อย่าทำให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระยะโฮวาโศกเศร้า
“อย่าทำให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าโศกเศร้า ซึ่งโดยพระวิญญาณนั้นพวกท่านถูกประทับตราไว้.”—เอเฟ. 4:30
1. พระยะโฮวาทรงทำอะไรเพื่อมนุษย์หลายล้านคน และพวกเขามีหน้าที่อะไร?
พระยะโฮวาทรงทำสิ่งที่พิเศษสำหรับหลายล้านคนที่มีชีวิตอยู่ในโลกที่ทุกข์ยากลำบากนี้. พระองค์ทรงโปรดให้เป็นไปได้ที่พวกเขาจะเข้ามาใกล้พระองค์โดยทางพระเยซูคริสต์พระบุตรองค์เดียวของพระองค์. (โย. 6:44) ถ้าคุณได้อุทิศตัวแด่พระเจ้าแล้วและดำเนินชีวิตตามการอุทิศตัวนั้น คุณก็เป็นคนหนึ่งในบรรดาคนเหล่านี้. ในฐานะผู้รับบัพติสมาในนามของพระวิญญาณบริสุทธิ์ คุณมีหน้าที่ที่จะประพฤติสอดคล้องกับพระวิญญาณนั้น.—มัด. 28:19
2. เราจะพิจารณาคำถามอะไร?
2 พวกเราที่ “หว่านเพื่อจะได้พระวิญญาณ” ได้สวมบุคลิกภาพใหม่. (กลา. 6:8; เอเฟ. 4:17-24) แต่อัครสาวกเปาโลให้คำแนะนำและเตือนเราว่าอย่าทำให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าโศกเศร้า. (อ่านเอเฟโซส์ 4:25-32) ต่อไปนี้เราจะพิจารณาคำแนะนำของเปาโลอย่างละเอียด. เปาโลหมายความอย่างไรเมื่อท่านกล่าวถึงการทำให้พระวิญญาณของพระเจ้าโศกเศร้า? คนที่อุทิศตัวแด่พระยะโฮวาแล้วจะทำเรื่องแบบนั้นได้อย่างไร? และเราจะหลีกเลี่ยงการทำให้พระวิญญาณของพระยะโฮวาโศกเศร้าได้อย่างไร?
เปาโลหมายถึงอะไร?
3. คุณจะอธิบายอย่างไรเกี่ยวกับความหมายของถ้อยคำที่บันทึกไว้ในเอเฟโซส์ 4:30?
3 ก่อนอื่น ขอให้สังเกตคำพูดของเปาโลดังที่บันทึกไว้ในเอเฟโซส์ 4:30. ท่านเขียนว่า “อย่าทำให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าโศกเศร้า ซึ่งโดยพระวิญญาณนั้นพวกท่านถูกประทับตราไว้สำหรับวันแห่งการปลดเปลื้องด้วยค่าไถ่.” เปาโลไม่ต้องการให้เพื่อนร่วมความเชื่อที่รักของท่านได้รับอันตรายฝ่ายวิญญาณ. พวกเขา “ถูกประทับตราไว้สำหรับวันแห่งการปลดเปลื้องด้วยค่าไถ่” โดยพระวิญญาณของพระยะโฮวา. ในอดีต พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าเคยเป็นตราประทับหรือ ‘หลักฐานยืนยันไว้ล่วงหน้าถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้น’ สำหรับผู้ถูกเจิมที่รักษาความซื่อสัตย์มั่นคง และยังคงเป็นเช่นนั้นในทุกวันนี้. (2 โค. 1:22) ตราประทับนั้นบอกให้ทราบว่าพวกเขาเป็นสมบัติของพระเจ้าและจะได้รับชีวิตในสวรรค์. ในที่สุด คนที่ได้รับการประทับตราจะมีจำนวนทั้งหมด 144,000 คน.—วิ. 7:2-4
4. เหตุใดจึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องระวังอย่าทำให้พระวิญญาณของพระเจ้าโศกเศร้า?
