“ผลของพระวิญญาณ” ทำให้พระเจ้าได้รับเกียรติ
“พระบิดาของเราได้รับเกียรติด้วยสิ่งนี้ คือด้วยการที่พวกเจ้าเกิดผลมากอยู่เสมอ.”—โย. 15:8
1, 2. (ก) เรามีโอกาสอะไรบ้างที่จะหนุนใจคนอื่น ๆ? (ข) ของประทานอะไรจากพระยะโฮวาที่ช่วยให้เรามีความสามารถในการรับใช้พระองค์มากขึ้น?
ขอพิจารณาสองฉากเหตุการณ์ต่อไปนี้: สตรีคริสเตียนคนหนึ่งสังเกตว่าพี่น้องหญิงอีกคนหนึ่งซึ่งอายุน้อยกว่าดูเหมือนมีเรื่องกังวลใจ. เธอนัดพี่น้องคนนี้ไปประกาศด้วยกัน. เมื่อทั้งสองพูดคุยกันระหว่างเดินจากบ้านหนึ่งไปอีกบ้านหนึ่ง พี่น้องหญิงที่อายุน้อยกว่าก็บอกเกี่ยวกับสิ่งที่ทำให้เธอกังวลใจ. ภายหลังในวันนั้นเอง พี่น้องหญิงที่อายุน้อยกว่าก็อธิษฐานขอบคุณพระยะโฮวาที่พี่น้องหญิงผู้สูงวัยกว่าสนใจเธอด้วยความรัก ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอต้องการอยู่พอดี. ในอีกแห่งหนึ่ง คู่สมรสคู่หนึ่งเพิ่งกลับมาจากการประกาศในต่างแดน. ในการสังสรรค์ ขณะที่ทั้งสองเล่าประสบการณ์ของตนอย่างตื่นเต้น พี่น้องหนุ่มคนหนึ่งนั่งฟังอยู่เงียบ ๆ. หลายปีต่อมา ขณะที่พี่น้องหนุ่มคนนี้กำลังเตรียมตัวจะไปทำงานมอบหมายในต่างแดน เขานึกถึงคู่สมรสคู่นี้รวมทั้งการสนทนาที่ทำให้เขาอยากเป็นมิชชันนารี.
2 สถานการณ์เหล่านั้นอาจทำให้คุณนึกถึงบางคนที่ทำให้ชีวิตของคุณเปลี่ยนไปหรือคนที่คุณรู้สึกประทับใจประสบการณ์ชีวิตของเขา. แน่นอน มีไม่บ่อยนักที่การสนทนาเพียงครั้งเดียวจะทำให้ชีวิตของใครบางคนเปลี่ยนไป กระนั้น ในแต่ละวันมีหลายโอกาสที่เราจะหนุนใจและเสริมกำลังคนอื่น ๆ. ลองคิดดูว่าถ้ามีสิ่งหนึ่งที่จะช่วยเสริมทักษะและคุณลักษณะของคุณให้ดีขึ้น ทำให้คุณเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องและต่อพระเจ้ามากขึ้น. นั่นคงเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมมิใช่หรือ? ที่จริง พระยะโฮวาทรงให้ของประทานเช่นนั้นแก่เรา คือพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระองค์. (ลูกา 11:13) เมื่อพระวิญญาณของพระเจ้าดำเนินกิจในชีวิตเราก็จะก่อให้เกิดคุณลักษณะที่ดีในตัวเราซึ่งช่วยให้รับใช้พระเจ้าได้ดีขึ้นในทุกแง่มุม. ช่างเป็นของประทานที่ยอดเยี่ยมจริง ๆ!—อ่านกาลาเทีย 5:22, 23
3. (ก) การพัฒนา “ผลของพระวิญญาณ” ทำให้พระเจ้าได้รับเกียรติอย่างไร? (ข) เราจะพิจารณาคำถามอะไร?
