จงทำความก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณเรื่อยไป!
วันที่เรารับบัพติสมาเป็นวันที่เราน่าจะทะนุถนอมไว้ในใจและจดจำไว้เสมอ. ที่จริง นั่นเป็นวันที่เราประกาศตัวต่อหน้าผู้คนว่าเราได้อุทิศตัวเพื่อรับใช้พระเจ้าแล้ว.
สำหรับหลายคน ต้องพยายามอย่างยิ่งจึงจะบรรลุถึงจุดนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเลิกนิสัยไม่ดีที่ติดมานาน, การตัดขาดการคบหาที่ไม่ดี, การเปลี่ยนรูปแบบความคิดและพฤติกรรมที่ฝังรากลึก.
แม้เป็นเช่นนั้น ในขณะที่การรับบัพติสมาเป็นเหตุการณ์สำคัญและเป็นเวลาแห่งความสุขในชีวิตของคริสเตียน แต่ก็เป็นเพียงการเริ่มต้น. อัครสาวกเปาโลบอกคริสเตียนในยูดายที่รับบัพติสมาแล้วดังนี้: “บัดนี้ เมื่อเราได้ละหลักคำสอนเบื้องต้นเกี่ยวกับพระคริสต์แล้ว ให้เรารุดหน้าสู่ความอาวุโส.” (เฮ็บราย 6:1, ล.ม.) ใช่แล้ว คริสเตียนทุกคนจำต้อง “บรรลุถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในความเชื่อ และในความรู้อันถ่องแท้เกี่ยวกับพระบุตรของพระเจ้า เป็นผู้ใหญ่เต็มที่ถึงขนาดซึ่งเป็นของความบริบูรณ์แห่งพระคริสต์.” (เอเฟโซ 4:13, ล.ม.) เฉพาะแต่โดยการก้าวหน้าจนบรรลุความอาวุโสเท่านั้น เราจึงจะสามารถ “ตั้งมั่นคงอยู่ในความเชื่อ.”—โกโลซาย 2:7.
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ มีผู้นมัสการที่อุทิศตัวใหม่ ๆ หลายแสนคนได้เข้าสู่ประชาคมคริสเตียน. บางทีคุณก็เป็นคนหนึ่งในจำนวนนี้ด้วย. เช่นเดียวกับพี่น้องของคุณในศตวรรษแรก คุณไม่ต้องการอยู่ในสภาพทารกฝ่ายวิญญาณอยู่เรื่อยไป. คุณต้องการเติบโตและก้าวหน้า! แต่ว่าโดยวิธีใด? และมีวิธีใดบ้างที่คุณจะทำความก้าวหน้าได้?
การก้าวหน้าด้วยการศึกษาส่วนตัว
เปาโลบอกคริสเตียนในฟิลิปปอยดังนี้: “ข้าพเจ้าอธิษฐานอย่างนี้อยู่เรื่อยไป เพื่อว่าความรักของท่านทั้งหลายจะอุดมยิ่ง ๆ ขึ้นพร้อมด้วยความรู้ถ่องแท้และการสังเกตเข้าใจครบถ้วน.” (ฟิลิปปอย 1:9, ล.ม.) การเติบโตใน “ความรู้ถ่องแท้” สำคัญต่อความก้าวหน้าของคุณทางฝ่ายวิญญาณ. ‘การรับเอาความรู้เกี่ยวกับพระยะโฮวาพระเจ้าและพระเยซูคริสต์’ เป็นกระบวนการต่อเนื่อง ไม่ใช่สิ่งที่สิ้นสุดลงหลังจากรับบัพติสมาแล้ว.—โยฮัน 17:3, ล.ม.
