วิธีสังเกตเห็นและเอาชนะความอ่อนแอฝ่ายวิญญาณ
ตามที่เล่าไว้ในเทพนิยายกรีก อะคิลลิสเป็นผู้กล้าหาญที่สุดในบรรดานักรบกรีกในการทำสงครามกับเมืองทรอย. ตำนานเล่าว่าขณะที่อะคิลลิสยังเป็นทารกนั้น มารดาได้เอาตัวเขาจุ่มในแม่น้ำสติกซ์ จึงทำให้เขาอยู่ยงคงกระพัน ยกเว้นส่วนที่มารดาของเขาจับไว้คือส้นเท้า อันเป็นที่มาของคำเปรียบเปรยที่ว่า ส้นเท้าของอะคิลลิส ซึ่งมีความหมายว่าจุดอ่อนนั่นเอง. แพริสโอรสของกษัตริย์ไพรอัมแห่งทรอยได้ยิงลูกธนูมรณะถูกส้นเท้าของอะคิลลิสอย่างแม่นยำและทำให้เขาเสียชีวิต.
คริสเตียนเป็นทหารของพระคริสต์ เข้าร่วมในการสู้รบฝ่ายวิญญาณ. (2 ติโมเธียว 2:3) อัครสาวกเปาโลอธิบายว่า “เรามีการปล้ำสู้ ไม่ใช่กับเลือดและเนื้อ แต่ต่อสู้กับการปกครอง ต่อสู้กับผู้มีอำนาจ ต่อสู้กับผู้ครอบครองโลกแห่งความมืดนี้ ต่อสู้กับอำนาจวิญญาณชั่วในสวรรค์สถาน.” ถูกแล้ว ศัตรูของเราจะเป็นใครอื่นไปไม่ได้นอกจากซาตานพญามารกับพวกผีปิศาจ.—เอเฟโซ 6:12, ล.ม.
ปรากฏชัดว่า นี่คงจะเป็นการโจมตีอยู่ฝ่ายเดียวหากเราไม่ได้รับความช่วยเหลือจากพระยะโฮวาพระเจ้าผู้ซึ่งได้รับการพรรณนาไว้ว่าทรงเป็น “นักรบองอาจ.” (เอ็กโซโด 15:3, ล.ม.) เพื่อปกป้องตัวเราเองไว้จากศัตรูที่ชั่วร้าย เราได้รับยุทธภัณฑ์ฝ่ายวิญญาณชุดหนึ่ง. เพราะเหตุนั้นอัครสาวกกระตุ้นเตือนว่า “จงสวมยุทธภัณฑ์ครบชุดจากพระเจ้า เพื่อท่านจะสามารถยืนมั่นต่อต้านยุทธอุบายของมารได้.”—เอเฟโซ 6:11, ล.ม.
ไม่มีข้อสงสัยว่า ยุทธภัณฑ์ชุดที่พระยะโฮวาพระเจ้าทรงจัดเตรียมให้นั้นมีคุณภาพเยี่ยมที่สุด สามารถต้านทานการโจมตีฝ่ายวิญญาณใด ๆ ได้. ขอพิจารณาดูรายการยุทธภัณฑ์ที่เปาโลให้ไว้ก็แล้วกัน: ความจริง เป็นเข็มขัด, ความชอบธรรม เป็นเกราะป้องกันอก, ข่าวดี เป็นรองเท้า, ความเชื่อ เป็นโล่ใหญ่, ความรอด เป็นหมวกเหล็ก, และพระแสงของพระวิญญาณ. มีอุปกรณ์อะไรที่ดีกว่านี้หรือซึ่งคนเราอาจหวังได้? ด้วยชุดยุทธภัณฑ์ดังกล่าว ทหารคริสเตียนมีโอกาสได้รับชัยชนะเสมอ แม้เผชิญสถานการณ์ซึ่งพิชิตยากก็ตาม.—เอเฟโซ 6:13-17.
ถึงแม้ชุดยุทธภัณฑ์ฝ่ายวิญญาณจากพระยะโฮวามีคุณภาพเยี่ยมที่สุดและเป็นแหล่งแห่งความปลอดภัยสำหรับเราก็ตาม เราต้องไม่ถือว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นของธรรมดา. เมื่อระลึกถึงอะคิลลิสที่เข้าใจกันว่าไม่มีใครพิชิตได้นั้น เป็นไปได้ไหมที่เราอาจมีจุดอ่อนแอ ส้นเท้าของอะคิลลิสฝ่ายวิญญาณด้วยเช่นกัน? นั่นอาจปรากฏว่าเป็นจุดที่ทำให้ถึงตายหากเราถูกโจมตีจุดนั้นโดยไม่รู้ตัว.
