พระคำของพระยะโฮวามีชีวิต
จุดเด่นจากจดหมายถึงคริสเตียนใน กาลาเทีย, เอเฟโซส์, ฟิลิปปอย, และโกโลซาย
เมื่อได้ยินว่าคริสเตียนบางคนหันเหไปจากการนมัสการบริสุทธิ์เพราะได้รับอิทธิพลจากพวกส่งเสริมลัทธิยูดาย อัครสาวกเปาโลจึงเขียนจดหมายที่มีพลังฉบับหนึ่ง “ถึงประชาคมต่าง ๆ ในแคว้นกาลาเทีย.” (กลา. 1:2) จดหมายฉบับนี้ซึ่งเขียนเวลาใดเวลาหนึ่งในช่วงสากลศักราช 50-52 มีคำแนะนำโดยตรงและคำกระตุ้นเตือนอย่างแรง.
ประมาณสิบปีต่อมา ขณะ “ถูกกักขังเพราะเห็นแก่พระคริสต์เยซู” ในกรุงโรม เปาโลเขียนถึงประชาคมในเอเฟโซส์, ในฟิลิปปอย, และในโกโลซาย เพื่อให้คำแนะนำที่เหมาะสมและหนุนใจพวกเขาด้วยความรัก. (เอเฟ. 3:1) พวกเราในทุกวันนี้สามารถได้รับประโยชน์ด้วยการเอาใจใส่ข่าวสารของคัมภีร์ไบเบิลในหนังสือกาลาเทีย, เอเฟโซส์, ฟิลิปปอย, และโกโลซาย.—ฮีบรู 4:12.
‘ทรงถือว่าเป็นคนชอบธรรม’—โดยวิธีใด?
เนื่องจากพวกส่งเสริมลัทธิยูดายพยายามใช้เล่ห์เหลี่ยมเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของเปาโล ท่านจึงปกป้องฐานะอัครสาวกของท่านโดยกล่าวถึงรายละเอียดบางอย่างเกี่ยวกับประวัติชีวิตของท่านเอง. (กลา. 1:11–2:14) เปาโลหักล้างคำสอนเท็จของคนพวกนั้นโดยชี้ว่า “ที่พระเจ้าทรงถือว่ามนุษย์ชอบธรรมนั้นไม่ใช่เนื่องจากการทำตามพระบัญญัติ แต่เนื่องจากการเชื่อในพระคริสต์เยซูเท่านั้น.”—กลา. 2:16.
เปาโลกล่าวว่าพระคริสต์ “ปลดปล่อยคนที่อยู่ใต้พระบัญญัติด้วยการซื้อ” และช่วยพวกเขาให้เป็นอิสระเพื่อจะมีเสรีภาพที่คริสเตียนมี. ท่านให้คำแนะนำอย่างหนักแน่นแก่พี่น้องชาวกาลาเทียว่า “จงมั่นคง อย่ายอมให้ใครมาทำให้ท่านตกอยู่ใต้แอกแห่งการเป็นทาสอีก.”—กลา. 4:4, 5; 5:1.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อคัมภีร์:
3:16-18, 28, 29—สัญญาที่ทรงทำกับอับราฮามยังใช้ได้อยู่ไหม? ยังใช้ได้. สัญญาแห่งพระบัญญัติเสริมเข้ากับสัญญาที่พระเจ้าทรงทำกับอับราฮาม ไม่ใช่มาแทนที่. ด้วยเหตุนั้น สัญญาที่ทรงทำกับอับราฮามจึงยังคงใช้ได้หลังจากที่พระเยซูทรงยกเลิกพระบัญญัติ. (เอเฟ. 2:15) คำสัญญาของสัญญาที่ทำกับอับราฮามถูกส่งต่อให้แก่ “ผู้สืบเชื้อสาย” แท้ของอับราฮาม คือพระคริสต์เยซู ซึ่งเป็นพงศ์พันธุ์อันดับแรก และแก่คนเหล่านั้นที่ “เป็นคนของพระคริสต์.”