หลังจากผ่านไปสิบปี สตรีคริสเตียนผู้หนึ่งซึ่งเราจะเรียกเธอว่าอะเล็กซานดราซึ่งรับบัพติสมาเมื่ออายุ 16 ปีจึงได้ตระหนักเช่นนั้น. เธอได้รับการเลี้ยงดูเติบโตในความจริงและเข้าร่วมการประชุมคริสเตียนเสมอ และมีส่วนร่วมในการประกาศเป็นประจำ. เธอเขียนเล่าว่า “เมื่อไม่กี่เดือนมานี้ ดิฉันตระหนักว่ามีอะไรบางอย่างที่ผิดถนัด. ดิฉันตัดสินใจตรวจดูตัวเองอย่างซื่อสัตย์ว่าตัวเองรู้สึกอย่างไรต่อความจริง และเพราะอะไรดิฉันจึงยังอยู่ในความจริง.” เธอพบอะไร? เธอเล่าต่อไปว่า “ดิฉันพบว่าเหตุผลที่ดิฉันอยู่ในความจริงนั้นรบกวนใจดิฉันมาก. ดิฉันจำได้ว่าขณะที่ดิฉันเติบโตขึ้นมา มีการเน้นในเรื่องการประชุมและการประกาศ. ดู ๆ แล้ว ก็คล้ายกับว่านิสัยในการศึกษาส่วนตัวและการอธิษฐานคงจะเข้าที่เข้าทางของมันไปได้เอง. แต่เมื่อวิเคราะห์สภาพของตัวเองแล้ว ดิฉันตระหนักว่าไม่ได้เป็นอย่างนั้น.”
อัครสาวกเปาโลกระตุ้นเตือนดังนี้: “เราได้ก้าวหน้ามาถึงขั้นไหนแล้วก็ตาม จงให้เราดำเนินอย่างมีระเบียบแบบแผนเดียวกันนี้ต่อไป.” (ฟิลิปปอย 3:16, ล.ม.) แบบแผนอย่างหนึ่งสามารถกำหนดแนวทางแห่งการก้าวรุดหน้า. ก่อนคุณรับบัพติสมา ไม่ต้องสงสัยเลยว่าคุณมีแบบแผนการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลประจำสัปดาห์กับครูที่มีคุณวุฒิ. เมื่อคุณมีความหยั่งรู้ค่ามากขึ้น คุณก็จะรวมเอาสิ่งอื่น อย่างเช่น การเตรียมบทเรียนล่วงหน้าในแต่ละสัปดาห์หรือการค้นข้ออ้างอิงในคัมภีร์ไบเบิลเข้าไว้ในแบบแผนนี้. บัดนี้เมื่อคุณรับบัพติสมาแล้ว คุณได้ ‘ดำเนินในแบบแผนเดียวกันนั้น’ ต่อ ๆ ไปไหม?
ถ้าไม่ คุณอาจจำเป็นต้องตรวจสอบอีกครั้งหนึ่งถึงสิ่งที่คุณจัดให้มาก่อน “ตรวจดูให้รู้แน่ถึงสิ่งที่สำคัญกว่า.” (ฟิลิปปอย 1:10, ล.ม.) ในชีวิตของเราที่เต็มด้วยธุระยุ่ง ต้องมีการควบคุมตัวเองเพื่อจัดเวลาเอาไว้สำหรับการอ่านและศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเป็นส่วนตัว. แต่ผลประโยชน์ที่ได้รับทำให้ความพยายามเช่นนั้นคุ้มค่า. ขอให้พิจารณาประสบการณ์ของอะเล็กซานดราอีกครั้งหนึ่ง. เธอยอมรับว่า “พูดได้เลยว่าดิฉันอยู่ในความจริงในช่วง 20 ปีมานี้ได้ก็แต่โดยการไปประชุมและร่วมในการประกาศ.” อย่างไรก็ตาม เธอเล่าต่ออีกว่า “ดิฉันได้พบข้อสรุปว่า แม้การประชุมและการประกาศเป็นสิ่งสำคัญ แต่ลำพังการทำดังกล่าวไม่สามารถพยุงดิฉันไว้เมื่อเกิดมีเรื่องยุ่งยากขึ้น. ทั้งหมดนี้กลายเป็นเรื่องที่เห็นได้ชัด เพราะดิฉันไม่มีนิสัยศึกษาส่วนตัวและการอธิษฐานก็ไม่สม่ำเสมอและผิวเผิน. ตอนนี้ ดิฉันตระหนักว่าดิฉันต้องปรับวิธีคิดและเริ่มมีหมายกำหนดการศึกษาที่มีความหมาย เพื่อดิฉันจะได้เรียนรู้จักพระยะโฮวาจริง ๆ และรักพระองค์ และหยั่งรู้ค่าสิ่งที่พระบุตรได้ทรงทำเพื่อเรา.”
ถ้าคุณต้องการความช่วยเหลือในการจัดให้มีแบบแผนในการศึกษาส่วนตัวซึ่งให้ประโยชน์มาก ผู้ปกครองและคริสเตียนที่อาวุโสคนอื่น ๆ ในประชาคมยินดีจะช่วยคุณ. นอกจากนั้น บทความในหอสังเกตการณ์ ฉบับ 1 พฤษภาคม 1995; 15 สิงหาคม 1993; และฉบับ 15 พฤษภาคม 1986 มีข้อชี้แนะที่เป็นประโยชน์หลายอย่าง.
