป็นมหากษัตริย์. (มัดธาย 6:10; กิจการ 1:8) คุณมองงานโฆษณาพระมหากษัตริย์และราชอาณาจักรของพระองค์เสมือนสมบัติอันล้ำค่าไหม? พระเยซูคริสต์ผู้ทรงบุกเบิกงานประกาศข่าวดีแห่งราชอาณาจักรทรงหยั่งรู้คุณค่าของงานนี้ จึงได้ทรงวางแบบอย่างไว้.—มัดธาย 4:17; 6:19-21.
การพรมน้ำหอมฉลองชัยชนะ
4. ตาม 2 โกรินโธ 2:14 เวลานี้พระเจ้ากำลังนำผู้รับใช้ของพระองค์ในโลกนี้อย่างไร และคำกล่าวของเปาโลพาดพิงถึงสิ่งใด?
4 ทำไมการปฏิบัติพระเจ้าจึงถือเป็นงานมีคุณค่าสูง? เหตุผลประการหนึ่งคือแม้แต่เวลานี้ด้วยซ้ำที่คนทั้งหลายซึ่งปฏิบัติพระยะโฮวามีสิทธิพิเศษอย่างน่าทึ่ง เนื่องจากพระเจ้าทรงนำเขามาร่วมฉลองชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่. ตามคัมภีร์ฉบับแปลเดอะ นิว อินเตอร์แนชันแนล เวอร์ชัน พระธรรม 2 โกรินโธ 2:14 อ่านอย่างนี้ “ขอบคุณพระเจ้า ผู้ทรงนำเราเข้าร่วมฉลองชัยชนะโดยพระคริสต์ และด้วยเรานี้แหละความหอมแห่งความรู้ของพระองค์อบอวลทั่วทุกแห่ง [“ทำให้ความรู้ที่เรามีเกี่ยวกับพระองค์แพร่กระจายไปทั่วโลกเหมือนน้ำหอมจรุงกลิ่น!” ฉบับแปลฟิลิปส์].” คำพูดของอัครสาวกเปาโลดูเหมือนพาดพิงถึงกิจปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการฉลองชัยชนะในสมัยโบราณ.a
5, 6. (ก) เกิดอะไรขึ้นระหว่างที่จัดงานฉลองชัยชนะของชาวโรมันสมัยก่อน และกลิ่นหอมบอกเหตุอะไรแก่บุคคลต่าง ๆ? (ข) อุทาหรณ์ที่ 2 โกรินโธ 2:14-16 หมายถึงสิ่งใดทางฝ่ายวิญญาณ?
5 ในสมัยสาธารณรัฐโรมัน เกียรติสูงส่งอย่างหนึ่งที่สภาแผ่นดินของโรมมอบให้กับแม่ทัพที่ได้ชัยชนะคือ อนุญาตให้จัดขบวนแห่ฉลองชัยชนะอย่างมโหฬาร. ขบวนแห่ของชาวโรมันจะเคลื่อนไปช้า ๆ ผ่านถนนเวียทรีอุมฟาลิส แล้วขึ้นทางคดเคี้ยวไปสู่วิหารจูปิเตอร์บนยอดเขาคาพิโทลีน. เจ้าเมือง เจ้าชาย และนายพลทั้งหลายที่แพ้สงครามถูกจับเป็นเชลย พร้อมกับลูกเล็กเด็กแดง และบริวารต่างก็ถูกล่ามโซ่ บ่อยครั้งถูกเปลื้องเสื้อผ้าให้เดินเปลือยกาย ทำให้เขาได้รับความอัปยศอดสู.
6 ขณะที่ขบวนเคลื่อนผ่านถนนสายต่าง ๆ ในโรม ผู้คนต่างก็พากันโยนดอกไม้ใส่รถของผู้ชนะ และตลอดเส้นทางก็ได้มีการเผาธูปหอม. กลิ่นหอมจรุงเช่นนี้เป็นสิ่งแสดงถึงเกียรติยศ และชีวิตที่มีสวัสดิการมั่นคงสำหรับทหารผู้มีชัย แต่ส่อให้รู้ว่าเมื่อเสร็จการฉลองชัยชนะแล้ว เชลยที่ไม่ได้รับนิรโทษกรรมจะต้องถูกประหารแน่ ๆ. เรื่องนี้ให้ความสว่างเกี่ยวด้วยความหมายทางด้านวิญญาณของอุทาหรณ์ที่ 2 โกรินโธ 2:14-16. อุทาหรณ์นี้แสดงให้เห็นเปาโลและเพื่อนคริสเตียนในฐานะเป็นผู้เลื่อมใสในพระเจ้า ‘ร่วมกันกับพระคริสต์’ ทั้งหมดก็อยู่ในขบวนแห่งชัยชนะของพระเจ้าและติดตามการทรงนำของพระองค์ร่วมกับขบวนแห่ฉลองชัยชนะอย่างมโหฬารบนเส้นทางอันหอมตลบอบอวล.
