พระคริสต์ทรงนำประชาคมของพระองค์
“นี่แน่ะ! เราอยู่กับเจ้าทั้งหลายตลอดไปจนกระทั่งช่วงอวสานแห่งระบบ.”—มัดธาย 28:20, ล.ม.
1, 2. (ก) เมื่อทรงมีพระบัญชาเกี่ยวกับการทำให้คนเป็นสาวก พระเยซูผู้ถูกปลุกให้คืนพระชนม์ทรงสัญญาอะไรกับเหล่าสาวก? (ข) พระเยซูทรงนำประชาคมคริสเตียนยุคแรกอย่างแข็งขันอย่างไร?
ก่อนเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ พระเยซูคริสต์ผู้นำของเราซึ่งถูกปลุกให้คืนพระชนม์ทรงปรากฏแก่เหล่าสาวกและตรัสว่า “อำนาจทั้งสิ้นได้มอบให้กับเราแล้ว ทั้งในสวรรค์และบนแผ่นดินโลก. เหตุฉะนั้น จงไปและทำให้ชนจากทุกชาติเป็นสาวก ให้เขารับบัพติสมาในนามแห่งพระบิดาและพระบุตรและพระวิญญาณบริสุทธิ์ สอนเขาให้ถือรักษาสิ่งสารพัดซึ่งเราได้สั่งพวกเจ้าไว้. และนี่แน่ะ! เราอยู่กับเจ้าทั้งหลายตลอดไปจนกระทั่งช่วงอวสานแห่งระบบ.”—มัดธาย 23:10; 28:18-20, ล.ม.
2 พระเยซูไม่เพียงแต่มอบหมายงานช่วยชีวิตในการทำให้คนเป็นสาวกมากขึ้นแก่เหล่าสาวก แต่ยังทรงสัญญาด้วยว่าจะอยู่กับพวกเขา. ประวัติของคริสเตียนในยุคแรก ดังบันทึกในพระธรรมกิจการ ให้ข้อพิสูจน์ชัดเจนว่าพระคริสต์ทรงใช้อำนาจที่พระองค์ได้รับเพื่อนำประชาคมที่เพิ่งตั้งขึ้น. พระองค์ทรงส่ง “ผู้ช่วย” ที่ทรงสัญญาไว้ คือพระวิญญาณบริสุทธิ์ เพื่อช่วยเหล่าสาวกให้เข้มแข็งและชี้นำความพยายามของพวกเขา. (โยฮัน 16:7; กิจการ 2:4, 33; 13:2-4; 16:6-10) พระเยซูผู้ถูกปลุกให้คืนพระชนม์ทรงใช้เหล่าทูตสวรรค์ในบังคับบัญชาของพระองค์เพื่อสนับสนุนเหล่าสาวก. (กิจการ 5:19; 8:26; 10:3-8, 22; 12:7-11; 27:23, 24; 1 เปโตร 3:22) นอกจากนั้น ผู้นำของเรายังให้การชี้นำแก่ประชาคมโดยจัดให้ผู้ชายที่มีคุณวุฒิรับใช้เป็นคณะกรรมการปกครอง.—กิจการ 1:20, 24-26; 6:1-6; 8:5, 14-17.
3. มีคำถามอะไรที่จะพิจารณากันในบทความนี้?
3 อย่างไรก็ตาม จะว่าอย่างไรสำหรับสมัยของเราซึ่งเป็น “ช่วงอวสานแห่งระบบ”? พระเยซูคริสต์ทรงนำประชาคมคริสเตียนในปัจจุบันอย่างไร? และเราจะแสดงให้เห็นอย่างไรว่าเรายอมรับตำแหน่งผู้นำของพระองค์?
นายมีทาสสัตย์ซื่อ
4. (ก) ใครประกอบกันเป็น “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม”? (ข) นายได้มอบให้ชนจำพวกทาสดูแลอะไร?
