“ของประทานในลักษณะมนุษย์” เพื่อดูแลแกะของพระยะโฮวา
“คราวที่พระองค์เสด็จขึ้นเบื้องสูงพระองค์ทรงนำเอาเชลยไป; พระองค์ทรงให้ของประทานในลักษณะมนุษย์.”—เอเฟโซ 4:8, ล.ม.
1. พี่น้องหญิงคริสเตียนคนหนึ่งกล่าวเช่นไรเกี่ยวกับพวกผู้ปกครองในประชาคมของเธอ?
“ขอบคุณมากค่ะที่ดูแลเราเป็นอย่างดี. รอยยิ้ม, ความอบอุ่น, และความเป็นห่วงของพวกคุณออกมาจากใจจริง. พวกคุณอยู่พร้อมจะรับฟังเสมอและยกข้อพระคัมภีร์ซึ่งช่วยเราให้มีกำลังใจขึ้น. ดิฉันอธิษฐานขออย่าให้ตัวเองมองข้ามความสำคัญของพวกคุณ.” พี่น้องหญิงคริสเตียนคนหนึ่งเขียนข้อความดังกล่าวถึงผู้ปกครองในประชาคมของเธอ. เห็นได้ชัดว่าความรักที่เหล่าคริสเตียนผู้บำรุงเลี้ยงที่เอื้ออาทรได้แสดงออกมานั้นจับใจเธอ.—1 เปโตร 5:2, 3.
2, 3. (ก) ตามในยะซายา 32:1, 2 ผู้ปกครองที่เมตตากรุณาดูแลแกะของพระยะโฮวาอย่างไร? (ข) เมื่อไรจึงจะนับได้ว่าผู้ปกครองเป็นของประทาน?
2 ผู้ปกครองเป็นการจัดเตรียมอย่างหนึ่งจากพระยะโฮวาเพื่อดูแลแกะของพระองค์. (ลูกา 12:32; โยฮัน 10:16) พระยะโฮวาทรงรักแกะของพระองค์ ที่จริง ทรงรักมากจนถึงกับได้ซื้อพวกเขาไว้ด้วยพระโลหิตอันมีค่ามากของพระเยซู. จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่พระยะโฮวาทรงพอพระทัยเมื่อผู้ปกครองปฏิบัติต่อฝูงแกะของพระองค์ด้วยความอ่อนละมุน. (กิจการ 20:28, 29) โปรดสังเกตคำพรรณนาเชิงพยากรณ์เกี่ยวกับผู้ปกครองเหล่านี้หรือ “พวกเจ้าชาย”: “แต่ละท่านต้องเป็นเหมือนที่หลบซ่อนให้พ้นลมและที่กำบังจากพายุฝน เหมือนสายธารในประเทศที่แล้งน้ำ เหมือนร่มเงาแห่งหินผาใหญ่ในแดนกันดาร.” (ยะซายา 32:1, 2, ล.ม.) ใช่ พวกเขาต้องปกป้อง, ให้ความสดชื่น, และปลอบโยนแกะของพระองค์. ด้วยเหตุนี้ ผู้ปกครองที่บำรุงเลี้ยงฝูงแกะด้วยความเมตตากรุณาจึงบากบั่นที่จะดำเนินชีวิตตามที่พระเจ้าทรงคาดหมายจากพวกเขา.
3 มีการกล่าวถึงในคัมภีร์ไบเบิลว่าผู้ปกครองเช่นนั้นเป็น “ของประทานในลักษณะมนุษย์.” (เอเฟโซ 4:8, ล.ม.) เมื่อคุณคิดถึงของประทาน (ของขวัญ) คุณคิดถึงบางสิ่งที่สนองความจำเป็นบางอย่างหรือสิ่งที่นำความสุขมาสู่ผู้รับ. ผู้ปกครองอาจนับได้ว่าเป็นของประทานอย่างหนึ่งเมื่อเขาใช้ความสามารถที่ตนมีเพื่อให้ความช่วยเหลือที่จำเป็นและส่งเสริมความสุขของฝูงแกะ. เขาจะทำอย่างนี้ได้โดยวิธีใด? คำตอบซึ่งพบในคำพูดของเปาโลที่เอเฟโซ 4:7-16 ช่วยขยายความให้เห็นความห่วงใยด้วยความรักของพระยะโฮวาต่อแกะของพระองค์ชัดยิ่งขึ้น.
“ของประทานในลักษณะมนุษย์”—จากที่ไหน?
4. ในความสำเร็จเป็นจริงของบทเพลงสรรเสริญ 68:18 พระยะโฮวา “เสด็จขึ้นไปยังที่สูง” ในความหมายใด และใครที่เป็น “ของประทานในลักษณะมนุษย์”?
