พระยะโฮวาเป็นผู้บำรุงเลี้ยงเรา
“พระยะโฮวาเป็นผู้ทรงบำรุงเลี้ยงข้าพเจ้า; ข้าพเจ้าจะไม่ขัดสน.”—บทเพลงสรรเสริญ 23:1.
1-3. ทำไมจึงไม่น่าแปลกใจที่ดาวิดเปรียบพระยะโฮวาเป็นผู้เลี้ยงแกะ?
ถ้ามีคนขอให้คุณกล่าวถึงวิธีที่พระยะโฮวาเอาพระทัยใส่ดูแลประชาชนของพระองค์ คุณจะกล่าวเช่นไร? คุณจะเปรียบวิธีที่พระองค์ให้การเอาใจใส่ผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระองค์ด้วยความอ่อนละมุนว่าเหมือนกับอะไร? สามพันกว่าปีมาแล้ว กษัตริย์ดาวิดผู้ภักดีได้ประพันธ์เพลงสรรเสริญที่พรรณนาถึงพระยะโฮวาไว้อย่างไพเราะ โดยเปรียบเทียบกับสิ่งที่ได้พบเห็นในงานที่ท่านเคยทำเมื่อครั้งยังเยาว์.
2 เมื่อยังเป็นเด็กหนุ่ม ดาวิดเป็นคนเลี้ยงแกะ ดังนั้น ท่านจึงรู้เรื่องการเอาใจใส่ฝูงแกะ. ท่านรู้ดีว่าถ้าฝูงแกะถูกปล่อยทิ้งไว้โดยไม่มีใครดูแล แกะจะหลงหายได้ง่าย ๆ และกลายเป็นเหยื่อของพวกขโมยหรือสัตว์ร้าย. (1 ซามูเอล 17:34-36) ถ้าไม่มีคนเลี้ยงแกะคอยดูแล ฝูงแกะอาจหาทุ่งหญ้าซึ่งเป็นอาหารสำหรับพวกมันไม่พบ. ในช่วงบั้นปลายชีวิต ดาวิดคงได้หวนคิดแน่ ๆ ด้วยความชื่นชอบถึงช่วงเวลาหลายชั่วโมงที่ท่านเคยนำฝูงแกะออกไป, ปกป้องรักษา, และจัดหาอาหารให้มัน.
3 ไม่น่าแปลกใจที่ดาวิดจะคิดถึงงานของผู้เลี้ยงแกะ เมื่อท่านได้รับการดลใจให้พรรณนาการเอาใจใส่ดูแลที่พระยะโฮวาสำแดงต่อประชาชนของพระองค์. เพลงสรรเสริญบท 23 ซึ่งดาวิดเป็นผู้เขียนนั้น เริ่มต้นด้วยถ้อยคำดังนี้: “พระยะโฮวาเป็นผู้ทรงบำรุงเลี้ยงข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะไม่ขัดสน.” ให้เรามาพิจารณากันว่าทำไมถ้อยคำดังกล่าวจึงนับว่าเหมาะ. จากนั้น โดยอาศัยข้อมูลในบทเพลงสรรเสริญบท 23 เราจะพิจารณากันว่าพระยะโฮวาทรงเอาใจใส่เหล่าผู้นมัสการพระองค์ในทางใดบ้าง ในฐานะผู้เลี้ยงแกะที่ใฝ่พระทัยฝูงแกะของพระองค์.—1 เปโตร 2:25.
คำเปรียบที่เหมาะ
4, 5. คัมภีร์ไบเบิลพรรณนาถึงลักษณะนิสัยของแกะไว้ว่าอย่างไร?
4 ในพระคัมภีร์มีคำระบุตำแหน่งหรือบทบาทหลายคำที่ใช้กับพระยะโฮวา แต่คำ “ผู้บำรุงเลี้ยง” เป็นหนึ่งในคำที่ถ่ายทอดความอ่อนโยนมากที่สุด. (บทเพลงสรรเสริญ 80:1, ล.ม.) เพื่อจะเข้าใจดีขึ้นว่าทำไมจึงเหมาะที่จะเรียกพระยะโฮวาว่าผู้เลี้ยงแกะ คงเป็นประโยชน์ที่เราจะรู้สองสิ่งต่อไปนี้ก่อน: หนึ่ง ลักษณะของแกะ และสอง งานและคุณสมบัติของผู้เลี้ยงแกะที่ดี.
