จงพัฒนาความมีเหตุผล
“จงให้ความมีเหตุผลของท่านปรากฏแก่คนทั้งปวง. องค์พระผู้เป็นเจ้าอยู่ใกล้.”—ฟิลิปปอย 4:5, ล.ม.
1. เหตุใดจึงเป็นการท้าทายที่จะเป็นคนมีเหตุผลในโลกสมัยปัจจุบัน?
“คนมีเหตุผล”—เซอร์ อะลัน แพตริก เฮอร์เบิร์ตนักหนังสือพิมพ์ชาวอังกฤษได้เรียกเขาว่าเป็นบุคคลในเทพนิยาย. ที่จริงแล้ว บางครั้งอาจดูเหมือนว่า คนมีเหตุผลไม่มีเหลืออยู่ในโลกที่แบ่งแยกด้วยการแข่งขันกันนี้. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวไว้ล่วงหน้าว่า “สมัยสุดท้าย” อันเป็นวิกฤตการณ์เช่นนี้ ผู้คนจะเป็นคน “ดุร้าย,” “หัวดื้อ,” และ“ไม่ยอมเป็นไมตรีกับใคร”—พูดอีกอย่างหนึ่งคือ ไม่มีเหตุผลเสียเลย. (2 ติโมเธียว 3:1-5) กระนั้นก็ดี คริสเตียนแท้ถือเอาความมีเหตุผลเป็นเรื่องสูงส่ง โดยรู้อยู่ว่า ความมีเหตุผลนี้แหละเป็นสัญลักษณ์ของสติปัญญาจากเบื้องบน. (ยาโกโบ 3:17) พวกเราไม่คิดว่า การเป็นคนมีเหตุผลในโลกอันไร้เหตุผลเช่นนี้จะเป็นไปไม่ได้. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น เราจะยอมรับการท้าทายอย่างเต็มที่ตามคำแนะนำของอัครสาวกเปาโลที่ท่านได้รับโดยการดลใจซึ่งเราพบในฟิลิปปอย 4:5 (ล.ม.) ดังนี้: “จงให้ความมีเหตุผลของท่านปรากฏแก่คนทั้งปวง.”
2. ถ้อยคำของอัครสาวกเปาโลที่ฟิลิปปอย 4:5 ช่วยเราอย่างไรที่จะวินิจฉัยว่า เรามีเหตุผลหรือไม่?
2 จงสังเกตวิธีที่ถ้อยคำของเปาโลช่วยเราทดสอบตัวเองว่า เรามีเหตุผลหรือไม่. ที่ว่าเรามองตัวเองอย่างไรนั้นไม่ใช่ปัญหาสำคัญ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า คนอื่นมองเราอย่างไร หรือเราเป็นที่รู้จักว่าเราเป็นคนแบบไหนต่างหาก. คัมภีร์ฉบับแปลของฟิลลิปส์แปลข้อนี้ว่า “มีชื่อเสียงดีเนื่องด้วยการมีเหตุผล.” พวกเราแต่ละคนน่าจะถามว่า ‘ฉันเป็นที่รู้จักว่าเป็นคนแบบไหน? ฉันมีชื่อเสียงในด้านการเป็นคนมีเหตุผล, ยินยอม, และอ่อนโยนไหม? หรือฉันเป็นที่รู้จักว่า เป็นคนไม่ยืดหยุ่น, หยาบกระด้าง, หัวดื้อไหม?’
3. (ก) คำภาษากรีกที่ได้รับการแปลว่า “มีเหตุผล” นั้นมีความหมายอย่างไร และทำไมคุณลักษณะนี้จึงน่าดึงดูดใจ? (ข) คริสเตียนอาจเรียนรู้โดยวิธีใดเพื่อจะเป็นคนมีเหตุผลมากขึ้น?
3 ชื่อเสียงของเราเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้จะสะท้อนอย่างชัดเจนว่า เราเลียนแบบพระเยซูคริสต์ถึงขีดไหน. (1 โกรินโธ 11:1) เมื่อประทับอยู่บนแผ่นดินโลก พระเยซูได้สะท้อนตัวอย่างความมีเหตุผลอันดีเลิศของพระบิดาของพระองค์อย่างครบถ้วน. (โยฮัน 14:9) ที่จริง เมื่อเปาโลได้เขียนเกี่ยวกับเรื่อง “ความอ่อนโยนและพระกรุณาของพระคริสต์,” คำภาษากรีกซึ่งท่านใช้สำหรับพระกรุณา (เอพิไอเคีย) มีความหมายว่า “ความมีเหตุผล” ด้วย หรือตามตัวอักษรก็หมายถึงความยินยอม. (2 โกรินโธ 10:1) หนังสือ คำอธิบายคัมภีร์ไบเบิลของผู้ให้อรรถาธิบาย เรียกคำนี้ว่าเป็น “หนึ่งในบรรดาคำสำคัญที่บอกลักษณะนิสัยในคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่.” คำนี้พรรณนาคุณลักษณะอย่างหนึ่งที่น่าดึงดูดใจมากจนผู้คงแก่เรียนคนหนึ่งได้แปลคำนี้ว่า “ความมีเหตุผลที่น่าพอใจ.” เหตุฉะนั้น ให้เราพิจารณาสามแนวทางซึ่งพระเยซูทรงแสดงความมีเหตุผล เช่นเดียวกับพระบิดาของพระองค์ พระยะโฮวา. ด้วยเหตุนี้ เราอาจเรียนรู้วิธีที่ตัวเองจะเป็นคนมีเหตุผลมากขึ้น.—1 เปโตร 2:21.