จงตรวจดูยุทธภัณฑ์ฝ่ายวิญญาณของคุณ
นักสเกตน้ำแข็งที่ได้รับเหรียญทองโอลิมปิกสองครั้ง ดูเหมือนเป็นผู้ที่อยู่ในสภาพแข็งแรงมาก ได้ล้มลงโดยฉับพลันและเสียชีวิตระหว่างช่วงฝึกซ้อม. หลังจากนั้นไม่นาน มีการรายงานข่าวที่เตือนสติเรื่องหนึ่งในเดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ ว่า “ครึ่งหนึ่งของชาวอเมริกัน 600,000 คนที่หัวใจวายแต่ละปีไม่มีอาการส่อเค้ามาก่อน.” เห็นได้ชัดว่า สุขภาพของเราดีหรือไม่ดีนั้นไม่อาจตัดสินได้จากเพียงแค่การที่เรารู้สึกอย่างไร.
เป็นเช่นเดียวกันนั้นเมื่อมาถึงเรื่องสวัสดิภาพฝ่ายวิญญาณของเรา. คำแนะนำของคัมภีร์ไบเบิลคือ “คนที่คิดว่าตัวมั่นคงดีอยู่แล้วจงระวังให้ดี, กลัวว่าจะหลงผิดไป.” (1 โกรินโธ 10:12) ถึงแม้ยุทธภัณฑ์ฝ่ายวิญญาณของเรามีอยู่พร้อมมูลก็ตาม ความอ่อนแออาจเกิดขึ้นได้. นี่เป็นเพราะเราเกิดมาในความบาป และนิสัยที่ผิดบาปและไม่สมบูรณ์อาจครอบงำเหนือความตั้งใจของเราที่จะทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้านั้นอย่างง่ายดาย. (บทเพลงสรรเสริญ 51:5) ทั้ง ๆ ที่เรามีความตั้งใจที่ดีก็ตาม หัวใจที่ทรยศอาจหลอกลวงเราโดยการกุเหตุผลหรือข้อแก้ตัวที่ดูเผิน ๆ แล้วถูกต้องขึ้นมา จนกระทั่งเรามองข้ามความอ่อนแอของเราอย่างง่ายดายและหลอกตัวเองให้คิดว่าทุกอย่างเรียบร้อยดี.—ยิระมะยา 17:9; โรม 7:21-23.
นอกจากนี้ เรามีชีวิตอยู่ในโลกซึ่งมีการทำให้จิตสำนึกในเรื่องความถูกผิดนั้นสับสนและบิดเบือนอยู่เนือง ๆ. อะไรถูกหรือผิดนั้นอาจตัดสินโดยเอาความรู้สึกเป็นเกณฑ์. ความคิดแบบนี้ได้รับการส่งเสริมจากการโฆษณาต่าง ๆ, ความบันเทิงอันเป็นที่นิยม, และสื่อมวลชน. ปรากฏชัด ถ้าเราไม่ระวัง เราอาจถูกกล่อมให้คิดแบบนั้น และชุดยุทธภัณฑ์ฝ่ายวิญญาณของเราอาจเริ่มอ่อนแอลง.
แทนที่จะตกเข้าสู่สถานการณ์อันตรายเช่นนั้น เราควรเอาใจใส่ฟังคำแนะนำของคัมภีร์ไบเบิลที่ว่า “ท่านทั้งหลายจงพิจารณาดูตัวของท่านเองว่าท่านตั้งอยู่ในความเชื่อหรือไม่ จงชันสูตรดูตัวของท่านเองเถิด.” (2 โกรินโธ 13:5) เมื่อเราทำเช่นนั้น เราจะสามารถค้นพบความอ่อนแอใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นและยอมรับขั้นตอนที่จำเป็นเพื่อแก้ไขสภาพนั้นก่อนที่ศัตรูของเราจะค้นพบแล้วเปิดฉากโจมตีเรา. แต่เราจะดำเนินการทดสอบดังกล่าวได้โดยวิธีใด? เราควรสังเกตอาการบางอย่างอะไรบ้างในการตรวจสอบตัวเองเช่นนี้?
