การปฏิบัติกับคนภายนอกด้วยสติปัญญา
“จงดำเนินการกับคนภายนอกด้วยใช้สติปัญญา.”—โกโลซาย 4:5.
1. คริสเตียนสมัยแรกเผชิญหน้ากับอะไร และเปาโลให้คำแนะนำเช่นไรแก่ประชาคมโกโลซาย?
คริสเตียนสมัยแรกซึ่งอาศัยอยู่ตามเมืองใหญ่ ๆ แห่งจักรวรรดิโรมันต้องเผชิญหน้าไม่หยุดหย่อนกับการบูชารูปเคารพ, การมุ่งหาความสนุกเพลิดเพลินอย่างผิดศีลธรรม, และพิธีทางศาสนาและขนบธรรมเนียมแบบนอกรีต. คริสเตียนที่อยู่ในเมืองโกโลซาย ซึ่งอยู่แถบตะวันตกตอนกลางของเอเชียไมเนอร์ ย่อมเป็นที่แน่นอนว่าได้พบเห็นการบูชาพระแม่เจ้า และการบูชาปิศาจของชาวพื้นเมืองฟรีเจีย, ปรัชญานอกรีตของพวกกรีกที่มาตั้งรกรากที่นั่น และลัทธิยูดายของกลุ่มชาวยิวที่อาศัยอยู่ในเมืองนี้. อัครสาวกเปาโลได้แนะนำประชาคมคริสเตียนว่า “จงดำเนินการ . . . ด้วยใช้สติปัญญา” กับ “คนภายนอก” เหล่านั้น.—โกโลซาย 4:5.
2. เหตุใดพยานพระยะโฮวาสมัยนี้ต้องปฏิบัติกับบุคคลภายนอกด้วยใช้สติปัญญา?
2 ทุกวันนี้ พยานพระยะโฮวาเผชิญกับกิจปฏิบัติต่าง ๆ ที่ผิดในทำนองเดียวกัน และมากกว่าเสียด้วยซ้ำ. เหตุฉะนั้น พวกเขาก็เช่นกันต้องใช้สติปัญญาขณะที่เขามีส่วนสัมพันธ์กับบุคคลที่อยู่นอกประชาคมคริสเตียนแท้. ผู้คนมากมายในหน่วยงานทางศาสนาและทางการเมือง อีกทั้งสื่อมวลชนเป็นปฏิปักษ์กับพยานพระยะโฮวา. ผู้ต่อต้านเหล่านี้บางคน หากไม่ทำอย่างเปิดเผยก็โดยการพูดเสียดสี พยายามทำให้ชื่อเสียงพยานพระยะโฮวามัวหมอง และยุยงให้มีอคติต่อพวกเขา. เช่นเดียวกับคริสเตียนสมัยแรกถูกมองอย่างไม่เป็นธรรมว่าเป็นพวกคลั่งศาสนา และซ้ำยังเป็น ‘นิกาย’ ที่เป็นอันตราย พยานพระยะโฮวาสมัยนี้ก็เหมือนกัน บ่อยครั้งจะตกเป็นเป้ารองรับความลำเอียงและความเห็นผิด ๆ.—กิจการ 24:14; 1 เปโตร 4:4.
การเอาชนะอคติ
3, 4. (ก) เหตุใดโลกนี้จะไม่มีวันรักคริสเตียนแท้ ทว่าพวกเราควรพยายามจะทำอะไร? (ข) สตรีผู้แต่งหนังสือคนหนึ่งได้เขียนอะไรเกี่ยวกับพยานพระยะโฮวาที่ถูกขังในค่ายกักกันของพวกนาซี?