“พร้อมจะให้อภัย”
4. พระเยซูทรงแสดงอย่างไรว่าพระองค์เองทรง “พร้อมจะให้อภัย”?
4 เช่นเดียวกับพระบิดาของพระองค์ พระเยซูทรงแสดงความมีเหตุผลโดย “พร้อมจะให้อภัย” ครั้งแล้วครั้งเล่า. (บทเพลงสรรเสริญ 86:5, ล.ม.) ขอพิจารณาตอนที่เปโตร เพื่อนสนิทของพระเยซู ได้ปฏิเสธพระองค์ถึงสามครั้งในคืนที่พระองค์ถูกจับและดำเนินคดี. พระเยซูตรัสไว้ก่อนแล้วว่า “ผู้ใดจะปฏิเสธเราต่อหน้ามนุษย์, เราจะปฏิเสธผู้นั้นเฉพาะพระพักตร์พระบิดาของเราผู้อยู่ในสวรรค์ด้วย.” (มัดธาย 10:33) พระเยซูได้ใช้กฎข้อนี้กับเปโตรอย่างเข้มงวดและไร้ความเมตตาไหม? เปล่าเลย ภายหลังพระองค์ได้รับการปลุกให้คืนพระชนม์แล้ว พระเยซูยังได้เยี่ยมเปโตรเป็นส่วนตัว โดยไม่สงสัย เพื่อจะปลอบโยนและให้คำรับรองแก่อัครสาวกผู้สำนึกผิดและชอกช้ำใจผู้นี้. (ลูกา 24:34; 1 โกรินโธ 15:5) ไม่นานหลังจากนั้น พระเยซูทรงอนุญาตให้เปโตรมีความรับผิดชอบมาก. (กิจการ 2:1-41) ตรงนี้แหละเป็นการแสดงความมีเหตุผลที่น่าพอใจนั้นอย่างเต็มที่! เป็นการปลอบประโลมมิใช่หรือที่จะระลึกว่า พระยะโฮวาได้ทรงตั้งพระเยซูเป็นผู้พิพากษามวลมนุษยชาติทั้งสิ้น?—ยะซายา 11:1-4; โยฮัน 5:22.
5. (ก) พวกผู้ปกครองควรมีชื่อเสียงชนิดใดท่ามกลางฝูงแกะ? (ข) ผู้ปกครองอาจทบทวนเนื้อหาอะไรก่อนดำเนินการพิจารณาตัดสินความ และเพราะเหตุใด?
5 เมื่อผู้ปกครองทำหน้าที่พิพากษาในประชาคม พวกเขาพยายามปฏิบัติตามตัวอย่างความมีเหตุผลของพระเยซู. เขาไม่ประสงค์จะให้แกะทั้งหลายกลัวเขาประหนึ่งเขาเป็นผู้ลงโทษทัณฑ์. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น เขาพยายามเลียนแบบพระเยซูเพื่อแกะเหล่านั้นจะรู้สึกปลอดภัยเมื่ออยู่กับพวกผู้บำรุงเลี้ยงที่มีความรัก. เมื่อพิจารณาตัดสินความ ผู้ปกครองพยายามทุกวิถีทางที่จะเป็นคนมีเหตุผล พร้อมจะให้อภัย. ก่อนดำเนินการพิจารณาดังกล่าว ผู้ปกครองบางคนเห็นว่าเป็นประโยชน์หากจะทบทวนบทความในหอสังเกตการณ์ ฉบับ 1 กรกฎาคม 1992 เรื่อง “พระยะโฮวา ‘ผู้พิพากษาแห่งแผ่นดินโลกทั้งสิ้น’ ผู้ไม่ลำเอียง” และ “ผู้ปกครองทั้งหลาย จงตัดสินด้วยความยุติธรรม.” ด้วยวิธีนี้ พวกเขาจำใส่ใจไว้เสมอถึงข้อสรุปเกี่ยวด้วยแนวทางการตัดสินของพระยะโฮวาที่ว่า “มั่นคงแน่วแน่เมื่อจำเป็น เมตตาเมื่อมีทางเป็นไปได้.” หาใช่เป็นความผิดพลาดไม่ในการเอนเอียงไปทางความเมตตาขณะพิพากษาในเมื่อมีพื้นฐานประกอบด้วยเหตุผลในการกระทำเช่นนั้น. (มัดธาย 12:7) เป็นความผิดมหันต์ที่จะแสดงความเกรี้ยวกราดหรือไร้ความปรานี. (ยะเอศเคล 34:4) ฉะนั้น ผู้ปกครองจะหลีกเลี่ยงการผิดพลาดโดยพยายามขวนขวายหาแนวทางที่เปี่ยมด้วยความรักความเมตตาให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ภายในขอบเขตของความยุติธรรม.—เทียบกับมัดธาย 23:23; ยาโกโบ 2:13.
