บทความศึกษา 17
คุณมีค่ามากสำหรับพระยะโฮวา!
“พระยะโฮวาพอใจประชาชนของพระองค์”—สด. 149:4
เพลง 108 ความรักที่มั่นคงของพระเจ้า
ใจความสำคัญa
1. พระยะโฮวาเห็นอะไรในตัวประชาชนของพระองค์?
“พระยะโฮวาพอใจประชาชนของพระองค์” (สด. 149:4) นี่ทำให้เรามีความสุขมากจริง ๆ พระยะโฮวาเห็นสิ่งดี ๆ ในตัวเรา พระองค์เห็นศักยภาพของเราและรู้ว่าเราจะพัฒนาตัวเองไปได้อีกมากแค่ไหน และพระองค์ช่วยให้เราเป็นเพื่อนกับพระองค์ได้ ถ้าเราซื่อสัตย์กับพระองค์เสมอ พระองค์ก็จะอยู่เคียงข้างเราตลอดไป—ยน. 6:44
2. ทำไมบางคนถึงไม่มั่นใจว่าพระยะโฮวารักเขา?
2 บางคนอาจจะบอกว่า ‘ฉันรู้ว่าพระยะโฮวารักผู้รับใช้ของพระองค์ แต่ฉันจะมั่นใจได้ยังไงว่าพระองค์รักฉันจริง ๆ?’ ทำไมบางคนถึงถามแบบนั้น? โอคซาน่าbพี่น้องหญิงที่เจอเรื่องร้าย ๆ ตั้งแต่เด็กบอกว่า “ฉันมีความสุขมากตอนรับบัพติศมาและเริ่มเป็นไพโอเนียร์ แต่พอ 15 ปีผ่านไป ความทรงจำที่ไม่ดีตอนเด็ก ๆ ก็กลับมา แล้วฉันก็เริ่มคิดว่าฉันไม่มีค่าพอที่จะให้พระยะโฮวารัก พระองค์คงไม่รักฉันแล้ว” ไพโอเนียร์ที่ชื่อยูอาก็เจอเรื่องร้าย ๆ ตอนเป็นเด็กเหมือนกัน เธอบอกว่า “ฉันอุทิศชีวิตให้พระยะโฮวาเพราะฉันอยากทำให้พระองค์มีความสุข แต่ฉันรู้สึกว่าพระองค์ไม่มีวันรักฉันได้หรอก”
3. เราจะเรียนอะไรในบทความนี้?
3 คุณอาจจะรู้สึกเหมือนกับพี่น้องหญิง 2 คนที่เราเพิ่งพูดถึงก่อนหน้านี้ คุณรักพระยะโฮวามาก แต่คุณอาจจะสงสัยว่าพระยะโฮวารักคุณจริงหรือเปล่า ทำไมคุณต้องมั่นใจว่าพระยะโฮวารักและเป็นห่วงคุณจริง ๆ? แล้วถ้าเมื่อไหร่ที่คุณคิดว่าพระยะโฮวาไม่รักคุณ อะไรจะช่วยคุณได้? ให้เรามาดูคำตอบด้วยกัน
สงสัยว่าพระยะโฮวารักเราหรือเปล่า
4. ทำไมถึงอันตรายมากถ้าเราสงสัยว่าพระยะโฮวารักเราหรือเปล่า?
4 ความรักมีพลังมาก ถ้าเรามั่นใจว่าพระยะโฮวารักเราและจะช่วยเหลือเราเสมอ เราก็จะอยากรับใช้พระองค์อย่างสุดหัวใจไม่ว่าจะเจอกับปัญหาอะไรก็ตามในชีวิต แต่ถ้าเราสงสัยว่าพระยะโฮวารักและเป็นห่วงเราจริงหรือเปล่า ‘กำลังเรี่ยวแรงของเราก็จะน้อย’ (สภษ. 24:10) และพอเราท้อใจและคิดว่าพระเจ้าไม่รัก เราก็จะถูกซาตานโจมตีได้ง่าย—อฟ. 6:16
5. ผลเป็นยังไงกับพี่น้องบางคนที่สงสัยว่าพระเจ้ารักเขาจริงหรือเปล่า?
