คุณเป็นเพื่อนร่วมงานที่ดีไหม?
“เราเป็นนายช่างอยู่ข้างพระองค์ . . . เรามีความสุขที่ได้อยู่กับพระองค์ตลอดเวลา” (สภษ. 8:30) ข้อคัมภีร์นี้พูดถึงตอนที่พระเยซูทำงานกับพ่อของท่านเป็นเวลานานหลายปีก่อนที่ท่านจะลงมาบนโลก ข้อนี้ยังบอกว่าพระเยซูเป็นเพื่อนร่วมงานกับพ่อของท่าน และท่าน “มีความสุข” มากที่ได้ทำงานกับพระองค์
ตอนที่พระเยซูทำงานร่วมกับพระยะโฮวา ท่านได้เรียนหลายอย่าง พอท่านลงมาบนโลก ท่านก็ทำให้เห็นว่าการเป็นเพื่อนร่วมงานที่ดีต้องเป็นยังไง ถ้าเราสังเกตตัวอย่างของพระเยซู เราจะเห็นหลักการ 3 อย่างที่ช่วยให้เราเป็นเพื่อนร่วมงานที่ดี และถ้าเราทำตามหลักการเหล่านั้น เราก็จะทำงานร่วมกับคนอื่นได้ดีขึ้นและเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น
หลักการที่ 1 “ให้เกียรติคนอื่น”
เพื่อนร่วมงานที่ดีจะเป็นคนถ่อมและเห็นค่าคนที่ทำงานด้วยกันและเขาจะไม่ทำตัวเด่นกว่าคนอื่น พระเยซูได้เรียนความถ่อมจากพระยะโฮวา ถึงพระยะโฮวาจะเป็นผู้เดียวที่สมควรจะถูกเรียกว่าเป็นผู้สร้าง แต่พระองค์ก็ถ่อมและอยากให้คนอื่น ๆ เห็นว่าพระเยซูก็ทำงานที่สำคัญเหมือนกัน เราเห็นเรื่องนี้จากคำพูดของพระยะโฮวาที่บอกว่า “ให้เราสร้างมนุษย์ตามแบบเรา” คำว่า “เรา” ในข้อนี้หมายถึงพระยะโฮวากับพระเยซู (ปฐก. 1:26) ตอนที่พระเยซูได้ยินคำพูดนี้ของพระยะโฮวา ท่านคงคิดว่าพระยะโฮวาเป็นพระเจ้าที่ถ่อมจริง ๆ—สด. 18:35
ตอนที่พระเยซูอยู่บนโลก ท่านแสดงความถ่อมมาก เมื่อมีคนมาชมท่าน ท่านก็ยกความดีความชอบให้กับคนที่สมควรจะได้รับ นั่นก็คือพระยะโฮวา (มก. 10:17, 18; ยน. 7:15, 16) นอกจากนั้น พระเยซูเข้ากับพวกสาวกได้ดี ท่านไม่ได้ทำให้พวกเขารู้สึกว่าเป็นเหมือนทาสแต่เป็นเหมือนเพื่อนของท่าน (ยน. 15:15) ท่านถึงกับล้างเท้าให้กับพวกเขาด้วยตอนที่สอนเกี่ยวกับเรื่องความถ่อม (ยน. 13:5, 12-14) พวกเราก็เหมือนกัน เราต้องคิดถึงเพื่อนร่วมงานมากกว่าตัวเราเองและเห็นค่าพวกเขา ถ้าเรา “ให้เกียรติคนอื่น” และไม่ห่วงว่าเราจะได้หน้าหรือเปล่า ผลงานก็จะออกมาดีกว่า
คนถ่อมรู้ว่า “ถ้ามีที่ปรึกษาหลายคนแผนการจะสำเร็จ” (สภษ. 15:22) เราต้องจำไว้ว่าไม่ว่าคนเราจะมีประสบการณ์หรือความสามารถมากแค่ไหนก็ไม่มีใครรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง ขนาดพระเยซูเองก็ยอมรับว่ามีบางเรื่องที่ท่านไม่รู้ (มธ. 24:36) และท่านก็สนใจว่าสาวกคิดอะไรอยู่ (มธ. 16:13-16) พวกสาวกต้องสบายใจมากแน่ ๆ ที่ได้ทำงานกับพระเยซู เราเองก็ต้องเป็นคนถ่อมและจำไว้เสมอว่าเราไม่ได้รู้ทุกเรื่อง เราต้องฟังความคิดเห็นของคนอื่น และถ้าเราทำแบบนี้ เราจะสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงาน และงานที่เราทำด้วยกันก็จะสำเร็จ