การสังเกตเห็นอาการต่าง ๆ
อาการโดยทั่วไปอย่างหนึ่งที่อาจบ่งชี้ความอ่อนแอฝ่ายวิญญาณคือการเฉื่อยช้าลงในนิสัยศึกษาส่วนตัวของเรา. บางคนรู้สึกว่าเขาควรศึกษามากขึ้น แต่ดูเหมือนว่าเขาหาเวลาไม่ได้เท่านั้น. เนื่องด้วยชีวิตในปัจจุบันเต็มด้วยธุระ นับว่าง่ายที่จะตกเข้าสู่สภาพการณ์ไม่ดีเช่นนั้น. อย่างไรก็ตาม สิ่งที่แย่กว่านั้น คือการที่คนเรามักให้เหตุผลแก้ตัวว่า เขาไม่ได้ทำอะไรเลวร้ายจริง ๆ เนื่องจากเขาอ่านสรรพหนังสือเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลเมื่อไรก็ตามที่ทำได้และสามารถเข้าร่วมการประชุมคริสเตียนบางรายการ.
การอ้างเหตุผลดังกล่าวเป็นการหลอกลวงตัวเองแบบหนึ่ง. นั่นเหมือนกับคนที่รู้สึกว่าตัวเองมีธุระยุ่งเกินไปจนไม่มีเวลานั่งลงรับประทานอาหารที่เหมาะสม ดังนั้น เขาจึงคว้าอะไรใส่ปากสักคำหนึ่งเมื่อไรที่ทำได้ขณะที่รีบทำงานอย่างหนึ่งให้เสร็จเพื่อไปทำอีกอย่างหนึ่ง. ถึงแม้เขาอาจไม่ได้อดอยากก็ตาม ปัญหาด้านสุขภาพอาจเริ่มขึ้นไม่ช้าก็เร็ว. ในทำนองเดียวกัน ถ้าไม่มีการรับเอาอาหารฝ่ายวิญญาณที่บำรุงกำลังอย่างสม่ำเสมอแล้ว ในไม่ช้าเราอาจก่อให้เกิดจุดอ่อนขึ้นในยุทธภัณฑ์ฝ่ายวิญญาณของเรา. เนื่องจากถูกโหมกระหน่ำด้วยการโฆษณาชวนเชื่อและเจตคติฝ่ายโลกอย่างไม่ขาดสาย เราอาจยอมจำนนอย่างง่ายดายต่อการโจมตีของซาตานที่ทำให้ถึงตายนั้น.
อาการอีกอย่างหนึ่งของความอ่อนแอฝ่ายวิญญาณคือการสูญเสียความสำนึกเรื่องความเร่งด่วนในการสู้รบฝ่ายวิญญาณของเรา. ทหารที่อยู่ในยามสงบไม่รู้สึกถึงความตึงเครียดและอันตรายของการรบ. ดังนั้น เขาอาจไม่สำนึกถึงความเร่งด่วนในการเตรียมพร้อม. หากเขาถูกเรียกให้ปฏิบัติงานทันที เขาอาจไม่ได้เตรียมพร้อมจริง ๆ. ในด้านฝ่ายวิญญาณก็เป็นเช่นเดียวกัน. หากเรายอมให้ความสำนึกถึงความเร่งด่วนลดลง เราอาจไม่ได้อยู่ในสภาพเตรียมพร้อมที่จะต้านทานการโจมตีที่อาจเกิดขึ้นในแนวทางของเรา.
แต่เราจะบอกได้อย่างไรว่าเราตกเข้าสู่สถานการณ์เช่นนี้หรือไม่? เราสามารถถามตัวเองด้วยคำถามบางอย่างที่อาจเผยให้เห็นสภาพความเป็นไปที่แท้จริง เช่น ฉันกระตือรือร้นที่จะเข้าร่วมในงานเผยแพร่อย่างที่กระตือรือร้นจะออกไปเที่ยวไหม? ฉันเต็มใจใช้เวลาเตรียมตัวสำหรับการประชุมต่าง ๆ อย่างที่ฉันไปเที่ยวซื้อของหรือดูทีวีไหม? ฉันหวนคิดถึงการงานหรือโอกาสต่าง ๆ ที่ฉันได้สละทิ้งไปเมื่อเข้ามาเป็นคริสเตียนไหม? ฉันอิจฉาการดำรงชีวิตที่เรียกว่าสะดวกสบายของคนอื่นไหม? ทั้งหมดนี้เป็นคำถามที่กระตุ้นความคิด แต่คำถามเหล่านี้เป็นประโยชน์ในการชี้จุดอ่อนใด ๆ ที่มีอยู่ในชุดยุทธภัณฑ์ฝ่ายวิญญาณของเรา.