6:2—“บัญญัติของพระคริสต์” คืออะไร? บัญญัตินี้ประกอบด้วยทุกสิ่งที่พระเยซูทรงสอนและบัญชา. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บัญญัตินี้รวมถึงพระบัญชาที่ให้ “รักกัน.”—โย. 13:34.
6:8—เรา “หว่านเพื่อจะได้พระวิญญาณ” อย่างไร? เราทำอย่างนี้โดยดำเนินชีวิตอย่างที่ยอมให้พระวิญญาณของพระเจ้าดำเนินงานในตัวเราอย่างเต็มที่. การหว่านเพื่อจะได้พระวิญญาณหมายรวมถึงการเข้าร่วมอย่างสุดหัวใจในการงานต่าง ๆ ที่ส่งเสริมให้มีการหลั่งไหลของพระวิญญาณ.
บทเรียนสำหรับเรา:
1:6-9. ผู้ปกครองคริสเตียนจำเป็นต้องลงมือแก้ไขทันทีเมื่อเกิดปัญหาขึ้นในประชาคม. โดยใช้การหาเหตุผลประกอบกับพระคัมภีร์ พวกเขาก็จะสามารถหักล้างการหาเหตุผลอย่างผิด ๆ ได้โดยเร็ว.
2:20. ค่าไถ่เป็นของประทานจากพระเจ้าที่ให้เราเป็นส่วนตัว. เราควรเรียนรู้ที่จะมองค่าไถ่อย่างนี้.—โย. 3:16.
5:7-9. การคบหาสมาคมที่ไม่ดีสามารถ ‘ขัดขวางเราไม่ให้เชื่อฟังความจริงต่อ ๆ ไป.’ เราฉลาดถ้าเราหลีกเลี่ยงการคบหาสมาคมที่ไม่ดี.
6:1, 2, 5. คนที่ “เป็นคริสเตียนซึ่งมีคุณสมบัติเหมาะสม” อาจช่วยเราแบกภาระหนัก เช่น ช่วยจัดการกับบางสิ่งที่สร้างปัญหาหรือความลำบากซึ่งเกิดจากการที่เราก้าวพลาดโดยไม่รู้ตัว. แต่ในเรื่องการแบกภาระความรับผิดชอบของเราเองในฐานะคริสเตียน เราต้องทำด้วยตัวเอง.
‘ทรงรวบรวมสิ่งสารพัดไว้ในพระคริสต์’
โดยเน้นอรรถบทเรื่องเอกภาพของคริสเตียนในจดหมายถึงชาวเอเฟโซส์ เปาโลกล่าวถึง “การบริหารงานเมื่อถึงเวลากำหนด . . . เพื่อจะทรงรวบรวมสิ่งสารพัดทั้งในสวรรค์และบนแผ่นดินโลกไว้ในพระคริสต์อีก.” พระคริสต์ทรงให้ “ของประทานในลักษณะมนุษย์” เพื่อช่วยทุกคนให้ “บรรลุความเป็นหนึ่งเดียวในความเชื่อ.”—เอเฟ. 1:10; 4:8, 13.
เพื่อจะถวายเกียรติแด่พระเจ้าและส่งเสริมเอกภาพ คริสเตียนควร “สวมบุคลิกภาพใหม่” และ “ยอมเชื่อฟังกันและกันด้วยความยำเกรงพระคริสต์.” พวกเขาก็จำเป็นต้อง “ยืนหยัดต้านทานกลอุบายของพญามาร” โดยสวมยุทธภัณฑ์ฝ่ายวิญญาณครบชุดด้วย.—เอเฟ. 4:24; 5:21; 6:11.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อคัมภีร์:
1:4-7—คริสเตียนผู้ถูกเจิมถูกเลือกไว้ล่วงหน้านานก่อนพวกเขาเกิดอย่างไร? พวกเขาถูกเลือกไว้ล่วงหน้าในฐานะที่เป็นกลุ่มหรือชนชั้น แต่ไม่ใช่เลือกแต่ละคนไว้ล่วงหน้า. การเลือกดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนที่บาปจะถูกถ่ายทอดไปโดยบิดามารดาคู่แรกเมื่อพวกเขามีบุตรคนแรก. คำพยากรณ์ดังบันทึกที่เยเนซิศ 3:15 ซึ่งประกาศก่อนจะมีมนุษย์ที่ผิดบาปปฏิสนธิ เกี่ยวข้องกับพระประสงค์ของพระเจ้าด้วยที่จะให้สาวกบางคนของพระคริสต์ปกครองกับพระองค์ในสวรรค์.—กลา. 3:16, 29.