4 วลี “ของประทานในลักษณะมนุษย์” ที่เปาโลใช้ ยกมาจากคำพูดของกษัตริย์ดาวิดผู้ได้กล่าวถึงพระยะโฮวาว่า “พระองค์ได้เสด็จขึ้นไปยังที่สูง, พระองค์ทรงนำเอาพวกเชลยไป; พระองค์ได้ทรงรับเครื่องบรรณาการแต่มนุษย์ [“ของประทานในลักษณะมนุษย์,” ล.ม.].” (บทเพลงสรรเสริญ 68:18) หลังจากชาวยิศราเอลได้เข้าอยู่ในแผ่นดินแห่งคำสัญญามาได้หลายปี พระยะโฮวา “เสด็จขึ้นไป” ที่ภูเขาซีโอนในความหมายเป็นนัย และทรงตั้งกรุงยะรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรแห่งยิศราเอลโดยมีดาวิดเป็นกษัตริย์. แต่ใครล่ะที่เป็น “ของประทานในลักษณะมนุษย์”? คนเหล่านี้ได้แก่พวกผู้ชายที่ถูกจับตัวเป็นเชลยในระหว่างการพิชิตดินแดน. ต่อมา ได้มีการมอบเชลยเหล่านี้บางคนไว้กับพวกเลวีเพื่อให้ช่วยงานที่พลับพลา.—เอษรา 8:20.
5. (ก) เปาโลชี้อย่างไรว่าบทเพลงสรรเสริญ 68:18 สำเร็จเป็นจริงในประชาคมคริสเตียน? (ข) พระเยซู “เสด็จขึ้นไปยังที่สูง” ในความหมายใด?
5 ในจดหมายของท่านถึงชาวเอเฟโซ เปาโลแสดงให้เห็นว่าคำพูดของท่านผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญสำเร็จเป็นจริงในขอบเขตที่ใหญ่กว่าในประชาคมคริสเตียน. โดยถอดความจากบทเพลงสรรเสริญ 68:18 เปาโลเขียนดังนี้: “บัดนี้เราทุกคนจึงได้รับพระกรุณาอันไม่พึงได้รับตามขนาดที่พระคริสต์ทรงจัดสรรของประทานนั้นให้โดยไม่คิดค่า. ด้วยเหตุนั้นพระองค์จึงตรัสว่า ‘คราวที่พระองค์เสด็จขึ้นเบื้องสูงพระองค์ทรงนำเอาเชลยไป; พระองค์ทรงให้ของประทานในลักษณะมนุษย์.’” (เอเฟโซ 4:7, 8, ล.ม.) ในที่นี้เปาโลใช้เพลงสรรเสริญข้อนี้กับพระเยซูในฐานะตัวแทนของพระเจ้า. พระเยซูทรง “ชนะโลก” ด้วยแนวทางที่ซื่อสัตย์ของพระองค์. (โยฮัน 16:33) นอกจากนี้ พระองค์ทรงมีชัยเหนือความตายและเหนือซาตานด้วยเหตุที่พระเจ้าทรงปลุกพระองค์ให้คืนพระชนม์. (กิจการ 2:24; เฮ็บราย 2:14) ในปีสากลศักราช 33 พระเยซูผู้ได้รับการปลุกให้คืนพระชนม์เสด็จขึ้นไปยัง “ที่สูงลิ่วเหนือฟ้าสวรรค์ทั้งปวง”—สูงกว่าสิ่งมีชีวิตอื่นใดทั้งสิ้นในสวรรค์. (เอเฟโซ 4:9, 10, ล.ม.; ฟิลิปปอย 2:9-11) ในฐานะผู้มีชัย พระเยซูทรงนำเอา “เชลย” ไปจากศัตรู. เป็นเช่นนั้นอย่างไร?
6. เริ่มตั้งแต่วันเพนเตคอสเตปี ส.ศ. 33 พระเยซูผู้เสด็จขึ้นไปทรงเริ่มชิงทรัพย์จากเรือนของซาตานอย่างไร และพระองค์ทรงทำเช่นไรแก่ “เชลย”?
