งานรับใช้อันมีเกียรติในปัจจุบันเป็นสมบัติล้ำค่าของเรา
“เรามีทรัพย์นั้นในภาชนะดิน เพื่อกำลังที่เกินกว่ากำลังปกติจะเป็นของพระเจ้า และมิใช่มาจากตัวเราเอง.”—2 โกรินโธ 4:7, ล.ม.
1, (ก) เราอาจมีทรัพย์อันรุ่งโรจน์ชนิดใด? และทำไม? (ข) พระคัมภีร์พรรณนาอย่างไรถึงการประทานพระบัญญัติแก่โมเซ?
งานรับใช้ด้วยการประกาศ “ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร” ในช่วงอวสานของระบบนี้เป็นทรัพย์อย่างแท้จริง เป็นสมบัติล้ำค่า. เนื่องจากพระยะโฮวาเป็นพระเจ้าผู้ทรงสง่าราศี งานปฏิบัติพระเจ้าเป็นงานรับใช้อันมีเกียรติ ฉะนั้น จึงเป็นสมบัติล้ำค่า. (มัดธาย 24:14; 2 โกรินโธ 3:18–4:1) เกี่ยวกับพระบัญญัติของโมเซซึ่งได้มาท่ามกลางแสงสว่างโชติช่วง ก็มีเขียนไว้ที่เอ็กโซโด 34:29, 30 ดังนี้ “อยู่มาเมื่อโมเซได้ลงมาจากภูเขาซีนาย กำลังถือแผ่นศิลาพระบัญญัติสองแผ่น เวลาที่ลงมาจากภูเขานั้น โมเซก็ไม่ทราบว่าหน้าของตนมีแสงรัศมีเนื่องด้วยพระเจ้า [พระยะโฮวา] ได้ทรงสนทนากับท่าน. เมื่ออาโรนและชนชาติยิศราเอลทั้งปวงได้มองดูโมเซ ก็เห็นว่าหน้าของท่านมีแสงรัศมี และเขาก็กลัวไม่กล้าเข้ามาใกล้ท่าน.”
2. พระบัญญัติของโมเซเป็นภาพเล็งถึงสิ่งใด และทำไมงานรับใช้ที่มาทีหลังจึงมีสง่าราศีมากกว่า?
2 ข้อ 32 ถึง 34 บอกต่อไปว่า “ภายหลังพวกยิศราเอลได้เข้ามาใกล้ โมเซก็ได้ประกาศคำสั่งทุกข้อที่พระเจ้าได้ตรัสให้ท่านฟังบนภูเขาซีนาย. เมื่อท่านประกาศแล้วก็ได้ใช้ผ้าคลุมหน้าไว้. แต่เมื่อโมเซไปเฝ้าทูลพระยะโฮวา ท่านก็ปลดผ้านั้นเสียจนกว่าจะกลับออกมา.” งานปฏิบัติตามบัญญัติของโมเซเป็นภาพเล็งถึงการดำเนินงานแห่งคำสัญญาใหม่โดยทางพระเยซูคริสต์ผู้กลาง. ฉะนั้น ถ้างานปฏิบัติครั้งกระโน้นมีรัศมีโชติช่วงถึงเพียงนั้น “การปฏิบัติตามพระวิญญาณ” ในกาลต่อมาจะยิ่งรุ่งโรจน์มากกว่าสักเพียงใด! (2 โกรินโธ 3:7-11) ที่ว่ารุ่งโรจน์มากกว่าก็เพราะการปฏิบัติอันมีเกียรตินั้นยังมีอยู่และสาวกของพระเยซูมีส่วนร่วมในงานนี้นั่นเอง.—โรม 12:11.
3. (ก) อะไรต้องเป็นความจริงเกี่ยวกับงานปฏิบัติของพยานพระยะโฮวา แต่ทำไมเรื่องนี้จึงไม่ค่อยปรากฏแก่คนส่วนมาก? (ข) มีอะไรเป็นข้อพิสูจน์ว่าโมเซเคยเข้าเฝ้าจำเพาะพระพักตร์พระยะโฮวาผู้ทรงสง่าราศี?