3 คุณลักษณะที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ก่อให้เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นบุคลิกภาพของผู้ที่เป็นต้นกำเนิดของพระวิญญาณนั้น คือพระยะโฮวาพระเจ้า. (โกโล. 3:9, 10) พระเยซูทรงระบุเหตุผลสำคัญที่สุดที่คริสเตียนควรพยายามเลียนแบบพระเจ้าเมื่อพระองค์ทรงบอกเหล่าอัครสาวกว่า “พระบิดาของเราได้รับเกียรติด้วยสิ่งนี้ คือด้วยการที่พวกเจ้าเกิดผลมากอยู่เสมอ.”a (โย. 15:8) เมื่อเราปลูกฝัง “ผลของพระวิญญาณ” ก็จะเห็นผลได้ชัดจากวิธีที่เราพูดและกระทำ และนั่นทำให้พระเจ้าของเราได้รับการสรรเสริญ. (มัด. 5:16) ผลของพระวิญญาณแตกต่างจากนิสัยของโลกซาตานอย่างไร? เราจะพัฒนาผลของพระวิญญาณได้อย่างไร? เหตุใดเราอาจรู้สึกว่าเป็นเรื่องยากที่จะทำอย่างนั้น? เราจะพิจารณาคำถามเหล่านี้ขณะที่เราวิเคราะห์คุณลักษณะสามอย่างแรกของผลพระวิญญาณ คือความรัก, ความยินดี, และสันติสุข.
ความรักที่อาศัยหลักการอันสูงส่งกว่า
4. พระเยซูทรงสอนเหล่าสาวกให้แสดงความรักแบบใด?
4 ความรักที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ก่อให้เกิดขึ้นนั้นต่างกันอย่างชัดเจนจากความรักที่มีอยู่ทั่วไปในโลก. เป็นเช่นนั้นอย่างไร? ความรักนี้อาศัยหลักการที่สูงส่งกว่า. พระเยซูทรงเน้นความแตกต่างนี้ในคำเทศน์บนภูเขา. (อ่านมัดธาย 5:43-48) พระองค์ทรงชี้ว่าแม้แต่คนบาปก็มักปฏิบัติต่อคนอื่นแบบเดียวกับที่คนอื่นปฏิบัติต่อตน. “ความรัก” เช่นนั้นไม่เกี่ยวกับการเสียสละที่แท้จริง หากแต่เป็นเพียงการแลกเปลี่ยนไมตรีจิต. ถ้าเราต้องการ ‘แสดงว่าเราเป็นบุตรของพระบิดาผู้สถิตในสวรรค์’ เราต้องแตกต่างออกไป. แทนที่จะปฏิบัติต่อคนอื่นแบบเดียวกับที่พวกเขาปฏิบัติต่อเรา เราควรมองและปฏิบัติต่อคนอื่นเหมือนกับที่พระยะโฮวาทรงมองและปฏิบัติต่อพวกเขา. แต่เป็นไปได้ไหมที่จะรักศัตรูดังที่พระเยซูทรงบัญชา?
5. เราจะแสดงความรักต่อคนที่ข่มเหงเราได้อย่างไร?
