การบริหารงานเพื่อทำให้พระประสงค์ของพระเจ้าสำเร็จ
“[พระเจ้า] กระทำสิ่งสารพัดตามวิถีทางที่เป็นน้ำพระทัยของพระองค์.”—เอเฟโซ 1:11, ล.ม.
1. ทำไมประชาคมทุกแห่งของพยานพระยะโฮวาจะประชุมกันในวันที่ 12 เมษายน 2006?
ตอนค่ำวันพุธที่ 12 เมษายน 2006 จะมีราว ๆ 16 ล้านคนชุมนุมกันเพื่อร่วมฉลองอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า. ในที่ประชุมแต่ละแห่งจะตั้งโต๊ะตัวหนึ่งไว้ และบนโต๊ะนี้จะวางขนมปังไม่มีเชื้อซึ่งหมายถึงพระกายของพระคริสต์ กับเหล้าองุ่นแดงซึ่งเป็นสัญลักษณ์ถึงพระโลหิตที่พระองค์ทรงหลั่ง. เมื่อถึงช่วงท้าย ๆ คำบรรยายซึ่งอธิบายความหมายของการประชุมอนุสรณ์ระลึกถึงการสิ้นพระชนม์ของพระเยซู จะมีการผ่านสิ่งซึ่งเป็นสัญลักษณ์ทั้งสองอย่างนี้ไปยังทุกคนที่เข้าร่วม—อันดับแรกคือขนมปัง แล้วตามด้วยเหล้าองุ่น. มีแค่บางประชาคมของพยานพระยะโฮวาที่จะมีคนหนึ่งหรือมากกว่านั้นที่รับประทานสิ่งซึ่งเป็นสัญลักษณ์ดังกล่าว. แต่โดยมากแล้วจะไม่มีใครในหมู่ผู้เข้าร่วมที่รับประทาน. ทำไมจึงมีคริสเตียนเพียงไม่กี่คนซึ่งมีความหวังจะได้อยู่ในสวรรค์รับประทาน ในขณะที่คนส่วนใหญ่ซึ่งมีความหวังจะอาศัยตลอดไปบนแผ่นดินโลกไม่รับประทาน?
2, 3. (ก) พระยะโฮวาทรงสร้างสิ่งต่าง ๆ ตามพระประสงค์ของพระองค์อย่างไร? (ข) พระยะโฮวาทรงสร้างแผ่นดินโลกและมนุษย์โดยมีพระประสงค์เช่นไร?
2 พระยะโฮวาทรงเป็นพระเจ้าผู้มีพระประสงค์. เพื่อให้สำเร็จตามพระประสงค์ พระองค์ “ทรงกระทำสิ่งสารพัดตามวิถีทางที่เป็นน้ำพระทัยของพระองค์.” (เอเฟโซ 1:11, ล.ม.) ก่อนอื่น พระองค์ทรงสร้างพระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียว. (โยฮัน 1:1, 14; วิวรณ์ 3:14) จากนั้น โดยทางพระบุตรองค์นี้ พระยะโฮวาทรงสร้างครอบครัวแห่งบุตรที่เป็นกายวิญญาณ และสุดท้ายทรงสร้างเอกภพซึ่งก็รวมถึงแผ่นดินโลกและมนุษย์.—โยบ 38:4, 7; บทเพลงสรรเสริญ 103:19-21; โยฮัน 1:2, 3; โกโลซาย 1:15, 16.