การปรับตัวเมื่อเผชิญกับสภาพการณ์ที่แปรเปลี่ยนไป
6. พระเยซูทรงแสดงความมีเหตุผลอย่างไรเมื่อติดต่อกับหญิงชาวต่างชาติซึ่งลูกสาวของนางถูกผีสิง?
6 เช่นเดียวกันกับพระยะโฮวา พระเยซูเองมิได้รั้งรอที่จะเปลี่ยนแนวทางหรือปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น. ณ โอกาสหนึ่ง ผู้หญิงต่างชาติได้อ้อนวอนพระองค์ให้ช่วยรักษาลูกสาวของนางที่ถูกผีร้ายสิง. ด้วยสามแนวทางต่างกัน ทีแรกพระเยซูระบุว่า พระองค์จะไม่สงเคราะห์นาง—ประการแรก โดยไม่ยอมตอบนาง; ประการที่สอง โดยการกล่าวตรง ๆ ว่า พระองค์ถูกส่งเข้ามาเพื่อชาวยิวเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อคนต่างชาติ; และประการที่สาม โดยการยกอุทาหรณ์ซึ่งเน้นจุดเดียวกันอย่างนุ่มนวล. อย่างไรก็ดี ผู้หญิงคนนั้นยังพยายามอย่างไม่ลดละ ซึ่งเป็นการให้หลักฐานแสดงว่ามีความเชื่อมาก. เมื่อคำนึงถึงกรณีพิเศษนี้ พระเยซูสามารถหยั่งเห็นได้ว่า เรื่องนี้หาใช่เวลาที่จะบังคับให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ทั่วไป ถึงเวลาแล้วที่พึงปรับเปลี่ยนเพื่อตอบสนองต่อหลักการอันสูงส่งกว่า.a ดังนั้น พระเยซูจึงทรงกระทำสิ่งซึ่งพระองค์ได้ระบุถึงสามครั้งว่าพระองค์จะไม่ทำ. พระองค์ได้รักษาลูกสาวของหญิงคนนั้น!—มัดธาย 15:21-28.
7. บิดามารดาอาจแสดงความมีเหตุผลได้ในทางใดบ้าง และเพราะเหตุใด?
7 ในทำนองคล้ายคลึงกัน เราเป็นที่รู้จักเนื่องด้วยความเต็มใจจะยินยอมเมื่อมีเหตุอันควรไหม? บิดามารดามักจะต้องแสดงความมีเหตุผลดังกล่าวบ่อยครั้ง. เนื่องจากบุตรแต่ละคนแตกต่างกัน วิธีการต่าง ๆ ที่ใช้ได้ผลกับบุตรคนหนึ่งอาจไม่เหมาะจะนำมาใช้กับอีกคนหนึ่ง. ยิ่งกว่านั้น ขณะเด็กเติบโตขึ้น ความต้องการของเขาย่อมเปลี่ยนไป. เวลาที่กำหนดให้บุตรกลับบ้านตามเวลาควรปรับเปลี่ยนไหม? การศึกษาประจำครอบครัวจะได้รับประโยชน์จากการจัดรูปแบบหรือองค์ประกอบที่มีชีวิตชีวามากกว่าเดิมไหม? เมื่อบิดาหรือมารดามีปฏิกิริยาเกินเหตุในเรื่องการผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ ตัวเขาเต็มใจแสดงความถ่อมและจัดการเรื่องราวให้เป็นที่เรียบร้อยไหม? บิดามารดาที่ประพฤติตนเป็นฝ่ายยอมโดยวิธีดังกล่าวคงจะหลีกเลี่ยงการทำให้บุตรหงุดหงิดโดยไม่จำเป็น และทำให้เขาห่างเหินไปจากพระยะโฮวา.—เอเฟโซ 6:4.
