จงให้อภัยจากหัวใจของคุณ
“พระบิดาของเราในสวรรค์ก็จะทรงปฏิบัติกับเจ้าทั้งหลายอย่างนั้นแหละหากเจ้าไม่อภัยพี่น้องแต่ละคนจากหัวใจของเจ้า.”—มัดธาย 18:35, ล.ม.
1, 2. (ก) หญิงคนหนึ่งซึ่งรู้จักกันทั่วไปว่าเป็นคนบาปแสดงความหยั่งรู้ค่าต่อพระเยซูอย่างไร? (ข) พระเยซูใช้โอกาสนี้ชี้ถึงอะไร?
ดูเหมือนว่าเธอเป็นโสเภณีคนหนึ่ง ซึ่งคงไม่ใช่คนที่คุณคาดหมายว่าจะพบในบ้านของคนเคร่งศาสนา. หากว่าบางคนรู้สึกตกตะลึงที่เห็นเธออยู่ที่นั่น สิ่งที่เธอทำนั้นน่าตกตะลึงยิ่งกว่า. เธอเข้าไปหาชายผู้หนึ่งที่มีศีลธรรมสูงส่งที่สุดและแสดงความหยั่งรู้ค่าต่องานของเขา ล้างเท้าให้เขาด้วยน้ำตาของเธอและเช็ดเท้านั้นให้แห้งด้วยผมของเธอ.
2 ชายผู้นั้น คือพระเยซู มิได้ถอยหนีจากหญิงคนนี้ ซึ่งเป็นที่รู้กันในเมืองว่า “เป็นหญิงชั่ว [“คนบาป,” ล.ม.].” แต่ฟาริซายที่ชื่อซีโมนซึ่งเป็นเจ้าของบ้าน แสดงความวิตกว่าเธอเป็นคนบาป. พระเยซูทรงตอบโดยเล่าเรื่องชายสองคนที่เป็นหนี้ชายอีกคนหนึ่ง. คนหนึ่งเป็นหนี้มาก—เป็นเงินประมาณค่าจ้างสำหรับแรงงานสองปี. อีกคนหนึ่งเป็นหนี้หนึ่งในสิบของจำนวนนั้น น้อยกว่าค่าจ้างแรงงานสามเดือน. เมื่อไม่มีใครสามารถใช้คืน เจ้าหนี้ “จึงโปรดยกหนี้ให้เขาทั้งสองคน.” เห็นได้ชัด คนที่ได้รับการยกหนี้มากกว่ามีเหตุผลมากกว่าที่จะตอบสนองด้วยความรัก. หลังจากที่ผูกโยงเข้ากับการกระทำที่เมตตาของหญิงคนนี้แล้ว พระเยซูทรงให้หลักการอีกโดยตรัสว่า “ผู้ที่ได้รับความยกโทษน้อย, ผู้นั้นก็รักน้อย.” จากนั้น พระองค์ตรัสแก่เธอว่า “ความผิดบาปของเจ้าโปรดยกเสียแล้ว.”—ลูกา 7:36-48.
3. เราจำต้องพิจารณาอะไรเกี่ยวกับตัวเราเอง?
3 ขอให้ถามตัวเองว่า ‘ถ้าฉันเป็นหญิงคนนั้นหรือถ้าอยู่ในสภาพคล้าย ๆ กันและได้รับความเมตตาเช่นนั้น ฉันจะไม่ยอมให้อภัยผู้อื่นอย่างไร้ความเมตตาไหม?’ คุณอาจตอบว่า ‘ไม่เป็นอย่างนั้นแน่!’ กระนั้น คุณเชื่อจริง ๆ ไหมว่าคุณมีแนวโน้มจะให้อภัยผู้อื่น? การให้อภัยเป็นนิสัยพื้นฐานของคุณไหม? คุณพร้อมจะทำอย่างนั้นอยู่บ่อย ๆ และคนอื่นพูดถึงคุณว่าคุณเป็นคนให้อภัยไหม? ให้เรามาดูว่าเหตุใดเราแต่ละคนควรใส่ใจสำรวจตัวเองอย่างตรงไปตรงมา.
การให้อภัยเป็นเรื่องจำเป็น—และมีการสำแดงต่อเรา
4. เราควรยอมรับข้อเท็จจริงอะไรเกี่ยวกับตัวเราเอง?