5 คัมภีร์ไบเบิลพาดพิงถึงลักษณะนิสัยของแกะอยู่บ่อย ๆ พรรณนาว่ามันพร้อมจะตอบสนองต่อความรักของผู้เลี้ยง (2 ซามูเอล 12:3), ไม่ก้าวร้าว (ยะซายา 53:7), และป้องกันตัวเองไม่ได้. (มีคา 5:8) นักเขียนคนหนึ่งซึ่งเลี้ยงแกะมาเป็นเวลาหลายปีให้ข้อสังเกตว่า “แกะใช่ว่าจะ ‘ดูแลช่วยเหลือตัวเองได้’ อย่างที่บางคนอาจจะคิด. ยิ่งกว่าปศุสัตว์ชนิดอื่นใด แกะต้องได้รับการเอาใจใส่อยู่เสมอ ๆ และจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างดี.” เพื่อจะอยู่รอด สัตว์ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้นี้ต้องมีผู้เลี้ยงที่ห่วงใยฝูงแกะ.—ยะเอศเคล 34:5.
6. พจนานุกรมคัมภีร์ไบเบิลเล่มหนึ่งอธิบายอย่างไรเกี่ยวกับชีวิตแต่ละวันของคนเลี้ยงแกะในสมัยโบราณ?
6 การงานในแต่ละวันของผู้เลี้ยงแกะในสมัยโบราณเป็นเช่นไร? พจนานุกรมคัมภีร์ไบเบิลเล่มหนึ่งอธิบายว่า “ตอนเช้าตรู่ คนเลี้ยงแกะจะนำแกะออกจากคอก เดินนำหน้าฝูงแกะไปยังทุ่งหญ้าเพื่อกินอาหาร. เขาจะเฝ้าฝูงแกะอยู่ที่นั่นทั้งวัน ดูแลไม่ให้ตัวใดหลงหายไป และถ้ามีตัวใดเล็ดลอดสายตาหลงไปจากฝูง เขาก็จะขมีขมันตามหาจนกว่าจะพบและนำกลับมา. . . . ตกค่ำก็จะนำฝูงแกะกลับคอก นับจำนวนแกะขณะที่มันเดินลอดไม้เท้าของเขาที่ประตูคอกเพื่อจะแน่ใจว่าไม่มีสักตัวหายไป. . . . บ่อยครั้งคนเลี้ยงแกะต้องอยู่เฝ้าคอกตลอดคืนเพื่อป้องกันการบุกรุกของสัตว์ป่าหรือพวกขโมยที่พยายามหาช่องจะขโมย.”a
7. ทำไมบางครั้งผู้เลี้ยงแกะต้องแสดงความอดทนและความอ่อนโยนต่อแกะเป็นพิเศษ?
7 มีบางครั้งที่ต้องแสดงความอดทนและความอ่อนโยนต่อแกะเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับตัวที่ตั้งท้องและลูกอ่อน. (เยเนซิศ 33:13) สารานุกรมคัมภีร์ไบเบิลเล่มหนึ่งกล่าวว่า “การตกลูกบ่อยครั้งเกิดขึ้นในที่ที่ไกลออกไปในแถบภูเขา. คนเลี้ยงแกะจะคอยปกป้องแม่แกะที่เพิ่งตกลูกขณะที่มันยังช่วยตัวเองไม่ได้ และจะอุ้มลูกแกะไปที่คอก. หลังจากนั้นเขาจะอุ้มลูกแกะไว้ในอ้อมแขนหรือห่อไว้แนบอกด้วยเสื้อคลุมของเขาอยู่สองสามวัน จนกระทั่งลูกแกะเดินได้.” (ยะซายา 40:10, 11) เห็นได้ชัดว่าคุณสมบัติของผู้เลี้ยงแกะที่ดีคือต้องมีทั้งความแข็งแรงและความอ่อนโยน.
8. ดาวิดกล่าวถึงเหตุผลอะไรบ้างที่ท่านมั่นใจในพระยะโฮวา?