3 ด้วยเหตุนี้ งานปฏิบัติในตอนหลังซึ่งกระทำโดยพยานพระยะโฮวาจึงเป็นงานอันมีเกียรติ. อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ไม่ประจักษ์แจ้งแก่หลายคนเพราะศาสนาเท็จปิดหูปิดตาพวกเขา. แม้ว่าหลายคนมีพระคัมภีร์และคงได้อ่านบ้าง แต่เขาเป็นคน ‘ตาบอด.’ (2 เปโตร 1:5-9) ที่จะปลดผ้าคลุมหน้าออกเพื่อจะมองเห็นได้ เขาจำต้องกลับมาหาพระเจ้ายะโฮวาด้วยความเชื่อ เพราะครั้งใดที่โมเซกลับจากการเข้าเฝ้าพระยะโฮวาแล้ว ท่านจึงคลุมหน้าไว้พ้นสายตาพวกยิว. (2 โกรินโธ 3:16) พวกยิศราเอลเกิดความกลัวเมื่อเห็นสง่าราศีของพระเจ้าปรากฏอยู่บนใบหน้าของผู้กลาง เขาจึงขอร้องโมเซคลุมหน้าไว้เพื่อเขาจะไม่เห็นหน้าของท่าน. สสารที่เรืองแสงจะส่องแสงเรืองในความมืดฉันใด โมเซซึ่งเป็นผู้กลางก็ได้สะท้อนรัศมีของพระยะโฮวาฉันนั้น เป็นข้อพิสูจน์ว่าท่านได้ปรากฏตัวจำเพาะพระยะโฮวามาแล้ว.
4. ผู้คนในสมัยนี้ที่ไม่มีความเชื่อเลียนแบบชาวยิวโบราณอย่างไร แต่พวกที่ติดตามและเชื่อฟังผู้ยิ่งใหญ่กว่าโมเซไม่กลัวอะไร?
4 โมเซเป็นภาพเล็งถึงพระเยซูคริสต์ผู้พยากรณ์ที่ยิ่งใหญ่ของพระยะโฮวา. เช่นเดียวกับผู้ที่เป็นภาพเล็งถึงตัวจริงองค์นี้ซึ่งยิ่งใหญ่กว่าโมเซ จึงไม่กลัวที่จะมองรัศมีของพระยะโฮวาโดยตรง. อย่างไรก็ดี จวบจนบัดนี้ ผู้คนที่ไม่มีความเชื่อซึ่งมารและศาสนาทั้งหลายแบบบาบูโลนทำให้ตาของเขามืดไปได้เอาอย่างชาวยิวครั้งโบราณและไม่ยอมพิจารณาให้เข้าใจสง่าราศีของพระเยซูผู้ยิ่งใหญ่กว่าโมเซ. (2 โกรินโธ 3:12-15) กระนั้น สาวกแท้ของพระองค์ไม่ขยาดที่จะมองสง่าราศีของพระยะโฮวาซึ่งสะท้อนบนพระพักตร์พระเยซูคริสต์. พวกเขาหลุดพ้นแล้วจากอิทธิพลของบาบูโลน และได้รับแรงหนุนให้กล้าหาญเพื่อจะฉายสง่าราศีของพระเจ้าออกไป. เปาโลเขียนอย่างนี้ “เมื่อเรามีความหวังใจอย่างนั้นแล้ว เราจึงกล้ามากขึ้นในการที่จะพูด.”—2 โกรินโธ 3:12.
ผู้สะท้อนสง่าราศีของพระเจ้า
5. เราจะสะท้อนสง่าราศีของพระเจ้าโดยวิธีใดและเป็นเหมือนโมเซขณะเข้าเฝ้าพระยะโฮวาบนภูเขา?
5 พระเยซูคริสต์ทรงเปิดผ้าคลุมหน้าโดยการเปิดเผยและประกาศพระยะโฮวาพระเจ้าแก่เราทั้งหลาย. (โยฮัน 1:14, 17, 18) ฉะนั้น เราต้องส่องสว่าง และสง่าราศีของพระเจ้าจึงฉายแสงผ่าน “กิตติคุณอันประกอบด้วยสง่าราศีคือกิตติคุณของพระคริสต์ผู้เป็นแบบพระฉายของพระเจ้า” ซึ่งเราต้องประกาศ. ความเฉิดฉายของสง่าราศีนี้คือ “ความรู้ถึงสง่าราศีของพระเจ้าปรากฏในพระพักตร์พระคริสต์.” เราจำต้องสะท้อนสง่าราศีนี้โดยการพูดถึงความรุ่งโรจน์ของพระยะโฮวา และความรุ่งโรจน์แห่งราชอาณาจักรของพระองค์โดยทางพระบุตร. (2 โกรินโธ 4:4-6) เหมือนโมเซขณะอยู่บนภูเขาจำเพาะพระพักตร์พระยะโฮวา พยานของพระองค์ที่อยู่ในโลกก็เช่นกันจะไม่ปิดคลุมหัวใจเพื่อเขาจะเห็นสง่าราศีของพระยะโฮวา. พวกเขานิยมชมชอบกับสง่าราศีที่สะท้อนอยู่บนพระพักตร์มหากษัตริย์เยซูคริสต์ พระบุตรของพระยะโฮวา. ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงต้องฉายความสว่างแห่งสง่าราศีของพระเจ้าไปยังคนอื่นเช่นกัน.