4 การทำให้พระวิญญาณโศกเศร้าอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ชีวิตของคริสเตียนไม่ได้รับการชี้นำจากพลังปฏิบัติการของพระเจ้าอีกต่อไป. มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าเรื่องนี้เป็นไปได้จากคำพูดของดาวิดหลังจากที่ท่านทำผิดกับนางบัธเซบะ. ดาวิดทูลวิงวอนต่อพระยะโฮวาอย่างสำนึกผิดว่า “ขอพระองค์อย่าทรงผลักไสข้าพเจ้าไปเสียให้พ้นพระพักตร์ของพระองค์; และขออย่าทรงนำพระจิตต์บริสุทธิ์ของพระองค์ไปจากข้าพเจ้า.” (เพลง. 51:11) เฉพาะผู้ถูกเจิมที่ได้พิสูจน์ตัว “ซื่อสัตย์ตราบสิ้นชีวิต” เท่านั้นที่จะได้รับ “มงกุฎ” แห่งอมตชีพในสวรรค์. (วิ. 2:10; 1 โค. 15:53) คริสเตียนที่มีความหวังจะอยู่บนแผ่นดินโลกยังจำเป็นต้องได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์ด้วยเพื่อที่จะรักษาความซื่อสัตย์มั่นคงต่อพระเจ้าและได้รับชีวิตเป็นรางวัลโดยอาศัยความเชื่อในเครื่องบูชาไถ่ของพระคริสต์. (โย. 3:36; โรม 5:8; 6:23) ดังนั้น พวกเราทุกคนต้องระวังอย่าทำให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระยะโฮวาโศกเศร้า.
คริสเตียนอาจทำให้พระวิญญาณโศกเศร้าได้อย่างไร?
5, 6. คริสเตียนอาจทำให้พระวิญญาณของพระยะโฮวาโศกเศร้าได้อย่างไร?
5 ในฐานะคริสเตียนที่อุทิศตัวแล้ว เราสามารถหลีกเลี่ยงการทำให้พระวิญญาณโศกเศร้า. เราทำอย่างนั้นได้ถ้าเรา “ดำเนินชีวิตตามการทรงนำจากพระวิญญาณ” เพราะเมื่อทำอย่างนั้นแล้วเราจะไม่พ่ายแพ้แก่ความปรารถนาผิด ๆ ทางกายและจะไม่แสดงนิสัยที่ขัดกับมาตรฐานของพระเจ้า. (กลา. 5:16, 25, 26) แต่ทุกอย่างอาจเปลี่ยนไป. เราอาจทำให้พระวิญญาณของพระเจ้าโศกเศร้าในระดับหนึ่งด้วยการปล่อยตัวเองให้ค่อย ๆ ลอยห่าง อาจจะโดยแทบไม่ทันรู้ตัว แล้วก็ทำสิ่งที่พระคัมภีร์ซึ่งมีขึ้นโดยการดลใจจากพระวิญญาณของพระเจ้าตำหนิ.
6 ถ้าเราทำสิ่งที่ตรงกันข้ามกับการชี้นำของพระวิญญาณบริสุทธิ์อยู่เรื่อย ๆ เราจะทำให้พระวิญญาณโศกเศร้า ซึ่งหมายถึงการทำให้พระยะโฮวาผู้ทรงเป็นบ่อเกิดของพระวิญญาณนั้นโศกเศร้า. เมื่อพิจารณาเอเฟโซส์ 4:25-32 เราจะเห็นวิธีที่เราเองควรประพฤติ และนั่นอาจช่วยให้เราหลีกเลี่ยงการทำให้พระวิญญาณของพระเจ้าโศกเศร้า.
วิธีที่เราจะไม่ทำให้พระวิญญาณโศกเศร้า
7, 8. จงอธิบายว่าทำไมเราต้องพูดความจริง.
7 เราต้องพูดความจริง. เปาโลเขียนไว้ในเอเฟโซส์ 4:25 ว่า “เมื่อท่านทั้งหลายเลิกพูดมุสาแล้ว ให้พวกท่านแต่ละคนพูดความจริงกับเพื่อนบ้าน เพราะเราเป็นอวัยวะของกันและกัน.” เนื่องจากเราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในฐานะที่เป็น “อวัยวะของกันและกัน” เราไม่ควรใช้เล่ห์เหลี่ยมหรือจงใจพยายามทำให้เพื่อนผู้นมัสการเข้าใจผิด เพราะการทำอย่างนั้นไม่ต่างกับการโกหกพวกเขา. ใครก็ตามที่ดึงดันจะทำอย่างนั้นต่อ ๆ ไปย่อมลงเอยด้วยการสูญเสียสายสัมพันธ์กับพระเจ้า.—อ่านสุภาษิต 6:16, 17
8 คำพูดและการกระทำที่ทำให้เข้าใจผิดอาจทำลายเอกภาพในประชาคม. ดังนั้น เราควรเป็นเหมือนผู้พยากรณ์ดานิเอลที่ซื่อสัตย์ซึ่งคนอื่นไม่พบความผิดใด ๆ ในตัวท่าน. (ดานิ. 6:4) และเราควรระลึกถึงคำแนะนำของเปาโลที่ให้แก่คริสเตียนที่มีความหวังทางภาคสวรรค์ที่ว่า สมาชิกแต่ละคนแห่ง “พระกายของพระคริสต์” เป็นอวัยวะของกันและกันและต้องรักษาเอกภาพกับสาวกผู้ถูกเจิมของพระเยซูคนอื่น ๆ ที่พูดแต่ความจริง. (เอเฟ. 4:11, 12) ถ้าเราหวังจะมีชีวิตตลอดไปบนแผ่นดินโลกที่เป็นอุทยานเราก็เช่นกันต้องพูดความจริง ซึ่งการทำอย่างนี้จะส่งเสริมเอกภาพของสังคมพี่น้องทั่วโลก.
