การข่มเหงกระตุ้นให้มีการเพิ่มทวีในเมืองอันติโอเกีย
เมื่อการข่มเหงปะทุขึ้นหลังจากการพลีชีวิตเพื่อความเชื่อของซะเตฟาโน สาวกหลายคนของพระเยซูได้หนีออกจากกรุงยะรูซาเลม. ที่แห่งหนึ่งที่พวกเขาลี้ภัยไปอยู่คือเมืองอันติโอเกียในซุเรีย (ซีเรีย) ซึ่งอยู่ทางเหนือของกรุงยะรูซาเลมขึ้นไปประมาณ 550 กิโลเมตร. (กิจการ 11:19) เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่นั่นต่อจากนั้นจะส่งผลกระทบต่อวิถีแห่งประวัติศาสตร์ทั้งสิ้นของศาสนาคริสเตียน. เพื่อจะเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น นับว่าเป็นประโยชน์ที่จะรู้รายละเอียดบางอย่างเกี่ยวกับเมืองอันติโอเกีย.
ในบรรดาเมืองต่าง ๆ ของจักรวรรดิโรมัน เมืองอันติโอเกียเป็นรองเพียงแค่กรุงโรมและอะเล็กซานเดรียเท่านั้นในด้านขนาด, ความเจริญรุ่งเรืองและความสำคัญ. มหานครของซุเรียแห่งนี้เป็นใหญ่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของลุ่มน้ำเมดิเตอร์เรเนียน. เมืองอันติโอเกีย (ปัจจุบันคือเมืองอันทาเกีย ประเทศตุรกี) ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำโอรอนติส ซึ่งเป็นทางเชื่อมไปถึงท่าเรือเซลูเซีย พีเรียที่ห่างออกไป 32 กิโลเมตร. เมืองนี้ควบคุมเส้นทางการค้าที่สำคัญที่สุดสายหนึ่งระหว่างกรุงโรมและลุ่มน้ำไทกริส-ยูเฟรทิส. ในฐานะเป็นศูนย์กลางทางการค้า เมืองนี้ดำเนินธุรกิจกับทั้งจักรวรรดิและเป็นที่ทำกิจกรรมของผู้คนทุกประเภท ซึ่งนำข่าวความเคลื่อนไหวทางศาสนาจากทุก ๆ ที่ในจักรวรรดิโรมันมาด้วย.
ศาสนาและปรัชญาแบบกรีกเจริญรุ่งเรืองในเมืองอันติโอเกีย. แต่นักประวัติศาสตร์ชื่อแกลนวิลล์ ดาวนีย์ กล่าวว่า “ในสมัยของพระคริสต์ ลัทธิและปรัชญาแบบเก่ากำลังมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นเรื่องความเชื่อส่วนตัว ในขณะที่ผู้คนแสวงหาความพึงพอใจด้านศาสนาเกี่ยวกับปัญหาและความทะเยอทะยานของตนเองอย่างเป็นเอกเทศ.” (ประวัติศาสตร์ของอันติโอเกียแห่งซุเรีย ภาษาอังกฤษ) หลายคนพอใจในคำสอนเรื่องพระเจ้าองค์เดียว, งานเทศกาล, และหลักศีลธรรมต่าง ๆ ของศาสนายูดาย.
