บทความศึกษา 28
อย่าเป็นต้นเหตุให้มีการแข่งขัน แต่ช่วยกันทำให้ประชาคมมีสันติสุข
“อย่าถือว่าตัวเองสำคัญกว่าคนอื่น อย่ายั่วยุให้มีการแข่งขันกัน และอย่าอิจฉากัน”—กท. 5:26
เพลง 101 ทำงานร่วมกันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
ใจความสำคัญa
1. จะเกิดอะไรขึ้นถ้าคนเราพยายามจะแข่งขันกัน?
ในโลกทุกวันนี้หลายคนชอบแข่งขัน และทำให้ตัวเองดูดีกว่าคนอื่นโดยที่ไม่สนใจว่าคนอื่นจะเป็นยังไง เช่น นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ตัวเองดีกว่าคู่แข่งโดยไม่สนใจว่าคนอื่นจะเดือดร้อนยังไง นักกีฬาบางคนตั้งใจทำให้อีกฝ่ายเจ็บเพื่อให้ตัวเองชนะ นักเรียนโกงข้อสอบเพื่อจะเข้ามหาวิทยาลัยดัง ๆ ได้ เราที่เป็นคริสเตียนรู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องผิดและเป็น “การกระทำที่เกิดจากความต้องการของร่างกายที่มีบาป” (กท. 5:19-21) แต่เป็นไปได้ไหมที่ผู้รับใช้พระเจ้าจะเป็นคนชอบแข่งขันโดยไม่รู้ตัว และทำให้คนอื่นมีนิสัยแบบนั้นไปด้วย? เป็นเรื่องสำคัญมากที่เราจะคิดเรื่องนี้ เพราะถ้ามีคนชอบแข่งขันก็จะทำให้ประชาคมไม่เป็นหนึ่งเดียวกัน
2. เราจะคุยอะไรกันในบทความนี้?
2 ในบทความนี้เราจะมาดูว่าอะไรที่อาจทำให้เราอยากแข่งกับพี่น้องคนอื่น และเราจะดูตัวอย่างของผู้รับใช้ในอดีตที่ไม่ได้พยายามทำให้ตัวเองดีกว่าคนอื่น แต่ตอนนี้ให้เรามาดูก่อนว่าเราจะรู้ได้ยังไงว่าเราชอบแข่งกับคนอื่นหรือเปล่า
ตรวจดูตัวเอง
3. เราควรถามตัวเองว่ายังไงบ้าง?
3 เราน่าจะตรวจดูตัวเองเป็นระยะ ๆ เราอาจจะถามตัวเองว่า ‘ฉันจะมีความสุขก็ต่อเมื่อฉันรู้สึกว่าตัวเองดีกว่าคนอื่นไหม? ฉันขยันรับใช้พระเจ้าและทำงานในประชาคมเพราะอยากเป็นคนเก่งที่สุดหรืออย่างน้อยก็ดูเก่งกว่าพี่น้องบางคนไหม หรือฉันทำอย่างนั้นเพราะอยากให้สิ่งที่ดีที่สุดกับพระยะโฮวา?’ ทำไมเราต้องถามตัวเองแบบนี้ ให้เรามาดูว่าคัมภีร์ไบเบิลบอกยังไง
4. อย่างที่บอกในกาลาเทีย 6:3, 4 ทำไมเราไม่ควรเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น?
4 คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าเราต้องไม่เปรียบเทียบกับคนอื่น (อ่านกาลาเทีย 6:3, 4) เพราะอะไร? เพราะถ้าเราเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นแล้วเห็นว่าตัวเองดีกว่าเราอาจจะเป็นคนหยิ่งได้ แต่ถ้าเห็นว่าเขาดีกว่าเรา เราก็อาจจะท้อใจ ไม่ว่าจะอย่างไหนการเปรียบเทียบแบบนี้ไม่มีเหตุผล (รม. 12:3) แคทรีน่าbจากกรีซบอกว่า “เมื่อก่อนฉันชอบเทียบตัวเองกับคนที่สวยกว่า รับใช้เก่งกว่า และเข้ากับคนอื่นได้ดีกว่า ฉันเลยรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า” เราต้องจำไว้ว่าพระยะโฮวาชักนำเราให้มารู้จักพระองค์ ไม่ใช่เพราะเราหน้าตาดี พูดเก่ง หรือใคร ๆ ก็ชอบ แต่เพราะเรารักพระองค์และเต็มใจเชื่อฟังลูกของพระองค์—ยน. 6:44; 1 คร. 1:26-31
5. คุณเรียนอะไรได้จากประสบการณ์ของพี่น้องที่ชื่อฮยุน?
