พระยะโฮวาทรงรวบรวมครอบครัวของพระองค์
‘ข้าพเจ้าขอวิงวอนท่านทั้งหลายให้รักษาความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน.’—เอเฟ. 4:1, 3
คุณจะอธิบายอย่างไร?
จุดประสงค์ของการบริหารงานของพระเจ้าคืออะไร?
เราจะ “รักษาความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน” ได้อย่างไร?
อะไรจะช่วยเราให้ “กรุณาต่อกัน”?
1, 2. พระยะโฮวาทรงมีพระประสงค์เช่นไรสำหรับแผ่นดินโลกและมนุษยชาติ?
ครอบครัว. คำนี้ทำให้คุณคิดถึงอะไร? คุณคิดถึงความอบอุ่นและความสุขไหม? คุณคิดถึงการทำงานด้วยกันเพื่อบรรลุเป้าหมายอย่างใดอย่างหนึ่งไหม? หรือคุณคิดว่าครอบครัวเป็นที่พักพิงที่ปลอดภัยสำหรับการเติบโต การเรียนรู้ และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน? ภาพในความคิดของคุณเกี่ยวกับครอบครัวคงเป็นเช่นนั้นถ้าคุณอยู่ในครอบครัวที่ห่วงใยกัน. พระยะโฮวาเองทรงเป็นผู้ก่อตั้งครอบครัว. (เอเฟ. 3:14, 15) พระองค์ทรงประสงค์ให้สิ่งทรงสร้างทั้งในสวรรค์และบนแผ่นดินโลกรู้สึกปลอดภัย ไว้ใจกัน และมีเอกภาพอย่างแท้จริง.
2 หลังจากที่ทำบาป มนุษย์ก็ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวของพระเจ้าอีกต่อไป. แต่นั่นไม่ทำให้พระประสงค์ของพระยะโฮวาเปลี่ยนไป. พระองค์จะยังคงดำเนินการเพื่อทำให้โลกเป็นอุทยานที่เต็มไปด้วยลูกหลานของอาดามและฮาวา. (เย. 1:28; ยซา. 45:18) พระองค์ทรงจัดเตรียมทุกสิ่งที่จำเป็นเพื่อให้สำเร็จตามพระประสงค์นี้. มีการเน้นเรื่องเอกภาพมากทีเดียวในหนังสือเอเฟโซส์. ขอให้เราพิจารณาบางข้อจากหนังสือนี้และดูว่าเราจะร่วมมือกับพระประสงค์ของพระยะโฮวาในการทำให้สิ่งทรงสร้างของพระองค์เป็นหนึ่งเดียวได้อย่างไร.
“การบริหารงาน”
3. การบริหารงานของพระเจ้าที่กล่าวถึงในเอเฟโซส์ 1:10 คืออะไร และการดำเนินการในขั้นตอนแรกเริ่มต้นเมื่อไร?
3 ทุกสิ่งที่พระยะโฮวาทรงทำล้วนสนับสนุนพระประสงค์ของพระองค์. ด้วยเหตุนั้น “เมื่อถึงเวลากำหนด” พระเจ้าทรงให้มี “การบริหารงาน” กล่าวคือทรงให้มีการจัดเตรียมอย่างหนึ่งเพื่อรวบรวมสิ่งทรงสร้างทั้งสิ้นที่มีเชาวน์ปัญญาให้เป็นหนึ่งเดียวในฐานะครอบครัวเดียว. (อ่านเอเฟโซส์ 1:8-10) การบริหารงานนี้มีสองขั้นตอน. ขั้นตอนแรกเป็นการเตรียมประชาคมแห่งผู้ถูกเจิมไว้ให้พร้อมสำหรับการทำงานในสวรรค์ร่วมกับพระเยซูคริสต์ ประมุขของพวกเขา. ขั้นตอนนี้เริ่มขึ้นในวันเพนเทคอสต์สากลศักราช 33 เมื่อพระยะโฮวาทรงเริ่มรวบรวมคนที่จะปกครองกับพระคริสต์ในสวรรค์. (กิจ. 2:1-4) พระเจ้าทรงถือว่าผู้ถูกเจิมชอบธรรมและคู่ควรจะได้รับชีวิตโดยอาศัยเครื่องบูชาไถ่ของพระคริสต์. ชนผู้ถูกเจิมรู้ว่าพวกเขาถูกรับเป็น “บุตรของพระเจ้า.”—โรม 3:23, 24; 5:1; 8:15-17
4, 5. ขั้นตอนที่สองของการบริหารงานคืออะไร?