4 เมื่อประทานคำพยากรณ์เกี่ยวกับหมายสำคัญของการเสด็จประทับของพระองค์ พระเยซูตรัสว่า “แท้จริง ใครเป็นทาสสัตย์ซื่อและสุขุมซึ่งนายได้แต่งตั้งให้ดูแลคนรับใช้ทั้งหลายของนาย เพื่อให้อาหารแก่พวกเขาในเวลาอันเหมาะ? ทาสผู้นั้นก็เป็นสุขเมื่อนายมาถึงพบเขากำลังกระทำอย่างนั้น. เราบอกท่านทั้งหลายตามจริงว่า นายจะแต่งตั้งเขาให้ดูแลทรัพย์สมบัติทั้งหมดของนาย.” (มัดธาย 24:45-47, ล.ม.) “นาย” ในที่นี้คือผู้นำของเรา คือพระเยซูคริสต์ และพระองค์ทรงแต่งตั้ง “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” หรือคณะคริสเตียนผู้ถูกเจิมบนแผ่นดินโลก ให้ดูแลงานทั้งสิ้นของพระองค์ทางแผ่นดินโลก.
5, 6. (ก) ในนิมิตที่อัครสาวกโยฮันได้รับ “เชิงตะเกียงทองคำเจ็ดคัน” และ “ดวงดาวเจ็ดดวง” เป็นภาพเล็งถึงอะไร? (ข) ข้อเท็จจริงที่ว่า “ดวงดาวเจ็ดดวง” อยู่ในพระหัตถ์เบื้องขวาของพระเยซูบ่งบอกอะไร?
5 พระธรรมวิวรณ์ในคัมภีร์ไบเบิลแสดงให้เห็นว่าทาสสัตย์ซื่อและสุขุมอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของพระเยซูคริสต์โดยตรง. ในนิมิตเกี่ยวกับ “วันขององค์พระผู้เป็นเจ้า” อัครสาวกโยฮันเห็น “เชิงตะเกียงทองคำเจ็ดคัน และท่ามกลางเชิงตะเกียงเหล่านั้นได้เห็นผู้หนึ่งเหมือนกับบุตรของมนุษย์” ซึ่ง “ในพระหัตถ์เบื้องขวาพระองค์ทรงมีดวงดาวเจ็ดดวง.” พระเยซูทรงอธิบายนิมิตนี้แก่โยฮันว่า “ส่วนความลับอันศักดิ์สิทธิ์ของดวงดาวเจ็ดดวงนั้นซึ่งเจ้าได้เห็นบนหัตถ์เบื้องขวาของเรา และของเชิงตะเกียงทองคำเจ็ดคัน: ดวงดาวเจ็ดดวงนั้นหมายถึงเหล่าทูตสวรรค์ของเจ็ดประชาคม และเชิงตะเกียงเจ็ดคันนั้นหมายถึงเจ็ดประชาคม.”—วิวรณ์ 1:1, 10-20, ล.ม.
6 “เชิงตะเกียงทองคำเจ็ดคัน” เป็นภาพเล็งถึงประชาคมคริสเตียนแท้ทั้งหมดที่มีอยู่ใน “วันขององค์พระผู้เป็นเจ้า” ซึ่งเริ่มในปี 1914. แต่จะว่าอย่างไรสำหรับ “ดวงดาวเจ็ดดวง”? ในอันดับแรก ดาวเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์หมายถึงพวกผู้ดูแลที่ได้รับการเจิมและกำเนิดโดยพระวิญญาณซึ่งดูแลประชาคมต่าง ๆ ในศตวรรษแรก.a เหล่าผู้ดูแลอยู่ในพระหัตถ์เบื้องขวาของพระเยซู คืออยู่ภายใต้การควบคุมดูแลและการชี้นำของพระองค์. ถูกแล้ว พระคริสต์เยซูทรงนำชนจำพวกทาสซึ่งประกอบด้วยสมาชิกหลายคน. อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันพวกผู้ดูแลที่ได้รับการเจิมมีจำนวนเพียงเล็กน้อย. พระคริสต์ทรงนำประชาคมต่าง ๆ แห่งพยานพระยะโฮวามากกว่า 93,000 ประชาคมทั่วโลกอย่างไร?
7. (ก) พระเยซูทรงใช้คณะกรรมการปกครองอย่างไรเพื่อนำประชาคมต่าง ๆ ทั่วโลก? (ข) เหตุใดจึงกล่าวได้ว่าคริสเตียนผู้ดูแลได้รับแต่งตั้งโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์?