6 เมื่ออยู่บนแผ่นดินโลก พระเยซูทรงแสดงอำนาจของพระองค์เหนือซาตานโดยทรงปลดปล่อยคนที่ตกอยู่ในพันธนาการของพวกผีปิศาจ. การกระทำของพระเยซูนั้นประหนึ่งว่าพระองค์บุกเข้าไปในเรือนของซาตาน มัดมันไว้ แล้วก็ฉวยเอาข้าวของเครื่องใช้ของมันไป. (มัดธาย 12:22-29) คิดดูซิว่า เมื่อทรงถูกปลุกให้คืนพระชนม์และได้รับมอบ ‘ฤทธานุภาพทั้งสิ้นในสวรรค์และบนแผ่นดินโลก’ แล้ว พระเยซูทรงสามารถช่วงชิงทรัพย์ได้มากสักเพียงไร! (มัดธาย 28:18) เริ่มตั้งแต่วันเพนเตคอสเตปี ส.ศ. 33 พระเยซูผู้เสด็จขึ้นไป ในฐานะตัวแทนของพระเจ้า ก็เริ่มชิงทรัพย์จากเรือนของซาตานด้วย ‘การนำเอาพวกเชลยไป’ ซึ่งก็คือผู้คนที่ตกอยู่ในสภาพทาสของบาปและความตายและอยู่ภายใต้การครอบงำของซาตานมานาน. “เชลย” เหล่านี้กลายมาเป็น “ทาสของพระคริสต์ คือกระทำตามชอบพระทัยพระเจ้าด้วยความเต็มใจ.” (เอเฟโซ 6:6, ฉบับแปลใหม่) ที่จริง พระเยซูทรงปลดปล่อยพวกเขาให้หลุดพ้นจากการครอบงำของซาตาน และทรงเป็นตัวแทนของพระยะโฮวาในการประทานพวกเขาแก่ประชาคมให้เป็น “ของประทานในลักษณะมนุษย์.” นึกภาพดูซิว่าซาตานคงต้องโกรธสักเพียงไรที่คนเหล่านี้ถูกชิงไปจากมันต่อหน้าต่อตาโดยที่มันทำอะไรไม่ได้เลย!
7. (ก) “ของประทานในลักษณะมนุษย์” ทำหน้าที่อะไรในประชาคม? (ข) พระยะโฮวาได้ประทานโอกาสอะไรแก่แต่ละคนที่รับใช้ในฐานะผู้ปกครอง?
7 เราพบ “ของประทานในลักษณะมนุษย์” เช่นนั้นไหมในประชาคมปัจจุบัน? เราพบเช่นนั้นจริง ๆ! เราพบพวกเขากำลังรับใช้อยู่ในฐานะผู้ปกครอง ทำงานหนักในฐานะ ‘ผู้เผยแพร่กิตติคุณ, ผู้บำรุงเลี้ยง, และผู้สอน’ ในประชาคมต่าง ๆ แห่งไพร่พลของพระเจ้าทั่วโลกมากกว่า 87,000 แห่ง. (เอเฟโซ 4:11) คงไม่มีอะไรที่ซาตานชอบมากไปกว่าการที่เห็นพวกเขาปฏิบัติต่อฝูงแกะอย่างเลวร้าย. แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่พระเจ้าทรงประทานพวกเขาแก่ประชาคมโดยทางพระคริสต์. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น พระยะโฮวาได้ทรงจัดเตรียมผู้ชายเหล่านี้ไว้เพื่อสวัสดิภาพของประชาคม และพวกเขาต้องให้การต่อพระองค์ในเรื่องแกะที่ทรงมอบไว้กับพวกเขา. (เฮ็บราย 13:17) หากคุณรับใช้ในฐานะผู้ปกครอง พระยะโฮวาได้ทรงประทานโอกาสอันยอดเยี่ยมแก่คุณที่จะพิสูจน์ตัวคุณเองเป็นของประทาน หรือพระพร สำหรับพี่น้องของคุณ. คุณจะทำเช่นนั้นได้โดยการทำหน้าที่รับผิดชอบสำคัญสี่ประการให้สำเร็จ.
เมื่อมีความจำเป็นต้อง ‘ปรับให้เข้าที่’
8. เราทุกคนจำเป็นต้องได้รับการปรับให้เข้าที่เป็นครั้งคราวในทางใดบ้าง?
8 ประการแรก เปาโลกล่าวว่า “ของประทานในลักษณะมนุษย์” ถูกจัดเตรียมไว้ “โดยมุ่งหมายที่จะปรับผู้บริสุทธิ์ให้เข้าที่.” (เอเฟโซ 4:12, ล.ม.) คำนามภาษากรีกที่แปลในที่นี้ว่า ‘ปรับให้เข้าที่’ พาดพิงถึงการจัดบางสิ่งให้ “อยู่ในแนวที่ถูกต้อง.” เนื่องจากเป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์ เราทุกคนจำเป็นต้องได้รับการปรับให้เข้าที่เป็นครั้งคราว—เพื่อให้ความคิด, เจตคติ, หรือความประพฤติของเราถูกนำให้ “อยู่ในแนวที่ถูกต้อง” แบบเดียวกับความคิดและพระทัยประสงค์ของพระเจ้า. พระยะโฮวาได้ทรงจัดเตรียมด้วยความรักให้มี “ของประทานในลักษณะมนุษย์” เพื่อช่วยเราทำการปรับเปลี่ยนที่จำเป็น. พวกเขาทำอย่างนี้โดยวิธีใด?