5 พี่น้องของเราบางคนมีความเชื่ออ่อนแอลงเพราะไม่มั่นใจว่าพระยะโฮวารักพวกเขาจริงหรือเปล่า ผู้ดูแลคนหนึ่งที่ชื่อเจมส์บอกว่า “ถึงผมจะทำงานในเบเธลและมีความสุขที่ได้รับใช้ในประชาคมภาษาต่างประเทศ แต่ผมก็ไม่มั่นใจว่าพระยะโฮวายอมรับสิ่งที่ผมทำให้พระองค์รึเปล่า ผมถึงกับเริ่มไม่แน่ใจว่าพระยะโฮวาฟังคำอธิษฐานของผมไหม” เอวาที่รับใช้เต็มเวลาก็บอกว่า “ฉันเจอกับตัวเองเลยว่า มันอันตรายมากถ้าเราสงสัยว่าพระยะโฮวารักเรารึเปล่า เพราะมันจะกระทบกับทุกอย่างที่เราทำเพื่อพระองค์ มันทำให้เราไม่มีความสุขและไม่อยากทำอะไรให้พระองค์” ไมเคิลที่เป็นไพโอเนียร์ประจำและผู้ดูแลบอกว่า “ถ้าคุณไม่เชื่อว่าพระเจ้ารักและเป็นห่วงคุณ คุณจะค่อย ๆ ห่างออกไปจากพระองค์”
6. เราต้องทำยังไงถ้าเราเริ่มสงสัยว่าพระเจ้ารักเราจริงหรือเปล่า?
6 ประสบการณ์เหล่านี้ทำให้เห็นว่าความสงสัยแบบนี้อันตรายมากกับความเชื่อของเรา ถ้าอย่างนั้น คุณต้องทำยังไงถ้าความคิดแบบนี้เข้ามาในหัวของคุณ? คุณต้องเลิกคิดเรื่องนั้นทันที และรีบขอพระยะโฮวาช่วยคุณไม่ให้ “กังวล” เรื่องนั้น แต่ให้มี ‘สันติสุขของพระเจ้าที่จะปกป้องหัวใจและความคิดของคุณไว้’ (สด. 139:23; ฟป. 4:6, 7) และขอจำไว้ว่าคุณไม่ได้อยู่คนเดียว พี่น้องคนอื่นก็ต้องสู้กับเรื่องแบบนี้เหมือนกัน ขนาดผู้รับใช้ของพระเจ้าในอดีตก็ยังต้องสู้กับความรู้สึกแบบนี้ด้วย ให้เรามาดูว่าเราจะเรียนอะไรได้จากตัวอย่างของอัครสาวกเปาโล
เราเรียนอะไรได้จากตัวอย่างของอัครสาวกเปาโล?
7. เปาโลต้องเจอปัญหาอะไร?
7 บางครั้งคุณรู้สึกกังวลเพราะมีหน้าที่รับผิดชอบหลายอย่างจนทำไม่ไหวไหม? ถ้าใช่ คุณก็คงรู้สึกเหมือนกับเปาโล เขาไม่ได้เป็นห่วงพี่น้องแค่ประชาคมเดียว แต่เขามี “ความกังวลเกี่ยวกับทุก ๆ ประชาคม” (2 คร. 11:23-28) คุณรู้สึกไม่มีความสุขเพราะมีปัญหาสุขภาพไหม? เปาโลก็ต้องทนกับ ‘หนามในร่างกาย’ ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาสุขภาพที่ทำให้เขาเจ็บปวดมากจนเขาอยากเอามันออกไป (2 คร. 12:7-10) หรือคุณรู้สึกท้อใจไหมเพราะความไม่สมบูรณ์และความอ่อนแอของตัวเอง? เปาโลก็เหมือนกัน เขาบอกว่าเขาเป็นคนที่ “น่าสมเพชจริง ๆ” เพราะเขาต้องสู้กับตัวเองตลอดเพื่อจะทำสิ่งที่ถูกต้อง—รม. 7:21-24
8. อะไรช่วยเปาโลให้รับมือกับปัญหาที่เขาเจอ?
