จงยืนหยัดอย่างครบถ้วนด้วยความเชื่อมั่นอันหนักแน่น
“[เขา] ทุ่มเทตนเองเสมอเพื่อท่านทั้งหลายในคำอธิษฐานของเขา เพื่อในที่สุดท่านทั้งหลายจะยืนหยัดอย่างครบถ้วนและด้วยความเชื่อมั่นอันหนักแน่นในพระทัยประสงค์ทุกประการของพระเจ้า.”—โกโลซาย 4:12, ล.ม.
1, 2. (ก) คนภายนอกสังเกตเห็นอะไรเกี่ยวกับคริสเตียนในยุคแรก? (ข) พระธรรมโกโลซายสะท้อนให้เห็นถึงความสนใจอันเปี่ยมด้วยความรักอย่างไร?
สาวกของพระเยซูสนใจอย่างยิ่งในเพื่อนผู้นมัสการด้วยกัน. เทอร์ทูลเลียน (นักเขียนแห่งศตวรรษที่สองและสามสากลศักราช) เล่าถึงความกรุณาที่พวกเขาได้แสดงต่อลูกกำพร้า, คนยากจน, และผู้สูงอายุ. หลักฐานเกี่ยวกับความรักในภาคปฏิบัติดังกล่าวทำให้ผู้ไม่มีความเชื่อหลายคนประทับใจมากจนบางคนกล่าวถึงคริสเตียนว่า ‘ดูเถอะ พวกเขารักกันสักเพียงไร.’
2 พระธรรมโกโลซายสะท้อนให้เห็นความสนใจอันเปี่ยมด้วยความรักเช่นนั้นที่อัครสาวกเปาโลและเอปาฟรัสสหายของท่านมีต่อพี่น้องในโกโลซาย. เปาโลเขียนถึงพวกเขาว่า เอปาฟรัส “ทุ่มเทตนเองเสมอเพื่อท่านทั้งหลายในคำอธิษฐานของเขา เพื่อในที่สุดท่านทั้งหลายจะยืนหยัดอย่างครบถ้วนและด้วยความเชื่อมั่นอันหนักแน่นในพระทัยประสงค์ทุกประการของพระเจ้า.” ในปี 2001 นี้ข้อพระคัมภีร์ประจำปีสำหรับพยานพระยะโฮวามีข้อความซึ่งยกมาจากโกโลซาย 4:12 (ล.ม.) ที่ว่า “ยืนหยัดอย่างครบถ้วนและด้วยความเชื่อมั่นอันหนักแน่นในพระทัยประสงค์ทุกประการของพระเจ้า.”
3. เอปาฟรัสอธิษฐานขออะไรสองประการ?
3 คุณจะเห็นได้ว่าคำอธิษฐานของเอปาฟรัสเพื่อผู้ที่เขารักมีสองแง่มุม: (1) เพื่อ ‘ในที่สุดพวกเขาจะยืนหยัดอย่างครบถ้วน’ และ (2) เพื่อพวกเขาจะยืนหยัด “ด้วยความเชื่อมั่นอันหนักแน่นในพระทัยประสงค์ทุกประการของพระเจ้า.” ข้อความนี้มีบันทึกไว้ในพระคัมภีร์เพื่อประโยชน์ของเรา. ดังนั้น จงถามตัวคุณเองว่า ‘ฉันเองจำเป็นต้องทำอะไรเพื่อในที่สุดจะสามารถยืนหยัดอย่างครบถ้วนและด้วยความเชื่อมั่นอันหนักแน่นในพระทัยประสงค์ทุกประการของพระเจ้า? และขณะที่ฉันทำอย่างนั้น ผลจะเป็นเช่นไร?’ ให้เรามาพิจารณาดูด้วยกัน.
จงบากบั่นเพื่อ “ยืนหยัดอย่างครบถ้วน”
4. ชาวโกโลซายจำเป็นต้อง “ครบถ้วน” ในแง่ใด?