สุคนธรสแห่งชีวิตหรือกลิ่นแห่งความตาย
7, 8. (ก) พยานพระยะโฮวากำจายกลิ่นหอมแห่งความรู้ของพระเจ้าโดยวิธีใด? (ข) ขณะที่พยานฯโชยกลิ่นหอมโดยนัย คนเหล่านั้นที่จะได้ความรอดมีปฏิกิริยาเช่นไร? (ค) คนที่จะพินาศมีปฏิกิริยาอย่างไร?
7 โดยการแพร่ความจริงของคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวเนื่องกับราชอาณาจักรของพระเจ้าภายใต้พระคริสต์ไปทั่วทุกหนทุกแห่งเช่นนั้น พยานพระยะโฮวาก็กำจายสุคนธรสอันหอมหวานแห่งความรู้ของพระเจ้าผู้ทรงเมตตาคุณ ซึ่งความจริงแห่งพระองค์ช่วยปลดเปลื้องพวกเขาให้หลุดพ้นจากศาสนาเท็จ. เหล่าพยานฯรุดหน้าไปอย่างมีชัยในราชกิจของพระยะโฮวา. การทำงานรับใช้ถวายในฐานะเป็นพยานของพระองค์และของพระมหากษัตริย์ที่ทรงตั้งไว้เช่นนั้นจึงเป็นประหนึ่งเครื่องหอมซึ่งยังความพอพระทัยแก่พระยะโฮวา. ด้วยเหตุนี้ พวกเราย่อมหยั่งรู้ค่าสิ่งที่อัครสาวกหมายถึงเมื่อท่านบอกว่า “ด้วยเราเป็นสุคนธรสอันหวานของพระคริสต์แก่พระเจ้าในท่ามกลางคนที่กำลังรอดและคนที่กำลังพินาศ แก่ฝ่ายหนึ่งเราเป็นกลิ่นรสแห่งความตายนำไปถึงความตาย และแก่อีกฝ่ายหนึ่งเราเป็นสุคนธรสแห่งชีวิตนำไปถึงชีวิต [“กลิ่นหอมสำคัญอันนำมาซึ่งชีวิต” ตามฉบับแปล เดอะ นิว อิงลิช ไบเบิล; “กลิ่นของชีวิตนั้นเองที่ยังความสดชื่น” ฉบับแปล ฟิลิปส์].—2 โกรินโธ 2:15, 16.
8 สุจริตชนผู้มีน้ำใจเยี่ยงแกะรู้จักความหวานแห่งความรู้ของพระยะโฮวาซึ่งส่งกลิ่นกำจายโดยพยานของพระองค์. สำหรับบุคคลดังกล่าว งานให้คำพยานส่งกลิ่นบอกถึงสุขภาพและชีวิต ความจริงที่มีชีวิตและประสาทชีวิต. พวกเขาแสดงความขอบคุณต่อพระยะโฮวาและมหากษัตริย์ของพระองค์ผู้ซึ่งพวกเขาร่วมฉลองชัยชนะและร้องเสียงดังว่า “ความรอดมีอยู่ที่พระเจ้าของเราผู้ประทับบนพระที่นั่ง และที่พระเมษโปดกนั้น.” (วิวรณ์ 7:10) คนเหล่านั้นหายใจในบรรยากาศแห่งความจริงของคัมภีร์ไบเบิล ซึ่งเป็นสุคนธรสแห่งชีวิตยังความสดชื่นนำไปถึงชีวิต. แต่ซาตานพร้อมด้วยผีปิศาจบริวารของมันได้บิดเบือนความสามารถในการดมกลิ่นของพวกที่ยึดถือศาสนาเท็จให้วิปริตไป จนเขาปิดจมูกและบอกปัดไม่ยอมรับความจริงด้วยอาการไว้ตัว. สำหรับ “คนที่กำลังพินาศ” ความจริงและผู้บอกเล่าความจริงอย่างซื่อสัตย์ส่งกลิ่นแห่งความตายนำไปถึงความตาย. หรือดังที่ฉบับแปลนิว อินเตอร์แนชันแนล เวอร์ชัน ใช้คำพูดว่า “แก่ฝ่ายหนึ่งเราเป็นกลิ่นความตาย.” ฉบับแปลของฟิลลิปส์ ว่า “สำหรับฝ่ายที่กำลังพินาศนั้น ดูเหมือนว่าเป็นกลิ่นความตายแก่เขา.”