6. เปาโลพรรณนางานรับใช้อันรุ่งโรจน์ของเราไว้อย่างไรที่ 2 โกรินโธ 3:18 และด้วยเหตุนั้นเรา “ถูกเปลี่ยน” ในทางใด?
6 อัครสาวกเปาโลได้พรรณนาเรื่องนี้แก่บรรดาเพื่อนพยานฯที่ประกาศสง่าราศีของพระเจ้าด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้ว่า “และพวกเราทุกคน ขณะที่เราไม่มีผ้าคลุมหน้าก็สะท้อนสง่าราศีของพระยะโฮวาเหมือนกระจก เราถูกเปลี่ยนแปลงให้เป็นภาพเดียวกันจากสง่าราศีหนึ่งไปสู่สง่าราศีหนึ่งไม่ผิดเพี้ยน ดังที่สำเร็จแล้วโดยพระยะโฮวาผู้ทรงเป็นวิญญาณ.” (2 โกรินโธ 3:18, ล.ม.) ยิ่งเรารับสง่าราศีแห่งความสว่างนี้มากเท่าใด เรายิ่งจะต้องสะท้อนออกไปให้มากเท่านั้น แล้วเราก็จะถูกเปลี่ยนแปลงมากขึ้น. จิตใจจะเปลี่ยนไปในทางที่ดี และรับการฟื้นฟู แม้ว่าไม่อาจสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายหรือบนใบหน้า. เป็นความสว่างแห่งข่าวสารอันรุ่งโรจน์ที่เราส่งแสงออกนั้นต่างหากที่ก่อผลเป็นความเปลี่ยนแปลงในตัวเรา. ชีวิตของเราเปลี่ยนไปเป็นเหมือนพระคริสต์ ขณะที่เราเองมุ่งมั่นจะทำการรับใช้อันเป็นสิทธิพิเศษเช่นนี้ด้วยการฉายความสว่างอันรุ่งโรจน์ให้ผู้อื่น.—เฮ็บราย 13:15.
7. สง่าราศีแท้ ๆ นั้นมาจากแหล่งไหน และเราจะสำแดงสง่าราศีดังกล่าวนั้นโดยวิธีใด?
7 การเปลี่ยนแปลงทุกขั้นตอนดังกล่าวก็เนื่องด้วยพระวิญญาณ หรือพลังปฏิบัติการของพระเจ้า. นักเทศน์นักบวชแห่งคริสต์ศาสนจักรหาได้สะท้อนสง่าราศีของพระเจ้ายะโฮวาไม่ แต่กลับแสร้งทำเพื่อก่อความแปลกน่าทึ่ง. สง่าราศีนั้นไม่ใช่ของเรา และเราไม่จำเป็นต้องมีเครื่องยศชั้นสูงอันวิจิตรพิสดารทำด้วยแพรหรือไหม ทองคำและอัญมณีที่แวววาว. สง่าราศีแท้เป็นมาแต่พระวิญญาณของพระเจ้า และแสดงออกด้วยการประกาศคำพยานอันประเสริฐเกี่ยวด้วยพระยะโฮวาผู้ทรงเป็นวิญญาณ.
ทุกคนเป็นผู้ฉายความสว่างที่มีสิทธิพิเศษ
8, 9. ที่ 2 โกรินโธ 4:1, 2 เปาโลให้การหนุนใจแก่เราอย่างไร และนั้นเรียกร้องความแน่วแน่เช่นไรในส่วนของเรา?