7 เช่นเดียวกับในศตวรรษแรก ในเวลานี้ชายผู้มีคุณวุฒิกลุ่มเล็ก ๆ จากบรรดาผู้ดูแลซึ่งเป็นผู้ถูกเจิมรับใช้ในฐานะคณะกรรมการปกครอง เป็นตัวแทนของชนจำพวกทาสสัตย์ซื่อและสุขุม. ผู้นำของเราใช้คณะกรรมการปกครองนี้เพื่อแต่งตั้งผู้ชายที่มีคุณวุฒิ ไม่ว่าเป็นผู้ที่ได้รับการเจิมด้วยพระวิญญาณหรือไม่ ให้เป็นผู้ปกครองในประชาคมแต่ละแห่ง. ในเรื่องนี้ พระวิญญาณบริสุทธิ์ซึ่งพระยะโฮวาได้ประทานให้พระเยซูใช้จึงมีบทบาทสำคัญยิ่ง. (กิจการ 2:32, 33) ในประการแรกเลยนั้น ผู้ดูแลเหล่านี้ต้องบรรลุข้อเรียกร้องที่วางไว้ในพระคำของพระเจ้าซึ่งมีขึ้นโดยการดลใจจากพระวิญญาณบริสุทธิ์. (1 ติโมเธียว 3:1-7; ติโต 1:5-9; 2 เปโตร 1:20, 21) มีการเสนอและแต่งตั้งหลังจากที่ได้อธิษฐานและภายใต้การชี้นำของพระวิญญาณบริสุทธิ์. นอกจากนี้ คนที่ได้รับแต่งตั้งให้หลักฐานว่าเขาเกิดผลแห่งพระวิญญาณ. (ฆะลาเตีย 5:22, 23) ดังนั้น คำแนะนำของเปาโลดังต่อไปนี้จึงใช้ได้กับผู้ปกครองทุกคนเหมือนกัน ไม่ว่าเป็นผู้ถูกเจิมหรือไม่ ที่ว่า “จงเอาใจใส่ตัวท่านเองและฝูงแกะทั้งปวงซึ่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ได้แต่งตั้งท่านทั้งหลายเป็นผู้ดูแล.” (กิจการ 20:28, ล.ม.) ชายเหล่านี้ซึ่งได้รับแต่งตั้งรับการชี้นำจากคณะกรรมการปกครองและบำรุงเลี้ยงประชาคมด้วยความเต็มใจ. โดยวิธีนี้ พระคริสต์ทรงอยู่กับเราในขณะนี้และกำลังนำประชาคมอย่างขันแข็ง.
8. พระคริสต์ทรงใช้ทูตสวรรค์เพื่อนำเหล่าสาวกของพระองค์อย่างไร?
8 นอกจากนี้ พระเยซูทรงใช้ทูตสวรรค์จริง ๆ เพื่อนำเหล่าสาวกของพระองค์ในปัจจุบัน. ตามอุทาหรณ์เรื่องข้าวสาลีกับวัชพืช ฤดูเกี่ยวจะมาถึง ณ “ช่วงอวสานของระบบ.” นายจะใช้ใครให้ทำงานเกี่ยว? พระคริสต์ตรัสว่า “ผู้เกี่ยวคือเหล่าทูตสวรรค์.” แล้วพระองค์ตรัสอีกว่า “บุตรมนุษย์จะส่งทูตสวรรค์ของพระองค์ออกไป และทูตเหล่านั้นจะคัดสารพัดสิ่งที่ทำให้สะดุดและคนที่ทำผิดกฎหมายออกจากราชอาณาจักรของพระองค์.” (มัดธาย 13:37-41, ล.ม.) นอกจากนั้น เช่นเดียวกับที่ทูตสวรรค์องค์หนึ่งนำฟิลิปให้ไปพบกับขันทีชาวเอธิโอเปีย มีหลักฐานมากมายในปัจจุบันว่า พระคริสต์ทรงใช้ทูตสวรรค์ของพระองค์ให้ชี้นำงานของคริสเตียนแท้เพื่อจะพบผู้มีหัวใจสุจริต.—กิจการ 8:26, 27; วิวรณ์ 14:6.
9. (ก) พระคริสต์ทรงนำประชาคมคริสเตียนในปัจจุบันโดยวิธีใด? (ข) เราควรพิจารณาคำถามอะไรหากเราต้องการได้รับประโยชน์จากการนำของพระคริสต์?