3 พระยะโฮวาไม่ได้สร้างแผ่นดินโลกให้เป็นเหมือนสนามสอบเพื่อคัดคนที่จะขึ้นไปเพิ่มจำนวนเหล่าบุตรกายวิญญาณของพระองค์ในสวรรค์ เหมือนกับที่คริสตจักรหลายแห่งสอนอย่างนั้น. พระองค์ทรงสร้างแผ่นดินโลกโดยมีพระประสงค์ที่แน่นอนไว้แล้วในพระทัย ซึ่งก็คือ “ให้เป็นที่อาศัย.” (ยะซายา 45:18) พระเจ้าทรงสร้างแผ่นดินโลกไว้เพื่อมนุษย์และสร้างมนุษย์ไว้เพื่อแผ่นดินโลก. (บทเพลงสรรเสริญ 115:16) แผ่นดินโลกทั้งสิ้นจะกลายเป็นอุทยานอันเต็มไปด้วยมนุษย์ผู้ชอบธรรมซึ่งจะเพาะปลูกและดูแลแผ่นดิน. ไม่เคยมีการเสนอความหวังแก่มนุษย์คู่แรกว่าในที่สุดเขาจะได้ไปอยู่ในสวรรค์.—เยเนซิศ 1:26-28; 2:7, 8, 15.
พระประสงค์ของพระยะโฮวาถูกท้าทาย
4. วิธีที่พระยะโฮวาทรงใช้อำนาจสูงสุดของพระองค์ถูกคัดค้านอย่างไรในตอนแรกเริ่มแห่งประวัติศาสตร์มนุษย์?
4 บุตรกายวิญญาณองค์หนึ่งของพระเจ้าขืนอำนาจและตั้งใจขัดขวางพระประสงค์ของพระยะโฮวาโดยใช้เจตจำนงเสรีที่พระองค์ประทานให้อย่างผิด ๆ. บุตรผู้นี้ได้ทำลายสันติสุขของทุกคนที่ยอมอยู่ใต้อำนาจสูงสุดของพระยะโฮวาเพราะรักพระองค์. ซาตานชักนำมนุษย์คู่แรกให้เริ่มเดินในแนวทางที่ไม่พึ่งพาพระเจ้า. (เยเนซิศ 3:1-6) มันมิได้ปฏิเสธว่าพระเจ้าทรงมีอำนาจ แต่มันคัดค้านวิธีที่พระองค์ทรงใช้อำนาจสูงสุดของพระองค์ และนี่จึงเป็นการตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับสิทธิในการปกครองของพระองค์. ด้วยเหตุนั้น ประเด็นพื้นฐานเกี่ยวกับสิทธิในการปกครองของพระยะโฮวาจึงถูกยกขึ้นมาอย่างเด่นชัดบนแผ่นดินโลกตั้งแต่ตอนแรกเริ่มแห่งประวัติศาสตร์มนุษย์.
5. มีการยกประเด็นรองขึ้นมาเช่นไร และประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับใครบ้าง?
5 ประเด็นที่เกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิดกับประเด็นหลักเรื่องสิทธิของพระยะโฮวาในการปกครองเหนือสรรพสิ่งก็คือประเด็นรองที่ซาตานได้ยกขึ้นมาในสมัยโยบ. ซาตานตั้งข้อสงสัยในเรื่องแรงกระตุ้นที่ทำให้สิ่งทรงสร้างทั้งหลายยอมอยู่ใต้อำนาจและรับใช้พระยะโฮวา. ซาตานกล่าวเป็นนัย ๆ ว่าพวกเขาทำเช่นนั้นด้วยเหตุผลอันเห็นแก่ตัว และหากถูกทดสอบพวกเขาจะหันหลังให้พระเจ้า. (โยบ 1:7-11; 2:4, 5) แม้ว่าประเด็นดังกล่าวถูกยกขึ้นมาโดยมุ่งไปที่มนุษย์ที่เป็นผู้รับใช้ของพระยะโฮวา แต่ข้อท้าทายนี้ก็เกี่ยวข้องด้วยกับเหล่าบุตรกายวิญญาณของพระเจ้า ตลอดจนพระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียวของพระยะโฮวา.
6. พระยะโฮวาทรงพิสูจน์อย่างไรว่าพระองค์ทรงซื่อสัตย์ต่อพระประสงค์และพระนามของพระองค์?
