บท 14
คุณควรยอมรับอำนาจของผู้ใด?
1, 2. อำนาจทุกรูปแบบก่อความเสียหายไหม? จงอธิบาย.
“อำนาจ” เป็นคำที่หลายคนไม่ชอบ. เรื่องนี้เป็นที่เข้าใจได้ เพราะบ่อยครั้งมีการใช้อำนาจในทางผิด—ในที่ทำงาน, ในครอบครัว, และโดยรัฐบาล. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวอย่างที่ตรงกับสภาพจริงว่า “มนุษย์ครอบงำมนุษย์ด้วยกันเป็นผลเสียหายแก่เขา.” (ท่านผู้ประกาศ 8:9, ล.ม.) ถูกแล้ว หลายคนใช้อำนาจเหนือคนอื่นโดยกระทำในลักษณะที่กดขี่และเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง.
2 แต่ไม่ใช่อำนาจทุกอย่างก่อความเสียหาย. เพื่อเป็นตัวอย่าง อาจกล่าวได้ว่า ร่างกายของเราใช้อำนาจเหนือเรา. ร่างกาย “สั่ง” เราให้หายใจ, กิน, ดื่ม, และนอน. นี่เป็นการกดขี่ไหม? เปล่าเลย. การทำตามการเรียกร้องเหล่านี้ก็เพื่อผลประโยชน์ของเรา. แม้การยอมทำตามที่ร่างกายต้องการอาจเป็นไปโดยไม่รู้สึกตัว มีอำนาจในรูปแบบอื่นซึ่งเราต้องยอมอยู่ใต้อำนาจอย่างเต็มใจ. จงพิจารณาตัวอย่างบางประการ.
อำนาจที่สูงสุด
3. ทำไมพระยะโฮวาได้รับสมญานามอย่างเหมาะสมว่า “องค์บรมมหิศร”?
3 มีการเรียกพระยะโฮวาว่า “องค์บรมมหิศร” มากกว่า 300 ครั้งในคัมภีร์ไบเบิลภาษาเดิม. องค์บรมมหิศรคือผู้มีอำนาจสูงสุด. อะไรทำให้พระยะโฮวามีสิทธิ์ที่จะมีฐานะเช่นนี้? วิวรณ์ 4:11 (ล.ม.) ตอบว่า “พระยะโฮวาเจ้าข้า พระเจ้าของพวกข้าพเจ้า พระองค์คู่ควรจะได้รับสง่าราศีและเกียรติยศและฤทธิ์เดช เพราะพระองค์ได้ทรงสร้างสิ่งทั้งปวง และเนื่องด้วยพระทัยประสงค์ของพระองค์สิ่งเหล่านั้นจึงได้ดำรงอยู่และถูกสร้างขึ้น.”
4. พระยะโฮวาทรงเลือกที่จะสำแดงอำนาจของพระองค์อย่างไร?
4 ในฐานะพระผู้สร้าง พระยะโฮวามีสิทธิ์จะสำแดงอำนาจตามที่พระองค์ทรงเลือก. นี่อาจดูเหมือนน่าหวาดกลัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราคำนึงถึงว่า พระเจ้าทรงมี “อานุภาพอันใหญ่ยิ่ง.” พระองค์ได้รับฉายาว่า “พระเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพทุกประการ”—คำซึ่งในภาษาฮีบรูถ่ายทอดแนวคิดเรื่องพลังที่แข็งแกร่งยิ่ง. (ยะซายา 40:26; เยเนซิศ 17:1, ล.ม.) กระนั้น พระยะโฮวาทรงแสดงพลังของพระองค์ในทางที่ดี เพราะคุณลักษณะเด่นของพระองค์คือความรัก.—1 โยฮัน 4:16.
5. ทำไมไม่ใช่เรื่องยากที่จะยอมอยู่ใต้อำนาจของพระยะโฮวา?