4 เอปาฟรัสปรารถนาอย่างยิ่งให้พี่น้องฝ่ายวิญญาณในโกโลซาย ‘ในที่สุดจะยืนหยัดอย่างครบถ้วน.’ คำที่เปาโลใช้ซึ่งแปลในที่นี้ว่า “ครบถ้วน” อาจหมายถึงสมบูรณ์, เป็นผู้ใหญ่เต็มที่หรืออาวุโส. (มัดธาย 19:21; เฮ็บราย 5:14; ยาโกโบ 1:4, 25) คุณคงทราบว่าการที่ใครคนหนึ่งเป็นพยานพระยะโฮวาที่รับบัพติสมาแล้วมิได้หมายความว่าเขาจะเป็นคริสเตียนที่อาวุโสโดยอัตโนมัติ. เปาโลเขียนถึงพี่น้องในเมืองเอเฟโซซึ่งอยู่ทางตะวันตกของโกโลซายว่า ผู้บำรุงเลี้ยงและผู้สอนพยายามช่วย “ทุกคนบรรลุถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในความเชื่อ และในความรู้อันถ่องแท้เกี่ยวกับพระบุตรของพระเจ้า เป็นผู้ใหญ่เต็มที่ ถึงขนาดซึ่งเป็นของความบริบูรณ์แห่งพระคริสต์.” ในที่อื่น เปาโลกระตุ้นคริสเตียนให้ “เติบโตเต็มที่ด้านความสามารถในการเข้าใจ.”—เอเฟโซ 4:8-13, ล.ม.; 1 โกรินโธ 14:20, ล.ม.
5. เราจะทำให้ความครบถ้วนเป็นเป้าหมายหลักได้อย่างไร?
5 หากมีบางคนในโกโลซายยังไม่เป็นผู้ใหญ่เต็มที่ฝ่ายวิญญาณหรือยังไม่อาวุโส นั่นเป็นเป้าหมายที่จำเป็นสำหรับเขา. ควรเป็นเช่นเดียวกันในทุกวันนี้มิใช่หรือ? ไม่ว่าเรารับบัพติสมาแล้วหลายสิบปีหรือเพิ่งจะเมื่อไม่นานมานี้ เป็นที่เห็นได้ไหมว่าเราได้ก้าวหน้าอย่างชัดเจนด้านความสามารถในการหาเหตุผลรวมทั้งทัศนะในเรื่องต่าง ๆ? เราพิจารณาหลักการในคัมภีร์ไบเบิลก่อนจะตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ไหม? เรื่องที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ของพระเจ้าและประชาคมกำลังมีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ ในชีวิตเราไหม แทนที่จะเป็นโดยบังเอิญ? ในที่นี้ เราไม่สามารถยกตัวอย่างทุกวิธีที่เราอาจแสดงถึงการเติบโตสู่ความครบถ้วนเช่นนั้น แต่ขอให้พิจารณาสองตัวอย่างดังต่อไปนี้.
6. ขอบเขตหนึ่งที่คนเราอาจพัฒนาสู่ความครบถ้วนสมบูรณ์อย่างที่พระยะโฮวาทรงแสดงนั้นคืออะไร?
6 ตัวอย่างแรก: สมมุติว่าเราเติบโตขึ้นมาในบรรยากาศแบบที่มีอคติและความเป็นศัตรูอย่างเด่นชัดต่อคนในอีกเชื้อชาติ, สัญชาติ, หรือภูมิภาคหนึ่ง. มาบัดนี้ เราทราบแล้วว่าพระเจ้าไม่ทรงเลือกหน้าลำเอียงและเราควรเลียนแบบอย่างของพระเจ้า. (กิจการ 10:14, 15, 34, 35) มีบางคนซึ่งมีภูมิหลังที่ต่างออกไปเช่นนั้นอยู่ท่ามกลางพวกเราในประชาคมหรือในหมวดของเรา. เรายังคงมีความรู้สึกในแง่ลบหรือมีความแคลงใจอยู่ลึก ๆ ต่อคนที่มีภูมิหลังดังกล่าวขนาดไหน? เรามีลักษณะที่ ‘พร้อมจะเอาเรื่อง’ ไหม โดยที่คิดในแง่ลบทันทีหากมีใครที่มีภูมิหลังต่างออกไปทำผิดหรือทำให้เราขุ่นเคืองเล็ก ๆ น้อย ๆ? จงถามตัวเองว่า ‘ฉันจำเป็นต้องพัฒนาขึ้นไหมในการมีทัศนะอย่างพระเจ้าที่ไม่เลือกหน้าลำเอียง?’
7. การบรรลุถึงความครบถ้วนในฐานะคริสเตียนอาจหมายรวมถึงการมีทัศนะเช่นไรต่อผู้อื่น?
