คุณเป็นผู้รับใช้ที่ได้รับความไว้วางใจ!
“พวกท่านไม่ใช่เจ้าของตัวเอง.”—1 โค. 6:19
1. เมื่อพูดถึงทาส คนส่วนใหญ่คิดถึงอะไร?
เมื่อประมาณ 2,500 ปีที่แล้ว นักเขียนบทละครชาวกรีกคนหนึ่งเขียนว่า “ไม่มีใครอยากแบกรับแอกของการเป็นทาส.” คนส่วนใหญ่ในทุกวันนี้คงเห็นด้วยทันทีกับถ้อยคำนี้. เมื่อพูดถึงทาส พวกเขามักนึกถึงภาพของคนที่ถูกกดขี่ถูกผูกมัดและต้องทำงานหนักเพื่อทำประโยชน์แก่คนที่เป็นเจ้าของและมีอำนาจเหนือเขา โดยที่ตัวเขาเองไม่ได้รับผลประโยชน์ใด ๆ.
2, 3. (ก) ทาสหรือคนรับใช้ที่เต็มใจของพระคริสต์มีฐานะเช่นไร? (ข) เราจะพิจารณาคำถามอะไรเกี่ยวกับคนรับใช้?
2 ถึงกระนั้น พระเยซูทรงชี้ว่าเหล่าสาวกของพระองค์จะเป็นคนรับใช้หรือทาสที่ถ่อมใจ. การที่คริสเตียนแท้เป็นทาสเช่นนี้ไม่ได้ทำให้พวกเขาเสื่อมเสียชื่อเสียงหรือถูกกดขี่เลย. ทาสเหล่านี้มีฐานะที่มีเกียรติ ได้รับความไว้วางใจ และความนับถือ. ตัวอย่างเช่น ขอให้พิจารณาสิ่งที่พระเยซูตรัสไม่นานก่อนสิ้นพระชนม์เกี่ยวกับ “ทาส” คนหนึ่ง. พระคริสต์ทรงบอกล่วงหน้าว่าพระองค์จะมอบหมายหน้าที่ให้แก่ “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม.”—มัด. 24:45-47
3 ขอให้สังเกตว่าในบันทึกของลูกา ท่านใช้คำ “คนรับใช้” แทนคำ “ทาส.” (อ่านลูกา 12:42-44) คริสเตียนที่ซื่อสัตย์ส่วนใหญ่ที่มีชีวิตอยู่ในเวลานี้ไม่ได้เป็นสมาชิกของชนชั้นทาสสัตย์ซื่อนั้น. อย่างไรก็ตาม พระคัมภีร์แสดงให้เห็นว่าทุกคนที่รับใช้พระเจ้าอยู่ในฐานะเป็นคนรับใช้. พวกเขามีหน้าที่รับผิดชอบอะไรบ้าง? พวกเขาควรมองหน้าที่รับผิดชอบเหล่านั้นอย่างไร? เพื่อจะได้คำตอบ ขอให้เราพิจารณาบทบาทของหัวหน้าคนรับใช้ในสมัยโบราณ.
บทบาทของหัวหน้าคนรับใช้
4, 5. หัวหน้าคนรับใช้ในสมัยโบราณมีหน้าที่รับผิดชอบอะไรบ้าง? จงยกตัวอย่าง.