5 อีกคำถามที่เราต้องถามตัวเองก็คือ ‘คนอื่นมองว่าฉันเป็นคนสร้างสันติไหมหรือเป็นคนชอบมีปัญหากับคนอื่น?’ ให้เรามาดูประสบการณ์ของผู้ดูแลคนหนึ่งที่ชื่อฮยุนที่อยู่เกาหลีใต้ เขาชอบมองพี่น้องที่มีสิทธิพิเศษในประชาคมว่าเป็นคู่แข่งของเขา ฮยุนบอกว่า “ผมชอบพูดไม่ดีเกี่ยวกับพวกเขา และพอพวกเขาพูดอะไรผมก็ไม่ค่อยฟัง” ผลเป็นยังไง? ฮยุนยอมรับว่า “ผมทำให้ประชาคมแตกแยก” ต่อมาเพื่อนของฮยุนได้ช่วยเขาให้รู้ตัวว่าเขากำลังมีปัญหา ฮยุนเลยพยายามเปลี่ยนตัวเอง ตอนนี้เขาเป็นผู้ดูแลที่ดีมาก ถ้าเรารู้สึกว่าตัวเองชอบแข่งขันกับคนอื่นและไม่สร้างสันติ เราต้องรีบเปลี่ยน
อย่าคิดว่าตัวเองสำคัญและอย่าอิจฉาคนอื่น
6. จากกาลาเทีย 5:26 อะไรอาจทำให้เราอยากแข่งกับคนอื่น?
6 อ่านกาลาเทีย 5:26 อะไรที่อาจทำให้เราอยากแข่งกับคนอื่น? อย่างหนึ่งก็คือ การที่เราคิดว่าตัวเองสำคัญกว่าคนอื่น คนที่คิดว่าตัวเองสำคัญกว่าคนอื่นเป็นคนหยิ่งและเห็นแก่ตัว อีกอย่างที่ทำให้เราอยากแข่งกับคนอื่นก็คือความอิจฉา คนที่อิจฉาไม่ใช่แค่อยากได้สิ่งที่คนอื่นมีเท่านั้น แต่อยากให้คนนั้นสูญเสียสิ่งที่เขามีด้วย จริง ๆ แล้วถ้าเราอิจฉาเขาก็แสดงว่าเราเกลียดเขา เราคงไม่อยากมีนิสัยทั้งสองอย่างนี้แน่ ๆ
7. ความอิจฉาและการคิดว่าตัวเองสำคัญกว่าคนอื่นทำให้เกิดผลเสียอะไร? ขอยกตัวอย่าง
7 ความหยิ่งและการคิดว่าตัวเองสำคัญกว่าคนอื่นอาจจะเหมือนกับเศษสิ่งสกปรกที่อยู่ในถังน้ำมันของเครื่องบิน ถึงตอนแรกเครื่องบินจะบินขึ้นไปได้ แต่ไม่นานเศษสิ่งสกปรกก็จะอุดตันในสายน้ำมันและทำให้เครื่องยนต์สูญเสียกำลัง และในที่สุดก็จะตกลงมา เรื่องนี้ก็เหมือนคนที่อิจฉาคนอื่นและรับใช้พระเจ้าเพราะอยากเป็นคนสำคัญ ตอนแรกเขาอาจจะยังรับใช้พระยะโฮวาได้ แต่ในที่สุดเขาจะเลิกรับใช้พระองค์ (สภษ. 16:18) เขาไม่ได้แค่ทำร้ายตัวเองเท่านั้นแต่ทำร้ายคนอื่นด้วย เราต้องทำยังไงเพื่อจะไม่เป็นคนที่อิจฉาหรือคิดว่าตัวเองสำคัญกว่าคนอื่น?
8. เราต้องทำอะไรเพื่อจะไม่เป็นคนที่คิดว่าตัวเองสำคัญกว่าคนอื่น?