3 คริสเตียนแท้ไม่คาดหมายจะเป็นที่รักชอบของโลก ซึ่งอย่างที่อัครสาวกโยฮันบอกว่า “ตกอยู่ใต้อำนาจผู้ชั่วร้ายนั้น.” (1 โยฮัน 5:19, ล.ม.) กระนั้นก็ดี พระคัมภีร์สนับสนุนคริสเตียนให้อุตส่าห์ทำให้ปัจเจกชนหันมาเลื่อมใสในพระยะโฮวาและการนมัสการอันบริสุทธิ์ของพระองค์. เราทำเช่นนี้โดยการให้คำพยานโดยตรงและโดยการประพฤติอันดีของเราด้วย. อัครสาวกเปโตรเขียนว่า “จงรักษาความประพฤติของท่านให้ดีงามท่ามกลางนานาชาติ เพื่อว่า ในสิ่งที่เขาพูดต่อต้านท่านทั้งหลายว่าเป็นคนทำชั่วนั้น เนื่องด้วยการงานที่ดีงามของท่านซึ่งเขาเป็นประจักษ์พยานนั้น เขาอาจสรรเสริญพระเจ้าในวันสำหรับการตรวจตราของพระองค์.”—1 เปโตร 2:12, ล.ม.
4 ในหนังสือชื่อ ให้อภัย—แต่อย่าลืม นักประพันธ์ซิลเวีย ซัลเวเซน ได้กล่าวถึงพวกสตรีพยานฯที่ถูกคุมขังด้วยกันกับเธอในค่ายกักกันนาซีว่า “คนทั้งสอง, แคเทะและมาร์กาเรเทะ และพยานฯอีกหลายคนได้ช่วยฉันมากทีเดียว ไม่เฉพาะในด้านที่เกี่ยวกับความเชื่อของเขาเท่านั้น แต่เรื่องอื่น ๆ ที่ใช้ปฏิบัติได้. พยานฯเหล่านี้หาผ้าขี้ริ้วสะอาดชุดแรกให้พวกเราใช้พันแผล . . . สรุปแล้ว เราพบตัวเองอยู่ท่ามกลางผู้มีน้ำใจปรารถนาดี และเป็นผู้ที่แสดงอัธยาศัยไมตรีด้วยการกระทำของเขา.” นับว่าเป็นคำให้การที่ดีอะไรเช่นนั้นจาก “คนภายนอก”!
5, 6. (ก) พระคริสต์ทรงสัมฤทธิ์ผลในการงานอะไรขณะนี้ และพวกเราไม่ควรลืมสิ่งใด? (ข) ทัศนะของเราควรเป็นเช่นไรต่อผู้คนในโลก และเพราะเหตุใด?
5 พวกเราสามารถทำได้มากด้วยวิธีอันสุขุมเพื่อลบล้างอคติโดยการประพฤติต่อคนภายนอก. จริง พวกเราอยู่ในสมัยที่พระเยซูคริสต์ กษัตริย์ผู้ครองราชย์ของเรากำลังทำการแยกประชาชนทุกชาติ “เหมือนอย่างผู้เลี้ยงแกะแยกแกะออกจากแพะ.” (มัดธาย 25:32) แต่เราอย่าลืมว่าพระคริสต์ทรงเป็นผู้พิพากษา พระองค์นั้นแหละจะทรงตัดสินว่าใครเป็น “แกะ” และใครเป็น “แพะ.”—โยฮัน 5:22.
6 เรื่องนี้ควรจะส่งผลกระทบทัศนะของเราที่แสดงต่อผู้คนที่อยู่นอกองค์การของพระยะโฮวา. เราอาจนึกว่าคนเหล่านั้นเป็นชาวโลก แต่เขาก็เป็นส่วนของโลกมนุษย์ซึ่ง “พระเจ้าทรงรัก . . . มากจนถึงกับได้ประทานพระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียวของพระองค์ เพื่อทุกคนที่แสดงความเชื่อในพระบุตรนั้นจะไม่พินาศ แต่มีชีวิตนิรันดร์.” (โยฮัน 3:16, ล.ม.) หากจะถือว่าประชาชนจะเป็นแกะในอนาคตจะดีกว่า แทนที่จะถือสิทธิ์ตัดสินเอาเองว่าพวกเขาเป็นแพะ. บางคนซึ่งเมื่อก่อนเคยต่อต้านความจริงอย่างรุนแรง แต่เดี๋ยวนี้เป็นพยานฯที่อุทิศตัวแล้ว. และหลายคนในจำนวนนี้ทีแรกถูกจูงใจเพราะการประพฤติที่แสดงความกรุณาก่อนที่เขาได้ตอบรับการให้คำพยานใด ๆ โดยตรง. ดูภาพที่หน้า 18 เป็นตัวอย่าง.