ความจำเป็นที่ต้องเข้าใกล้พระเจ้า
อีกขอบเขตหนึ่งที่คุณควรพยายามทำความก้าวหน้าได้แก่สัมพันธภาพของคุณกับพระเจ้า. ในบางกรณีอาจถึงกับมีความจำเป็นอย่างยิ่งในแง่นี้ด้วยซ้ำ. ขอพิจารณาเรื่องของแอนโทนีซึ่งรับบัพติสมาเมื่ออายุยังน้อย. เขาเล่าว่า “ผมเป็นลูกคนแรกในครอบครัวที่รับบัพติสมา. หลังจากรับบัพติสมา แม่กอดผมอย่างอบอุ่น. ผมไม่เคยเห็นแม่มีความสุขขนาดนี้มาก่อน. มีความยินดีอย่างมากและผมรู้สึกเข้มแข็ง.” อย่างไรก็ตาม มีอีกด้านหนึ่งของภาพเหตุการณ์. แอนโทนีเล่าต่อว่า “เวลาได้ผ่านไประยะหนึ่ง ไม่มีคนหนุ่มสาวในประชาคมของเราที่ได้รับบัพติสมา ดังนั้นผมรู้สึกภูมิใจในตัวเองมาก. ผมภูมิใจในคำตอบที่ผมให้และคำบรรยายต่าง ๆ ที่ผมเสนอ ณ การประชุม. การได้รับคำสรรเสริญและการยอมรับจากผู้คนกลายมามีความสำคัญสำหรับผมยิ่งเสียกว่าการนำคำสรรเสริญสู่พระยะโฮวา. ผมไม่ได้มีสัมพันธภาพที่ใกล้ชิดกับพระองค์อย่างแท้จริง.”
เช่นเดียวกับแอนโทนี บางคนอาจได้อุทิศตัวเพราะปรารถนาจะทำให้ผู้อื่นพอใจมากกว่าเพราะปรารถนาจะทำให้พระยะโฮวาพอพระทัย. แม้กระนั้น พระเจ้าทรงคาดหมายให้บุคคลเหล่านี้ดำเนินชีวิตสมกับคำปฏิญาณตัวที่จะรับใช้พระองค์. (เทียบกับท่านผู้ประกาศ 5:4.) ทว่า ในเมื่อไม่มีความผูกพันเป็นส่วนตัวกับพระเจ้า ก็มักเป็นเรื่องยากที่เขาจะทำได้อย่างนั้น. แอนโทนีเล่าว่า “ความยินดีอย่างมากเมื่อรับบัพติสมามีอยู่ได้ไม่นาน. หลังจากรับบัพติสมาได้ไม่ทันครบปี ผมก็ทำผิดร้ายแรงและต้องถูกว่ากล่าวโดยคณะผู้ปกครองในประชาคม. เพราะทำผิดซ้ำเดิมอีก ในที่สุดผมจึงถูกตัดสัมพันธ์จากประชาคม. หกปีหลังจากการอุทิศตัวแด่พระยะโฮวา ผมถูกจับและจำคุกด้วยข้อหาฆ่าคนตาย.”
การพัฒนาสัมพันธภาพอันใกล้ชิดกับพระยะโฮวา
ไม่ว่าสภาพชีวิตของคุณเองเป็นเช่นไร คริสเตียนทุกคนสามารถตอบรับคำเชื้อเชิญของคัมภีร์ไบเบิลที่ว่า “จงเข้ามาใกล้พระเจ้า, และพระองค์จะสถิตอยู่ใกล้ท่าน.” (ยาโกโบ 4:8) ไม่ต้องสงสัยว่าคุณได้ปลูกฝังความใกล้ชิดกับพระเจ้าในระดับหนึ่งเมื่อคุณศึกษาคัมภีร์ไบเบิลในตอนแรก. คุณได้เรียนรู้ว่าพระเจ้าไม่ใช่พระที่เป็นนามธรรมที่นมัสการกันในคริสต์ศาสนจักร หากแต่ทรงเป็นบุคคล พร้อมกับทรงมีพระนามคือยะโฮวา. คุณเรียนรู้ด้วยว่าพระองค์ทรงมีคุณลักษณะที่น่าดึงดูด กล่าวคือทรงเป็น “พระเจ้าผู้ทรงเมตตาและอุดมด้วยพระคุณ ช้าในการโกรธและบริบูรณ์ด้วยความรักกรุณา.”—เอ็กโซโด 34:6, ล.ม.