7 ตัวอย่างที่สอง: ตามในฟิลิปปอย 2:3 (ล.ม.) เราไม่ควร “ทำสิ่งใดเพราะชอบทุ่มเถียงหรือเพราะถือดี แต่ด้วยจิตใจอ่อนน้อมถือว่าคนอื่นดีกว่าตัว.” เรากำลังพัฒนาขึ้นในแง่นี้อย่างไรบ้าง? แต่ละคนมีจุดด้อยและจุดเด่น. หากในอดีตเราเคยชอบเพ่งเล็งจุดอ่อนของผู้อื่น เราได้ปรับปรุงให้ดีขึ้นด้วยการไม่คาดหมายให้ผู้อื่นทำได้ใกล้เคียงกับความ “สมบูรณ์” ไหม? (ยาโกโบ 3:2, ล.ม.) บัดนี้ ยิ่งกว่าที่แล้ว ๆ มา เราสามารถเห็น—หรือแม้แต่มองหา—แง่มุมต่าง ๆ ที่ผู้อื่นดีกว่าเราไหม? ‘ฉันต้องยอมรับว่าพี่น้องหญิงคนนี้เหนือกว่าฉันในเรื่องความอดทน.’ ‘พี่น้องคนนั้นแสดงออกซึ่งความเชื่อที่เข้มแข็งกว่า.’ ‘พูดตรง ๆ เขาสอนได้ดีกว่าฉัน.’ ‘เธอควบคุมอารมณ์ได้ดีกว่าฉัน.’ อาจเป็นได้ที่ชาวโกโลซายบางคนจำเป็นต้องพัฒนาขึ้นในแง่นี้. เราล่ะ?
8, 9. (ก) เอปาฟรัสอธิษฐานในความหมายเช่นไรเพื่อชาวโกโลซายจะ “ยืนหยัด” อย่างครบถ้วน? (ข) ‘การยืนหยัดอย่างครบถ้วน’ แสดงนัยถึงอะไรเกี่ยวกับอนาคต?
8 เอปาฟรัสอธิษฐานขอให้ชาวโกโลซาย “ยืนหยัด อย่างครบถ้วน.” เห็นได้ชัด เอปาฟรัสกำลังทูลอธิษฐานต่อพระเจ้าขอให้ชาวโกโลซาย “ยืนหยัด” หรือรักษาสภาพที่ตนได้บรรลุ คือการเป็นคริสเตียนที่ครบถ้วน, อาวุโส, เป็นผู้ใหญ่เต็มที่.
9 เราไม่อาจคิดเอาเองว่าแต่ละคนที่เข้ามาเป็นคริสเตียน แม้แต่คนที่อาวุโส จะยืนหยัดเช่นนั้น. พระเยซูตรัสว่าบุตรของพระเจ้าองค์หนึ่งที่เป็นทูตสวรรค์ “มิได้ตั้งมั่นอยู่ในความจริง.” (โยฮัน 8:44, ล.ม.) และเปาโลเตือนชาวโกรินโธให้นึกถึงบางคนในอดีตที่ได้รับใช้พระยะโฮวาอยู่ชั่วระยะหนึ่งแต่แล้วก็ล้มพลาดไป. ท่านเตือนพี่น้องผู้ถูกเจิมด้วยพระวิญญาณว่า “ให้ผู้ที่คิดว่าเขายืนอยู่ระวังเพื่อเขาจะไม่ล้มลง.” (1 โกรินโธ 10:12, ล.ม.) ข้อนี้เสริมน้ำหนักแก่คำอธิษฐานที่ขอให้ชาวโกโลซาย ‘ในที่สุดจะยืนหยัด อย่างครบถ้วน.’ เมื่อได้บรรลุถึงความครบถ้วนและเป็นผู้ใหญ่เต็มที่แล้ว พวกเขาจำเป็นต้องยืนหยัด, ไม่ถอยกลับ, ไม่เลื่อยล้า, หรือไม่ลอยห่างไป. (เฮ็บราย 2:1; 3:12; 6:6; 10:39; 12:25) โดยวิธีนี้ พวกเขาจะ “ครบถ้วน” ในวันที่มีการตรวจตราพวกเขาและมีการรับรองขั้นสุดท้าย.—2 โกรินโธ 5:10; 1 เปโตร 2:12.
10, 11. (ก) เอปาฟรัสวางแบบอย่างอะไรไว้ให้เราในเรื่องการอธิษฐาน? (ข) ตามแนวที่เอปาฟรัสได้วางไว้ คุณตั้งใจแน่วแน่จะทำเช่นไร?