8 ถึงเปาโลจะต้องเจอปัญหาถาโถมและมีเรื่องที่ทำให้เขาท้อใจ เขาก็ยังรับใช้พระยะโฮวาต่อไป อะไรช่วยให้เขาทำอย่างนั้นได้? เปาโลรู้ดีว่าเขามีข้ออ่อนแออะไรบ้าง แต่เขามีความเชื่อที่มั่นคงในค่าไถ่ เขารู้จักคำสัญญาของพระเยซูดีที่บอกว่า “ทุกคนที่แสดงความเชื่อใน [พระเยซู] . . . จะมีชีวิตตลอดไป” (ยน. 3:16; รม. 6:23) และเขาก็อยู่ในกลุ่มคนที่แสดงความเชื่อในค่าไถ่แน่ ๆ เขามั่นใจว่าพระยะโฮวาพร้อมจะให้อภัยคนที่ทำบาปและกลับใจ ถึงแม้บาปของเขาจะร้ายแรงมากแค่ไหนก็ตาม—สด. 86:5
9. เราเรียนอะไรได้จากคำพูดของเปาโลที่กาลาเทีย 2:20?
9 อีกอย่างหนึ่งที่ช่วยเปาโลให้รับใช้พระยะโฮวาต่อ ๆ ไปได้ก็คือ เขาเชื่อในความรักของพระเจ้าที่ให้กับเขาผ่านทางพระเยซูคริสต์ เปาโลบอกว่า “ลูกของพระเจ้า . . . รักผมและสละชีวิตเพื่อผม” (อ่านกาลาเทีย 2:20) เปาโลไม่ได้คิดว่าตัวเองเลวร้ายมากจนพระเจ้ารักเขาไม่ได้ เขาไม่ได้คิดว่า ‘ผมเข้าใจนะว่าทำไมพระยะโฮวารักพี่น้องของผม แต่พระองค์คงไม่มีวันรักผมหรอก’ เปาโลเตือนใจพี่น้องในโรมว่า “พระคริสต์มาตายแทนเราทั้ง ๆ ที่เรายังเป็นคนบาปอยู่” (รม. 5:8) ไม่มีอะไรที่จะมาห้ามไม่ให้พระเจ้ารักเราได้
10. เราเรียนอะไรได้จากโรม 8:38, 39?
10 อ่านโรม 8:38, 39 เปาโลมั่นใจในพลังแห่งความรักของพระเจ้า เขาเขียนว่า ไม่มีอะไรจะมา “ขัดขวางความรักที่พระเจ้าแสดงต่อเรา” ได้ อย่างหนึ่งที่ทำให้เปาโลมั่นใจในเรื่องนี้ก็คือ การที่เขารู้ว่าพระยะโฮวาเคยอดทนกับชาติอิสราเอลมามากแค่ไหน และเขารู้ว่าพระยะโฮวาก็เมตตาเขามากเหมือนกัน เปาโลอาจพูดประมาณนี้ว่า ‘ในเมื่อพระยะโฮวาส่งลูกของพระองค์มาตายเพื่อผม ผมยังต้องสงสัยอีกเหรอว่าพระองค์รักผมรึเปล่า?’—รม. 8:32
11. ถึงเปาโลจะเคยทำผิดอย่างที่บอกไว้ใน 1 ทิโมธี 1:12-15 ทำไมเขาถึงยังมั่นใจว่าพระเจ้ารักเขา?