8 “พระยะโฮวาเป็นผู้ทรงบำรุงเลี้ยงข้าพเจ้า”—เป็นถ้อยคำที่พรรณนาถึงพระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์ได้อย่างเหมาะเจาะมิใช่หรือ? ขณะเมื่อเราพิจารณาบทเพลงสรรเสริญบท 23 เราจะเห็นวิธีที่พระยะโฮวาเอาพระทัยใส่ดูแลเราด้วยความแข็งแรงและความอ่อนโยนของผู้เลี้ยงแกะ. ในข้อแรก ดาวิดแสดงความมั่นใจว่าพระเจ้าจะจัดเตรียมสิ่งที่จำเป็นทุกอย่างให้แก่ฝูงแกะของพระองค์ เพื่อพวกเขาจะ “ไม่ขัดสน” สิ่งใด. ในข้อต่อ ๆ มา ดาวิดกล่าวถึงเหตุผลสามประการที่ทำให้ท่านมั่นใจเช่นนั้น นั่นคือ พระยะโฮวาทรงนำ, ปกป้องรักษา, และจัดหาอาหารให้แกะของพระองค์. ให้เรามาพิจารณาสิ่งเหล่านี้ทีละอย่าง.
“พระองค์ทรงนำข้าพเจ้าไป”
9. ดาวิดพรรณนาสถานการณ์ที่สงบสุขอะไร และฝูงแกะไปยังที่นั่นได้โดยวิธีใด?
9 ประการแรก พระยะโฮวาทรงนำประชาชนของพระองค์. ดาวิดเขียนว่า “พระองค์ทรงกระทำให้ข้าพเจ้านอนลงที่ทุ่งหญ้าเขียวสด พระองค์ทรงนำข้าพเจ้าไปริมน้ำแดนสงบ ทรงฟื้นจิตวิญญาณของข้าพเจ้า พระองค์ทรงนำข้าพเจ้าไปในทางชอบธรรมเพราะเห็นแก่พระนามของพระองค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 23:2, 3, ฉบับแปลใหม่) ดาวิดพรรณนาฝูงแกะที่นอนพักอย่างสงบในท่ามกลางความอุดมสมบูรณ์ มีความสำราญบานใจ, ความสดชื่น, และความปลอดภัย. คำฮีบรูที่ได้รับการแปลว่า “ทุ่งหญ้า” แปลได้ด้วยว่า “สถานที่ที่สุขสบาย.” ลำพังตัวมันเอง ฝูงแกะคงไม่สามารถหาแหล่งที่ให้ความสดชื่นที่มันจะนอนลงได้อย่างสงบ. ผู้เลี้ยงแกะต้องนำพวกมันไปยัง “สถานที่ที่สุขสบาย” เช่นนั้น.
10. พระเจ้าทรงแสดงความเชื่อมั่นในตัวเราอย่างไร?
10 พระยะโฮวาทรงนำพวกเราอย่างไรในปัจจุบัน? วิธีหนึ่งคือโดยการวางตัวอย่าง. พระคำของพระองค์กระตุ้นให้เรา “เลียนแบบพระเจ้า.” (เอเฟโซ 5:1, ล.ม.) บริบทของถ้อยคำเหล่านี้กล่าวถึง การมีใจเมตตา, การให้อภัย, และความรัก. (เอเฟโซ 4:32; 5:2) แน่นอน พระยะโฮวาทรงวางตัวอย่างอันยอดเยี่ยมด้วยการแสดงคุณลักษณะที่น่าชื่นชมเหล่านี้. การที่พระเจ้าขอให้เราเลียนแบบพระองค์เป็นเรื่องสูงส่งเกินกว่าที่จะทำได้จริงไหม? ไม่เลย. คำแนะนำที่มีขึ้นโดยการดลใจดังกล่าวที่แท้แล้วเป็นการแสดงออกอย่างน่าพิศวงว่าพระองค์มีความมั่นใจในตัวเรา. ในทางใด? เราถูกสร้างขึ้นตามแบบพระเจ้า ซึ่งหมายความว่าเรามีคุณลักษณะทางศีลธรรมและมีศักยภาพที่จะแสดงผลของพระวิญญาณ. (เยเนซิศ 1:26, ล.ม.) ฉะนั้น พระยะโฮวาทราบว่า ทั้ง ๆ ที่เราไม่สมบูรณ์ เราก็ยังมีศักยภาพอยู่ในตัวที่จะพัฒนาคุณลักษณะต่าง ๆ ที่พระองค์ทรงวางแบบอย่างไว้. ลองคิดดู พระเจ้าของเราผู้เปี่ยมด้วยความรักมั่นใจว่าเราสามารถเป็นเหมือนพระองค์ได้. ถ้าเราติดตามแบบอย่างของพระองค์ ก็ประหนึ่งว่าพระองค์จะนำเราไปยัง “แดนสงบ.” ในโลกที่เต็มไปด้วยความรุนแรงนี้ เราจะ “อยู่ในความปลอดภัย” และมีความสงบสุขเนื่องจากรู้ว่าเราเป็นที่พอพระทัยของพระเจ้า.—บทเพลงสรรเสริญ 4:8; 29:11.