มีชุมชนชาวยิวขนาดใหญ่อยู่ในเมืองอันติโอเกียมาตั้งแต่การก่อตั้งเมืองนี้ในปี 300 ก.ส.ศ. มีการกะประมาณว่าชุมชนนั้นมีประชากรอยู่ราว ๆ 20,000 ถึง 60,000 คน ซึ่งมากกว่าร้อยละสิบของประชากรทั้งหมด. นักประวัติศาสตร์ชื่อโยเซฟุสกล่าวว่า ราชวงศ์เซเลอคิดสนับสนุนให้ชาวยิวตั้งถิ่นฐานในเมือง โดยให้พวกเขาได้สิทธิเป็นพลเมืองเต็มขั้น. พอถึงตอนนั้น พระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูก็มีให้อ่านในภาษากรีกแล้ว. นี่กระตุ้นให้เกิดความสนใจในหมู่ผู้ที่เห็นพ้องกับความปรารถนาของชาวยิวเรื่องมาซีฮา. ด้วยเหตุนี้ มีชาวกรีกหลายคนหันมานับถือศาสนายิว. ปัจจัยทั้งหมดเหล่านี้ทำให้เมืองอันติโอเกียเป็นเขตที่อุดมสมบูรณ์สำหรับการทำคนให้เป็นสาวกคริสเตียน.
การให้คำพยานแก่คนต่างชาติ
ผู้ติดตามพระเยซูซึ่งถูกกดขี่ข่มเหงและกระจัดกระจายไปจากกรุงยะรูซาเลมส่วนใหญ่แบ่งปันความเชื่อของตนกับชาวยิวเท่านั้น. อย่างไรก็ตาม ในเมืองอันติโอเกีย สาวกบางคนจากเกาะกุบโร (ไซปรัส) และกุเรเนพูดกับ “พวกกรีก.” (กิจการ 11:20, ฉบับแปลใหม่) แม้ว่าการประกาศแก่ชาวยิวและผู้เปลี่ยนศาสนาที่พูดภาษากรีกเริ่มมาตั้งแต่วันเพนเตคอสเตปี ส.ศ. 33 แต่งานประกาศในเมืองอันติโอเกียดูเหมือนเป็นสิ่งใหม่. การประกาศนี้ไม่ได้มุ่งไปที่พวกยิวเท่านั้น. จริงอยู่ ชาวต่างชาติชื่อโกระเนเลียวและครอบครัวของเขาเข้ามาเป็นสาวกแล้ว. แต่ต้องอาศัยนิมิตมาจากพระยะโฮวาเพื่อจะทำให้อัครสาวกเปโตรเชื่อว่าการประกาศแก่ชาวต่างชาติเป็นสิ่งสมควรทำ.—กิจการ 10:1-48.
ในเมืองที่มีชุมชนชาวยิวเก่าแก่ขนาดใหญ่และไม่มีความเป็นปฏิปักษ์กันมากนักระหว่างชาวยิวกับชาวต่างชาติ คนที่ไม่ใช่ยิวจึงรับคำพยานและตอบรับข่าวดี. เมืองอันติโอเกียดูเหมือนจะมีบรรยากาศที่ดีที่ทำให้เกิดแนวโน้มเช่นนั้น และ ‘คนเป็นอันมากได้เชื่อ.’ (กิจการ 11:21) และเมื่อคนต่างชาติซึ่งเปลี่ยนมานับถือศาสนายิวที่เคยนมัสการเทพเจ้านอกรีตกลายเป็นคริสเตียน พวกเขาก็พร้อมอย่างยิ่งที่จะให้คำพยานแก่ชาวต่างชาติคนอื่น ๆ ซึ่งยังนมัสการเทพเจ้าเหล่านั้นอยู่.
เมื่อได้ยินเรื่องที่เกิดขึ้นในเมืองอันติโอเกีย ประชาคมในกรุงยะรูซาเลมก็ส่งบาระนาบาไปเพื่อตรวจสอบ. การเลือกครั้งนั้นเป็นการฉลาดและแสดงความรัก. ท่านเป็นชาวเกาะกุบโร เช่นเดียวกับคนเหล่านั้นบางคนที่เริ่มประกาศให้แก่คนที่ไม่ใช่ยิว. บาระนาบาคงจะรู้สึกเป็นกันเองในหมู่ชาวต่างชาติในเมืองอันติโอเกีย. ส่วนพวกเขาก็คงจะถือว่าท่านเป็นสมาชิกคนหนึ่งในชุมชนที่อยู่ไม่ไกลกันซึ่งคุ้นเคยกันดี.a ท่านสามารถร่วมความรู้สึกกับการงานที่กำลังดำเนินไป. ดังนั้น “เมื่อบาระนาบามาถึงแล้ว, และได้เห็นพระคุณของพระเจ้าก็ปีติยินดี, จึงได้เตือนบรรดาคนเหล่านั้นให้ปลงใจมั่นคงติดสนิทอยู่กับพระเจ้า” และ “จำนวนคนของพระผู้เป็นเจ้าก็ได้ทวีขึ้นเป็นอันมาก.”—กิจการ 11:22-24.