9. เหตุใดจึงสำคัญที่เราจะทำตามคำแนะนำที่เอเฟโซส์ 4:26, 27?
9 เราต้องต่อสู้พญามาร อย่าให้มันมีโอกาสทำให้เราได้รับความเสียหายฝ่ายวิญญาณ. (ยโก. 4:7) พระวิญญาณบริสุทธิ์ช่วยเราให้ต่อสู้กับซาตานได้. ตัวอย่างเช่น เราสามารถทำอย่างนั้นโดยระวังอย่าโกรธอย่างไม่มีการควบคุม. เปาโลเขียนว่า “ถ้าจะโกรธก็โกรธเถิด แต่อย่าทำบาป อย่าโกรธจนถึงดวงอาทิตย์ตก ทั้งอย่าเปิดช่องให้พญามาร.” (เอเฟ. 4:26, 27) ถ้าเราโกรธอย่างที่ชอบด้วยเหตุผล การอธิษฐานในใจทันทีอาจช่วยเราได้ให้ “มีอารมณ์เยือกเย็น” และควบคุมตัวเองแทนที่จะทำอะไรที่อาจทำให้พระวิญญาณของพระเจ้าโศกเศร้า. (สุภา. 17:27) ดังนั้น อย่าขุ่นเคืองเป็นเวลานานและเปิดช่องให้ซาตานชักนำเราให้ทำสิ่งชั่วร้าย. (เพลง. 37:8, 9) วิธีหนึ่งที่จะต่อสู้มันก็คือโดยจัดการกับข้อขัดแย้งโดยเร็วอย่างที่พระเยซูทรงแนะนำเรา.—มัด. 5:23, 24; 18:15-17
10, 11. เหตุใดเราต้องไม่ขโมยหรือทำสิ่งที่ไม่ซื่อสัตย์?
10 เราต้องไม่ยอมแพ้แก่การล่อใจให้ขโมยหรือไม่ซื่อสัตย์. เปาโลเขียนเกี่ยวกับการขโมยว่า “ผู้ที่ขโมยอย่าขโมยอีกเลย แต่ให้เขาทำงานหนัก ใช้มือของเขาทำการดีแทน เพื่อเขาจะมีอะไรแจกให้คนที่ขัดสนบ้าง.” (เอเฟ. 4:28) ถ้าคริสเตียนที่อุทิศตัวแล้วขโมย เขาจะ ‘ทำให้พระนามพระเจ้าเป็นที่เสื่อมเสีย’ อย่างแน่นอน. (สุภา. 30:7-9) แม้ว่าเขายากจนก็ไม่ได้ทำให้เขามีเหตุผลสมควรที่จะขโมย. คนที่รักพระเจ้าและเพื่อนบ้านตระหนักว่าการขโมยไม่มีทางเป็นเรื่องที่ถูกต้อง.—มโก. 12:28-31
11 เปาโลไม่ได้เพียงแต่กล่าวถึงสิ่งที่เราไม่ควรทำ; ท่านชี้ถึงสิ่งที่เราควรทำด้วย. ถ้าเราดำเนินชีวิตตามการทรงนำของพระวิญญาณบริสุทธิ์ เราจะทำงานหนักเพื่อดูแลครอบครัวและยังมี “อะไรแจกให้คนที่ขัดสนบ้าง.” (1 ติโม. 5:8) พระเยซูและเหล่าอัครสาวกเก็บเงินส่วนหนึ่งไว้เป็นกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนจน แต่ยูดาอิสการิโอตผู้ทรยศยักยอกเงินบางส่วนไป. (โย. 12:4-6) เขาไม่ได้ให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ชี้นำอย่างแน่นอน. พวกเราซึ่งได้รับการชี้นำโดยพระวิญญาณของพระเจ้า “ประพฤติตัวซื่อสัตย์ในทุกสิ่ง” เช่นเดียวกับเปาโล. (ฮีบรู 13:18) โดยทำอย่างนั้น เราหลีกเลี่ยงการทำให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระยะโฮวาโศกเศร้า.
วิธีอื่น ๆ ที่ช่วยเราหลีกเลี่ยงการทำให้พระวิญญาณโศกเศร้า
12, 13. (ก) ดังที่แสดงไว้ในเอเฟโซส์ 4:29 เราควรหลีกเลี่ยงคำพูดแบบใด? (ข) คำพูดของเราควรเป็นแบบใด?
12 เราต้องระวังคำพูดของเรา. เปาโลกล่าวว่า “อย่าให้คำหยาบคายออกมาจากปากท่านทั้งหลาย แต่ให้เป็นคำดี ๆ ที่ทำให้เจริญขึ้นตามความจำเป็นในเวลานั้น เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่คนที่ได้ยินได้ฟัง.” (เอเฟ. 4:29) อีกครั้งหนึ่ง ท่านอัครสาวกไม่เพียงแต่กล่าวว่าเราไม่ควรทำอะไร; ท่านบอกเราด้วยว่าเราควรทำอะไร. โดยได้รับอิทธิพลจากพระวิญญาณของพระเจ้า เราจะถูกกระตุ้นให้ ‘พูดคำดี ๆ ที่ทำให้เจริญขึ้นเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่คนที่ได้ยินได้ฟัง.’ นอกจากนั้น เราไม่ควรให้ “คำหยาบคาย” ออกมาจากปากของเรา. คำภาษากรีกที่แปลในที่นี้ว่า “หยาบคาย” เป็นคำที่ใช้เพื่อพรรณนาถึงผลไม้เน่า, ปลาเน่า, หรือเนื้อเน่า. เช่นเดียวกับที่เราบอกปัดอาหารเช่นนั้นด้วยความรังเกียจ เราต้องเกลียดคำพูดที่พระยะโฮวาทรงถือว่าไม่ดี.
13 คำพูดของเราควรดีงาม, กรุณา, “เหมือนอาหารที่ปรุงด้วยเกลือ.” (โกโล. 3:8-10; 4:6) ผู้คนควรจะสามารถมองออกว่าเราแตกต่างจากคนอื่นเมื่อพวกเขาได้ยินสิ่งที่เราพูด. ดังนั้น ให้เราพูดสิ่งที่ “ทำให้เจริญขึ้น” เสมอ แล้วเราจะรู้สึกเหมือนกับผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญซึ่งร้องเพลงว่า “ข้าแต่พระยะโฮวา, ผู้เป็นศิลา, และเป็นผู้ทรงไถ่โทษของข้าพเจ้า, ขอให้วาจาที่ออกมาจากปากกับความคิดในใจของข้าพเจ้าเป็นที่ชอบต่อพระเนตรของพระองค์.”—เพลง. 19:14
14. ตามเอเฟโซส์ 4:30, 31 เราต้องขจัดอะไรออกไป?
14 เราต้องขจัดความขุ่นแค้น, การเดือดดาล, คำพูดหยาบหยาม, และการชั่วทั้งปวง. หลังจากเตือนว่าอย่าทำให้พระวิญญาณของพระเจ้าโศกเศร้า เปาโลเขียนว่า “ให้ท่านทั้งหลายขจัดความขุ่นแค้น ความโกรธ การเดือดดาล การตวาด และการพูดหยาบหยามออกไปเสียให้หมดพร้อมกับการชั่วทั้งปวง.” (เอเฟ. 4:30, 31) เนื่องจากเป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์ เราทุกคนต้องพยายามอย่างมากเพื่อควบคุมความคิดและการกระทำของเรา. ถ้าเราไม่ควบคุม “ความขุ่นแค้น ความโกรธ การเดือดดาล” เราจะทำให้พระวิญญาณของพระเจ้าโศกเศร้า. เป็นอย่างนั้นด้วยถ้าเราจดจำความผิดที่คนอื่นกระทำต่อเรา แสดงความขุ่นเคือง และไม่ยอมคืนดีกับคนที่ทำผิดต่อเรา. ถ้าเราถึงกับเริ่มเพิกเฉยคำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิล เราอาจสร้างนิสัยที่อาจลุกลามจนทำให้เราทำผิดต่อพระวิญญาณและเราอาจประสบผลเป็นความหายนะ.
