‘พระบัญญัติเป็นพี่เลี้ยงของเรา’
มีเด็กสักกี่คนหยั่งรู้คุณค่าของกฎระเบียบและการตีสอน? มีไม่มาก. สำหรับเด็ก ๆ แล้ว การมีข้อจำกัดเป็นเรื่องน่าเบื่อ. อย่างไรก็ดี คนที่มีความรับผิดชอบในการช่วยเหลือเด็ก ๆ รู้ว่าการควบคุมดูแลอย่างดีนั้นเป็นสิ่งจำเป็นยิ่ง. และเมื่อพวกเขาโตขึ้น เด็กส่วนใหญ่ดูเหมือนจะสำนึกรู้คุณค่าของการชี้นำที่ได้รับ. อัครสาวกเปาโลได้ใช้ตัวอย่างคนที่ได้ปกปักรักษาเด็กเป็นภาพแสดงถึงแง่มุมหนึ่งแห่งสัมพันธภาพระหว่างพระยะโฮวากับประชาชนของพระองค์ที่ค่อย ๆ พัฒนาขึ้น.
คริสเตียนในศตวรรษแรกบางคนที่อยู่ในแคว้นกาลาเทียของโรมยืนกรานว่าพระเจ้าทรงโปรดปรานเฉพาะแต่คนที่เชื่อฟังพระบัญญัติซึ่งพระเจ้าได้ประทานให้แก่ชาติอิสราเอลผ่านทางโมเซเท่านั้น. อัครสาวกเปาโลรู้ว่าการคิดเช่นนี้ไม่ถูกต้อง เพราะพระเจ้าได้ประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์แก่บางคนซึ่งไม่เคยถือบัญญัติของยิวเลย. (กิจการ 15:12) ดังนั้น เปาโลจึงได้แก้ไขความคิดผิด ๆ โดยใช้ตัวอย่างเปรียบเทียบ. ในจดหมายที่มีไปยังคริสเตียนที่กาลาเทีย ท่านเขียนว่า “พระบัญญัติจึงเป็นพี่เลี้ยงที่พาเราไปถึงพระคริสต์.” (กาลาเทีย 3:24) ผู้คงแก่เรียนคนหนึ่งกล่าวว่า หน้าที่ของพี่เลี้ยง “มีความเป็นมาอันยาวนานและสำคัญมาก.” การเข้าใจภูมิหลังนี้ช่วยเราให้เข้าถึงจุดที่เปาโลกำลังยกขึ้นมา.
พี่เลี้ยงและหน้าที่รับผิดชอบ
ในครอบครัวที่มีอันจะกินชาวกรีก, โรมัน, และกระทั่งครอบครัวของชาวยิวเองด้วยซ้ำไป มีการใช้พี่เลี้ยงอย่างแพร่หลายเพื่อดูแลเรื่องที่เกี่ยวกับเด็กจากทารกจนกระทั่งย่างเข้าสู่วัยหนุ่มสาว. โดยทั่วไป พี่เลี้ยงเป็นทาสที่ได้รับความไว้วางใจ มักเป็นคนมีอายุซึ่งจะทำหน้าที่คนรับใช้เพื่อคอยดูให้แน่ใจเรื่องความปลอดภัยของเด็กและดูว่าสิ่งที่บิดาประสงค์ต่อเด็กได้รับการสนองตอบ. พี่เลี้ยงจะอยู่กับเด็กตลอดทั้งวัน ไม่ว่าเด็กจะไปที่ไหน, ดูเรื่องสุขอนามัย, พาไปโรงเรียน, รวมถึงการถือหนังสือและอุปกรณ์อื่น ๆ ให้ และคอยดูแลเรื่องการเรียน.
ตามปกติ พี่เลี้ยงไม่ได้เป็นครู. เขาเพียงแต่จัดการดูแลตามการชี้แนะของบิดาในแง่ของการปกปักคุ้มครอง แทนที่จะเป็นครูที่สอนวิชาความรู้ต่าง ๆ. กระนั้น เขาให้การอบรมทางอ้อมโดยการดูแลและการใช้ระเบียบวินัย. สิ่งนี้รวมถึงการสอนมารยาท, การว่ากล่าวตักเตือน, และแม้แต่การตีจริง ๆ เมื่อกระทำผิดด้วยซ้ำ. จริงอยู่ หน้าที่หลักในการสอนเด็กอยู่ที่บิดามารดา. กระนั้น ขณะเมื่อเด็กโตขึ้น พี่เลี้ยงสอนเขาว่าควรเดินอย่างสง่างามตามหนทาง, ควรใส่เสื้อคลุม, นั่ง, และรับประทานอาหารอย่างมีมารยาท, และควรลุกขึ้นให้ความเคารพผู้ใหญ่, ควรให้ความรักต่อบิดามารดา และอื่น ๆ.