8. ผู้ปกครองในประชาคมอาจนำหน้าอย่างไรในการปรับเปลี่ยนให้เป็นไปตามความจำเป็นของเขตทำงาน?
8 ผู้ปกครองทั้งหลายก็เช่นกัน จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเมื่อมีสภาพการณ์ใหม่เกิดขึ้น ในขณะเดียวกันก็ไม่อะลุ้มอล่วยกฎหมายของพระเจ้าที่เฉพาะเจาะจง. ในเรื่องการเอาใจใส่ดูแลงานประกาศนั้น คุณตื่นตัวต่อการเปลี่ยนแปลงในเขตทำงานไหม? ขณะที่แนวทางดำเนินชีวิตของผู้คนในท้องถิ่นเปลี่ยนไป บางทีอาจส่งเสริมการให้คำพยานตอนเย็น, การให้คำพยานริมถนน, หรือโดยการใช้โทรศัพท์. การปรับเปลี่ยนในหลาย ๆ ทางเช่นนั้นช่วยเราทำงานประกาศตามที่รับมอบหมายให้ลุล่วงอย่างได้ผลมากขึ้น. (มัดธาย 28:19, 20; 1 โกรินโธ 9:26) นอกจากนี้ เปาโลได้เน้นความสำคัญของการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับคนทุกชนิดเมื่อท่านทำงานประกาศเผยแพร่. พวกเราทำอย่างนั้นไหม อย่างเช่น โดยเรียนให้รู้จักศาสนาและวัฒนธรรมในท้องถิ่นนั้นพอประมาณเพื่อจะสามารถช่วยประชาชนได้?—1 โกรินโธ 9:19-23.
9. เหตุใดผู้ปกครองไม่ควรยืนกรานเสมอที่จะดำเนินการแก้ปัญหาอย่างที่เขาเคยทำในอดีต?
9 ขณะที่สมัยสุดท้ายเป็นยุควิกฤติมากขึ้นเรื่อย ๆ ผู้บำรุงเลี้ยงทั้งหลายอาจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนให้ทันต่อความสลับซับซ้อนอย่างน่าสนเท่ห์และความน่าเบื่อหน่ายของปัญหาต่าง ๆ ที่ฝูงแกะของพวกเขาเผชิญอยู่ในขณะนี้. (2 ติโมเธียว 3:1) ผู้ปกครองทั้งหลาย เดี๋ยวนี้ไม่ใช่เวลาที่ต้องใช้ความแข็งกร้าว! แน่นอน ผู้ปกครองจะไม่ยืนกรานที่จะจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ด้วยวิธีที่เขาเคยใช้ในอดีต หากวิธีการของตนใช้ไม่ได้ผล หรือถ้า “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” เห็นชอบที่จะออกคำแนะนำใหม่เกี่ยวกับเรื่องนั้น. (มัดธาย 24:45; เทียบกับท่านผู้ประกาศ 7:10; 1 โกรินโธ 7:31.) ผู้ปกครองที่สัตย์ซื่อคนหนึ่ง ด้วยความสุจริตใจพยายามช่วยพี่น้องหญิงที่ท้อแท้ซึ่งต้องการจริง ๆ ที่จะมีใครสักคนสนใจฟังเธอพูด. อย่างไรก็ดี เขาไม่ได้ถือว่า ความท้อแท้ของเธอเป็นเรื่องร้ายแรงนักหนา และได้เสนอทางแก้ปัญหารวบรัดเกินไป. ครั้นแล้วสมาคมว็อชเทาเวอร์ได้จัดพิมพ์คำแนะนำบางอย่างอาศัยหลักพระคัมภีร์ซึ่งเกี่ยวข้องกับปัญหาของเธอพอดี. ผู้ปกครองตั้งใจจะคุยกับเธออีก คราวนี้เขาได้ใช้คำแนะนำใหม่และแสดงความร่วมรู้สึกต่อสภาพอันยากลำบากของเธอ. (เทียบกับ 1 เธซะโลนิเก 5:14, 15.) ช่างเป็นตัวอย่างที่ดีของความมีเหตุผลเสียจริง ๆ!
10. (ก) ผู้ปกครองควรแสดงท่าทียินยอมโดยวิธีใดต่อเพื่อนผู้ปกครองด้วยกัน และต่อคณะผู้ปกครองโดยรวม? (ข) คณะผู้ปกครองควรมีทัศนะเช่นไรต่อคนเหล่านั้นที่แสดงความไม่มีเหตุผล?