กระตือรือร้น ไม่ใช่ก้าวร้าว
7. สันตะปาปาได้วิพากษ์วิจารณ์เรื่องอะไร แต่เราน่าจะตั้งคำถามอะไร?
7 สันตะปาปา จอห์นพอลที่สองได้วิจารณ์นิกายต่าง ๆ โดยทั่วไป และเจาะจงพยานพระยะโฮวา เมื่อเขาบอกว่า “ความกระตือรือร้นอันแทบจะเป็นการก้าวร้าวของบางคนที่พยายามเสาะหาคนใหม่ ๆ มาเป็นพรรคพวก โดยไปตามบ้านเรือน หรืออยู่ตามมุมถนนแล้วทำให้ผู้สัญจรไปมาชะงัก เป็นการปลอมแปลงความแรงกล้าของอัครสาวกและมิชชันนารี.” อาจถามทำนองนี้ ถ้าการกระทำของเราเป็น “การปลอมแปลงความแรงกล้าของอัครสาวกและมิชชันนารี” แล้วจะพบเห็นความกระตือรือร้นในงานเผยแพร่ที่แท้จริงได้ที่ไหน? ที่แน่ ๆ คือหาไม่ได้ในท่ามกลางชาวคาทอลิก หรือแม้แต่ในหมู่ชาวโปรเตสแตนต์ หรือจากสมาชิกคริสต์จักรออร์โทด็อกซ์.
8. เราควรดำเนินการให้คำพยานตามบ้านอย่างไร พร้อมกับหวังผลอะไร?
8 อย่างไรก็ดี เพื่อที่จะพิสูจน์หักล้างคำกล่าวโทษใด ๆ ในเรื่องความก้าวร้าวในการให้คำพยานของเรา เราควรเป็นคนที่กรุณา, แสดงความนับถือ, และสุภาพเรียบร้อยเสมอเมื่อเข้าพบผู้คน. สาวกยาโกโบเขียนว่า “ใครบ้างในพวกท่านมีปัญญาและความเข้าใจ? จงให้ผู้นั้นสำแดงผลงานโดยการประพฤติที่ดีของเขาด้วยใจอ่อนโยน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสติปัญญา.” (ยาโกโบ 3:13, ล.ม.) อัครสาวกเปาโลตักเตือนพวกเราว่า “อย่าให้เป็นคนมักทะเลาะวิวาทกัน.” (ติโต 3:2) ยกตัวอย่าง แทนการตำหนิความเชื่อของคนที่เรากำลังให้คำพยานอย่างไม่ไว้หน้า ทำไมไม่แสดงความสนใจด้วยน้ำใสใจจริงต่อความคิดเห็นของเขา? ครั้นแล้วค่อยชี้แจงให้เขารู้ข่าวดีตามที่มีอยู่ในคัมภีร์ไบเบิล. โดยการรับเอาวิธีการเข้าหาในแง่บวกและแสดงให้เห็นว่าเราให้ความนับถือตามควรแก่ประชาชนที่มีความเชื่อที่ต่างกัน เราจะช่วยเขาได้แง่คิดที่ดีกว่าเพื่อจะฟัง และบางทีเขาอาจตระหนักถึงคุณค่าแห่งข่าวสารของพระคัมภีร์. อาจบังเกิดผลทำให้บางคนเข้ามา “สรรเสริญพระเจ้า.”—1 เปโตร 2:12.
9. เราจะนำคำแนะนำของเปาโลไปใช้เป็นประโยชน์โดยวิธีใด (ก) ที่โกโลซาย 4:5? (ข) ที่โกโลซาย 4:6?