8 เราจะไม่คิดว่าตัวเองเป็นคนสำคัญกว่าคนอื่นถ้าเราทำตามคำแนะนำของเปาโลที่ให้กับพี่น้องในเมืองฟีลิปปีว่า “อย่าทำอะไรด้วยน้ำใจชิงดีชิงเด่นหรือถือว่าตัวเองสำคัญ แต่ให้ถ่อมตัวและมองว่าคนอื่นดีกว่าตัวเอง” (ฟป. 2:3) ถ้าเรายอมรับว่าคนอื่นดีกว่าเรา เราจะไม่พยายามไปแข่งกับพี่น้องที่อาจจะมีความสามารถหรือพรสวรรค์อะไรบางอย่างมากกว่าเรา แต่เราจะมีความสุขที่เห็นว่าเขาใช้ความสามารถที่มีเพื่อรับใช้พระยะโฮวา และถ้าพี่น้องที่มีความสามารถคนนั้นทำตามคำแนะนำของเปาโลในเรื่องนี้ เขาก็จะเห็นว่าเรามีส่วนดีเหมือนกัน ถ้าเราทุกคนพยายามทำอย่างนี้ เราก็จะช่วยให้ประชาคมมีสันติสุขและเป็นหนึ่งเดียวกัน
9. เราต้องทำอะไรเพื่อจะไม่อิจฉาคนอื่น?
9 เราต้องเป็นคนเจียมตัวเพื่อจะไม่อิจฉาคนอื่น เราต้องยอมรับว่าเราไม่ได้เก่งไปทุกเรื่อง ถ้าเราเจียมตัวเราจะไม่พยายามทำให้คนอื่นเห็นว่าเราดีกว่าหรือมีความสามารถมากกว่าคนอื่น แต่เราจะพยายามเรียนจากคนที่เก่งกว่าเรา ตัวอย่างเช่น ถ้ามีพี่น้องคนหนึ่งที่บรรยายเก่งมาก เราอาจจะถามเขาว่าเขาเตรียมคำบรรยายยังไง และถ้ามีพี่น้องหญิงที่ทำกับข้าวเก่ง เราอาจจะถามว่าเขามีเคล็ดลับอะไร หรือถ้าวัยรุ่นคนไหนไม่ค่อยมีเพื่อนก็อาจจะถามคนที่มีเพื่อนเยอะ ๆ ว่าต้องทำยังไง ถ้าเราทำอย่างนี้เราจะไม่อิจฉาคนอื่น แต่จะปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น
เรียนจากตัวอย่างในคัมภีร์ไบเบิล
10. กิเดโอนเจอปัญหาอะไร?
10 ให้เรามาดูว่าเกิดอะไรขึ้นระหว่างกิเดโอนจากตระกูลมนัสเสห์กับคนจากตระกูลเอฟราอิม พระยะโฮวาเพิ่งช่วยกิเดโอนกับคนของเขาอีก 300 คนให้ชนะสงคราม ซึ่งพวกเขาอาจจะอวดคนอื่นก็ได้ หลังจากนั้น มีคนจากตระกูลเอฟราอิมมาหากิเดโอน พวกเขาไม่ได้มาชมแต่มาต่อว่ากิเดโอนเพราะในตอนนั้นกิเดโอนไม่ยอมชวนพวกเขาไปสู้รบในสงครามด้วย คนในตระกูลเอฟราอิมห่วงแต่ศักดิ์ศรีของตระกูลตัวเองโดยไม่ได้สนใจเรื่องที่สำคัญกว่า จริง ๆ แล้วพวกเขาน่าจะดีใจที่กิเดโอนปกป้องประชาชนของพระยะโฮวาและทำให้พระองค์ได้รับการยกย่องสรรเสริญ—วนฉ. 8:1
11. กิเดโอนพูดอะไรกับคนในตระกูลเอฟราอิม?
11 กิเดโอนพูดกับคนในตระกูลเอฟราอิมด้วยความถ่อมว่า “สิ่งที่ผมทำจะเทียบกับที่พวกคุณทำได้หรือ?” จากนั้น เขาก็พูดถึงตอนที่พระยะโฮวาเคยอวยพรคนในตระกูลเอฟราอิมให้ทำงานใหญ่ได้สำเร็จ “พอกิเดโอนพูดแบบนี้ พวกเขาก็อารมณ์เย็นลง” (วนฉ. 8:2, 3) กิเดโอนถ่อมและไม่ห่วงศักดิ์ศรีของตัวเอง แต่มองว่าสันติสุขเป็นเรื่องสำคัญกว่า
12. เราเรียนอะไรได้จากตัวอย่างของกิเดโอนกับคนในตระกูลเอฟราอิม?