4 ขั้นตอนที่สองเป็นการเตรียมคนที่จะอยู่ในอุทยานบนแผ่นดินโลกภายใต้การปกครองของราชอาณาจักรมาซีฮา. “ชนฝูงใหญ่” เป็นคนกลุ่มแรกที่จะอยู่ในอุทยาน. (วิ. 7:9, 13-17; 21:1-5) ในช่วงรัชสมัยพันปีจะมีหลายพันล้านคนที่ถูกปลุกให้เป็นขึ้นจากตายมาสมทบกับพวกเขา. (วิ. 20:12, 13) ขอให้นึกภาพว่าเราจะมีโอกาสมากสักเพียงไรที่จะแสดงให้เห็นว่าเรามีเอกภาพ! เมื่อสิ้นรัชสมัยพันปี ‘สิ่งสารพัดบนแผ่นดินโลก’ จะถูกทดสอบครั้งสุดท้าย. คนที่พิสูจน์ตัวว่าซื่อสัตย์จะถูกรับเป็น “เหล่าบุตรของพระเจ้า” ที่อยู่บนแผ่นดินโลก.—โรม 8:21; วิ. 20:7, 8
5 การบริหารงานของพระเจ้าทั้งสองขั้นตอนนี้กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน ทั้งในสวรรค์และบนแผ่นดินโลก. แต่เราแต่ละคนจะร่วมมือกับการบริหารงานของพระเจ้าโดยวิธีใด?
“รักษาความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน”
6. พระคัมภีร์บอกไว้อย่างไรในเรื่องที่ว่าคริสเตียนต้องคบหาสมาคมกัน?
6 พระคัมภีร์บอกว่าคริสเตียนต้องประชุมร่วมกัน. (1 โค. 14:23; ฮีบรู 10:24, 25) นั่นไม่ได้หมายถึงเพียงแค่อยู่ด้วยกันในสถานที่เดียวกัน เหมือนกับผู้คนที่ไปตลาดหรือไปสนามกีฬา. เอกภาพแท้มีความหมายมากกว่านั้นมาก. เราจะมีเอกภาพเช่นนั้นได้เมื่อเราทำตามคำสอนของพระยะโฮวาและให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ขัดเกลาเรา.
7. เราจะทำตามคำแนะนำที่ให้ “รักษาความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน” ได้อย่างไร?
7 แม้ว่าพระยะโฮวาทรงถือว่าผู้ถูกเจิมชอบธรรมในฐานะบุตรและถือว่าแกะอื่นชอบธรรมในฐานะมิตรโดยอาศัยเครื่องบูชาไถ่ของพระคริสต์ แต่ในบางครั้งเราอาจมีปัญหากับคนอื่น ๆ บ้างตราบเท่าที่เรายังมีชีวิตอยู่ในระบบปัจจุบันนี้. (โรม 5:9; ยโก. 2:23) ถ้าไม่เป็นอย่างนั้นคงไม่จำเป็นต้องมีคำแนะนำให้เรา “ทนกันและกัน” ต่อ ๆ ไป. เราจะเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับเพื่อนร่วมความเชื่อได้อย่างไร? เราจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะมี “ความถ่อมใจและความอ่อนโยนอย่างยิ่ง.” นอกจากนั้น เปาโลกระตุ้นเราให้พยายามอย่างจริงจังเพื่อ “รักษาความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันด้วยสันติสุขซึ่งเป็นสิ่งที่ผูกพันผู้คนให้มีเอกภาพ.” (อ่านเอเฟโซส์ 4:1-3) วิธีหนึ่งที่จะทำตามคำแนะนำนี้คือยอมให้พระวิญญาณของพระเจ้าโน้มนำเราและช่วยเราให้แสดงผลของพระวิญญาณ. ผลของพระวิญญาณช่วยเราให้แก้ปัญหาที่เราอาจมีกับพี่น้อง แต่การกระทำที่เกิดจากความปรารถนาของกายที่มีบาปทำให้เกิดความแตกแยก.