5 แม้พระยะโฮวาทรงเตือนว่า พระองค์จะทรงลงโทษผู้กระทำผิดที่ไม่กลับใจ ในประการสำคัญแล้ว โมเซรู้จักพระองค์ว่าเป็น “พระเจ้าผู้ซื่อสัตย์, ผู้ทรงรักษาคำสัญญาไมตรี พระกรุณาคุณแก่คนทั้งหลายที่รักพระองค์ และผู้ที่รักษาบัญญัติของพระองค์.” (พระบัญญัติ 7:9) คิดดูก็แล้วกัน! ผู้มีอำนาจสูงสุดแห่งเอกภพไม่ได้บังคับเราให้รับใช้พระองค์. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น เราได้รับการชักนำให้มาหาพระองค์เนื่องด้วยความรักของพระองค์. (โรม 2:4; 5:8) การยอมอยู่ใต้อำนาจของพระยะโฮวาเป็นที่น่าเพลิดเพลินด้วยซ้ำ เพราะกฎหมายของพระองค์ทำให้เกิดประโยชน์สำหรับเราในที่สุดเสมอ.—บทเพลงสรรเสริญ 19:7, 8.
6. ประเด็นเรื่องอำนาจเกิดขึ้นอย่างไรในสวนเอเดน และพร้อมด้วยผลประการใด?
6 บิดามารดาคู่แรกปฏิเสธพระบรมเดชานุภาพของพระเจ้า. เขาต้องการตัดสินด้วยตัวเองว่า อะไรดีและอะไรชั่ว. (เยเนซิศ 3:4-6) ผลก็คือ เขาถูกขับไล่ออกจากบ้านที่เป็นอุทยาน. หลังจากนั้น พระยะโฮวาทรงยอมให้มนุษย์ตั้งโครงสร้างอำนาจซึ่งจะทำให้พวกเขาสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมที่เป็นระเบียบถึงแม้จะไม่สมบูรณ์. อำนาจเหล่านี้มีอะไรบ้าง และพระเจ้าทรงคาดหมายให้เรายอมอยู่ใต้อำนาจนั้นถึงขีดไหน?
“อำนาจที่สูงกว่า”
7. ใครคือ “อำนาจที่สูงกว่า” และตำแหน่งของเขาเกี่ยวโยงกับอำนาจของพระเจ้าอย่างไร?
7 อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “จงให้ทุกคนยอมอยู่ใต้อำนาจที่สูงกว่า ด้วยว่าไม่มีอำนาจใด ๆ เว้นไว้โดยพระเจ้า.” “อำนาจที่สูงกว่า” คือผู้ใด? ถ้อยคำของเปาโลในข้อต่อ ๆ ไปแสดงว่า พวกเขาคือผู้มีอำนาจในรัฐบาลของมนุษย์. (โรม 13:1-7, ล.ม.; ติโต 3:1) พระยะโฮวามิได้ริเริ่มให้มีผู้มีอำนาจในรัฐบาลของมนุษย์ แต่ผู้มีอำนาจเหล่านี้ดำรงอยู่โดยการยินยอมของพระเจ้า. ดังนั้น เปาโลจึงเขียนได้ว่า “อำนาจต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่ตั้งอยู่ในตำแหน่งสูงต่ำโดยพระเจ้า.” ข้อนี้บ่งชี้อะไรเกี่ยวกับอำนาจเช่นนั้นทางแผ่นดินโลก? นั่นชี้ถึงข้อที่ว่า อำนาจนั้นอยู่ในอันดับรอง หรือต่ำกว่าอำนาจของพระเจ้า. (โยฮัน 19:10, 11) เพราะฉะนั้น เมื่อมีความขัดแย้งกันระหว่างกฎหมายของมนุษย์กับกฎหมายของพระเจ้า คริสเตียนต้องได้รับการชี้นำจากสติรู้สึกผิดชอบของเขาที่ได้รับการอบรมจากคัมภีร์ไบเบิล. พวกเขา “ต้องเชื่อฟังพระเจ้ายิ่งกว่าเชื่อฟังมนุษย์.”—กิจการ 5:29.
8. คุณได้รับประโยชน์อย่างไรจากอำนาจที่สูงกว่า และคุณจะแสดงการยอมอยู่ใต้อำนาจพวกเขาได้โดยวิธีใด?
8 อย่างไรก็ดี ส่วนใหญ่แล้วอำนาจที่สูงกว่าของรัฐบาลทำหน้าที่เป็น ‘ผู้รับใช้ของพระเจ้าเพื่อให้ประโยชน์แก่เรา.’ (โรม 13:4, ล.ม.) ในทางใดบ้าง? ขอให้คิดถึงสาธารณูปโภคหลายอย่างซึ่งอำนาจที่สูงกว่าจัดเตรียมไว้ เช่น การนำจ่ายไปรษณียภัณฑ์, ตำรวจและการป้องกันอัคคีภัย, การสุขาภิบาล, และการศึกษา. เปาโลเขียนว่า “เพราะเหตุนั้น ท่านจึงเสียภาษีด้วย; เพราะคนเหล่านั้นเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า เพื่อสาธารณประโยชน์ รับใช้เพื่อจุดประสงค์นี้เสมอไป.” (โรม 13:6, ล.ม.) เกี่ยวกับภาษีหรือพันธะหน้าที่อื่นใดตามกฎหมาย เราควร “ประพฤติตัวซื่อสัตย์ในทุกสิ่ง.”—เฮ็บราย 13:18, ล.ม.