4 ในสมัยโบราณ ตามปกติหัวหน้าคนรับใช้คือทาสที่ได้รับความไว้วางใจให้ดูแลงานต่าง ๆ ในบ้านหรือธุรกิจของผู้เป็นนาย. หัวหน้าคนรับใช้มีอำนาจมากและมีหน้าที่ดูแลจัดการในเรื่องทรัพย์สินต่าง ๆ ในบ้าน เงิน และคนรับใช้คนอื่น ๆ. เราเห็นเรื่องนี้ได้จากกรณีของอะลีเอเซ็รซึ่งเป็นหัวหน้าคนรับใช้ที่อับราฮามไว้วางใจให้ดูแลทรัพย์สินมากมายของท่าน. อาจเป็นอะลีเอเซ็รที่อับราฮามมอบหมายให้ไปที่เมโสโปเตเมียเพื่อหาภรรยาให้ยิศฮาคบุตรชาย. ช่างเป็นงานมอบหมายที่สำคัญและมีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงจริง ๆ!—เย. 13:2; 15:2; 24:2-4
5 โยเซฟเหลนของอับราฮามดูแลผู้อยู่อาศัยทั้งหมดในครัวเรือนของโพติฟา. (เย. 39:1, 2, 4) ในเวลาต่อมา โยเซฟมีหัวหน้าคนรับใช้ของท่านเองซึ่งเรียกว่า “คนต้นเรือน.” คนต้นเรือนนั้นเป็นคนดูแลเอาใจใส่พี่ชายทั้งสิบของท่าน. และเขาใส่จอกเงินไว้ในปากกระสอบของเบ็นยามินตามคำสั่งของโยเซฟ. เห็นได้ชัดว่า คนต้นเรือนเป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางใจอย่างมากจากนาย.—เย. 43:19-25; 44:1-12
6. ในฐานะ “ผู้รับใช้” คริสเตียนผู้ดูแลมีหน้าที่รับผิดชอบที่แตกต่างกันอย่างไรบ้าง?
6 หลายศตวรรษต่อมา อัครสาวกเปาโลเขียนว่าคริสเตียนผู้ดูแลเป็น “ผู้รับใช้ของพระเจ้า.” (ทิทุส 1:7) ผู้ดูแลซึ่งได้รับแต่งตั้งให้บำรุงเลี้ยง “ฝูงแกะของพระเจ้า” ให้การชี้นำและนำหน้าในประชาคมต่าง ๆ. (1 เป. 5:1, 2) แน่นอน พวกเขามีหน้าที่รับผิดชอบแตกต่างกันไป. ตัวอย่างเช่น คริสเตียนผู้ดูแลส่วนใหญ่ในทุกวันนี้รับใช้ในประชาคมเดียว. ผู้ดูแลเดินทางรับใช้หลายประชาคม. และสมาชิกคณะกรรมการสาขาดูแลประชาคมต่าง ๆ ทั้งหมดในประเทศ. แต่ทุกคนถูกคาดหมายว่าพวกเขาจะทำตามหน้าที่ของตนอย่างซื่อสัตย์ และทุกคนต้อง “ถวายรายงาน” ต่อพระเจ้า.—ฮีบรู 13:17
7. เรารู้ได้อย่างไรว่าคริสเตียนทุกคนเป็น “ผู้รับใช้”?
7 แต่จะว่าอย่างไรสำหรับคริสเตียนที่ภักดีคนอื่น ๆ ที่ไม่ได้เป็นผู้ดูแล? อัครสาวกเปโตรเขียนจดหมายถึงคริสเตียนโดยทั่วไปว่า “จงใช้ความสามารถตามที่แต่ละคนได้รับนั้นในการรับใช้กันในฐานะเป็นผู้รับใช้ที่ดีที่ดูแลเรื่องพระกรุณาอันใหญ่หลวงซึ่งพระเจ้าทรงแสดงออกในหลายวิธีต่าง ๆ กัน.” (1 เป. 1:1; 4:10) ด้วยพระกรุณาอันใหญ่หลวง พระเจ้าทรงโปรดให้เราทุกคนมีความสามารถหรือพรสวรรค์ที่เราจะใช้เพื่อประโยชน์ของเพื่อนร่วมความเชื่อ. ดังนั้น ทุกคนที่รับใช้พระเจ้าเป็น “ผู้รับใช้” และการเป็นผู้รับใช้ทำให้พวกเขาได้รับหน้าที่รับผิดชอบ ความนับถือ และความไว้วางใจ.
พระเจ้าทรงเป็นเจ้าของตัวเรา
8. ในฐานะผู้รับใช้ เราต้องจดจำความจริงพื้นฐานอะไรไว้?