10 อนึ่ง พวกผู้ปกครองจำต้องแสดงท่าทียินยอมต่อกันและกันด้วย. เมื่อคณะผู้ปกครองประชุมกัน สำคัญเพียงไรที่จะไม่มีผู้ปกครองเพียงคนเดียวครอบงำการดำเนินการ! (ลูกา 9:48) ผู้เป็นประธานการประชุมโดยเฉพาะต้องยับยั้งตัวเองเกี่ยวกับเรื่องนี้. และเมื่อผู้ปกครองหนึ่งหรือสองคนไม่เห็นพ้องกับการตัดสินของคณะผู้ปกครองทั้งหมด พวกเขาก็ไม่ควรยืนกรานให้ดำเนินเรื่องตามที่เขาต้องการ. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น ตราบใดที่ไม่มีการละเมิดหลักการในพระคัมภีร์ พวกเขาจะยินยอม ระลึกอยู่เสมอว่า ความมีเหตุผลเป็นสิ่งที่เรียกร้องจากผู้ปกครอง. (1 ติโมเธียว 3:2, 3) ในทางตรงกันข้าม คณะผู้ปกครองควรจดจำไว้เสมอว่า เปาโลได้ตำหนิประชาคมโกรินโธเพราะ ‘เขาได้อดทนกับคนไม่มีเหตุผล’ ผู้ซึ่งเสนอตัวเป็น “อัครสาวกเขื่อง ๆ.” (2 โกรินโธ 11:5, 19, 20) ฉะนั้น ผู้ปกครองควรเต็มใจจะแนะนำเพื่อนผู้ปกครองด้วยกันซึ่งประพฤติตนอย่างดื้อรั้น ไม่มีเหตุผล แต่ตัวเขาเองควรจะเป็นคนอ่อนโยนและกรุณาในการกระทำดังกล่าว.—ฆะลาเตีย 6:1.
ความมีเหตุผลในการใช้อำนาจ
11. มีความแตกต่างกันอย่างไรระหว่างวิธีที่ผู้นำศาสนาชาวยิวสมัยพระเยซูแสดงอำนาจ และวิธีที่พระเยซูทรงกระทำ?
11 เมื่อพระเยซูอยู่บนแผ่นดินโลก ความมีเหตุผลของพระองค์ปรากฏแจ้งในวิธีที่พระองค์ใช้อำนาจซึ่งพระเจ้าทรงประทานแก่พระองค์. พระองค์ต่างไปจากพวกผู้นำศาสนาสมัยนั้นเพียงไร! ให้เราพิจารณาตัวอย่างหนึ่ง. กฎหมายของพระเจ้าห้ามไม่ให้ทำการงานในวันซะบาโต แม้แต่จะเก็บฟืนก็ทำไม่ได้. (เอ็กโซโด 20:10; อาฤธโม 15:32-36) ผู้นำศาสนาต้องการควบคุมวิธีที่ประชาชนจะประยุกต์ใช้ข้อกฎหมายนั้น. ดังนั้น พวกเขาจึงถือเป็นหน้าที่ของตัวเองที่จะออกข้อบังคับว่า คนเราสามารถ ยกของอะไรได้จริง ๆ ในวันซะบาโต. เขาออกกฎดังนี้: น้ำหนักที่จะยกได้นั้นต้องหนักไม่เกินมะเดื่อแห้งสองผล. พวกเขาถึงกับออกข้อห้ามไม่ให้ใช้รองเท้าที่ตอกด้วยตะปู โดยอ้างว่า การยกน้ำหนักของตะปูนั้นถือว่าเป็นงาน! กล่าวกันว่า รวมทั้งหมดแล้วพวกอาจารย์ยิวเพิ่มกฎถึง 39 ข้อเข้ากับกฎหมายวันซะบาโตของพระเจ้า มิหนำยังได้เพิ่มกฎไม่รู้จบสิ้นเข้ากับกฎเหล่านั้น. ส่วนพระเยซู พระองค์ไม่ได้หาทางควบคุมประชาชนโดยการทำให้เขาอับอาย ด้วยการวางกฎเกณฑ์จำกัดไว้มากมาย หรือตั้งมาตรฐานที่เข้มงวดซึ่งไม่อาจปฏิบัติตามได้.—มัดธาย 23:2-4; โยฮัน 7:47-49.
12. เหตุใดเราสามารถพูดได้ว่า พระเยซูไม่เคยสั่นคลอนเมื่อมาถึงมาตรฐานอันชอบธรรมของพระยะโฮวา?
