คุณ “หยั่งรากและตั้งมั่นคงอยู่บนฐานรากนั้น”ไหม?
คุณเคยเห็นต้นไม้ใหญ่ถูกพายุกล้าโหมกระหน่ำไหม? ต้นไม้ถูกพัดกระหน่ำด้วยแรงที่มีกำลังมหาศาล แต่มันก็ยังยืนต้นอยู่ได้. เพราะเหตุใด? เพราะมันมีระบบรากที่แข็งแรงยึดตรึงต้นไว้กับดิน. เราสามารถเป็นเหมือนกับต้นไม้นั้น. เมื่อต่อสู้กับการทดสอบต่าง ๆ ที่รุนแรงดุจพายุในชีวิต เราก็จะอดทนได้เหมือนกันถ้าเรา “หยั่งรากและตั้งมั่นคงอยู่บนฐานราก” เสมอ. (เอเฟ. 3:14-17) ฐานรากนั้นคืออะไร?
พระคำของพระเจ้ากล่าวว่า “พระคริสต์เยซูเป็นหินหัวมุมของฐานราก” ของประชาคมคริสเตียน. (เอเฟ. 2:20; 1 โค. 3:11) พวกเราที่เป็นคริสเตียนได้รับการสนับสนุนให้ “ดำเนินชีวิตตามอย่างพระองค์ต่อ ๆ ไป หยั่งรากและถูกสร้างขึ้นในพระองค์และมีความเชื่อที่มั่นคง.” ถ้าเราทำอย่างนั้น เราก็จะสามารถยืนหยัดต้านทานการโจมตีความเชื่อของเราทุกอย่าง—รวมถึงการโจมตีที่มาในรูปของ “คำพูดจูงใจ” ซึ่งอาศัย “คำล่อลวงเหลวไหล” ของมนุษย์.—โกโล. 2:4-8
“ความกว้าง ความยาว ความสูง และความลึก”
แต่เราจะ “หยั่งราก” และ “มีความเชื่อที่มั่นคง” ได้อย่างไร? วิธีหนึ่งที่สำคัญซึ่งเปรียบประหนึ่งการหยั่งรากลึกลงในดินก็คือการขยันศึกษาพระคำของพระเจ้าที่มีขึ้นโดยการดลใจ. พระยะโฮวาทรงประสงค์ให้เรา “เข้าใจความจริงได้อย่างถี่ถ้วนว่ามีความกว้าง ความยาว ความสูง และความลึกอย่างไร.” (เอเฟ. 3:18) ด้วยเหตุนั้น คริสเตียนจึงไม่ควรพอใจแค่การเข้าใจเพียงผิวเผิน หรืออิ่มใจกับการรู้เพียงแค่ “เรื่องพื้นฐาน” ที่พบในพระคำของพระเจ้า. (ฮีบรู 5:12; 6:1) ตรงกันข้าม เราแต่ละคนควรกระตือรือร้นที่จะเข้าใจลึกซึ้งยิ่งขึ้นเกี่ยวกับความจริงในคัมภีร์ไบเบิล.—สุภา. 2:1-5
แน่นอน นั่นไม่ได้หมายความว่าการมีความรู้มาก ๆ ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้เรา “หยั่งรากและตั้งมั่นคงอยู่” ในความจริง. ที่จริง ซาตานเองก็มีความรู้ในคัมภีร์ไบเบิล. จำเป็นต้องมีอะไรมากกว่านั้น. เราจำเป็นต้อง “รู้จักความรักของพระคริสต์ซึ่งเหนือกว่าความรู้.” (เอเฟ. 3:19) อย่างไรก็ตาม เมื่อเราศึกษาเพราะเรารักพระยะโฮวาและรักความจริง การเพิ่มพูนความรู้ถ่องแท้เกี่ยวกับพระคำของพระเจ้าจะช่วยเสริมความเชื่อของเราให้เข้มแข็ง.—โกโล. 2:2
ทดสอบความเข้าใจของคุณ
ตอนนี้ ทำไมไม่ลองทดสอบความเข้าใจของคุณเองเกี่ยวกับความจริงที่สำคัญบางเรื่องซึ่งพบในคัมภีร์ไบเบิล? การทำอย่างนี้อาจส่งเสริมคุณให้ขยันยิ่งขึ้นในการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเป็นส่วนตัว. ตัวอย่างเช่น ขอให้อ่านส่วนแรกของจดหมายที่เปาโลเขียนถึงคริสเตียนในเมืองเอเฟโซส์. (โปรดดูกรอบ “จดหมายถึงคริสเตียนในเมืองเอเฟโซส์.”) หลังจากอ่านข้อเหล่านี้แล้ว ถามตัวคุณเองว่า ‘ฉันเข้าใจความหมายของวลีที่เป็นตัวเอนในข้อคัมภีร์ที่ยกขึ้นมาในกรอบไหม?’ ให้เรามาพิจารณาวลีเหล่านี้ทีละวลี.