เป็นเรื่องสำคัญมากที่ผู้ดูแลจะเลียนแบบพระเยซูเมื่อพวกเขาทำงานด้วยกัน พวกเขาต้องจำไว้ว่าพลังบริสุทธิ์สามารถกระตุ้นผู้ดูแลคนไหนก็ได้ให้ออกความคิดเห็นในแบบที่เป็นประโยชน์ ดังนั้นถ้าผู้ดูแลรักษาบรรยากาศที่ดีตอนที่พวกเขาประชุมกัน และทำให้ผู้ดูแลคนอื่นรู้สึกสบายใจที่จะออกความคิดเห็น พวกเขาก็จะตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ในแบบที่เป็นประโยชน์กับทั้งประชาคม
หลักการที่ 2 “ให้คนอื่นเห็นว่าพวกคุณเป็นคนมีเหตุผล”
เพื่อนร่วมงานที่ดีจะเป็นคนมีเหตุผลเมื่อทำงานกับคนอื่น เขาจะเป็นคนยืดหยุ่น พร้อมจะปรับเปลี่ยน และรู้จักยอม พระเยซูต้องมีโอกาสเห็นหลายครั้งแน่ ๆ ว่าพระยะโฮวามีเหตุผล เช่น ทั้ง ๆ ที่มนุษย์ต้องตายเพราะบาป แต่พระยะโฮวาก็ไม่ได้ยึดติดกับมาตรฐานของพระองค์มากเกินไปจนไม่ยอมปรับเปลี่ยนอะไร แต่พระองค์ยอมส่งพระเยซูให้ลงมาตายเป็นค่าไถ่เพื่อช่วยให้มนุษย์ทุกคนมีโอกาสได้ชีวิตตลอดไป—ยน. 3:16
เมื่อพระเยซูเห็นว่าเหมาะและจำเป็น ท่านก็ยอมคนอื่น เช่น ถึงท่านจะถูกส่งมาเพื่อช่วยชาวอิสราเอล แต่ท่านก็ยอมช่วยผู้หญิงชาวฟีนิเซีย (มธ. 15:22-28) นอกจากนั้น ท่านยังแสดงให้เห็นว่าเป็นคนมีเหตุผลโดยไม่ได้คาดหมายความสมบูรณ์แบบจากคนอื่น เมื่อเปโตรเพื่อนสนิทของท่านปฏิเสธท่านต่อหน้าคนอื่น ท่านก็พร้อมจะให้อภัยและยังมอบหมายงานที่สำคัญให้กับเขา (ลก. 22:32; ยน. 21:17; กจ. 2:14; 8:14-17; 10:44, 45) ตัวอย่างของพระเยซูทำให้เห็นชัดเลยว่า เราต้องทำ “ให้คนอื่นเห็นว่า [เรา] เป็นคนมีเหตุผล” และยอมคนอื่น—ฟป. 4:5
ถ้าเราเป็นคนมีเหตุผล เราก็พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนและทำงานเข้ากับคนทุกแบบได้ พระเยซูก็เป็นแบบนั้นจนพวกศัตรูว่าท่านว่า “ชอบคบกับคนเก็บภาษีและคนบาป” (มธ. 11:19) แล้วเราล่ะ เราจะเลียนแบบพระเยซูได้ไหมถ้าต้องทำงานกับคนที่แตกต่างจากเรา? ลูอิสซึ่งเป็นผู้ดูแลหมวดและทำงานที่เบเธลได้มีโอกาสทำงานกับพี่น้องที่หลากหลาย เขาเล่าว่า “ผมรู้สึกว่าตอนที่ทำงานกับพี่น้อง มันก็เป็นเหมือนกับการสร้างกำแพงครับ พี่น้องแต่ละคนก็เหมือนกับก้อนหินที่มีขนาดแตกต่างกัน บางก้อนก็เล็กบางก้อนก็ใหญ่ แต่ถ้าเราขยับให้เข้าที่เข้าทาง เราก็จะได้กำแพงที่ตรงและก็สวยด้วย นอกจากนั้น ตัวผมเองก็ต้องปรับตัวด้วยครับเพื่อที่จะร่วมงานกับคนอื่นได้ดี” พี่น้องชายคนนี้เป็นตัวอย่างที่ดีจริง ๆ