6 ด้วยความซื่อสัตย์ต่อพระประสงค์และต่อความหมายแห่งพระนามของพระองค์ พระยะโฮวาทรงกำหนดบทบาทให้พระองค์เองเป็นผู้พยากรณ์และผู้ช่วยให้รอด.a พระองค์ทรงแจ้งแก่ซาตานว่า “เราจะให้เจ้ากับหญิงและพงศ์พันธุ์ของเจ้ากับพงศ์พันธุ์ของนางเป็นศัตรูกัน. เขาจะบดขยี้หัวของเจ้าและเจ้าจะบดขยี้ส้นเท้าของเขา.” (เยเนซิศ 3:15, ล.ม.) โดยทางพงศ์พันธุ์ของ “หญิง” หรือองค์การของพระองค์ทางภาคสวรรค์ พระยะโฮวาจะตอบข้อท้าทายของซาตานและทำให้ลูกหลานของอาดามมีความหวังจะได้รับการช่วยให้รอดและได้รับชีวิต.—โรม 5:21; ฆะลาเตีย 4:26, 31.
“ความลับอันศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวกับพระทัยประสงค์ของพระองค์”
7. พระยะโฮวาทรงเปิดเผยพระประสงค์อะไรโดยทางอัครสาวกเปาโล?
7 ในจดหมายถึงคริสเตียนที่เอเฟโซส์ อัครสาวกเปาโลอธิบายไว้ดีมากถึงวิธีที่พระยะโฮวาทรงจัดการเรื่องต่าง ๆ เพื่อทำให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จ. เปาโลเขียนดังนี้: “พระองค์ได้ทรงโปรดให้เราทราบความลับอันศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวกับพระทัยประสงค์ของพระองค์. ตามซึ่งชอบพระทัยอันดีของพระองค์ที่พระองค์ดำริไว้ด้วยพระองค์เอง เพื่อการบริหารงานเมื่อเวลากำหนดครบถ้วน กล่าวคือ จะทรงรวบรวมสิ่งสารพัดเข้าไว้ในพระคริสต์อีก คือสิ่งต่าง ๆ ในสวรรค์และสิ่งต่าง ๆ ที่แผ่นดินโลก.” (เอเฟโซ 1:9, 10, ล.ม.) พระยะโฮวาทรงมีพระประสงค์อันรุ่งโรจน์ที่จะก่อให้เกิดเอกภพที่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งทรงสร้างที่อยู่ใต้อำนาจสูงสุดของพระองค์เพราะรักพระองค์. (วิวรณ์ 4:11) ด้วยเหตุนี้ พระนามของพระองค์จะได้รับความนับถืออันบริสุทธิ์, ซาตานถูกพิสูจน์ว่าเป็นตัวมุสา, และพระทัยประสงค์ของพระเจ้าจะสำเร็จ “บนแผ่นดินโลกเช่นเดียวกับในสวรรค์.”—มัดธาย 6:10, ล.ม.
8. คำซึ่งแปลในที่นี้ว่า “การบริหารงาน” มีความหมายเช่นไร?
8 ‘สิ่งซึ่งเป็นที่ชอบพระทัยอันดี’ หรือพระประสงค์ของพระยะโฮวาจะสำเร็จโดย “การบริหารงาน.” เปาโลใช้คำที่ตามตัวอักษรแล้วหมายถึง “การจัดการในครัวเรือน.” คำนี้ไม่ได้พาดพิงถึงรัฐบาล อย่างราชอาณาจักรมาซีฮา แต่เกี่ยวข้องกับวิธีจัดการเรื่องต่าง ๆ.b วิธีอันน่าทึ่งที่พระยะโฮวาใช้ในการจัดการเรื่องต่าง ๆ ให้สำเร็จตามพระประสงค์ของพระองค์นั้นเกี่ยวข้องกับ “ความลับอันศักดิ์สิทธิ์” ซึ่งจะมีการเปิดเผยตามลำดับตลอดช่วงเวลาหลายศตวรรษ.—เอเฟโซ 1:10, ล.ม.; 3:9, ล.ม. เชิงอรรถ.