8. การกระทำที่เกิดจากความปรารถนาของกายที่มีบาปทำให้เกิดความแตกแยกอย่างไร?
8 ขอให้สังเกตว่า “การกระทำที่เกิดจากความปรารถนาของกายที่มีบาป” ทำให้เกิดความแตกแยกอย่างไร. (อ่านกาลาเทีย 5:19-21) การผิดประเวณี แยกคนที่ทำผิดให้ห่างจากพระยะโฮวาและประชาคม และการเล่นชู้ อาจทำให้เด็กถูกพรากจากพ่อแม่และคู่สมรสที่ไม่ได้ทำผิดถูกพรากจากคู่ของตน ซึ่งเป็นการกระทำที่โหดร้าย. การประพฤติที่ไม่สะอาด ทำให้เป็นเรื่องยากที่คนเราจะเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับพระเจ้าและกับคนที่รักเขา. คนที่เคยใช้กาวยึดสองสิ่งเข้าด้วยกันรู้ว่าพื้นผิวทั้งสองต้องสะอาดจึงจะยึดกันได้แน่น. คนที่ประพฤติแบบไร้ยางอาย แสดงว่าเขาไม่นับถือกฎหมายอันชอบธรรมของพระเจ้าแม้แต่น้อย. การกระทำอื่น ๆ ที่เกิดจากความปรารถนาของกายที่มีบาปล้วนทำให้ผู้คนแตกแยกกันและทำให้พวกเขาห่างเหินจากพระเจ้า. พระยะโฮวาทรงเกลียดชังการกระทำเหล่านั้น.
9. เราจะตรวจสอบตัวเองได้อย่างไรว่าเรา “พยายามอย่างจริงจังเพื่อรักษาความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน” หรือไม่?
9 ดังนั้น เราแต่ละคนควรถามตัวเองว่า ‘ฉันพยายามมากขนาดไหนเพื่อจะ “รักษาความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันด้วยสันติสุขซึ่งเป็นสิ่งที่ผูกพันผู้คนให้มีเอกภาพ”? ฉันทำอย่างไรเมื่อฉันมีปัญหากับใครคนหนึ่ง? ฉันบอกเรื่องนั้นกับหลาย ๆ คนโดยหวังว่าพวกเขาจะเข้าข้างฉันไหม? ฉันคาดหมายให้ผู้ปกครองเข้ามาช่วยแก้ปัญหาแทนฉัน ฉันจะได้ไม่ต้องไปพูดกับเขาเองเพื่อจะคืนดีกันไหม? และถ้าฉันรู้ว่ามีใครคนหนึ่งที่ไม่พอใจฉัน ฉันหลบเลี่ยงเขาเพื่อจะไม่ต้องคุยกันเกี่ยวกับปัญหานั้นไหม?’ การทำอย่างนั้นจะแสดงให้เห็นว่าเราประพฤติสอดคล้องกับพระประสงค์ของพระยะโฮวาที่จะทรงรวบรวมสิ่งสารพัดไว้ในพระคริสต์ไหม?
10, 11. (ก) เป็นเรื่องสำคัญขนาดไหนที่จะมีสันติสุขกับพี่น้องของเรา? (ข) เราจะทำอะไรได้เพื่อส่งเสริมให้มีสันติสุขและได้รับการอวยพรจากพระยะโฮวา?
10 พระเยซูตรัสว่า “ฉะนั้น ถ้าเจ้านำของถวายมายังแท่นบูชาและนึกขึ้นได้ว่าพี่น้องของเจ้ามีเรื่องขุ่นเคืองเจ้า จงวางของถวายไว้หน้าแท่นบูชาและไปคืนดีกับพี่น้องก่อน แล้วค่อยกลับมาถวายของของเจ้า. จงรีบประนีประนอม.” (มัด. 5:23-25) ยาโกโบเขียนว่า “เมล็ดที่เกิดผลแห่งความชอบธรรมถูกหว่านในสภาพที่มีสันติสุขเพื่อประโยชน์ของผู้ที่สร้างสันติสุข.” (ยโก. 3:17, 18) ด้วยเหตุนั้น เราไม่อาจจะทำสิ่งที่ถูกต้องต่อ ๆ ไปได้ถ้าเราไม่มีสันติสุขกับคนอื่น.
