‘จงรับการปรับเข้าที่ต่อ ๆ ไป’
“คุณแน่ใจหรือว่าเราจะไม่หลงทาง?” ผู้โดยสารเข้าไปถามต้นหนเรือ. ขณะที่เรือขนาดเล็กโคลงเคลงและเอียงไปเอียงมาอยู่ตรงบริเวณซึ่งเป็นที่รู้จักกันว่า “แหลมแห่งคลื่นลมแรง” ในมหาสมุทรแอตแลนติคใต้ สำหรับเธอแล้วดูเหมือนว่าแทบจะเป็นการอัศจรรย์ทีเดียวสำหรับพวกเขาที่จะไปถึงจุดเล็ก ๆ บนแผนที่ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางของพวกเขา.
ดังนั้น ต้นหนเรือจึงได้เชิญเธอมาที่หอบังคับเรือ แล้วชี้แจงถึงการทำงานของอุปกรณ์การเดินเรือ—เข็มทิศ เรดาร์ เครื่องรับสัญญาณดาวเทียม และกระทั่งเครื่องวัดมุมธรรมดา. ถึงแม้คำอธิบายเกี่ยวกับวิธีการใช้งานนั้นเกินความเข้าใจของเธอไปบ้างก็ตาม เธอก็ได้มาเข้าใจหลักขั้นพื้นฐานของการเดินเรือคือ การแก้ไขเส้นทาง. โดยอุปกรณ์ในการเดินเรือของเขา กัปตันสามารถโต้แรงของกระแสคลื่นทะเลและลมได้โดยทำการปรับให้เข้าที่แบบไม่ละลด. หากปราศจากการปรับให้เข้าที่เช่นนั้นแล้วพวกเขาคงจะพลาดจุดหมายปลายทางของเขาไปหลาย ๆ ไมล์.
คริสเตียนเป็นเสมือนเรือในมหาสมุทรแห่งมนุษยชาติ. เป้าหมายของเราคือ “ในที่สุด [พระยะโฮวา] จะพบ [เรา] ปราศจากด่างพร้อยและมลทิน และมีสันติสุข.” (2 เปโตร 3:14, ล.ม.) แต่เช่นเดียวกับเรือ มีแรง—ทั้งภายในและภายนอก—ที่มุ่งจะทำให้เราเคลื่อนออกนอกเส้นทาง. ดังนั้นแล้ว ถ้อยคำของอัครสาวกเปาโลที่ให้แก่โกรินโธช่างเหมาะสมสักเพียงไรที่ว่า “เราอธิษฐานขอสิ่งนี้ด้วยคือ การที่ท่านได้รับการปรับเข้าที่ . . . จงรับการปรับเข้าที่ . . . ต่อ ๆ ไป.”—2 โกรินโธ 13:9, 11, ล.ม.
สิ่งที่เกี่ยวข้องกับการปรับเข้าที่
ถ้อยคำภาษากรีก ซึ่งที่นี้ได้รับการแปลว่า “ปรับเข้าที่” นั้นพาดพิงถึงการนำอะไรบางอย่าง “เข้าสู่แนวที่เหมาะสม.” (ดูหมายเหตุของพระคัมภีร์ฉบับมีข้ออ้างอิง.) ในพระคัมภีร์บางข้อมีการใช้คำนั้นเพื่อพรรณนาถึงการนำบางสิ่งกลับคืนสู่สภาพที่เหมาะสม. อาทิเช่น ในมัดธาย 4:21 มีการใช้ถ้อยคำที่คล้ายกันเพื่อพรรณนาถึงการ “ชุน” อวน. (คิงดัม อินเทอร์ลิเนียร์) ดังนั้นแล้ว สำหรับคริสเตียน การปรับเข้าที่หมายความว่ากระไร?
เอาละ ขอพิจารณาดูคริสเตียน ณ เมืองโกรินโธผู้ซึ่งเปาโลเขียนถึง. ในจดหมายฉบับก่อนที่มีไปถึงพวกเขานั้น เปาโลได้ชี้ถึงสถานการณ์ที่ไม่สมควรหลายอย่างที่มีอยู่ในประชาคมนั้น: การถือลัทธิ การยอมให้กับการผิดศีลธรรมทางเพศ คดีฟ้องร้องในระหว่างพี่น้อง ความไม่นับถือต่ออาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า และกระทั่งการประชุมกันอย่างไม่เป็นระเบียบ. (1 โกรินโธ 1:10-13; 5:1; 6:1; 11:20, 21; 14:26-33) ด้วยเหตุนี้ ชาวโกรินโธจำเป็นต้อง “ชุน” สภาพการณ์ที่นั่น กล่าวคือ นำ “เข้าสู่แนวที่เหมาะสม” ด้วยหลักการของพระเจ้า.