11. ในการนำฝูงแกะของพระองค์นั้น พระยะโฮวาทรงคำนึงถึงอะไร และสิ่งนี้สะท้อนให้เห็นอย่างไรในสิ่งที่พระองค์ขอร้องจากเรา?
11 ขณะที่นำเรานั้น พระยะโฮวาทรงอ่อนโยนและอดทน. ผู้เลี้ยงแกะย่อมคำนึงถึงขีดจำกัดของแกะ ฉะนั้น เขาจะนำแกะไป “ตามกำลัง” ของมัน. (เยเนซิศ 33:14) เช่นเดียวกัน พระยะโฮวาทรงนำแกะของพระองค์ไป “ตามกำลัง” ของแกะ. พระองค์คำนึงถึงกำลังความสามารถและสภาพการณ์ของเรา. ที่แท้แล้ว พระองค์ปรับฝีก้าว และไม่เคยขอให้เราทำมากกว่าที่เราทำได้เลย. สิ่งที่พระองค์ขอจากเราก็คือให้เราทำสุดชีวิตจิตใจ. (โกโลซาย 3:23) แต่ถ้าคุณแก่ตัวลงและไม่สามารถทำอะไรได้อย่างที่เคยทำล่ะ? หรือถ้าคุณเจ็บป่วยร้ายแรงถึงขั้นทำอะไรได้จำกัด? สภาพการณ์ดังกล่าวทำให้ข้อเรียกร้องที่ให้เราทำสุดชีวิตจิตใจนั้นชูใจเราเป็นพิเศษ. ไม่มีคนสองคนที่เหมือนกันทุกอย่าง. การรับใช้อย่างสุดชีวิตจิตใจหมายถึงการใช้กำลังและความสามารถของคุณในการรับใช้พระเจ้าอย่างเต็มที่เท่าที่เป็นไปได้สำหรับคุณ. แม้ว่าความอ่อนแออาจชะลอฝีก้าวของเรา แต่พระยะโฮวาทรงหยั่งรู้ค่าการนมัสการอย่างสุดหัวใจของเราเสมอ.—มาระโก 12:29, 30, ล.ม.
12. พระบัญญัติของโมเซมีตัวอย่างอะไรที่แสดงให้เห็นว่าพระยะโฮวาทรงนำแกะของพระองค์ “ตามกำลัง” ของแกะ?
12 เพื่อแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่างว่าพระยะโฮวาทรงนำแกะของพระองค์ไป “ตามกำลัง” ของแกะ ขอพิจารณาสิ่งที่กล่าวไว้ในพระบัญญัติของโมเซเกี่ยวกับเครื่องบูชาบางอย่างเพื่อไถ่ความผิด. พระยะโฮวาประสงค์ของถวายที่ดีซึ่งได้รับการกระตุ้นจากหัวใจที่สำนึกบุญคุณ. แต่ในเวลาเดียวกัน ก็มีการจัดแบ่งกลุ่มของถวายตามความสามารถของผู้ถวาย. พระบัญญัติกล่าวว่า “ถ้าผู้นั้นไม่มีลูกแกะ ก็ให้เอานกเขาสองตัว หรือนกพิราบหนุ่มสองตัว” แต่ถ้าแม้แต่นกพิราบสองตัวก็ยังไม่มีล่ะ? ถ้าอย่างนั้น ก็ให้เอา “แป้งที่ละเอียด” มาถวายได้. (เลวีติโก 5:7, 11) นี่แสดงว่าพระเจ้าไม่ได้เรียกร้องสิ่งใดที่เกินกำลังผู้ถวาย. เนื่องจากพระเจ้าไม่เปลี่ยนแปลง เราจึงได้รับการชูใจจากการรู้ว่าพระองค์ไม่เคยขออะไรที่เราไม่สามารถให้ได้. แทนที่จะทำเช่นนั้น พระองค์ยินดีรับสิ่งที่เราสามารถให้ได้. (มาลาคี 3:6) ช่างน่ายินดีจริง ๆ ที่เรามีผู้เลี้ยงแกะที่มีความเห็นอกเห็นใจเช่นนั้นเป็นผู้นำของเรา!
“ข้าพเจ้าจะไม่กลัวอันตรายเลย เพราะพระองค์ทรงสถิตอยู่ด้วยข้าพเจ้า”
13. ที่บทเพลงสรรเสริญ 23:4 ดาวิดใช้คำกล่าวที่แสดงถึงความใกล้ชิดกับพระยะโฮวามากขึ้นอย่างไร และเหตุใดจึงไม่น่าแปลกใจ?