11 เพื่อให้เห็นเป็นตัวอย่าง มีการประมาณกันว่าในบางประเทศที่ประสบความเสียหายเพราะสงคราม ยังมีที่ดินอีก 35 เปอร์เซ็นต์ที่ชาวไร่ชาวนาจะเพาะปลูกได้ หากพวกเขาไม่กลัวกับระเบิด. เมื่อกับระเบิดลูกหนึ่งระเบิดขึ้น เกษตรกรก็ทิ้งไร่ทิ้งนา. ผู้คนในชนบทถูกตัดหนทางทำมาหากิน และผู้คนในเมืองใหญ่ก็ขาดแคลนอาหาร. ในทำนองเดียวกัน ถ้าเรามีนิสัยบางอย่างที่อาจทำลายสันติสุขในหมู่พี่น้อง เราก็เป็นเหมือนกับระเบิด. หากเป็นอย่างนั้น เราจำเป็นต้องเปลี่ยนบุคลิกภาพของเรา. ถ้าเราพร้อมจะให้อภัยและทำดีต่อผู้อื่น เราก็จะส่งเสริมให้มีสันติสุขและได้รับการอวยพรจากพระยะโฮวา.
12. ผู้ปกครองอาจช่วยเราให้มีน้ำหนึ่งใจเดียวกันได้อย่างไร?
12 นอกจากนั้น “ของประทานในลักษณะมนุษย์” อาจช่วยเราได้มากเพื่อจะมีเอกภาพ. พระเจ้าประทานพวกเขาให้ช่วยเรา “บรรลุความเป็นหนึ่งเดียวในความเชื่อ.” (เอเฟ. 4:8, 13) เมื่อผู้ปกครองทำงานร่วมกับเราในการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์และให้คำแนะนำที่แสดงถึงความเข้าใจซึ่งอาศัยพระคำของพระเจ้าเป็นหลัก พวกเขาก็กำลังช่วยเราให้ปรับปรุงบุคลิกภาพแบบคริสเตียน. (เอเฟ. 4:22-24) เมื่อพวกเขาให้คำแนะนำ คุณมองออกไหมว่าพระยะโฮวากำลังเตรียมคุณไว้ให้พร้อมจะมีชีวิตในโลกใหม่ภายใต้การปกครองของพระบุตร? ผู้ปกครองทั้งหลาย คุณพยายามปรับคนอื่นให้เข้าที่โดยมีเป้าหมายอย่างนั้นไหม?—กลา. 6:1
“จงกรุณาต่อกัน”
13. ผลจะเป็นอย่างไรถ้าเราไม่ทำตามคำแนะนำในเอเฟโซส์ 4:25-32?
13 เอเฟโซส์ 4:25-29 กล่าวถึงการกระทำบางอย่างที่เราไม่ควรทำ. เราไม่ควรพูดเท็จ โกรธ เกียจคร้าน และพูดคำหยาบคาย. แทนที่จะทำอย่างนั้น เราควรพูดแต่คำดี ๆ ที่ทำให้เจริญขึ้น. ถ้าใครไม่ทำตามคำแนะนำนี้ เขาคงจะทำให้พระวิญญาณของพระเจ้าโศกเศร้า เพราะพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นพลังที่ส่งเสริมเอกภาพ. (เอเฟ. 4:30) เพื่อจะมีสันติสุขและเอกภาพ เราต้องทำตามคำแนะนำที่เปาโลเขียนในข้อถัดมา ที่ว่า “ให้ท่านทั้งหลายขจัดความขุ่นแค้น ความโกรธ การเดือดดาล การตวาด และการพูดหยาบหยามออกไปเสียให้หมดพร้อมกับการชั่วทั้งปวง. แต่จงกรุณาต่อกัน แสดงความเห็นใจกัน ให้อภัยกันอย่างใจกว้างอย่างที่พระเจ้าทรงให้อภัยท่านทั้งหลายอย่างใจกว้างโดยพระคริสต์เช่นกัน.”—เอเฟ. 4:31, 32
14. (ก) คำ “จง กรุณา” แสดงให้เห็นอะไร? (ข) อะไรจะช่วยเราให้แสดงความกรุณาต่อคนอื่น ๆ?