9. พระยะโฮวาทรงเปิดเผยความลับอันศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวกับพระทัยประสงค์ของพระองค์ตามลำดับอย่างไร?
9 โดยทางสัญญาต่าง ๆ ที่ต่อเนื่องกัน พระยะโฮวาทรงค่อย ๆ เปิดเผยทีละน้อยถึงวิธีที่พระประสงค์ของพระองค์เกี่ยวข้องกับพงศ์พันธุ์ที่ทรงสัญญาไว้ในสวนเอเดนจะสำเร็จลุล่วง. สัญญาที่ทรงทำกับอับราฮามเผยให้เห็นว่าพงศ์พันธุ์ที่ทรงสัญญาไว้นั้นจะมายังแผ่นดินโลกทางเชื้อสายของอับราฮาม และโดยทางพงศ์พันธุ์นี้ “ชนทุกชาติทั่วโลก” จะทำให้ตนเองได้พร. สัญญาดังกล่าวยังชี้เป็นนัย ๆ ด้วยว่าจะมีคนอื่น ๆ ที่ร่วมสมทบกับพงศ์พันธุ์อันดับแรก. (เยเนซิศ 22:17, 18) สัญญาแห่งพระบัญญัติที่ทำกับชาติอิสราเอลเปิดเผยว่าพระยะโฮวาทรงประสงค์จะให้มี “อาณาจักรแห่งปุโรหิต.” (เอ็กโซโด 19:5, 6) สัญญาที่ทำกับดาวิดแสดงให้เห็นว่าพงศ์พันธุ์จะเป็นประมุขของราชอาณาจักรหนึ่งจนกระทั่งเวลาไม่กำหนด. (2 ซามูเอล 7:12, 13; บทเพลงสรรเสริญ 89:3, 4) เมื่อสัญญาแห่งพระบัญญัติได้นำชาวยิวมาถึงมาซีฮาแล้ว พระยะโฮวาทรงเปิดเผยเพิ่มเติมเกี่ยวกับแง่มุมต่าง ๆ ของการทำให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จ. (ฆะลาเตีย 3:19, 24) มนุษย์ที่จะร่วมสมทบกับพงศ์พันธุ์อันดับแรกจะประกอบกันเป็น “อาณาจักรแห่งปุโรหิต” ตามที่บอกไว้ล่วงหน้า และจะถูกนำเข้าสู่ “สัญญาไมตรีใหม่” ในฐานะ “ยิศราเอล” ใหม่ ซึ่งเป็นชาติฝ่ายวิญญาณ.—ยิระมะยา 31:31-34; เฮ็บราย 8:7-9.c
10, 11. (ก) พระยะโฮวาทรงเปิดเผยอย่างไรเกี่ยวกับพงศ์พันธุ์ที่ทรงบอกไว้ล่วงหน้า? (ข) ทำไมพระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียวของพระเจ้าจึงเสด็จมายังแผ่นดินโลก?
10 เพื่อที่การบริหารงานจะทำให้พระประสงค์ของพระเจ้าสำเร็จ พงศ์พันธุ์ที่บอกไว้ล่วงหน้าต้องมาปรากฏบนแผ่นดินโลก. พระยะโฮวาทรงส่งทูตสวรรค์ฆับรีเอลให้มาแจ้งแก่มาเรียว่าเธอจะคลอดบุตรชายชื่อเยซู. ทูตสวรรค์นั้นกล่าวกับเธอว่า “บุตรนั้นจะเป็นใหญ่, และจะได้ชื่อว่าเป็นบุตรของผู้สูงสุด. พระเจ้าจะประทานพระที่นั่งของดาวิดบิดาของท่านให้แก่ท่าน. และท่านจะครอบครองพงศ์พันธุ์ของยาโคบสืบ ๆ ไปเป็นนิตย์ และแผ่นดินของท่านจะไม่รู้สิ้นสุดเลย.” (ลูกา 1:32, 33) ฉะนั้น ถึงตอนนี้จึงเห็นได้ชัดแล้วว่าใครคือพงศ์พันธุ์ที่ทรงสัญญาไว้.—ฆะลาเตีย 3:16; 4:4.