9, 10. (ก) อำนาจที่สูงกว่าเข้าประสานกับการจัดเตรียมของพระเจ้าอย่างไร? (ข) ทำไมเป็นการผิดที่จะต่อต้านอำนาจที่สูงกว่า?
9 บางครั้ง ผู้มีอำนาจที่สูงกว่าใช้อำนาจของเขาในทางผิด. เรื่องนี้ปลดเปลื้องเราจากความรับผิดชอบที่จะยอมอยู่ใต้อำนาจเขาต่อไปไหม? เปล่าเลย ไม่เป็นเช่นนั้น. พระยะโฮวาทรงเห็นการกระทำผิดของผู้มีอำนาจเหล่านี้. (สุภาษิต 15:3) การที่พระองค์ยอมให้กับการปกครองของมนุษย์ไม่ได้หมายความว่า พระองค์ทรงทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นกับการทุจริตเสื่อมทรามของการปกครองนั้น หรือทรงคาดหมายให้เราทำอย่างนั้นด้วย. ที่จริง ไม่ช้าพระเจ้าจะ “ทำลายอาณาจักรอื่น ๆ ลงให้ย่อยยับและเผาผลาญเสียสิ้น” นำการปกครองที่ชอบธรรมของพระองค์เองเข้ามาแทนผู้มีอำนาจเหล่านั้น. (ดานิเอล 2:44) แต่กว่าเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้น อำนาจที่สูงกว่าก็รับใช้เพื่อจุดประสงค์ที่เป็นประโยชน์.
10 เปาโลอธิบายว่า “ผู้ซึ่งต่อต้านอำนาจนั้น ต่อต้านการจัดเตรียมของพระเจ้า.” (โรม 13:2, ล.ม.) อำนาจที่สูงกว่าเป็น “การจัดเตรียม” ของพระเจ้าในประการที่ว่า พวกเขารักษาระเบียบไว้ในระดับหนึ่ง ซึ่งถ้าปราศจากระเบียบ ความสับสนอลหม่านและอนาธิปไตยคงจะแผ่คลุมไปทั่ว. การต่อต้านอำนาจนั้นไม่ถูกหลักพระคัมภีร์และเป็นเรื่องโง่เขลา. ยกตัวอย่าง สมมุติว่า คุณได้รับการผ่าตัดและไหมเย็บทำให้แผลติดแน่น. แม้เป็นสิ่งแปลกปลอมสำหรับร่างกาย ไหมนั้นใช้เพื่อจุดประสงค์อย่างหนึ่งในระยะเวลาจำกัด. การเอาไหมออกก่อนกำหนดอาจเป็นอันตรายได้. ในทำนองคล้ายกัน ผู้มีอำนาจในรัฐบาลของมนุษย์ไม่ได้เป็นส่วนแห่งพระประสงค์เดิมของพระเจ้า. อย่างไรก็ดี รัฐบาลมนุษย์ผนึกสังคมเข้าด้วยกัน ปฏิบัติหน้าที่ซึ่งเข้ากับพระทัยประสงค์ของพระเจ้าสำหรับสมัยปัจจุบันจนกว่าราชอาณาจักรของพระองค์ปกครองแผ่นดินโลกอย่างบริบูรณ์. ด้วยเหตุนี้ เราควรยอมอยู่ใต้อำนาจที่สูงกว่าต่อไป ขณะที่เราให้ความสำคัญอันดับแรกต่อกฎหมายและอำนาจของพระเจ้า.
อำนาจในครอบครัว
11. คุณจะอธิบายหลักการว่าด้วยความเป็นประมุขอย่างไร?