เพลโตนักปรัชญาชาวกรีก (428-348 ก่อนสากลศักราช) รู้ซึ้งว่าอารมณ์ของเด็กต้องได้รับการควบคุม. เขาเขียนว่า “แกะหรือสัตว์กินหญ้ายังต้องมีคนเลี้ยงฉันใด เด็กก็ต้องมีพี่เลี้ยง และทาสก็ต้องมีนายฉันนั้น.” ทัศนะนี้อาจดูสุดโต่ง กระนั้น คำกล่าวนี้ก็เห็นได้ว่าเพลโตคิดอย่างไร.
การที่อยู่กับเด็กตลอดเวลาจึงทำให้พี่เลี้ยงได้ชื่อว่าเป็นผู้คุ้มครองที่ใจร้ายและผู้คุมกฎเจ้าระเบียบ, ที่มาของความจุกจิกจู้จี้, ความน่าเบื่อและการบ่นว่าไม่รู้จบ. แม้จะได้ชื่อเช่นนั้น พี่เลี้ยงก็ให้การปกปักรักษา ทั้งทางศีลธรรมและทางร่างกาย. แอปเปียนนักประวัติศาสตร์ชาวกรีกซึ่งมีชีวิตในศตวรรษที่สองสากลศักราชกล่าวถึงเรื่องพี่เลี้ยงคนหนึ่งซึ่งระหว่างเดินทางไปโรงเรียน เขาได้ใช้แขนโอบกอดเด็กในการดูแลเอาไว้เพื่อปกป้องจากคนที่จะมาฆ่า. เมื่อเขาไม่ยอมปล่อยเด็ก ทั้งพี่เลี้ยงและเด็กถูกสังหาร.
สภาพความไร้ศีลธรรมแพร่หลายในโลกสมัยกรีก. เด็ก ๆ โดยเฉพาะเด็กผู้ชาย ต้องได้รับการปกป้องจากคนล่วงละเมิดทางเพศ. ฉะนั้น พี่เลี้ยงจะเข้าร่วมชั้นเรียนของเด็กเพราะมีครูหลายคนที่ไม่อาจไว้ใจได้. ลิเบนิอัสนักพูดชาวกรีกซึ่งมีชีวิตในศตวรรษที่สี่ ส.ศ. ถึงกับกล่าวว่าพี่เลี้ยงต้องลงมือทำเยี่ยง “ผู้ปกปักรักษาของคนวัยแรกแย้ม,” ที่จะ “กันพวกก้อร่อก้อติก, ผลักไสไล่ส่งพวกนี้, และไม่ยอมให้มาใกล้ชิดกับเด็กผู้ชาย.” พี่เลี้ยงหลายคนได้รับความเคารพนับถือจากคนที่เขาให้การปกป้อง. หินเหนือหลุมศพให้การยืนยันว่าผู้ใหญ่ที่กตัญญูยังคงรู้สึกรักใคร่ต่ออดีตพี่เลี้ยงเมื่อพวกเขาสิ้นชีวิตไป.
พระบัญญัติถูกใช้เป็นพี่เลี้ยง
ทำไมอัครสาวกเปาโลจึงเปรียบเทียบพระบัญญัติของโมเซกับพี่เลี้ยง? อะไรทำให้ตัวอย่างเปรียบเทียบนี้เหมาะสมอย่างยิ่ง?
ประการแรกคือลักษณะแห่งกฎหมายที่มุ่งปกป้อง. เปาโลอธิบายว่าพวกยิว “ถูกกักให้อยู่ใต้พระบัญญัติ.” จึงราวกับว่าพวกเขาอยู่ในการควบคุมอารักขาของพี่เลี้ยง. (กาลาเทีย 3:23) พระบัญญัติมีอิทธิพลต่อแง่มุมทุกอย่างของชีวิต ควบคุมราคะตัณหา. พระบัญญัติควบคุมพฤติกรรมของเขาและตักเตือนเขาเสมอถึงข้อบกพร่องของเขา ช่วยชาวอิสราเอลแต่ละคนให้ตระหนักถึงความไม่สมบูรณ์ของตน.