12 เราเรียนอะไรได้จากเรื่องนี้? สิ่งที่ตระกูลเอฟราอิมทำสอนเราว่า เราควรให้ความสำคัญกับการยกย่องพระยะโฮวาไม่ใช่ให้คนอื่นมายกย่องเรา หัวหน้าครอบครัวและผู้ดูแลก็เรียนได้จากตัวอย่างของกิเดโอนด้วย ถ้ามีใครรู้สึกไม่พอใจกับสิ่งที่เราทำ ถึงเรารู้ว่าสิ่งที่เขาคิดไม่ถูกต้อง เราน่าจะพยายามเข้าใจว่าทำไมเขาถึงรู้สึกอย่างนั้นและก็หาจุดดีในตัวเขาเพื่อจะชมเขา การทำอย่างนี้ไม่ง่ายเพราะต้องถ่อมมาก ๆ แต่ถึงยังไงสันติสุขก็สำคัญกว่าศักดิ์ศรีของเรา
13. ฮันนาห์เจอปัญหาอะไร และเธอรับมือยังไง?
13 ให้เรามาดูตัวอย่างของฮันนาห์ด้วย ฮันนาห์เป็นภรรยาของเอลคานาห์ แต่เอลคานาห์มีภรรยาอีกคนหนึ่งด้วยชื่อเปนินนาห์ เอลคานาห์รักฮันนาห์มากกว่าเปนินนาห์ “เปนินนาห์มีลูกหลายคนแต่ฮันนาห์ไม่มีลูกเลย” นี่ทำให้เปนินนาห์ “เอาแต่เยาะเย้ยฮันนาห์” ฮันนาห์รู้สึกยังไง? “ฮันนาห์ทุกข์ใจมาก . . . จนเธอร้องไห้และไม่ยอมกินอาหาร” (1 ซม. 1:2, 6, 7) แต่ไม่มีที่ไหนในคัมภีร์ไบเบิลที่บอกว่าฮันนาห์พยายามเอาคืนหรือแก้แค้นเปนินนาห์ ฮันนาห์ระบายความรู้สึกกับพระยะโฮวา ฝากเรื่องนี้ไว้กับพระองค์และมั่นใจว่าพระองค์จะช่วยเธอ ในคัมภีร์ไบเบิลไม่ได้บอกว่าเปนินนาห์ทำตัวดีขึ้นไหม แต่เรารู้ว่าฮันนาห์สงบใจได้ “และหน้าตาก็ไม่เศร้าอีกต่อไป”—1 ซม. 1:10, 18
14. เราเรียนอะไรได้จากตัวอย่างของฮันนาห์?
14 เราเรียนอะไรได้จากตัวอย่างของฮันนาห์? ถ้ามีคนพยายามแข่งกับคุณ ขอให้จำไว้ว่าคุณควบคุมสถานการณ์ได้ คุณไม่จำเป็นต้องไปแข่งกับเขา แทนที่จะทำชั่วตอบแทนชั่ว ให้คุณพยายามทำดีกับเขา (รม. 12:17-21) แต่ถ้าคุณพยายามทำดีแล้วเขาก็ยังไม่ยอมเปลี่ยน อย่างน้อยคุณก็จะสงบใจและมีความสุข
15. อปอลโลกับเปาโลมีอะไรที่คล้ายกัน?
15 ตอนนี้ให้เรามาดูตัวอย่างของอปอลโลกับอัครสาวกเปาโล ใคร ๆ ก็รู้จักสองคนนี้ ทั้งสองคนมีความรู้เรื่องพระคัมภีร์เป็นอย่างดีและสอนเก่ง และยังช่วยหลายคนให้มาเป็นสาวกด้วย ถึงจะเป็นอย่างนั้นพวกเขาไม่เคยอิจฉากันและไม่ได้มองว่าอีกฝ่ายเป็นคู่แข่ง
16. อปอลโลเป็นคนยังไง?
16 อปอลโล “เกิดที่อเล็กซานเดรีย” ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการศึกษาในสมัยนั้น เขาเป็นคน “มีพรสวรรค์ในการพูด และรู้เรื่องพระคัมภีร์เป็นอย่างดี” (กจ. 18:24) ตอนที่อปอลโลรับใช้อยู่ที่โครินธ์ มีพี่น้องหลายคนแสดงออกอย่างชัดเจนว่าเขาชอบอปอลโลมากกว่าคนอื่นรวมถึงเปาโลด้วย (1 คร. 1:12, 13) แต่อปอลโลเห็นด้วยกับความคิดแบบนั้นไหม? เรารู้ว่าเขาไม่ได้ทำแบบนั้น เพราะหลังจากนั้นเปาโลยังคะยั้นคะยอให้อปอลโลกลับไปที่เมืองโครินธ์อีก เปาโลคงไม่ทำอย่างนั้นถ้าเขารู้สึกว่าอปอลโลทำให้ประชาคมโครินธ์แตกแยก (1 คร. 16:12) นี่แสดงว่าอปอลโลใช้พรสวรรค์ของเขาในทางที่ดีโดยการประกาศข่าวดีและให้กำลังใจพี่น้อง เรามั่นใจว่าอปอลโลเป็นคนถ่อมด้วย อย่างเช่น ตอนที่อะควิลลากับปริสสิลลา “อธิบายให้เขาเข้าใจแนวทางของพระเจ้าอย่างถูกต้องยิ่งขึ้น” ไม่มีที่ไหนในคัมภีร์ไบเบิลเลยที่บอกว่าอปอลโลโมโห—กจ. 18:24-28
17. เปาโลทำยังไงเพื่อช่วยให้พี่น้องมีสันติสุข?