เนื่องจากยุทธภัณฑ์ป้องกันที่เรามีนั้นเป็นฝ่ายวิญญาณ จึงสำคัญที่พระวิญญาณของพระเจ้าหลั่งไหลอย่างสะดวกในชีวิตของเรา. พระวิญญาณของพระเจ้าหลั่งไหลขนาดไหนในชีวิตของเราเห็นได้จากผลแห่งพระวิญญาณที่สะท้อนออกมาในกิจกรรมทุกอย่างของเรา. คุณขุ่นเคืองง่ายหรือถึงกับอารมณ์เสียไหมเมื่อคนอื่นทำหรือพูดอะไรที่คุณไม่ชอบ? คุณรู้สึกว่ายากที่จะยอมรับคำแนะนำไหม หรือคุณรู้สึกว่าคนอื่นจ้องจับผิดคุณอยู่ร่ำไป? คุณอิจฉาเหลือเกินในพระพรหรือความสำเร็จของคนอื่นไหม? คุณรู้สึกว่าเข้ากับคนอื่นได้ยากไหม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนรุ่นเดียวกัน? การประเมินค่าตัวเองอย่างซื่อตรงจะช่วยเราเห็นว่าชีวิตของเราเต็มด้วยผลแห่งพระวิญญาณของพระเจ้าหรือไม่ หรือว่าการของเนื้อหนังกำลังปรากฏขึ้นโดยไม่รู้ตัว.—ฆะลาเตีย 5:22-26; เอเฟโซ 4:22-27.
ขั้นตอนในเชิงบวกเพื่อเอาชนะความอ่อนแอฝ่ายวิญญาณ
การสังเกตเห็นอาการของความอ่อนแอฝ่ายวิญญาณเป็นเรื่องหนึ่ง แต่การยอมรับอาการเหล่านั้นและลงมือปฏิบัติตามขั้นตอนเพื่อแก้ไขเป็นอีกเรื่องหนึ่งทีเดียว. น่าเสียดาย หลายคนมีแนวโน้มจะแก้ตัว, อ้างเหตุผลเข้าข้างตัวเอง, ลดความสำคัญของปัญหาลง, หรือไม่ยอมรับว่าปัญหานั้นมีอยู่. นั่นช่างเป็นอันตรายสักเพียงไร—เหมือนการเข้าสู่สงครามโดยสวมยุทธภัณฑ์ที่ไม่ครบชุด! แนวทางดังกล่าวจะทำให้เราถูกซาตานโจมตีได้ง่าย. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น เราควรปฏิบัติตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่เสริมสร้างโดยไม่ชักช้าเพื่อแก้ไขความบกพร่องใด ๆ ที่เราอาจสังเกตเห็น. เราสามารถทำประการใดได้?—โรม 8:13; ยาโกโบ 1:22-25.
เนื่องจากเราเข้าร่วมในการสู้รบฝ่ายวิญญาณ—การต่อสู้ที่หมายรวมถึงการควบคุมจิตใจและหัวใจของคริสเตียน—เราต้องทำทุกสิ่งเท่าที่ทำได้เพื่อคุ้มครองความสามารถทางความคิดจิตใจของเราไว้. จำไว้ว่า ส่วนหนึ่งแห่งยุทธภัณฑ์ฝ่ายวิญญาณของเราคือ “ความชอบธรรมเป็นเครื่องทับทรวงป้องกันอก” ซึ่งป้องกันหัวใจของเรา และ “ความรอดเป็นเครื่องป้องกันศีรษะ” ซึ่งป้องกันจิตใจของเรา. การเรียนรู้ที่จะใช้สิ่งที่จัดเตรียมไว้เหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพอาจหมายถึงผลต่างระหว่างชัยชนะกับความพ่ายแพ้.—เอเฟโซ 6:14-17; สุภาษิต 4:23; โรม 12:2.