9 ช่างเป็นเรื่องที่ให้ความมั่นใจสักเพียงไรที่ทราบว่า พระเยซูคริสต์ทรงนำเหล่าสาวกในปัจจุบันโดยทางคณะกรรมการปกครอง, พระวิญญาณบริสุทธิ์, และเหล่าทูตสวรรค์! แม้แต่หากผู้นมัสการพระยะโฮวาบางคนต้องอยู่โดดเดี่ยวห่างไกลชั่วคราวจากคณะกรรมการปกครองเนื่องจากการข่มเหงหรือเหตุผลคล้าย ๆ กัน พระคริสต์จะยังคงนำพวกเขาโดยทางพระวิญญาณบริสุทธิ์และการสนับสนุนของเหล่าทูตสวรรค์. อย่างไรก็ตาม เราจะได้รับประโยชน์จากการนำของพระองค์ก็ต่อเมื่อเรายอมรับการนำนั้น. เราอาจแสดงอย่างไรว่าเรายอมรับการนำของพระคริสต์?
“จงเชื่อฟัง . . . จงอยู่ใต้อำนาจ”
10. เราจะแสดงความนับถือต่อผู้ปกครองในประชาคมซึ่งได้รับแต่งตั้งได้โดยวิธีใด?
10 ผู้นำของเราทรงให้ “ของประทานในลักษณะมนุษย์” แก่ประชาคม “ให้บางคนเป็นผู้เผยแพร่กิตติคุณ ให้บางคนเป็นผู้บำรุงเลี้ยงและผู้สอน.” (เอเฟโซ 4:8, 11, 12, ล.ม.) เจตคติและการกระทำของเราต่อพวกเขาเผยให้เห็นชัดเจนว่าเรายอมรับตำแหน่งผู้นำของพระคริสต์หรือไม่. นับว่าเหมาะแน่นอนที่เราจะ ‘แสดงตัวว่าเราขอบพระคุณ’ สำหรับชายที่มีคุณวุฒิฝ่ายวิญญาณที่พระคริสต์ได้ประทานแก่เรา. (โกโลซาย 3:15, ล.ม.) พวกเขาสมควรได้รับความนับถือจากเราด้วย. อัครสาวกเปาโลเขียนดังนี้: “จงถือว่าผู้เฒ่าผู้แก่ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานอย่างดีนั้นสมควรได้รับเกียรติสองเท่า.” (1 ติโมเธียว 5:17, ล.ม.) เราจะแสดงความหยั่งรู้ค่าและความนับถือต่อผู้เฒ่าผู้แก่ ซึ่งก็คือผู้ปกครองหรือผู้ดูแลในประชาคม ได้โดยวิธีใด? เปาโลให้คำตอบว่า “จงเชื่อฟังคนเหล่านั้นซึ่งนำหน้าในท่ามกลางท่านทั้งหลายและจงอยู่ใต้อำนาจ.” (เฮ็บราย 13:17, ล.ม.) ถูกแล้ว เราควรเชื่อฟังและอยู่ใต้อำนาจพวกเขา.
11. เหตุใดการนับถือต่อการจัดเตรียมในเรื่องผู้ปกครองจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตสมกับการรับบัพติสมาของเรา?
11 องค์ผู้นำของเราทรงสมบูรณ์พร้อม. ชายเหล่านี้ที่พระองค์ทรงให้เป็นของประทานไม่สมบูรณ์. ดังนั้น พวกเขาอาจพลาดพลั้งในบางครั้ง. ถึงกระนั้น สำคัญที่เราจะรักษาความภักดีต่อการจัดเตรียมของพระคริสต์. ที่จริง การที่เราดำเนินชีวิตสมกับการอุทิศตัวและการรับบัพติสมาหมายความว่าเรายอมรับความถูกต้องชอบธรรมของผู้มีอำนาจในประชาคมซึ่งได้รับแต่งตั้งโดยพระวิญญาณ และเต็มใจอยู่ใต้อำนาจคนเหล่านั้น. การที่เรารับบัพติสมา ‘ในนามแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์’ เป็นการประกาศอย่างเปิดเผยว่าเรารู้ว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์คืออะไรและยอมรับบทบาทของพระวิญญาณบริสุทธิ์ในพระประสงค์ของพระยะโฮวา. (มัดธาย 28:19) การรับบัพติสมาเช่นนั้นเป็นการแสดงให้เห็นว่าเราร่วมมือกับพระวิญญาณและหลีกเลี่ยงการทำสิ่งใดก็ตามที่ขัดขวางการดำเนินกิจของพระวิญญาณในท่ามกลางเหล่าสาวกของพระคริสต์. เนื่องจากพระวิญญาณบริสุทธิ์มีบทบาทสำคัญในการเสนอและแต่งตั้งผู้ปกครอง จะถือว่าเราซื่อสัตย์ต่อการอุทิศตัวของเราจริง ๆ ได้ไหมหากเราไม่ให้ความร่วมมือกับการจัดเตรียมในเรื่องผู้ปกครองในประชาคม?