11 ครอบครัวเป็นหน่วยพื้นฐานของสังคมมนุษย์. ภายในครอบครัว สามีกับภรรยาสามารถมีความเป็นเพื่อนที่น่าพึงพอใจ และลูกสามารถได้รับการปกป้องและอบรมเพื่อเป็นผู้ใหญ่. (สุภาษิต 5:15-21; เอเฟโซ 6:1-4) การจัดเตรียมอย่างดีเช่นนี้จำเป็นต้องได้รับการจัดระเบียบในวิธีที่ทำให้สมาชิกในครอบครัวสามารถดำเนินชีวิตอย่างสงบสุขและสามัคคีกัน. พระยะโฮวาทรงทำให้เรื่องนี้สัมฤทธิผล โดยทางหลักการว่าด้วยความเป็นประมุข ซึ่งสรุปด้วยถ้อยคำที่พบใน 1 โกรินโธ 11:3 ที่ว่า “พระคริสต์เป็นศีรษะของชายทุกคน, และชายเป็นศีรษะของหญิง, และพระเจ้าเป็นศีรษะของพระคริสต์.”
12, 13. ใครเป็นประมุขของครอบครัว และจะเรียนรู้อะไรได้จากวิธีที่พระเยซูทรงใช้ตำแหน่งประมุข?
12 สามีเป็นประมุขของครอบครัว. อย่างไรก็ดี มีประมุขที่อยู่เหนือเขาคือพระเยซูคริสต์. เปาโลเขียนว่า “สามีทั้งหลาย จงรักภรรยาของตนต่อ ๆ ไปเช่นเดียวกับพระคริสต์ได้ทรงรักประชาคมและได้สละพระองค์เองเพื่อประชาคม” (เอเฟโซ 5:25, ล.ม.) สามีแสดงให้เห็นการยอมอยู่ใต้อำนาจของพระคริสต์เมื่อเขาปฏิบัติกับภรรยาในวิธีที่พระเยซูปฏิบัติกับประชาคมเสมอ. (1 โยฮัน 2:6) พระเยซูได้รับมอบอำนาจใหญ่ยิ่ง แต่พระองค์ทรงใช้อำนาจนั้นด้วยความอ่อนโยน, ความรัก, และความมีเหตุผลอย่างที่สุด. (มัดธาย 20:25-28) เมื่อเป็นมนุษย์ พระเยซูไม่เคยใช้ตำแหน่งที่มีอำนาจในทางผิดเลย. พระองค์ “มีจิตใจอ่อนโยนและหัวใจถ่อม” และพระองค์ทรงเรียกพวกสาวกว่า “มิตร” แทนที่จะเรียกว่า “ทาส.” พระองค์ทรงสัญญากับพวกเขาว่า “เราจะทำให้เจ้าทั้งหลายสดชื่น” และพระองค์ก็ได้ทำเช่นนั้น.—มัดธาย 11:28, 29; โยฮัน 15:15, ล.ม.
13 แบบอย่างของพระเยซูสอนผู้เป็นสามีว่า ความเป็นประมุขของคริสเตียนไม่ใช่ตำแหน่งที่แสดงอำนาจเกรี้ยวกราด. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น นั่นเป็นตำแหน่งที่มีความนับถือและความรักแบบเสียสละตัวเอง. นี่คงจะตัดโอกาสการทำร้ายคู่สมรสทางกายหรือทางวาจาอย่างเห็นได้ชัด. (เอเฟโซ 4:29, 31, 32; 5:28, 29; โกโลซาย 3:19) หากชายคริสเตียนจะทำร้ายภรรยาด้วยวิธีนี้ การงานที่ดีอื่น ๆ ของเขาคงจะไร้ค่า และคำอธิษฐานของเขาคงจะถูกขัดขวาง.—1 โกรินโธ 13:1-3; 1 เปโตร 3:7.
14, 15. ความรู้ของพระเจ้าช่วยภรรยาอย่างไรให้ยินยอมอ่อนน้อมต่อสามี?
14 เมื่อสามีเลียนแบบอย่างของพระคริสต์ ก็เป็นเรื่องง่ายขึ้นสำหรับภรรยาที่จะทำตามถ้อยคำในเอเฟโซ 5:22, 23 (ล.ม.) ที่ว่า “จงให้ภรรยาทั้งหลายยอมอยู่ใต้อำนาจสามีของตนเหมือนกระทำต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า เพราะว่าสามีเป็นประมุขของภรรยาของตนเหมือนพระคริสต์เป็นประมุขของประชาคม.” เช่นเดียวกับสามีต้องยินยอมอ่อนน้อมต่อพระคริสต์ ภรรยาต้องยอมอยู่ใต้อำนาจสามี. คัมภีร์ไบเบิลชี้ชัดด้วยว่า ภรรยาผู้มีความสามารถสมควรได้รับเกียรติและคำสรรเสริญเนื่องด้วยสติปัญญาที่เลื่อมใสพระเจ้าและความขยันหมั่นเพียร.—สุภาษิต 31:10-31.