พระบัญญัติยังให้การปกป้องจากอิทธิพลที่ทำให้เสื่อมทราม เช่น ศีลธรรมและกิจปฏิบัติทางศาสนาที่เสื่อมเสียของชาติต่าง ๆ ที่อยู่ล้อมรอบอิสราเอล. ตัวอย่างเช่น ข้อห้ามของพระเจ้าเรื่องการแต่งงานกับคนนอกรีตสำคัญอย่างยิ่งต่อสวัสดิภาพฝ่ายวิญญาณของทั้งชาติ. (พระบัญญัติ 7:3, 4) กฎหมายดังกล่าวได้ทำให้ประชาชนของพระเจ้าคงความบริสุทธิ์ฝ่ายวิญญาณและได้เตรียมพวกเขาไว้พร้อมต้อนรับพระมาซีฮา. นี่เป็นการจัดเตรียมด้วยความรักอย่างแท้จริง. โมเซได้เตือนใจชาวอิสราเอลเพื่อนร่วมชาติของท่านว่า “บิดาตีสั่งสอนบุตรชายของตนฉันใด, พระยะโฮวาพระเจ้าของเจ้าก็ได้ตีสั่งสอนเจ้าทั้งหลายฉันนั้น.—พระบัญญัติ 8:5.
อย่างไรก็ดี จุดสำคัญในตัวอย่างเปรียบเทียบของอัครสาวกเปาโลคือลักษณะเฉพาะกาลในอำนาจหน้าที่ของพี่เลี้ยง. เมื่อเด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เขาก็ไม่ได้อยู่ใต้การควบคุมของพี่เลี้ยงอีกแล้ว. เซโนโฟนนักประวัติศาสตร์ชาวกรีก (431-352 ก่อน ส.ศ) ได้เขียนว่า “เมื่อพ้นวัยเด็กและเริ่มเป็นหนุ่ม บิดามารดาก็ให้เขาละจาก [พี่เลี้ยง] และ [ครู] เขาไม่ได้อยู่ใต้การกำกับของคนเหล่านั้นอีกต่อไป แต่ได้รับอนุญาตให้เลือกทางชีวิตเอง.”
เป็นเช่นนั้นกับขอบเขตแห่งอำนาจของพระบัญญัติของโมเซ. วัตถุประสงค์ของพระบัญญัตินั้นเป็นแบบเฉพาะกาล—“เพื่อทำให้การละเมิดปรากฏชัดจนกว่าผู้สืบเชื้อสาย [พระเยซูคริสต์] ที่ได้รับคำสัญญานั้นจะมา.” อัครสาวกเปาโลได้อธิบายว่าสำหรับพวกยิวแล้ว พระบัญญัติเป็น “พี่เลี้ยงที่พาเราไปถึงพระคริสต์.” เพื่อชาวยิวร่วมสมัยกับเปาโลจะได้รับความโปรดปรานจากพระเจ้า พวกเขาต้องยอมรับบทบาทของพระเยซูตามพระประสงค์ของพระเจ้า. ครั้นเมื่อพวกเขายอมรับแล้ว วัตถุประสงค์ของพี่เลี้ยงก็สิ้นสุดลง.—กาลาเทีย 3:19, 24, 25.
พระบัญญัติที่พระเจ้าได้ประทานให้แก่ชาติอิสราเอลนั้นไม่มีข้อบกพร่อง. พระบัญญัตินั้นบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่พระเจ้าทรงกำหนดไว้อย่างครบถ้วน—คือปกปักรักษาประชาชนของพระองค์และทำให้พวกเขาตระหนักถึงมาตรฐานอันสูงส่งของพระองค์. (โรม 7:7-14) พระบัญญัติเป็นพี่เลี้ยงที่ดี. อย่างไรก็ตาม บางคนซึ่งอยู่ภายใต้การปกป้องของพระบัญญัติอาจรู้สึกว่าข้อเรียกร้องเป็นภาระหนัก. โดยเหตุนี้ เปาโลจึงเขียนได้ว่าเมื่อเวลากำหนดของพระเจ้ามาถึง “พระคริสต์ทรงซื้อเราให้พ้นคำแช่งสาปในพระบัญญัติ.” พระบัญญัติเป็น “คำแช่งสาป” เฉพาะในแง่ที่ว่าทำให้ชาวยิวที่ไม่สมบูรณ์ต้องอยู่ใต้มาตรฐานที่พวกเขาไม่อาจบรรลุได้อย่างครบถ้วน. พระบัญญัติเรียกร้องให้ทำพิธีกรรมต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด. ครั้นคนยิวใด ๆ ได้รับเอาเครื่องบูชาไถ่ของพระเยซูอันเป็นการจัดเตรียมที่เหนือกว่า การยึดติดอยู่กับคำสั่งห้ามโดยทางพี่เลี้ยงก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป.—กาลาเทีย 3:13; 4:9, 10.