10 เราได้พิจารณาไปแล้วถึงความสำคัญของการอธิษฐานเพื่อผู้อื่นโดยกล่าวออกชื่อ ทูลขออย่างเจาะจงให้พระยะโฮวาช่วยเขา, ปลอบโยนเขา, อวยพรเขา, และประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์แก่เขา. คำอธิษฐานของเอปาฟรัสเพื่อชาวโกโลซายเป็นแบบนั้น. และเราสามารถมองหาข้อแนะอันมีค่าจากคำอธิษฐานดังกล่าวในเรื่องที่เราจะทูลต่อพระยะโฮวาในคำอธิษฐานเกี่ยวกับตัวเราเอง. ที่จริง เราควรทำอย่างนั้น. ไม่มีข้อสงสัย เราควรทูลขอความช่วยเหลือจากพระยะโฮวาเพื่อจะบรรลุเป้าหมายที่เราแต่ละคน ‘ในที่สุดจะยืนหยัดอย่างครบถ้วน.’ คุณทำอย่างนั้นไหม?
11 ทำไมไม่กล่าวถึงสภาพการณ์ของคุณในคำอธิษฐานล่ะ? จงทูลต่อพระเจ้าว่าคุณได้ก้าวหน้าไปเพียงใดแล้วสู่ความ “ครบถ้วน” หรือความอาวุโสเติบโตเต็มที่. จงวิงวอนพระองค์ให้ช่วยคุณตระหนักถึงขอบเขตที่คุณยังจำเป็นต้องเติบโตต่อไปทางฝ่ายวิญญาณ. (บทเพลงสรรเสริญ 17:3; 139:23, 24) ไม่ต้องสงสัย มีบางแง่ที่คุณจะพัฒนาได้. ดังนั้น แทนที่จะท้อใจในเรื่องนี้ จงทูลอ้อนวอนต่อพระเจ้าอย่างชัดเจนและตรงจุดเพื่อจะได้รับความช่วยเหลือให้ก้าวหน้า. จงทำอย่างนี้มากกว่าหนึ่งครั้ง. ที่จริง ทำไมไม่ลองตั้งใจไว้ว่าในสัปดาห์ที่จะถึงนี้คุณจะอธิษฐานอย่างละเอียดเพื่อขอให้ “ในที่สุดคุณจะยืนหยัดอย่างครบถ้วน.” และวางแผนไว้ว่าจะอธิษฐานเช่นนั้นอีกเมื่อคุณพิจารณาข้อพระคัมภีร์ประจำปี. ในคำอธิษฐาน จงเน้นเกี่ยวกับแนวโน้มต่าง ๆ ซึ่งคุณอาจมีอยู่ที่ทำให้ถอยกลับ, เลื่อยล้า, หรือลอยห่างไปจากงานรับใช้ของพระเจ้า รวมไปถึงวิธีที่คุณจะไม่เป็นอย่างนั้น.—เอเฟโซ 6:11, 13, 14, 18.
จงอธิษฐานขอความเชื่อมั่นอันหนักแน่น
12. เหตุใดชาวโกโลซายจำเป็นต้องมี “ความเชื่อมั่นอันหนักแน่น” เป็นพิเศษ?
12 เอปาฟรัสยังอธิษฐานเพื่ออีกสิ่งหนึ่งด้วย ซึ่งนับว่าสำคัญเพื่อชาวโกโลซายจะยืนหยัดจนในที่สุดพระเจ้าทรงยอมรับพวกเขา. สิ่งนั้นจำเป็นพอ ๆ กันสำหรับเรา. สิ่งนั้นคืออะไร? ท่านอธิษฐานขอให้พวกเขายืนหยัด “ด้วยความเชื่อมั่นอันหนักแน่นในพระทัยประสงค์ทุกประการของพระเจ้า.” พวกเขาถูกแวดล้อมด้วยศาสนานอกรีตและปรัชญาที่เซาะกร่อน ซึ่งบางอย่างหากดูผิวเผินอาจหลงเข้าใจว่าเป็นการนมัสการแท้. ยกตัวอย่าง พวกเขาถูกกดดันให้ถือบางวันเป็นพิเศษด้วยการอดอาหารหรือเลี้ยงฉลอง เช่นที่เคยเป็นข้อเรียกร้องในการนมัสการของชาวยิว. ผู้สอนเท็จเน้นในเรื่องทูตสวรรค์ กายวิญญาณผู้มีฤทธิ์ซึ่งเคยถูกใช้เพื่อนำพระบัญญัติมาส่งมอบให้แก่โมเซ. ขอให้นึกภาพถึงการถูกกดดันแบบนั้น! มีแนวคิดที่ขัดแย้งกันมากมายซึ่งทำให้สับสน.—ฆะลาเตีย 3:19; โกโลซาย 2:8, 16-18.