12. ยูดากล่าวถึงตัวอย่างอะไรบ้างเกี่ยวกับการไม่นับถืออำนาจ และตัวอย่างเหล่านี้สอนอะไรแก่เรา?
12 พระคัมภีร์มีตัวอย่างที่สอนเราในเรื่องคุณค่าของการเชื่อฟังและการอยู่ใต้อำนาจ. โดยกล่าวถึงคนที่พูดจาบจ้วงต่อผู้ที่ได้รับแต่งตั้งในประชาคม สาวกยูดาชี้ถึงสามตัวอย่างที่เตือนใจ โดยกล่าวว่า “วิบัติมีแก่เขา ด้วยว่าเขาได้ประพฤติตามอย่างคายิน. และได้พล่านไปตามการผิดของบีละอามเพราะเห็นแก่สินจ้าง, และเขาจึงได้พินาศไปอย่างการกบฏของโครา.” (ยูดา 11) คายินเพิกเฉยต่อคำแนะนำด้วยความรักของพระยะโฮวาและจงใจมุ่งดำเนินในแนวทางแห่งความเกลียดชังซึ่งนำไปสู่การฆ่าคน. (เยเนซิศ 4:4-8) แม้ได้รับคำเตือนครั้งแล้วครั้งเล่าจากพระเจ้า บีละอามพยายามแช่งไพร่พลของพระเจ้าเพราะเห็นแก่อามิสสินจ้าง. (อาฤธโม 22:5-28, 32-34; พระบัญญัติ 23:5) โครามีหน้าที่รับผิดชอบที่ดีของตนเองในชาติอิสราเอล แต่เขารู้สึกไม่จุใจ. เขาปลุกเร้าให้เกิดการขืนอำนาจต่อต้านโมเซผู้รับใช้ของพระเจ้า ซึ่งเป็นคนถ่อมที่สุดบนแผ่นดินโลก. (อาฤธโม 12:3; 16:1-3, 32, 33) ความหายนะบังเกิดแก่คายิน, บีละอาม, และโครา. ตัวอย่างเหล่านี้สอนเราอย่างชัดเจนเพียงไรให้ฟังคำแนะนำของผู้ที่พระยะโฮวาทรงใช้ให้ทำงานในตำแหน่งที่รับผิดชอบและให้ความนับถือพวกเขา!
13. ผู้พยากรณ์ยะซายาบอกล่วงหน้าถึงพระพรอะไรสำหรับคนที่ยอมรับการจัดเตรียมในเรื่องผู้ปกครอง?
13 ใครบ้างไม่ต้องการรับประโยชน์จากการจัดเตรียมอันยิ่งใหญ่เกี่ยวกับการดูแลที่องค์ผู้นำของเราได้ตั้งไว้ในประชาคมคริสเตียน? ผู้พยากรณ์ยะซายาบอกล่วงหน้าถึงผลประโยชน์ของการจัดเตรียมนี้โดยกล่าวว่า “นี่แน่ะ, กษัตริย์จะทรงราชย์ตั้งอยู่ในความชอบธรรม, และเจ้านายพลเมืองจะปกครองด้วยความยุติธรรม. และต่างองค์ต่างจะเป็นที่คุ้มขังบังล้อมพลเมืองมิให้ต้องลม, และเป็นที่คุ้มภัยมิให้ต้องพายุ, เหมือนดังห้วยน้ำลำธารในที่กันดาร, เหมือนดังเงื้อมผาอันใหญ่ในประเทศอันแห้งแล้ง.” (ยะซายา 32:1, 2) ผู้ปกครองแต่ละคนต้องเป็น “ที่” ซึ่งให้การปกป้องและความปลอดภัยเช่นนั้น. แม้ว่าหากการอยู่ใต้อำนาจเป็นเรื่องยากสำหรับเรา ก็ขอให้เราพยายามพร้อมกับการอธิษฐานเพื่อจะเชื่อฟังและอยู่ใต้ผู้มีอำนาจในประชาคมซึ่งพระเจ้าทรงแต่งตั้งไว้.