9. ตอนนี้เปาโลได้ตั้งคำถามอะไร คุณจะตอบอย่างไร และเพราะเหตุใด?
9 แล้วอัครสาวกถามว่า “เพราะฉะนั้นใครเล่าจะมีความสามารถเหมาะกับกิจเหล่านี้?” (2 โกรินโธ 2:16) ความหมายคงเป็นในทำนองนี้ “และใคร่ล่ะมีคุณวุฒิสำหรับงานแบบนี้?” (เดอะ เจรูซาเลม ไบเบิล) “ใครเล่าที่จะมีคุณสมบัติเหมาะสมกับภารกิจเช่นนี้?” (อมตธรรมเพื่อชีวิต) คำตอบตามหลักคัมภีร์ก็คือ พยานพระยะโฮวา! เพราะเหตุใด? เพราะเฉพาะบุคคลที่ได้อุทิศตัวแล้วเป็นคนสุจริตใจ จริงใจ และไม่แสวงผลประโยชน์ส่วนตัว และเป็นคนพูดความจริงอย่างตรงไปตรงมา และไม่อะลุ้มอล่วยกับศาสนาเท็จ มีคุณวุฒิเหมาะกับงานกำจายสุคนธรสแห่งความรู้ของพระเจ้า.—โกโลซาย 1:3-6, 13; 2 ติโมเธียว 2:15.
10. เหตุใดพวกนักเทศน์นักบวชไม่มีคุณวุฒิเหมาะกับงานกำจายสุคนธรสแห่งความรู้ของพระเจ้า?
10 นักเทศน์นักบวชในคริสต์ศาสนจักร ซึ่งปรารถนาจะมีฐานะอันดีกับโลกนี้กลับกลายเป็นฝ่ายไม่มีคุณสมบัติและความสามารถเหมาะกับงานรับใช้อย่างไม่เห็นแก่ตัวเช่นนี้. ทำไมล่ะ? เนื่องจากเขาไม่บรรลุข้อเรียกร้องอย่างที่เปาโลได้ระบุไว้ว่า “ด้วยว่าเราไม่เหมือนคนโดยมากที่เอาพระคำของพระเจ้าไปขายกิน แต่ว่าเราประกาศด้วยอาศัยพระคริสต์อย่างคนซื่อสัตย์ อย่างคนที่มาจากพระเจ้า และอย่างคนที่อยู่จำเพาะพระพักตร์พระเจ้า.” (2 โกรินโธ 2:17) หรือดังที่ฉบับแปลใหม่ว่า: “เพราะว่าเราไม่เหมือนคนเป็นอันมากที่เอากิตติคุณของพระเจ้าไปขายกิน แต่ว่าเราประกาศด้วยอาศัยพระคริสต์อย่างคนซื่อสัตย์ อย่างคนที่มาจากพระเจ้าและอย่างคนที่อยู่จำเพาะพระพักตร์พระเจ้า.”
11, 12. (ก) เหตุใดเหล่าพยานฯไม่ใช่ “คนที่เอาพระคำของพระเจ้าไปขายกิน” เนื่องจากเขารับเงินบริจาค? (ข) เมื่อเปรียบเทียบกับหลายคนที่ได้ซื้อหาศาสนาคริสเตียนที่มีการเจือปน พยานพระยะโฮวาเสนอสิ่งใด?
