หนังสือที่ใช้ได้จริงสำหรับการดำเนินชีวิตสมัยใหม่
หนังสือให้คำแนะนำต่าง ๆ เป็นที่นิยมมากในโลกทุกวันนี้. แต่หนังสือเหล่านั้นมีแนวโน้มจะล้าสมัย และในไม่ช้าก็มีการปรับปรุงหรือเปลี่ยนใหม่. คัมภีร์ไบเบิลล่ะเป็นอย่างไร? คัมภีร์ไบเบิลถูกจารึกเสร็จ สมบูรณ์เกือบ 2,000 ปีมาแล้ว. กระนั้น ข่าวสารดั้งเดิมในคัมภีร์ไบเบิลก็ไม่เคยมีการปรับปรุงหรือ ปรับตามสมัย. เป็นไปได้ไหมที่หนังสือเช่นนี้จะมีคำชี้แนะที่ใช้ได้จริงสำหรับสมัยของเรา?
บางคนบอกว่าเป็นไปไม่ได้. “คงไม่มีใครสนับสนุนให้ใช้ [ตำรา] วิชาเคมีฉบับปี 1924 ในชั้นเรียนวิชาเคมีสมัยใหม่” นายแพทย์อิไล เอส. เชเซน เขียนชี้แจงเหตุผลที่เขารู้สึกว่าคัมภีร์ไบเบิลล้าสมัย.1 ดูเหมือนว่าเหตุผลข้อนี้ฟังขึ้น. ว่ากันไปแล้ว มนุษย์ได้เรียนรู้มากมายเกี่ยวกับสุขภาพจิตและพฤติกรรมของมนุษย์นับตั้งแต่มีการจารึกคัมภีร์ไบเบิล. ดังนั้น จะเป็นไปได้อย่างไรที่หนังสือโบราณเช่นนั้นจะเหมาะกับการดำเนินชีวิตสมัยใหม่?
หลักการที่ใช้ได้ตลอดไป
ถึงแม้เป็นความจริงที่กาลสมัยได้เปลี่ยนไป แต่สิ่งจำเป็นพื้นฐานของมนุษย์ยังคงเป็นเช่นเดิม. ผู้คนตลอดประวัติศาสตร์จำเป็นต้องได้รับความรักและความรักใคร่. มนุษย์ต้องการมีความสุขและดำเนินชีวิตอย่างมีความหมาย. มนุษย์จำเป็นต้องได้รับคำแนะนำในเรื่องวิธีรับมือกับความกดดันด้านเศรษฐกิจ, วิธีทำให้ชีวิตสมรสประสบความสำเร็จ, และวิธีปลูกฝังหลักศีลธรรมอันดีและค่านิยมทางจริยธรรมไว้ในตัวลูก ๆ. คัมภีร์ไบเบิลมีคำแนะนำที่ใส่ใจต่อสิ่งจำเป็นพื้นฐานเหล่านี้.—ท่านผู้ประกาศ 3:12, 13; โรม 12:10; โกโลซาย 3:18-21; 1 ติโมเธียว 6:6-10.
คำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิลสะท้อนถึงความเข้าใจอันแจ่มชัดเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์. ขอพิจารณาบางตัวอย่างของหลักการในคัมภีร์ไบเบิลที่ใช้ได้จริงกับการดำเนินชีวิตสมัยใหม่.
คำชี้แนะที่ใช้ได้จริงสำหรับชีวิตสมรส
วารสารสหประชาชาติ (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า ครอบครัว “เป็นหน่วยเก่าแก่ที่สุดและพื้นฐานที่สุดขององค์การมนุษย์; เป็นตัวเชื่อมที่สำคัญยิ่งระหว่างคนรุ่นต่าง ๆ.” แต่ “ตัวเชื่อมที่สำคัญ” นี้กำลังแตกแยกด้วยอัตราที่น่าวิตก. วารสารนี้ให้ข้อสังเกตว่า “ในโลกทุกวันนี้ ครอบครัวจำนวนมากเผชิญปัญหาน่าสะพรึงกลัวซึ่งคุกคามความสามารถในการดำเนินฐานะครอบครัว และแท้จริง ในการอยู่รอด.”2 คัมภีร์ไบเบิลให้คำแนะนำอะไรเพื่อช่วยหน่วยครอบครัวให้อยู่รอด?