8 เราอ่านที่ 2 โกรินโธ 4:1, 2, ล.ม. ดังนี้ “เหตุฉะนั้น เนื่องจากเรามีการรับใช้นี้ตามความเมตตาที่ได้แสดงต่อเรา เราจึงไม่เลิกเสีย แต่เราได้สลัดทิ้งสิ่งต่าง ๆ อันเต็มด้วยเล่ห์เหลี่ยมน่าละอาย ไม่ประพฤติตนอย่างฉลาดแกมโกง ไม่พลิกแพลงพระคำของพระเจ้า แต่โดยการสำแดงความจริงให้ปรากฏ เราจึงแนะนำตัวเราเองต่อสติรู้สึกผิดชอบของคนทั้งปวงจำเพาะพระเจ้า.” พระเจ้าทรงสำแดงความเมตตาแก่เรา ทรงมอบงานรับใช้ไว้กับเรา. นี้คือการปลุกใจหนุนเราให้มีความกล้าอยู่เสมอ และเราจะไม่ย่อท้อเลย! เนื่องจากเรามีโอกาสได้รับความสว่างจากพระคำของพระเจ้า เราจึงมีพันธะหน้าที่ฉายความสว่างนี้ไปยังคนอื่น.—เทียบกับมัดธาย 5:14-16.
9 สิ่งต่าง ๆ ซึ่งผู้คนละอายใจ เช่นการโกง เขาปิดซ่อนด้วยการหลอกลวงและอุบาย. แต่เราไม่มีสาเหตุที่จะรู้สึกละอายเพราะข่าวสารและการงานของเราไม่เป็นการฉ้อโกงใคร แต่เป็นงานที่ถูกต้องและสุจริต. ฉะนั้น เราจะให้ความสว่างอันรุ่งโรจน์ได้ฉายแสงออกไป. เราจะไม่ใช้พระคำของพระเจ้าอย่างมีอุบายหลอกลวง. ถ้าทำอย่างนั้นก็เท่ากับว่าเป็นการใช้พระคำในทางเห็นแก่ตัวเพื่อหากำไร การมีหน้ามีตา ผลประโยชน์และอำนาจทางโลกให้ตัวเอง และเพื่อจะหลบการต่อต้านและการข่มเหงจากโลกนี้. คนเหล่านั้นที่ไม่กลัวจะเข้าเฝ้าพระยะโฮวาโดยไม่มีสิ่งใดคลุมหน้าเพื่อที่จะเพ่งมองเข้าไปในความสว่างแห่งความจริงนั้น เขาย่อมไม่กลัวที่จะเผชิญกับความรับผิดชอบของตนเช่นกัน. คนเหล่านี้จะสะท้อนความสว่างออกจากตัวเขาให้ปรากฏ.
10. ทำไมจึงไม่ใช่ความผิดของพยานพระยะโฮวา หากข่าวดีแห่งราชอาณาจักรถูกซ่อนไว้พ้นสายตาของบางคน?
10 ถ้าใคร ๆ มองไม่เห็นข่าวดีแห่งราชอาณาจักร ทั้งนี้คงไม่ใช่ความผิดของพยานพระยะโฮวา แต่เป็นความผิดของผู้นั้นเอง. ข่าวดีแห่งราชอาณาจักรไม่ได้ถูกปิดซ่อนไว้. งานประกาศของพยานพระยะโฮวาที่ทำกันอยู่ทั่วโลกก็เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง. ฉะนั้น พยานฯสามารถกล่าวได้อย่างอัครสาวกเปาโลที่ว่า “การเหล่านั้นได้กระทำในที่เปิดเผย.” ใช่แล้ว เหมือนที่ท่านเขียนไว้ ข่าวดีนี้ “ได้ประกาศแล้วแก่มนุษย์ทุกคนที่อยู่ใต้ฟ้า.”—กิจการ 26:26; โกโลซาย 1:23.
11. ทำไมข่าวดีอันรุ่งโรจน์ถูกปิดซ่อนไว้จากผู้คนมากมาย?
11 คนประเภทที่มองไม่เห็นข่าวดีแห่งราชอาณาจักรของพระเจ้าเป็นผู้ต่อต้าน เป็นพวกที่พญามารได้ทำให้ตาของเขามืดบอดไป. (เทียบกับมัดธาย 12:30) ยกเว้นแต่ว่าเขาหลุดออกมาจากศาสนาเท็จและบ่วงแร้วของมาร มิฉะนั้นเขาจะไปสู่ความพินาศ. เมื่อตกอยู่ภายใต้อิทธิพลแห่งปีศาจ บุคคลดังกล่าวได้ปิดตาตัวเองไม่ยอมมองดู เพราะอัครสาวกเปาโลกล่าวไว้ที่ 2 โกรินโธ 4:3-5, ล.ม. ว่า “แต่ถ้ามีม่านบังกิตติคุณของเราไว้จากใคร ก็คือคนเหล่านั้นที่จะถึงความพินาศในท่ามกลางพวกเขาซึ่งพระเจ้าของระบบนี้ได้ทำจิตใจของคนที่ไม่เชื่อให้มืดไป เพื่อแสงสว่างแห่งข่าวดีอันรุ่งโรจน์ของพระคริสต์ผู้เป็นพระฉายของพระเจ้าจะไม่ส่องทะลุ. เพราะที่เราประกาศนั้นไม่ใช่ประกาศตัวเอง แต่ประกาศพระเยซูคริสต์ในฐานะเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า และตัวเราเองในฐานะเป็นทาสของท่านทั้งหลายเพราะเห็นแก่พระเยซู.”
12. เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่มืดบอดฝ่ายวิญญาณ ไพร่พลของพระยะโฮวาตอบรับถ้อยคำที่ 2 โกรินโธ 4:6 อย่างไร?
12 พวกที่มืดบอดฝ่ายวิญญาณไม่ต้องการเชื่อ. การไม่เชื่อของเขาเป็นการเปิดใจตัวเองรับการรุกล้ำของผีปีศาจ. (1 ติโมเธียว 4:1) พวกเขาไม่อาจมองเห็นสง่าราศีของพระยะโฮวา หรือแม้การสะท้อนสง่าราศีซึ่งเปล่งออกมาทางพระเยซูผู้ยิ่งใหญ่กว่าโมเซ. ไพร่พลของพระยะโฮวารับความสว่างอันรุ่งโรจน์จากคัมภีร์ไบเบิล แล้วสะท้อนความสว่างนั้นไปยังคนอื่น ๆ. ฉะนั้น ผู้รับใช้ทุกคนของพระเจ้าจึงเป็นผู้ที่ฉายความสว่าง และพระเจ้าตรัสสั่งให้ความสว่างส่องออกไป. ความสว่างต้องสะท้อนจากไพร่พลของพระเจ้าแล้วส่องไปกระทบคนอื่น ๆ ที่อยู่ในความมืด และกำลังอยู่ในอันตรายจะไปสู่ความพินาศ. ทั้งนี้ก็เป็นดังคำกล่าวใน 2 โกรินโธ 4:6, ล.ม. ว่า “เพราะว่าพระเจ้าผู้ได้ตรัสสั่งว่า ‘จงให้ความสว่างส่งออกจากความมืด และพระองค์ทรงส่องสว่างถึงหัวใจของเรา ให้หัวใจของเราสว่างด้วยความรู้อันรุ่งโรจน์ของพระเจ้าโดยพระพักตร์พระคริสต์.” เมื่อคำนึงถึงเรื่องนี้ พยานพระยะโฮวาจึงเชื่อฟังพระบัญชาของพระเจ้าและเพื่อเป็นการถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า เขาจึงได้ส่องความสว่างไปถึงคนอื่น ๆ.
ทรัพย์ในภาชนะซึ่งแตกง่าย
13. การมอบงานรับใช้ที่รับการอวยพรเพื่อส่องสว่างแก่มนุษย์ผู้มีเลือดเนื้อนั้นก่อผลเช่นไร?
13 เกี่ยวกับสิทธิพิเศษอันยิ่งใหญ่แห่งงานรับใช้ซึ่งเกินคำพรรณนาใด ๆ เช่นนั้น จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งสำหรับผู้ฉายความสว่างพึงประพฤติตนเหมาะสมคู่ควรกับความสว่าง โดยรักษาความซื่อสัตย์มั่นคงต่อพระเจ้า. ที่จะกระทำการรับใช้อันเป็นสิทธิพิเศษอันน่าพิศวงเช่นนี้ พระเจ้าไม่ได้ทรงใช้ทูตสวรรค์บริสุทธิ์ซึ่งปรารถนาจะเพ่งมองสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ แต่พระองค์ทรงมอบงานรับใช้ที่ได้รับการอวยพรนี้ไว้กับมนุษย์ผู้มีเลือดเนื้อ. (1 เปโตร 1:12) ทั้งนี้พระองค์ทรงกระทำเพื่ออำนาจของพระองค์เองจะปรากฏชัดยิ่งขึ้นกับมนุษย์ผู้อ่อนแอ. ดัง 2 โกรินโธ 4:7, (ล.ม.) บอกอย่างนี้: “อย่างไรก็ดี เรามีทรัพย์นั้นในภาชนะดิน เพื่อกำลังที่เกินกว่ากำลังปกติจะเป็นของพระเจ้า และมิใช่มาจากตัวเราเอง.”