นักประวัติศาสตร์ดาวนีย์แนะว่า “เหตุผลที่เป็นไปได้ที่ว่าการเผยแพร่ในยุคเริ่มแรกที่เมืองอันติโอเกียประสบความสำเร็จอาจเป็นเพราะในเมืองนี้ พวกมิชชันนารีไม่จำเป็นต้องกลัวพวกยิวที่คลั่งศาสนาเหมือนที่พวกเขาประสบในกรุงยะรูซาเลม; นอกจากนั้น เมืองนี้เป็นเมืองหลวงของซุเรียซึ่งปกครองโดยผู้บัญชาการทหาร และสังคมจึงมีระเบียบมากกว่า และมีโอกาสน้อยกว่าที่ฝูงชนจะก่อความวุ่นวายเหมือนที่เกิดขึ้นในกรุงยะรูซาเลม ที่ซึ่งผู้ปกครองแคว้นยูเดียดูเหมือนไม่สามารถยับยั้งชาวยิวที่คลั่งศาสนาได้ (อย่างน้อยในช่วงนั้น).”
ในสภาพการณ์ที่เอื้ออำนวยเช่นนี้ และมีงานมากที่จะต้องทำ บาระนาบาอาจจะตระหนักว่าท่านต้องการความช่วยเหลือ และท่านคิดถึงสหายของท่าน คือเซาโล. ทำไมต้องเป็นเซาโล หรืออีกชื่อหนึ่งคือเปาโล? ดูเหมือนว่าเนื่องจากเปาโล แม้ว่าไม่ได้เป็นหนึ่งในอัครสาวก 12 คน แต่ก็ได้รับตำแหน่งอัครสาวกไปยังชาติต่าง ๆ. (กิจการ 9:15, 27; โรม 1:5; วิวรณ์ 21:14) ด้วยเหตุนี้ เปาโลจึงเหมาะมากในฐานะเพื่อนร่วมงานประกาศข่าวดีในเมืองของคนต่างชาติเช่นอันติโอเกีย. (ฆะลาเตีย 1:16) ดังนั้น บาระนาบาจึงไปยังเมืองตาระโซเพื่อพบเปาโล แล้วพาท่านมายังเมืองอันติโอเกีย.—กิจการ 11:25, 26; ดูกรอบหน้า 26-27.
ถูกเรียกว่าคริสเตียนโดยการทรงนำของพระเจ้า
ตลอดหนึ่งปีเต็ม บาระนาบาและเซาโล “สอนคนกลุ่มใหญ่ และนับเป็นครั้งแรกในอันติโอเกียที่โดยการทรงนำของพระเจ้าพวกสาวกถูกเรียกว่า คริสเตียน.” ชาวยิวคงไม่ใช่พวกแรกที่เรียกผู้ติดตามของพระเยซูว่าคริสเตียน (ภาษากรีก) หรือพวกมาซีฮา (ภาษาฮีบรู) เพราะพวกเขาปฏิเสธพระเยซูว่าไม่ได้เป็นพระมาซีฮา หรือพระคริสต์ และด้วยเหตุนี้คงจะไม่ยอมรับพระองค์ว่าเป็นพระมาซีฮาทางอ้อมโดยเรียกผู้ติดตามของพระองค์ว่าคริสเตียน. บางคนคิดว่าคนนอกศาสนาอาจตั้งชื่อพวกเขาว่าคริสเตียนแบบล้อเล่นหรือด้วยความเย้ยหยัน. อย่างไรก็ตาม คัมภีร์ไบเบิลแสดงว่าชื่อคริสเตียนมีต้นตอมาจากพระเจ้า.—กิจการ 11:26, ล.ม.
ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก คำกริยาที่ใช้กับชื่อใหม่ ซึ่งโดยทั่วไปมีการแปลว่า “ถูกเรียกว่า” เป็นคำที่มักใช้กับสิ่งเหนือธรรมชาติ, สิ่งศักดิ์สิทธิ์, หรือพระเจ้า. ผู้คงแก่เรียนจึงแปลคำนี้ว่า “กล่าวคำทำนาย,” “ประกาศคำจากพระเจ้า,” หรือ “ให้พระบัญชาหรือคำตักเตือนจากพระเจ้า, สอนมาจากสวรรค์.” เนื่องจากผู้ติดตามของพระเยซูถูกเรียกว่าคริสเตียน “โดยการทรงนำของพระเจ้า” จึงเป็นไปได้ว่าพระยะโฮวาทรงชี้นำให้เซาโลกับบาระนาบาตั้งชื่อนี้.
ชื่อใหม่นี้ใช้กันเรื่อยมา. ไม่อาจเข้าใจผิดอีกต่อไปว่าสาวกของพระเยซูเป็นนิกายหนึ่งของลัทธิยูดาย ซึ่งพวกเขาแตกต่างไปอย่างมาก. พอถึงปี ส.ศ. 58 เจ้าหน้าที่โรมันรู้ดีว่าพวกคริสเตียนคือใคร. (กิจการ 26:28) ตามที่นักประวัติศาสตร์ชื่อทาซิทุสกล่าวไว้ พอถึงปี ส.ศ. 64 ชื่อนี้ถูกใช้กันทั่วไปท่ามกลางประชากรในกรุงโรมด้วย.
พระยะโฮวาทรงใช้เหล่าผู้ซื่อสัตย์ของพระองค์
ข่าวดีเจริญก้าวหน้าอย่างมากในเมืองอันติโอเกีย. โดยได้รับพระพรจากพระยะโฮวาและเนื่องจากความตั้งใจแน่วแน่ของผู้ติดตามพระเยซูที่จะประกาศต่อ ๆ ไป เมืองอันติโอเกียจึงกลายเป็นศูนย์กลางหนึ่งของศาสนาคริสเตียนในศตวรรษแรก. พระเจ้าทรงใช้ประชาคมในเมืองนั้นเป็นฐานในการแพร่กระจายข่าวดีไปยังดินแดนอันห่างไกล. ตัวอย่างเช่น เมืองอันติโอเกียเป็นจุดเริ่มต้นในการเดินทางบุกเบิกเป็นมิชชันนารีแต่ละครั้งของอัครสาวกเปาโล.
ในสมัยปัจจุบัน ความมีใจแรงกล้าและความตั้งใจแน่วแน่แม้เผชิญการต่อต้านทำให้ศาสนาคริสเตียนแท้แพร่กระจายออกไปยิ่งขึ้นเช่นกัน และช่วยให้หลายคนได้ยินข่าวดีและแสดงความหยั่งรู้ค่าต่อข่าวดีนั้น.b ดังนั้น ถ้าคุณประสบการต่อต้านเนื่องจากคุณสนับสนุนการนมัสการบริสุทธิ์ จงจำไว้ว่าพระยะโฮวาทรงมีเหตุผลที่ปล่อยให้เป็นเช่นนั้น. เช่นเดียวกับในศตวรรษแรก ผู้คนในปัจจุบันต้องได้รับโอกาสได้ยินเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าและเข้าข้างราชอาณาจักรนั้น. ความตั้งใจแน่วแน่ของคุณที่จะรับใช้พระยะโฮวาอย่างซื่อสัตย์ต่อ ๆ ไปอาจเป็นสิ่งจำเป็นทีเดียวเพื่อช่วยคนอื่นให้มาได้รับความรู้ถ่องแท้เกี่ยวกับความจริง.