การสวม “ความชอบธรรมเป็นเครื่องทับทรวงป้องกันอก” อย่างเหมาะสมเรียกร้องให้เราตรวจสอบดูตัวเองเสมอในเรื่องการรักความชอบธรรมและการเกลียดการละเลยกฎหมาย. (บทเพลงสรรเสริญ 45:7; 97:10; อาโมศ 5:15) มาตรฐานของเราลดต่ำลงพร้อมกับมาตรฐานของโลกไหม? ตอนนี้เราพบความสนุกเพลิดเพลินจากสิ่งซึ่งครั้งหนึ่งอาจทำให้เราตกตะลึงหรือขุ่นเคืองไหม—ไม่ว่าจากในชีวิตจริงหรือที่แสดงทางทีวีและจอภาพยนตร์, ในหนังสือและวารสาร? การรักความชอบธรรมจะช่วยเราเห็นว่า สิ่งที่ได้รับการยกย่องในโลกว่าเป็นเสรีภาพและความรอบรู้ในทางโลกนั้นที่แท้แล้วอาจเป็นการกลบเกลื่อนความสำส่อนและความหยิ่งทะนงก็เป็นได้.—โรม 13:13, 14; ติโต 2:12.
การสวม “ความรอดเป็นเครื่องป้องกันศีรษะ” เกี่ยวข้องกับการทำให้พระพรอันน่าพิศวงที่มีอยู่ข้างหน้าแจ่มชัดในจิตใจเสมอ ไม่ปล่อยตัวให้เขวไปเนื่องจากแสงสีแพรวพรายและเสน่ห์เย้ายวนของโลก. (เฮ็บราย 12:2, 3; 1 โยฮัน 2:16) การมีทัศนะเช่นนี้จะช่วยเราจัดผลประโยชน์ฝ่ายวิญญาณให้ขึ้นหน้าผลกำไรด้านวัตถุหรือผลประโยชน์ส่วนตัว. (มัดธาย 6:33) ดังนั้น เพื่อให้แน่ใจว่าเรามียุทธภัณฑ์ชิ้นนี้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง เราต้องถามตัวเองอย่างซื่อสัตย์ว่า ฉันกำลังแสวงหาอะไรในชีวิต? ฉันมีเป้าหมายฝ่ายวิญญาณอะไรโดยเฉพาะไหม? ฉันกำลังทำอะไรเพื่อบรรลุเป้าเหล่านั้น? ไม่ว่าเป็นคริสเตียนผู้ถูกเจิมที่ยังเหลืออยู่หรือว่าอยู่ในบรรดา “ชนฝูงใหญ่” จำนวนมากมายก็ตาม เราควรเลียนแบบเปาโลผู้ซึ่งกล่าวว่า “ข้าพเจ้ายังไม่ถือว่าข้าพเจ้าเองได้ฉวยเอาสิ่งนั้นไว้แล้ว; แต่มีสิ่งหนึ่งที่เกี่ยวข้อง: คือลืมสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่เบื้องหลังและน้อมตัวออกไปหาสิ่งที่อยู่ข้างหน้า ข้าพเจ้าบากบั่นมุ่งไปสู่เป้าหมาย.”—วิวรณ์ 7:9, ล.ม.; ฟิลิปปอย 3:13, 14, ล.ม.
คำพรรณนาของเปาโลเกี่ยวกับชุดยุทธภัณฑ์ฝ่ายวิญญาณของเราจบลงด้วยคำตักเตือนนี้ที่ว่า “โดยคำอธิษฐานวิงวอนทุกอย่างจงขอโดยพระวิญญาณทุกเวลา จงระวังตัวด้วยความเพียรทุกอย่างและอธิษฐานเพื่อสิทธชนทั้งหมด.” (เอเฟโซ 6:18) ข้อนี้บ่งชี้ถึงขั้นตอนในเชิงบวกสองประการที่เราสามารถดำเนินการเพื่อเอาชนะหรือป้องกันความอ่อนแอฝ่ายวิญญาณใด ๆ คือ พัฒนาสัมพันธภาพที่ดีกับพระเจ้า และสร้างความผูกพันที่ใกล้ชิดกับเพื่อนคริสเตียน.