เลือกไว้แล้ว “ตั้งแต่ก่อนการวางรากของโลก”
เปาโลเขียนถึงเพื่อนร่วมความเชื่อว่า “[พระเจ้า] ทรงเลือกเราไว้แล้ว . . . เพื่อจะรับเราเป็นบุตรของพระองค์โดยทางพระเยซูคริสต์.” ดังนั้น พระยะโฮวาทรงกำหนดไว้แล้วว่าพระองค์จะรับมนุษย์บางคนเป็นสมาชิกในครอบครัวที่สมบูรณ์ของพระองค์ในสวรรค์. คนเหล่านี้ที่พระเจ้าทรงรับไว้เป็นบุตรจะปกครองเป็นกษัตริย์และปุโรหิตร่วมกับพระคริสต์. (โรม 8:19-23; วิ. 5:9, 10) เมื่อซาตานเริ่มท้าทายอำนาจการปกครองของพระยะโฮวา มันกล่าวเป็นนัย ๆ ว่ามนุษย์ที่พระเจ้าทรงสร้างมีข้อบกพร่อง. ดังนั้น นับว่าเหมาะสักเพียงไรที่พระยะโฮวาทรงเลือกบุคคลซึ่งมาจากครอบครัวมนุษย์ให้มีส่วนในการกำจัดความชั่วร้ายทุกอย่างออกไปจากเอกภพ รวมทั้งซาตานพญามารต้นตอของความชั่วร้าย ในวันข้างหน้า! อย่างไรก็ตาม พระยะโฮวาไม่ได้กำหนดไว้ล่วงหน้าว่าพระองค์จะรับมนุษย์คนใดเป็นบุตรของพระองค์. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น พระเจ้าทรงกำหนดไว้ว่าจะมีชนชั้นหรือกลุ่มคนที่จะปกครองกับพระคริสต์ในสวรรค์.—วิ. 14:3, 4
เปาโลหมายถึง “โลก” ในความหมายใดเมื่อท่านเขียนถึงเพื่อนคริสเตียนว่า พวกเขาทั้งกลุ่มถูกเลือกไว้แล้ว “ตั้งแต่ก่อนการวางรากของโลก”? ท่านไม่ได้หมายความว่าพระเจ้าทรงเลือกก่อนที่พระองค์จะสร้างแผ่นดินโลกหรือสร้างมนุษย์. การทำอย่างนั้นย่อมเป็นการฝ่าฝืนหลักพื้นฐานในเรื่องความยุติธรรม. จะถือว่าอาดามและฮาวาต้องรับผิดชอบการกระทำของตัวเองได้อย่างไรถ้าพระเจ้าได้กำหนดไว้แล้วก่อนที่ทั้งสองจะถูกสร้างเสียด้วยซ้ำว่าพวกเขาจะทำผิด? ถ้าอย่างนั้น พระเจ้าทรงกำหนดไว้เมื่อไรเกี่ยวกับวิธีที่พระองค์จะทรงแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่ออาดามและฮาวาร่วมกับซาตานในการขืนอำนาจการปกครองของพระเจ้า? พระยะโฮวาทรงกำหนดไว้หลังจากที่บิดามารดาคู่แรกของเราขืนอำนาจแล้ว แต่ว่าก่อนที่จะเกิดมีโลกแห่งมนุษยชาติที่ไม่สมบูรณ์ซึ่งสามารถได้รับการไถ่ถอน.