อย่างไรก็ตาม เพื่อจะดำเนินชีวิตสมกับการอุทิศตัวเพื่อรับใช้พระเจ้า คุณต้องพาตัวเข้ามาใกล้ชิดพระองค์ยิ่งขึ้น! โดยวิธีใด? ท่านผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญอธิษฐานดังนี้: “ข้าแต่พระยะโฮวา, ขอทรงโปรดให้ข้าพเจ้ารู้ทางของพระองค์, ขอทรงฝึกสอนข้าพเจ้าให้ดำเนินในพระมรคาของพระองค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 25:4) การศึกษาคัมภีร์ไบเบิลและสรรพหนังสือของสมาคมฯ เป็นส่วนตัวสามารถช่วยคุณให้รู้จักพระยะโฮวาดียิ่งขึ้น. การอธิษฐานด้วยความรู้สึกจากหัวใจเป็นประจำก็สำคัญด้วย. ท่านผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญกระตุ้นเตือนดังนี้: “[จง] ระบายความในใจของเจ้าต่อพระองค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 62:8, ล.ม.) เมื่อคุณพบว่าคำอธิษฐานของคุณได้รับคำตอบ คุณจะรู้สึกได้ว่าพระเจ้าทรงใฝ่พระทัยคุณเป็นส่วนตัว. นี่จะช่วยคุณให้รู้สึกใกล้ชิดพระองค์ยิ่งขึ้น.
การทดลองและปัญหาต่าง ๆ เปิดโอกาสให้เข้าใกล้ชิดพระเจ้าในอีกทางหนึ่ง. คุณอาจเผชิญข้อท้าทายและการทดสอบความเชื่อ เช่นความเจ็บป่วย, ความกดดันที่โรงเรียนและในที่ทำงาน, หรือความลำบากด้านเศรษฐกิจ. อาจถึงขั้นที่กิจวัตรตามระบอบของพระเจ้าในการมีส่วนร่วมในงานรับใช้, การเข้าร่วมประชุม, หรือการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับลูก ๆ เป็นเรื่องยากสำหรับคุณ. อย่าเผชิญปัญหาเช่นนี้ตามลำพัง! จงวิงวอนขอให้พระเจ้าทรงช่วย ขอการชี้นำและการชี้แนวทางจากพระองค์. (สุภาษิต 3:5, 6) ทูลขอพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระองค์! (ลูกา 11:13) เมื่อคุณมีประสบการณ์ในการได้รับความช่วยเหลือด้วยความรักจากพระเจ้า คุณก็จะเข้าใกล้ชิดพระองค์ยิ่งขึ้น. ดังที่ดาวิดผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญได้กล่าวไว้ “จงชิมดูจึงจะรู้ว่าพระยะโฮวาเป็นผู้ประเสริฐ; ผู้ใดที่พึ่งอาศัยในพระองค์ก็เป็นสุข.”—บทเพลงสรรเสริญ 34:8.
แอนโทนีล่ะเป็นอย่างไร? เขาเล่าว่า “ผมเริ่มคิดถึงตอนที่ผมตั้งเป้าหมายหลายอย่างในการทำตามพระทัยประสงค์ของพระยะโฮวา. เมื่อคิดอย่างนี้แล้ว ผมรู้สึกเจ็บปวดใจ. แต่โดยความเจ็บปวดและความผิดหวังทั้งหมดนั้น ผมระลึกถึงความรักของพระยะโฮวา. ต้องใช้เวลาอยู่พักหนึ่งผมจึงสามารถอธิษฐานถึงพระยะโฮวาได้ แต่ผมได้ทำอย่างนี้และเปิดหัวใจแก่พระองค์ ทูลขอการให้อภัยจากพระองค์. ผมเริ่มอ่านคัมภีร์ไบเบิลด้วยและก็ต้องแปลกใจที่พบว่า ผมลืมอะไรไปมากมายและจริง ๆ แล้วผมมีความรู้เกี่ยวกับพระยะโฮวาน้อยเหลือเกิน.” แม้ว่าแอนโทนียังคงต้องโทษอยู่ในคุกจนกว่าจะครบกำหนด เขาได้รับความช่วยเหลือจากพยานฯ ในท้องถิ่นและกำลังฟื้นตัวทางฝ่ายวิญญาณ. แอนโทนีกล่าวด้วยความขอบพระคุณว่า “ด้วยความช่วยเหลือจากพระยะโฮวาและองค์การของพระองค์ ผมจึงสามารถถอดทิ้งบุคลิกภาพเก่า และผมพยายามสวมใส่บุคลิกภาพใหม่ทุก ๆ วันไป. เดี๋ยวนี้ สัมพันธภาพของผมกับพระยะโฮวาเป็นสิ่งที่มีความสำคัญที่สุดสำหรับผม.”