9 อัครสาวกเปาโลแนะนำว่า “จงดำเนินการกับคนภายนอกด้วยใช้สติปัญญา, ซึ่งเป็นการซื้อโอกาสไว้ใช้. (โกโลซาย 4:5) เจ. บี. ไลต์ฟุตเขียนเพื่อชี้แจงคำกล่าวส่วนหลังนี้ว่า “ไม่มีการปล่อยโอกาสให้หลุดมือไป เพื่อการพูดและการกระทำสิ่งซึ่งจะส่งเสริมจุดมุ่งหมายของพระเจ้า. ใช่แล้ว เราต้องพร้อมทั้งคำพูดและการกระทำเมื่อโอกาสเปิดให้. สติปัญญาดังกล่าวย่อมรวมเอาการเลือกเวลาที่เหมาะในช่วงกลางวันเพื่อการเยี่ยม. หากไม่มีการตอบรับข่าวที่เรานำไปบอกนั้น เป็นเพราะว่าประชาชนไม่หยั่งรู้ค่าหรือเป็นเพราะว่าเราไปเยี่ยมในเวลาที่ไม่เหมาะ? เปาโลยังได้เขียนด้วยว่า “จงให้วาจาของท่านประกอบด้วยเมตตาคุณเสมอ, ปรุงด้วยเกลือให้มีรส, เพื่อท่านทั้งหลายจะได้รู้จักตอบให้จุใจแก่ทุกคนอย่างไร.” (โกโลซาย 4:6) ทั้งนี้ต้องมีการคิดไว้ล่วงหน้าและมีความรักที่แท้จริงต่อเพื่อนบ้าน. ดังนั้น ให้เราเสนอข่าวราชอาณาจักรไปยังประชาชนโดยมีเมตตาคุณเสมอ.
แสดงความนับถือและ “มีใจเตรียมพร้อมสำหรับการดีทุกอย่าง”
10. (ก) อัครสาวกเปาโลได้ให้คำแนะนำอะไรแก่คริสเตียนที่อยู่ในเกรเต? (ข) พยานพระยะโฮวาได้เป็นตัวอย่างที่ดีโดยวิธีใดในการปฏิบัติตามคำแนะนำของเปาโล?
10 เราไม่สามารถอะลุ้มอล่วยกับหลักการต่าง ๆ แห่งคัมภีร์ไบเบิล. ในเวลาเดียวกัน เราก็ไม่ควรจะถกเถียงกันโดยไม่จำเป็นในประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้องกับความซื่อสัตย์ภักดีของคริสเตียน. อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “จงเตือนเขา [พวกคริสเตียนที่เกาะเกรเต] ให้ได้สติให้มีใจน้อมฟังเจ้าบ้านผ่านเมืองและผู้มีอำนาจ. และให้มีใจพร้อมสำหรับการดีทุกอย่าง, อย่าให้เขาพูดใส่ร้ายแก่คนใดเลย, อย่าให้เป็นคนมักทะเลาะวิวาทกัน, แต่ให้มีใจละมุนละม่อม, สำแดงความสุภาพทุกอย่างแก่คนทั้งปวง.” (ติโต 3:1, 2) นาย อี. เอ็ฟ. สก็อตต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านคัมภีร์ไบเบิลได้เขียนเกี่ยวกับข้อความตอนนี้ว่า “คริสเตียนไม่เพียงแต่ต้องเชื่อฟังผู้มีอำนาจ แต่พวกเขาต้องมีใจพร้อมสำหรับการดีทุกอย่าง. ข้อนี้ . . . หมายความว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ต้องใช้เวลาทำ คริสเตียนควรจะอยู่พร้อมก่อนเพื่อนด้วยน้ำใจที่อยากช่วยเหลือ. อาจมีอัคคีภัย, โรคระบาด พิบัติภัยนานาชนิด ซึ่งพลเมืองทั้งหลายมีน้ำใจอยากช่วยเหลือเพื่อนบ้านของตน.” ตลอดทั่วโลกเหตุร้ายอุบัติขึ้นหลายครั้ง และพยานพระยะโฮวาก็อยู่ในกลุ่มที่พร้อมก่อนเพื่อนในการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์. พยานฯได้ให้การช่วยเหลือไม่เฉพาะแก่พี่น้องร่วมความเชื่อ แต่รวมทั้งคนภายนอกด้วย.
11, 12. (ก) คริสเตียนควรปฏิบัติตนเช่นไรต่อผู้มีอำนาจ? (ข) การยอมอยู่ใต้อำนาจรวมไปถึงอะไรเมื่อเกี่ยวข้องกับการก่อสร้างหอประชุมราชอาณาจักร?