13 ดาวิดกล่าวถึงเหตุผลประการที่สองที่ทำให้ท่านรู้สึกมั่นใจ นั่นคือ พระยะโฮวาทรงปกป้องรักษา แกะของพระองค์. เราอ่านว่า “แม้ว่าข้าพเจ้าจะดำเนินไปตามหว่างเขาอันมัวมืดแห่งความตาย ข้าพเจ้าจะไม่กลัวอันตรายเลย เพราะพระองค์ทรงสถิตอยู่ด้วยข้าพเจ้า; ไม้ทัณฑกรและธารพระกรของพระองค์ทรงประเล้าประโลมข้าพเจ้า.” (บทเพลงสรรเสริญ 23:4) ตอนนี้ ดาวิดทูลพระยะโฮวาโดยใช้สรรพนามที่แสดงถึงความผูกพันใกล้ชิดกับพระองค์มากขึ้น นั่นคือในภาษาเดิมท่านใช้สรรพนามบุรุษที่สอง. เรื่องนี้ไม่น่าแปลกใจ เพราะดาวิดกำลังกล่าวถึงวิธีที่พระเจ้าทรงช่วยท่านให้รับมือกับภยันตราย. ดาวิดเคยผ่านตามซอกเขามืดมิดหลายแห่ง ซึ่งหมายถึงช่วงเวลาต่าง ๆ ที่ชีวิตของท่านเองตกอยู่ในอันตราย. แต่ท่านไม่ปล่อยให้ความกลัวเข้าครอบงำท่าน เนื่องจากท่านรู้ว่าพระเจ้าสถิตกับท่าน โดยมี “ไม้ทัณฑกร” และ “ธารพระกร” ที่พระองค์พร้อมจะใช้เสมอ. การรู้ว่าได้รับการปกป้องคุ้มครองเช่นนี้ช่วยปลอบประโลมดาวิด และไม่ต้องสงสัยว่าทำให้ท่านใกล้ชิดพระยะโฮวายิ่งขึ้น.b
14. คัมภีร์ไบเบิลให้คำรับรองอะไรแก่เราเรื่องการปกป้องจากพระยะโฮวา แต่นี่ไม่ได้หมายความเช่นไร?
14 พระยะโฮวาทรงปกป้องคุ้มครองแกะของพระองค์อย่างไรในทุกวันนี้? คัมภีร์ไบเบิลให้คำรับรองว่าไม่มีผู้ต่อต้านใด ๆ ไม่ว่าปิศาจหรือมนุษย์ จะประสบความสำเร็จในการกำจัดแกะของพระองค์ให้หมดไปจากโลก. พระยะโฮวาจะไม่มีวันยอมให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น. (ยะซายา 54:17; 2 เปโตร 2:9) อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ได้หมายความว่า ผู้บำรุงเลี้ยงของเราจะปกป้องให้เราพ้นจากเภทภัยทุกอย่าง. เราประสบความทุกข์ยากลำบากที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ทั่วไป และเรายังเผชิญการต่อต้านที่เกิดขึ้นกับคริสเตียนแท้ทุกคน. (2 ติโมเธียว 3:12; ยาโกโบ 1:2) มีบางครั้งที่อาจกล่าวได้ว่า เรา “ดำเนินไปตามหว่างเขาอันมัวมืดแห่งความตาย.” ตัวอย่างเช่น เราอาจเฉียดเข้าไปใกล้ความตายเนื่องจากถูกกดขี่ข่มเหงหรือประสบปัญหาสุขภาพขั้นวิกฤติ. หรือคนที่เรารักอาจป่วยหนักหรือถึงขั้นเสียชีวิต. ในช่วงที่ดูเหมือนอยู่ในความมืดมนอย่างที่สุดนี้ ผู้บำรุงเลี้ยงของเราทรงสถิตกับเรา และพระองค์จะพิทักษ์รักษาเรา. โดยทางใด?
15, 16. (ก) พระยะโฮวาช่วยเราในทางใดบ้างที่จะรับมือกับอุปสรรคต่าง ๆ ที่เราอาจประสบ? (ข) จงเล่าประสบการณ์ที่แสดงถึงวิธีที่พระยะโฮวาทรงช่วยเราในยามทุกข์ยาก.