11 อ่าน 1 ทิโมธี 1:12-15 คงจะมีบางครั้งที่เปาโลรู้สึกแย่มากตอนที่ย้อนกลับไปคิดถึงสิ่งที่เขาเคยทำในอดีต เราไม่แปลกใจเลยที่เขาเรียกตัวเองว่าเป็นคนบาปที่ “เลวที่สุด” ก่อนที่เปาโลจะเรียนความจริง เขาไปเมืองต่าง ๆ เพื่อข่มเหงคริสเตียน เขาถึงกับจับบางคนขังคุก และถึงกับสนับสนุนการสั่งประหารคริสเตียนด้วยซ้ำ (กจ. 26:10, 11) คุณนึกภาพออกไหมว่าเปาโลจะรู้สึกยังไงตอนที่เขาไปเจอกับวัยรุ่นคริสเตียนคนหนึ่งที่พ่อแม่ถูกฆ่าเพราะเขา? เขาคงต้องเสียใจมากกับสิ่งที่เขาทำลงไป แต่เขาก็รู้ว่าเขาย้อนเวลากลับไปเปลี่ยนอะไรไม่ได้ เขาเชื่อว่าพระเยซูตายเพื่อเขา และเขาเขียนด้วยความมั่นใจว่า ที่เขาได้สิทธิพิเศษต่าง ๆ ในการรับใช้ “ก็เพราะความกรุณาที่ยิ่งใหญ่ของพระเจ้า” (1 คร. 15:3, 10) บทเรียนคืออะไร? คุณต้องมั่นใจจริง ๆ ว่าพระเยซูตายเพื่อคุณ และท่านทำให้คุณสามารถมีสายสัมพันธ์ที่อบอุ่นและใกล้ชิดกับพระยะโฮวาได้ (กจ. 3:19) สิ่งที่สำคัญสำหรับพระเจ้าก็คือ สิ่งที่คุณทำตอนนี้และสิ่งที่คุณจะทำในอนาคต ไม่ใช่สิ่งที่คุณเคยทำผิดพลาดในอดีตไม่ว่าตอนนั้นคุณจะเป็นพยานพระยะโฮวาหรือไม่ก็ตาม—อสย. 1:18
12. ข้อคัมภีร์ที่ 1 ยอห์น 3:19, 20 ช่วยเรายังไงเมื่อเรารู้สึกว่าตัวเองไร้ค่าหรือไม่คู่ควรที่ใครจะรัก?
12 เมื่อคุณคิดเกี่ยวกับการที่พระเยซูมาตายเพื่อไถ่บาปให้คุณ คุณอาจจะคิดว่า ‘ฉันไม่ดีพอสำหรับอะไรที่มีค่ามากขนาดนี้หรอก’ ทำไมคุณอาจจะรู้สึกแบบนั้น? เพราะเราทุกคนไม่สมบูรณ์แบบ หัวใจของเราอาจจะหลอกให้คิดว่าเราไม่มีค่าพอและไม่คู่ควรที่ใครจะรัก (อ่าน 1 ยอห์น 3:19, 20) ถ้าเรารู้สึกอย่างนั้น ให้จำไว้ว่า พระเจ้า “รู้จักตัวเราดีกว่าที่เรารู้จักตัวเอง” ถึงเราจะไม่เชื่อว่าพระยะโฮวาจะรักและให้อภัยเรา แต่ยังไงพระองค์ก็จะยังรักและให้อภัยเราอยู่ดี เราต้องทำให้ตัวเองเชื่อว่าพระยะโฮวารักเราอย่างนี้จริง ๆ เพื่อจะทำอย่างนั้น เราต้องศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเป็นประจำ อธิษฐานถึงพระองค์บ่อย ๆ และใช้เวลากับคนที่รับใช้พระองค์ ทำไมการทำสิ่งเหล่านี้ถึงเป็นเรื่องสำคัญมาก?