8 ขอให้เราพิจารณาความจริงพื้นฐานสามประการที่คริสเตียนทุกคนซึ่งเป็นผู้รับใช้ต้องจดจำไว้. ประการแรก: พระเจ้าทรงเป็นเจ้าของตัวเราทุกคนและเราต้องให้การต่อพระองค์. เปาโลเขียนว่า “พวกท่านไม่ใช่เจ้าของตัวเอง เพราะท่านทั้งหลายถูกซื้อไว้แล้วด้วยราคาสูง” ซึ่งก็คือด้วยพระโลหิตของพระคริสต์ที่ทรงถวายเป็นเครื่องบูชา. (1 โค. 6:19, 20) เนื่องจากพระยะโฮวาทรงเป็นเจ้าของตัวเรา เราจึงมีพันธะที่จะเชื่อฟังพระบัญญัติของพระองค์ซึ่งไม่เป็นภาระหนัก. (โรม 14:8; 1 โย. 5:3) เราได้มาเป็นทาสของพระคริสต์ด้วย. เช่นเดียวกับหัวหน้าคนรับใช้ในสมัยโบราณ เรามีอิสระที่จะทำหลายสิ่ง แต่เราไม่มีอิสระที่จะทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ. เราต้องทำหน้าที่รับผิดชอบของเราตามคำแนะนำที่ได้รับ. ไม่ว่าเรามีสิทธิพิเศษเช่นไรก็ตามในการรับใช้ เราก็ยังคงเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้าและพระคริสต์.
9. พระเยซูทรงแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างนายกับทาสอย่างไร?
9 พระเยซูทรงช่วยเราให้เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างนายกับทาส. ครั้งหนึ่งพระองค์ตรัสกับเหล่าสาวกเกี่ยวกับทาสคนหนึ่งที่กลับมาถึงบ้านหลังจากทำงานตลอดทั้งวัน. นายจะกล่าวกับเขาไหมว่า “มานั่งเอนกายที่โต๊ะนี่เถอะ”? ไม่เลย. นายพูดว่า “จงเตรียมอาหารมื้อเย็นให้เรากิน และผูกผ้ากันเปื้อนมาปรนนิบัติเราจนกว่าเราจะกินดื่มเสร็จ แล้วเจ้าค่อยกินดื่ม.” พระเยซูทรงสรุปอุทาหรณ์เรื่องนี้อย่างไร? “ดังนั้น พวกเจ้าก็เช่นกัน เมื่อพวกเจ้าทำทุกสิ่งตามที่ได้รับคำสั่งแล้ว จงกล่าวว่า ‘พวกเราเป็นทาสที่ไม่มีความดีความชอบอะไร. พวกเราได้ทำสิ่งที่ควรทำอยู่แล้ว.’ ”—ลูกา 17:7-10
10. อะไรแสดงว่าพระยะโฮวาทรงเห็นค่าความพยายามของเราในการรับใช้พระองค์?
10 แน่นอน พระยะโฮวาทรงเห็นค่าความพยายามของเราในการรับใช้พระองค์. คัมภีร์ไบเบิลรับรองกับเราว่า “พระเจ้าไม่ทรงอธรรม พระองค์จึงไม่ทรงลืมการงานของพวกท่านและความรักที่พวกท่านแสดงต่อพระนามของพระองค์.” (ฮีบรู 6:10) พระยะโฮวาไม่ทรงคาดหมายให้เราทำอะไรเกินกว่าที่เราจะทำได้. นอกจากนั้น ทุกสิ่งที่พระองค์ทรงบอกให้เราทำเป็นประโยชน์สำหรับเราและไม่หนักเกินไป. ถึงกระนั้น ดังที่เราเห็นในอุทาหรณ์ของพระเยซู ทาสไม่ได้ทำตามใจชอบโดยให้ความต้องการของตัวเองมาก่อน. เช่นเดียวกัน เมื่อเราอุทิศตัวแด่พระเจ้า เราเลือกที่จะทำตามพระประสงค์ของพระองค์เป็นอันดับแรกในชีวิตเรา. คุณเห็นด้วยมิใช่หรือ?
พระยะโฮวาทรงคาดหมายอะไรจากเราทุกคน?
11, 12. ในฐานะผู้รับใช้ เราต้องทำอะไรและหลีกเลี่ยงอะไร?
11 ความจริงพื้นฐานประการที่สองที่เราต้องจำไว้คือ: ในฐานะผู้รับใช้ เราทุกคนทำตามข้อเรียกร้องเดียวกัน. จริงอยู่ มีเพียงบางคนในประชาคมคริสเตียนที่ทำหน้าที่รับผิดชอบบางอย่าง. อย่างไรก็ตาม หน้าที่รับผิดชอบส่วนใหญ่เป็นของเราทุกคน. ตัวอย่างเช่น ในฐานะสาวกของพระคริสต์และพยานของพระยะโฮวา เรารักกัน. พระเยซูตรัสว่าความรักเป็นเครื่องหมายระบุตัวคริสเตียนแท้. (โย. 13:35) แต่เราไม่ได้รักเฉพาะพี่น้องของเรา. เราพยายามแสดงความรักต่อคนที่ไม่มีความเชื่อเหมือนเรา. นี่คือสิ่งที่เราทุกคนทำได้และควรทำ.