14. (ก) “ทรัพย์ในภาชนะดิน” ได้แก่อะไร? (ข) ทำไมโมเซและพระเยซูจึงเป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่องทรัพย์?
14 คนสมัยโบราณมักจะเก็บของมีค่าไว้ในภาชนะ. ทรัพย์อันรุ่งโรจน์นี้คืออะไรซึ่งพยานพระยะโฮวาเก็บรักษาไว้ในภาชนะดินซึ่งแตกง่าย—คือตัวเขาเองที่เป็นมนุษย์อ่อนแอ เกิดจากฝุ่นธุลี? ทรัพย์นี้หาใช่เป็นแค่ความสว่างซึ่งส่องเข้าไปถึงหัวใจของเขาเท่านั้นไม่. แต่เป็นการงานอันเกี่ยวข้องกับความสว่างนั้น ซึ่งการงานหรืองานรับใช้ต้องได้กระทำกับร่างกายของเขาซึ่งประกอบด้วยธาตุดิน. งานรับใช้เป็นการแผ่ความสว่างออกไปซึ่งพระเจ้าได้ส่องเข้าไปถึงหัวใจของเขา. งานรับใช้นี้เป็นทรัพย์มีค่าเนื่องจากเป็นสิทธิพิเศษแห่งการรับใช้ซึ่งไม่เพียงแต่มีชนที่เหลือผู้ถูกเจิมแห่ง “แกะฝูงน้อย” ร่วมงาน แต่ “ชนหมู่ใหญ่” แห่ง “แกะอื่น” ภายใต้พระเยซูคริสต์ผู้บำรุงเลี้ยงที่ดียังได้ร่วมงานนี้ด้วย. (ลูกา 12:32; โยฮัน 10:14-16; วิวรณ์ 7:9) โมเซและพระเยซูคริสต์ที่โมเซเป็นภาพเล็งถึงนั้น เป็นแบบอย่างที่ดีแก่เรา เพื่อเราจะฝังใจอยู่กับทรัพย์แห่งงานรับใช้พระเจ้า “เพราะว่าทรัพย์สมบัติของท่านอยู่ที่ไหน ใจของท่านก็อยู่ที่นั่นด้วย.”—มัดธาย 6:19-21; เฮ็บราย 11:26.
15, 16. (ก) กำลังที่เกินกว่ากำลังปกติปรากฏให้เห็นโดยวิธีใดว่าเป็นมาจากพระเจ้า ไม่ใช่มาจากตัวเราเอง? (ข) ทำไมการขัดขวางทุกอย่างในโลกนี้ไม่สามารถทุบทำลายภาชนะดินของพระเจ้าได้?
15 เมื่อเป็นเช่นนั้น มีการแสดงไว้อย่างไรว่า กำลังที่เกินกว่ากำลังปกติเป็นของพระเจ้า และมิใช่มาจากตัวเราเอง? ในทำนองนี้คือ ภาชนะดินซึ่งแตกง่ายอย่างพวกเราที่ได้รับงานรับใช้อันล้ำค่าเช่นนี้ไม่คู่ควรและอาศัยตัวเราเองก็คงไม่สามารถรับเกียรติยศดังกล่าว. ยิ่งกว่านั้น พวกเราที่เป็นพยานของพระยะโฮวาตกอยู่ภายใต้ความกดดันทุกชนิดของพวกศัตรูที่พยายามจะทำลายเราจนยับเยินเพื่อทำให้เราไม่เหมาะสมกับงานที่รับมอบจากพระเจ้า. ดังนั้น จึงต้องได้ฤทธิ์เดชจากพระเจ้าองค์ประเสริฐผู้ทรงมอบหน้าที่นี้เข้ามาช่วยเหลือเราที่จะต้านทานการปฏิบัติอย่างทารุณจากโลกนี้ และที่จะยึดมั่นในหน้าที่มอบหมายแล้วพิสูจน์ตัวอย่างเหมาะสมที่จะอยู่ในงานรับใช้พระเจ้าต่อไป. ฉะนั้น การขัดขวางทุกรูปแบบของโลกไม่อาจทุบทำลายภาชนะดินของพระเจ้า หรือชิงเอาทรัพย์ประเสริฐของเขาไปได้ เพราะมีคำเขียนไว้ใน 2 โกรินโธ 4:8-12 ดังนี้:
16 “เราถูกขนาบรอบข้าง แต่ก็ยังไม่ถึงกระดิกไม่ไหว เราจนปัญญา แต่ก็ยังไม่ถึงกับหมดมานะ; เราถูกเขารุกไล่ แต่ยังไม่ตกอยู่ในเงื้อมมือเขา เราถูกตีลงแล้วแต่ก็ยังไม่ตาย. เรารับการหวุดหวิดต่อความตายอย่างพระเยซูอยู่เสมอ เพื่อชีวิตของพระเยซูจะได้ปรากฏในเราด้วย. เหตุว่าพวกเราที่มีชีวิตอยู่นั้นต้องถูกมอบไว้แก่ความตายเสมอเพราะเห็นแก่พระเยซู เพื่อชีวิตของพระเยซูจะได้ปรากฏในเนื้อหนังของเราซึ่งต้องตายนั้น. เหตุฉะนั้น ความตายจึงกำลังบั่นทอนอยู่ในเรา แต่ชีวิต [โดยการประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร] กำลังเพิ่มขึ้นในท่านทั้งหลาย.”