15 พระยะโฮวาไม่ได้สัญญาว่าจะทรงเข้าแทรกแซงในวิธีอัศจรรย์.c แต่ที่เรามั่นใจได้คือ พระยะโฮวาจะช่วยเราให้ผ่านพ้นอุปสรรคใด ๆ ก็ตามที่เราอาจประสบ. พระองค์สามารถประทานสติปัญญาให้เรารับมือ “ความทุกข์ยากลำบากต่าง ๆ.” (ยาโกโบ 1:2-5, ฉบับแปลใหม่) ผู้เลี้ยงแกะใช้ไม้เท้าของตนไม่เพียงแต่ในการขับไล่สัตว์ล่าเหยื่อให้หนีไปเท่านั้น แต่ยังใช้กระทุ้งแกะเบา ๆ ให้ไปในทิศทางที่ควรจะไปด้วย. พระยะโฮวาสามารถ “กระทุ้ง” เรา บางทีอาจผ่านทางเพื่อนผู้นมัสการ ให้นำเอาคำแนะนำจากพระคัมภีร์ไปใช้ ซึ่งอาจจะช่วยให้สภาพการณ์ของเราดีขึ้นมาก. นอกจากนี้ พระยะโฮวาสามารถประทานกำลังแก่เราเพื่อจะอดทนได้. (ฟิลิปปอย 4:13) โดยทางพระวิญญาณบริสุทธิ์ พระองค์สามารถประทาน “กำลังที่มากกว่าปกติ” แก่เรา. (2 โกรินโธ 4:7, ล.ม.) พระวิญญาณของพระเจ้าสามารถทำให้เราทนรับการทดลองใด ๆ ที่ซาตานอาจก่อให้เกิดขึ้นกับเรา. (1 โกรินโธ 10:13) เป็นการชูใจมิใช่หรือที่รู้ว่าพระยะโฮวาพร้อมจะช่วยเหลือเราเสมอ?
16 ใช่แล้ว ไม่ว่าเราจะตกอยู่ในหุบเขาอันมัวมืดอันใดก็ตาม เราก็ไม่ต้องเดินผ่านหุบเขานั้นเพียงลำพัง. ผู้บำรุงเลี้ยงของเราทรงสถิตกับเรา ช่วยเราด้วยวิธีต่าง ๆ ที่เราอาจไม่เข้าใจเต็มที่ในตอนแรก. ขอพิจารณาประสบการณ์ของคริสเตียนผู้ปกครองคนหนึ่งซึ่งได้รับการวินิจฉัยว่ามีก้อนเนื้องอกมะเร็งในสมอง. เขาเล่าว่า “ผมต้องยอมรับว่าทีแรกผมสงสัยว่าพระยะโฮวาโกรธผมหรือเปล่า หรือถึงกับสงสัยว่าพระองค์รักผมหรือไม่. แต่ผมตั้งใจแน่วแน่ว่าจะไม่ถอยห่างจากพระองค์. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น ผมบอกให้พระองค์รู้ถึงความกังวลของผม. และพระยะโฮวาก็ทรงช่วยผม ทรงชูใจผมอยู่บ่อย ๆ โดยทางพี่น้องชายหญิง. หลายคนแบ่งปันความรู้ความเข้าใจที่เป็นประโยชน์โดยอาศัยประสบการณ์ส่วนตัวของเขาเองในการรับมือกับความเจ็บป่วยร้ายแรง. การแสดงทัศนะที่สมดุลของพวกเขาทำให้ผมคิดได้ว่าสิ่งที่ผมกำลังประสบอยู่เป็นเรื่องธรรมดา. ความช่วยเหลือที่ได้รับ รวมถึงการเสนอความช่วยเหลือด้วยความกรุณาและอย่างน่าจับใจ ให้คำรับรองแก่ผมอีกว่าพระยะโฮวาไม่ได้โกรธเคืองผม. แน่ล่ะ ผมยังต้องต่อสู้กับโรคร้ายนี้อยู่ และไม่รู้ผลจะออกมาอย่างไร. แต่ผมเชื่อมั่นว่าพระยะโฮวาสถิตกับผม และเชื่อมั่นว่าพระองค์จะช่วยผมต่อ ๆ ไปที่จะผ่านพ้นความทุกข์ยากนี้.”
‘พระองค์ทรงจัดเตรียมโต๊ะไว้สำหรับข้าพเจ้า’
17. ดาวิดพรรณนาถึงพระยะโฮวาอย่างไรที่บทเพลงสรรเสริญ 23:5 และเพราะเหตุใดตัวอย่างเปรียบเทียบนี้จึงลงรอยกับตัวอย่างเรื่องผู้เลี้ยงแกะ?