เพื่อนร่วมงานที่ดีจะไม่กั๊กหรือหวงวิชาเพื่อจะควบคุมทุกอย่างไว้
มีโอกาสไหนบ้างที่เราจะแสดงความมีเหตุผลกับพี่น้องในประชาคม? ตอนที่เราประกาศเป็นกลุ่มกับพี่น้อง เราจะมีโอกาสได้ทำงานกับพี่น้องหลายแบบ หลายเพศ หลายวัย และบางคนก็มีหน้าที่รับผิดชอบในครอบครัวที่ไม่เหมือนกับเรา ตอนที่เราประกาศกับพวกเขา เราจะคิดถึงพี่น้องที่ทำงานคู่กับเรามากขึ้นได้ไหม? เช่น ถ้าเราเป็นคนทำอะไรเร็ว เราจะช้าลงได้ไหม? หรือบางทีเราอาจจะปรับเปลี่ยนรูปแบบการประกาศได้ไหม? ถ้าเราทำแบบนี้ เราก็จะทำให้พี่น้องมีความสุขมากขึ้น
หลักการที่ 3 “รู้จักแบ่งปัน”
เพื่อนร่วมงานที่ดีจะ “รู้จักแบ่งปัน” (1 ทธ. 6:18) ตอนที่พระเยซูทำงานกับพระยะโฮวาในสวรรค์ ท่านได้เห็นว่าพระองค์ไม่ได้หวงงานไว้ทำคนเดียว ช่วงที่พระยะโฮวา “สร้างท้องฟ้า” พระเยซู “อยู่ที่นั่น” ด้วยและได้เรียนรู้หลายอย่างจากพ่อของท่าน (สภษ. 8:27) และพอพระเยซูลงมาอยู่บนโลก ท่านก็เต็มใจแบ่งปันสิ่งที่ “ได้ยิน” จากพ่อให้กับพวกสาวก (ยน. 15:15) เราเองก็น่าจะจำไว้และเลียนแบบพระยะโฮวากับพระเยซูในเรื่องนี้ คือเต็มใจแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ให้กับเพื่อนร่วมงาน คนที่เป็นเพื่อนร่วมงานที่ดีจะไม่กั๊กหรือหวงวิชาไว้กับตัวเองเพื่อที่เขาจะได้ควบคุมทุกอย่างไว้ แต่เขาจะมีความสุขและเต็มใจสอนทุกอย่างที่รู้ให้กับคนอื่น
มีอีกอย่างที่เราแบ่งปันเพื่อนร่วมงานของเราได้ นั่นก็คือกำลังใจ ลองคิดดูว่าถ้ามีคนสังเกตสิ่งที่เราทำและขอบคุณเราจากใจ เราจะมีความสุขมากใช่ไหม? พระเยซูก็บอกสาวกที่เป็นเพื่อนร่วมงานของท่านว่าท่านเห็นค่าสิ่งที่พวกเขาทำ (เทียบกับมัทธิว 25:19-23; ลูกา 10:17-20) และท่านถึงกับบอกว่าพวกเขา “จะทำงานใหญ่กว่า” ท่านด้วย (ยน. 14:12) ในคืนก่อนที่พระเยซูจะตาย ท่านชมอัครสาวกที่ซื่อสัตย์ว่า “พวกคุณคอยอยู่เคียงข้างผมเสมอตอนที่ผมลำบาก” (ลก. 22:28) พวกเขาต้องได้กำลังใจมากแน่ ๆ ที่พระเยซูพูดแบบนี้และคงเต็มใจทำทุกอย่างที่พระเยซูบอกไว้ ถ้าเราชมเพื่อนร่วมงานของเรา พวกเขาก็จะมีความสุขมากขึ้น และงานก็จะออกมาดีกว่า
คุณก็เป็นเพื่อนร่วมงานที่ดีได้
พี่น้องคาโยเดบอกว่า “เพื่อนร่วมงานที่ดีไม่ต้องสมบูรณ์แบบ แต่เขาจะทำให้ทุกคนมีความสุขและช่วยให้คนอื่นทำงานง่ายขึ้น” คุณเป็นเพื่อนร่วมงานแบบนั้นไหม? ลองถามเพื่อนร่วมงานของคุณสิว่าคุณเป็นคนแบบนั้นรึเปล่า? ถ้าเขาชอบทำงานกับคุณเหมือนที่สาวกชอบทำงานกับพระเยซู คุณก็พูดเหมือนกับเปาโลได้ที่บอกว่าเรา “เป็นเพื่อนร่วมงานที่อยากให้พวกคุณมีความสุข”—2 คร. 1:24