[เชิงอรรถ]
a ในวันที่อากาศปลอดโปร่ง สามารถเห็นเกาะกุบโรได้จากเขาคาซิอุส ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองอันติโอเกีย.
b ดูหอสังเกตการณ์ ฉบับ 1 สิงหาคม 1999 หน้า 9; ตื่นเถิด! ฉบับ 8 พฤษภาคม 1999 หน้า 21-22; หนังสือประจำปีแห่งพยานพระยะโฮวา 1999 หน้า 250-252.
[กรอบ/ภาพหน้า 26, 27]
“ช่วงเวลาที่ขาดหายไป” เกี่ยวกับเซาโล
มีการอ้างถึงเซาโลเป็นครั้งสุดท้ายในพระธรรมกิจการก่อนที่ท่านจะย้ายไปยังเมืองอันติโอเกียในราว ๆ ปี ส.ศ. 45 คือเมื่อแผนการที่จะสังหารท่านในกรุงยะรูซาเลมล้มเหลวและเพื่อนร่วมความเชื่อส่งท่านไปยังเมืองตาระโซ. (กิจการ 9:28-30; 11:25) แต่เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเก้าปีก่อนหน้านั้น คือในราว ๆ ปี ส.ศ. 36. ท่านทำอะไรระหว่างช่วงเวลานี้ ซึ่งมีการเรียกกันว่าช่วงเวลาที่ขาดหายไปเกี่ยวกับเซาโล?
จากกรุงยะรูซาเลม เซาโลไปยังเขตซุเรียและกีลิเกีย (ซิลีเซีย) และประชาคมในยูดายก็ได้ยินว่า “ผู้ที่แต่ก่อนได้ข่มเหงเรา, เดี๋ยวนี้ก็ประกาศความเชื่อนั้นซึ่งแต่ก่อนเขาได้ทำลายเสีย.” (ฆะลาเตีย 1:21-23) รายงานนี้อาจอ้างถึงการงานในเมืองอันติโอเกียที่ทำร่วมกับบาระนาบา แต่แม้กระทั่งก่อนหน้านั้น เซาโลก็ไม่ได้อยู่นิ่งแน่ ๆ. พอถึงปี ส.ศ. 49 มีประชาคมจำนวนหนึ่งอยู่ในซุเรียและกีลิเกีย. มีประชาคมหนึ่งอยู่ในเมืองอันติโอเกีย แต่บางคนคิดว่าประชาคมแห่งอื่น ๆ อาจเป็นผลมาจากการงานของเซาโลระหว่างช่วงที่เรียกกันว่าช่วงเวลาที่ขาดหายของท่าน.—กิจการ 11:26; 15:23, 41.
ผู้คงแก่เรียนบางคนเชื่อว่าเหตุการณ์อันน่าทึ่งในชีวิตของเซาโลอาจอยู่ในช่วงเวลาเดียวกันนี้. ความยากลำบากหลายประการในฐานะ “คนรับใช้ของพระคริสต์” นั้นยากที่จะกำหนดลงไปว่าอยู่ช่วงไหนในชีวิตของท่านฐานะมิชชันนารีถ้าไม่ได้อยู่ในช่วงนี้. (2 โกรินโธ 11:23-27) เมื่อไรที่เซาโลถูกเฆี่ยนห้าครั้ง ครั้งละ 39 ทีโดยพวกยิว? ท่านถูกเฆี่ยนด้วยไม้เรียวสามครั้งที่ไหน? ท่านติดคุก “มาก” ที่ไหน? การจำคุกของท่านในกรุงโรมเกิดขึ้นในเวลาต่อมา. เรามีรายงานเรื่องที่ท่านถูกเฆี่ยนและจำคุกเพียงครั้งเดียว คือในเมืองฟิลิปปอย. แต่ครั้งอื่น ๆ ล่ะ? (กิจการ 16:22, 23) นักเขียนคนหนึ่งคาดว่าในช่วงเวลานี้เซาโล “ให้คำพยานเกี่ยวกับพระคริสต์ในธรรมศาลาในดินแดนต่าง ๆ ที่อยู่กระจัดกระจายด้วยท่าทีที่กระตุ้นให้ถูกข่มเหงทั้งจากผู้มีอำนาจทางศาสนาและในบ้านเมือง.”