12 เราถูกคาดหมายให้มีความประพฤติที่ดีด้วย. เราต้องการหลีกเลี่ยงการกระทำและรูปแบบชีวิตที่พระคำของพระเจ้าตำหนิ. เปาโลเขียนว่า “คนผิดประเวณี คนไหว้รูปเคารพ คนเล่นชู้ ชายที่บำเรอชาย ชายรักร่วมเพศ ขโมย คนโลภ คนขี้เมา คนปากร้าย คนกรรโชกทรัพย์ จะไม่ได้รับราชอาณาจักรของพระเจ้า.” (1 โค. 6:9, 10) จริงอยู่ การปฏิบัติตามมาตรฐานอันชอบธรรมของพระเจ้าไม่ใช่เรื่องง่าย. แต่การพยายามทำเช่นนั้นคุ้มค่า เพราะให้ประโยชน์แก่เราหลายอย่าง ซึ่งรวมถึงรูปแบบชีวิตที่ทำให้เรามีสุขภาพที่ดี มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น ๆ และมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับพระเจ้า.—อ่านยะซายา 48:17, 18
13, 14. คริสเตียนทุกคนมีหน้าที่รับผิดชอบอะไร และเราควรมองหน้าที่รับผิดชอบนั้นอย่างไร?
13 ขอให้จำไว้ด้วยว่าคนรับใช้ในสมัยโบราณมีงานที่ต้องทำ. เราก็มีงานที่ต้องทำด้วย. เราได้รับของประทานอันล้ำค่า คือความรู้เกี่ยวกับความจริงในพระคัมภีร์. พระเจ้าทรงคาดหมายให้เราบอกความรู้นี้แก่คนอื่น ๆ. (มัด. 28:19, 20) เปาโลเขียนว่า “ให้ผู้คนถือว่าเราเป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของพระคริสต์และเป็นผู้รับใช้ที่ดูแลความลับอันศักดิ์สิทธิ์ ของพระเจ้า.” (1 โค. 4:1) เปาโลรู้ว่าท่านต้องดูแล “ความลับอันศักดิ์สิทธิ์” หรือความจริงในคัมภีร์ไบเบิล และต้องบอกความจริงนี้แก่คนอื่น ๆ อย่างซื่อสัตย์ตามที่ได้รับพระบัญชาจากพระเยซูคริสต์ผู้เป็นนาย.—1 โค. 9:16
14 ที่จริง การบอกความจริงเป็นการแสดงความรักอย่างหนึ่ง. แน่นอน สภาพการณ์ของคริสเตียนแต่ละคนไม่เหมือนกัน. ไม่ใช่ทุกคนจะทำได้เท่ากันในการประกาศ. พระยะโฮวาทรงเข้าใจในเรื่องนี้. สิ่งสำคัญก็คือเราควรทำทุกสิ่ง ที่ตัวเราเองทำได้. โดยทำอย่างนั้น เราแสดงความรักอย่างที่ไม่เห็นแก่ตัวต่อพระเจ้าและต่อเพื่อนบ้านของเรา.
ความสำคัญของการเป็นคนซื่อสัตย์
15-17. (ก) เหตุใดผู้รับใช้ต้องเป็นคนซื่อสัตย์? (ข) พระเยซูทรงแสดงให้เห็นผลของความไม่ซื่อสัตย์อย่างไร?