2:2—น้ำใจของโลกเป็นเหมือนกับอากาศอย่างไร และมันมีอำนาจเหนือโลกนี้อย่างไร? “น้ำใจของโลก” ซึ่งก็คือน้ำใจไม่ขึ้นกับใครและไม่เชื่อฟัง มีอยู่ทั่วทุกหนแห่งเหมือนกับอากาศที่เราหายใจเข้าไป. (1 โค. 2:12) น้ำใจนี้มีอำนาจเหนือโลกนี้เพราะมันมีอิทธิพลโน้มน้าวที่รุนแรง, ต่อเนื่อง, และไม่ละลด.
2:6—คริสเตียนผู้ถูกเจิมจะอยู่ “ในสวรรค์สถาน” ขณะที่ยังอยู่บนแผ่นดินโลกได้อย่างไร? วลี “สวรรค์สถาน” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงมรดกในสวรรค์ที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้ว่าพวกเขาจะได้รับ. แต่วลีนี้หมายถึงฐานะทางฝ่ายวิญญาณที่สูงส่งของพวกเขา ซึ่งเป็นผลมาจากการที่พวกเขาถูก ‘ประทับตราด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ตามที่ทรงสัญญาไว้.’—เอเฟ. 1:13, 14.
บทเรียนสำหรับเรา:
4:8, 11-15. พระเยซูคริสต์ “ทรงนำเชลยไป” กล่าวคือ นำชายบางคนให้หลุดจากการควบคุมของซาตานเพื่อใช้พวกเขาเป็นของประทานในการเสริมสร้างประชาคมคริสเตียน. เราสามารถ “เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ในทุกด้านด้วยความรักตามอย่าง . . . พระคริสต์” โดยเชื่อฟังและยอมอยู่ใต้อำนาจคนที่นำหน้าในหมู่พวกเราและโดยร่วมมือกับการจัดเตรียมของประชาคม.—ฮีบรู 13:7, 17.
5:22-24, 33. นอกจากยอมอยู่ใต้อำนาจสามีแล้ว ภรรยาต้องนับถือสามีด้วย. เธอทำอย่างนี้โดยแสดงให้เห็นว่ามี “ใจที่สงบเสงี่ยมและอ่อนโยน” และพยายามให้เกียรติเขาด้วยการพูดถึงสามีในทางที่ดีและร่วมมือเพื่อสนับสนุนให้สิ่งที่เขาตัดสินใจทำประสบความสำเร็จ.—1 เป. 3:3, 4; ทิทุส 2:3-5.
5:25, 28, 29. เช่นเดียวกับที่ “เลี้ยงดู” ตัวเขาเอง สามีควรเลี้ยงดูภรรยาอย่างดี ทั้งด้านร่างกาย, ด้านอารมณ์, และฝ่ายวิญญาณ. เขาควรทะนุถนอมเธอด้วยโดยให้เวลามากพอและปฏิบัติต่อเธออย่างอ่อนโยนทั้งในการพูดและการกระทำ.
6:10-13. เพื่อจะยืนหยัดต้านทานการโจมตีของพวกปิศาจ เราจำเป็นต้องสวมยุทธภัณฑ์ฝ่ายวิญญาณครบชุดจากพระเจ้าอย่างสุดหัวใจ.