11 พยานพระยะโฮวาเป็นพวกที่พระเจ้าได้ส่งออกไป และเขาประกาศให้คำพยานภายใต้การดูแลของพระเจ้า. ขณะที่เขาจัดหาให้ผู้สนใจมีหนังสือและสิ่งพิมพ์อื่นหลายอย่างอันเป็นประโยชน์ที่ชี้แจงพระคำของพระเจ้า แล้วรับเงินบริจาคที่ให้ด้วยความเต็มใจ เพื่อนำไปใช้กับงานประกาศราชอาณาจักรทั่วโลก การเช่นนี้หาใช่การขายหรือทำให้พระคำของพระเจ้าขาดความศักดิ์สิทธิ์ไม่. ที่จริง เงินบริจาคดังกล่าวเป็นเพียงสิ่งส่งเสริมสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้ของพระเจ้าไปถึงคนอื่น.
12 ทุกวันนี้มีคนจำนวนมากทีเดียวทั้ง ๆ ที่รู้หรือโดยไม่เฉลียวใจก็ตาม ได้ซื้อหาศาสนาคริสเตียนที่มีการเจือปน เพราะมันเข้ากันได้กับความปรารถนาอย่างเห็นแก่ตัวและไม่ขัดกับวิถีชีวิตของเขา. เขาเชื่อว่าพระเจ้าทรงรับรองเขาเพราะการอ้างสิทธิว่าเขามีความรักต่อพระองค์จากหัวใจ. อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการชี้แจงให้เห็นว่าพระคำของพระเจ้าขัดกับความเชื่อและการประพฤติของเขา เขาจึงบิดเบือนพระคัมภีร์ทั้งนี้ก็เพื่อถือเอาความคิดเห็นส่วนตัวสำคัญกว่าความเข้าใจอันถูกต้องของพระคัมภีร์. (มัดธาย 15:8, 9; 2 เปโตร 3:16) แต่พยานพระยะโฮวาเสนอความจริงล้วน ๆ จากพระคัมภีร์ ไม่มีการเจือปนเสริมแต่ง ด้วยเหตุนั้นจึงเป็นการโชยกลิ่นหอมหวานอย่างเป็นที่ชอบต่อพระเจ้าและต่อเพื่อนผู้นมัสการแท้. ดังนั้น พวกเขาสลัดประเพณีนิยมทางศาสนาพร้อมกับสิ่งพะรุงพะรังต่าง ๆ ทิ้งไป เพื่อจะได้ซึ่งความรู้แท้ของพระเจ้า.
13. นอกจากคริสเตียนผู้ถูกเจิมแล้ว มีใครบ้างเข้าร่วมการฉลองชัยชนะ และทุกแห่งที่เขาไป เขาทำอะไรบ้าง?
13 แท้จริง การร่วมกับพระคริสต์ในขบวนฉลองชัยชนะของพระเจ้าเป็นสิทธิพิเศษอย่างไม่มีอะไรเทียบได้ ซึ่งไม่เพียงแต่คริสเตียนผู้ถูกเจิมจะชื่นชมกับสิทธิพิเศษเช่นนี้ในปัจจุบัน แต่ “ชนหมู่ใหญ่” แห่ง “แกะอื่น” เช่นกัน เพราะชัยชนะของราชอาณาจักรอยู่ใกล้แล้ว. (วิวรณ์ 7:4, 9, ล.ม.; โยฮัน 10:16) ขณะที่เราคาดหมายจะเห็นชัยชนะขั้นต่อไปของมหากษัตริย์ผู้มีชัย ไม่ว่าเราไปไหน เราจะกระจายความหอมแห่งความรู้ของพระเจ้าที่ให้ชีวิตซึ่งเป็นเสมือนเครื่องหอมอันประเสริฐแก่คนทั้งหลายซึ่งมีใจปรารถนาใฝ่หาความจริงและความชอบธรรม. ช่างเป็นสิทธิพิเศษอะไรเช่นนั้นสำหรับผู้มีคุณสมบัติเหมาะกับงานอันน่าทึ่งเช่นนี้!—โยฮัน 17:3; โกโลซาย 3:16, 17.
ได้รับอำนาจฐานะเป็นผู้กำจายกลิ่นหอม
14. เหตุใดผู้ที่กำจายกลิ่นหอมแห่งความรู้ของพระเจ้าไม่จำเป็นต้องมีหนังสือมอบอำนาจจากมนุษย์?