ชนหมู่ใหญ่หยั่งรู้ค่า “ทรัพย์นั้น” อย่างมาก
17. ชนฝูงใหญ่ประเมินค่า “ทรัพย์” แห่งงานรับใช้อันมีเกียรตินี้อย่างไร?
17 “ความตายจึงกำลังบั่นทอนอยู่ในเรา แต่ชีวิตกำลังเพิ่มขึ้นในท่านทั้งหลาย.” ข้อความตอนนี้ใช้ได้กับคริสเตียนผู้ถูกเจิมด้วยพระวิญญาณ. กระนั้น ข้อนี้อาจทำให้เราคิดถึงสัมพันธภาพระหว่างชนที่เหลือผู้ถูกเจิมกับชนฝูงใหญ่แห่งแกะอื่น. พวกผู้ถูกเจิมทราบว่าในที่สุดเขาจะต้องจบชีวิตทางโลกนี้ด้วยความตายเช่นเดียวกับกรณีของพระเยซู แต่เขามีสหายที่เข้ามาช่วยและมีส่วนร่วมกับเขาในงานรับใช้อันรุ่งโรจน์ซึ่งเป็นทรัพย์มีค่า ช่วยเหลือเขาโดยทำงานส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับงานประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร. เช่นเดียวกับชนที่เหลือผู้ถูกเจิม ทุกวันนี้ชนฝูงใหญ่แห่งแกะอื่นหยั่งรู้ค่าในข้อที่ว่า ทรัพย์อย่างเดียวซึ่งจะผ่านความร้อนแรงของสงครามอาร์มาเก็ดดอนไปได้ และจะไม่ไหม้หรือถูกทำลายจนกระทั่งถึงโลกใหม่คือ ทรัพย์แห่งงานรับใช้ที่พระเจ้าทรงอวยพร งานรับใช้ที่ทำถวายพระเจ้ายะโฮวาและพระเยซูคริสต์ มหากษัตริย์ที่ทรงสง่าราศี. ชนหมู่ใหญ่จะยึดอยู่กับงานนี้ จะ “ถวายการรับใช้ที่ศักดิ์สิทธิ์ ณ พระวิหารของพระองค์ทั้งกลางวันและกลางคืน.”—วิวรณ์ 7:15, ล.ม.
18. (ก) ในไม่ช้าจะเกิดอะไรขึ้นกับสง่าราศีจอมปลอมของโลกนี้? (ข) พระเยซูทรงปฏิเสธ “สง่าราศี” อะไร และพระองค์ได้กระทำอะไรจึงได้รับสง่าราศีซึ่งประเสริฐกว่า?