15 ความจริงพื้นฐานประการที่สามที่เราต้องจำไว้คือ: เราต้องเป็นคนซื่อสัตย์และไว้ใจได้. ผู้รับใช้คนหนึ่งอาจมีคุณสมบัติที่ดีและมีความสามารถหลายอย่าง แต่สิ่งเหล่านี้ไม่มีความหมายเลยถ้าเขาไม่มีความรับผิดชอบหรือไม่ภักดีต่อนาย. เพื่อจะทำงานได้ดีและเป็นที่พอใจของนาย ผู้รับใช้ต้องเป็นคนซื่อสัตย์. ขอให้จำคำพูดของเปาโลไว้ที่ว่า “เป็นที่คาดหมายว่าผู้รับใช้นั้นต้องเป็นคนซื่อสัตย์.”—1 โค. 4:2
16 เรามั่นใจได้ว่า ถ้าเราซื่อสัตย์พระเจ้าจะประทานบำเหน็จแก่เรา. ถ้าเราไม่ซื่อสัตย์ เราจะไม่เป็นที่พอพระทัยพระเจ้าอีกต่อไป. อุทาหรณ์ของพระเยซูเรื่องเงินตะลันต์ทำให้เราเข้าใจเรื่องนี้ได้ชัด. นายชมเชยทาสที่ซื่อสัตย์ที่ได้ใช้เงินของนายในการ “ค้าขาย” และให้รางวัลเขามากมาย. แต่นายตัดสินว่าทาสที่ไม่เชื่อฟังเป็นทาส “ชั่ว” “เกียจคร้าน” และ “ไร้ค่า.” นายยึดเงินตะลันต์ที่มอบให้เขานั้นคืน และโยนเขาออกไปข้างนอก.—อ่านมัดธาย 25:14-18, 23, 26, 28-30
17 ในอีกโอกาสหนึ่ง พระเยซูทรงชี้ถึงผลของความไม่ซื่อสัตย์. พระองค์ตรัสว่า “เศรษฐีคนหนึ่งมีพ่อบ้าน และมีคนมาฟ้องเขาว่าพ่อบ้านคนนี้ทำให้ทรัพย์สินของเขาเสียเปล่า. เขาจึงเรียกพ่อบ้านมาแล้วพูดว่า ‘ที่เราได้ยินเกี่ยวกับเจ้านั้นเป็นอย่างไรกัน? จงเอาบัญชีที่เจ้าดูแลในหน้าที่พ่อบ้านมาให้เราเพราะเจ้าจะไม่ได้ดูแลบ้านอีกต่อไป.’ ” (ลูกา 16:1, 2) เนื่องจากพ่อบ้านคนนี้ทำให้ทรัพย์สินของนายเสียเปล่า นายจึงไล่เขาออกจากงาน. เรื่องนี้สอนบทเรียนสำคัญแก่เรา. แน่นอน เราต้องการเป็นคนซื่อสัตย์เสมอโดยทำอย่างดีที่สุดในสิ่งที่พระเจ้าทรงคาดหมายให้เราทำ.
ควรเปรียบเทียบตัวเราเองกับคนอื่นไหม?
18. ทำไมเราไม่ควรเปรียบเทียบตัวเราเองกับคนอื่น?
18 เราแต่ละคนอาจถามตัวเองว่า ‘ฉันเป็นผู้รับใช้แบบใด?’ แต่ไม่ฉลาดที่จะเปรียบเทียบตัวเราเองกับคนอื่น. คัมภีร์ไบเบิลแนะนำเราว่า “ให้แต่ละคนพิสูจน์ว่าการงานของตนเป็นอย่างไร แต่ไม่ใช่ด้วยการเปรียบเทียบกับคนอื่น แล้วเขาจะมีเหตุให้ตนเองปลาบปลื้มยินดี.” (กลา. 6:4) แทนที่จะเปรียบเทียบสิ่งที่เราทำกับสิ่งที่คนอื่นทำ เราควรคิดถึงว่าเราเองจะทำให้ดีขึ้นได้อย่างไรและพยายามทำให้ดีที่สุด. ถ้าเราทำอย่างนี้เราก็จะไม่หยิ่งยโสหรือรู้สึกท้อใจ. นอกจากนั้น เราควรยอมรับว่าสภาพการณ์ในชีวิตเราอาจเปลี่ยนไป. เราอาจมีปัญหาสุขภาพ อายุมากขึ้น หรือมีหน้าที่รับผิดชอบหลายอย่าง ซึ่งทำให้เราไม่สามารถทำทุกสิ่งที่เราเคยทำได้. หรือสภาพการณ์ของเราอาจทำให้เราทำได้มากขึ้นกว่าเดิม. ถ้าอย่างนั้น เราก็น่าจะพยายามทำให้ดีขึ้นมิใช่หรือ?