17 ต่อจากนั้น ดาวิดยกเหตุผลประการที่สามที่ทำให้ท่านมั่นใจในผู้บำรุงเลี้ยงของท่าน นั่นคือ พระยะโฮวาทรงจัดหาอาหารให้แกะของพระองค์ และพระองค์ทรงจัดให้อย่างอุดมบริบูรณ์. ดาวิดเขียนว่า “พระองค์ทรงจัดเตรียมโต๊ะไว้ต่อหน้าพวกศัตรูสำหรับข้าพเจ้า; พระองค์ได้ทรงชโลมศีรษะข้าพเจ้าด้วยน้ำมัน; จอกดื่มของข้าพเจ้าเต็มล้นอยู่.” (บทเพลงสรรเสริญ 23:5) ในข้อนี้ ดาวิดพรรณนาผู้บำรุงเลี้ยงของท่านว่าเป็นเหมือนเจ้าภาพที่มีใจเอื้อเฟื้อซึ่งจัดเตรียมอาหารและเครื่องดื่มอย่างอุดมบริบูรณ์. ตัวอย่างเปรียบเทียบทั้งสองนี้ คือเรื่องผู้เลี้ยงแกะที่เอาใจใส่ดูแลกับเรื่องเจ้าภาพที่มีใจเอื้อเฟื้อ ใช่ว่าจะไม่ลงรอยกัน. แท้ที่จริงแล้ว ผู้เลี้ยงแกะที่ดีก็ต้องรู้ว่าจะหาทุ่งหญ้าที่อุดมสมบูรณ์และแหล่งน้ำดื่มที่เพียงพอได้ที่ไหนเพื่อว่าแกะของตนจะ “ไม่ขัดสน.”—บทเพลงสรรเสริญ 23:1, 2.
18. อะไรแสดงว่าพระยะโฮวาเป็นเจ้าภาพที่มีพระทัยเอื้อเฟื้อ?
18 ผู้บำรุงเลี้ยงของเราเป็นเจ้าภาพที่มีพระทัยเอื้อเฟื้อด้วยไหม? ไม่มีข้อสงสัยในเรื่องนั้น! ลองคิดดูถึงคุณภาพ, ปริมาณ, และความหลากหลายของอาหารฝ่ายวิญญาณที่เราได้รับในทุกวันนี้. โดยทางชนชั้นทาสสัตย์ซื่อและสุขุม พระยะโฮวาทรงจัดสรรพหนังสือที่มีคุณประโยชน์ และการประชุมรายการต่าง ๆ ที่อุดมด้วยคุณค่า ทั้งการประชุมประจำประชาคมและการประชุมใหญ่ ซึ่งทั้งหมดนี้สนองความจำเป็นฝ่ายวิญญาณของเรา. (มัดธาย 24:45-47, ล.ม.) ไม่มีการขาดแคลนอาหารฝ่ายวิญญาณเลย. “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” ผลิตคัมภีร์ไบเบิลและคู่มือศึกษาคัมภีร์ไบเบิลไปแล้วเป็นจำนวนนับล้าน ๆ เล่ม และบัดนี้สิ่งพิมพ์ดังกล่าวมีใน 413 ภาษา. พระยะโฮวาจัดเตรียมอาหารฝ่ายวิญญาณนี้ให้เราอย่างหลากหลาย ตั้งแต่ “น้ำนม” ซึ่งเป็นคำสอนพื้นฐานจากคัมภีร์ไบเบิล ไปจนถึง “อาหารแข็ง” ซึ่งเป็นคำสอนที่ลึกซึ้งกว่า. (เฮ็บราย 5:11-14) ผลก็คือ เมื่อเราประสบปัญหาหรือเผชิญการตัดสินใจ เรามักจะพบคำแนะนำที่ตรงกับความต้องการของเราพอดี. เราจะแย่แค่ไหนถ้าขาดอาหารฝ่ายวิญญาณดังกล่าว? ผู้บำรุงเลี้ยงของเราช่างเป็นผู้จัดเตรียมสิ่งจำเป็นที่มีพระทัยเอื้อเฟื้ออย่างยิ่งเสียจริง ๆ!—ยะซายา 25:6; 65:13.