17 เปาโลรู้ว่าอปอลโลมีอะไรดี ๆ หลายอย่าง แต่เขาไม่ได้กลัวว่าคนอื่นจะมองว่าอปอลโลเก่งกว่าเขา พอเราได้อ่านคำแนะนำของเปาโลที่เขียนให้กับพี่น้องที่โครินธ์ เราก็เห็นได้ว่าเปาโลเป็นคนถ่อมตัวและมีเหตุผลจริง ๆ แทนที่จะภูมิใจตอนที่คนอื่นพูดว่า “ฉันเป็นศิษย์เปาโล” เขาบอกคนอื่นให้ยกย่องพระยะโฮวาและพระเยซู—1 คร. 3:3-6
18. จาก 1 โครินธ์ 4:6, 7 เราเรียนอะไรได้จากตัวอย่างของอปอลโลและเปาโล?
18 เราเรียนอะไรได้จากตัวอย่างของอปอลโลและเปาโล? เราอาจจะรับใช้พระยะโฮวามาเยอะมากและช่วยหลายคนให้รับบัพติศมา แต่เราต้องจำไว้ว่าที่เราทำอย่างนั้นได้เป็นเพราะพระยะโฮวาช่วยเรา อีกอย่างที่เราเรียนได้จากอปอลโลและเปาโลก็คือ ยิ่งเรามีหน้าที่รับผิดชอบหลายอย่างในประชาคม เรายิ่งมีโอกาสที่จะช่วยให้ประชาคมมีสันติสุข เรารู้สึกขอบคุณผู้ดูแลและผู้ช่วยงานรับใช้จริง ๆ ที่ช่วยให้ประชาคมมีสันติสุขและเป็นหนึ่งเดียวกัน พวกเขาให้คำแนะนำจากคัมภีร์ไบเบิล และไม่พยายามให้พี่น้องมาสนใจที่ตัวเขา แต่พวกเขาช่วยคนอื่นให้ติดตามพระเยซู—อ่าน 1 โครินธ์ 4:6, 7
19. เราแต่ละคนควรทำอะไร? (ดูกรอบ “อย่าเป็นต้นเหตุให้มีการแข่งขัน” ด้วย)
19 เราแต่ละคนมีพรสวรรค์และความสามารถไม่เหมือนกัน ไม่ว่าเราจะมีความสามารถแบบไหนก็ให้เราใช้ความสามารถที่เรามี “เพื่อรับใช้กัน” (1 ปต. 4:10) เราอาจจะรู้สึกว่าสิ่งที่เราทำได้อาจจะดูเล็กน้อยไม่ค่อยสำคัญ แต่เหมือนกับรอยเย็บเล็ก ๆ ของตะเข็บที่ทำให้เป็นเสื้อผ้าที่สวยงามได้ สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เราทำก็ช่วยให้ประชาคมเป็นหนึ่งเดียวกันได้เหมือนกัน ขอให้เราแต่ละคนพยายามที่จะไม่แข่งขันกัน แต่ให้เราตั้งใจที่จะพยายามทำทุกอย่างที่เราทำได้เพื่อช่วยให้ประชาคมมีสันติสุขและเป็นหนึ่งเดียวกัน—อฟ. 4:3
เพลง 80 “ลองชิมดู แล้วจะรู้ว่าพระยะโฮวาดีขนาดไหน”
a แจกันที่มีรอยร้าวแค่นิดเดียวก็ทำให้แตกได้ง่าย ในประชาคมก็เหมือนกัน ถ้ามีคนที่ชอบแข่งขัน ประชาคมก็จะแตกแยกและไม่เป็นหนึ่งเดียวกัน แล้วเราก็ไม่สามารถนมัสการพระยะโฮวาได้อย่างสงบสุข ในบทความนี้เราจะมาคุยกันว่าทำไมเราไม่ควรแข่งขันกัน และเราต้องทำอะไรเพื่อช่วยให้ประชาคมมีสันติสุข
b ชื่อในบทความนี้เป็นชื่อสมมุติ