จดหมายฉบับที่สองของเปาโลถึงพวกเขาบ่งชี้ว่าพวกเขาได้กระทำเช่นนั้นทีเดียว. (2 โกรินโธ 7:11) อย่างไรก็ดี เปาโลทราบว่าความกดดันจากโลก จากซาตาน และจากแนวโน้มฝ่ายเนื้อหนังของเขาเองจะผลักดันพวกเขาให้ออกนอกเส้นทางเป็นครั้งคราวอยู่ต่อไป. เนื่องจากเหตุนี้ ท่านจึงแนะนำพวกเขาอย่างเหมาะสมให้ ‘รับการปรับเข้าที่ต่อ ๆ ไป.’
ความจำเป็นในการปรับเข้าที่ในทุกวันนี้
พยานพระยะโฮวาในทุกวันนี้ต้องรับการปรับเข้าที่ต่อ ๆ ไปเช่นเดียวกัน. ซาตานพญามาร ‘ทำสงคราม’ กับเรา พยายามอย่างบ้าคลั่งที่จะทำลายความซื่อสัตย์มั่นคงของเรา. (วิวรณ์ 12:17, ฉบับแปลใหม่; เอเฟโซ 6:12) นอกจากนี้ เราถูกแวดล้อมด้วยระบบทั่วโลกที่ดำเนินงาน “ตามผู้มีอำนาจครอบครองในอากาศ.” เพื่อนร่วมงานและเพื่อนนักเรียนของเราอาจเป็นคนที่ ‘ประพฤติตามความปรารถนาของเนื้อหนัง กระทำให้ความปรารถนาของเนื้อหนังสำเร็จ.’ (เอเฟโซ 2:2, 3) เรายังมีการต่อสู้อยู่เสมอกับแนวโน้มที่ผิดบาปของเราซึ่งได้รับเป็นมรดก. (โรม 7:18-25) หากปราศจากการปรับเข้าที่อยู่เสมอแล้ว เราก็อาจถูกพัดพาออกนอกเส้นทางได้อย่างง่ายดาย.
ประสบการณ์ของอัครสาวกเปโตรเป็นอุทาหรณ์อย่างดีในเรื่องนี้. หลังจากระบุตัวพระเยซูอย่างถูกต้องว่าเป็น “พระคริสต์บุตรของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่” เปโตรได้รับการชมเชยด้วยถ้อยคำที่ว่า “ซีโมนบุตรโยนาเอ๋ย ท่านก็เป็นสุข เพราะว่าเนื้อและโลหิตมิได้แจ้งความนี้แก่ท่าน แต่พระบิดาของเราผู้อยู่ในสวรรค์ทรงแจ้งให้ทราบ.” (มัดธาย 16:16-17) ปรากฏชัดว่า ความคิดของเปโตรเข้าร่องเข้ารอย. กระนั้น ภายในช่วงเวลาที่หกข้อถัดไปครอบคลุมนั้นท่านต้องได้รับการประณามอย่างรุนแรงจากพระเยซู! เมื่อทราบว่าพระคริสต์จะ “ทนทุกข์หลายประการ . . . และจะถูกประหาร” เปโตรพยายามแนะพระเยซูว่า “พระองค์เจ้าข้า จงกรุณาพระองค์เองเถิด พระองค์จะไม่เจอบั้นปลายเช่นนั้นเลย.” พระเยซูตรัสตอบทันควันว่า “จงไปอยู่ข้างหลัง ซาตาน! เจ้าเป็นหินสะดุดแก่เรา เพราะที่เจ้าคิดนั้น ไม่ใช่ความคิดของพระเจ้า แต่เป็นความคิดของมนุษย์.”—มัดธาย 16:21-23.
เปโตรคิดจากทัศนะฝ่ายเนื้อหนัง. ความคิดและเจตคติของท่านจำเป็นต้องรับการปรับเข้าที่. บางครั้งเป็นเช่นเดียวกันจริง ๆ กับเราทุกคนมิใช่หรือ? เรามีแนวโน้มที่จะมองดูสิ่งต่าง ๆ จากทัศนะของเราเอง แทนที่จะมองดูจากทัศนะของพระเจ้ามิใช่หรือ? ดังนั้น เราจำเป็นต้องรับการปรับเข้าที่เป็นครั้งคราว. เช่นเดียวกับเรือในทะเล การปรับเข้าที่ดังกล่าวบางครั้งอาจจะเล็กน้อย แทบจะไม่สังเกตก็ได้. แต่นั่นอาจหมายถึงความแตกต่างระหว่างการบรรลุถึงจุดหมายปลายทางของเรากับการประสบการอับปางทางฝ่ายวิญญาณ. ที่จริง การปรับเข้าที่เล็กน้อยในขณะนี้อาจป้องกันการที่ต้องทำการปรับเข้าที่แบบค่อนข้างใหญ่—บางทีทำให้เจ็บปวดในภายหลัง.