19. ถ้าเราไม่ได้รับสิทธิพิเศษบางอย่าง ทำไมเราไม่ควรท้อใจ?
19 อีกแง่มุมหนึ่งที่ควรพิจารณาคือ เราไม่ควรเปรียบเทียบตัวเราเองกับคนที่มีหน้าที่รับผิดชอบบางอย่างที่เราอยากมี. ตัวอย่างเช่น พี่น้องชายคนหนึ่งอาจอยากรับใช้เป็นผู้ปกครองในประชาคมหรือบรรยายในการประชุมหมวดและการประชุมภาค. นับว่าดีที่จะพยายามมีคุณสมบัติสำหรับสิทธิพิเศษเช่นนั้น แต่เราไม่ควรท้อใจถ้าเราไม่ได้รับในเวลาที่เราหวังไว้. ด้วยเหตุผลบางอย่างที่เราอาจจะไม่เข้าใจในทันที เราอาจต้องคอยนานกว่าที่เราคาดหมายไว้. ขอให้ระลึกว่าโมเซดูเหมือนพร้อมจะนำชาวอิสราเอลออกจากอียิปต์ แต่ท่านต้องคอยถึง 40 ปีกว่าจะได้ทำหน้าที่นี้. นั่นทำให้ท่านมีเวลาได้พัฒนาคุณลักษณะที่จำเป็นต้องมีเพื่อจะนำประชาชนที่ดื้อรั้นและขืนอำนาจ.—กิจ. 7:22-25, 30-34
20. เราเรียนอะไรได้จากตัวอย่างของโยนาธาน?
20 บางครั้งอาจมีสิทธิพิเศษบางอย่างที่เราไม่มีวันได้รับเลย. นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับโยนาธาน. ท่านเป็นราชบุตรของซาอูลและมีสิทธิ์จะได้เป็นกษัตริย์องค์ถัดไปของชาติอิสราเอล. แต่พระเจ้าทรงเลือกดาวิด ซึ่งอายุน้อยกว่ามาก ให้เป็นกษัตริย์. โยนาธานมีปฏิกิริยาอย่างไรในเรื่องนี้? ท่านยอมรับการเลือกของพระเจ้าและสนับสนุนดาวิดแม้ว่าต้องเสี่ยงชีวิตก็ตาม. ท่านพูดกับดาวิดว่า “ท่านคงจะได้เป็นกษัตริย์ครอบครองชาวยิศราเอล และเราจะเป็นมหาอุปราช.” (1 ซามู. 23:17) คุณเรียนอะไรได้จากตัวอย่างของโยนาธาน? ท่านไม่ได้บ่นเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้น. และท่านไม่ได้อิจฉาดาวิดอย่างที่ซาอูลอิจฉา. แทนที่จะอิจฉาคนอื่นที่พวกเขาได้รับหน้าที่รับผิดชอบที่เราไม่ได้รับ เราทุกคนควรทำหน้าที่รับผิดชอบที่เรามีอยู่ให้ดีที่สุด. เรามั่นใจได้ว่าในโลกใหม่ พระยะโฮวาจะทรงจัดการให้เป็นไปตามความปรารถนาที่เหมาะสมของผู้รับใช้ของพระองค์ทุกคน.
21. เราควรรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับการรับใช้พระเจ้า?
21 ขอให้เราจำไว้เสมอว่าในฐานะผู้รับใช้ของพระเจ้า เราไม่ได้เป็นทาสที่ถูกบังคับเคี่ยวเข็ญให้รับใช้นายที่โหดร้าย. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น พระยะโฮวาทรงไว้วางใจเราและให้เกียรติเราอย่างมากโดยมอบหมายงานสำคัญให้เราทำ เช่น งานประกาศข่าวดีในสมัยสุดท้ายนี้ซึ่งเป็นงานที่จะไม่ทำซ้ำอีก. และพระองค์ทรงให้เรามีอิสระในการเลือกว่าเราจะทำหน้าที่รับผิดชอบที่พระองค์ประทานแก่เราอย่างไร. ดังนั้น ขอให้เราเป็นผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์. ขอให้เราทะนุถนอมสิทธิพิเศษที่เรามีในการรับใช้พระยะโฮวา องค์ใหญ่ยิ่งสูงสุดในเอกภพ.