5 ขอให้พิจารณาตัวอย่างหนึ่งในคัมภีร์ไบเบิล. ขณะประกาศที่เมืองฟิลิปปอย เปาโลและซีลัสถูกจับ, ถูกเฆี่ยนตีอย่างรุนแรง, และถูกโยนเข้าคุกชั้นในและใส่ขื่อไว้. ขณะที่ถูกคุมขังอยู่นั้น ผู้คุมอาจปฏิบัติต่อทั้งสองอย่างเลวร้ายด้วย. เมื่อทั้งสองเป็นอิสระอย่างไม่คาดคิดเพราะแผ่นดินไหว พวกเขาดีใจที่จะมีโอกาสได้แก้แค้นผู้คุมไหม? ไม่เลย. ความห่วงใยอย่างจริงใจหรือความรักแบบเสียสละที่ทั้งสองมีต่อสวัสดิภาพของผู้คุมกระตุ้นพวกเขาให้ลงมือทำอย่างฉับไวเพื่อประโยชน์ของชายผู้นี้ ซึ่งทำให้เป็นไปได้ที่ผู้คุมกับครอบครัวของเขาทั้งหมดจะเข้ามาเป็นผู้เชื่อถือ. (กิจ. 16:19-34) พี่น้องของเราหลายคนในสมัยปัจจุบันก็ทำคล้าย ๆ กันในแนวทางที่เป็นการ “อวยพรผู้ที่ข่มเหง” พวกเขา.—โรม 12:14
6. เราจะแสดงความรักแบบเสียสละต่อพี่น้องของเราได้อย่างไร? (โปรดดูกรอบในหน้า 21)
6 เราแสดงความรักต่อเพื่อนร่วมความเชื่อมากยิ่งกว่านั้นอีก. “เรา . . . ควรสละชีวิตเพื่อพี่น้อง.” (อ่าน 1 โยฮัน 3:16-18) แต่เรามีโอกาสมากกว่าที่จะแสดงความรักในวิธีอื่น ๆ โดยไม่ต้องเสียสละถึงขนาดนั้น. ตัวอย่างเช่น ถ้าเราพูดหรือทำอะไรบางอย่างที่ทำให้พี่น้องขุ่นเคือง เราสามารถแสดงความรักด้วยการเป็นฝ่ายริเริ่มในการทำให้สันติสุขกลับคืนมา. (มัด. 5:23, 24) จะว่าอย่างไรถ้ามีใครทำให้เราขุ่นเคือง? เรา ‘พร้อมที่จะยกความผิด’ ไหม หรือว่าบางครั้งเรามีแนวโน้มที่จะผูกใจเจ็บ? (เพลง. 86:5) ความรักอันแรงกล้าที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ก่อให้เกิดขึ้นอาจช่วยเราให้ปกปิดความผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้ โดยให้อภัยคนอื่นอย่างใจกว้างเหมือนกับที่ “พระยะโฮวาเต็มพระทัยให้อภัย” เรา.—โกโล. 3:13, 14; 1 เป. 4:8
7, 8. (ก) ความรักต่อพระเจ้าส่งผลต่อความรักที่เรามีต่อผู้คนอย่างไร? (ข) เราจะเสริมความรักที่มีต่อพระยะโฮวาให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นได้อย่างไร? (โปรดดูภาพข้างล่าง.)
7 เราจะพัฒนาความรักแบบเสียสละต่อพี่น้องของเราได้อย่างไร? โดยเสริมความรักที่เรามีต่อพระเจ้าให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น. (เอเฟ. 5:1, 2; 1 โย. 4:9-11, 20, 21) เวลาที่เราเองใกล้ชิดกับพระยะโฮวาเมื่อเราอ่านคัมภีร์ไบเบิล, ใคร่ครวญ, และอธิษฐานช่วยหล่อเลี้ยงหัวใจและเพิ่มพูนความรักที่เรามีต่อพระบิดาผู้อยู่ในสวรรค์. อย่างไรก็ตาม เราจำเป็นต้องใช้เวลาให้เกิดประโยชน์มากที่สุดเพื่อจะเข้าใกล้พระเจ้าได้.
8 เพื่อเป็นตัวอย่าง ลองนึกภาพว่าถ้าคุณสามารถอ่านพระคำของพระเจ้า, ใคร่ครวญ, และอธิษฐานถึงพระยะโฮวาได้เฉพาะในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้นในแต่ละวัน. คุณคงจะรักษาช่วงเวลานั้นไว้อย่างหวงแหนไม่ให้สิ่งใดมาขัดขวางการใช้เวลาเป็นส่วนตัวกับพระยะโฮวามิใช่หรือ? แน่นอน ไม่มีใครสามารถยับยั้งเราไว้ไม่ให้อธิษฐานถึงพระเจ้า และพวกเราส่วนใหญ่สามารถอ่านคัมภีร์ไบเบิลเมื่อไรก็ตามที่เราต้องการ. กระนั้น เราอาจจำเป็นต้องระวังอย่าให้กิจกรรมมากมายในแต่ละวันที่เราต้องทำขัดขวางเราไว้จากการใช้เวลาเป็นส่วนตัวกับพระเจ้า. คุณใช้เวลาให้เป็นประโยชน์มากเท่าที่จะทำได้ในแต่ละวันเพื่อเข้าใกล้พระยะโฮวาไหม?