4 คุณไม่สมบูรณ์ ดังที่คุณทราบดีอยู่แล้ว. ถ้ามีคนถาม คุณคงยอมรับในข้อนี้ โดยที่อาจนึกถึงคำพูดที่พบใน 1 โยฮัน 1:8 (ล.ม.) ที่ว่า “ถ้าเรากล่าวว่า ‘เราไม่มีบาป’ เราก็นำตัวเราเองไปผิดทางและความจริงไม่อยู่ในเรา.” (โรม 3:23; 5:12) กับบางคน ความบาปอาจปรากฏชัดด้วยการทำผิดที่โจ่งแจ้งและน่าตกใจ. แต่แม้คุณไม่ได้ทำผิดร้ายแรงเช่นนั้น ย่อมมีหลายครั้งและหลายวิธีที่คุณขาดตกบกพร่องไม่ได้ทำตามมาตรฐานของพระเจ้า—คุณได้ทำบาป. เป็นเช่นนั้นมิใช่หรือ?
5. เราควรขอบพระคุณพระเจ้าในเรื่องใด?
5 ฉะนั้น สภาพของคุณอาจตรงกับคำพรรณนาของอัครสาวกเปาโลที่ว่า “ท่านทั้งหลายที่ตายแล้วด้วยการล่วงเกินทั้งหลายของท่าน, และด้วยเหตุที่เนื้อหนังของท่านมิได้รับพิธีสุหนัต, พระองค์ได้ทรงบันดาลให้ท่านมีชีวิตด้วยกันกับพระองค์ [พระเยซู], และได้ทรงโปรดยกการผิดทั้งหลายของท่าน [“อภัยการล่วงละเมิดทั้งสิ้นของเรา,” ล.ม.].” (โกโลซาย 2:13; เอเฟโซ 2:1-3) โปรดสังเกตวลี “อภัยการล่วงละเมิดทั้งสิ้น ของเรา.” นั่นย่อมต้องเป็นการให้อภัยอย่างมากทีเดียว. เราแต่ละคนมีเหตุผลมากพอที่จะวิงวอนเช่นเดียวกับดาวิด ซึ่งวิงวอนว่า “ข้าแต่พระยะโฮวา, ขอทรงโปรดยกบาปอันอุกฤษฏ์ของข้าพเจ้า, เพราะเห็นแก่พระนามของพระองค์.”—บทเพลงสรรเสริญ 25:11.
6. เราจะแน่ใจได้ในเรื่องใดเกี่ยวกับพระยะโฮวาและการให้อภัย?
6 คุณ หรือใครก็ตามในพวกเรา จะได้รับการให้อภัยได้อย่างไร? ประการหนึ่งซึ่งทำให้เป็นไปได้คือพระยะโฮวาพระเจ้าทรงพร้อมจะให้อภัย. นั่นเป็นลักษณะเฉพาะแห่งบุคลิกภาพของพระองค์. (เอ็กโซโด 34:6, 7; บทเพลงสรรเสริญ 86:5) จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่พระเจ้าทรงคาดหมายให้เราเข้าเฝ้าพระองค์ในคำทูลอธิษฐานและขออภัยโทษจากพระองค์ ขอทรงให้อภัยแก่เรา. (2 โครนิกา 6:21; บทเพลงสรรเสริญ 103:3, 10, 14) และพระองค์ได้ทรงจัดให้มีพื้นฐานอันเป็นไปตามกฎหมายสำหรับการให้อภัยเช่นนั้น ซึ่งก็คือเครื่องบูชาไถ่ของพระเยซู.—โรม 3:24; 1 เปโตร 1:18, 19; 1 โยฮัน 4:9, 14.
7. คุณควรปรารถนาจะเลียนแบบพระยะโฮวาในทางใด?