14 คำ “จงกรุณา” แสดงว่าเราอาจไม่ได้แสดงความกรุณามากพอ และเราอาจจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะกรุณามากขึ้น. เราต้องเรียนรู้ที่จะถือว่าความรู้สึกของคนอื่นสำคัญกว่าความรู้สึกของเราเอง! (ฟิลิป. 2:4) บางสิ่งที่เราคิดจะพูดอาจทำให้คนอื่นขำหรือทำให้เราดูเป็นคนฉลาด แต่นั่นเป็นคำพูดที่กรุณาไหม? การคิดก่อนพูดอย่างนี้จะช่วยเราให้แสดงความกรุณาต่อคนอื่น.
เรียนรู้ที่จะรักและนับถือกันในครอบครัว
15. เอเฟโซส์ 5:28 ช่วยสามีทั้งหลายให้เข้าใจวิธีที่พวกเขาควรเลียนแบบพระคริสต์อย่างไร?
15 คัมภีร์ไบเบิลเปรียบสายสัมพันธ์ของพระคริสต์กับประชาคมเหมือนสายสัมพันธ์ของสามีกับภรรยา. ตัวอย่างของพระคริสต์ช่วยให้สามีเข้าใจว่าเขาควรรักและดูแลภรรยาและช่วยชี้นำเธอ. นอกจากนั้น ตัวอย่างของพระคริสต์ยังช่วยภรรยาให้เข้าใจว่าเธอควรยอมเชื่อฟังสามี. (เอเฟ. 5:22-33) เมื่อเปาโลเขียนว่า “สามีทั้งหลายควรรักภรรยาเหมือนรักกายของตนอย่างนี้แหละ” ท่านหมายถึง “อย่าง” ไหน? (เอเฟ. 5:28) สิ่งที่ท่านกล่าวก่อนหน้านั้นเกี่ยวกับพระคริสต์และประชาคมช่วยเราตอบคำถามดังกล่าว. ท่านกล่าวว่า “พระคริสต์ทรงรักประชาคมและได้สละพระองค์เองเพื่อประชาคม เพื่อจะทำให้ประชาคมบริสุทธิ์ โดยทรงใช้น้ำ คือพระคำ ชำระประชาคมให้สะอาด.” ดังนั้น เพื่อจะปฏิบัติอย่างที่สอดคล้องกับพระประสงค์ของพระยะโฮวาในการรวบรวมสิ่งสารพัดเข้าในพระคริสต์อีกครั้งหนึ่ง สามีต้องตื่นตัวที่จะบำรุงเลี้ยงครอบครัวทางฝ่ายวิญญาณ.
16. ผลจะเป็นเช่นไรถ้าบิดามารดาเอาใจใส่หน้าที่รับผิดชอบที่พระยะโฮวาได้มอบแก่พวกเขา?
16 บิดามารดาควรจำไว้ว่าพระยะโฮวาทรงมอบหน้าที่รับผิดชอบให้พวกเขาดูแลบุตร. น่าเศร้าที่ในโลกทุกวันนี้หลายคน “ไม่มีความรักใคร่ตามธรรมชาติ.” (2 ติโม. 3:1, 3) มีบิดาจำนวนมากที่ละเลยหน้าที่รับผิดชอบของตน ซึ่งทำให้เกิดผลเสียหายต่อบุตรและทำให้พวกเขาท้อใจ. แต่เปาโลแนะนำคริสเตียนที่เป็นบิดาว่า “อย่ายั่วบุตรให้ขุ่นเคือง แต่จงเลี้ยงดูเขาด้วยการตีสอนจากพระยะโฮวาและปลูกฝังแนวคิดของพระองค์ให้เขา.” (เอเฟ. 6:4) เด็กเริ่มเรียนรู้ที่จะแสดงความรักและแสดงความนับถือต่อผู้มีอำนาจจากที่ไหนถ้าไม่ใช่จากครอบครัว? บิดามารดาที่สอนบทเรียนเหล่านี้แก่ลูกปฏิบัติสอดคล้องกับการบริหารงานของพระยะโฮวา. โดยทำให้บ้านของเราเป็นสถานที่ที่เปี่ยมด้วยความรัก ปราศจากความโกรธ การบันดาลโทสะ และคำพูดหยาบหยามทุกอย่าง เราก็กำลังสอนบทเรียนสำคัญแก่ลูกว่าเขาควรแสดงความรักอย่างไรและควรแสดงความนับถือต่อผู้มีอำนาจอย่างไร. การทำอย่างนี้จะช่วยเตรียมพวกเขาไว้ให้พร้อมที่จะอยู่ในโลกใหม่ของพระเจ้า.