“ความยินดีจากพระวิญญาณบริสุทธิ์”
9. พระวิญญาณบริสุทธิ์ช่วยเราให้รักษาความยินดีไว้แม้เมื่อเผชิญกับอะไร?
9 ความยินดี ซึ่งเป็นคุณลักษณะหนึ่งของผลพระวิญญาณ สามารถคงอยู่กับเราได้เสมอแม้เมื่อเผชิญความยากลำบาก. ความยินดีเป็นเหมือนต้นไม้ที่ทนทานซึ่งเติบโตได้ดีแม้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี. ทั่วโลก ผู้รับใช้ของพระเจ้าหลายคน “รับเอาพระคำแม้ต้องทุกข์ลำบากมาก แต่ก็ได้รับความยินดีจากพระวิญญาณบริสุทธิ์.” (1 เทส. 1:6) คนอื่น ๆ เผชิญความทุกข์ยากลำบากและความอัตคัดขัดสน. ถึงกระนั้น พระยะโฮวาประทานกำลังแก่พวกเขาโดยทางพระวิญญาณของพระองค์ “เพื่อจะเพียรอดทนได้จนถึงที่สุดและอดกลั้นไว้นานด้วยความยินดี.” (โกโล. 1:11) ความยินดีนี้มาจากไหน?
10. ความยินดีของเรามาจากไหน?
10 ไม่เหมือนกับ “ทรัพย์สมบัติที่ไม่ยั่งยืน” ของโลกซาตาน ทรัพย์ฝ่ายวิญญาณที่เราได้รับจากพระยะโฮวามีคุณค่าถาวร. (1 ติโม. 6:17; มัด. 6:19, 20) พระองค์ทรงโปรดให้เรามีความหวังอันน่ายินดีในเรื่องอนาคตที่ไม่รู้สิ้นสุด. เรายินดีที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมพี่น้องคริสเตียนทั่วโลก. ที่สำคัญที่สุด ความยินดีของเราอาศัยสายสัมพันธ์ที่เรามีกับพระเจ้าเป็นพื้นฐาน. เรารู้สึกเหมือนกับดาวิด ซึ่งแม้ว่าถูกบีบบังคับให้ใช้ชีวิตเป็นผู้ลี้ภัย แต่ก็สรรเสริญพระยะโฮวาด้วยเพลง โดยกล่าวว่า “เพราะพระกรุณาคุณของพระองค์ประเสริฐยิ่งกว่าชีวิต, ริมฝีปากของข้าพเจ้าจะถวายสรรเสริญพระองค์. ข้าพเจ้าจึงจะถวายสรรเสริญพระองค์ขณะเมื่อข้าพเจ้ามีชีวิต.” (เพลง. 63:3, 4) แม้แต่เมื่อเราประสบความทุกข์ลำบาก หัวใจเราก็จะเต็มไปด้วยความยินดีและการสรรเสริญพระเจ้า.
11. เหตุใดจึงสำคัญที่เราจะรับใช้พระยะโฮวาด้วยความยินดี?