ประการแรก คัมภีร์ไบเบิลมีการกล่าวถึงมากมายเกี่ยวกับวิธีที่สามีและภรรยาควรปฏิบัติต่อกัน. ตัวอย่างเช่น เกี่ยวกับสามี คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “สามีทั้งหลายจึงควรรักภรรยาของตนเหมือนรักร่างกายของตนเอง. ผู้ที่รักภรรยาของตนก็รักตัวเอง เพราะไม่มีชายคนใดเคยเกลียดชังเนื้อหนังของตนเอง; แต่เขาเลี้ยงดูและทะนุถนอมเนื้อหนังนั้น.” (เอเฟโซ 5:28, 29, ล.ม.) ส่วนภรรยาได้รับคำแนะนำให้ “แสดงความนับถืออย่างสุดซึ้ง ต่อสามีของตน.”—เอเฟโซ 5:33, ล.ม.
ขอพิจารณาความหมายของการนำคำแนะนำดังกล่าวในคัมภีร์ไบเบิลไปใช้. สามีที่รักภรรยา “เหมือนรักร่างกายของตนเอง” จะไม่เกลียดชังหรือทารุณเธอ. เขาจะไม่ทุบตีเธอ หรือทำร้ายเธอโดยทางวาจาหรือทางอารมณ์. แต่เขาจะให้เกียรติและคำนึงถึงเธอเช่นเดียวกับที่เขาทำกับตนเอง. (1 เปโตร 3:7) ด้วยวิธีนี้ ภรรยาของเขาจึงรู้สึกว่าได้รับความรักและความมั่นคงในชีวิตสมรส. ฉะนั้น เขาจึงวางตัวอย่างอันดีให้ลูก ๆ ในเรื่องที่ว่า ผู้หญิงควรได้รับการปฏิบัติอย่างไร. อีกด้านหนึ่ง ภรรยาที่แสดง “ความนับถืออย่างสุดซึ้ง” ต่อสามีของเธอจะไม่ทำให้เขาเสียศักดิ์ศรีด้วยการคอยวิพากษ์วิจารณ์เขาหรือดูถูกเขา. เพราะเธอนับถือสามี เขาจึงรู้สึกว่าได้รับความไว้วางใจ, การยอมรับ, และการหยั่งรู้ค่า.
คำแนะนำดังกล่าวใช้การได้ในโลกสมัยใหม่ไหม? น่าสนใจที่เหล่าผู้ซึ่งศึกษาโดยเฉพาะเรื่องครอบครัว ในปัจจุบันได้มาถึงข้อสรุปคล้ายกัน. ผู้บริหารโครงการให้คำแนะนำแก่ครอบครัวให้ข้อสังเกตว่า “ครอบครัวที่มั่นคงที่สุดที่ดิฉันรู้จักคือครอบครัวที่มารดาและบิดามีความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นและเปี่ยมด้วยความรักระหว่างกัน. ... ความสัมพันธ์เหนียวแน่นอันสำคัญที่สุดนี้ดูเหมือนปลูกฝังความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยไว้ในตัวลูก ๆ.”3
ตลอดหลายปี ปรากฏว่าคำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิลเรื่องการสมรสน่าไว้วางใจยิ่งกว่าคำแนะนำจากพวกที่ปรึกษาด้านครอบครัวซึ่งมีเจตนาดีจำนวนนับไม่ถ้วน. จะว่าไปแล้ว เพิ่งไม่นานมานี้เองที่ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากสนับสนุนการหย่าว่าเป็นทางแก้ที่ทั้งเร็วและง่ายสำหรับชีวิตสมรสที่ไม่ราบรื่น. ทุกวันนี้ พวกเขาหลายคนสนับสนุนให้ผู้คนทำให้ชีวิตสมรสยืนนานถ้าเป็นไปได้. แต่การเปลี่ยนความคิดเช่นนี้เพิ่งมีขึ้นหลังจากเกิดความเสียหายมากมายแล้ว.