เมื่อเรามีนิสัยในการหันไปหาพระยะโฮวาด้วยคำอธิษฐาน “ทุกอย่าง” (การสารภาพบาปของเรา, อ้อนวอนขอการอภัย, ทูลขอการทรงนำ, ขอบพระคุณสำหรับพระพรต่าง ๆ, การสรรเสริญจากหัวใจ) และ “ทุกเวลา” (ในที่สาธารณะ, ในที่ลับตาคน, เป็นส่วนตัว, เมื่อไรก็ได้ที่ใจต้องการ) เราจะมีสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับพระยะโฮวา. นั่นเป็นการป้องกันที่ดีที่สุดที่เราอาจมีได้.—โรม 8:31; ยาโกโบ 4:7, 8.
ในอีกด้านหนึ่ง เราได้รับการตักเตือนให้อธิษฐาน “เพื่อสิทธชนทั้งหมด” นั่นคือ เพื่อเพื่อนคริสเตียนของเรา. ในคำอธิษฐานเราอาจรำลึกถึงพี่น้องฝ่ายวิญญาณของเราที่อยู่ในดินแดนห่างไกลซึ่งกำลังประสบการข่มเหงหรือความยากลำบากอื่น ๆ. แต่จะว่าอย่างไรเกี่ยวกับคริสเตียนที่เราทำงานและคบหาด้วยวันแล้ววันเล่า? เหมาะสมที่จะอธิษฐานเผื่อพวกเขาด้วย ดังที่พระเยซูทรงอธิษฐานเพื่อเหล่าสาวกของพระองค์. (โยฮัน 17:9; ยาโกโบ 5:16) คำอธิษฐานดังกล่าวชักนำเราให้มาใกล้ชิดกันและทำให้เราเข้มแข็งขึ้นเพื่อจะต้านทานการโจมตีของ ‘ผู้ชั่วร้าย.’—2 เธซะโลนิเก 3:1-3.
ในที่สุด จงคำนึงอย่างแน่วแน่ถึงคำตักเตือนด้วยความรักของอัครสาวกเปโตรที่ว่า “อวสานของสิ่งสารพัดใกล้เข้ามาแล้ว. เหตุฉะนั้น จงมีสุขภาพจิตดี และจงเฝ้าระวังในเรื่องการอธิษฐาน. ยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด จงมีความรักอันแรงกล้าต่อกันและกัน เพราะความรักปกปิดความผิดไว้มากมาย.” (1 เปโตร 4:7, 8, ล.ม.) ง่ายจริง ๆ ที่จะปล่อยให้สิ่งต่าง ๆ อันเป็นผลจากความไม่สมบูรณ์ของมนุษย์—ของคนอื่นและของตัวเราเอง—แทรกซึมเข้ามาในหัวใจและจิตใจของเราจนกลายเป็นอุปสรรค เป็นสิ่งกีดขวางที่ทำให้สะดุดล้ม. ซาตานทราบดีถึงจุดอ่อนนี้ของมนุษย์. การทำให้แตกแยกแล้วเอาชนะเป็นกลยุทธ์ที่มีเล่ห์เหลี่ยมอย่างหนึ่งของมัน. เพราะฉะนั้น เราต้องไวในการปกปิดบาปดังกล่าวด้วยความรักอันแรงกล้าต่อกันและกันและอย่า “ให้มารมีโอกาสได้.”—เอเฟโซ 4:25-27.
คงไว้ซึ่งความเข้มแข็งฝ่ายวิญญาณเสียแต่เดี๋ยวนี้
เมื่อสังเกตว่าผมของคุณยุ่งกระเซิงหรือเนกไทคุณเบี้ยว คุณทำอย่างไร? ส่วนใหญ่แล้วคุณคงจะจัดการให้เรียบร้อยทันทีที่เป็นไปได้. มีน้อยคนจะปล่อยไว้อย่างนั้นเพราะรู้สึกว่าความผิดปกติทางกายภาพเช่นนั้นไม่สำคัญอะไร. ขอให้เราตอบรับโดยฉับพลันเช่นเดียวกันเมื่อมาถึงเรื่องความอ่อนแอฝ่ายวิญญาณของเรา. จุดด่างพร้อยทางกายอาจชวนให้คนอื่นมองดูด้วยความไม่พอใจ แต่จุดบกพร่องฝ่ายวิญญาณที่ปล่อยไว้โดยไม่แก้ไขอาจยังผลด้วยความไม่พอพระทัยจากพระยะโฮวา.—1 ซามูเอล 16:7.