13. การตระหนักถึงปัจจัยอะไรช่วยชาวโกโลซายได้ และการตระหนักเช่นนั้นช่วยเราได้อย่างไร?
13 เปาโลโต้ตอบโดยเน้นบทบาทของพระเยซูคริสต์. “ท่านทั้งหลายได้รับพระเยซูคริสต์เจ้าแล้วฉันใด, จงดำเนินตามพระองค์ฉันนั้น. โดยหยั่งรากและก่อร่างสร้างขึ้นในพระองค์, และตั้งมั่นคงอยู่ในความเชื่อ, เหมือนที่ท่านได้รับคำสอนแล้ว.” ถูกแล้ว ทั้งชาวโกโลซายและพวกเราต่างจำเป็นต้องมีความเชื่อมั่นเต็มเปี่ยมเกี่ยวกับบทบาทของพระคริสต์ในพระประสงค์ของพระเจ้าและในชีวิตของเรา. เปาโลอธิบายว่า “ในพระองค์นั้นสภาพของพระเจ้า [“คุณลักษณะแบบพระเจ้า,” ล.ม.] ทรงดำรงอยู่เต็มบริบูรณ์, และท่านทั้งหลายได้ความครบบริบูรณ์ในพระองค์นั้น, ผู้เป็นศีรษะแห่งสารพัตรที่มีบรรดาศักดิ์และที่มีฤทธิ์.”—โกโลซาย 2:6-10.
14. เหตุใดความหวังเป็นจริงเป็นจังสำหรับคนเหล่านั้นในเมืองโกโลซาย?
14 ชาวโกโลซายเป็นคริสเตียนผู้ถูกเจิมด้วยพระวิญญาณ. พวกเขามีความหวังอันเด่นชัด คือชีวิตในสวรรค์ และพวกเขามีเหตุผลทุกประการที่จะรักษาความหวังนั้นให้สดใสเสมอ. (โกโลซาย 1:5) เป็น “พระทัยประสงค์ของพระเจ้า” ที่พวกเขาจะมีความเชื่อมั่นอันหนักแน่นเกี่ยวกับความแน่นอนแห่งความหวังของตน. ควรมีใครในพวกเขาสงสัยความหวังนั้นไหม? ไม่เลย! ควรจะมีอะไรแตกต่างออกไปไหมในทุกวันนี้สำหรับทุกคนซึ่งมีความหวังที่พระเจ้าประทานให้เกี่ยวกับชีวิตในอุทยานบนแผ่นดินโลก? ไม่เป็นอย่างนั้นแน่! เห็นได้ชัดว่า ความหวังอันมั่นคงนั้นเป็นส่วนหนึ่งของ ‘พระทัยประสงค์ของพระเจ้า.’ ทีนี้ ขอให้พิจารณาคำถามที่ว่า หากคุณบากบั่นเพื่อเป็นคนหนึ่งใน “ชนฝูงใหญ่” ที่จะรอดชีวิตผ่าน “ความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่” ความหวังของคุณ เป็นจริงขนาดไหน? (วิวรณ์ 7:9, 14, ล.ม.) ความหวังนั้นเป็นส่วนหนึ่งของ “ความเชื่อมั่นอันหนักแน่นในพระทัยประสงค์ทุกประการของพระเจ้า” ไหม?
15. เปาโลกล่าวถึงอะไรบ้างที่เกี่ยวเนื่องกันเป็นชุด รวมทั้งความหวังด้วย?
15 คำ “ความหวัง” ที่เราใช้มิได้หมายถึงเป้าปรารถนาที่รางเลือนหรือเรื่องฝันเฟื่อง. เราเห็นได้อย่างนี้จากจุดต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกันเป็นชุดซึ่งเปาโลได้แสดงไว้ก่อนหน้านี้แก่ผู้ที่อยู่ในกรุงโรม. จุดเหล่านั้นแต่ละจุดเชื่อมโยงกันหรือนำไปสู่จุดต่อไป. ขอให้สังเกตว่าเปาโลใช้คำ “ความหวัง” ตรงไหนในการหาเหตุผลของท่าน: “เราทั้งหลายยังมีความภูมิใจในความยากลำบากด้วย, เพราะรู้อยู่แล้วว่าความยากลำบากนั้นกระทำให้บังเกิดมีความอดทน, และความอดทนนั้นกระทำให้บังเกิดมีอุปนิสัยดี [“สภาพอันเป็นที่ยอมรับ,” ล.ม.], และอุปนิสัยดี [“สภาพอันเป็นที่ยอมรับ,” ล.ม.] นั้นกระทำให้บังเกิดมีความหวังใจ, และความหวังใจนั้นมิได้กระทำให้เกิดความเสียใจเพราะไม่สมหวัง, เหตุว่าความรักของพระเจ้าได้ซึมซาบเข้าไปในใจของเราโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์.”—โรม 5:3-5.