9. ผู้ปกครองจะช่วยปรับแกะที่ทำผิดให้เข้าที่ได้โดยวิธีใด?
9 บางครั้ง ผู้ปกครองอาจได้รับการขอร้องให้ช่วยแกะซึ่งได้พลาดพลั้งกระทำผิด อาจเป็นได้ที่เขา ‘ก้าวพลาดไปก่อนที่เขารู้ตัว.’ ผู้ปกครองอาจช่วยได้อย่างไร? ฆะลาเตีย 6:1 (ล.ม.) กล่าวว่า “จงพยายามปรับคนเช่นนั้นให้เข้าที่ด้วยน้ำใจอ่อนโยน.” ฉะนั้น เมื่อให้คำแนะนำ ผู้ปกครองจะไม่ดุว่าผู้ทำผิดด้วยคำพูดที่รุนแรง. คำแนะนำควรหนุนกำลังใจ ไม่ทำให้ผู้รับคำแนะนำรู้สึก “กลัว.” (2 โกรินโธ 10:9; เทียบกับโยบ 33:7.) บุคคลผู้นั้นอาจรู้สึกละอายอยู่แล้ว ดังนั้น ผู้บำรุงเลี้ยงที่มีความรักหลีกเลี่ยงการทำลายน้ำใจของคนนั้น. เมื่อเห็นได้ชัดว่าคำแนะนำ หรือแม้แต่คำว่ากล่าวอย่างแรง ถูกกระตุ้นจากความรักและให้ด้วยความรัก ก็น่าจะทำให้ผู้ทำผิดปรับแนวความคิดหรือการประพฤติของตนเสียใหม่ และโดยวิธีนี้จึงช่วยเขาให้ฟื้นตัว.—2 ติโมเธียว 4:2.
10. การปรับผู้อื่นให้เข้าที่เกี่ยวข้องกับอะไร?
10 ในการจัดเตรียม “ของประทานในลักษณะมนุษย์” ไว้เพื่อการปรับพวกเราให้เข้าที่ พระยะโฮวาทรงประสงค์ให้ผู้ปกครองเป็นแหล่งที่ทำให้สดชื่นฝ่ายวิญญาณและคู่ควรที่ไพร่พลของพระองค์จะเลียนแบบ. (1 โกรินโธ 16:17, 18; ฟิลิปปอย 3:17) การปรับคนอื่นให้เข้าที่ไม่ใช่เพียงแค่แก้ไขคนที่ดำเนินในแนวทางผิดเท่านั้น แต่รวมไปถึงการช่วยผู้ซื่อสัตย์ให้ยึดมั่นในแนวทางที่ถูกด้วย.a ปัจจุบัน เนื่องจากมีปัญหามากมายที่มักทำให้ท้อใจ หลายคนต้องการกำลังใจที่จะยืนหยัดต่อไป. บางคนอาจต้องการความช่วยเหลือที่อ่อนละมุนเพื่อปรับแนวคิดของเขาให้ตรงกับแนวคิดของพระเจ้า. ตัวอย่างเช่น คริสเตียนที่ซื่อสัตย์บางคนต่อสู้กับความรู้สึกที่ฝังลึกว่าตัวเองขาดความสามารถหรือไร้ค่า. “จิตวิญญาณที่หดหู่ใจ” เช่นนั้นอาจรู้สึกว่าพระยะโฮวาไม่เคยรักเขาเลย และถึงเขาจะพยายามอย่างดีที่สุดในการรับใช้พระเจ้าก็ไม่มีทางได้รับการยอมรับจากพระองค์. (1 เธซะโลนิเก 5:14, ล.ม.) แต่วิธีคิดแบบนี้ไม่สอดคล้องกับวิธีที่พระเจ้าทรงรู้สึกจริง ๆ ต่อผู้รับใช้ของพระองค์.
11. ผู้ปกครองจะทำอะไรได้เพื่อช่วยคนที่ต่อสู้กับความรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า?
