อย่ากลายเป็นผู้ฟังที่หลงลืม
“จงเป็นผู้ปฏิบัติตามพระคำ และไม่ใช่เป็นแต่เพียงผู้ฟังเท่านั้น โดยหลอกตัวเองด้วยการคิดหาเหตุผลผิด ๆ.”—ยาโกโบ 1:22, ล.ม.
1. ไพร่พลแห่งยิศราเอลโบราณมีสิทธิพิเศษได้เห็นการอัศจรรย์อะไร?
“ไม่มีวันลืม” คงเป็นคำพรรณนาที่เหมาะเจาะสำหรับการอัศจรรย์ที่พระยะโฮวาทรงทำในอียิปต์โบราณ. ภัยพิบัติสิบประการแต่ละอย่างนั้นน่าสะพรึงกลัวอย่างแท้จริง. เมื่อภัยพิบัติเหล่านี้ผ่านไป สิ่งที่ตามมาคือการช่วยให้รอดอันน่าทึ่งด้วยการนำชาติยิศราเอลข้ามผ่านลำน้ำของทะเลแดงที่ถูกแยกเป็นช่อง. (พระบัญญัติ 34:10-12) หากคุณได้เป็นประจักษ์พยานในเหตุการณ์ดังกล่าว คุณคงไม่มีวันลืมองค์ยิ่งใหญ่ผู้ทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้. กระนั้น ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญร้องเพลงดังนี้: “เขา [ชาวยิศราเอล] ได้ลืมพระเจ้าผู้ทรงช่วยเขาให้รอด, ผู้ได้ทรงกระทำพระราชกิจอันใหญ่ยิ่งในประเทศอายฆุบโต, และการอัศจรรย์ต่าง ๆ ที่แผ่นดินแห่งพงศ์พันธุ์ของฮาม, กับการอันน่ากลัวที่ทะเลแดง.”—บทเพลงสรรเสริญ 106:21, 22.
2. อะไรแสดงว่าความหยั่งรู้ค่าของชาวยิศราเอลต่อราชกิจอันทรงฤทธิ์ของพระเจ้าไม่ยืนนาน?
2 หลังจากข้ามทะเลแดงแล้ว ชาวยิศราเอล “มีความเกรงกลัวพระยะโฮวา: ได้เชื่อถือพระองค์.” (เอ็กโซโด 14:31) พวกผู้ชายชาวยิศราเอลและโมเซร่วมกันร้องเพลงแห่งชัยชนะถวายแด่พระยะโฮวา และมิระยามกับพวกผู้หญิงคนอื่น ๆ ก็ตอบด้วยการตีรำมะนาและเต้นรำ. (เอ็กโซโด 15:1, 20) ถูกแล้ว ไพร่พลของพระเจ้าประทับใจในราชกิจอันทรงฤทธิ์ของพระยะโฮวา. แต่ความหยั่งรู้ค่าของพวกเขาต่อองค์ยิ่งใหญ่ผู้ทรงทำราชกิจเหล่านั้นไม่ยืนนาน. หลังจากนั้นไม่นาน หลายคนประพฤติตัวราวกับเขาเป็นโรคสูญเสียความจำชนิดร้ายแรง. พวกเขากลายเป็นคนขี้บ่นและต่อว่าพระยะโฮวา. บางคนเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการบูชารูปเคารพและการผิดศีลธรรมทางเพศ.—อาฤธโม 14:27; 25:1-9.
อะไรอาจทำให้เราหลงลืมได้?
3. เนื่องจากเราไม่สมบูรณ์มาแต่กำเนิด เราอาจหลงลืมอะไรได้?