ตรงกันข้าม คัมภีร์ไบเบิลให้คำแนะนำที่ไว้ใจได้และสมดุลในเรื่องชีวิตสมรส. คัมภีร์ไบเบิลยอมรับว่า สภาพการณ์ร้ายแรงบางอย่างเป็นเหตุให้หย่าได้. (มัดธาย 19:9) ขณะเดียวกัน คัมภีร์ไบเบิลตำหนิว่าการหย่าด้วยเหตุหยุมหยิมนั้นผิด. (มาลาคี 2:14-16) อนึ่ง คัมภีร์ไบเบิลยังตำหนิอีกด้วยว่าความไม่ซื่อสัตย์ต่อคู่สมรสนั้นผิด. (เฮ็บราย 13:4) คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่าการสมรสทำให้มีพันธะดังนี้: “เพราะเหตุนั้นผู้ชายจึงจะละบิดามารดาของตนไปผูกพัน อยู่กับภรรยา: และเขาทั้งสองจะเป็นเนื้อหนังอันเดียวกัน.”a—เยเนซิศ 2:24; มัดธาย 19:5, 6.
คำแนะนำของคัมภีร์ไบเบิลเรื่องการสมรสนั้นเหมาะสมในทุกวันนี้เหมือนในสมัยที่มีการจารึกคัมภีร์ไบเบิล. เมื่อสามีและภรรยาปฏิบัติต่อกันด้วยความรักและความนับถือและมองดูการสมรสว่าเป็นสายสัมพันธ์พิเศษเฉพาะ ก็ย่อมเป็นไปได้มากกว่าที่ชีวิตสมรสจะอยู่รอด—และครอบครัวก็จะอยู่รอดด้วย.
คำชี้แนะที่ใช้ได้จริงสำหรับบิดามารดา
หลายทศวรรษมาแล้วที่บิดามารดาจำนวนมาก—ซึ่งถูกกระตุ้นด้วย “แนวคิดใหม่” เรื่องการอบรมบุตร—คิดกันว่า “การห้ามปรามเป็นเรื่องต้องห้าม.”8 พวกเขากลัวว่าการวางข้อจำกัดกับบุตรอาจทำให้เกิดความบอบช้ำทางใจและความข้องขัดใจ. พวกที่ปรึกษาด้านการเลี้ยงดูบุตรซึ่งมีเจตนาดียืนยันว่า บิดามารดาไม่ควรทำอะไรมากไปกว่าการกล่าวแก้ไขบุตรของตนอย่างนุ่มนวลที่สุด. แต่บัดนี้ผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้นหลายคนกำลังใคร่ครวญบทบาทของการตีสอนเสียใหม่ และเหล่าบิดามารดาที่ห่วงใยกำลังค้นหาเพื่อได้ความกระจ่างบ้างในเรื่องนี้.
อย่างไรก็ตาม คัมภีร์ไบเบิลได้ให้คำแนะนำที่ชัดเจนสมเหตุสมผลตลอดมาเกี่ยวกับการเลี้ยงดูบุตร. เกือบ 2,000 ปีมาแล้ว คัมภีร์ไบเบิลบอกดังนี้: “ผู้เป็นบิดา อย่ายั่วบุตรของท่านให้ขัดเคืองใจ แต่จงอบรมเขาด้วยการตีสอนและการปรับความคิดจิตใจตามหลักการของพระยะโฮวา.” (เอเฟโซ 6:4, ล.ม.) คำนามภาษากรีกที่ได้รับการแปลว่า “การตีสอน” หมายถึง “การเลี้ยงดู, การฝึก, การสั่งสอน.”9 คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า การตีสอน หรือการสั่งสอนเช่นนั้นเป็นหลักฐานแสดงความรักของบิดามารดา. (สุภาษิต 13:24) เด็ก ๆ จะวัฒนาขึ้นโดยมีแนวชี้แนะทางศีลธรรมอันแจ่มชัดและความรู้สึกผิดชอบที่ได้รับการพัฒนาแล้ว. การตีสอนบอกพวกเขาให้ทราบว่าบิดามารดาห่วงใยพวกเขาและในเรื่องที่ว่าพวกเขากำลังจะเติบโตขึ้นเป็นบุคคลชนิดใด.