11 ข้อความเดียวกันนี้จากจดหมายที่เปาโลมีไปถึงติโตได้เน้นความสำคัญของการยอมรับทัศนะที่พึงให้ความนับถือต่อผู้มีอำนาจ. เยาวชนคริสเตียนซึ่งเนื่องจากฐานะของเขาที่เป็นกลาง ต้องแสดงตัวต่อผู้พิพากษาจึงควรระมัดระวังตัวเป็นพิเศษที่จะดำเนินการด้วยสติปัญญาต่อบุคคลภายนอก. โดยการปรากฏตัว, อากัปกิริยาและทีท่าอาการที่เขาพูดกับผู้มีอำนาจดังกล่าว เขาสามารถทำได้มากทีเดียวในการกู้หรือทำลายชื่อเสียงไพร่พลของพระยะโฮวา. พวกเขาควร “ให้แก่ทุกคนตามที่เขาควรได้รับ; เกียรติยศควรให้แก่ผู้ใด จงให้เกียรติยศเช่นนั้นแก่ผู้นั้น.”—โรม 13:1-7, ล.ม.; 1 เปโตร 2:17; 3:15.
12 “ผู้มีอำนาจ” หมายรวมเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล. เวลานี้กำลังมีการก่อสร้างหอประชุมราชอาณาจักรมากขึ้นเรื่อย ๆ การติดต่อกับผู้มีอำนาจในท้องที่เหล่านั้นจึงเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้. บ่อยครั้งพวกผู้ปกครองประชาคมประสบอคติ. แต่ก็ได้พบว่า ที่ไหนที่ตัวแทนประชาคมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับเจ้าหน้าที่และร่วมมือกับกรรมาธิการสำนักผังเมือง อคติเช่นนี้ก็อาจหมดไป. บ่อยครั้งเป็นการให้คำพยานที่ดีแก่ผู้คนซึ่งก่อนหน้านั้นไม่ค่อยรู้จักหรือไม่เคยรู้เลยเกี่ยวกับพยานพระยะโฮวาและข่าวสารของพวกเขา.
‘หากจัดได้ จงกระทำตนให้เป็นที่สงบสุขแก่คนทั้งปวง’
13, 14. เปาโลได้ให้คำแนะนำอะไรแก่คริสเตียนในโรม และเราสามารถนำไปใช้ได้อย่างไรเมื่อเรามีส่วนสัมพันธ์กับบุคคลภายนอก?
13 เปาโลได้ให้คำแนะนำแก่คริสเตียนที่อาศัยอยู่ในโรมเมืองนอกรีตดังนี้: “อย่าทำชั่วตอบแทนชั่วแก่ผู้หนึ่งผู้ใดเลย. จงประพฤติตามความชอบธรรมอันเป็นที่นิยมแก่คนทั้งปวง. เหตุการณ์ซึ่งเกี่ยวกับท่านทั้งหลาย, หากท่านจัดได้จงกระทำตนให้เป็นที่สงบสุขแก่คนทั้งปวง. ดูก่อนท่านผู้เป็นที่รักของข้าพเจ้า, อย่าทำการแก้แค้น, แต่จงมอบการนั้นไว้ แล้วแต่พระเจ้าจะลงพระอาชญา ด้วยมีคำเขียนไว้แล้วว่า, องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสว่า “การแก้แค้นนั้นเป็นพนักงานของเรา, เราเองจะตอบแทน. อย่าเลย, แต่ถ้าศัตรูของท่านอยากอาหาร จงให้เขากิน ถ้ากระหายน้ำจงให้เขาดื่ม ด้วยว่าถ้าทำอย่างนั้นจะกองถ่านเพลิงไว้ที่ศีรษะของเขา. อย่าให้ความชั่วมีชัยแก่ตัว, แต่จงระงับความชั่วด้วยความดี.”—โรม 12:17-21.