11 ผู้ปกครองทั้งหลาย คุณจะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยคนเช่นนั้น? จงพิจารณากับเขาอย่างกรุณาถึงข้อพิสูจน์จากพระคัมภีร์ว่าพระยะโฮวาทรงเอาพระทัยใส่ผู้รับใช้แต่ละคนของพระองค์ และให้ความมั่นใจแก่เขาว่าข้อคัมภีร์เหล่านี้ใช้ได้กับพวกเขาเป็นส่วนตัว. (ลูกา 12:6, 7, 24) ช่วยพวกเขาให้เห็นว่าพระยะโฮวาได้ทรง “ชักนำ” เขาให้มารับใช้พระองค์ ดังนั้น พระองค์ย่อมต้องเห็นคุณค่าในตัวเขา. (โยฮัน 6:44) ให้ความมั่นใจแก่เขาว่าไม่ได้มีเพียงแต่เขาเท่านั้นที่รู้สึกอย่างนี้ ยังมีผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระยะโฮวาอีกหลายคนที่มีความรู้สึกคล้าย ๆ กัน. ครั้งหนึ่ง ผู้พยากรณ์เอลียารู้สึกหดหู่อย่างมากจนท่านต้องการจะตาย. (1 กษัตริย์ 19:1-4) คริสเตียนผู้ถูกเจิมบางคนในศตวรรษแรกรู้สึกว่าหัวใจของเขาเอง “ปรับโทษ” ตัวเขา. (1 โยฮัน 3:20) นับเป็นเรื่องที่ชูใจเราเมื่อได้ทราบว่าผู้ซื่อสัตย์ในสมัยคัมภีร์ไบเบิลมี “ความรู้สึกเช่นเราทั้งหลาย.” (ยาโกโบ 5:17, ล.ม.) นอกจากนี้คุณอาจทบทวนบทความที่ให้กำลังใจในวารสารหอสังเกตการณ์ และตื่นเถิด! กับผู้ที่หดหู่ใจได้ด้วย. ความพยายามด้วยความรักของคุณที่จะฟื้นฟูความมั่นใจของคนเช่นนั้นจะไม่ผ่านเลยไปโดยที่พระเจ้าผู้ทรงประทานตัวคุณไว้ในฐานะ “ของประทานในลักษณะมนุษย์” ไม่ทรงสังเกตเห็น.—เฮ็บราย 6:10.
“การก่อร่างสร้าง” ฝูงแกะ
12. วลีที่ว่า “การก่อร่างสร้างพระกายของพระคริสต์” บ่งบอกถึงอะไร และอะไรคือปัจจัยสำคัญที่จะเสริมสร้างฝูงแกะขึ้น?
12 ประการที่สอง “ของประทานในลักษณะมนุษย์” ได้ทรงประทานให้โดยคำนึงถึง “การก่อร่างสร้างพระกายของพระคริสต์.” (เอเฟโซ 4:12, ล.ม.) ในที่นี้เปาโลใช้ภาพพจน์: “การก่อร่างสร้าง” เพื่อให้นึกถึงการก่อสร้าง และ “พระกายของพระคริสต์” เพื่อหมายถึงผู้คน ซึ่งก็คือสมาชิกประชาคมคริสเตียนที่ได้รับการเจิม. (1 โกรินโธ 12:27; เอเฟโซ 5:23, 29, 30) ผู้ปกครองจำเป็นต้องช่วยพี่น้องของเขาให้เติบโตแข็งแรงฝ่ายวิญญาณ. เป้าหมายของเขาคือ ‘เพื่อจะเสริมสร้างฝูงแกะขึ้น และไม่ใช่เพื่อรื้อทำลายลง.’ (2 โกรินโธ 10:8, ล.ม.) ปัจจัยสำคัญที่จะเสริมสร้างฝูงแกะขึ้นคือความรัก เพราะ “ความรักก่อร่างสร้างขึ้น.”—1 โกรินโธ 8:1, ล.ม.
13. ความร่วมรู้สึกหมายความอย่างไร และเหตุใดจึงสำคัญที่ผู้ปกครองจะแสดงความร่วมรู้สึก?