แต่อำนาจของบิดามารดา—“ไม้เรียวแห่งการตีสอน”—ไม่ควรใช้อย่างผิด ๆ.b (สุภาษิต 22:15, ล.ม.; 29:15) คัมภีร์ไบเบิลเตือนบิดามารดาดังนี้: “อย่าว่ากล่าวแก้ไขบุตรของท่านมากเกินไป มิฉะนั้นท่านจะทำให้เขาหมดกำลังใจ.” (โกโลซาย 3:21, ฟิลลิปส์) คัมภีร์ไบเบิลยังยอมรับอีกด้วยว่า ตามปกติแล้วการลงโทษทางกายไม่ใช่วิธีการสอนที่ได้ผลที่สุด. สุภาษิต 17:10 (ฉบับแปลใหม่) กล่าวว่า “คำขนาบเข้าไปในคนที่มีความเข้าใจลึกกว่าเฆี่ยนคนโง่สักร้อยที.” นอกจากนี้ คัมภีร์ไบเบิลแนะนำการตีสอนในเชิงป้องกัน. ที่พระบัญญัติ 11:19 บิดามารดาได้รับการสนับสนุนให้ใช้ช่วงเวลาที่เป็นกันเองให้เป็นประโยชน์ในการปลูกฝังค่านิยมด้านศีลธรรมไว้ในบุตรของตน.—ดูพระบัญญัติ 6:6, 7 ด้วย.
คำแนะนำที่ใช้ได้ตลอดไปของคัมภีร์ไบเบิลสำหรับบิดามารดามีบอกชัดเจน. บุตรจำเป็นต้องได้รับการตีสอนที่เสมอต้นเสมอปลายและด้วยความรัก. ประสบการณ์จริงแสดงว่า คำแนะนำเช่นนั้นใช้ได้ผลจริง.c
การเอาชนะสิ่งกีดขวางที่แบ่งแยกผู้คน
ผู้คนทุกวันนี้ถูกแบ่งแยกด้วยสิ่งกีดขวางทางเชื้อชาติ, ชนชาติ, และชาติพันธุ์. กำแพงกีดขวางที่มนุษย์สร้างขึ้นนั้นมีส่วนทำให้เกิดการสังหารมนุษย์ที่ไร้ความผิดในสงครามตลอดทั่วโลก. หากประวัติศาสตร์เป็นสิ่งบ่งชี้ ความคาดหวังที่จะให้ชายหญิงต่างเชื้อชาติและชนชาติมองดูและปฏิบัติต่อกันอย่างเสมอภาคนั้นช่างมืดมนเสียจริง ๆ. รัฐบุรุษชาวแอฟริกาคนหนึ่งกล่าวว่า “ทางแก้อยู่ในหัวใจเรา.”11 แต่การเปลี่ยนแปลงหัวใจมนุษย์ไม่ใช่เรื่องง่าย. กระนั้น ขอพิจารณาวิธีที่ข่าวสารในคัมภีร์ไบเบิลดึงดูดหัวใจและส่งเสริมเจตคติแห่งความเสมอภาค.
คำสอนในคัมภีร์ไบเบิลที่ว่า พระเจ้า “ได้ทรงสร้างมนุษย์ทุกชาติจากคน ๆ เดียว” ขจัดแนวความคิดใด ๆ ในเรื่องความเหนือกว่าด้านเชื้อชาติออกไป. (กิจการ 17:26, ล.ม.) คัมภีร์ไบเบิลเผยให้เห็นว่า แท้จริงแล้ว มีเผ่าพันธุ์เดียวเท่านั้นคือ เผ่าพันธุ์มนุษย์. นอกจากนี้ คัมภีร์ไบเบิลสนับสนุนเราให้ “เป็นผู้เลียนแบบพระเจ้า” ผู้ซึ่งคัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงดังนี้: “[พระองค์] ไม่ทรงเลือกหน้าผู้ใด แต่ชาวชนในประเทศใด ๆ ที่เกรงกลัวพระองค์และประพฤติในทางชอบธรรมก็เป็นที่ชอบพระทัยพระองค์.” (เอเฟโซ 5:1, ล.ม.; กิจการ 10:34, 35) สำหรับผู้ที่เอาจริงเอาจังกับคัมภีร์ไบเบิลและผู้ซึ่งพยายามดำเนินชีวิตตามคำสอนในคัมภีร์ไบเบิลอย่างแท้จริง ความรู้นี้ส่งผลให้มีเอกภาพ. คัมภีร์ไบเบิลส่งผลถึงระดับลึกที่สุด คือในหัวใจมนุษย์ ทำลายสิ่งกีดขวางที่มนุษย์สร้างขึ้นซึ่งทำให้ผู้คนแบ่งแยก. ขอพิจารณาสักตัวอย่างหนึ่ง.