15. ถ้ามีใครทำผิดต่อเรา เราควรทำอะไร?
15 เราต้องกรุณา, เห็นอกเห็นใจ, และให้อภัย. เปาโลเขียนว่า “จงกรุณาต่อกัน แสดงความเห็นใจกัน ให้อภัยกันอย่างใจกว้างอย่างที่พระเจ้าทรงให้อภัยท่านทั้งหลายอย่างใจกว้างโดยพระคริสต์เช่นกัน.” (เอเฟ. 4:32) แม้แต่ถ้ามีบางคนทำผิดต่อเราและทำให้เราเจ็บใจมาก เราต้องให้อภัยเขาเช่นเดียวกับที่พระเจ้าทรงให้อภัย. (ลูกา 11:4) สมมุติว่าเพื่อนร่วมความเชื่อคนหนึ่งพูดถึงเราในทางที่ไม่ดี. เพื่อจะจัดการแก้ไขเรื่องนี้ให้เรียบร้อย เราจึงเข้าไปพูดคุยกับเขา. เขาแสดงความเสียใจอย่างแท้จริงและขออภัย. เราให้อภัยเขา แต่เราจำเป็นต้องทำมากกว่านั้น. เลวีติโก 19:18 กล่าวว่า “อย่าแก้แค้นหรือผูกพยาบาทผู้หนึ่งผู้ใด, แต่จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตัวเอง. เราเป็นยะโฮวา.”
จำเป็นต้องคอยระวัง
16. จงยกตัวอย่างที่แสดงว่าเราอาจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเพื่อจะไม่ทำให้พระวิญญาณของพระยะโฮวาโศกเศร้า.
16 แม้เมื่ออยู่ในที่ส่วนตัว เราอาจถูกล่อใจให้ทำสิ่งที่พระเจ้าไม่พอพระทัย. ตัวอย่างเช่น พี่น้องชายคนหนึ่งอาจชอบฟังดนตรีที่ไม่เหมาะกับคริสเตียน. ในที่สุด สติรู้สึกผิดชอบของเขาก็รบกวนใจเขาที่เพิกเฉยคำแนะนำตามหลักพระคัมภีร์ซึ่งพบในหนังสือที่มาจาก “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม.” (มัด. 24:45) เขาอาจอธิษฐานเกี่ยวกับปัญหานี้และอาจระลึกขึ้นได้ถึงถ้อยคำของเปาโลที่บันทึกไว้ในเอเฟโซส์ 4:30. ด้วยความตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าจะไม่ทำสิ่งใดที่อาจทำให้พระวิญญาณของพระเจ้าโศกเศร้า เขาตัดสินใจว่าจะไม่ฟังดนตรีที่ไม่เหมาะกับคริสเตียนอีกต่อไป. พระยะโฮวาจะทรงอวยพรพี่น้องชายคนนี้ที่มีทัศนะที่ดี. ด้วยเหตุนั้น ให้เราระวังอยู่เสมอที่จะไม่ทำให้พระวิญญาณของพระเจ้าโศกเศร้า.
17. อาจเกิดอะไรขึ้นหากเราไม่ตื่นตัวและเฝ้าระวังอย่างจริงจัง?
17 หากเราไม่ตื่นตัวและเฝ้าระวังอย่างจริงจัง เราอาจพ่ายแพ้แก่การล่อใจให้ทำสิ่งที่ไม่สะอาดหรือทำผิดซึ่งทำให้พระวิญญาณโศกเศร้า. เนื่องจากพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นพลังปฏิบัติการที่พระยะโฮวาทรงใช้เพื่อทำตามพระประสงค์ของพระองค์ที่บอกไว้อย่างชัดเจน การดำเนินกิจของพระวิญญาณจึงประสานลงรอยกับพระองค์เสมอ. ดังนั้น เมื่อเราทำให้พระวิญญาณโศกเศร้า เราจึงทำให้พระยะโฮวาโศกเศร้า. เราไม่อยากจะเป็นต้นเหตุที่ทำให้เป็นเช่นนั้นอย่างแน่นอน. (เอเฟ. 4:30) อาลักษณ์ชาวยิวในศตวรรษแรกลงความเห็นอย่างชั่วร้ายว่าการอัศจรรย์ที่พระเยซูทรงทำมาจากซาตาน. (อ่านมาระโก 3:22-30) ศัตรูเหล่านั้นของพระคริสต์ “หมิ่นประมาทพระวิญญาณบริสุทธิ์” และการทำอย่างนั้นเป็นบาปที่ไม่อาจให้อภัยได้. อย่าให้เรากลายเป็นคนแบบนั้น!