ความก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณในงานรับใช้ของคุณ
พระเยซูคริสต์ทรงมีพระบัญชาให้เหล่าสาวกเป็นผู้ประกาศ “ข่าวดีแห่งราชอาณาจักร.” (มัดธาย 24:14, ล.ม.) ในฐานะผู้ประกาศข่าวดีที่ค่อนข้างใหม่ ประสบการณ์ของคุณในงานรับใช้อาจมีจำกัด. ถ้าอย่างนั้น คุณจะทำความก้าวหน้าได้อย่างไรในการ ‘ทำให้งานรับใช้ของคุณสำเร็จเต็มที่’?—2 ติโมเธียว 4:5, ล.ม.
วิธีหนึ่งได้แก่การพัฒนาเจตคติในเชิงบวก. เรียนรู้ที่จะมองดูงานประกาศว่าเป็นเหมือน “ทรัพย์” หรือสิทธิพิเศษ. (2 โกรินโธ 4:7) การประกาศเป็นโอกาสที่เราจะแสดงความรัก, ความภักดี, และความซื่อสัตย์มั่นคงต่อพระยะโฮวา. การประกาศยังทำให้เราสามารถแสดงความห่วงใยต่อเพื่อนบ้านของเราด้วย. การให้ตัวเราเองอย่างไม่เห็นแก่ตัวเช่นนี้เป็นที่มาแห่งความสุขอันแท้จริง.—กิจการ 20:35.
พระเยซูเองทรงมีทัศนะในแง่ดีเกี่ยวกับงานประกาศ. การแบ่งปันความจริงของคัมภีร์ไบเบิลแก่ผู้อื่นเป็นเหมือน “อาหาร” สำหรับพระองค์. (โยฮัน 4:34) ดังนั้น อาจสรุปสั้น ๆ เกี่ยวกับแรงกระตุ้นที่ทำให้พระองค์ช่วยผู้อื่นได้ด้วยคำตรัสของพระองค์เองที่ว่า “เราพอใจ.” (มัดธาย 8:3) พระเยซูทรงมีความกรุณาต่อประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ “อิดโรยกระจัดกระจาย” เนื่องจากโลกของซาตาน. (มัดธาย 9:35, 36) คุณก็ “พอใจ” จะช่วยคนที่อยู่ในความมืดฝ่ายวิญญาณและคนที่จำต้องได้รับแสงสว่างจากพระคำของพระเจ้าด้วยไหม? ถ้าอย่างนั้น คุณจะรู้สึกถูกผลักดัน ให้ตอบรับพระบัญชาของพระเยซูที่ว่า “เหตุฉะนั้นท่านทั้งหลายจงออกไปสั่งสอนชนทุกประเทศให้เป็นสาวก.” (มัดธาย 28:19) จริงทีเดียว คุณจะถูกกระตุ้นใจให้มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในงานนี้เท่าที่สุขภาพและสภาพแวดล้อมส่วนตัวอำนวย.
เคล็ดลับที่จะก้าวหน้าอีกอย่างหนึ่งได้แก่การมีส่วนร่วมเป็นประจำในงานรับใช้—ทุกสัปดาห์หากเป็นไปได้. การทำเช่นนี้สามารถช่วยลดความหวาดหวั่นหรือความกลัวที่อาจหน่วงเหนี่ยวคนที่ไม่ได้ประกาศเป็นประจำ. การเข้าร่วมในงานรับใช้ที่เขตทำงานเป็นประจำจะให้ประโยชน์แก่คุณในทางอื่น ๆ ด้วย. คือจะช่วยเสริมความหยั่งรู้ค่าของคุณต่อความจริง, ทำให้ความรักต่อพระยะโฮวาและต่อเพื่อนบ้านงอกงาม, และช่วยคุณให้เพ่งเล็งไปที่ความหวังแห่งราชอาณาจักร.