14 ในความสัมพันธ์กับคนภายนอกนั้น พวกเราฐานะคริสเตียนแท้ประสบผู้ต่อต้านอย่างเลี่ยงไม่พ้น. จากข้อความที่ได้ยกมาไว้ข้างบนนี้ เปาโลชี้ให้เห็นว่าแนวทางแห่งสติปัญญาคือที่จะพยายามเอาชนะการเป็นปรปักษ์กันโดยการกระทำด้วยความกรุณา. เหมือนถ่านไฟที่ร้อนจัด การกระทำด้วยความกรุณาอาจทำให้ความเป็นศัตรูสลายไป และเป็นแรงจูงใจผู้ต่อต้านให้เปลี่ยนท่าทีเป็นคนกรุณากว่าเดิมต่อไพร่พลของพระยะโฮวา บางทีอาจปลุกเร้าเขาให้สนใจต่อข่าวดีก็ได้. เมื่อเหตุการณ์กลับกลายเป็นเช่นนี้ ความดีจึงชนะความชั่ว.
15. ที่จะดำเนินการกับคนภายนอกด้วยใช้สติปัญญานั้น คริสเตียนควรระมัดระวังเป็นพิเศษในโอกาสไหนบ้าง?
15 การดำเนินการด้วยสติปัญญากับคนภายนอกเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครอบครัวที่สามีหรือภรรยายังไม่ได้ยอมรับความจริง. การปฏิบัติตามหลักการต่าง ๆ ของพระคัมภีร์บังเกิดผล ทำให้เป็นสามีที่ดีขึ้น, ภรรยาที่ดีขึ้น, บิดาที่ดีขึ้น, มารดาที่ดีขึ้น, และบุตรที่เชื่อฟังและว่าง่ายกว่าเดิมและเป็นนักเรียนที่ขยันเล่าเรียนมากขึ้น. คนไม่เชื่อพระเจ้าน่าจะสามารถเห็นได้ว่าหลักการของคัมภีร์ไบเบิลมีผลกระทบในทางดีกับผู้มีความเชื่อ. ด้วยเหตุนี้ บางคน “แม้นไม่เอ่ยปาก เขาก็อาจถูกโน้มน้าวโดยการประพฤติ” ของสมาชิกครอบครัวที่ได้อุทิศตัวแล้ว.—1 เปโตร 3:1, 2; ล.ม.
‘การทำดีต่อคนทั้งปวง’
16, 17. (ก) พระเจ้าทรงพอพระทัยกับเครื่องบูชาชนิดใด? (ข) โดยวิธีใดเราควร “กระทำดี” ต่อพวกพี่น้องของเรา และต่อบุคคลภายนอกด้วย?
16 สิ่งดีที่สุดที่เราสามารถทำต่อเพื่อนบ้านของเราคือบอกข่าวที่นำไปสู่ชีวิตแก่เขาและสอนให้เขารู้เรื่องการกลับคืนดีกับพระยะโฮวาโดยทางพระเยซูคริสต์. (โรม 5:8-11) ด้วยเหตุนี้ อัครสาวกสาวกเปาโลจึงกำชับว่า: “โดยพระองค์นั้น [พระคริสต์] จงให้เราถวายคำสรรเสริญแด่พระเจ้าเป็นเครื่องบูชาเสมอ กล่าวคือผลแห่งริมฝีปากที่ประกาศพระนามของพระองค์อย่างเปิดเผย. (เฮ็บราย 13:15, ล.ม.) เปาโลกล่าวเพิ่มเติมว่า “นอกจากนั้น อย่าลืมการทำดีและการแบ่งปันสิ่งต่าง ๆ กับคนอื่น ๆ ด้วยว่าพระเจ้าทรงชอบพระทัยด้วยเครื่องบูชาเช่นนั้น.” (เฮ็บราย 13:16, ล.ม.) นอกเหนือการให้คำพยานอย่างเปิดเผยแล้ว เราไม่ควรลืม “การกระทำดี.” การทำดีเป็นส่วนหนึ่งอันจะแยกออกไม่ได้จากเครื่องบูชาที่พระเจ้าทรงชอบพระทัย.