3 การที่ชาติยิศราเอลขาดความหยั่งรู้ค่าเป็นเรื่องน่างุนงงจริง ๆ. ถึงกระนั้น เรื่องแบบเดียวกันนี้อาจเกิดขึ้นกับเราได้. จริงอยู่ เราไม่ได้เป็นประจักษ์พยานการอัศจรรย์เช่นนั้นของพระเจ้า. อย่างไรก็ตาม ในความสัมพันธ์ของเรากับพระเจ้า คงต้องมีบางวาระโอกาสแน่นอนที่เราไม่อาจลืมได้. พวกเราบางคนอาจจำได้ถึงตอนที่เราตอบรับความจริงจากคัมภีร์ไบเบิล. ช่วงเวลาที่น่ายินดีอื่น ๆ อาจรวมถึงการที่เราอธิษฐานอุทิศตัวแด่พระยะโฮวาและการรับบัพติสมาในน้ำในฐานะคริสเตียนแท้. พวกเราหลายคนได้ประสบการช่วยเหลือจากพระหัตถ์ของพระยะโฮวาในช่วงเวลาอื่น ๆ ของชีวิตเรา. (บทเพลงสรรเสริญ 118:15) ที่เหนือสิ่งอื่นใด ด้วยการสิ้นพระชนม์อย่างเสียสละพระองค์ของพระเยซูคริสต์ พระบุตรของพระเจ้า เราจึงมีความหวังที่จะได้รับการช่วยให้รอด. (โยฮัน 3:16) อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเราไม่สมบูรณ์มาแต่กำเนิด เมื่อเผชิญกับความปรารถนาผิด ๆ และความกระวนกระวายในชีวิต เราอาจลืมได้อย่างง่ายดายเกี่ยวกับสิ่งดีทั้งหลายที่พระยะโฮวาได้ทำเพื่อเรา.
4, 5. (ก) ยาโกโบเตือนอย่างไรเกี่ยวกับอันตรายของการเป็นผู้ฟังที่หลงลืม? (ข) เราจะใช้ตัวอย่างของยาโกโบได้อย่างไรเกี่ยวกับคนที่ส่องกระจก?
4 ในจดหมายถึงเพื่อนคริสเตียน ยาโกโบน้องชายร่วมมารดาของพระเยซูเตือนเกี่ยวกับอันตรายของการเป็นผู้ฟังที่หลงลืม. ท่านเขียนว่า “จงเป็นผู้ปฏิบัติตามพระคำ และไม่ใช่เป็นแต่เพียงผู้ฟังเท่านั้น โดยหลอกตัวเองด้วยการคิดหาเหตุผลผิด ๆ. เพราะถ้าผู้ใดเป็นผู้ฟังพระคำและไม่เป็นผู้ปฏิบัติ ผู้นั้นก็เป็นเหมือนคนที่ดูหน้าของตัวเองในกระจก. ด้วยว่าเขาแลดูตัวเองแล้วไปเสีย และในทันใดก็ลืมว่าตนเป็นอย่างไร.” (ยาโกโบ 1:22-24, ล.ม.) ยาโกโบกล่าวอย่างนี้หมายความเช่นไร?
5 เมื่อเราตื่นนอนตอนเช้า เรามักส่องกระจกเพื่อดูว่าเราจำเป็นต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้การปรากฏตัวของเราดูดี. เมื่อเราเข้าร่วมกิจกรรมหลาย ๆ อย่างและจิตใจหันไปจดจ่อกับสิ่งอื่น ๆ เราก็เลิกคิดถึงสิ่งที่เราเห็นในกระจก. เรื่องนี้อาจเกิดขึ้นในแง่ฝ่ายวิญญาณได้ด้วย. เมื่อเราพิจารณาพระคำของพระเจ้า เราจะเห็นได้ว่าเราเป็นคนอย่างไรเมื่อเทียบกับที่พระเจ้าทรงคาดหมายให้เราเป็น. โดยวิธีนี้ เราพบเห็นจุดอ่อนแอของเราโดยตรง. สิ่งที่เรารับทราบนั้นน่าจะกระตุ้นเราให้ปรับเปลี่ยนบุคลิกภาพของเรา. แต่เมื่อเราทำกิจวัตรประจำวันและดิ้นรนต่อสู้ปัญหาต่าง ๆ เราอาจเลิกคิดถึงสิ่งฝ่ายวิญญาณไปได้ง่าย ๆ. (มัดธาย 5:3; ลูกา 21:34) นั่นย่อมราวกับว่าเราลืมการกระทำด้วยความรักที่พระเจ้าทรงทำเพื่อเรา. หากเป็นเช่นนี้ เราอาจประสบผลเสียหายเนื่องด้วยแนวโน้มอันผิดบาปได้โดยง่าย.