14 แต่คนเหล่านั้นซึ่งได้กระจายกลิ่นหอมแห่งความรู้ของพระเจ้าและราชอาณาจักรของพระองค์จำเป็นต้องมีใบประกาศเกียรติคุณหรือหนังสือรับรองจากมนุษย์ไหม? ไม่จำเป็น! พวกเราได้รับมอบหน้าที่หรือรับการแต่งตั้งแล้วเพื่อเป็นพยานฝ่ายผู้ใหญ่ยิ่งสูงสุดแห่งเอกภพ. ดังนั้น เราไม่ต้องรีรอที่จะไปตามบ้านประชาชนเพื่อกระจายกลิ่นหอมแห่งข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้า. โปรดจำใส่ใจเสมอว่า พระยะโฮวาทรงนำพวกเรา. พระเยซูเองก็ทรงได้ดำเนินงานเทศนาประกาศท่ามกลาง “การติเตียนนินทาแห่งคนบาป.” (เฮ็บราย 12:3) กระนั้น ประวัติการเทศนาประกาศของพระองค์ดังปรากฏอยู่ในพระคัมภีร์ก็ยังเป็นความจริงไม่เปลี่ยนแปลง และงานที่พระองค์ทรงกระทำในเขตประกาศจึงเป็นการกล่าวยกย่องพระองค์ และอ้างเหตุผลสนับสนุนการที่พระองค์ทรงเป็นผู้รับใช้แท้ของพระเจ้ายะโฮวา.
15. อัครสาวกเปาโลแสดงให้เห็นอย่างไรว่าคริสเตียนแท้ไม่จำเป็นต้อง ‘มีหนังสือแนะนำตัว’?
15 อัครสาวกเปาโลเองก็เคยประสบกับสภาพการณ์ที่ท้าทายทำนองเดียวกัน โดยที่ท่านยกข้อโต้แย้งขึ้นมาว่า “เราจะยกย่องตัวเราเองอีกหรือ? เราต้องการหนังสือยกย่องตัวเองนำมาให้แก่พวกท่านเหมือนอย่างคนอื่นบางคนหรือ เราต้องการหนังสือยกย่องจากพวกท่านหรือ? ท่านทั้งหลายเป็นหนังสือของเรา จารึกไว้ที่หัวใจของเราซึ่งคนทั้งปวงรู้จักและได้อ่าน. ท่านทั้งหลายปรากฏเป็นหนังสือของพระคริสต์ซึ่งเราได้แต่งไว้ มิได้เขียนด้วยน้ำหมึกแต่ได้เขียนด้วยพระวิญญาณของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่ มิได้เขียนที่แผ่นศิลา แต่ได้เขียนที่แผ่นเนื้อซึ่งเป็นหัวใจ.”—2 โกรินโธ 3:1-3.
16. พยานพระยะโฮวามีหนังสือแบบไหนเป็นหลักฐานแสดงว่างานเทศนาสั่งสอนที่เขากระทำนั้นเป็นมาจากพระเจ้า?
16 เจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองของโลกนี้ไม่ยอมรับรองการมอบหมายของเราฐานะพยานพระยะโฮวา. แต่จงให้การงานของเราที่ได้กำจายกลิ่นหอมแห่งความรู้ของพระยะโฮวาพูดแทนก็แล้วกัน! งานนี้จะถูกลบให้สูญสิ้นไปไม่ได้ ถึงแม้บางคนปฏิเสธไม่ยอมพิจารณาพยานหลักฐานที่แสดงถึงงานเทศนาประกาศของเรา. นักเทศน์นักบวชถือเอาหนังสือสำคัญที่ออกให้โดยคณะปกครองทางศาสนา. มันก็เป็นแค่กระดาษเท่านั้น เป็นถ้อยคำของมนุษย์. พยานพระยะโฮวา นอกจากยกข้อสนับสนุนจากพระคำของพระเจ้าแล้ว ยังให้ชีวิตและเลือดเนื้อของเขาเป็นพยานหลักฐานด้วย. ชนหมู่ใหญ่แห่งแกะอื่นซึ่งได้เรียนรู้ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรก็ถูกรวบรวมเข้ามาอยู่เบื้องขวาพระหัตถ์มหากษัตริย์ซึ่งพระยะโฮวาทรงตั้งขึ้น. (มัดธาย 25:33, 34) ทั้งหมดนี้เป็นจดหมายแนะนำตัว จดหมายซึ่งพวกเราพยานพระยะโฮวามีติดตัวไปทุกแห่ง มีอยู่ที่หัวใจและความคิด ทั้งสามารถแสดงให้เห็นได้อย่างมั่นใจ. บรรดาผู้ยึดมั่นในพระบรมเดชานุภาพของพระเจ้า และเข้าส่วนทำงานรับใช้พระเจ้าร่วมกับพยานพระยะโฮวา คนเหล่านี้แหละเป็นหนังสือรับรองซึ่งคนทั้งปวงจำต้องได้อ่านและรู้จักอย่างเลี่ยงไม่พ้น.