18 อีกไม่นาน พระเจ้าจะทรงนำสง่าราศีจอมปลอมแห่งระบบปัจจุบันที่ชั่วช้าไปสู่อวสาน—“สง่าราศี” ซึ่งต่อเนื่องมาตั้งแต่ซาตานมารได้พาพระเยซูขึ้นไปบนภูเขาสูงและได้สำแดงให้พระองค์เห็นอาณาจักรต่าง ๆ ของโลกนี้และ “บรรดาสง่าราศีของประเทศเหล่านั้น.” (ลูกา 4:5, 6) พระเยซูทรงปฏิเสธข้อเสนอที่จะให้พระองค์ได้สง่าราศีจากแหล่งเหล่านั้น และทรงตั้งพระทัยกระทำงานบนแผ่นดินโลกซึ่งพระเจ้าทรงเห็นชอบ. เพราะพระองค์ทรงกระทำเช่นนั้น พระเจ้าทรงโปรดตั้งพระองค์ให้มีขัตติยอำนาจบริบูรณ์ด้วยสง่าราศีเลอเลิศยิ่งกว่าที่เคยมีในสวรรค์ คือตอนที่เป็นพระบุตรองค์เดียวที่กำเนิดจากพระเจ้าก่อนเสด็จมารับมอบหน้าที่ทางโลกซึ่งพระยะโฮวาทรงกำหนดไว้สำหรับพระองค์.—โยฮัน 5:36; 17:5; ฟิลิปปอย 2:9-11.
19. สิทธิพิเศษที่มีเกียรติเกี่ยวด้วยงานรับใช้ประเภทใดซึ่งจวนจะเสร็จเรียบร้อย และความตั้งใจแน่วแน่ของเราควรเป็นเช่นไรในเรื่องนี้?
19 อวสานของระบบชั่วเยี่ยงผีปีศาจดังที่ได้พยากรณ์ไว้นั้นจะไม่มาถึงจนกว่าการให้คำพยานเรื่องราชอาณาจักรมีไปทั่วโลกเสียก่อน อันเป็นขั้นสุดยอดสำหรับกิจการสำคัญของผู้ติดตามพระเยซูคริสต์ซึ่งเป็นพยานของพระยะโฮวา. (มัดธาย 24:14) ขณะนี้การให้คำพยานเรื่องราชอาณาจักรได้กระทำมานานร่วมเจ็ดสิบห้าปีแล้ว และตามข้อบ่งชี้โดยเหตุการณ์ของโลกในยุคนี้จึงเห็นได้ว่าอวสานตามที่ได้พยากรณ์ไว้นั้นต้องอยู่ไม่ไกล. ดังนั้น สิทธิพิเศษอันมีเกียรติเกี่ยวด้วยการร่วมในงานรับใช้แห่งรัฐบาลที่สูงส่งและบริสุทธิ์ก็จวนจะสำเร็จบริบูรณ์. (มัดธายบท 24, 25; มาระโกบท 13; ลูกาบท 21) สิทธิพิเศษของเราที่มีส่วนให้คำพยานอย่างกว้างขวางทั่วโลกถึงเรื่องราชอาณาจักรซึ่งถูกสถาปนาแล้วนั้น จึงเป็นทรัพย์ประเสริฐอย่างแท้จริง ซึ่งเหล่าพยานของพระยะโฮวาในฐานะเป็นสาวกของพระเยซูคริสต์ พระบุตรที่ทรงประทับบัลลังก์แล้วถือว่ามีค่าล้ำ. พวกเขาปรารถนาอย่างจริงใจจะยึดมั่นในสิทธิพิเศษนี้กระทั่งการให้คำพยานเรื่องราชอาณาจักรเสร็จสิ้น และพระเจ้ายะโฮวาผู้ทรงฤทธานุภาพทุกประการจะนำสถานการณ์เข้าสู่ขั้นสุดยอด โดยที่พระองค์เองจะทรงประกาศพระบรมเดชานุภาพของพระองค์.”—ซะฟันยา 3:8.
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ ทำไมงานรับใช้ที่ปฏิบัติโดยพยานพระยะโฮวาจึงเป็นงานมีเกียรติ?
▫ เหตุใดข่าวดีถูกปิดซ่อนไว้จากคนจำนวนมากในเวลานี้?
▫ “ทรัพย์ในภาชนะดิน” ได้แก่อะไร?
▫ ทำไมพระเจ้าทรงใช้ภาชนะดินซึ่งแตกง่ายสำหรับงานรับใช้พระองค์อันเป็นสมบัติล้ำค่า?
▫ ไพร่พลของพระยะโฮวาประเมินค่า “ทรัพย์นี้” อย่างไร และทำไม?
[รูปภาพหน้า 17]
สง่าราศีของพระเจ้าได้สะท้อนจากพระพักตร์ของพระเยซูคริสต์ผู้ยิ่งใหญ่กว่าโมเซ. พยานพระยะโฮวามีสิทธิพิเศษมองเห็นความสว่างที่บริบูรณ์ด้วยสง่าราศีของพระเจ้าจากพระคัมภีร์ และสะท้อนความสว่างนี้ไปยังคนอื่น.