11 พระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียวของพระยะโฮวาต้องเสด็จมายังแผ่นดินโลกและถูกทดสอบจนถึงขีดสุด. แนวทางชีวิตของพระเยซูจะให้คำตอบอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ต่อข้อท้าทายของซาตาน. พระองค์จะรักษาความซื่อสัตย์ต่อพระบิดาของพระองค์ไหม? เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับความลับอันศักดิ์สิทธิ์. ในเวลาต่อมา อัครสาวกเปาโลอธิบายถึงบทบาทของพระเยซูดังนี้: “ความลับอันศักดิ์สิทธิ์แห่งความเลื่อมใสพระเจ้านี้เป็นที่ยอมรับว่ายิ่งใหญ่จริง: ‘พระองค์ถูกส่งมาให้ปรากฏเป็นเนื้อหนัง ได้รับการประกาศว่าชอบธรรมในฐานะเป็นวิญญาณ ทรงปรากฏแก่เหล่าทูตสวรรค์ ได้รับการประกาศถึงท่ามกลางนานาชาติ ได้รับความเชื่อถือในโลก ถูกรับขึ้นไปในสง่าราศี.’” (1 ติโมเธียว 3:16, ล.ม.) ใช่แล้ว โดยยืนหยัดมั่นคงจนกระทั่งสิ้นพระชนม์ พระเยซูทรงตอบข้อท้าทายของซาตานอย่างชัดเจน. แต่ยังจะต้องมีการเปิดเผยรายละเอียดอื่น ๆ เกี่ยวกับความลับอันศักดิ์สิทธิ์กันต่อไป.
“ความลับอันศักดิ์สิทธิ์แห่งราชอาณาจักรของพระเจ้า”
12, 13. (ก) แง่หนึ่งของ “ความลับอันศักดิ์สิทธิ์แห่งราชอาณาจักรของพระเจ้า” คืออะไร? (ข) อะไรเกี่ยวข้องอยู่ด้วยกับการที่พระยะโฮวาทรงเลือกมนุษย์จำนวนจำกัดกลุ่มหนึ่งให้ไปสวรรค์?
12 ระหว่างที่ทรงเดินทางประกาศในแคว้นแกลิลีรอบหนึ่ง พระเยซูทรงชี้ว่าความลับอันศักดิ์สิทธิ์นั้นเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลราชอาณาจักรมาซีฮาของพระองค์. พระองค์ทรงบอกเหล่าสาวกว่า “ความลับอันศักดิ์สิทธิ์แห่งราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์ [“ราชอาณาจักรของพระเจ้า” มาระโก 4:11, ล.ม.] ทรงโปรดให้พวกเจ้าเข้าใจ.” (มัดธาย 13:11, ล.ม.) แง่หนึ่งของความลับนั้นเกี่ยวข้องกับการที่พระยะโฮวาทรงเลือก “ฝูงเล็ก” แห่ง 144,000 คนเพื่อร่วมสมทบกับพระบุตรของพระองค์ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของพงศ์พันธุ์ที่จะปกครองร่วมกับพระบุตรในสวรรค์.—ลูกา 12:32, ล.ม.; วิวรณ์ 14:1, 4.