การศึกษาคัมภีร์ไบเบิล การอธิษฐาน และเพื่อนที่ภักดีจะช่วยเรายังไง?
13. การศึกษาคัมภีร์ไบเบิลช่วยเรายังไง? (ดูกรอบ “คัมภีร์ไบเบิลช่วยพวกเขายังไง?”)
13 ศึกษาคัมภีร์ไบเบิลทุกวัน แล้วคุณจะเข้าใจคุณลักษณะดี ๆ ของพระยะโฮวามากขึ้นเรื่อย ๆ คุณจะสัมผัสได้ถึงความรักที่พระองค์มีให้คุณ ถ้าคุณคิดใคร่ครวญสิ่งที่อ่านในคัมภีร์ไบเบิลทุกวัน คุณก็จะคิดอย่างมีเหตุผลมากขึ้น เพราะคัมภีร์ไบเบิลจะช่วยปรับความคิดและความต้องการที่ไม่ดีของคุณ (2 ทธ. 3:16) ผู้ดูแลที่ชื่อเควินเคยรู้สึกว่าตัวเองไม่ค่อยมีค่า เขาบอกว่า “พอผมอ่านสดุดีบท 103 และคิดใคร่ครวญเกี่ยวกับเรื่องนั้น มันก็ช่วยผมให้ปรับความคิดและเข้าใจว่าพระยะโฮวามองผมยังไงจริง ๆ” เอวาที่พูดถึงก่อนหน้านี้บอกว่า “ทุกคืนฉันจะใช้เวลาคิดว่าพระยะโฮวารู้สึกยังไงและคิดยังไงกับเรื่องต่าง ๆ มันทำให้ฉันสงบใจและมีความเชื่อเข้มแข็งขึ้น”
14. การอธิษฐานช่วยเรายังไง?
14 อธิษฐานบ่อย ๆ (1 ธส. 5:17) เวลาเราอยากจะสนิทกับใครสักคน เราต้องคุยกับเขาบ่อย ๆ และเล่าให้เขาฟังว่าเรารู้สึกยังไง เหมือนกันกับการเป็นเพื่อนกับพระยะโฮวา เราก็ต้องอธิษฐานบอกพระองค์ว่าเราคิดอะไร รู้สึกยังไง หรือกังวลเรื่องอะไร ถ้าเราทำอย่างนั้น เราก็กำลังทำให้เห็นว่าเรามั่นใจในพระองค์และเรารู้ว่าพระองค์รักเรา (สด. 94:17-19; 1 ยน. 5:14, 15) ยูอาที่พูดถึงก่อนหน้านี้บอกว่า “เวลาฉันอธิษฐาน ฉันจะไม่ได้แค่บอกพระยะโฮวาว่าวันนี้ฉันทำอะไรมาบ้าง แต่ฉันจะพยายามบอกความในใจกับพระองค์ บอกให้พระองค์รู้ว่าฉันรู้สึกยังไง พอทำอย่างนี้ ฉันก็เริ่มมองพระยะโฮวาว่าพระองค์เป็นเหมือนกับพ่อที่รักลูกจริง ๆ ไม่ใช่เหมือนกับเจ้านายในบริษัทใหญ่ ๆ”—ดูกรอบ “คุณอ่านหรือยัง?”
15. พระยะโฮวาแสดงยังไงว่าพระองค์สนใจเรา?