6. การพิจารณาพระคัมภีร์ข้อใดสามารถช่วยเราได้ไม่ให้ลืมพระดำรัสของพระยะโฮวา?
6 ในจดหมายฉบับแรกที่เขียนโดยการดลใจถึงชาวโกรินโธ อัครสาวกเปาโลกล่าวถึงชาวยิศราเอลที่ขี้ลืมในถิ่นทุรกันดาร. เช่นเดียวกับที่คริสเตียนในศตวรรษแรกได้รับประโยชน์จากคำกล่าวของเปาโล การทบทวนสิ่งที่ท่านเขียนสามารถช่วยเราได้ไม่ให้ลืมพระดำรัสของพระยะโฮวา. ด้วยเหตุนั้น ขอให้เราพิจารณา 1 โกรินโธ 10:1-12 ด้วยกัน.
จงละทิ้งความปรารถนาฝ่ายโลก
7. ชาวยิศราเอลเห็นหลักฐานที่ไม่อาจปฏิเสธได้อะไรเกี่ยวกับความรักของพระยะโฮวา?
7 สิ่งที่เปาโลกล่าวเกี่ยวกับชนชาติยิศราเอลเป็นคำเตือนสำหรับคริสเตียน. ส่วนหนึ่งนั้น เปาโลเขียนว่า “ดูก่อนพี่น้องทั้งหลาย. ข้าพเจ้าอยากให้ท่านทั้งหลายเข้าใจว่าบรรพบุรุษของเราได้อยู่ใต้เมฆนั้น. และได้ผ่านตามช่องทะเลไปทุกคน ได้รับบัพติศมาในเมฆและในทะเลด้วยกันกับโมเซทุกคน.” (1 โกรินโธ 10:1-4) ชนชาติยิศราเอลในสมัยโมเซได้เห็นการสำแดงอำนาจที่ยิ่งใหญ่ของพระเจ้า รวมทั้งเสาเมฆอันน่าอัศจรรย์ที่นำพวกเขาตอนกลางวันและช่วยพวกเขาให้หนีข้ามผ่านทะเลแดงไปได้. (เอ็กโซโด 13:21; 14:21, 22) ถูกแล้ว ชนยิศราเอลเห็นหลักฐานที่ไม่อาจปฏิเสธได้เกี่ยวกับความรักของพระยะโฮวาที่ทรงมีต่อพวกเขา.
8. การที่ชนชาติยิศราเอลหลงลืมฝ่ายวิญญาณก่อให้เกิดผลเช่นไร?
8 เปาโลกล่าวต่อไปว่า “แต่ถึงกระนั้นก็ดี ในพวกเหล่านั้นมีคนเป็นอันมากที่พระเจ้าไม่พอพระทัย, เพราะเขาล้มตายกลาดเกลื่อนอยู่ในป่า.” (1 โกรินโธ 10:5) ช่างน่าเศร้าจริง ๆ! ชาวยิศราเอลส่วนใหญ่ซึ่งได้ออกจากอียิปต์ทำให้ตัวเขาเองขาดคุณวุฒิที่จะเข้าสู่แผ่นดินที่ทรงสัญญาไว้. เพราะไม่ได้รับความพอพระทัยจากพระเจ้าเนื่องด้วยการขาดความเชื่อ พวกเขาล้มตายในถิ่นทุรกันดาร. (เฮ็บราย 3:16-19) เราเรียนอะไรได้จากเรื่องนี้? เปาโลกล่าวว่า “เหตุการณ์เหล่านั้นเป็นตัวอย่างแก่เราทั้งหลาย, ไม่ให้เรามีใจโลภปรารถนาสิ่งชั่วเหมือนเขาเหล่านั้นได้ปรารถนา.”—1 โกรินโธ 10:6.
9. พระยะโฮวาได้ทรงจัดเตรียมเพื่อไพร่พลของพระองค์อย่างไร และชนชาติยิศราเอลตอบสนองอย่างไร?