ด้วยความรักพระยะโฮวาทรงประทานทุกสิ่งที่จำเป็นให้เราเพื่อช่วยถอนรากความอ่อนแอฝ่ายวิญญาณใด ๆ ออกไปและคงไว้ซึ่งความเข้มแข็งฝ่ายวิญญาณ. โดยทางการประชุมคริสเตียน, สรรพหนังสือเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิล, และเพื่อนคริสเตียนที่อาวุโสและใส่ใจ พระองค์ทรงจัดเตรียมข้อเตือนใจและข้อชี้แนะในเรื่องสิ่งที่เราต้องทำนั้นให้เสมอ. นั่นขึ้นอยู่กับเราที่จะยอมรับและนำข้อเหล่านั้นไปใช้. เรื่องนี้ต้องใช้ความพยายามและการมีวินัยกับตนเอง. แต่ขอระลึกถึงสิ่งที่อัครสาวกเปาโลกล่าวไว้อย่างซื่อตรงว่า “ข้าพเจ้าจึงวิ่งแข่งโดยหวังชนะเป็นแน่ ข้าพเจ้าต่อสู้ไม่เหมือนนักมวยที่ชกลม แต่ข้าพเจ้าระงับความปรารถนาฝ่ายเนื้อหนังให้อยู่ใต้บังคับ, กลัวว่าเมื่อข้าพเจ้าได้ประกาศกิตติคุณแก่คนอื่นแล้ว. ตัวข้าพเจ้าเองจะเลยเป็นคนที่พระเจ้าทรงใช้การไม่ได้.”—1 โกรินโธ 9:26, 27.
จงระวังระไว และอย่าปล่อยให้จุดอ่อนฝ่ายวิญญาณเกิดขึ้น. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น ขอให้เราทำสิ่งที่จำเป็นด้วยใจถ่อมและอย่างกล้าหาญในขณะนี้เพื่อจะเห็นและเอาชนะความอ่อนแอฝ่ายวิญญาณใด ๆ ที่เรามีนั้น.
[จุดเด่นหน้า 19]
“ท่านทั้งหลายจงพิจารณาดูตัวของท่านเองว่าท่านตั้งอยู่ในความเชื่อหรือไม่ จงชันสูตรดูตัวของท่านเองเถิด.”—2 โกรินโธ 13:5.
[จุดเด่นหน้า 21]
“จงเฝ้าระวังในเรื่องการอธิษฐาน. ยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด จงมีความรักอันแรงกล้าต่อกันและกัน เพราะความรักปกปิดความผิดไว้มากมาย.”—1 เปโตร 4:7, 8, ล.ม.
[กรอบ/ภาพหน้า 20]
จงถามตัวคุณเองว่า . . .
◆ ฉันกระตือรือร้นที่จะใช้เวลาเตรียมตัวสำหรับการประชุมต่าง ๆ อย่างที่ฉันจะไปเที่ยวซื้อของหรือดูทีวีไหม?
◆ ฉันอิจฉาการดำรงชีวิตที่เรียกกันว่าสะดวกสบายของคนอื่นไหม?
◆ ฉันขุ่นเคืองง่ายเมื่อคนอื่นทำหรือพูดอะไรที่ฉันไม่ชอบไหม?
◆ ฉันรู้สึกว่ายากที่จะยอมรับคำแนะนำไหม หรือฉันรู้สึกว่าคนอื่นจ้องจับผิดฉันอยู่ร่ำไป?
◆ ฉันรู้สึกว่าเข้ากับคนอื่นได้ยากไหม?
◆ มาตรฐานของฉันลดต่ำลงพร้อมกับมาตรฐานของโลกไหม?
◆ ฉันมีเป้าหมายฝ่ายวิญญาณอะไรโดยเฉพาะไหม?
◆ ฉันกำลังทำอะไรเพื่อบรรลุเป้าหมายฝ่ายวิญญาณของตัวเอง?
[ที่มาของภาพหน้า 18]
Achilles: From the book Great Men and Famous Women; Roman soldiers and page 21: Historic Costume in Pictures/Dover Publications, Inc., New York