17. “หนังสือของพระคริสต์” สำหรับเรานั้นถูกเขียนขึ้นมาอย่างไร และทำไมเปาโลจึงบอกว่าได้เขียนไว้ที่หัวใจ?
17 แน่ละ เรื่องนี้ทำให้นักศาสนาจอมปลอมโมโหและอิจฉาเมื่อเขาได้อ่านหนังสือดังกล่าว. กระนั้นก็ดี ชนหมู่ใหญ่แห่งแกะอื่นที่ทวีจำนวนมากขึ้นเป็นหนังสือรับรองจากพระเยซูคริสต์ผู้บำรุงเลี้ยงที่ดี ผู้ซึ่งทรงใช้พยานพระยะโฮวาทุกคนในงานบำรุงเลี้ยงของพระองค์. เราเป็นปากกาหรือเครื่องมือที่พระองค์ทรงใช้เขียนหนังสือรับรอง. หนังสือรับรองนั้นไม่ได้เขียนด้วยน้ำหมึกซึ่งลบเลือนได้ แต่ถูกจารึกโดยพลังปฏิบัติการหรือพระวิญญาณของพระเจ้าซึ่งดำเนินกิจอยู่ภายในตัวเรา. กรณีนี้ไม่เหมือนกับกรณีของโมเซเมื่อมีการเขียนบัญญัติสิบประการบนศิลาสองแผ่นโดยนิ้วพระหัตถ์ของพระเจ้า. หนังสือรับรองของเราถูกเขียนลงบนแผ่นเนื้อที่หัวใจ เนื่องด้วยงานรับใช้ของเราฝ่ายวิญญาณก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในจิตใจและหัวใจของผู้ที่ตอบรับข่าวดีอันหอมหวานนี้.
18. อะไรเป็นเหตุให้คนที่ตอบรับข่าวดีเป็นหนังสือรับรอง?
18 งานของเราที่เกี่ยวข้องกับพระคำของพระเจ้ายังความประทับใจแก่ผู้ตอบรับซึ่งหยั่งรู้ค่าข่าวดีและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างน่าทึ่ง. การตกลงปลงใจของเขาที่จะรับใช้พระเจ้านั้นหาใช่โดยการกระตุ้นของพวกสอนศาสนาให้เกิดอารมณ์ชั่วแล่น. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น การตัดสินใจของเขาเนื่องมาจากการเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างถาวร อาศัยสัจธรรมอันใสสะอาดแห่งคัมภีร์ไบเบิล. ความรักต่อพระเจ้ายะโฮวาเป็นแรงกระตุ้นให้เขา ‘ถอดบุคลิกเก่าพร้อมด้วยความปรารถนาที่หลอกลวง และสวมใส่บุคลิกใหม่’ ซึ่งแสดง “ผลของพระวิญญาณ.” (เอเฟโซ 4:20-24; ฆะลาเตีย 5:22, 23) ด้วยเหตุนั้นจึงทำให้เขาเป็นหนังสือรับรอง. หนังสือนี้เป็นคำอธิบายชัดเจนยิ่งกว่าหนังสือรับรองที่เราเขียนให้หรือหนังสือแนะนำตัวเราที่องค์กรใด ๆ เขียนรับรอง.
19. เปาโลพรรณนาอย่างไรถึงคุณสมบัติประการต่าง ๆ ของ “ผู้ปฏิบัติตามคำสัญญาใหม่” และการงานของเขามีผลเช่นไรต่อชนหมู่ใหญ่?