9 ชาวยิศราเอลมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ช่วยพวกเขาจดจ่อฝ่ายวิญญาณขณะที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร. พวกเขาเข้าสู่สัญญาไมตรีกับพระยะโฮวาและกลายเป็นชาติที่อุทิศตัวแด่พระองค์. นอกจากนั้น พวกเขาได้รับมอบตำแหน่งปุโรหิต, พลับพลาซึ่งเป็นศูนย์กลางการนมัสการ, และการจัดเตรียมเพื่อการถวายเครื่องบูชาแด่พระยะโฮวา. อย่างไรก็ตาม แทนที่จะยินดีในของประทานฝ่ายวิญญาณเหล่านี้ พวกเขาปล่อยให้ตัวเองเกิดความไม่อิ่มใจพอใจในสิ่งที่พระเจ้าจัดเตรียมให้ด้านวัตถุ.—อาฤธโม 11:4-6.
10. เหตุใดเราควรมีพระเจ้าอยู่ในความคิดของเราเสมอ?
10 ไม่เหมือนกับชนยิศราเอลในถิ่นทุรกันดาร ไพร่พลของพระยะโฮวาในปัจจุบันได้รับความพอพระทัยจากพระเจ้า. อย่างไรก็ตาม ในส่วนของแต่ละคน นับว่าสำคัญยิ่งที่จะมีพระเจ้าอยู่ในความคิดของเราเสมอ. การทำอย่างนี้จะช่วยเราให้ปฏิเสธความปรารถนาที่เห็นแก่ตัวซึ่งอาจบดบังทัศนวิสัยฝ่ายวิญญาณของเรา. เราต้องตั้งใจแน่วแน่จะ “ละทิ้งความอธรรมและความปรารถนาทางโลกและ . . . ดำเนินชีวิตโดยมีสุขภาพจิตดี มีความชอบธรรมและความเลื่อมใสในพระเจ้าในระบบปัจจุบันนี้.” (ติโต 2:12, ล.ม.) บางคนในพวกเราที่ได้สมทบกับประชาคมคริสเตียนมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กไม่ควรคิดว่าเราขาดสิ่งดีอันใด. หากความคิดเช่นนั้นแวบเข้ามาในจิตใจ เราก็น่าจะระลึกถึงพระยะโฮวาและพระพรอันยอดเยี่ยมที่พระองค์ได้ทรงจัดไว้ให้เรา.—เฮ็บราย 12:2, 3.
เชื่อฟังพระยะโฮวาในทุกสิ่ง
11, 12. ใครคนหนึ่งอาจมีความผิดฐานบูชารูปเคารพโดยไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับการสักการะบูชารูปสลักทั้งหลายได้อย่างไร?
11 เปาโลเตือนเราอีกครั้งหนึ่งเมื่อท่านเขียนว่า “ท่านทั้งหลายอย่าไหว้รูปเคารพเหมือนบางคนในพวกเขาได้กระทำ, ดุจมีคำเขียนไว้แล้วว่า, ‘ไพร่พลทั้งหลายได้นั่งลงกินและดื่มแล้วลุกขึ้นเล่นเต้นรำ.’ ” (1 โกรินโธ 10:7) ในที่นี้ เปาโลกล่าวถึงเหตุการณ์คราวที่ชาวยิศราเอลชักชวนอาโรนให้ทำรูปโคทองคำ. (เอ็กโซโด 32:1-4) แม้ว่าเราคงจะไม่หันไปนมัสการรูปเคารพแบบที่เห็นได้ชัด แต่เราอาจกลายเป็นผู้บูชารูปเคารพโดยปล่อยให้ความปรารถนาที่เห็นแก่ตัวของเราเองชักนำเราให้เขวจากการนมัสการพระยะโฮวาอย่างสิ้นสุดจิตวิญญาณ.—โกโลซาย 3:5.