11 อัครสาวกเปาโลกระตุ้นคริสเตียนว่า “จงชื่นชมยินดีเสมอที่ได้เป็นผู้รับใช้องค์พระผู้เป็นเจ้า. ข้าพเจ้าขอบอกอีกครั้งว่า จงชื่นชมยินดีเถิด!” (ฟิลิป. 4:4) เหตุใดจึงสำคัญที่คริสเตียนจะทำงานรับใช้พระยะโฮวาด้วยความยินดี? ทั้งนี้เพราะประเด็นที่ซาตานยกขึ้นมาเกี่ยวข้องกับการปกครองสูงสุดของพระยะโฮวา. ซาตานอ้างว่าไม่มีใครจะรับใช้พระเจ้าด้วยความเต็มใจ. (โยบ 1:9-11) ถ้าเรารับใช้พระยะโฮวาตามหน้าที่แต่ไม่มีความยินดี การถวายเครื่องบูชาของเราที่เป็นคำสรรเสริญก็จะไม่ครบถ้วน. ด้วยเหตุนั้น เราพยายามทำตามคำกระตุ้นเตือนของผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญที่ว่า “จงปฏิบัติพระยะโฮวาด้วยใจชื่นชม. จงเข้ามาเฝ้าพระองค์ด้วยร้องเพลง.” (เพลง. 100:2) การรับใช้ที่ทำด้วยความยินดีและเต็มใจทำให้พระเจ้าได้รับเกียรติ.
12, 13. เราอาจทำอะไรได้เพื่อต่อสู้ความคิดในแง่ลบ?
12 อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าบางครั้งแม้แต่ผู้รับใช้ที่อุทิศตัวแล้วของพระยะโฮวาก็รู้สึกท้อแท้และต้องพยายามอย่างหนักที่จะรักษาทัศนะในแง่บวก. (ฟิลิป. 2:25-30) อะไรอาจช่วยเราได้ในช่วงเวลาเช่นนั้น? เอเฟโซส์ 5:18, 19 กล่าวว่า “จงเปี่ยมด้วยพระวิญญาณอยู่เสมอ พูดกันเรื่องเพลงสรรเสริญและคำสดุดีพระเจ้าและเพลงนมัสการ และร้องเพลงสรรเสริญพระยะโฮวาคลอเสียงดนตรีในใจท่านทั้งหลาย.” เราจะทำตามคำแนะนำนี้ได้อย่างไร?
13 เมื่อถูกรุมเร้าด้วยความรู้สึกในแง่ลบ เราสามารถวิงวอนขอพระยะโฮวาในคำอธิษฐานและพยายามใคร่ครวญสิ่งต่าง ๆ ที่น่าสรรเสริญ. (อ่านฟิลิปปอย 4:6-9) บางคนพบว่าการเปิดเพลงราชอาณาจักรและฮัมเพลงไปด้วยเบา ๆ ช่วยทำให้จิตใจของเขาเบิกบานขึ้นและช่วยให้เขาคิดในแง่บวก. พี่น้องชายคนหนึ่งซึ่งเผชิญความลำบากแสนสาหัสที่ทำให้เขาหงุดหงิดและท้อใจอยู่บ่อย ๆ เล่าว่า “นอกจากผมจะอธิษฐานด้วยความรู้สึกจากใจเป็นประจำแล้ว ผมยังจำเพลงราชอาณาจักรได้บางเพลง. ผมรู้สึกสงบใจเมื่อร้องเพลงไพเราะเหล่านี้เพื่อสรรเสริญพระยะโฮวา ไม่ว่าจะร้องออกมาดัง ๆ หรือร้องเบา ๆ กับตัวเอง. นอกจากนั้นแล้ว ในช่วงนั้นมีการออกหนังสือจงเข้าใกล้พระยะโฮวา. ผมอ่านหนังสือนี้จบสองรอบภายในหนึ่งปี. หนังสือนี้เป็นเหมือนยาชโลมใจ. ผมรู้ว่าพระยะโฮวาทรงอวยพรความพยายามของผม.”
“ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันด้วยสันติสุข”
14. ลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งที่น่าทึ่งของสันติสุขที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ก่อให้เกิดขึ้นคืออะไร?