เซาโลประสบภัยเรือแตกสี่ครั้ง แต่พระคัมภีร์ให้รายละเอียดเพียงครั้งเดียว ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่ท่านพรรณนาความยากลำบากของท่านเมื่อเขียนไปยังชาวโกรินโธ. (กิจการ 27:27-44) ดังนั้น สามครั้งที่เหลือคงจะเป็นการเดินทางที่เราไม่รู้. เหตุการณ์เหล่านี้เหตุการณ์หนึ่งหรือทั้งหมดอาจอยู่ใน “ช่วงเวลาที่ขาดหาย.”
อีกเหตุการณ์หนึ่งที่ดูเหมือนจะเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้มีพรรณนาที่ 2 โกรินโธ 12:2-5. เซาโลกล่าวว่า ‘สิบสี่ปีมาแล้วข้าพเจ้าได้รู้จักคนหนึ่งผู้เลื่อมใสในพระคริสต์ เขาถูกรับขึ้นไปยังสวรรค์ชั้นที่สาม ขึ้นไปยังเทพอุทยาน, และได้ยินสำเนียงซึ่งจะพูดเป็นคำไม่ได้. และมนุษย์จะบรรยายไม่ได้เลย.’ ดูเหมือนว่า เซาโลพูดถึงตัวท่านเอง. เนื่องจากท่านเขียนจดหมายฉบับนี้ในราว ๆ ปี ส.ศ. 55 ดังนั้น 14 ปีก่อนหน้านั้นก็จะตกในปี ส.ศ. 41 ตอนกลางของ “ช่วงเวลาที่ขาดหาย.”
นิมิตนี้คงจะให้ความหยั่งเห็นเข้าใจพิเศษแก่เซาโลเป็นแน่. เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเพื่อเตรียมท่านให้ “เป็นอัครสาวกไปยังชาติต่าง ๆ” ไหม? (โรม 11:13, ล.ม.) นิมิตนี้ส่งผลกระทบต่อวิธีที่ท่านคิด, เขียน, และพูดในเวลาต่อมาไหม? ช่วงหลายปีระหว่างการเปลี่ยนศาสนาของเปาโลและการเรียกท่านไปยังเมืองอันติโอเกียเป็นการฝึกฝนท่านและทำให้ท่านอาวุโสเพื่อหน้าที่รับผิดชอบในวันข้างหน้าไหม? ไม่ว่าคำตอบสำหรับคำถามเหล่านี้จะเป็นเช่นไร เราแน่ใจได้ว่าเมื่อบาระนาบาเชิญท่านไปช่วยนำหน้างานประกาศในเมืองอันติโอเกีย เซาโลผู้มีใจแรงกล้าก็มีคุณวุฒิเพียบพร้อมเพื่องานมอบหมายนี้แล้ว.—กิจการ 11:19-26.
[แผนที่หน้า 25]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
ซุเรีย
โอรอนติส
อันติโอเกีย
เซลูเซีย
กุบโร
ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
ยะรูซาเลม
[ที่มาของภาพ]
Mountain High Maps® Copyright © 1997 Digital Wisdom, Inc.
[ภาพหน้า 24]
บน: เมืองอันติโอเกียสมัยปัจจุบัน
กลาง: ทิวทัศน์ของเมืองเซลูเซียเมื่อมองไปทางใต้
ล่าง: เขื่อนกั้นคลื่นลมของท่าเรือเซลูเซีย