12 ในอีกโอกาสหนึ่ง เปาโลเขียนเกี่ยวกับบางคนที่เป็นห่วงแต่สิ่งฝ่ายวัตถุ แทนที่จะสนใจสิ่งฝ่ายวิญญาณ. เกี่ยวกับคนเหล่านั้นที่ “เป็นศัตรูต่อกางเขน [“หลักทรมาน,” ล.ม.] แห่งพระคริสต์” ท่านเขียนว่า “ปลายทางของคนเหล่านั้นคือความพินาศ, พระของเขาก็คือกะเพาะของเขาเอง.” (ฟิลิปปอย 3:18, 19) สิ่งที่เขาเคารพสักการะไม่ใช่รูปสลัก หากแต่เป็นความปรารถนาสิ่งฝ่ายวัตถุ. แน่นอน ไม่ใช่ความปรารถนาทุกอย่างเป็นเรื่องผิด. พระยะโฮวาทรงสร้างเราพร้อมกับให้มีความต้องการตามธรรมดามนุษย์และความสามารถที่จะเพลิดเพลินได้หลายวิธี. แต่คนที่จัดให้การแสวงหาความเพลิดเพลินอยู่เหนือสัมพันธภาพของตนกับพระเจ้าย่อมกลายเป็นผู้บูชารูปเคารพไปจริง ๆ.—2 ติโมเธียว 3:1-5.
13. เราจะเรียนอะไรได้จากบันทึกเรื่องรูปโคทองคำ?
13 หลังจากที่ออกจากอียิปต์ ชาวยิศราเอลทำรูปโคทองคำขึ้นนมัสการ. นอกจากจะเตือนให้ระวังการบูชารูปเคารพแล้ว บันทึกเรื่องนี้ยังมีบทเรียนสำคัญอีกอย่างหนึ่งด้วย. ชาวยิศราเอลไม่เชื่อฟังการชี้นำที่ชัดเจนจากพระยะโฮวา. (เอ็กโซโด 20:4-6) ถึงกระนั้น พวกเขาไม่ได้ตั้งใจจะปฏิเสธพระยะโฮวาในฐานะพระเจ้าของตน. พวกเขาถวายบูชายัญแก่รูปโคที่หล่อขึ้นมาและเรียกวาระนั้นว่าเป็น “วันเทศกาลเลี้ยงถวายพระยะโฮวา.” จะโดยวิธีใดก็แล้วแต่ พวกเขาลวงตัวเองให้หลงคิดว่าพระเจ้าคงจะไม่ใส่ใจการไม่เชื่อฟังของตน. การทำอย่างนี้เป็นการดูถูกพระยะโฮวา และพระองค์ทรงพระพิโรธยิ่งนัก.—เอ็กโซโด 32:5, 7-10; บทเพลงสรรเสริญ 106:19, 20.
14, 15. (ก) เหตุใดชาวยิศราเอลไม่มีข้อแก้ตัวที่พวกเขากลายเป็นผู้ฟังที่หลงลืม? (ข) หากเราตั้งใจแน่วแน่จะไม่กลายเป็นผู้ฟังที่หลงลืม เราจะปฏิบัติเช่นไรต่อพระบัญชาของพระยะโฮวา?
14 คงเป็นเรื่องแปลกมากที่พยานพระยะโฮวาคนหนึ่งจะเข้าสมทบกับศาสนาเท็จ. อย่างไรก็ตาม ขณะที่ยังคงอยู่ในประชาคมนี่แหละที่บางคนอาจปฏิเสธการชี้นำของพระยะโฮวาด้วยวิธีอื่น. ชนชาติยิศราเอลไม่มีข้อแก้ตัวที่พวกเขากลายเป็นผู้ฟังที่หลงลืม. พวกเขาได้ยินได้ฟังพระบัญญัติสิบประการและอยู่ในเหตุการณ์ตอนที่โมเซมอบพระบัญชาของพระเจ้าแก่พวกเขา ซึ่งกล่าวว่า “เจ้าอย่าทำรูปเคารพด้วยเงินหรือทองไว้สำหรับบูชาเทียบเทียมกับเรา; อย่าเคารพนมัสการสิ่งเหล่านั้น.” (เอ็กโซโด 20:18, 19, 22, 23) ถึงกระนั้น ชาวยิศราเอลก็ยังนมัสการรูปโคทองคำ.