15 การที่ภรรยาคริสเตียนยอมอยู่ใต้อำนาจสามีเป็นแบบมีขอบเขต. นี่หมายความว่า ต้องเชื่อฟังพระเจ้ายิ่งกว่ามนุษย์ หากการยินยอมอ่อนน้อมในบางเรื่องจะยังผลด้วยการละเมิดกฎหมายของพระเจ้า. แม้เป็นเช่นนั้น การยืนหยัดของภรรยาก็ควรทำให้นิ่มนวลด้วย “น้ำใจสงบเสงี่ยมและอ่อนโยน.” ควรปรากฏชัดว่า ความรู้ของพระเจ้าทำให้เธอเป็นภรรยาที่ดีขึ้น. (1 เปโตร 3:1-4, ล.ม.) หลักเดียวกันนี้ใช้ได้กับชายคริสเตียนซึ่งภรรยาของเขาไม่มีความเชื่อ. การที่เขาปฏิบัติตามหลักการของคัมภีร์ไบเบิลควรทำให้เขาเป็นสามีที่ดีขึ้น.
16. เด็ก ๆ จะเลียนแบบอย่างที่พระเยซูทรงวางไว้เมื่อพระองค์ทรงเป็นเด็กได้อย่างไร?
16 เอเฟโซ 6:1 (ล.ม.) กล่าวถึงบทบาทของบุตรว่า “จงเชื่อฟังบิดามารดาของตนร่วมสามัคคีกันกับองค์พระผู้เป็นเจ้า เพราะว่าการนี้ชอบธรรม.” บุตรคริสเตียนติดตามแบบอย่างของพระเยซู ซึ่งยังคงยอมอยู่ใต้อำนาจบิดามารดาขณะที่ทรงเจริญวัยขึ้น. ฐานะบุตรที่เชื่อฟัง พระองค์ “ได้จำเริญขึ้นในฝ่ายสติปัญญา, ในฝ่ายกาย, และเป็นที่ชอบจำเพาะพระเจ้าและต่อหน้าคนทั้งปวงด้วย.”—ลูกา 2:51, 52.
17. วิธีที่บิดามารดาใช้อำนาจอาจมีผลกระทบอะไรต่อบุตรของตน?
17 วิธีที่บิดามารดาปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบของตนอาจมีผลกระทบต่อการที่บุตรจะนับถืออำนาจหรือจะกบฏต่ออำนาจ. (สุภาษิต 22:6) ดังนั้น เหมาะที่บิดามารดาถามตัวเองว่า ‘ฉันใช้อำนาจด้วยความรักหรืออย่างเกรี้ยวกราด? ฉันตามใจลูกไหม?’ บิดามารดาที่เลื่อมใสพระเจ้าได้รับการคาดหมายให้มีความรักและเห็นอกเห็นใจ กระนั้นก็หนักแน่นในการยึดมั่นกับหลักการของพระเจ้า. เปาโลเขียนไว้อย่างเหมาะสมว่า “ท่านทั้งหลายผู้เป็นบิดา อย่ายั่วบุตรของท่านให้ขัดเคืองใจ [ตามตัวอักษร ‘ยั่วยุเขาให้โกรธเคือง’] แต่จงอบรมเขาด้วยการตีสอนและการปรับความคิดจิตใจตามหลักการของพระยะโฮวา.”—เอเฟโซ 6:4, ล.ม.; โกโลซาย 3:21.
18. การตีสอนของบิดามารดาควรดำเนินโดยวิธีใด?
18 บิดามารดาควรพินิจพิเคราะห์วิธีการอบรมของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเขาปรารถนาให้บุตรเชื่อฟังและด้วยเหตุนี้จึงนำความยินดีมาสู่ตน. (สุภาษิต 23:24, 25) ในคัมภีร์ไบเบิล โดยพื้นฐานแล้ว การตีสอนเป็นการสั่งสอนแบบหนึ่ง. (สุภาษิต 4:1; 8:33) การตีสอนถูกเชื่อมโยงกับความรักและความอ่อนโยน ไม่ใช่กับความโกรธและความทารุณ. เนื่องจากเหตุนี้ บิดามารดาคริสเตียนต้องกระทำด้วยสติปัญญาและคอยระวังควบคุมตัวเองเมื่อตีสอนบุตรของตน.—สุภาษิต 1:7.