14 ณ การประชุมนานาชาติ ตัวแทนที่มีภูมิหลังแตกต่างหลากหลายล้วนชื่นชมยินดีกับมิตรภาพอันอบอุ่นในหมู่คริสเตียน. ฉากเหตุการณ์เช่นนั้นเน้นให้เห็นอย่างชัดเจนถึงสันติสุขที่มีอยู่ในหมู่ประชาชนของพระเจ้าในทุกวันนี้ นั่นคือเอกภาพทั่วโลก. คนที่สังเกตดูพวกเรามักรู้สึกพิศวงเมื่อเห็นผู้คนที่พวกเขาคาดหมายว่าจะเป็นศัตรูกันกลับ “พยายามอย่างจริงจังเพื่อรักษาความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันด้วยสันติสุขซึ่งเป็นสิ่งที่ผูกพันผู้คนให้มีเอกภาพ.” (เอเฟ. 4:3) เอกภาพนี้เป็นเรื่องน่าทึ่งจริง ๆ เมื่อคำนึงถึงสิ่งที่หลายคนต้องเอาชนะ.
15, 16. (ก) ภูมิหลังของเปโตรเป็นเช่นไร และนั่นทำให้เป็นเรื่องยากอย่างไรสำหรับท่าน? (ข) พระยะโฮวาทรงช่วยเปโตรให้ปรับทัศนะของท่านอย่างไร?
15 การทำให้ผู้คนที่ภูมิหลังแตกต่างกันมีน้ำหนึ่งใจเดียวกันเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก. เพื่อช่วยเราเข้าใจว่าต้องเอาชนะอะไรบ้างเพื่อจะมีเอกภาพเช่นนั้น ขอให้เราพิจารณาตัวอย่างหนึ่งในสมัยศตวรรษแรก คืออัครสาวกเปโตร. ทัศนะของท่านต่อคนต่างชาติที่ไม่ได้รับสุหนัตอาจเห็นได้จากคำพูดของท่านที่ว่า “พวกท่านก็รู้ดีว่าที่คนยิวจะติดต่อคบหากับคนต่างชาติก็ผิดพระบัญญัติ แต่พระเจ้าได้ทรงแสดงให้ข้าพเจ้ารู้ว่าข้าพเจ้าไม่ควรเรียกใครว่าเป็นคนมีมลทินหรือคนไม่สะอาด.” (กิจ. 10:24-29; 11:1-3) สอดคล้องกับทัศนะของผู้คนโดยทั่วไปในเวลานั้น เปโตรดูเหมือนจะเติบโตขึ้นมาโดยเชื่อว่าพระบัญญัติกำหนดให้ท่านรักเฉพาะเพื่อนร่วมชาติชาวยิว. อาจดูเหมือนว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ท่านจะมองคนต่างชาติว่าเป็นศัตรูที่ต้องเกลียด.b
16 ลองนึกภาพดูว่าเปโตรคงต้องรู้สึกอึดอัดใจสักเพียงไรเมื่อเขาเข้าไปในบ้านของคอร์เนลิอุส. ชายผู้ซึ่งก่อนหน้านี้มีทัศนะในแง่ลบต่อคนต่างชาติจะ “เชื่อมต่อกันอย่างดี” กับพวกเขาและมี “สันติสุขซึ่งเป็นสิ่งที่ผูกพันผู้คนให้มีเอกภาพ” ได้ไหม? (เอเฟ. 4:3, 16) เปโตรทำอย่างนั้นได้ เพราะเพียงแค่ไม่กี่วันก่อนหน้านั้น พระวิญญาณของพระเจ้าได้เปิดใจท่าน ทำให้ท่านเริ่มปรับทัศนะและเอาชนะอคติที่เคยมี. โดยทางนิมิต พระยะโฮวาทรงแสดงให้ท่านเห็นอย่างชัดเจนว่าพระเจ้าไม่ทรงตัดสินผู้คนจากเชื้อชาติหรือชาติพันธุ์. (กิจ. 10:10-15) ด้วยเหตุนั้น เปโตรจึงบอกคอร์เนลิอุสได้ว่า “ข้าพเจ้ารู้แน่ว่าพระเจ้าไม่ทรงลำเอียง แต่พระองค์ทรงชอบพระทัยคนที่ยำเกรงพระองค์และประพฤติชอบธรรมไม่ว่าจะเป็นคนชาติใด.” (กิจ. 10:34, 35) ทัศนะของเปโตรเปลี่ยนไป และท่านผูกพันเป็นหนึ่งเดียวกับ “ทุกคนในสังคมพี่น้องคริสเตียน.”—1 เป. 2:17
17. เอกภาพที่มีอยู่ในหมู่ประชาชนของพระเจ้าน่าทึ่งอย่างไร?