13 เนื่องจากมนุษย์ถูกสร้างให้อยู่บนแผ่นดินโลก จึงจำเป็นที่พระยะโฮวาจะต้องจัดให้มี “สิ่งทรงสร้างใหม่” เพื่อมนุษย์บางคนจะไปสวรรค์ได้. (2 โกรินโธ 5:17, ล.ม.) ในฐานะเป็นคนหนึ่งที่ถูกเลือกให้ร่วมในความหวังพิเศษฝ่ายสวรรค์นี้ อัครสาวกเปโตรเขียนไว้ว่า “จงสรรเสริญพระเจ้า คือพระบิดาแห่งพระเยซูคริสต์เจ้าของเรา, ผู้ได้ทรงพระมหากรุณาแก่เราโปรดให้เราบังเกิดใหม่, ให้มีความหวังใจอันมีชีวิตอยู่ โดยทรงบันดาลให้พระเยซูคริสต์เป็นขึ้นมาจากตายแล้ว, คือได้โปรดให้รับมฤดกซึ่งไม่รู้เปื่อยเน่า, อันปราศจากมลทิน, และที่จะหาร่วงโรยไปไม่, ซึ่งทรงเตรียมไว้ในเมืองสวรรค์สำหรับท่านทั้งหลาย.”—1 เปโตร 1:3, 4.
14. (ก) คนที่ไม่ใช่ชาวยิวเกี่ยวข้องด้วยอย่างไรกับ “ความลับอันศักดิ์สิทธิ์แห่งราชอาณาจักรของพระเจ้า”? (ข) ทำไมเราจึงสามารถเข้าใจ “สิ่งลึกซึ้งของพระเจ้า”?
14 อีกส่วนหนึ่งของความลับอันศักดิ์สิทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลราชอาณาจักรในอนาคตก็คือพระทัยประสงค์ของพระเจ้าที่จะรวมคนที่ไม่ใช่ชาวยิวเข้ากับกลุ่มคนจำนวนน้อยซึ่งจะถูกเรียกให้ไปปกครองกับพระคริสต์ในสวรรค์. เปาโลอธิบายแง่มุมนี้ของ “การบริหารงาน” ของพระยะโฮวา หรือวิธีจัดการให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จ โดยกล่าวว่า “ในชั่วอายุอื่น ๆ ความลับนี้ไม่มีการแจ้งแก่บุตรทั้งหลายของมนุษย์ดังที่มีการเปิดเผยในเวลานี้แก่เหล่าอัครสาวกและผู้พยากรณ์ที่บริสุทธิ์ของพระองค์โดยทางพระวิญญาณ ‘คือว่า ผู้คนจากชาติต่าง ๆ จะเป็นทายาทร่วมและเป็นอวัยวะร่วมแห่งกายและเป็นผู้ร่วมรับคำสัญญากับเราร่วมสามัคคีกับพระคริสต์เยซูโดยทางข่าวดี.’ ” (เอเฟโซ 3:5, 6, ล.ม.) ความลับอันศักดิ์สิทธิ์ในส่วนนี้ถูกเปิดเผยให้ ‘เหล่าอัครสาวกที่บริสุทธิ์’ ได้เข้าใจ. คล้ายกันในทุกวันนี้ หากไม่ใช่เพราะความช่วยเหลือจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ เราไม่มีทางจะเข้าใจ “สิ่งลึกซึ้งของพระเจ้า” ดังที่กล่าวไปแล้ว.—1 โกรินโธ 2:10, ล.ม.; 4:1; โกโลซาย 1:26, 27.
15, 16. ทำไมพระยะโฮวาทรงเลือกผู้ที่จะปกครองร่วมกับพระคริสต์จากหมู่มนุษย์?
15 พระธรรมวิวรณ์กล่าวว่าชน “แสนสี่หมื่นสี่พันคน” ซึ่งยืนอยู่กับ “พระเมษโปดก” บนภูเขาซีโอนฝ่ายสวรรค์นั้นเป็นผู้ที่ “ทรงไถ่ไว้แล้วจากแผ่นดินโลก” และ “ทรงไถ่ออกจากท่ามกลางมนุษย์เป็นผลแรกถวายแด่พระเจ้าและแด่พระเมษโปดก” คือพระคริสต์เยซู. (วิวรณ์ 14:1-4) พระยะโฮวาทรงเลือกบุตรฝ่ายสวรรค์องค์แรกให้เป็นพงศ์พันธุ์อันดับแรกที่ทรงสัญญาไว้ในสวนเอเดน แต่เหตุใดพระองค์ทรงเลือกผู้ที่จะปกครองร่วมกับพระคริสต์จากหมู่มนุษย์? อัครสาวกเปาโลอธิบายว่าจำนวนจำกัดนี้ “ได้ทรงเลือกไว้ตามพระดำริของพระองค์” “ตามที่ชอบพระทัยของพระองค์.”—โรม 8:17, 28-30; เอเฟโซ 1:5, 11; 2 ติโมเธียว 1:9.