อำนาจในประชาคม
19. พระเจ้าทรงจัดเตรียมระเบียบที่ดีไว้ในประชาคมคริสเตียนโดยวิธีใด?
19 เนื่องจากพระยะโฮวาเป็นพระเจ้าที่มีระเบียบ จึงมีเหตุผลที่พระองค์จะจัดให้มีตำแหน่งผู้นำที่มีอำนาจและจัดระเบียบอย่างดีสำหรับไพร่พลของพระองค์. ฉะนั้น พระองค์ทรงแต่งตั้งพระเยซูเป็นประมุขของประชาคมคริสเตียน. (1 โกรินโธ 14:33, 40; เอเฟโซ 1:20-23) ภายใต้การนำอย่างไม่ประจักษ์ของพระคริสต์ พระเจ้าอนุมัติการจัดเตรียมซึ่งให้ผู้ปกครองที่ได้รับการแต่งตั้งในแต่ละประชาคมบำรุงเลี้ยงฝูงแกะด้วยใจจดจ่อ, อย่างเต็มใจ, และด้วยความรัก. (1 เปโตร 5:2, 3) ผู้รับใช้ที่รับการแต่งตั้งช่วยเหลือพวกเขาหลายอย่างและให้การรับใช้ที่มีคุณค่าภายในประชาคม.—ฟิลิปปอย 1:1.
20. ทำไมเราควรยินยอมอ่อนน้อมต่อผู้ปกครองคริสเตียนที่ได้รับการแต่งตั้ง และทำไมการทำเช่นนี้จึงเป็นประโยชน์?
20 เปาโลเขียนเกี่ยวกับผู้ปกครองคริสเตียนว่า “จงเชื่อฟังคนเหล่านั้นซึ่งนำหน้าในท่ามกลางท่านทั้งหลายและจงอยู่ใต้อำนาจ เพราะพวกเขาคอยเฝ้าระวังดูจิตวิญญาณของท่านในฐานะเป็นผู้ซึ่งจะชี้แจงรายงาน; เพื่อเขาจะทำเช่นนี้ด้วยความยินดี และไม่ใช่ด้วยการถอนใจ เพราะการเช่นนั้นคงจะเป็นความเสียหายแก่ท่าน.” (เฮ็บราย 13:17, ล.ม.) ด้วยความฉลาดสุขุม พระเจ้าทรงมอบหมายให้ผู้ดูแลคริสเตียนมีหน้าที่รับผิดชอบเอาใจใส่ความจำเป็นฝ่ายวิญญาณของคนเหล่านั้นในประชาคม. ผู้ปกครองเหล่านี้ไม่ได้ประกอบกันเป็นชนจำพวกนักเทศน์. พวกเขาเป็นผู้รับใช้และเป็นทาสของพระเจ้า ปรนนิบัติรับใช้ตามความจำเป็นของเพื่อนร่วมนมัสการ เช่นเดียวกับพระเยซูคริสต์ นายของเรา ได้กระทำนั้น. (โยฮัน 10:14, 15) การรู้ว่าผู้ชายที่มีคุณวุฒิฝ่ายวิญญาณมีความสนใจในความก้าวหน้าและความเติบโตฝ่ายวิญญาณของเรานั้นสนับสนุนเราให้ร่วมมือและยินยอมอ่อนน้อม.—1 โกรินโธ 16:16.
21. ผู้ปกครองที่ได้รับการแต่งตั้งพยายามจะช่วยเพื่อนคริสเตียนทางฝ่ายวิญญาณอย่างไร?