13 แง่มุมหนึ่งของความรักที่ช่วยผู้ปกครองให้เสริมสร้างฝูงแกะขึ้นคือความร่วมรู้สึก. การแสดงความร่วมรู้สึกหมายถึงการเอาใจเขามาใส่ใจเรา กล่าวคือการเข้าใจความคิดและความรู้สึกของเขา คำนึงถึงข้อจำกัดของเขา. (1 เปโตร 3:8) ทำไมจึงสำคัญที่ผู้ปกครองจะมีความร่วมรู้สึก? เหตุผลเหนือสิ่งอื่นใดคือ เพราะพระยะโฮวาผู้ประทาน “ของประทานในลักษณะมนุษย์” ทรงเป็นพระเจ้าที่ร่วมรู้สึก. เมื่อผู้รับใช้ของพระองค์ทนทุกข์หรือเจ็บปวด พระองค์ทรงรู้สึกร่วมกับพวกเขา. (เอ็กโซโด 3:7; ยะซายา 63:9) พระองค์ทรงคำนึงถึงข้อจำกัดของพวกเขา. (บทเพลงสรรเสริญ 103:14) ถ้าอย่างนั้น ผู้ปกครองจะแสดงความร่วมรู้สึกได้โดยวิธีใด?
14. ผู้ปกครองจะแสดงความร่วมรู้สึกกับผู้อื่นได้ในทางใดบ้าง?
14 เมื่อมีใครที่ท้อแท้ใจมาหาเขา เขาจะฟังและยอมรับความรู้สึกของคนนั้น. เขาพยายามเข้าใจภูมิหลัง, บุคลิกภาพ, และสภาพการณ์แวดล้อมของพี่น้องของเขา. จากนั้นเมื่อผู้ปกครองให้ความช่วยเหลือที่เสริมสร้างตามหลักพระคัมภีร์ แกะก็จะพบว่าง่ายที่จะยอมรับเพราะความช่วยเหลือนั้นมาจากผู้บำรุงเลี้ยงที่เข้าใจและเอาใจใส่เขาอย่างแท้จริง. (สุภาษิต 16:23) ความร่วมรู้สึกยังกระตุ้นผู้ปกครองให้คำนึงถึงข้อจำกัดของผู้อื่นและความรู้สึกที่อาจเกิดจากข้อจำกัดดังกล่าว. ตัวอย่างเช่น คริสเตียนบางคนที่สำนึกในหน้าที่อาจรู้สึกผิดเพราะเขาไม่สามารถทำได้มากกว่าที่กำลังทำอยู่ในการรับใช้พระเจ้า ซึ่งก็อาจเนื่องด้วยอายุมากแล้วหรือสุขภาพไม่ดี. ในอีกด้านหนึ่ง บางคนอาจจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนให้ปรับปรุงงานรับใช้ของเขา. (เฮ็บราย 5:12; 6:1) ความร่วมรู้สึกจะกระตุ้นผู้ปกครองให้เสาะหา “ถ้อยคำที่หวานหู” ซึ่งเสริมสร้างคนอื่น ๆ ขึ้น. (ท่านผู้ประกาศ 12:10, ล.ม.) เมื่อแกะของพระยะโฮวาได้รับการเสริมสร้างและการกระตุ้น ความรักของเขาที่มีต่อพระเจ้าก็จะกระตุ้นเขาให้ทำทุกสิ่งที่เขาทำได้ในการรับใช้พระองค์!
พวกผู้ชายที่ส่งเสริมเอกภาพ
15. วลีที่ว่า “ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในความเชื่อ” หมายถึงอะไร?
15 ประการที่สาม “ของประทานในลักษณะมนุษย์” ได้มีการจัดเตรียมไว้เพื่อให้ “เราทุกคนบรรลุถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในความเชื่อ และในความรู้อันถ่องแท้เกี่ยวกับพระบุตรของพระเจ้า.” (เอเฟโซ 4:13, ล.ม.) วลีที่ว่า “ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในความเชื่อ” หมายถึงไม่เฉพาะแต่เอกภาพของความเชื่อ เท่านั้น แต่เอกภาพของผู้เชื่อถือ ด้วย. ดังนั้น นี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่พระเจ้าได้ทรงประทาน “ของประทานในลักษณะมนุษย์” แก่เรา คือเพื่อส่งเสริมเอกภาพในหมู่ไพร่พลของพระองค์. พวกเขาทำเช่นนี้อย่างไร?
16. เหตุใดจึงสำคัญที่ผู้ปกครองจะรักษาเอกภาพในหมู่พวกเขาเอง?