17. เราต้องทำอะไรเพื่อจะยืนหยัดต้านทานพญามารได้?
17 เราจำเป็นต้องตระหนักว่าพญามาร ซึ่งเป็นบุคคลแรกที่ทำลายสันติสุขในเอกภพ จะต่อต้านเราอย่างหนักไม่ให้ทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า. ผู้คนมากมายในโลกกำลังทำสิ่งที่พญามารอยากให้พวกเขาทำโดยหย่าร้าง อยู่กินด้วยกันโดยไม่แต่งงาน และยอมรับการแต่งงานของคนรักร่วมเพศ. แต่เราไม่เลียนแบบพฤติกรรมหรือทัศนคติที่กำลังได้รับการยอมรับมากขึ้นในโลกทุกวันนี้. พระคริสต์ทรงเป็นแบบอย่างสำหรับเรา. (เอเฟ. 4:17-21) ด้วยเหตุนั้น เราได้รับคำแนะนำให้ “สวมยุทธภัณฑ์ครบชุดจากพระเจ้า” เพื่อจะยืนหยัดต้านทานพญามารและพวกปิศาจได้.—อ่านเอเฟโซส์ 6:10-13
“จงประพฤติด้วยความรักต่อไป”
18. กุญแจสำคัญที่ทำให้เรามีเอกภาพคืออะไร?
18 กุญแจสำคัญที่ทำให้เรามีเอกภาพคือความรัก. ด้วยหัวใจที่เปี่ยมด้วยความรักต่อ “องค์พระผู้เป็นเจ้าองค์เดียว” ต่อ “พระเจ้าองค์เดียว” และต่อกันและกัน เราตั้งใจแน่วแน่ว่าจะ “รักษาความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันด้วยสันติสุขซึ่งเป็นสิ่งที่ผูกพันผู้คนให้มีเอกภาพ.” (เอเฟ. 4:3-6) พระเยซูทรงอธิษฐานเกี่ยวกับความรักเช่นนั้นว่า “ข้าพเจ้าไม่ได้ทูลขอเพื่อคนเหล่านี้เท่านั้น แต่ทูลขอเพื่อคนที่มีความเชื่อในข้าพเจ้าเนื่องจากถ้อยคำของคนเหล่านี้ด้วย เพื่อพวกเขาจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างที่พระบิดาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับข้าพเจ้าและข้าพเจ้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระองค์ เพื่อพวกเขาจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับข้าพเจ้าและพระบิดา . . . ข้าพเจ้าได้ทำให้พวกเขารู้จักพระนามของพระองค์แล้วและจะทำให้พวกเขารู้อีก เพื่อพวกเขาจะรักกันอย่างที่พระองค์ทรงรักข้าพเจ้า และข้าพเจ้าจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพวกเขา.”—โย. 17:20, 21, 26
19. คุณตั้งใจแน่วแน่ว่าจะทำอะไร?
19 อาจมีบางสิ่งบางอย่างในบุคลิกภาพของเราที่เปลี่ยนได้ยาก แต่ความรักน่าจะกระตุ้นเราให้อธิษฐานแบบเดียวกับที่ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญอธิษฐานว่า “ขอทรงประทานจิตใจแน่วแน่เพื่อข้าพระองค์จะยำเกรงพระนามของพระองค์.” (เพลง. 86:11, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย ) ขอให้เราตั้งใจแน่วแน่ที่จะยืนหยัดต้านทานพญามารที่พยายามแยกเราให้ห่างจากพระบิดาผู้เปี่ยมด้วยความรักและพี่น้องของเรา. ขอให้เราพยายาม “เลียนแบบพระเจ้าให้สมกับเป็นบุตรที่รัก และ . . . ดำเนินชีวิตในความรัก” ทั้งในครอบครัว ในการรับใช้ และในประชาคม.—เอเฟ. 5:1, 2
[ภาพหน้า 29]
เขาละของถวายไว้ที่แท่นบูชา แล้วไปคืนดีกับพี่น้อง
[ภาพหน้า 31]
บิดามารดาทั้งหลาย จงสอนลูกให้แสดงความนับถือ