17 เป็นธรรมดาอยู่เอง เราทำดีต่อพี่น้องฝ่ายวิญญาณผู้ซึ่งอาจต้องการได้รับการช่วยทางอารมณ์, วิญญาณ, ร่างกาย, หรือด้านวัตถุปัจจัย. เปาโลระบุเรื่องนี้เมื่อท่านได้เขียนว่า “ตราบเท่าที่เรามีโอกาสอำนวย ให้เรากระทำดีต่อคนทั้งปวง แต่เฉพาะอย่างยิ่งต่อคนเหล่านั้นที่สัมพันธ์กับเราในความเชื่อ.” (ฆะลาเตีย 6:10, ล.ม; ยาโกโบ 2:15, 16) แต่เราไม่ควรลืมถ้อยค่ำที่ว่า “ให้เรากระทำดีต่อคนทั้งปวง.” การปฏิบัติด้วยความกรุณาต่อญาติ เพื่อนบ้าน หรือต่อผู้ร่วมงานอาจจะเป็นส่วนช่วยลดอคติที่พวกเขาเคยมีต่อเราได้มาก และทำให้เขาเปิดใจรับความจริงก็ได้.
18. (ก) เราพึงหลีกอันตรายอะไร? (ข) เราจะใช้ความดีแบบคริสเตียนของเราโดยวิธีใด เพื่อเป็นการส่งเสริมงานให้คำพยานแก่สาธารณชน?
18 ที่จะกระทำดี เราไม่ถึงกับต้องเป็นเพื่อนสนิทกับคนเหล่านั้นที่อยู่นอกประชาคม. การคบหาเป็นเพื่อนกันแบบนั้นมีอันตรายแฝงอยู่. (1 โกรินโธ 15:33) และเราไม่มีเจตนาจะเป็นเพื่อนกับโลก. (ยาโกโบ 4:4) แต่ความดีแบบคริสเตียนของเรานี้แหละส่งเสริมงานเผยแพร่ของเรา. ในบางประเทศ เป็นสิ่งยากขึ้นทุกทีที่จะสนทนากับผู้คนที่บ้านของเขา. อาคารชุดบางแห่งมีวิธีการป้องกันซึ่งทำให้เราไม่อาจเข้าไปพบกับผู้อยู่อาศัยในบริเวณนั้นได้. ในประเทศที่พัฒนาแล้ว โทรศัพท์จึงเป็นเครื่องมือสื่อสารที่เหมาะสำหรับงานประกาศ. ในประเทศส่วนใหญ่ก็สามารถจะให้คำพยานตามทางสัญจรได้. กระนั้น ในทุกประเทศ การเป็นคนมีใจกรุณา สุภาพ และชอบช่วยเหลือนั้นก่อประโยชน์ทำให้คนเหล่านั้นละอคติ และมีโอกาสให้คำพยานที่ดี.
ทำให้ผู้ที่ต่อต้านเงียบเสียง
19. (ก) เนื่องจากเราไม่ทำเพื่อให้ชอบใจมนุษย์ เราอาจคาดหมายจะประสบอะไร? (ข) เราควรบากบั่นติดตามตัวอย่างของดานิเอลอย่างไร อีกทั้งนำเอาคำแนะนำของเปโตรไปใช้ให้เป็นประโยชน์ด้วย?
19 พยานพระยะโฮวาไม่ใช่คนป้อยอ และไม่ใช่คนกลัวหน้ามนุษย์. (สุภาษิต 29:25; เอเฟโซ 6:6) พวกเขาตระหนักดีว่า ทั้งที่ตนได้อุตส่าห์พยายามเป็นแบบอย่างในการเสียภาษีและเป็นพลเมืองดี ฝ่ายที่เป็นปรปักษ์จะแพร่คำโกหกด้วยประสงค์ร้ายและพูดใส่ร้ายสบประมาทพวกตน. (1 เปโตร 3:16) เพราะรู้เช่นนี้ พวกเขาจึงตั้งใจเลียนแบบดานิเอล ซึ่งพวกศัตรูของท่านได้พูดว่า “เราจะไม่สบโอกาสใส่ร้ายแก่ดานิเอลคนนี้เลย, เว้นแต่เราจะหาเหตุใส่ร้ายเขาในทางศีลของพระเจ้าของเขาเท่านั้น.” (ดานิเอล 6:5) พวกเราจะไม่ยอมอะลุ้มอล่วยหลักการของพระคัมภีร์ด้วยการทำให้มนุษย์ชอบใจ. ในทางกลับกัน พวกเราก็ไม่แสวงการทนทรมาน. พวกเราพยายามดำเนินชีวิตอย่างสงบสุขและเชื่อฟังคำแนะนำของอัครสาวกที่ว่า “เพราะน้ำพระทัยของพระเจ้าเป็นอย่างนี้ คือว่า โดยการกระทำดี ท่านทั้งหลายอาจระงับคำพูดที่โง่เขลาของคนที่ไม่มีเหตุผล.”—1 เปโตร 2:15, ล.ม.