วิธีที่ผู้ปกครองอยู่ใต้อำนาจตำแหน่งผู้นำของพระคริสต์
14, 15. ผู้ที่นำหน้าในประชาคมแสดงอย่างไรว่าพวกเขาอยู่ใต้อำนาจตำแหน่งผู้นำของพระคริสต์?
14 คริสเตียนทุกคนต้องดำเนินตามการนำของพระคริสต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ปกครอง. ผู้ดูแลหรือผู้ปกครองมีอำนาจระดับหนึ่งในประชาคม. แต่พวกเขาไม่พยายามจะเป็น ‘นายเหนือความเชื่อของเพื่อนร่วมความเชื่อ’ โดยพยายามควบคุมชีวิตของเพื่อนคริสเตียน. (2 โกรินโธ 1:24, ล.ม.) เหล่าผู้ปกครองเอาใจใส่คำตรัสของพระเยซูที่ว่า “ท่านทั้งหลายรู้อยู่ว่าผู้ครอบครองของชาวต่างประเทศย่อมกดขี่บังคับบัญชาเขา. และผู้ใหญ่ทั้งหลายก็เอาอำนาจเข้าข่ม แต่ในพวกท่านหาเป็นอย่างนั้นไม่.” (มัดธาย 20:25-27) ขณะที่ผู้ปกครองทำหน้าที่รับผิดชอบของตนให้สำเร็จ พวกเขาพยายามรับใช้ผู้อื่นอย่างจริงใจ.
15 คริสเตียนได้รับการกระตุ้นดังนี้: “ท่านทั้งหลายจงระลึกถึงคนเหล่านั้นที่ได้เคยปกครองท่าน . . . และจงพิจารณาดูผลแห่งปลายทางแห่งประวัติของเขา, แล้วจงเอาอย่างความเชื่อของเขา.” (เฮ็บราย 13:7) เหตุผลที่คริสเตียนควรเอาอย่างผู้ปกครองไม่ใช่เพราะพวกเขาเป็นผู้นำ. พระเยซูตรัสว่า “ผู้นำของท่านมีแต่ผู้เดียวคือพระคริสต์.” (มัดธาย 23:10, ล.ม.) สิ่งที่ควรเอาอย่างคือความเชื่อของผู้ปกครอง เพราะพวกเขาเป็นผู้เลียนแบบพระคริสต์ ผู้นำที่แท้จริงของเรา. (1 โกรินโธ 11:1) ขอให้พิจารณาแนวทางบางอย่างที่ผู้ปกครองพยายามเลียนแบบพระคริสต์ในด้านความสัมพันธ์ของเขากับคนอื่น ๆ ในประชาคม.
16. แม้ว่าพระเยซูมีอำนาจ พระองค์ทรงปฏิบัติต่อเหล่าสาวกอย่างไร?
16 แม้ว่าพระเยซูทรงมีฐานะสูงกว่ามนุษย์ไม่สมบูรณ์ในทุกทางและได้รับมอบอำนาจที่ไม่มีใครเทียมจากพระบิดา พระองค์ทรงถ่อมตัวในการปฏิบัติต่อเหล่าสาวก. พระองค์ไม่ทำให้ผู้ฟังอึดอัดด้วยการแสดงภูมิเพื่อสร้างความประทับใจ. พระเยซูทรงแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงไวต่อความรู้สึกของเหล่าสาวกและเมตตาพวกเขา คำนึงถึงความจำเป็นของพวกเขาที่เป็นมนุษย์. (มัดธาย 15:32; 26:40, 41; มาระโก 6:31) พระองค์ไม่เคยเรียกร้องมากกว่าที่เหล่าสาวกจะให้ได้ และพระองค์ไม่เคยวางภาระที่หนักเกินพวกเขาจะแบกได้. (โยฮัน 16:12) พระเยซูทรงมี “จิตใจอ่อนโยนและหัวใจถ่อม.” ด้วยเหตุนั้น จึงไม่แปลกที่หลายคนพบว่าพระองค์ทรงเป็นแหล่งที่ให้ความสดชื่น.—มัดธาย 11:28-30, ล.ม.
17. ผู้ปกครองควรแสดงความถ่อมใจเช่นเดียวกับพระคริสต์อย่างไรในความสัมพันธ์ของเขากับคนอื่น ๆ ในประชาคม?