15 ใช้เวลากับเพื่อนที่ภักดี พวกเขาเป็นของขวัญที่มาจากพระยะโฮวา (ยก. 1:17) พ่อในสวรรค์ของเราแสดงว่าพระองค์สนใจเราโดยให้เรามีครอบครัวคริสเตียนที่ “รักกันอยู่เสมอ” (สภษ. 17:17) ในจดหมายที่เปาโลเขียนถึงคริสเตียนในเมืองโคโลสี เขาพูดถึงบางคนที่ช่วยเขาว่า “พวกเขานี่แหละที่ให้กำลังใจผมอย่างมาก” (คส. 4:10, 11) แม้แต่พระเยซูก็ยังต้องการความช่วยเหลือจากเพื่อนของท่านซึ่งมีทั้งทูตสวรรค์และมนุษย์ และท่านก็เห็นค่าความช่วยเหลือจากพวกเขาด้วย—ลก. 22:28, 43
16. เพื่อนที่ภักดีช่วยเราให้สนิทกับพระยะโฮวาได้ยังไง?
16 คุณขอความช่วยเหลือจากพี่น้องในประชาคมและยอมให้พวกเขาช่วยคุณไหม? การระบายความในใจกับเพื่อนที่มีความเป็นผู้ใหญ่ไม่ได้ทำให้คุณดูอ่อนแอ แต่การทำอย่างนี้จะช่วยปกป้องคุณ เจมส์ที่พูดถึงก่อนหน้านี้บอกว่า “พอผมได้เป็นเพื่อนกับคนที่มีความเป็นผู้ใหญ่ มันก็ช่วยผมได้มากจริง ๆ เวลาที่ผมรู้สึกแย่และคิดลบ พวกเขาก็ตั้งใจฟังผมอย่างอดทนและบอกผมให้รู้ว่าพวกเขารักผมมากแค่ไหน พวกเขาทำให้ผมรู้สึกได้ว่าพระยะโฮวารักและเป็นห่วงผมมาก” เราเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญจริง ๆ ที่เราจะสนิทกับพี่น้องของเรา
เป็นที่รักของพระยะโฮวาเสมอ
17-18. เราต้องฟังใคร? และทำไม?
17 ซาตานอยากให้เรายอมแพ้และเลิกทำสิ่งที่ถูกต้อง มันอยากให้เราเชื่อว่าพระยะโฮวาไม่รักเราหรอกและให้เราคิดว่าเราคงไม่ดีพอที่พระองค์จะช่วย แต่อย่างที่เราเห็นในบทความนี้ มันไม่จริงเลยซักนิด
18 พระยะโฮวารักคุณ คุณมีค่ามากในสายตาของพระองค์ ถ้าคุณเชื่อฟังพระองค์ คุณก็จะ “เป็นที่รักของพระองค์” ตลอดไปเหมือนกับพระเยซู (ยน. 15:10) อย่าไปฟังซาตาน อย่าไปฟังสิ่งที่หัวใจคุณบอกว่าคุณไม่ดีพอสำหรับพระยะโฮวา แต่ขอให้คุณฟังพระยะโฮวาพระเจ้าที่มองเห็นสิ่งดีในตัวเราแต่ละคน ขอให้มั่นใจว่าพระยะโฮวา “พอใจประชาชนของพระองค์” ซึ่งนั่นหมายถึงคุณด้วย!
เพลง 141 ชีวิตเป็นสิ่งมหัศจรรย์
a พี่น้องของเราบางคนไม่มั่นใจว่าพระยะโฮวารักเขาจริง ๆ ไหม ในบทความนี้เราจะมาดูว่าทำไมเราถึงมั่นใจได้ว่าพระยะโฮวารักเราแต่ละคน และถ้าเรายังสงสัยว่าพระยะโฮวารักเราหรือเปล่าเราต้องทำยังไง
b บางชื่อเป็นชื่อสมมุติ
c คำอธิบายภาพ ก่อนที่เปาโลจะเรียนความจริง เขาสั่งให้จับคริสเตียนหลายคนไปขังคุก แต่พอเขายอมรับสิ่งที่พระเยซูทำเพื่อเขา เขาก็เปลี่ยนแปลงตัวเองและให้กำลังใจพี่น้องคริสเตียนคนอื่น ๆ ซึ่งบางคนอาจจะเป็นญาติของคนที่เขาเคยข่มเหงก็ได้