มาตรฐานของพระเจ้า
หากอุปกรณ์การเดินเรือไม่ถูกต้องตามมาตรฐานโดยแท้แล้ว การแก้ไขเส้นทางให้ถูกต้องย่อมทำไม่ได้. ในทำนองเดียวกัน หากเราจะดูแลให้ชีวิตของเราอยู่บนเส้นทางต่อไป เราจำต้องมีเครื่องนำทางอันถ่องแท้แห่งพระวจนะของพระเจ้าคือพระคัมภีร์. “พระคัมภีร์ทุกตอนได้รับการดลบันดาลจากพระเจ้าและเป็นประโยชน์เพื่อการสั่งสอน เพื่อการว่ากล่าว เพื่อจัดการเรื่องราวให้เรียบร้อย.” (2 ติโมเธียว 3:16, ล.ม.) พระวจนะที่ได้รับการดลบันดาลนั้นชี้แจงมาตรฐานของพระเจ้าในเรื่องความประพฤติและความคิด. การอ่านพระวจนะนั้นเป็นประจำนับว่าสำคัญเพื่อจะติดตาม “ทางชอบธรรม.”—บทเพลงสรรเสริญ 23:3.
การชี้นำต่อไปมาจากชนจำพวก “บ่าวสัตย์ซื่อและฉลาด” ที่ประกอบด้วยคริสเตียนผู้ถูกเจิม. คนเหล่านี้ได้รับการช่วยเหลือจากวิญญาณของพระยะโฮวาให้เข้าใจน้ำพระทัยของพระองค์เป็นขั้น ๆ. (มัดธาย 24:45-47; สุภาษิต 4:18) ด้วยเหตุนี้ เมื่อการชี้นำมาจากองค์การของพระยะโฮวา เราก็ยอมตามการชี้นำนั้นได้อย่างฉลาดสุขุม โดยทราบเป็นอย่างดีว่าพระยะโฮวาจะทรงนำเราเฉพาะแต่ในหนทางซึ่งจะเป็นผลประโยชน์ถาวรแก่เรา.—ยะซายา 48:17.
แต่บางครั้ง เราจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือเป็นส่วนตัวเพื่อจะคงอยู่บนเส้นทางต่อไป. เปาโลตักเตือนที่ฆะลาเตีย 6:1 (ล.ม.) ว่า “พี่น้องทั้งหลาย ถ้าแม้นผู้ใดก้าวพลาดไปประการใดก่อนที่เขารู้ตัว ท่านทั้งหลายผู้มีคุณวุฒิทางฝ่ายวิญญาณ จงพยายามปรับคนเช่นนั้นให้เข้าที่ด้วยน้ำใจอ่อนสุภาพ.” ผู้ปกครองและผู้รับใช้อยู่ในบรรดาคนเหล่านั้นที่มีคุณวุฒิทางฝ่ายวิญญาณ. บ่อยครั้งเขาจะชี้แจงแก่เราโดยตรงถึงบางขอบเขตซึ่งเราจำเป็นต้องทำการปรับปรุง.
จำเป็นต้องใช้ความพยายาม
ไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไปที่จะทำการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นในชีวิตของเรา. พิจารณาดูเปโตรอีกครั้งหนึ่ง. โดยกำเนิดเป็นคนยิว เปโตรเติบโตขึ้นมีทัศนะแง่ลบที่มีแพร่หลายต่อผู้คนเชื้อชาติอื่น ๆ. ดังที่ท่านบอกโกระเนเลียวคนต่างชาติว่า “ท่านทั้งหลายทราบแล้วว่าคนชาติยิวนั้นจะคบให้สนิทกับคนต่างชาติหรือเข้าเยี่ยมก็เป็นที่ห้าม.” อย่างไรก็ดี หลังจากตระหนักว่าเป็นน้ำพระทัยของพระเจ้าที่ให้ท่านแบ่งปันสัจธรรมคริสเตียนให้กับบุรุษผู้นี้กับครอบครัวของเขาแล้ว เปโตรได้ลงความเห็นว่า “ข้าพเจ้าเห็นจริงแล้วว่า พระองค์ไม่ทรงเลือกหน้าผู้ใด แต่คนใด ๆ ในทุกชาติที่เกรงกลัวพระองค์และประพฤติตามทางชอบธรรมก็เป็นที่ชอบพระทัยพระองค์.”—กิจการ 10:28, 34, 35, ฉบับแปลใหม่.