12 เช่นนั้นแล้ว เราจะทึกทักเอาว่า พระเยซูไม่ได้ยึดมาตรฐานอันชอบธรรมของพระเจ้าอย่างเหนียวแน่นไหม? พระองค์ทรงยึดมั่นแน่นอน! พระองค์ทรงเข้าใจว่า กฎหมายมีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อมวลมนุษย์ใส่ใจหลักการต่าง ๆ ที่อยู่เบื้องหลังกฎหมายเหล่านั้น. ในขณะที่พวกฟาริซายต่างก็มุ่งจะควบคุมประชาชนด้วยกฎเกณฑ์นับไม่ถ้วน ส่วนพระเยซูทรงหาทางเพื่อเข้าถึงหัวใจ. ยกตัวอย่าง พระองค์ทรงทราบเป็นอย่างดีว่า ไม่มีการยินยอมเมื่อมาถึงกฎหมายของพระเจ้าที่ว่า “การล่วงประเวณีนั้นจงหลีกหนีเสีย.” (1 โกรินโธ 6:18) ดังนั้น พระเยซูทรงเตือนประชาชนเกี่ยวกับแนวความคิดซึ่งอาจนำไปสู่การผิดศีลธรรม. (มัดธาย 5:28) การสอนดังกล่าวต้องใช้สติปัญญาและการหยั่งเห็นเข้าใจมากกว่าเพียงการตั้งกฎเกณฑ์อย่างเข้มงวดหรือตายตัว.
13. (ก) ทำไมผู้ปกครองพึงหลีกเว้นการตั้งกฎเกณฑ์เข้มงวดขึ้นมา? (ข) ในขอบเขตใดบ้างซึ่งเป็นเรื่องที่พึงแสดงความนับถือต่อสติรู้สึกผิดชอบของปัจเจกบุคคล?
13 ทุกวันนี้ พี่น้องชายที่มีความรับผิดชอบต่างก็ให้ความสนใจในการเข้าถึงหัวใจพอ ๆ กัน. ดังนั้น พวกเขาหลีกเลี่ยงการวางกฎตามความพอใจ ไม่ยืดหยุ่น หรือทำให้ทัศนะและความคิดเห็นส่วนตัวของเขาเป็นกฎหมาย. (เทียบกับดานิเอล 6:7-16.) บางครั้งบางคราว การเตือนด้วยความกรุณาในเรื่องต่าง ๆ เช่น การแต่งกายและการประดับตัวก็อาจจะเหมาะสม และเหมาะกับกาลสมัย แต่ผู้ปกครองอาจทำให้ชื่อเสียงของตนในฐานะที่เป็นคนมีเหตุผลเสียหายได้ หากเขาพูดพร่ำเรื่องนั้น ๆ หรือพยายามยัดเยียดสิ่งซึ่งสะท้อนค่านิยมของตนเองเป็นสำคัญ. อันที่จริง ทุกคนในประชาคมควรละเว้นความพยายามที่จะควบคุมผู้อื่น.—เทียบกับ 2 โกรินโธ 1:24; ฟิลิปปอย 2:12.
14. โดยวิธีใดพระเยซูทรงแสดงว่า พระองค์มีเหตุผลเกี่ยวเนื่องกับสิ่งที่ทรงคาดหมายจากผู้อื่น?
14 ผู้ปกครองอาจต้องการสำรวจตัวเองอีกด้านหนึ่งด้วย เช่น ‘ผมมีเหตุผลในสิ่งที่ผมคาดหมายจากผู้อื่นไหม?’ พระเยซูทรงทำเช่นนั้นจริง. พระองค์ทรงแสดงแก่พวกสาวกของพระองค์อย่างเสมอต้นเสมอปลายว่าพระองค์ไม่ทรงคาดหมายมากไปกว่าความพยายามสุดจิตวิญญาณของเขาและที่พระองค์ทรงเห็นคุณค่าความพยายามเหล่านั้นเป็นอย่างมาก. พระองค์กล่าวชมหญิงม่ายที่สละเงินเหรียญค่าเล็กน้อยที่นางมีอยู่. (มาระโก 12:42, 43) พระองค์ทรงตำหนิสาวกของพระองค์เมื่อพวกเขาวิจารณ์ของราคาแพงที่มาเรียได้บริจาค โดยตรัสว่า “อย่าว่าเขาเลย . . . ซึ่งผู้หญิงนี้ได้กระทำก็เป็นการสุดกำลังของเขา.” (มาระโก 14:6, 8) พระองค์ทรงมีเหตุผลแม้ในยามที่พวกสาวกได้ทำให้พระองค์เสียพระทัยก็ตาม. ยกตัวอย่าง แม้นว่าพระองค์ขอร้องอัครสาวกคนสนิททั้งสามคนให้ระแวดระวังคอยเฝ้าอยู่กับพระองค์ในคืนที่พระองค์ถูกจับ แต่เขาทำให้พระองค์ผิดหวังโดยหลับไปครั้งแล้วครั้งเล่า กระนั้น พระองค์ทรงกล่าวด้วยความเห็นอกเห็นใจดังนี้: “จิตใจพร้อมแล้วก็จริง, แต่เนื้อหนังยังอ่อนกำลัง.”—มาระโก 14:34-38.