18. เราจะบอกได้อย่างไรว่าเราไม่ได้ทำบาปชนิดที่ไม่อาจให้อภัยได้?
18 เนื่องจากเราไม่ต้องการแม้แต่จะเข้าไปใกล้การทำบาปที่ไม่อาจให้อภัยได้ เราต้องไม่ลืมสิ่งที่เปาโลกล่าวเกี่ยวกับการทำให้พระวิญญาณโศกเศร้า. แต่จะว่าอย่างไรถ้าเราทำผิดร้ายแรง? ถ้าเรากลับใจและรับความช่วยเหลือจากผู้ปกครอง เราสามารถลงความเห็นได้ว่าพระเจ้าทรงให้อภัยเราและเราไม่ได้ทำบาปต่อพระวิญญาณบริสุทธิ์. ด้วยความช่วยเหลือจากพระเจ้า เรายังจะสามารถหลีกเลี่ยงการทำให้พระวิญญาณของพระเจ้าโศกเศร้าอีกไม่ว่าจะโดยวิธีใดก็ตาม.
19, 20. (ก) มีอะไรบ้างที่เราต้องหลีกเลี่ยง? (ข) เราควรตั้งใจแน่วแน่ที่จะทำอะไร?
19 โดยทางพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้า พระองค์ทรงส่งเสริมให้มีความรัก, ความยินดี, และเอกภาพในหมู่ประชาชนของพระองค์. (เพลง. 133:1-3) ด้วยเหตุนี้ เราควรระวังไม่ทำให้พระวิญญาณของพระเจ้าโศกเศร้าด้วยการซุบซิบนินทาซึ่งทำให้ผู้อื่นเสียหาย หรือพูดสิ่งที่ทำให้คนอื่นขาดความนับถือต่อผู้บำรุงเลี้ยงที่ได้รับการแต่งตั้งโดยพระวิญญาณ. (กิจ. 20:28; ยูดา 8) แทนที่จะเป็นอย่างนั้น เราควรส่งเสริมเอกภาพและความนับถือที่มีต่อกันในประชาคม. แน่นอน เราไม่ควรสนับสนุนการแบ่งพรรคแบ่งพวกในหมู่ประชาชนของพระเจ้า. เปาโลเขียนว่า “พี่น้องทั้งหลาย ข้าพเจ้ากระตุ้นเตือนพวกท่านในนามพระเยซูคริสต์เจ้าของเราว่า พวกท่านทุกคนควรพูดให้สอดคล้องกันและอย่าแตกแยกกัน แต่ให้มีจิตใจและแนวความคิดอย่างเดียวกัน.”—1 โค. 1:10.
20 พระยะโฮวาทรงสามารถช่วยเราให้หลีกเลี่ยงการทำให้พระวิญญาณของพระองค์โศกเศร้า และพระองค์ทรงเต็มพระทัยจะช่วยเรา. ให้เราอธิษฐานขอพระวิญญาณบริสุทธิ์ต่อ ๆ ไปและตั้งใจแน่วแน่ที่จะไม่ทำให้พระวิญญาณโศกเศร้า. ให้เราพยายาม “หว่านเพื่อจะได้พระวิญญาณ” ตั้งใจแสวงหาการชี้นำจากพระวิญญาณทั้งในเวลานี้และตลอดไป.
คุณจะตอบอย่างไร?
• การทำให้พระวิญญาณของพระเจ้าโศกเศร้าหมายถึงอะไร?
• คนที่อุทิศตัวแด่พระยะโฮวาแล้วอาจทำให้พระวิญญาณของพระองค์โศกเศร้าได้อย่างไร?
• เราจะหลีกเลี่ยงการทำให้พระวิญญาณบริสุทธิ์โศกเศร้าได้โดยวิธีใด?
[ภาพหน้า 30]
จงจัดการกับข้อขัดแย้งโดยเร็ว
[ภาพหน้า 31]
คำพูดของคุณเป็นเหมือนผลไม้แบบไหน?