16. เมื่อคุณเรียนความจริงในคัมภีร์ไบเบิล คุณได้รับความหวังอะไร?
16 เมื่อพยานพระยะโฮวาบอกข่าวสารในคัมภีร์ไบเบิลแก่คุณเป็นครั้งแรก ความจริงบางอย่างคงได้ทำให้คุณสะดุดใจ อาทิเช่น สภาพของคนตายหรือการกลับเป็นขึ้นจากตาย. สำหรับหลายคน ความรู้ใหม่ที่สำคัญที่สุดก็คือการมีโอกาสจะมีชีวิตในอุทยานบนแผ่นดินโลกตามที่บอกไว้ในคัมภีร์ไบเบิล. ขอให้นึกถึงตอนที่คุณได้ยินคำสอนนั้นเป็นครั้งแรก. ช่างเป็นความหวังที่เยี่ยมยอดสักเพียงไร—ความเจ็บป่วยและความชราจะไม่มีอีกต่อไป, คุณสามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปเพื่อเพลิดเพลินกับผลแห่งการลงมือลงแรงของคุณ, และจะมีสันติสุขกับสัตว์ทั้งหลาย! (ท่านผู้ประกาศ 9:5, 10; ยะซายา 65:17-25; โยฮัน 5:28, 29; วิวรณ์ 21:3, 4) คุณได้รับความหวังอันเยี่ยมยอด!
17, 18. (ก) จุดต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกันเป็นชุดซึ่งเปาโลแสดงแก่ผู้ที่อยู่ในกรุงโรมทำให้เกิดความหวังโดยวิธีใด? (ข) ความหวังที่กล่าวในโรม 5:4, 5 หมายถึงความหวังชนิดใด และคุณมีความหวังเช่นนั้นไหม?
17 ต่อมา คุณคงได้ประสบกับการต่อต้านหรือการข่มเหงบางอย่าง. (มัดธาย 10:34-39; 24:9) แม้แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้ พยานฯ ในหลายดินแดนถูกปล้นบ้านหรือถูกบีบให้กลายเป็นผู้อพยพ. บางคนถูกทำร้ายร่างกาย, ถูกยึดหนังสืออธิบายคัมภีร์ไบเบิล, หรือตกเป็นเป้าของการรายงานที่ไม่เป็นความจริงในสื่อต่าง ๆ. ไม่ว่าคุณอาจเผชิญกับการข่มเหงแบบไหน ดังที่โรม 5:3 ได้กล่าวไว้ คุณสามารถยินดีในความทุกข์ยากลำบาก และความลำบากนั้นทำให้เกิดผลที่ดี. ยิ่งไปกว่านั้น ดังที่เปาโลได้เขียนไว้ ความทุกข์ยากลำบากทำให้คุณมีความอดทน. ครั้นแล้ว ความอดทนนำไปสู่สภาพอันเป็นที่ยอมรับ. คุณทราบว่าคุณกำลังทำสิ่งที่ถูกต้อง คือทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้า ดังนั้นคุณจึงแน่ใจว่าคุณได้รับการยอมรับจากพระองค์. ตามคำพูดของเปาโล คุณรู้ตัวว่าอยู่ใน “สภาพอันเป็นที่ยอมรับ.” เปาโลเขียนต่อไปอีกว่า “[สภาพอันเป็นที่ยอมรับ] นั้นกระทำให้บังเกิดมีความหวังใจ.” นั่นอาจจะดูแปลกอยู่บ้าง. เหตุใดเปาโลจึงกล่าวถึง “ความหวังใจ” ไว้ในตอนท้ายของชุดนี้? คุณมีความหวังมานานแล้ว ตั้งแต่ที่คุณได้ยินข่าวดีเป็นครั้งแรกมิใช่หรือ?