17 หากพระคริสต์ซึ่งเป็นผู้นำแสดงความถ่อม มากยิ่งกว่านั้นสักเท่าใดที่คนซึ่งนำหน้าในประชาคมควรแสดงความถ่อมด้วย! ถูกแล้ว พวกเขาระวังที่จะไม่ใช้อำนาจที่ได้มอบไว้กับพวกเขาอย่างผิด ๆ. และพวกเขา ‘มิได้มาพร้อมด้วยคำพูดเลิศลอยเกินความจริง’ โดยพยายามทำให้ผู้อื่นประทับใจ. (1 โกรินโธ 2:1, 2, ล.ม.) แทนที่จะทำอย่างนั้น พวกเขาพยายามกล่าวคำแห่งความจริงในพระคัมภีร์อย่างเรียบง่ายและจริงใจ. นอกจากนั้น ผู้ปกครองพยายามมีเหตุผลในการคาดหมายจากผู้อื่นและคำนึงถึงความจำเป็นของพวกเขา. (ฟิลิปปอย 4:5) โดยตระหนักว่าทุกคนมีข้อจำกัด พวกเขาคำนึงถึงข้อจำกัดเหล่านี้ด้วยความรักในการปฏิบัติต่อพี่น้อง. (1 เปโตร 4:8) ผู้ปกครองซึ่งมีใจถ่อมและจิตใจอ่อนโยนทำให้รู้สึกสดชื่นอย่างแท้จริงมิใช่หรือ? เป็นอย่างนั้นจริง ๆ.
18. ผู้ปกครองสามารถเรียนรู้อะไรจากวิธีที่พระเยซูทรงปฏิบัติต่อเด็ก ๆ?
18 พระเยซูทรงเป็นผู้ที่เข้าหาได้ง่าย แม้แต่คนที่เป็นผู้น้อย. ขอให้พิจารณาปฏิกิริยาของพระองค์เมื่อเหล่าสาวกดุว่าประชาชนที่ “พาเด็กเล็ก ๆ มาหาพระองค์.” พระเยซูตรัสว่า “จงยอมให้เด็กเล็ก ๆ เข้ามาหาเรา, อย่าห้ามเขาเลย.” จากนั้น “พระองค์ทรงอุ้มเด็กเล็ก ๆ เหล่านั้นวางพระหัตถ์บนเขาและทรงอวยพรให้.” (มาระโก 10:13-16) พระเยซูทรงอบอุ่นและกรุณา และคนอื่น ๆ ต่างถูกดึงดูดให้มาหาพระองค์. ผู้คนไม่กลัวพระเยซู. แม้แต่เด็กก็ยังรู้สึกผ่อนคลายเมื่อพระองค์ทรงอยู่ด้วย. ผู้ปกครองก็เช่นกันเป็นผู้ที่เข้าหาได้ง่าย และเมื่อพวกเขาแสดงความรักอันอบอุ่นและกรุณา คนอื่น ๆ หรือแม้แต่เด็ก ๆ ก็รู้สึกผ่อนคลายเมื่ออยู่กับพวกเขา.
19. การมี “พระทัยของพระคริสต์” เกี่ยวข้องกับอะไร และต้องอาศัยความพยายามเช่นไร?
19 ผู้ปกครองสามารถเลียนแบบพระคริสต์เยซูได้มากขนาดไหนขึ้นอยู่กับว่าพวกเขารู้จักพระองค์ดีเพียงไร. เปาโลถามว่า “ใครเล่าได้รู้จักพระทัยของพระเจ้า, เพื่อจะสอนพระองค์ได้?” แล้วท่านก็กล่าวต่อไปว่า “แต่เรามีพระทัยของพระคริสต์.” (1 โกรินโธ 2:16) การมีพระทัยของพระคริสต์เกี่ยวข้องกับการรู้จักแบบแผนการคิดของพระองค์และรู้จักบุคลิกภาพของพระองค์ในทุกแง่มุม เพื่อเราจะทราบว่าพระองค์คงจะทำเช่นไรในสถานการณ์เฉพาะอย่าง. ขอให้นึกภาพดูเกี่ยวกับการรู้จักองค์ผู้นำของเราอย่างละเอียดถี่ถ้วนอย่างนั้น! ใช่แล้ว เรื่องนี้ต้องอาศัยการให้ความสนใจอย่างแท้จริงต่อเรื่องราวในพระธรรมกิตติคุณและการใส่ความเข้าใจเกี่ยวกับชีวิตและตัวอย่างของพระเยซูไว้ในจิตใจของเราอย่างสม่ำเสมอ. เมื่อผู้ปกครองพยายามติดตามการนำของพระคริสต์ถึงขนาดนั้น พี่น้องที่อยู่ในประชาคมก็มีแนวโน้มมากขึ้นที่จะเลียนแบบความเชื่อของเขา. และผู้ปกครองรู้สึกพอใจยินดีที่เห็นคนอื่น ๆ ติดตามรอยพระบาทของผู้นำด้วยความยินดี.