“ข้าพเจ้าจะอยู่ในพระนิเวศของพระเจ้า”
19, 20. (ก) ที่บทเพลงสรรเสริญ 23:6 ดาวิดแสดงความมั่นใจในเรื่องอะไร และเราอาจมีความมั่นใจอย่างเดียวกันนั้นได้อย่างไร? (ข) จะมีการพิจารณาอะไรในบทความถัดไป?
19 หลังจากได้ใคร่ครวญถึงแนวทางต่าง ๆ ของผู้บำรุงเลี้ยงและผู้จัดเตรียมสิ่งจำเป็นของท่าน ดาวิดสรุปว่า “แน่ทีเดียวที่ความดีและความรักมั่นคงจะติดตามข้าพเจ้าไปตลอดวันคืนชีวิตของข้าพเจ้า และข้าพเจ้าจะอยู่ในพระนิเวศของพระเจ้าสืบไปเป็นนิตย์.” (บทเพลงสรรเสริญ 23:6, ฉบับแปลใหม่) ดาวิดกล่าวจากหัวใจที่เปี่ยมล้นด้วยความสำนึกบุญคุณและความเชื่อ กล่าวคือสำนึกบุญคุณเมื่อย้อนระลึกถึงอดีต และสำแดงความเชื่อเมื่อมองไปยังอนาคต. อดีตผู้เลี้ยงแกะคนนี้รู้สึกมั่นคงปลอดภัย เนื่องจากรู้ว่าตราบใดที่ท่านอยู่ใกล้กับผู้บำรุงเลี้ยงทางภาคสวรรค์ ราวกับว่าอาศัยในพระนิเวศของพระองค์ ท่านจะได้รับความเอาพระทัยใส่ดูแลด้วยความรักใคร่จากพระยะโฮวาอยู่เสมอ.
20 เรารู้สึกขอบพระคุณสักเพียงไรที่มีเนื้อความที่ไพเราะนี้บันทึกไว้ในเพลงสรรเสริญบท 23! ดาวิดคงหาถ้อยคำอื่นที่เหมาะไปกว่านี้ไม่ได้อีกแล้วเพื่อพรรณนาวิธีที่พระยะโฮวาทรงนำ, ปกป้องรักษา, และจัดหาอาหารให้แกะของพระองค์. ถ้อยคำอันอบอุ่นของดาวิดได้รับการสงวนรักษาไว้เพื่อให้เรามั่นใจว่าเราเองก็สามารถหมายพึ่งพระยะโฮวาในฐานะผู้บำรุงเลี้ยงได้เช่นกัน. ใช่แล้ว ตราบใดที่เราอยู่ใกล้พระยะโฮวา พระองค์จะเอาพระทัยใส่ดูแลเราในฐานะผู้บำรุงเลี้ยงที่ทรงเปี่ยมด้วยความรัก “สืบไป” กระทั่งชั่วนิรันดร์. อย่างไรก็ตาม ในฐานะแกะของพระองค์ เรามีหน้าที่รับผิดชอบที่จะต้องดำเนินไปกับพระยะโฮวา ผู้บำรุงเลี้ยงองค์ยิ่งใหญ่ของเรา. จะมีการพิจารณาในบทความหน้าว่าการดำเนินกับพระองค์เกี่ยวข้องกับอะไร.
[เชิงอรรถ]
b ดาวิดแต่งเพลงสรรเสริญหลายบทเพื่อสรรเสริญพระยะโฮวาที่ทรงช่วยท่านให้พ้นจากอันตราย.—เพื่อเป็นตัวอย่าง ดูที่จ่าหน้าของบทเพลงสรรเสริญ 18, 34, 56, 57, 59, และ 63 (ฉบับแปลใหม่).
c ดูบทความ “การแทรกแซงของพระเจ้า—เราจะคาดหมายได้ในรูปแบบใด?” ในวารสารหอสังเกตการณ์ ฉบับ 1 ตุลาคม 2003.
คุณจำได้ไหม?
• ทำไมจึงเหมาะที่ดาวิดเปรียบพระยะโฮวาเป็นผู้เลี้ยงแกะ?
• พระยะโฮวาทรงนำเราด้วยความเห็นอกเห็นใจอย่างไร?
• พระยะโฮวาช่วยเราในทางใดบ้างให้อดทนความทุกข์ยากลำบากต่าง ๆ?
• อะไรแสดงว่าพระยะโฮวาเป็นเจ้าภาพที่มีพระทัยเอื้อเฟื้อ?
[ภาพหน้า 18]
พระยะโฮวาทรงนำแกะของพระองค์เหมือนอย่างผู้เลี้ยงแกะในอิสราเอล