คราวที่ฮิตเลอร์ทำสงครามทั่วยุโรป มีคริสเตียนกลุ่มหนึ่ง—พยานพระยะโฮวา—ซึ่งยืนหยัดไม่ยอมเข้าร่วมในการสังหารมนุษย์ที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่. เขาจะ “ไม่ยกดาบ” ขึ้นต่อสู้เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน. เขายึดอยู่กับจุดยืนนี้เพราะเขาปรารถนาจะทำให้พระเจ้าพอพระทัย. (ยะซายา 2:3, 4; มีคา 4:3, 5) เขาเชื่ออย่างแท้จริงในสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลสอน—ที่ว่า ไม่มีชนชาติหรือเชื้อชาติใดดีกว่ากัน. (ฆะลาเตีย 3:28) เนื่องจากพยานพระยะโฮวามีจุดยืนที่รักสันติ เขาจึงอยู่ในบรรดานักโทษพวกแรก ๆ ในค่ายกักกัน.—โรม 12:18.
แต่ไม่ใช่ทุกคนที่อ้างว่าทำตามคัมภีร์ไบเบิลได้ยึดเอาจุดยืนเช่นนั้น. ไม่นานภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง มาร์ติน นีเมิลเลอร์ นักเทศน์ชาวเยอรมันแห่งนิกายโปรเตสแตนต์ เขียนว่า “ใครก็ตามที่อยากโทษพระเจ้าเรื่อง [สงคราม] นั้นเป็นคนไม่รู้ หรือไม่ต้องการจะรู้พระคำของพระเจ้า. ... คริสตจักรต่าง ๆ ทุกสมัยได้ขันอาสาครั้งแล้วครั้งเล่าจะเป็นฝ่ายอวยชัยให้พรการทำสงคราม, กองทัพ, และยุทโธปกรณ์และ ... ได้อธิษฐานซึ่งก็ไม่ใช่แบบคริสเตียนเอาเสียเลยคือ ขอให้ศัตรูประสบความพินาศในการสงคราม. ทั้งหมดนี้แหละคือความผิดของเราและเป็นความผิดของบรรพบุรุษของเรา แต่แน่นอน ไม่อาจโทษพระเจ้าได้เลย. และพวกเราคริสเตียนสมัยนี้ต้องอับอายขายหน้าชนกลุ่มหนึ่งเรียกกันว่าเป็นนิกายเช่นนักศึกษาพระคัมภีร์ที่จริงใจ [พยานพระยะโฮวา] ซึ่งหลายร้อยหลายพันคนถูกส่งเข้าไปอยู่ในค่ายกักกันและถึงแก่ชีวิต [เสียด้วยซ้ำ] เนื่องจากพวกเขาไม่ยอมรับราชการทหารและไม่ยอมยิงเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน.”12
จนถึงวันนี้ พยานพระยะโฮวาเป็นที่รู้จักดีเนื่องด้วยภราดรภาพของพวกเขาซึ่งทำให้ชาวอาหรับกับชาวยิว, ชาวโครเอเชียกับชาวเซิร์บ, ชาวฮูตูกับชาวทุตซี เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน. กระนั้น พวกพยานฯ ก็พร้อมยอมรับว่า เอกภาพเช่นนั้นเป็นไปได้ ไม่ใช่เพราะพวกเขาดีกว่าคนอื่น ๆ แต่เพราะว่าพวกเขาได้รับแรงกระตุ้นจากพลังแห่งข่าวสารในคัมภีร์ไบเบิล.—1 เธซะโลนิเก 2:13.