20. (ก) พวกเราเชื่อมั่นในสิ่งใด และพระเยซูทรงให้การหนุนใจพวกเราอย่างไร? (ข) เราจะปฏิบัติกับคนภายนอกด้วยใช้สติปัญญาเช่นนั้นต่อไปโดยวิธีใด?
20 พวกเราเชื่อมั่นว่าฐานะของเราในการแยกตัวจากโลกสอดคล้องกับคัมภีร์ไบเบิลทุกประการ. ประวัติศาสตร์ว่าด้วยเรื่องคริสเตียนศตวรรษแรกก็ได้สนับสนุนข้อนี้. พวกเราได้รับการชูใจโดยคำตรัสของพระเยซูที่ว่า “ในโลกนี้เจ้ามีความทุกข์ลำบาก แต่จงกล้าหาญเถิด! เราชนะโลกแล้ว.” (โยฮัน 16:33, ล.ม.) พวกเราไม่กลัว. “ที่จริง ใครผู้ใดเล่าจะทำความเสียหายแก่ท่านทั้งหลาย หากท่านเป็นคนร้อนรนเพื่อสิ่งที่ดี? แต่ถึงแม้ท่านทั้งหลายจะทนทุกข์เพื่อเห็นแก่ความชอบธรรม ท่านก็เป็นสุข. อย่างไรก็ดี สิ่งที่เขาหวาดกลัวนั้น ท่านทั้งหลายอย่ากลัว ทั้งอย่าร้อนใจ. แต่จงจัดให้พระคริสต์เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้บริสุทธิ์ในหัวใจของท่านทั้งหลาย เตรียมพร้อมเสมอที่จะโต้ตอบต่อหน้าทุกคนซึ่งเรียกเหตุผลจากท่านสำหรับความหวังของท่าน แต่จงทำเช่นนี้พร้อมด้วยอารมณ์อ่อนโยนและความนับถือสุดซึ้ง.” (1 เปโตร 3:13-15, ล.ม.) ขณะที่ประพฤติในแนวทางนี้ เราก็จะปฏิบัติกับคนภายนอกด้วยใช้สติปัญญา.
เพื่อเป็นการทบทวน
▫ เหตุใดคริสเตียนจำต้องปฏิบัติกับคนภายนอกด้วยใช้สติปัญญา?
▫ เหตุใดคริสเตียนแท้ไม่นึกหวังจะเป็นที่รักของโลก กระนั้น พวกเขาควรพยายามทำสิ่งใด?
▫ เราควรมีทัศนะเช่นไรต่อผู้คนในโลก และเพราะเหตุใด?
▫ ทำไมเราควร “กระทำดี” ไม่เฉพาะกับพี่น้องของเรา แต่ต่อบุคคลภายนอกเช่นกัน?
▫ การปฏิบัติกับคนภายนอกด้วยใช้สติปัญญาจะช่วยเราในงานให้คำพยานแก่สาธารณชนอย่างไร?
[รูปภาพหน้า 18]
ภาพซ้าย: คริสเตียนแท้ในฝรั่งเศสช่วยเพื่อนบ้านภายหลังน้ำท่วม
[รูปภาพหน้า 20]
การกระทำของคริสเตียนด้วยความกรุณาสามารถจะทำให้ผู้คนละอคติได้
[รูปภาพหน้า 23]
คริสเตียนควร “พร้อมสำหรับการดีทุกอย่าง”