15, 16. (ก) เหตุใดพวกผู้ปกครองควรระมัดระวังไม่กดดันหรือขู่เข็ญฝูงแกะ? (ข) พี่น้องหญิงที่สัตย์ซื่อคนหนึ่งมาถึงขั้นปรับตัวอย่างไรในสิ่งที่เธอคาดหมายจากคนอื่น?
15 จริงอยู่ พระเยซูทรงสนับสนุนเหล่าสาวกของพระองค์ให้ “บากบั่นอย่างแข็งขัน.” (ลูกา 13:24, ล.ม.) แต่พระองค์ไม่เคยคาดคั้นให้พวกเขาทำเช่นนั้น! พระองค์ทรงเป็นแรงบันดาลใจให้กับพวกเขา, ทรงวางตัวอย่าง, ทรงนำหน้า, และขวนขวายหาทางเข้าถึงหัวใจของเขา. พระองค์ทรงวางใจในฤทธิ์อำนาจแห่งพระวิญญาณของพระยะโฮวาที่จะกระทำนอกเหนือจากนั้น. พวกผู้ปกครองสมัยนี้ก็เช่นเดียวกัน ควรสนับสนุนแกะทั้งหลายให้รับใช้พระยะโฮวาสิ้นสุดหัวใจ แต่ก็ควรเลี่ยงไม่ข่มขู่จนเขาเกิดความรู้สึกว่าทำผิดหรืออับอาย โดยแสดงนัยว่า สิ่งที่พวกเขาทำเพื่อรับใช้พระยะโฮวาอยู่นั้นดูเหมือนยังไม่พอหรือยังไม่เป็นที่ยอมรับ. ท่าทีอันส่อถึงความเข้มงวดกวดขันอาจทำให้คนเหล่านั้นที่ทำสุดความสามารถอยู่แล้วเสียกำลังใจก็ได้. โดยเร่งเร้าให้ “ทำมากขึ้น, ทำมากขึ้น, ทำมากกว่านี้!” น่าเศร้าเพียงใดหากผู้ปกครองได้ฉายาว่าเป็นคน “เอาใจยาก”—ช่างต่างกันลิบลับกับความมีเหตุผล!—1 เปโตร 2:18.
16 พวกเราทุกคนควรเป็นคนมีเหตุผลในสิ่งซึ่งเราเองคาดหมายจากผู้อื่น! พี่น้องหญิงคนหนึ่ง หลังจากเธอกับสามีได้เลิกงานมิชชันนารีในต่างแดนเพื่อดูแลมารดาของเธอที่เจ็บป่วย เธอเขียนว่า “สมัยนี้ยากลำบากจริง ๆ สำหรับพวกเราผู้ประกาศในประชาคมที่นี่. เนื่องจากเคยรับใช้ในงานดูแลหมวดและภาค เราถูกปิดกั้นไว้จากความกดดันมากมายเช่นนั้น เราได้มารู้ในทันทีทันใดและด้วยความปวดร้าวใจเกี่ยวกับความกดดันเหล่านี้. ดิฉันเคยรำพึงกับตัวเอง เช่น ‘ทำไมนะซิสเตอร์คนนี้ไม่เสนอหนังสือตามคำชี้แนะสำหรับเดือนนี้? เขาไม่ได้อ่านพระราชกิจ หรือ?’ แต่ตอนนี้ดิฉันเข้าใจเหตุผลแล้ว. สำหรับบางคนที่จะออกประกาศได้ก็ยากอยู่แล้ว.” เป็นการดีกว่าสักเพียงไรที่จะพูดชมพี่น้องของเราในสิ่งที่พวกเขากระทำ แทนที่จะตัดสินเขาเพราะสิ่งที่เขาไม่ทำ!
17. โดยวิธีใดพระเยซูทรงวางตัวอย่างสำหรับเราเกี่ยวด้วยความมีเหตุผล?