คำชี้แนะที่ใช้ได้จริงซึ่งส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดี
สุขภาพร่างกายของคนเรามักเป็นผลสืบเนื่องจากภาวะของสุขภาพทางใจและทางอารมณ์. ตัวอย่างเช่น การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ได้ยืนยันผลกระทบของความโกรธที่ก่อความเสียหาย. “หลักฐานส่วนใหญ่ที่มีอยู่แนะว่า คนฉุนเฉียวมีความเสี่ยงสูงต่อโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด (รวมทั้งโรคอื่น ๆ ด้วย) เนื่องด้วยสาเหตุหลายประการ ซึ่งรวมทั้งการไม่ค่อยมีเพื่อน, ผลกระทบต่อร่างกายเพิ่มขึ้นเมื่อโกรธ, และการหมกมุ่นมากขึ้นในพฤติกรรมที่เสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพ” เป็นคำกล่าวของนายแพทย์เรดฟอร์ด วิลเลียมส์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยด้านพฤติกรรมประจำศูนย์การแพทย์ที่ดุ๊ก ยูนิเวอร์ซิตี กับเวอร์จิเนีย วิลเลียมส์ภรรยาของเขา ในหนังสือ ความโกรธคร่าชีวิต (ภาษาอังกฤษ) ที่เขาทั้งสองเขียน.13
หลายพันปีก่อนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ดังกล่าว คัมภีร์ไบเบิลบอกถึงความเกี่ยวพันระหว่างสภาพทางอารมณ์กับสุขภาพร่างกายของเราด้วยคำพูดที่เรียบง่ายแต่ชัดเจนดังนี้: “ใจที่สงบเป็นความจำเริญชีวิตฝ่ายกาย; แต่ความอิจฉาริษยาคือความเปื่อยเน่าของกระดูก.” (สุภาษิต 14:30; 17:22) คัมภีร์ไบเบิลให้คำแนะนำอย่างฉลาดสุขุมว่า “จงอดกลั้นความโกรธไว้, และระงับความโทโสเสีย” และ “อย่าให้ใจของเจ้าโกรธเร็ว.”—บทเพลงสรรเสริญ 37:8; ท่านผู้ประกาศ 7:9.
คัมภีร์ไบเบิลยังมีคำแนะนำที่สมเหตุผลสำหรับการจัดการกับความโกรธด้วย. ตัวอย่างเช่น สุภาษิต 19:11 (ล.ม.) กล่าวดังนี้: “ความหยั่งเห็นของคนย่อมทำให้เขาช้าในการโกรธ และที่มองข้ามการล่วงละเมิดไปก็เป็นความดีงามของเขา.” คำภาษาฮีบรูสำหรับคำ “ความหยั่งเห็น” ได้มาจากคำกริยาซึ่งทำให้คิดถึง “การรู้สาเหตุ” ของเรื่องใดเรื่องหนึ่ง.14 คำแนะนำที่สุขุมคือ “คิดก่อนทำ.” การพยายามเข้าใจสาเหตุที่แฝงอยู่ซึ่งทำให้คนอื่นพูดหรือทำอะไรบางอย่างนั้นสามารถช่วยคนเรายอมทนให้มากขึ้น—และมีแนวโน้มจะโกรธน้อยลง.—สุภาษิต 14:29.
คำแนะนำที่ใช้การได้จริงอีกข้อหนึ่งพบที่พระธรรมโกโลซาย 3:13 (ล.ม.) ซึ่งกล่าวว่า “จงทนต่อกันและกันอยู่เรื่อยไปและจงอภัยให้กันและกันอย่างใจกว้าง.” ความขุ่นเคืองใจเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต. คำกล่าวที่ว่า “ทนต่อกันและกันอยู่เรื่อยไป” แนะการยอมอดทนต่อสิ่งที่เราไม่ชอบในตัวคนอื่น. คำ “อภัย” หมายถึงปล่อยให้ความขุ่นเคืองผ่านไปเสีย. บางครั้ง เป็นการฉลาดสุขุมที่จะปล่อยให้ความรู้สึกขุ่นแค้นผ่านไปเสียแทนที่จะฝังใจจำ; การเก็บงำความโกรธไว้มีแต่จะทำภาระของเราหนักขึ้น.—ดูกรอบ “คำชี้แนะที่ใช้การได้จริงในเรื่องสัมพันธภาพของมนุษย์.”
ปัจจุบัน มีแหล่งคำแนะนำและคำชี้แนะอยู่มากมาย. แต่คัมภีร์ไบเบิลนับว่าหาที่เปรียบไม่ได้อย่างแท้จริง. คำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิลไม่ใช่แค่ทฤษฎี และคำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิลไม่เคยก่อผลเสียหายแก่เรา. แต่สติปัญญาในคัมภีร์ไบเบิลปรากฏว่า “น่าไว้วางใจอย่างยิ่ง.” (บทเพลงสรรเสริญ 93:5, ล.ม.) นอกจากนั้น คำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิลใช้ได้ตลอดไป. ถึงแม้คัมภีร์ไบเบิลจารึกเสร็จเกือบ 2,000 ปีมาแล้ว ถ้อยคำในคัมภีร์ไบเบิลก็ยังนำไปใช้ได้. และถ้อยคำเหล่านั้นใช้ได้ผลเท่ากันไม่ว่าเราจะมีผิวสีอะไรหรืออยู่ในประเทศไหน. ถ้อยคำในคัมภีร์ไบเบิลยังมีพลังอีกด้วย คือพลังที่เปลี่ยนแปลงผู้คนให้ดีขึ้น. (เฮ็บราย 4:12) ดังนั้น การอ่านหนังสือนี้และนำหลักการที่มีบอกไว้ไปใช้ย่อมสามารถปรับปรุงคุณภาพชีวิตคุณได้.