แต่จะว่าอย่างไรถ้าสภาพส่วนตัวคุณในตอนนี้ทำให้การเข้าร่วมงานประกาศเป็นไปได้อย่างจำกัด? หากเห็นได้ชัดว่าไม่อาจปรับเปลี่ยนอะไรได้ ก็ขอให้รับการปลอบประโลมที่ได้รู้ว่าพระเจ้าทรงพอพระทัยในสิ่งที่คุณสามารถทำได้ ตราบใดคุณทำอย่างสิ้นสุดจิตวิญญาณในการรับใช้. (มัดธาย 13:23) อาจเป็นได้ที่คุณจะทำความก้าวหน้าในทางอื่น เช่นการปรับปรุงทักษะในการประกาศของคุณให้ดีขึ้น. ในประชาคม โรงเรียนการรับใช้ตามระบอบของพระเจ้าและการประชุมวิธีปฏิบัติงานจัดให้มีการฝึกอบรมที่ดีมากในเรื่องนี้. ตามธรรมดาแล้ว ยิ่งเรามีความสามารถในงานรับใช้มากเท่าใด เราก็จะยิ่งประสบความพอใจและเห็นผลมากขึ้นเท่านั้น.
ดังนั้น เห็นได้ชัดว่าความก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณต้องไม่หยุดลงในวันที่คนเรารับบัพติสมา. อัครสาวกเปาโลเขียนเกี่ยวกับความหวังของท่านที่จะได้มีชีวิตอมตะในสวรรค์ดังนี้: “พี่น้องทั้งหลาย ข้าพเจ้ายังไม่ถือว่าข้าพเจ้าเองได้ฉวยเอาสิ่งนั้นไว้แล้ว; แต่มีสิ่งหนึ่งที่เกี่ยวข้อง: คือลืมสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่เบื้องหลังและน้อมตัวออกไปหาสิ่งที่อยู่ข้างหน้า ข้าพเจ้าบากบั่นมุ่งไปสู่เป้าหมายเพื่อจะได้รางวัลซึ่งพระเจ้าทรงเรียกให้ขึ้นไปโดยทางพระคริสต์เยซู. เหตุฉะนั้น ให้เราทั้งหลายทุกคนที่เป็นผู้อาวุโสแล้วมีทัศนะอย่างนี้; และหากท่านมีแนวโน้มที่จะมีทัศนะอย่างอื่นอย่างใดอย่างหนึ่ง พระเจ้าจะทรงเปิดเผยทัศนะดังกล่าวให้ท่าน.”—ฟิลิปปอย 3:13-15, ล.ม.
ใช่แล้ว คริสเตียนทุกคน ไม่ว่าจะมีความหวังชีวิตอมตะในสวรรค์หรือชีวิตนิรันดร์ในอุทยานบนแผ่นดินโลก ต้อง “น้อมตัวออกไป” กล่าวคือราวกับยืดตัวออกไปเพื่อบรรลุเป้าหมายแห่งชีวิต! การที่คุณรับบัพติสมาเป็นการเริ่มต้นที่ดี แต่ก็เป็นเพียงการเริ่มต้น. จงบากบั่นต่อ ๆ ไปในการทำความก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณ. ด้วยการประชุมและการศึกษาส่วนตัว “จงเป็นผู้ใหญ่ด้านความสามารถในการเข้าใจ.” (1 โกรินโธ 14:20, ล.ม.) จง “มีความสามารถที่จะรู้ . . . ว่า, อะไรเป็นความกว้าง, อะไรเป็นความยาว, อะไรเป็นความสูง, อะไรเป็นความลึก” ของความจริง. (เอเฟโซ 3:18) ความก้าวหน้าที่คุณทำจะไม่เพียงแต่ช่วยคุณให้รักษาความยินดีและความสุขในขณะนี้ แต่ยังจะช่วยคุณให้ได้มีที่อันมั่นคงในโลกใหม่ของพระเจ้า ซึ่งภายใต้การปกครองของราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์ของพระองค์ คุณจะสามารถก้าวหน้าตลอดไป!
[รูปภาพหน้า 29]
ต้องใช้วินัยเพื่อจัดเวลาไว้สำหรับการศึกษาส่วนตัว
[รูปภาพหน้า 31]
การมีเจตคติในแง่บวกอาจช่วยเราให้มีความยินดีในงานรับใช้ได้