15 เราเองก็ไม่มีข้อแก้ตัวที่ฟังขึ้นหากเรากลายเป็นผู้ฟังที่หลงลืม. เราได้รับการชี้นำจากพระเจ้าในพระคัมภีร์เกี่ยวกับหลายแง่มุมของชีวิต. ยกตัวอย่าง พระคำของพระยะโฮวาตำหนิอย่างเจาะจงในเรื่องการยืมแล้วไม่ใช้คืน. (บทเพลงสรรเสริญ 37:21) เด็ก ๆ ได้รับพระบัญชาให้เชื่อฟังบิดามารดา และมีการคาดหมายให้บิดาเลี้ยงดูบุตรด้วย “การปรับความคิดจิตใจตามหลักการของพระยะโฮวา.” (เอเฟโซ 6:1-4, ล.ม.) คริสเตียนโสดได้รับพระบัญชาให้สมรส “กับผู้ที่เชื่อถือองค์พระผู้เป็นเจ้า” เท่านั้น และผู้รับใช้ที่สมรสแล้วของพระเจ้าได้รับพระบัญชาว่า “จงให้การสมรสนั้นเป็นที่นับถือแก่คนทั้งปวง, และให้ที่นอนปราศจากมลทิน ด้วยว่าคนเหล่านั้นที่เล่นชู้กันและคนล่วงประเวณี พระเจ้าจะทรงพิพากษา.” (1 โกรินโธ 7:39; เฮ็บราย 13:4) หากเราตั้งใจแน่วแน่จะไม่กลายเป็นผู้ฟังที่หลงลืม เราจะถือว่าข้อเหล่านี้และข้อชี้นำอื่น ๆ จากพระเจ้าเป็นเรื่องจริงจังอย่างยิ่งและปฏิบัติตาม.
16. ผลของการนมัสการรูปโคทองคำเป็นเช่นไร?
16 พระยะโฮวาไม่ทรงยอมรับการที่ชาวยิศราเอลพยายามนมัสการพระองค์โดยอาศัยเงื่อนไขของพวกเขาเอง. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น 3,000 คนถูกทำลาย ซึ่งก็อาจเป็นเพราะพวกเขามีบทบาทเด่นในการนมัสการรูปโคทองคำอันเป็นการขืนอำนาจ. ผู้ทำผิดคนอื่น ๆ ประสบภัยพิบัติจากพระยะโฮวา. (เอ็กโซโด 32:28, 35) นับเป็นบทเรียนสำหรับผู้ที่อ่านพระคำของพระเจ้าแต่แล้วก็เลือกเอาเองว่าเขาอยากเชื่อฟังอะไร!
“หลีกหนีจากการผิดประเวณี”
17. 1 โกรินโธ 10:8 กล่าวถึงเหตุการณ์อะไร?
17 เปาโลหยิบยกขอบเขตหนึ่งที่ความปรารถนาฝ่ายเนื้อหนังอาจชักนำให้หลงลืมฝ่ายวิญญาณ เมื่อท่านกล่าวว่า “อย่าคบกับหญิงชั่วเหมือนบางคนในพวกเขาได้กระทำ, แล้วก็ล้มลงตายในวันเดียวสองหมื่นสามพันคน.” (1 โกรินโธ 10:8) ในที่นี้ เปาโลกล่าวถึงเหตุการณ์ ณ ที่ราบโมอาบซึ่งเกิดขึ้นช่วงท้าย ๆ ของการเดินทางรอนแรมในถิ่นทุรกันดาร 40 ปี. ไม่นานก่อนหน้านั้น ชาวยิศราเอลได้รับความช่วยเหลือจากพระยะโฮวาในการพิชิตดินแดนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำยาระเดน แต่ปรากฏว่าหลายคนลืมไปแล้วและไม่แสดงความขอบพระคุณ. ณ ชายแดนแผ่นดินที่ทรงสัญญา พวกเขาถูกล่อใจให้ทำผิดศีลธรรมทางเพศและร่วมในการนมัสการที่ไม่สะอาดต่อบาละแห่งเปโอร์. ประมาณ 24,000 คนถูกทำลาย ซึ่งในจำนวนนี้เป็นหัวโจกเสีย 1,000 คน.—อาฤธโม 25:9.
18. ความประพฤติแบบใดที่อาจนำไปสู่การทำผิดศีลธรรมทางเพศ?