16 พระประสงค์ของพระยะโฮวาคือการทำให้พระนามอันยิ่งใหญ่และบริสุทธิ์ของพระองค์ได้รับความนับถืออันบริสุทธิ์และพิสูจน์ความถูกต้องแห่งสิทธิของพระองค์ในการปกครองเหนือสรรพสิ่ง. ด้วย “การบริหารงาน” หรือวิธีจัดการเรื่องต่าง ๆ อย่างฉลาดสุขุมแบบที่ไม่มีใครเทียบได้ พระยะโฮวาทรงส่งพระบุตรหัวปีมายังแผ่นดินโลกให้ถูกทดสอบจนถึงขีดสุด. ยิ่งกว่านั้น พระยะโฮวาทรงกำหนดไว้ว่ามนุษย์ที่ได้สนับสนุนอำนาจสูงสุดของพระองค์จนกระทั่งเสียชีวิตเช่นเดียวกับพระเยซูจะมีส่วนร่วมในรัฐบาลราชอาณาจักรมาซีฮาของพระบุตรด้วย.—เอเฟโซ 1:8-12; วิวรณ์ 2:10, 11.
17. เพราะเหตุใดเราจึงรู้สึกยินดีได้ในการที่พระคริสต์และผู้ที่ปกครองร่วมกับพระองค์เคยใช้ชีวิตในฐานะมนุษย์มาก่อน?
17 พระยะโฮวาทรงแสดงความรักอันยิ่งใหญ่ต่อลูกหลานของอาดามโดยส่งพระบุตรมายังแผ่นดินโลกและโดยเลือกผู้ที่จะเป็นรัชทายาทร่วมกับพระบุตรในรัฐบาลราชอาณาจักรจากหมู่มนุษย์. การทำอย่างนี้เป็นประโยชน์อย่างไรแก่คนอื่น ๆ ที่ได้พิสูจน์ตัวซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวา นับตั้งแต่เฮเบลเป็นต้นมา? เนื่องจากเกิดมาเป็นทาสบาปและความตาย มนุษย์ไม่สมบูรณ์จำเป็นต้องได้รับการรักษาทั้งทางกายและวิญญาณ และต้องได้รับการช่วยให้บรรลุความสมบูรณ์ ตามพระประสงค์ดั้งเดิมของพระยะโฮวาสำหรับมนุษยชาติ. (โรม 5:12) ช่างให้การปลอบใจจริง ๆ สำหรับทุกคนซึ่งตั้งตารอคอยชีวิตชั่วนิรันดร์บนแผ่นดินโลกที่ทราบว่ากษัตริย์ของพวกเขาจะแสดงความรักและความเข้าใจอย่างกรุณา เช่นเดียวกับที่พระองค์ทรงแสดงต่อเหล่าสาวกระหว่างที่ทรงรับใช้บนแผ่นดินโลก! (มัดธาย 11:28, 29; เฮ็บราย 2:17, 18; 4:15; 7:25, 26) และช่างให้ความมั่นใจแก่พวกเขาสักเพียงไรที่ทราบว่าผู้ที่เป็นกษัตริย์และปุโรหิตร่วมกับพระคริสต์ในสวรรค์คือผู้ที่เคยเป็นมนุษย์ที่ซื่อสัตย์ ซึ่งพวกเขาเองก็เคยต่อสู้กับความอ่อนแอของตัวเอง รวมทั้งประสบปัญหาและข้อท้าทายในชีวิตเช่นเดียวกับเรา!—โรม 7:21-25.