“เนื่องด้วยพระกรุณาอันใหญ่หลวงของพระเจ้า”
เหตุใดเปาโลจึงกล่าวว่าการจัดเตรียมที่พิจารณาในส่วนแรกของจดหมายถึงคริสเตียนในเมืองเอเฟโซส์มีขึ้น “ก็เนื่องด้วยพระกรุณาอันใหญ่หลวงของพระเจ้า”? ท่านกล่าวอย่างนั้นเพื่อเน้นว่าพระยะโฮวาไม่มีความจำเป็นต้องไถ่ถอนมนุษยชาติที่ผิดบาป.
จริง ๆ แล้ว ไม่มีใครในพวกเราเลยที่คู่ควรจะได้รับการไถ่ถอน. แต่ความรักอันลึกซึ้งที่พระยะโฮวาทรงมีต่อครอบครัวมนุษย์กระตุ้นพระองค์ให้ดำเนินการเป็นพิเศษเพื่อช่วยพวกเรา. เมื่อคำนึงถึงความไม่สมบูรณ์และบาปของเรา การไถ่ถอนที่เราได้รับจึงนับว่าเป็นพระกรุณาอันใหญ่หลวง ดังที่เปาโลได้กล่าวไว้.
ความลับอันศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวกับพระประสงค์ของพระเจ้า
ในตอนแรกเริ่ม พระเจ้าไม่ได้เปิดเผยวิธีที่พระองค์จะทรงแก้ไขผลเสียหายที่ซาตานทำให้เกิดขึ้น. เรื่องนี้เป็น “ความลับอันศักดิ์สิทธิ์.” (เอเฟ. 3:4, 5) ต่อมา เมื่อตั้งประชาคมคริสเตียนขึ้นแล้ว พระยะโฮวาทรงเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีที่พระองค์จะทำให้สำเร็จตามพระประสงค์ดั้งเดิมของพระองค์สำหรับมนุษยชาติและแผ่นดินโลก. เปาโลอธิบายว่าพระเจ้าทรง “ให้มีการบริหารงานเมื่อถึงเวลากำหนด” ซึ่งจะเป็นระบบการบริหารที่จะทำให้สิ่งทรงสร้างทั้งสิ้นที่มีเชาวน์ปัญญาของพระองค์เป็นหนึ่งเดียว.
ขั้นแรกของการทำให้เป็นหนึ่งเดียวนั้นเริ่มขึ้นในวันเพนเทคอสต์ สากลศักราช 33 เมื่อพระยะโฮวาทรงเริ่มรวบรวมคนที่จะปกครองกับพระคริสต์ในสวรรค์. (กิจ. 1:13-15; 2:1-4) ในขั้นที่สอง จะมีการรวบรวมคนที่จะมีชีวิตบนแผ่นดินโลกที่เป็นอุทยานภายใต้การปกครองของราชอาณาจักรมาซีฮาของพระคริสต์. (วิ. 7:14-17; 21:1-5) คำว่า “การบริหาร” ไม่ได้พาดพิงถึงราชอาณาจักรมาซีฮา เนื่องจากราชอาณาจักรนั้นยังไม่ได้ถูกสถาปนาขึ้นจนกระทั่งถึงปี 1914. แต่คำนี้พาดพิงถึงการจัดการของพระเจ้าในเรื่องต่าง ๆ เพื่อทำให้สำเร็จตามพระประสงค์ที่จะฟื้นฟูเอกภาพทั่วทั้งเอกภพ.