18 เห็นได้ชัด ในที่นี้เปาโลไม่ได้กล่าวถึงความรู้สึกในตอนแรกเริ่มของเราเกี่ยวกับความหวังในเรื่องชีวิตสมบูรณ์. สิ่งที่ท่านกล่าวถึงมีความหมายกว้างไกลกว่า, ลึกซึ้งกว่า, ก่อแรงบันดาลใจมากกว่า. เมื่อเราอดทนอย่างซื่อสัตย์และโดยวิธีนั้นจึงตระหนักว่าเราได้รับการยอมรับจากพระเจ้า นี่ย่อมมีผลกระทบอย่างลึกล้ำในการเพิ่มและเสริมสร้างความหวังที่เรามีในตอนแรกเริ่มให้เข้มแข็ง. มาบัดนี้ ความหวังของเราได้กลายเป็นจริงมากขึ้น, หนักแน่นยิ่งขึ้น, เป็นของตัวเองมากขึ้น. ความหวังที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นนี้ส่องประกายเจิดจ้ายิ่งกว่าเดิม. ความหวังนี้แผ่ซ่านไปทั่วทุกอณูของตัวเรา. “และความหวังใจนั้นมิได้กระทำให้เกิดความเสียใจเพราะไม่สมหวัง, เหตุว่าความรักของพระเจ้าได้ซึมซาบเข้าไปในใจของเราโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์.”
19. ความหวังของคุณควรเป็นส่วนหนึ่งในคำอธิษฐานเป็นประจำของคุณอย่างไร?
19 เอปาฟรัสอธิษฐานอย่างจริงจังขอให้พี่น้องในโกโลซายยังคงได้รับผลกระทบและเชื่อมั่นในสิ่งที่อยู่ต่อหน้าพวกเขา มี “ความเชื่อมั่นอันหนักแน่นในพระทัยประสงค์ทุกประการของพระเจ้า.” ให้เราแต่ละคนเข้าเฝ้าพระเจ้าเป็นประจำเพื่อทูลขอเกี่ยวกับความหวังของเราคล้าย ๆ กัน. ในคำอธิษฐานเป็นส่วนตัวของคุณ จงกล่าวถึงความหวังของคุณเกี่ยวกับโลกใหม่ด้วย. แสดงออกมาเป็นคำพูดให้พระยะโฮวาเห็นว่าคุณปรารถนาจะได้อยู่ในโลกใหม่นั้นมากเพียงไร พร้อมกับมีความเชื่อมั่นเต็มเปี่ยมว่าโลกใหม่นี้จะมีมาแน่นอน. จงทูลวิงวอนขอความช่วยเหลือจากพระองค์ให้คุณมีความเชื่อมั่นมากขึ้นและลึกซึ้งยิ่งขึ้น. เช่นเดียวกับที่เอปาฟรัสอธิษฐานให้ชาวโกโลซายมี “ความเชื่อมั่นอันหนักแน่นในพระทัยประสงค์ทุกประการของพระเจ้า” ให้เราทำอย่างเดียวกัน. ทำอย่างนั้นบ่อย ๆ.
20. หากมีบางคนหันเหไปจากแนวทางคริสเตียน เหตุใดเรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นเหตุให้ท้อใจ?
20 คุณไม่ควรไขว้เขวหรือท้อแท้ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า ไม่ใช่ทุกคนจะยืนหยัดอย่างครบถ้วนและด้วยความเชื่อมั่นอันหนักแน่น. บางคนอาจล้มพลาด, หันเห, หรือเลิกราไปเสีย. นั่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในหมู่ผู้ที่ใกล้ชิดพระเยซูที่สุด คือเหล่าอัครสาวกของพระองค์. แต่เมื่อยูดาทรยศ อัครสาวกคนอื่น ๆ เฉื่อยช้าลงหรือเลิกราไปไหม? ไม่เลย! เปโตรใช้บทเพลงสรรเสริญ 109:8 เพื่อชี้ว่าคนอื่นจะเข้ามาแทนตำแหน่งของยูดา. มีการเลือกคนเข้ามาแทน และผู้ที่ภักดีต่อพระเจ้าดำเนินต่อไปอย่างขันแข็งในงานมอบหมายของพวกเขาคือการประกาศ. (กิจการ 1:15-26) พวกเขาตั้งใจแน่วแน่จะยืนหยัดอย่างครบถ้วนด้วยความเชื่อมั่นอันหนักแน่น.
21, 22. การที่คุณยืนหยัดอย่างครบถ้วนด้วยความเชื่อมั่นอันหนักแน่นจะมีผู้สังเกตเห็นในความหมายเช่นไร?
21 คุณสามารถแน่ใจได้อย่างแน่นอนว่าการที่คุณยืนหยัดอย่างครบถ้วนและด้วยความเชื่อมั่นอันหนักแน่นในพระประสงค์ทุกประการของพระเจ้าจะไม่ถูกมองข้าม. การยืนหยัดของคุณจะมีผู้สังเกตเห็นและชื่นชม. ใครล่ะ?