พระประสงค์ที่ไม่มีวันล้มเหลวของพระยะโฮวา
18, 19. เหตุใดเราจึงเข้าใจคำกล่าวของเปาโลที่เอเฟโซ 1:8-11 ชัดเจนขึ้น และจะมีการพิจารณาอะไรในบทความถัดไป?
18 ถึงตอนนี้ เราคงเข้าใจดีขึ้นเกี่ยวกับความหมายในคำกล่าวของเปาโลที่มีไปถึงคริสเตียนผู้ถูกเจิม ดังที่พบในเอเฟโซ 1:8-11 (ล.ม.). ท่านกล่าวว่าพระยะโฮวาได้ทรงเปิดเผยให้พวกเขารู้ “ความลับอันศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวกับพระทัยประสงค์ของพระองค์,” พวกเขาถูก “มอบหมายไว้ให้เป็นผู้รับมรดก” กับพระคริสต์, และพวกเขาถูก “กำหนดเอาไว้ก่อนแล้ว ตามพระดำริของพระองค์ผู้ซึ่งกระทำสิ่งสารพัดตามวิถีทางที่เป็นน้ำพระทัยของพระองค์.” เราได้มาเข้าใจว่าเรื่องนี้สอดคล้องกันอย่างดีกับ “การบริหารงาน” อันยอดเยี่ยมของพระยะโฮวาเพื่อทำให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จ. เรื่องนี้ยังช่วยเราด้วยให้เข้าใจว่าทำไมจึงมีคริสเตียนเพียงไม่กี่คนในหมู่ผู้เข้าร่วมการฉลองอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้าที่รับประทานสิ่งซึ่งเป็นสัญลักษณ์.
19 ในบทความถัดไป เราจะเข้าใจว่าการประชุมอนุสรณ์ระลึกถึงการสิ้นพระชนม์ของพระคริสต์มีความหมายอย่างไรต่อคริสเตียนที่มีความหวังฝ่ายสวรรค์. เราจะทราบด้วยว่าทำไมหลายล้านคนที่มีความหวังจะอยู่ตลอดไปบนแผ่นดินโลกควรสนใจเต็มที่ในเรื่องที่ว่าการประชุมอนุสรณ์มีความหมายเช่นไร.
[เชิงอรรถ]
a พระนามของพระเจ้ามีความหมายตามตัวอักษรว่า “พระองค์ทรงบันดาลให้เป็น.” พระยะโฮวาทรงสามารถเป็นอะไรก็ได้ตามที่จำเป็นเพื่อทำให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จ.—เอ็กโซโด 3:14 โปรดดูหนังสือคัมภีร์ไบเบิลสอนอะไรจริง ๆ หน้า 197 วรรค 1, 2.
b คำกล่าวของเปาโลแสดงให้เห็นว่ามี “การบริหารงาน” ในสมัยของท่าน ในขณะที่พระคัมภีร์บ่งชี้ว่าราชอาณาจักรมาซีฮานั้นยังไม่ได้สถาปนาขึ้นจนกระทั่งปี 1914.
c สำหรับการพิจารณาอย่างละเอียดเกี่ยวกับสัญญาเหล่านี้ที่เกี่ยวข้องกับการทำให้พระประสงค์ของพระเจ้าสำเร็จ โปรดดูหอสังเกตการณ์ ฉบับ 1 กุมภาพันธ์ 1989 หน้า 12-19.
เพื่อทบทวน
• ทำไมพระยะโฮวาทรงสร้างแผ่นดินโลกและให้มนุษย์อยู่บนโลก?
• ทำไมจึงจำเป็นที่พระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียวของพระยะโฮวาต้องถูกทดสอบบนโลก?
• ทำไมพระยะโฮวาทรงเลือกผู้ที่ปกครองร่วมกับพระคริสต์จากหมู่มนุษย์?