จงอยู่ใต้การนำของพระคริสต์ต่อ ๆ ไป
20, 21. เมื่อเรามองไปยังโลกใหม่ที่ทรงสัญญาไว้ เราควรตั้งใจแน่วแน่เช่นไร?
20 นับว่าสำคัญที่เราทุกคนจะอยู่ใต้การนำของพระคริสต์ต่อ ๆ ไป. ขณะที่อวสานของระบบนี้ใกล้จะถึง สภาพการณ์ของเราเทียบได้กับสภาพการณ์ของชาวอิสราเอล ณ ที่ราบโมอาบในปี 1473 ก่อนสากลศักราช. พวกเขาอยู่ตรงธรณีประตูของแผ่นดินที่ทรงสัญญาไว้ และพระเจ้าทรงประกาศโดยทางผู้พยากรณ์โมเซว่า “เธอ [ยะโฮซูอะ] ต้องนำคนทั้งปวงเหล่านี้ไปถึงแผ่นดิน ซึ่งพระยะโฮวาได้ทรงปฏิญาณไว้กับปู่ย่าตายายว่า: จะประทานให้แก่เขาเป็นกรรมสิทธิ์.” (พระบัญญัติ 31:7, 8) ยะโฮซูอะได้รับแต่งตั้งเป็นผู้นำ. เพื่อจะเข้าไปในแผ่นดินที่ทรงสัญญาไว้ ชาวอิสราเอลต้องอยู่ใต้อำนาจการนำของยะโฮซูอะ.
21 สำหรับพวกเรา คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “ผู้นำของท่านมีแต่ผู้เดียวคือพระคริสต์.” มีเพียงพระคริสต์ผู้เดียวเท่านั้นที่จะนำเราเข้าสู่โลกใหม่ที่ทรงสัญญาไว้ที่ซึ่งความชอบธรรมจะดำรงอยู่. (2 เปโตร 3:13) ด้วยเหตุนั้น ขอให้เราตั้งใจแน่วแน่จะอยู่ใต้อำนาจการนำของพระองค์ในทุกแง่มุมของชีวิต.
[เชิงอรรถ]
a “ดวงดาว” ในที่นี้ไม่ใช่สัญลักษณ์หมายถึงทูตสวรรค์. พระเยซูคงไม่ได้ใช้มนุษย์ให้บันทึกข้อความเพื่อประโยชน์ของกายวิญญาณที่ไม่ปรากฏแก่ตาเป็นแน่. “ดวงดาว” จึงต้องหมายถึงผู้ดูแลที่เป็นมนุษย์หรือผู้ปกครองในประชาคมต่าง ๆ ซึ่งพระเยซูทรงถือว่าพวกเขาเป็นผู้ส่งข่าว. จำนวนของพวกเขามีเจ็ดดวงแสดงนัยถึงความครบถ้วนตามมาตรฐานของพระเจ้า.
คุณจำได้ไหม?
• พระคริสต์ทรงนำประชาคมยุคแรกอย่างไร?
• พระคริสต์ทรงนำประชาคมในปัจจุบันอย่างไร?
• เหตุใดเราควรอยู่ใต้อำนาจผู้ที่นำหน้าในประชาคม?
• ผู้ปกครองจะแสดงว่าพระคริสต์ทรงเป็นผู้นำของเขาได้โดยวิธีใดบ้าง?
[ภาพหน้า 15]
พระคริสต์ทรงนำประชาคมของพระองค์และทรงมีเหล่าผู้ดูแลอยู่ในพระหัตถ์เบื้องขวาของพระองค์
[ภาพหน้า 16]
“จงเชื่อฟังคนเหล่านั้นซึ่งนำหน้าในท่ามกลางท่านทั้งหลายและจงอยู่ใต้อำนาจ”
[ภาพหน้า 18]
พระเยซูทรงมีความอบอุ่นและเข้าหาได้ง่าย. คริสเตียนผู้ปกครองพยายามเป็นเหมือนพระองค์