[เชิงอรรถ]
a คำภาษาฮีบรู ดาวาคʹ ที่ได้รับการแปลในข้อนี้ว่า “ผูกพัน” นั้น “หมายถึงการผูกพันสนิทกับใครคนหนึ่งด้วยความรักใคร่และความภักดี.”4 ในภาษากรีก คำนี้ซึ่งได้รับการแปลว่า “ไปผูกพัน” ที่มัดธาย 19:5 เกี่ยวพันกับคำที่หมายความว่า “ทำให้ติดแน่น,” “ทำให้ติดแน่นแข็งแรง,” “ทำให้ติดกันแน่นสนิท.”5
b ในสมัยคัมภีร์ไบเบิล คำ “ไม้เรียว” (ภาษาฮีบรู เช ʹเวต) หมายถึง “ไม้” หรือ “ไม้เท้า” อย่างที่คนเลี้ยงแกะใช้.10 ในบริบทนี้ ไม้เรียวแห่งอำนาจบอกเป็นนัยถึงการชี้แนะด้วยความรัก ไม่ใช่การกระทำที่เกรี้ยวกราดรุนแรง.—เทียบกับบทเพลงสรรเสริญ 23:4.
c ดูบท “จงอบรมลูกของคุณตั้งแต่เป็นทารก,” “จงช่วยลูกวัยรุ่นให้วัฒนาขึ้น,” “มีคนขืนอำนาจในบ้านไหม?,” “จงปกป้องครอบครัวของคุณไว้จากอิทธิพลที่ยังความเสียหาย” ในหนังสือเคล็ดลับสำหรับความสุขในครอบครัว พิมพ์โดยสมาคมว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์แห่งนิวยอร์ก.
[คำโปรยหน้า 24]
คัมภีร์ไบเบิลให้คำแนะนำที่ชัดเจนสมเหตุผลเกี่ยวกับชีวิตครอบครัว
[กรอบหน้า 23]
ลักษณะเด่นของครอบครัวที่มั่นคง
หลายปีมาแล้ว มีผู้หนึ่งซึ่งเป็นทั้งนักการศึกษาและผู้ชำนัญพิเศษด้านครอบครัวได้ดำเนินการสำรวจอย่างละเอียดซึ่งมีการขอให้พวกที่ปรึกษามืออาชีพในด้านครอบครัวมากกว่า 500 คนออกความเห็นเกี่ยวกับลักษณาการที่เขาสังเกตเห็นในครอบครัวที่ “มั่นคง.” น่าสนใจ ในลักษณาการร่วมที่มีมากที่สุดซึ่งมีการลงรายการไว้เป็นสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลแนะไว้นานมาแล้ว.
การสื่อความที่ดีอยู่อันดับแรกในรายการนั้น ซึ่งรวมถึงวิธีการที่ใช้ได้ผลในการประนีประนอมข้อขัดแย้ง. ผู้เขียนรายงานการสำรวจนี้ให้ข้อสังเกตว่า แนวปฏิบัติเหมือน ๆ กันที่พบในครอบครัวที่มั่นคงคือ “ไม่มีใครเข้านอนขณะที่ยังโกรธกันอยู่.”6 กระนั้น กว่า 1,900 ปีมาแล้ว คัมภีร์ไบเบิลแนะนำดังนี้: “โกรธเถิด, แต่อย่าให้เป็นการบาป อย่าให้ถึงตะวันตกท่านยังโกรธอยู่.” (เอเฟโซ 4:26) ในสมัยคัมภีร์ไบเบิล การนับวันเริ่มตั้งแต่ตะวันตกดินถึงตะวันตกดิน. ดังนั้น เป็นเวลานานก่อนที่พวกผู้เชี่ยวชาญสมัยใหม่ทำการวิจัยด้านครอบครัว คัมภีร์ไบเบิลแนะนำอย่างสุขุมดังนี้: ให้รีบจัดการกับเรื่องราวที่ทำให้แตกแยกโดยเร็ว—ก่อนวันนั้นจะจบลงและอีกวันหนึ่งเริ่มต้น.