“จงมีความคิดความเข้าใจอย่างผู้ซึ่งเติบโตเต็มที่”
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า นิสัยการศึกษาส่วนตัวที่ดีจะช่วยคุณให้เข้าใจเต็มที่ในเรื่อง “ความกว้าง ความยาว ความสูง และความลึก” ของความจริง. อย่างไรก็ตาม ไม่ต้องสงสัยด้วยว่ารูปแบบชีวิตที่เร่งรีบของคนเราในปัจจุบันก็อาจทำให้เป็นเรื่องง่ายที่ซาตานจะทำลายนิสัยดังกล่าว หรืออย่างน้อยก็ทำให้เราศึกษาส่วนตัวน้อยลง. อย่ายอมให้มันทำอย่างนั้นกับคุณ. จงใช้ “ความเข้าใจ” ที่พระเจ้าประทานแก่คุณเพื่อจะ “มีความคิดความเข้าใจอย่างผู้ซึ่งเติบโตเต็มที่.” (1 โย. 5:20; 1 โค. 14:20) จงทำให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจเหตุผลที่คุณมีความเชื่ออย่างที่คุณเชื่อ และ “ชี้แจง” ได้เสมอว่า “ทำไม [คุณ] หวังอย่างนั้น.”—1 เป. 3:15
ขอให้นึกภาพว่าคุณอยู่ในเมืองเอเฟโซส์เมื่อมีการอ่านจดหมายของเปาโลเป็นครั้งแรก. คำพูดของท่านคงจะกระตุ้นคุณให้ต้องการเติบโตขึ้น “ในความรู้ถ่องแท้เกี่ยวกับพระบุตรของพระเจ้า” มิใช่หรือ? (เอเฟ. 4:13, 14) คงต้องเป็นอย่างนั้นแน่! ด้วยเหตุนั้น ขอให้ถ้อยคำของเปาโลซึ่งมีขึ้นโดยการดลใจกระตุ้นคุณแบบเดียวกันนั้นในทุกวันนี้. การมีความรักอย่างลึกซึ้งต่อพระยะโฮวาและมีความรู้ถ่องแท้เกี่ยวกับพระคำของพระองค์จะช่วยคุณให้ “หยั่งรากและตั้งมั่นคงอยู่บนฐานราก” ของพระคริสต์เสมอ. โดยวิธีนั้น คุณจะสามารถอดทนได้เมื่อเผชิญกับการทดสอบใด ๆ ที่รุนแรงดุจพายุซึ่งซาตานอาจทำให้เกิดขึ้นกับคุณก่อนโลกชั่วนี้จะถึงกาลอวสานอย่างสิ้นเชิง.—เพลง. 1:1-3; ยิระ. 17:7, 8
[กรอบ/ภาพหน้า 27]
“จดหมายถึงคริสเตียนในเมืองเอเฟโซส์”
“ขอให้พระองค์ผู้เป็นพระเจ้าและพระบิดาของพระเยซูคริสต์เจ้าของเราได้รับการสรรเสริญ เพราะพระองค์ทรงโปรดให้เราได้รับพรทุกประการในสวรรค์สถานโดยทางพระวิญญาณ เนื่องจากเราเป็นสาวกพระคริสต์ พระเจ้าทรงเลือกเราให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระคริสต์ตั้งแต่ก่อนการวางรากของโลก เพื่อให้เราบริสุทธิ์และปราศจากตำหนิเฉพาะพระพักตร์พระองค์เนื่องด้วยความรักต่อพระองค์. เพราะพระองค์ทรงเลือกเราไว้แล้ว ตามชอบพระทัยเพื่อจะรับเราเป็นบุตรของพระองค์โดยทางพระเยซูคริสต์ เพื่อพระองค์จะได้รับการสรรเสริญเนื่องด้วยพระกรุณาอันใหญ่หลวงที่ทรงแสดงต่อเราโดยทางพระบุตรที่พระองค์ทรงรัก. โดยพระบุตรนั้นเราได้รับการปลดเปลื้องด้วยค่าไถ่โดยพระโลหิตของพระองค์ นั่นคือ เราได้รับการอภัยการล่วงละเมิดก็เนื่องด้วยพระกรุณาอันใหญ่หลวงของพระเจ้า. พระองค์ทรงแสดงพระกรุณาอันใหญ่หลวงต่อเราอย่างเหลือล้นให้เรามีสติปัญญาและวิจารณญาณที่ดี โดยที่พระองค์ทรงโปรดให้เรารู้ความลับอันศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวกับพระประสงค์ของพระองค์ ซึ่งพระองค์ทรงประสงค์ จะทำตามชอบพระทัยพระองค์ โดยให้มีการบริหารงาน เมื่อถึงเวลากำหนด คือ เพื่อจะทรงรวบรวมสิ่งสารพัดทั้งในสวรรค์และบนแผ่นดินโลกไว้ในพระคริสต์อีก.”—เอเฟ. 1:3-10