17 ประสบการณ์ของเปโตรช่วยเราให้เห็นคุณค่าของการเปลี่ยนแปลงที่น่าทึ่งซึ่งกำลังเกิดขึ้นในหมู่ประชาชนของพระเจ้าทุกวันนี้. (อ่านยะซายา 2:3, 4) ผู้คนหลายล้านคน “จากทุกประเทศ ทุกตระกูล ทุกชนชาติ และทุกภาษา” ปรับความคิดให้สอดคล้องกับ “พระประสงค์อันดีของพระเจ้าซึ่งเป็นที่ชอบพระทัยและสมบูรณ์พร้อม.” (วิ. 7:9; โรม 12:2) เมื่อก่อน หลายคนจมอยู่ในความเกลียดชัง, ความเป็นศัตรู, และความแตกแยกของโลกซาตาน. แต่ด้วยการศึกษาพระคำของพระเจ้าและด้วยความช่วยเหลือจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ พวกเขาได้เรียนรู้ที่จะ “มุ่งทำสิ่งที่สร้างสันติสุข.” (โรม 14:19) เอกภาพที่พระคำและพระวิญญาณทำให้เกิดขึ้นนำคำสรรเสริญมาสู่พระเจ้า.
18, 19. (ก) เราแต่ละคนจะส่งเสริมสันติสุขและเอกภาพในประชาคมได้อย่างไร? (ข) เราจะพิจารณาอะไรในบทความถัดไป?
18 เราแต่ละคนจะส่งเสริมสันติสุขและเอกภาพที่มีอยู่ในหมู่ประชาชนของพระเจ้าได้อย่างไร? ในหลายประชาคม มีพี่น้องที่ย้ายมาจากต่างแดน. บางคนมีขนบธรรมเนียมที่แตกต่างออกไปหรือพูดภาษาของเราได้ไม่คล่อง. เราพยายามทำความรู้จักพวกเขาไหม? พระคำของพระเจ้าแนะนำให้เราทำอย่างนี้. เปาโลเขียนถึงประชาคมในกรุงโรม ซึ่งมีทั้งชาวยิวและผู้เชื่อถือชาวต่างชาติว่า “จงต้อนรับกันอย่างที่พระคริสต์ทรงต้อนรับเราด้วย เพื่อพระเจ้าจะได้รับพระเกียรติ.” (โรม 15:7) มีใครบางคนในประชาคมที่คุณจะสามารถทำความรู้จักให้ดีขึ้นได้ไหม?
19 เราอาจทำอะไรได้อีกเพื่อให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ดำเนินกิจในชีวิตเรา? บทความถัดไปจะตอบคำถามนี้ขณะที่เราพิจารณาคุณลักษณะที่เหลือของผลพระวิญญาณ.
[เชิงอรรถ]
a พระเยซูตรัสถึงผลสองอย่างคือ “ผลของพระวิญญาณ” และ “ผลของริมฝีปาก” ที่คริสเตียนถวายแด่พระเจ้าด้วยการทำงานประกาศเรื่องราชอาณาจักร.—ฮีบรู 13:15
b เลวีติโก 19:18 กล่าวว่า “อย่าแก้แค้นหรือผูกพยาบาทผู้หนึ่งผู้ใด, แต่จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตัวเอง.” หัวหน้าศาสนาชาวยิวถือว่า “คนหนึ่งคนใด” และ “เพื่อนบ้าน” หมายถึงชาวยิวเท่านั้น. พระบัญญัติเรียกร้องให้ชาวอิสราเอลอยู่ต่างหากจากชาติอื่น ๆ. อย่างไรก็ตาม พระบัญญัติไม่ได้เห็นชอบกับทัศนะที่พวกหัวหน้าศาสนาในศตวรรษแรกส่งเสริม กล่าวคือ ทัศนะที่ว่าคนที่ไม่ใช่ชาวยิวทั้งหมดเป็นศัตรูและต้องเกลียดคนเหล่านี้ทุกคน.