19 ที่พระธรรม 2 โกรินโธ 3:4-6 เปาโลกล่าวต่อดังนี้: “เรามีความไว้ใจในพระเจ้าโดยพระคริสต์อย่างนั้น มิใช่เราจะคิดถือว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดจากความสามารถของเราเอง แต่ว่าความสามารถของเรานั้นมาจากพระเจ้า พระองค์จึงทรงโปรดประทานให้เราสามารถเป็นผู้ปฏิบัติได้ตามคำสัญญาใหม่.” ถึงแม้เฉพาะชนที่เหลือผู้ถูกเจิมเป็น “ผู้ปฏิบัติตามคำสัญญาใหม่” กระนั้น งานของเขาส่งผลกระทบถึงชนหมู่ใหญ่แห่งแกะอื่น และยังจะส่งผลกระทบแกะอื่นอีกมากจนนับไม่ถ้วนซึ่งจะถูกรวบรวมเข้ามาอีก. นี้แหละคือความไว้ใจที่พยานพระยะโฮวาทุกคนมีในพระยะโฮวาพระเจ้าโดยพระคริสต์. ด้วยการสำนึกบุญคุณ ชนที่เหลือส่งเสริมชนหมู่ใหญ่แห่งแกะอื่นให้เข้าส่วนร่วมงานรับใช้ด้วย ‘การเขียนจดหมาย’ อย่างสิ้นสุดหัวใจดังที่พระเยซูคริสต์ตรัสล่วงหน้าที่มัดธาย 24:14 และที่มัดธาย 28:19, 20.
20. (ก) รายงานในหนังสือประจำปี บ่งชี้สิ่งใดเกี่ยวด้วยผู้ที่กำจายสุคนธรสแห่งความรู้ของพระเจ้า? (ข) พวกเราทุกคนอาจกล่าวได้อย่างไรเรื่องคุณสมบัติของเราสำหรับงานรับใช้ที่เป็นการเขียนหนังสือแนะนำตัว?
20 นั่นคือสิ่งที่เขาได้ทำ ดังหลักฐานจากรายงานในหนังสือประจำปี 1990 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพยานพระยะโฮวาได้กำจายสุคนธรสแห่งความรู้ของพระเจ้าใน 212 ประเทศ. พวกเขามีจำนวนกว่า 3,787,000 คนเป็นผู้ประกาศที่ขยันขันแข็ง เฉพาะปีที่แล้วเขาใช้เวลาราว ๆ 835,000,000 ชั่วโมงประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร. ณ การฉลองอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้าปีกลายมีผู้ร่วมประชุม 9,479,064 คน. ทั้งชนที่เหลือผู้ถูกเจิมและชนฝูงใหญ่แห่งแกะอื่นสามารถพูดได้ว่า “ความสามารถของเรานั้นมาจากพระเจ้า.” หรืออย่างการแปลของเดอะ เจรูซาเลม ไบเบิล ดังนี้ “คุณสมบัติทุกอย่างของเรามาจากพระเจ้า.”
21. พวกเราทุกคนน่าจะทำอะไร และทำไม?
21 เหตุฉะนั้น จงแผ่กำจายสุคนธรสแห่งความรู้ของพระเจ้าซึ่งหอมหวานยังให้มีชีวิตไปทุกแห่ง! จงทำให้บรรยากาศในเขตทำงานของประชาคมอบอวลด้วยสุคนธรสแห่งความรู้ของพระยะโฮวา. ครั้นแล้ว แม่ทัพผู้พิชิตแห่งระบอบการปกครองของพระเจ้าจะทรงนำคุณเข้าร่วมฉลองชัยชนะของพระองค์ขณะที่พยานทั้งหลายรุดหน้าไปในงานรับใช้อันมีเกียรติสมัยนี้!
[เชิงอรรถ]
a เพื่อทราบรายละเอียดมากขึ้น โปรดดูจากหนังสืออินไซท์ ออน เดอะ สคริพเจอร์. เล่มสองหน้า 1128-1129. พิมพ์โดยสมาคมว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทรคท์ อ็อฟ นิวยอร์ก.
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ เปาโลใช้อุทาหรณ์อะไรที่ 2 โกรินโธ 2:14-16?
▫ การกำจายสุคนธรสแห่งความรู้ของพระเจ้านั้นมีผลเช่นไรกับคนอื่น?
▫ ใครเท่านั้นที่เหมาะกับงานนี้ เพราะเหตุใด?
▫ ทำไมคนโชยกลิ่นหอมไม่จำเป็นต้องมีหนังสือแนะนำตัวสำหรับการงานของเขา?