16 เพื่อเป็นการเริ่มต้น พวกเขาต้องรักษาเอกภาพในหมู่พวกเขาเองเสียก่อน. ถ้าเหล่าผู้บำรุงเลี้ยงแตกแยก แกะก็อาจถูกละเลย. เวลาอันมีค่าที่สามารถใช้ในการบำรุงเลี้ยงฝูงแกะอาจถูกนำไปใช้โดยไม่จำเป็นในการประชุมและถกเถียงกันอย่างยืดยาวเกี่ยวด้วยเรื่องที่ไม่สลักสำคัญ. (1 ติโมเธียว 2:8) ผู้ปกครองอาจไม่เห็นด้วยโดยอัตโนมัติในทุกเรื่องที่มีการพิจารณากัน เพราะพวกเขาแต่ละคนอาจมีบุคลิกภาพที่แตกต่างกันมาก. การมีเอกภาพมิได้หมายถึงการห้ามพวกเขามีความคิดเห็นต่างกันหรือแม้แต่แสดงความเห็นที่ต่างกันนั้นอย่างสมดุลในระหว่างที่มีการพิจารณากันด้วยใจเปิด. ผู้ปกครองรักษาเอกภาพของพวกเขาไว้ด้วยการฟังอย่างนับถือต่อกันและกันโดยไม่ด่วนลงความเห็น. และตราบใดที่ไม่ได้เป็นการฝ่าฝืนหลักการในคัมภีร์ไบเบิล แต่ละคนควรเต็มใจจะยอมและสนับสนุนการตัดสินในขั้นสุดท้ายของคณะผู้ปกครอง. คนที่มีน้ำใจยอมให้แก่ผู้อื่นแสดงว่าเขาได้รับการนำโดย “สติปัญญาจากเบื้องบน” ซึ่ง “ก่อให้เกิดสันติสุข, มีเหตุผล.”—ยาโกโบ 3:17, 18, ล.ม.
17. ผู้ปกครองจะช่วยรักษาเอกภาพในประชาคมได้โดยวิธีใด?
17 ผู้ปกครองตื่นตัวด้วยที่จะส่งเสริมเอกภาพในประชาคม. เมื่ออิทธิพลที่ทำให้แตกแยก—เช่น การซุบซิบนินทาที่ก่อความเสียหาย, แนวโน้มที่จะตีเจตนาผิด, หรือนิสัยชอบโต้เถียง—คุกคามสันติสุข พวกเขาพร้อมที่จะให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์. (ฟิลิปปอย 2:2, 3) ตัวอย่างเช่น ผู้ปกครองอาจทราบมาว่ามีบางคนที่ชอบวิพากษ์วิจารณ์มากเกินไป หรือชอบเข้าไปยุ่งเรื่องของผู้อื่นจนกลายเป็นคนจุ้นจ้าน. (1 ติโมเธียว 5:13; 1 เปโตร 4:15) ผู้ปกครองจะพยายามช่วยคนเช่นนั้นให้ตระหนักว่าแนวทางที่เขาทำนั้นตรงกันข้ามกับสิ่งที่เราได้รับการสอนจากพระเจ้า และแต่ละคนต้อง “แบกภาระของตนเอง.” (ฆะลาเตีย 6:5, 7; 1 เธซะโลนิเก 4:9-12) โดยการใช้ข้อพระคัมภีร์ ผู้ปกครองจะอธิบายว่าพระยะโฮวาทรงปล่อยหลายเรื่องไว้ให้เราใช้สติรู้สึกผิดชอบของเราแต่ละคน และไม่ควรมีใครในพวกเราที่ตัดสินคนอื่นในเรื่องเช่นนั้น. (มัดธาย 7:1, 2; ยาโกโบ 4:10-12) เพื่อจะรับใช้ด้วยกันอย่างมีเอกภาพ ต้องมีบรรยากาศแห่งความไว้วางใจกันและนับถือกันในประชาคม. โดยการให้คำแนะนำตามหลักพระคัมภีร์เมื่อจำเป็น “ของประทานในลักษณะมนุษย์” ช่วยเราให้รักษาสันติสุขและเอกภาพในหมู่พวกเรา.—โรม 14:19.
การปกป้องฝูงแกะ
18, 19. (ก) “ของประทานในลักษณะมนุษย์” ปกป้องเราไว้จากใคร? (ข) แกะจำเป็นต้องได้รับการปกป้องไว้จากอันตรายอะไรอีก และผู้ปกครองทำอะไรเพื่อปกป้องแกะ?
18 ประการที่สี่ พระยะโฮวาทรงจัดเตรียม “ของประทานในลักษณะมนุษย์” ไว้เพื่อปกป้องเราจากการถูกชักนำ “ด้วยลมปากแห่งคำสั่งสอนทุกอย่าง, และด้วยเล่ห์กลของมนุษย์ตามอุบายฉลาดอันเป็นการล่อลวง.” (เอเฟโซ 4:14) กล่าวกันว่าคำในภาษาเดิมของคำว่า “เล่ห์กล” หมายถึง “การโกงลูกเต๋า” หรือ “ทักษะชั้นเชิงในการควบคุมลูกเต๋า.” ความหมายของคำนี้เตือนใจเราว่าพวกออกหากดำเนินการอย่างฉลาดขนาดไหนมิใช่หรือ? โดยชักเหตุผลอย่างมีเล่ห์เหลี่ยม คนพวกนี้ยกข้อพระคัมภีร์ขึ้นมาด้วยความพยายามจะลวงคริสเตียนแท้ให้หลงไปจากความเชื่อของตน. ผู้ปกครองต้องคอยระวัง “ฝูงสุนัขป่าที่กดขี่” พวกนี้ให้ดี!—กิจการ 20:29, 30, ล.ม.