คุณจะตอบอย่างไร?
• เราจะแสดงความรักแบบเสียสละต่อพี่น้องของเราได้อย่างไร?
• เหตุใดจึงสำคัญที่เราจะรับใช้พระเจ้าด้วยความยินดี?
• เราจะส่งเสริมสันติสุขและเอกภาพในประชาคมได้อย่างไร?
[กรอบ/ภาพหน้า 21]
“คนเหล่านี้เป็นคริสเตียนแท้”
หนังสืออยู่ตรงกลางระหว่างการต่อต้านและการพลีชีพ—พยานพระยะโฮวาในจักรวรรดิไรช์ที่สาม เล่าความเห็นของนักโทษหนุ่มชาวยิวคนหนึ่งซึ่งพรรณนาเหตุการณ์ตอนที่เขาได้พบกับพยานพระยะโฮวาเป็นครั้งแรกเมื่อเขามาถึงค่ายกักกันนอยเอนกามเม.
“ทันทีที่พวกเราชาวยิวจากเมืองดาเคาเข้าไปในอาคารนั้น ชาวยิวคนอื่น ๆ ก็เริ่มซ่อนทุกสิ่งที่พวกเขามีเพื่อจะไม่ต้องแบ่งให้เรา. . . . นอก [ค่ายกักกัน] พวกเราเคยช่วยเหลือเกื้อกูลกัน. แต่ที่นี่ ในสถานการณ์ที่เผชิญความเป็นความตาย สิ่งที่ทุกคนห่วงเป็นอันดับแรกคือทำอย่างไรจึงจะเอาตัวรอดได้ และไม่สนใจเลยว่าคนอื่นจะเป็นอย่างไร. แต่ขอให้นึกภาพถึงสิ่งที่นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลทำ. ในเวลานั้น พวกเขาต้องทำงานหนักมากในการซ่อมแซมท่อน้ำ. อากาศหนาวเหน็บและพวกเขายืนตลอดวันในน้ำที่เย็นเฉียบเหมือนน้ำแข็ง. ไม่มีใครเข้าใจว่าพวกเขาทนสภาพเช่นนี้ได้อย่างไร. พวกเขาบอกว่าพระยะโฮวาประทานกำลังความเข้มแข็งให้พวกเขา. เช่นเดียวกับพวกเรา พวกเขาต้องการขนมปังอย่างยิ่ง เพราะพวกเขาหิว. แต่พวกเขาทำอะไร? พวกเขารวบรวมขนมปังทั้งหมดที่มี แบ่งไว้ครึ่งหนึ่งสำหรับตัวเอง และให้อีกครึ่งหนึ่งแก่เพื่อนร่วมความเชื่อจากเมืองดาเคาที่เพิ่งเดินทางมาถึง. และพวกเขาต้อนรับและจูบเพื่อนที่มา. ก่อนจะกิน พวกเขาอธิษฐาน. หลังจากนั้น พวกเขาทุกคนมีความอิ่มใจยินดีและมีความสุข. พวกเขาพูดว่าพวกเขาไม่หิวอีกต่อไปแล้ว. ถึงตอนนั้นแหละที่ผมคิดว่า คนเหล่านี้เป็นคริสเตียนแท้.”
[ภาพหน้า 19]
คุณใช้เวลาในแต่ละวันให้เกิดประโยชน์มากที่สุดเพื่อจะเข้าใกล้พระยะโฮวาไหม?