ด้วยเหตุนี้ จุดมุ่งหมายของเปาโลที่เปรียบเทียบพระบัญญัติของโมเซกับพี่เลี้ยงจึงมุ่งเน้นถึงบทบาทหน้าที่เพื่อการชี้นำและลักษณะเฉพาะกาลของพระบัญญัติ. การได้รับความโปรดปรานจากพระยะโฮวาไม่ได้มาทางการเชื่อฟังพระบัญญัติ แต่มาจากการยอมรับพระเยซูและแสดงความเชื่อในพระองค์.—กาลาเทีย 2:16; 3:11.
[กรอบ/ภาพหน้า 21]
“ผู้ปกครอง” และ “พ่อบ้าน”
นอกจากเขียนเกี่ยวกับพี่เลี้ยง อัครสาวกเปาโลยังใช้ตัวอย่างเปรียบเทียบเกี่ยวกับ “ผู้ปกครอง” และ “พ่อบ้าน” ด้วย. ที่กาลาเทีย 4:1, 2 (ฉบับแปล 2002) อ่านได้ว่า “ตราบใดที่ทายาทยังเป็นเด็กอยู่ เขาก็ไม่ต่างอะไรกับทาสเลย ถึงแม้เขาจะเป็นเจ้าของทรัพย์สมบัติทั้งหมด แต่เขาก็อยู่ใต้บังคับของผู้ปกครองและพ่อบ้าน จนถึงเวลาที่บิดาได้กำหนดไว้.” บทบาทหน้าที่ของ “ผู้ปกครอง” และ “พ่อบ้าน” ต่างไปจากคนเหล่านั้นที่เป็นพี่เลี้ยง ทว่าจุดที่เปาโลต้องการกล่าวถึงนั้นโดยพื้นฐานแล้วเหมือนกัน.
ภายใต้กฎหมายโรมัน มีการแต่งตั้ง “ผู้ปกครอง” โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อลงมือกระทำฐานะผู้คุ้มครองเด็กกำพร้าและดูแลด้านการเงินของเด็กจนกระทั่งเขาเป็นผู้ใหญ่. ฉะนั้น เช่นที่เปาโลกล่าวมา แม้ตามทฤษฎีแล้วเด็กเป็น “เจ้าของ” มรดกของเขา แต่เมื่อเขายังเป็นเด็ก เขาไม่ต่างจากทาสที่ไม่ได้ครอบครองมรดกนั้น.
อีกด้านหนึ่ง “พ่อบ้าน” เป็นตัวแทนในการดูแลเรื่องทรัพย์สินทั้งหมดในบ้าน. ฟลาวิอุส โยเซฟุสนักประวัติศาสตร์ชาวยิวกล่าวว่าเด็กหนุ่มคนหนึ่งชื่อเฮอร์เคนัสได้ขอจดหมายมอบอำนาจจากบิดาให้พ่อบ้านจ่ายเงินแก่เฮอร์เคนัสเพื่อซื้อสิ่งใด ๆ ที่เขาต้องการ.
ดังนั้น คล้ายกันกับการอยู่ใต้อำนาจของพี่เลี้ยง การอยู่ใต้ “ผู้ปกครอง” หรือ “พ่อบ้าน” บ่งความหมายถึงการขาดเสรีภาพขณะที่คนเรายังเป็นเด็กอยู่. มีคนควบคุมชีวิตของเด็กจนกว่าถึงเวลาที่บิดากำหนดไว้.
[ภาพหน้า 19]
ภาพวาดบนแจกันของกรีกสมัยโบราณเป็นภาพพี่เลี้ยงกับไม้เท้าของเขา
[ที่มาของภาพ]
National Archaeological Museum, Athens
[ภาพหน้า 19]
รูปบนถ้วยสมัยศตวรรษที่ห้าก่อน ส.ศ. แสดงถึงพี่เลี้ยง (กับไม้เท้า) กำลังมองดูอยู่ขณะที่เด็กในการดูแลได้รับการสอนเรื่องกาพย์กลอนและดนตรี
[ที่มาของภาพ]
Bildarchiv Preussischer Kulturbesitz/Art Resource, NY