18 ไพร่พลของพระยะโฮวาในทุกวันนี้เป็นที่รู้จักกันดีเพราะมาตรฐานสูงด้านศีลธรรมของพวกเขา. แต่เมื่อถูกล่อใจให้ทำผิดศีลธรรมทางเพศ คริสเตียนบางคนเลิกคิดถึงพระเจ้าและหลักการของพระองค์. พวกเขากลายเป็นผู้ฟังที่หลงลืม. ทีแรก การล่อใจอาจไม่เกี่ยวกับการผิดประเวณี. แต่อาจเป็นแนวโน้มที่จะเข้าไปข้องแวะกับสื่อลามก, ปล่อยตัวปล่อยใจในการพูดเล่นอย่างไม่สมควรหรือการเกี้ยวพาราสีเล่น ๆ, หรือคบหาใกล้ชิดกับคนที่อ่อนแอทางศีลธรรม. ทั้งหมดนี้ได้ชักนำคริสเตียนบางคนให้ทำบาป.—1 โกรินโธ 15:33; ยาโกโบ 4:4.
19. คำแนะนำอะไรจากพระคัมภีร์ช่วยเราให้ “หลีกหนีจากการผิดประเวณี”?
19 หากถูกล่อใจให้ทำผิดศีลธรรม เราต้องไม่เลิกคิดถึงพระยะโฮวา. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น เราต้องปฏิบัติตามข้อเตือนใจในพระคำของพระองค์. (บทเพลงสรรเสริญ 119:1, 2) ในฐานะคริสเตียน เราส่วนใหญ่พยายามทำเต็มที่เพื่อรักษาความสะอาดด้านศีลธรรม แต่เพื่อจะทำสิ่งที่ถูกต้องในสายพระเนตรของพระเจ้าได้จำเป็นต้องมีความพยายามที่ต่อเนื่อง. (1 โกรินโธ 9:27) เปาโลเขียนถึงคริสเตียนในกรุงโรมว่า “การเชื่อฟังของท่านทั้งหลายเป็นที่รู้แก่คนทั้งปวง. ฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงปีติยินดีเนื่องด้วยท่านทั้งหลาย. แต่ข้าพเจ้าปรารถนาให้ท่านทั้งหลายฉลาดในสิ่งดี แต่ไร้เดียงสาในสิ่งชั่ว.” (โรม 16:19, ล.ม.) เช่นเดียวกับที่ชาวยิศราเอล 24,000 คนถูกประหารเพราะบาปของพวกเขา ในไม่ช้าคนทำผิดประเวณีและผู้ทำผิดอื่น ๆ จะถูกพระยะโฮวาพิพากษาลงโทษ. (เอเฟโซ 5:3-6) ดังนั้น แทนที่จะกลายเป็นผู้ฟังที่หลงลืม เราต้อง “หลีกหนีจากการผิดประเวณี” เสมอไป.—1 โกรินโธ 6:18, ล.ม.
จงหยั่งรู้ค่าการจัดเตรียมของพระยะโฮวาเสมอ
20. ชาวยิศราเอลทดลองพระยะโฮวาอย่างไร และผลเป็นเช่นไร?
20 คริสเตียนส่วนใหญ่ไม่ได้ยอมพ่ายแพ้แก่การทำผิดศีลธรรมทางเพศ. ถึงกระนั้น เราจำเป็นต้องระวังที่จะไม่ปล่อยให้ตัวเราเองติดตามแนวทางที่นำไปสู่การบ่นพึมพำร่ำไปซึ่งอาจทำให้พระเจ้าไม่พอพระทัย. เปาโลเตือนสติเราว่า “ทั้งอย่าให้เราลองดีพระยะโฮวา ดังที่บางคนใน [พวกยิศราเอล] ได้ลองดีพระองค์แล้วก็พินาศด้วยงูพิษ. ทั้งอย่าเป็นคนช่างบ่น ดังที่บางคนในพวกเขาได้บ่น แล้วก็พินาศโดยผู้ประหาร.” (1 โกรินโธ 10:9, 10, ล.ม.) ชาวยิศราเอลบ่นพึมพำต่อโมเซและอาโรน—และถึงกับต่อว่าพระเจ้าเสียด้วยซ้ำ—โดยบ่นเกี่ยวกับมานาซึ่งทรงจัดเตรียมให้อย่างอัศจรรย์. (อาฤธโม 16:41; 21:5) พระยะโฮวาทรงขุ่นเคืองการบ่นพึมพำน้อยกว่าการผิดประเวณีไหม? บันทึกในคัมภีร์ไบเบิลแสดงว่าผู้ที่บ่นพึมพำหลายคนถูกงูกัดตาย. (อาฤธโม 21:6) ก่อนหน้าเหตุการณ์ดังกล่าว มีผู้บ่นพึมพำซึ่งแสดงถึงการขืนอำนาจมากกว่า 14,700 คนถูกทำลาย. (อาฤธโม 16:49) ดังนั้น อย่าให้เราทดลองความอดกลั้นของพระยะโฮวา โดยไม่ให้ความนับถือต่อสิ่งทั้งหลายที่พระองค์ทรงจัดเตรียมให้.