เปโตรได้ทำการเปลี่ยนแปลงที่ประหลาดใจในด้านความคิดและเจตคติของท่านต่อเชื้อชาติอื่น! แต่ดูเหมือนว่า มีความจำเป็นสำหรับท่านที่จะรับการปรับเข้าที่ต่อไปในเรื่องนี้ เพราะไม่กี่ปีต่อมา เปโตรได้ยอมจำนนต่อความกดดันจากคนระดับเดียวกัน และเริ่มดูถูกผู้มีความเชื่อที่เป็นคนต่างชาติ. อัครสาวกเปาโลต้องว่ากล่าวท่าน โดยใช้คำพูดแรงที่สุดเพื่อช่วยท่านปรับความคิดของท่านให้เข้าที่อีกต่อไป!—ฆะลาเตีย 2:11-14.
เช่นเดียวกันในทุกวันนี้ คริสเตียนอาจเติบโตขึ้นกับภูมิหลังในการเหยียดผิว. หลังจากเข้ามาในความจริงเขาอาจยอมรับทางด้านจิตใจว่าพระเจ้าไม่ทรงเลือกหน้าผู้ใด แต่ยังคงดึงดันอยู่กับความรู้สึกลำเอียงทางเชื้อชาติ. แม้จะไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อคนเหล่านั้นที่อยู่ในอีกเชื้อชาติหนึ่งก็ตาม เขาอาจถือโดยอัตโนมัติว่าพวกเขามีคุณลักษณะที่ไม่พึงปรารถนาเนื่องจากสิ่งที่สืบทอดมาทางด้านเชื้อชาติ. เขาอาจทดลองความอดทนของคนพวกนั้นด้วยการล้อเล่นเรื่องเชื้อชาติ หรือคำพูดที่ทำให้สนใจในเชื้อชาติ หรือความแตกต่างด้านผิวอยู่เสมอ. เขาอาจถึงกับปฏิเสธคำตักเตือนฝ่ายวิญญาณจากเพื่อนคริสเตียนซึ่งไม่ได้แสดงความคิดเห็นในบางรูปแบบเนื่องจากการเสียเปรียบทางด้านการศึกษาหรือด้านสังคม. ปรากฏชัดว่าบุคคลเช่นนั้นจะต้องใช้ความพยายามอย่างแท้จริงจะปรับความคิดของเขาให้เข้าที่ประสานกับความคิดของพระยะโฮวา.a
แต่ไม่ว่าประเด็นเป็นเรื่องอคติทางด้านเชื้อชาติ ลัทธิวัตถุนิยม การเข้าไปพัวพันทางด้านสังคมที่โรงเรียนและในที่ทำงาน หรือความจำเป็นที่จะเข้าร่วมการประชุมคริสเตียนหรือไม่ก็ตาม เราต้องตอบสนองต่อการชี้นำที่จัดเตรียมขึ้นผ่านทางพระวจนะของพระเจ้าและองค์การของพระองค์. เราไม่ควรรู้สึกว่าคำแนะนำที่ถูกต้องตามหลักพระคัมภีร์นั้นใช้ไม่ได้สำหรับเราและละเลยคำแนะนำนั้น. จงรำลึกว่าชนยิศราเอลผู้ไม่ซื่อสัตย์ได้พูดว่า “ทางของพระยะโฮวาไม่เสมอซื่อตรง.” เรา มิใช่หรือที่ต้องปรับให้เข้ากับทางของพระยะโฮวา?—ยะเอศเคล 18:25.
เราชื่นชมยินดีที่พระยะโฮวาทรงมีความสนพระทัยอันอบอุ่นในวิธีที่เราดำเนินจำเพาะพระองค์และจึงทรงจัดเตรียมการแก้ไขไว้สำหรับพลไพร่ของพระองค์เสมอ. เป็นดังที่ยะซายาได้พยากรณ์ไว้ว่า “และเมื่อเจ้าสงสัยว่าจะเลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวา หูของเจ้าก็จะได้ยินเสียงแนะมาข้างหลังของเจ้าว่า ‘ทางนี้แหละ เดินไปเถอะ.’” สำหรับเราแล้ว ขอให้เราไวต่อการชี้นำด้วยความรักดังกล่าวจากพระยะโฮวา และ “พร้อมที่จะเชื่อฟัง.” (ยะซายา 30:21; ยาโกโบ 3:17, ล.ม.) ถูกแล้ว ขอให้เรารับการปรับเข้าที่ต่อ ๆ ไปเพื่อว่าแนวทางของเราจะนำเราไปสู่เป้าหมายอันได้แก่การอยู่ในความโปรดปรานของพระเจ้าตลอดไป.
[เชิงอรรถ]
a โปรดดูบทความเกี่ยวกับเรื่องอคติที่ปรากฏในวารสารหอสังเกตการณ์ วันที่ 15 พฤษภาคม 1988 หน้า 12-25 ด้วย.