17 ขอพิจารณาตัวอย่างสุดท้ายเกี่ยวด้วยวิธีที่พระเยซูทรงใช้อำนาจของพระองค์อย่างมีเหตุผล. เฉกเช่นพระบิดาของพระองค์ พระเยซูไม่หวงอำนาจของพระองค์. พระองค์ก็เช่นกันทรงเป็นผู้มอบอำนาจ ทรงแต่งตั้งจำพวกทาสสัตย์ซื่อของพระองค์ให้เอาใจใส่ดูแล “ทรัพย์สมบัติทั้งหมดของนาย” บนแผ่นดินโลก. (มัดธาย 24:45-47, ล.ม.) และพระองค์ไม่ประหวั่นที่จะฟังความคิดเห็นของผู้อื่น. บ่อยครั้งพระองค์ถามผู้ฟังว่า “ท่านคิดเห็นอย่างไร?” (มัดธาย 17:25; 18:12; 21:28; 22:42) สมควรที่จะเป็นเช่นนั้นท่ามกลางบรรดาสาวกของพระคริสต์สมัยนี้. ไม่ว่าระดับอำนาจจะมากน้อยแค่ไหนก็ตามเขาควรเต็มใจฟัง. บิดามารดาทั้งหลาย จงยอมฟัง! สามีทั้งหลาย, จงยอมฟัง! ผู้ปกครองทั้งหลาย จงยอมฟัง!
18. (ก) เราอาจทราบได้อย่างไรว่าเรามีชื่อเสียงดีในด้านความมีเหตุผลหรือไม่? (ข) พวกเราทุกคนน่าจะตั้งใจจะทำอะไร?
18 เป็นที่แจ่มชัดแล้วว่า พวกเราแต่ละคนต้องการ “มีชื่อเสียงว่าเป็นคนมีเหตุผล.” (ฟิลิปปอย 4:5, ฟิลลิปส์) แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเรามีชื่อเสียงดีเช่นนั้นหรือไม่? ตอนที่พระเยซูทรงอยากรู้ว่า ผู้คนคิดอย่างไรเกี่ยวกับพระองค์ พระองค์ได้ถามสหายสนิทซึ่งพระองค์ไว้ใจ. (มัดธาย 16:13) ไฉนไม่เอาอย่างพระองค์ล่ะ? คุณอาจถามบางคนซึ่งคุณไว้ใจว่าจะให้คำตอบอย่างตรงไปตรงมาว่า คุณได้ชื่อว่าเป็นคนมีเหตุผล เป็นคนยินยอมหรือไม่. แน่นอน เราทุกคนสามารถจะทำได้อีกมากอันเป็นการเลียนแบบอย่างสมบูรณ์ของพระเยซูเกี่ยวด้วยความมีเหตุผล! โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเรามีอำนาจเหนือคนอื่น จงให้เราติดตามตัวอย่างของพระยะโฮวาและพระเยซูเสมอ ด้วยการใช้อำนาจอย่างมีเหตุผล พร้อมจะให้อภัย, ดัดแปลงได้, หรือยินยอมเมื่อเหมาะสม. จริง ๆ แล้ว ขอให้พวกเราทุกคนพยายามเป็น “คนมีเหตุผล”!—ติโต 3:2.
[เชิงอรรถ]
a หนังสือคำศัพท์ในคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ ให้ข้อคิดเห็นดังนี้: “บุคคลซึ่งเป็นเอพิไอเคส [มีเหตุผล] ตระหนักว่า มีวาระที่สิ่งหนึ่งถูกต้องตามกฎหมายโดยครบถ้วน และกระนั้น ในทางศีลธรรมแล้วเป็นสิ่งผิดอย่างสิ้นเชิง. บุคคลผู้ซึ่งเป็นเอพิไอเคส รู้ว่า เมื่อไรควรผ่อนผันกฎหมายภายใต้การบังคับจากอำนาจบางอย่างซึ่งเหนือกว่าและสำคัญกว่ากฎหมาย.”
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ เพราะเหตุใดคริสเตียนน่าจะต้องการเป็นคนมีเหตุผล?
▫ โดยวิธีใดพวกผู้ปกครองจะเลียนแบบพระเยซูเกี่ยวกับการพร้อมจะให้อภัย?
▫ เหตุใดพวกเราควรบากบั่นจะปรับเปลี่ยนอย่างที่พระเยซูได้กระทำ?
▫ เราจะแสดงความมีเหตุผลอย่างไรเกี่ยวด้วยวิธีที่เราใช้อำนาจ?
▫ เราอาจตรวจสอบตัวเองอย่างไรว่า เราเป็นคนมีเหตุผลจริง ๆ หรือไม่?
[รูปภาพหน้า 15]
พระเยซูทรงเต็มพระทัยให้อภัยเปโตรที่กลับใจ
[รูปภาพหน้า 16]
เมื่อผู้หญิงคนหนึ่งแสดงความเชื่อมากพระเยซูทรงเห็นว่าไม่ใช่เวลาที่จะบังคับให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ทั่วไป
[รูปภาพหน้า 18]
บิดามารดา จงยอมฟัง!
[รูปภาพหน้า 18]
สามีทั้งหลาย จงยอมฟัง!
[รูปภาพหน้า 18]
ผู้ปกครองทั้งหลาย จงยอมฟัง!