21. (ก) เปาโลได้รับการดลใจให้เขียนคำกระตุ้นเตือนอะไร? (ข) ตามที่กล่าวไว้ในยาโกโบ 1:25 เราจะมีความสุขแท้ได้อย่างไร?
21 ในการเขียนถึงเพื่อนคริสเตียน เปาโลปิดท้ายรายการคำเตือนด้วยคำกระตุ้นเตือนดังนี้: “เหตุการณ์เหล่านี้ได้บังเกิดแก่เขาเป็นตัวอย่างสำหรับผู้อื่น และได้บันทึกไว้แล้วเพื่อจะเตือนสติเราทั้งหลายผู้อยู่ในปัจจุบันนี้, ผู้ซึ่งกำลังอยู่ในกาลสุดปลายของแผ่นดินโลก. เหตุฉะนั้นคนที่คิดว่าตัวมั่นคงดีอยู่แล้วจงระวังให้ดี, กลัวว่าจะหลงผิดไป.” (1 โกรินโธ 10:11, 12) เช่นเดียวกับชาวยิศราเอล เราได้รับพระพรมากมายจากพระยะโฮวา. อย่างไรก็ตาม ไม่เหมือนกับพวกเขา ขออย่าให้เราลืมและไม่หยั่งรู้ค่าสิ่งดีทั้งหลายที่พระยะโฮวากำลังทำเพื่อเรา. เมื่อความกระวนกระวายในชีวิตทำให้เรารู้สึกเพียบหนัก ให้เราคิดใคร่ครวญคำสัญญาอันยอดเยี่ยมที่พบในพระคำของพระองค์. ขอให้เราระลึกเสมอถึงสัมพันธภาพอันล้ำค่าที่เรามีกับพระยะโฮวาและทำงานประกาศเรื่องราชอาณาจักรซึ่งได้มอบไว้กับเราต่อ ๆ ไป. (มัดธาย 24:14; 28:19, 20) แนวทางดังกล่าวนำความสุขแท้มาให้เราแน่นอน เพราะพระคัมภีร์สัญญาไว้ว่า “ผู้ใดที่พิจารณาดูในพระบัญญัติแห่งเสรีภาพอันบริสุทธิ์, และจะตั้งอยู่ในพระบัญญัตินั้น, ผู้นั้นไม่ได้เป็นผู้ฟังแล้วหลงลืม, แต่เป็นคนประพฤติตาม คนนั้นจะได้ความสุขในการของตน.”—ยาโกโบ 1:25.
คุณจะตอบอย่างไร?
• อะไรอาจทำให้เรากลายเป็นผู้ฟังที่หลงลืมได้?
• เหตุใดจึงจำเป็นต้องเชื่อฟังพระเจ้าในทุกสิ่ง?
• เราจะ “หลีกหนีจากการผิดประเวณี” ได้อย่างไร?
• เราควรมีเจตคติเช่นไรต่อสิ่งต่าง ๆ ที่พระยะโฮวาทรงจัดเตรียมให้?
[ภาพหน้า 15]
ชนยิศราเอลลืมราชกิจอันทรงฤทธิ์ของพระยะโฮวาที่ทรงทำเพื่อพวกเขา
[ภาพหน้า 16]
ไพร่พลของพระยะโฮวาตั้งใจแน่วแน่ในการรักษามาตรฐานสูงด้านศีลธรรม