“ดำเนินต่อไปอย่างมีระเบียบ”
เปาโลเน้นเรื่องความรักในจดหมายถึงคริสเตียนในเมืองฟิลิปปอยทั้งฉบับ. ท่านกล่าวว่า “ข้าพเจ้าเฝ้าอธิษฐานขอให้ท่านทั้งหลายมีความรักมากยิ่ง ๆ ขึ้นพร้อมกับความรู้ถ่องแท้และมีวิจารณญาณที่ดี.” เพื่อช่วยพวกเขาให้หลีกเลี่ยงบ่วงแร้วแห่งการมั่นใจตัวเองมากเกินไป ท่านกระตุ้นดังนี้: “จงบากบั่นทำงานต่อ ๆ ไปด้วยความเกรงกลัวตัวสั่นเพื่อท่านทั้งหลายจะรอด.”—ฟิลิป. 1:9; 2:12.
เปาโลสนับสนุนคนที่เป็นผู้ใหญ่ฝ่ายวิญญาณให้ “มุ่งสู่เป้าหมายเพื่อจะได้รางวัล คือการที่พระเจ้าทรงเรียกให้ไปสวรรค์.” ท่านกล่าวว่า “ไม่ว่าเราก้าวหน้าถึงขั้นไหนแล้วก็ตาม ให้เราดำเนินต่อไปอย่างมีระเบียบตามแบบแผนเดียวกันนี้.”—ฟิลิป. 3:14-16.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อคัมภีร์:
1:23—“สองสิ่ง” ที่ทำให้เปาโลลำบากใจคืออะไร และท่านปรารถนาจะได้รับ “การปลดปล่อย” อะไร? เนื่องจากสถานการณ์ที่ท่านเผชิญอยู่ เปาโลลำบากใจในเรื่องทางเลือกสองทางที่ท่านต้องเลือก คือชีวิตหรือความตาย. (ฟิลิป. 1:21) แม้เปาโลไม่ได้กล่าวว่าท่านจะเลือกอะไร แต่ก็แสดงให้เห็นว่าท่านปรารถนาอะไร ซึ่งก็คือ “การปลดปล่อยและการอยู่กับพระคริสต์.” (ฟิลิป. 3:20, 21; 1 เทส. 4:16) “การปลดปล่อย” นี้ในช่วงที่พระคริสต์ประทับจะยังผลให้เปาโลได้รับบำเหน็จที่พระยะโฮวาได้เตรียมไว้เพื่อท่าน.—มัด. 24:3.
2:12, 13—พระเจ้าทรงทำให้เรา “มีใจประสงค์และลงมือทำ” อย่างไร? พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระยะโฮวาสามารถดำเนินงานในหัวใจและจิตใจเราเพื่อทำให้เรามีความปรารถนามากขึ้นที่จะทำงานรับใช้ของเราให้ดีที่สุด. ด้วยเหตุนั้น เราจึงได้รับความช่วยเหลือขณะที่เรา ‘บากบั่นทำงานต่อ ๆ ไปเพื่อเราจะรอด.’
บทเรียนสำหรับเรา:
1:3-5. แม้ชาวฟิลิปปอยจนด้านวัตถุ แต่พวกเขาวางตัวอย่างที่ดีแก่เราในเรื่องความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อ.—2 โค. 8:1-6.
2:5-11. ดังที่ตัวอย่างของพระเยซูแสดงให้เห็น ความถ่อมไม่ใช่สัญญาณแสดงถึงความอ่อนแอ แต่เป็นความเข้มแข็งด้านศีลธรรม. นอกจากนั้น พระยะโฮวาทรงยกย่องคนที่ถ่อมใจ.—สุภา. 22:4.
3:13. “สิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ข้างหลัง” อาจได้แก่งานอาชีพที่มีรายได้ดี, ความมั่นคงจากการมีครอบครัวที่มั่งคั่ง, หรือแม้แต่บาปร้ายแรงที่เคยทำในอดีตซึ่งเราได้กลับใจและได้รับการ ‘ชำระให้สะอาดแล้ว.’ (1 โค. 6:11) เราควรลืมสิ่งเหล่านี้ไปเสีย คือเลิกเป็นห่วงสนใจสิ่งเหล่านี้ และ “โน้มตัวไปหาสิ่งที่อยู่ข้างหน้า.”