19 แกะของพระยะโฮวาจำต้องได้รับการปกป้องไว้จากอันตรายอื่น ๆ ด้วย. ดาวิดซึ่งเป็นผู้เลี้ยงแกะในสมัยโบราณปกป้องฝูงแกะของบิดาท่านไว้จากสัตว์ล่าเหยื่อโดยปราศจากความกลัว. (1 ซามูเอล 17:34-36) ปัจจุบันก็เช่นกัน มีหลายโอกาสที่คริสเตียนผู้บำรุงเลี้ยงที่ห่วงใยต้องแสดงความกล้าหาญในการปกป้องฝูงแกะไว้จากใครก็ตามที่อาจปฏิบัติอย่างผิด ๆ หรือกดขี่แกะของพระยะโฮวา โดยเฉพาะอย่างยิ่งแกะที่อ่อนแอ. ผู้ปกครองจะจัดการอย่างรวดเร็วในการขจัดผู้จงใจทำบาปซึ่งตั้งใจใช้เล่ห์, การหลอกลวง, และแผนร้ายเพื่อกระทำความชั่วร้ายออกไปจากประชาคม.b—1 โกรินโธ 5:9-13; เทียบกับบทเพลงสรรเสริญ 101:7.
20. เหตุใดเราจึงสามารถรู้สึกมั่นคงภายใต้การดูแลของ “ของประทานในลักษณะมนุษย์”?
20 เรารู้สึกขอบคุณสักเพียงไรสำหรับ “ของประทานในลักษณะมนุษย์”! เราสามารถรู้สึกมั่นคงภายใต้การดูแลด้วยความรักของพวกเขา เพราะพวกเขาปรับเราให้เข้าที่อย่างอ่อนละมุน, ก่อร่างสร้างเราขึ้นด้วยความรัก, พร้อมจะรักษาเอกภาพในหมู่พวกเราไว้, และปกป้องเราไว้อย่างกล้าหาญ. แต่ “ของประทานในลักษณะมนุษย์” ควรมองบทบาทของตนในประชาคมอย่างไร? และเราสามารถแสดงได้โดยวิธีใดว่าเราหยั่งรู้ค่าพวกเขา? คำถามเหล่านี้จะพิจารณากันในบทความต่อไป.
[เชิงอรรถ]
a ในฉบับแปลกรีกเซปตัวจินต์ คำกริยาเดียวกันซึ่งแปลในที่นี้ว่า ‘ปรับให้เข้าที่’ ถูกใช้ที่บทเพลงสรรเสริญ 17 [16]:5 ซึ่งดาวิดผู้ซื่อสัตย์อธิษฐานขอให้ย่างก้าวของท่านติดสนิทอยู่กับทางของพระยะโฮวา.
b เพื่อเป็นตัวอย่าง โปรดดู “คำถามจากผู้อ่าน” ในหอสังเกตการณ์ ฉบับ 15 มิถุนายน 1980 หน้า 30-32 และ “ให้เราเกลียดชังสิ่งที่ชั่ว” ในหอสังเกตการณ์ ฉบับ 1 มกราคม 1997 หน้า 26-29.
คุณจำได้ไหม?
▫ ใครเป็น “ของประทานในลักษณะมนุษย์” และเหตุใดพระเจ้าทรงประทานพวกเขาแก่ ประชาคมโดยทางพระคริสต์?
▫ ผู้ปกครองทำตามหน้าที่รับผิดชอบของตนให้สำเร็จอย่างไรในการปรับฝูงแกะให้เข้าที่?
▫ ผู้ปกครองจะทำอะไรได้บ้างเพื่อเสริมสร้างเพื่อนร่วมความเชื่อของตน?
▫ ผู้ปกครองจะรักษาเอกภาพในประชาคมได้โดยวิธีใด?
[รูปภาพหน้า 10]
ความร่วมรู้สึกช่วยผู้ปกครองให้หนุนกำลังใจผู้ที่ท้อแท้
[รูปภาพหน้า 10]
เอกภาพในหมู่ผู้ปกครองส่งเสริมเอกภาพในประชาคม