22 พี่น้องของคุณที่รู้จักและรักคุณจะสังเกตเห็น. แม้ว่าส่วนใหญ่ไม่ได้เอ่ยปาก ผลก็ย่อมจะคล้ายกับที่เราอ่านใน 1 เธซะโลนิเก 1:2-6 (ล.ม.) ว่า “เราขอบพระคุณพระเจ้าเสมอเมื่อเรากล่าวถึงท่านทั้งหลายทุกคนในคำอธิษฐานของเรา ด้วยเราคำนึงถึงการงานอันซื่อสัตย์ของท่านเสมอและการทำงานหนักด้วยความรักของท่านและความอดทนของท่านอันเนื่องมาจากความหวังในพระเยซูคริสต์เจ้าของเราจำเพาะพระเจ้าและพระบิดาของเรา. เพราะ . . . ข่าวดีที่เราประกาศไม่ได้มาถึงท่ามกลางท่านทั้งหลายโดยวาจาเท่านั้นแต่โดยฤทธิ์และโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์และความมั่นใจเต็มที่ด้วย . . . ; และท่านทั้งหลายได้มาเป็นผู้เลียนแบบอย่างของเราและขององค์พระผู้เป็นเจ้า.” คริสเตียนที่ภักดีที่อยู่รอบตัวคุณจะรู้สึกคล้าย ๆ กันนี้เมื่อพวกเขาเห็นว่าคุณ “ยืนหยัดอย่างครบถ้วนและด้วยความเชื่อมั่นอันหนักแน่นในพระทัยประสงค์ทุกประการของพระเจ้า.”—โกโลซาย 1:23.
23. ในระหว่างปี 2001 คุณควรตั้งใจแน่วแน่เช่นไร?
23 แน่นอน พระบิดาของคุณผู้อยู่ในสวรรค์จะทรงสังเกตเห็นและพอพระทัยเช่นเดียวกัน. จงเชื่อมั่นอย่างนี้. เพราะอะไร? เพราะคุณกำลังยืนหยัดอย่างครบถ้วนและด้วยความเชื่อมั่นอันหนักแน่น “ในพระทัยประสงค์ทุกประการของพระเจ้า.” เปาโลเขียนหนุนกำลังใจชาวโกโลซายเกี่ยวกับการที่พวกเขากำลังดำเนิน “คู่ควรกับพระยะโฮวา เพื่อทำให้พระองค์พอพระทัยอย่างเต็มเปี่ยม.” (โกโลซาย 1:10, ล.ม.) ใช่แล้ว เป็นไปได้ที่มนุษย์ไม่สมบูรณ์จะทำให้พระองค์พอพระทัยอย่างเต็มเปี่ยม. พี่น้องชาวโกโลซายได้ทำเช่นนั้น. คริสเตียนที่อยู่รอบตัวคุณในเวลานี้กำลังทำอย่างนั้น. คุณเองก็สามารถทำอย่างนั้นได้ด้วย! ดังนั้น ในระหว่างปี 2001 ขอให้คำอธิษฐานของคุณแต่ละวันและการกระทำที่คุณทำเป็นประจำพิสูจน์ว่า คุณตั้งใจแน่วแน่ว่าในที่สุดคุณจะ “ยืนหยัดอย่างครบถ้วนและด้วยความเชื่อมั่นอันหนักแน่นในพระทัยประสงค์ทุกประการของพระเจ้า.”
คุณจำได้ไหม?
• อะไรเกี่ยวข้องกับการที่คุณ “ยืนหยัดอย่างครบถ้วน”?
• มีอะไรบ้างเกี่ยวกับตัวคุณเองที่ควรกล่าวถึงด้วยในคำอธิษฐาน?
• ตามที่มีแนะไว้ในโรม 5:4, 5 ความหวังแบบใดที่คุณปรารถนาจะมี?
• การศึกษาของเราได้กระตุ้นคุณให้มีเป้าหมายเช่นไรในระหว่างปี 2001?
[ภาพหน้า 20]
เอปาฟรัสอธิษฐานขอให้พี่น้องยืนหยัดอย่างครบถ้วน ด้วยความเชื่อมั่นอันหนักแน่นเกี่ยวกับพระคริสต์และความหวังของพวกเขา
[ภาพหน้า 23]
มีอีกหลายล้านคนที่มีความหวังอันแน่นอนและความเชื่อมั่นอันหนักแน่นเช่นเดียวกับคุณ