“มีความเชื่อที่มั่นคง”
ในจดหมายถึงคริสเตียนในเมืองโกโลซาย เปาโลเปิดโปงทัศนะที่ผิด ๆ ของพวกครูเท็จ. ท่านชักเหตุผลให้เห็นว่าความรอดไม่ได้ขึ้นอยู่กับข้อเรียกร้องของพระบัญญัติ แต่ขึ้นอยู่กับ ‘การที่ยังมีความเชื่อต่อ ๆ ไป.’ เปาโลสนับสนุนชาวโกโลซายให้ “ดำเนินชีวิตตามอย่าง [พระคริสต์] ต่อ ๆ ไป หยั่งรากและถูกสร้างขึ้นในพระองค์และมีความเชื่อที่มั่นคง.” การมีความเชื่อที่มั่นคงเช่นนั้นน่าจะมีผลต่อพวกเขาอย่างไร?—โกโล. 1:23; 2:6, 7.
เปาโลเขียนว่า “นอกจากนี้ ท่านทั้งหลายจงสวมความรัก เพราะความรักเป็นสิ่งที่ผูกพันผู้คนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างสมบูรณ์. อีกประการหนึ่ง ขอให้สันติสุขของพระคริสต์ควบคุมใจท่านทั้งหลาย.” ท่านอัครสาวกบอกพวกเขาว่า “ท่านทั้งหลายจะทำอะไรก็ตาม จงทำอย่างสุดชีวิตอย่างที่ทำถวายพระยะโฮวา ไม่ใช่อย่างที่ทำให้มนุษย์.” ท่านกล่าวเกี่ยวกับคนที่อยู่ภายนอกประชาคมว่า ‘จงปฏิบัติต่อพวกเขาโดยใช้สติปัญญาต่อ ๆ ไป.’—โกโล. 3:14, 15, 23; 4:5.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อคัมภีร์:
2:8—“สิ่งต่าง ๆ ที่โลกถือว่าสำคัญ” ที่เปาโลเตือนให้ระวังคืออะไร? สิ่งเหล่านี้เป็นองค์ประกอบต่าง ๆ ในโลกของซาตาน—สิ่งพื้นฐานหรือหลักการต่าง ๆ ที่เป็นส่วนประกอบ, ชี้นำ, หรือเป็นแรงกระตุ้นผู้คนในโลก. (1 โย. 2:16) ส่วนหนึ่งขององค์ประกอบเหล่านี้ก็คือปรัชญา, การนิยมวัตถุ, และศาสนาเท็จของโลกนี้.
4:16—เหตุใดจดหมายถึงชาวลาโอดิเคียไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของคัมภีร์ไบเบิล? นั่นอาจเป็นเพราะว่าจดหมายนี้ไม่ได้มีข้อมูลที่จำเป็นสำหรับในทุกวันนี้. หรือจดหมายฉบับนี้อาจมีเนื้อความซ้ำกับจดหมายฉบับอื่น ๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของคัมภีร์ไบเบิล.
บทเรียนสำหรับเรา:
1:2, 20. ค่าไถ่ ซึ่งเป็นการจัดเตรียมอันเปี่ยมด้วยความกรุณาอันใหญ่หลวงของพระเจ้า สามารถช่วยเราขจัดความรู้สึกผิดและทำให้เรามีความสงบใจ.
2:18, 23. “การทำทีถ่อมตัว” เพื่อให้ผู้อื่นประทับใจ โดยอาจปฏิเสธสิ่งฝ่ายวัตถุหรือทรมานกายบ่งชี้ว่าคนนั้นเป็นคน “ทะนงตน . . . ตามแนวคิดของคนบาป.”