21 บางครั้ง แกะอาจหลงหายไปหรือตกอยู่ในอันตรายเนื่องจากส่วนประกอบที่เป็นอันตรายของโลก. ภายใต้การนำของพระคริสต์ ผู้บำรุงเลี้ยงองค์สำคัญ ผู้ปกครองฐานะรองผู้บำรุงเลี้ยงตื่นตัวต่อความจำเป็นของคนเหล่านั้นที่อยู่ในความดูแลของเขาและให้ความเอาใจใส่เป็นส่วนตัวต่อพวกเขาอย่างขยันขันแข็ง. (1 เปโตร 5:4) เขาไปเยี่ยมสมาชิกในประชาคมและพูดหนุนกำลังใจ. โดยรู้ว่า พญามารพยายามจะทำลายสันติสุขแห่งไพร่พลของพระเจ้า ผู้ปกครองแสดงสติปัญญาจากเบื้องบนในการจัดการกับปัญหาใด ๆ. (ยาโกโบ 3:17, 18) เขาทำงานหนักเพื่อรักษาไว้ซึ่งเอกภาพและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในความเชื่อ อันเป็นสิ่งที่พระเยซูเองได้อธิษฐานขอ.—โยฮัน 17:20-22; 1 โกรินโธ 1:10.
22. ผู้ปกครองจัดเตรียมความช่วยเหลืออะไรหากมีการกระทำผิด?
22 จะว่าอย่างไรหากคริสเตียนประสบสิ่งเลวร้ายบางอย่าง หรือรู้สึกท้อใจเนื่องจากการทำบาป? คำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิลที่ปลอบโยนและการอธิษฐานอย่างจริงใจของผู้ปกครองเพื่อประโยชน์ของเขาอาจช่วยทำให้เขากลับมีสุขภาพฝ่ายวิญญาณดีดังเดิมได้. (ยาโกโบ 5:13-15) ผู้ชายเหล่านี้ที่ได้รับการแต่งตั้งโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์มีอำนาจด้วยที่จะดำเนินการตีสอนและการว่ากล่าวผู้ที่ติดตามแนวทางการกระทำผิดหรือก่ออันตรายต่อความสะอาดฝ่ายวิญญาณและด้านศีลธรรมของประชาคม. (กิจการ 20:28; ติโต 1:9; 2:15) เพื่อจะรักษาประชาคมให้สะอาด อาจจำเป็นที่ปัจเจกบุคคลจะรายงานการกระทำผิดที่ร้ายแรง. (เลวีติโก 5:1, ล.ม.) หากคริสเตียนซึ่งได้ทำบาปฉกรรจ์ยอมรับการตีสอนและการว่ากล่าวตามหลักพระคัมภีร์และให้หลักฐานการกลับใจด้วยน้ำใสใจจริงแล้ว เขาจะได้รับการช่วยเหลือ. แน่ละ ผู้ละเมิดกฎหมายของพระเจ้าที่ดื้อรั้นและไม่กลับใจถูกตัดสัมพันธ์.—1 โกรินโธ 5:9-13.
23. ผู้ดูแลคริสเตียนจัดเตรียมอะไรเพื่อประโยชน์ของประชาคม?
23 คัมภีร์ไบเบิลบอกล่วงหน้าไว้ว่า ภายใต้พระเยซูคริสต์ ฐานะพระมหากษัตริย์ ผู้ชายที่อาวุโสฝ่ายวิญญาณจะได้รับการแต่งตั้งเพื่อให้การปลอบโยน, การปกป้องคุ้มครอง, และความสดชื่นสำหรับไพร่พลของพระเจ้า. (ยะซายา 32:1, 2) เขาจะนำหน้าฐานะผู้เผยแพร่กิตติคุณ, ผู้บำรุงเลี้ยง, และผู้สอนเพื่อจะส่งเสริมความเติบโตฝ่ายวิญญาณ. (เอเฟโซ 4:11, 12, 16) ถึงแม้บางครั้งผู้ดูแลคริสเตียนอาจว่ากล่าว, ติเตียน, และกระตุ้นเตือนเพื่อนร่วมความเชื่อ การเอาคำสอนของผู้ปกครองที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพซึ่งอาศัยพระคำของพระเจ้าไปใช้นั้นช่วยทุกคนให้อยู่บนหนทางสู่ชีวิตต่อไป.—สุภาษิต 3:11, 12; 6:23; ติโต 2:1.
จงยอมรับทัศนะของพระยะโฮวาเรื่องอำนาจ
24. เราถูกทดสอบเกี่ยวกับประเด็นอะไรทุกวัน?