ผู้เขียนพบว่า ครอบครัวที่มั่นคง “ไม่เริ่มถกกันในเรื่องที่อาจทำให้บันดาลโทสะก่อนเขาออกจากบ้านหรือก่อนเข้านอน. ข้าพเจ้าได้ยินวลี ‘เหมาะกับกาลเทศะ’ ซ้ำแล้วซ้ำอีก.”7 ครอบครัวเหล่านั้นสะท้อนถึงสุภาษิตในคัมภีร์ไบเบิลซึ่งบันทึกเมื่อ 2,700 กว่าปีมาแล้วโดยไม่รู้ตัว ที่ว่า “คำพูดที่เหมาะกับกาลเทศะ เปรียบเหมือนผลแอปเปิลทำด้วยทองคำใส่ไว้ในกระเช้าเงิน.” (สุภาษิต 15:23; 25:11) คำอุปมานี้อาจพาดพิงถึงเครื่องประดับรูปแอปเปิลทำด้วยทองคำที่วางบนถาดเงินสลัก—ซึ่งเป็นทรัพย์ที่มีราคาและความสวยงามในสมัยคัมภีร์ไบเบิล. อุปมานี้ถ่ายทอดความงามและคุณค่าของถ้อยคำที่กล่าวในเวลาที่เหมาะสม. ในสภาพการณ์ตึงเครียด ถ้อยคำที่ถูกต้องซึ่งเหมาะกับกาลเทศะนับว่าล้ำค่า.—สุภาษิต 10:19.
[กรอบหน้า 26]
คำชี้แนะที่ใช้ได้จริงในเรื่องสัมพันธภาพกับเพื่อนมนุษย์
“ขุ่นเคืองเถิด แต่อย่าทำบาป. พูดในใจ เมื่ออยู่บนเตียง และเงียบเสีย.” (บทเพลงสรรเสริญ 4:4, ล.ม.) ในกรณีส่วนใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดเล็ก ๆ น้อย ๆ คงเป็นการสุขุมที่จะยับยั้งคำพูดของคุณไว้ ด้วยวิธีนี้จึงหลีกเลี่ยงการปะทะอารมณ์กัน.
“คำพูดพล่อย ๆ ของคนบางจำพวกเหมือนการแทงของกระบี่; แต่ลิ้นของคนมีปัญญาย่อมรักษาแผลให้หาย.” (สุภาษิต 12:18) จงคิดก่อนพูด. คำพูดพล่อย ๆ สามารถทำให้คนอื่นเจ็บใจและทำลายมิตรภาพ.
“คำตอบอ่อนหวานกระทำให้ความโกรธผ่านพ้นไป; แต่คำขมเผ็ดร้อนกระทำให้โทโสพลุ่งขึ้น.” (สุภาษิต 15:1) ต้องใช้การควบคุมตนเองเพื่อจะตอบด้วยความนุ่มนวล แต่แนวทางเช่นนั้นมักทำให้ปัญหาบรรเทาและส่งเสริมความสัมพันธ์ที่สงบสุข.
“การเริ่มต้นวิวาทกันก็เหมือนปล่อยน้ำไหล ฉะนั้นก่อนที่จะเกิดการทะเลาะกัน จงหลบไปเสีย.” (สุภาษิต 17:14, ล.ม.) เป็นการฉลาดที่จะถอนตัวไปจากสภาพการณ์ที่ยั่วโทสะก่อนที่คุณจะหัวเสีย.
“อย่าให้ใจของเจ้าโกรธเร็ว, เพราะความโกรธมีประจำอยู่ในทรวงอกของคนโฉดเขลา.” (ท่านผู้ประกาศ 7:9) อารมณ์มักมาก่อนการกระทำ. คนที่โกรธเร็วเป็นคนโฉดเขลา เพราะแนวปฏิบัติของเขาอาจนำไปสู่คำพูดหรือการกระทำที่หุนหัน.
[ภาพหน้า 25]
พยานพระยะโฮวาอยู่ในบรรดานักโทษพวกแรก ๆ ในค่ายกักกัน