24 ชายหญิงคู่แรกถูกทดสอบเกี่ยวกับประเด็นเรื่องการยอมอยู่ใต้อำนาจ. ไม่แปลก การทดลองที่คล้ายกันเผชิญหน้าเราอยู่ทุกวัน. ซาตานพญามารส่งเสริมน้ำใจของการกบฏท่ามกลางมนุษยชาติ. (เอเฟโซ 2:2) มีการทำให้แนวทางการเป็นเอกเทศดูเหมือนดีกว่าการยอมอยู่ใต้อำนาจ.
25. มีประโยชน์อะไรจากการปฏิเสธน้ำใจกบฏของโลกและการยินยอมอ่อนน้อมต่ออำนาจที่พระเจ้าทรงสำแดงหรือยอมให้มีอยู่?
25 อย่างไรก็ดี เราต้องปฏิเสธน้ำใจกบฏของโลก. ในการทำเช่นนั้น เราจะพบว่าการยอมอยู่ใต้อำนาจด้วยความเลื่อมใสในพระเจ้านำมาซึ่งบำเหน็จอันล้ำค่า. เพื่อเป็นตัวอย่าง เราจะหลีกเลี่ยงความกระวนกระวายและความข้องขัดใจซึ่งมักจะเกิดกับคนที่หาเรื่องยุ่งยากกับผู้มีอำนาจทางโลก. เราจะทำให้ความขัดแย้งที่มีอยู่ดาษดื่นในหลายครอบครัวลดลง. และเราจะได้รับผลประโยชน์จากความสัมพันธ์ที่อบอุ่น เปี่ยมด้วยความรักกับเพื่อนร่วมความเชื่อที่เป็นคริสเตียน. ยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด การที่เรายอมอยู่ใต้อำนาจด้วยความเลื่อมใสในพระเจ้าจะยังผลด้วยสัมพันธภาพที่ดีกับพระยะโฮวา ผู้มีอำนาจสูงสุด.
ทดสอบความรู้ของคุณ
พระยะโฮวาทรงสำแดงอำนาจของพระองค์อย่างไร?
“อำนาจที่สูงกว่า” เป็นใคร และเราคงอยู่ใต้อำนาจของเขาต่อไปโดยวิธีใด?
หลักการว่าด้วยความเป็นประมุขมอบหน้าที่รับผิดชอบอะไรไว้กับสมาชิกแต่ละคนในครอบครัว?
เราจะแสดงการยินยอมอ่อนน้อมในประชาคมคริสเตียนได้อย่างไร?
[กรอบสี่เหลี่ยมหน้า 134]
ยินยอมอ่อนน้อม ไม่ใช่โค่นล้ม
โดยกิจการงานประกาศต่อสาธารณชน พยานพระยะโฮวาชี้ถึงราชอาณาจักรของพระเจ้าฐานะเป็นความหวังเดียวของมนุษยชาติสำหรับสันติภาพและความปลอดภัยแท้. แต่ผู้ประกาศราชอาณาจักรของพระเจ้าที่กระตือรือร้นเหล่านี้ไม่ใช่พวกโค่นล้มรัฐบาลซึ่งพวกเขาอยู่ภายใต้อำนาจ. ตรงกันข้าม พยานฯ อยู่ท่ามกลางพลเมืองที่มีความนับถือและเคารพกฎหมายมากที่สุด. เจ้าหน้าที่รัฐบาลคนหนึ่งในประเทศแถบแอฟริกากล่าวว่า “หากทุกนิกายทางศาสนาเป็นเหมือนพยานพระยะโฮวาแล้ว เราคงจะไม่มีการฆาตกรรม, โจรกรรม, ความเหลวไหลเสเพล, นักโทษและระเบิดปรมาณู. คงไม่ต้องใส่กุญแจประตูบ้านตลอดเวลา.”
โดยการยอมรับเรื่องนี้ พวกเจ้าหน้าที่รัฐบาลในหลายประเทศอนุญาตให้งานประกาศของพยานฯ ดำเนินไปโดยไม่ถูกขัดขวาง. ในประเทศอื่น ๆ คำสั่งห้ามหรือข้อจำกัดต่าง ๆ ถูกยกเลิกเมื่อผู้มีอำนาจสำนึกว่า พยานพระยะโฮวาเป็นแรงชักจูงในทางดี. เป็นดังที่อัครสาวกเปาโลเขียนเกี่ยวกับการเชื่อฟังอำนาจที่สูงกว่าว่า “จงกระทำการดีต่อ ๆ ไป แล้วท่านจะได้รับคำสรรเสริญจาก [อำนาจ] นั้น.”—โรม 13:1, 3, ล.ม.