7 คุณควรมองดูความเต็มพระทัยของพระเจ้าที่จะให้อภัย เพื่อเป็นแบบอย่างในเรื่องวิธีที่คุณควรปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์. เปาโลเน้นเรื่องนี้ โดยเขียนว่า “จงมีใจกรุณาต่อกัน, มีใจเมตตาอันอ่อนละมุน, ให้อภัยต่อกันด้วยใจกว้างเหมือนดังที่พระเจ้าทรงให้อภัยท่านทั้งหลายด้วยใจกว้างโดยทางพระคริสต์.” (เอเฟโซ 4:32, ล.ม.) ไม่มีข้อสงสัยที่ว่า จุดที่เปาโลชี้นั้นหมายรวมถึงการเรียนจากตัวอย่างของพระเจ้า เพราะข้อถัดมาท่านกล่าวต่อไปว่า “เหตุฉะนั้น จงเป็นผู้เลียนแบบพระเจ้า ดังบุตรที่รัก.” (เอเฟโซ 5:1, ล.ม.) คุณเห็นความเกี่ยวโยงไหม? พระยะโฮวาพระเจ้าทรงให้อภัยคุณ ดังนั้น เปาโลหาเหตุผลอย่างมีน้ำหนักว่า คุณจำต้องเลียนแบบพระองค์และ ‘มีใจเมตตาอันอ่อนละมุน ให้อภัยผู้อื่นด้วยใจกว้าง.’ แต่ขอให้ถามตัวเองว่า ‘ฉันทำอย่างนั้นอยู่ไหม? หากนั่นไม่ใช่นิสัยของฉัน ฉันบากบั่นไปในทิศทางนั้น พยายามจริง ๆ ที่จะเลียนแบบพระเจ้าในเรื่องการให้อภัยไหม?’
เราจำต้องพยายามเป็นคนให้อภัย
8. เราควรตระหนักเช่นไรเกี่ยวด้วยองค์ประกอบของประชาคม?
8 คงจะดีมากหากว่ามีน้อยครั้งที่เราต้องใช้แนวทางของพระเจ้าในการให้อภัยในประชาคมคริสเตียน. แต่ความเป็นจริงไม่เป็นอย่างนั้น. จริงอยู่ พี่น้องคริสเตียนของเรากำลังบากบั่นที่จะปฏิบัติตามแบบอย่างแห่งความรักของพระเยซู. (โยฮัน 13:35; 15:12, 13; ฆะลาเตีย 6:2) พวกเขาได้พยายามมานาน และยังคงพยายามอยู่ ที่จะละทิ้งแนวคิด, คำพูด, และการกระทำที่ทำกันเกร่อในโลกชั่วนี้. พวกเขาปรารถนาอย่างแท้จริงที่จะสำแดงบุคลิกภาพใหม่. (โกโลซาย 3:9, 10) กระนั้น เราไม่อาจเพิกเฉยข้อเท็จจริงที่ว่า ประชาคมทั้งโลกโดยรวมและประชาคมท้องถิ่นแต่ละแห่งประกอบด้วยมนุษย์ไม่สมบูรณ์. โดยรวมแล้ว พวกเขาดีกว่าที่เขาเคยเป็นอย่างแน่นอน แต่ก็ยังไม่สมบูรณ์อยู่ดี.
9, 10. เหตุใดเราไม่ควรแปลกใจหากเกิดปัญหาขึ้นระหว่างพี่น้อง?
9 ในคัมภีร์ไบเบิล พระเจ้าทรงเจตนาแจ้งให้เราทราบว่า เราสามารถคาดหมายได้ถึงความไม่สมบูรณ์ในประชาคม ในท่ามกลางพี่น้องชายหญิงของเรา. ตัวอย่างเช่น ขอพิจารณาคำพูดของเปาโลดังบันทึกไว้ที่โกโลซาย 3:13 (ล.ม.) ซึ่งอ่านว่า “จงทนต่อกันและกันอยู่เรื่อยไปและจงอภัยให้กันและกันอย่างใจกว้างถ้าแม้นผู้ใดมีสาเหตุจะบ่นว่าคนอื่น. พระยะโฮวาทรงให้อภัยท่านอย่างใจกว้างฉันใด ท่านทั้งหลายจงกระทำฉันนั้น.”
10 น่าสนใจ คัมภีร์ไบเบิลข้อนี้เตือนเราให้ระลึกถึงความเกี่ยวข้องกันระหว่างการที่พระเจ้าทรงให้อภัยเรากับหน้าที่และความจำเป็นที่เราต้องให้อภัยผู้อื่น. เหตุใดเรื่องนี้นับว่าท้าทาย? เพราะเปาโลยอมรับว่าบางคนอาจมี “สาเหตุจะบ่นว่าคนอื่น.” ท่านตระหนักว่าสาเหตุเช่นนั้นย่อมจะมีอยู่จริง. คงต้องมีสาเหตุที่จะบ่นว่าในสมัยศตวรรษแรก แม้แต่ในท่ามกลางคริสเตียน “เหล่าผู้บริสุทธิ์” ซึ่งมี ‘ความหวังที่เก็บไว้ให้พวกเขาในสวรรค์.’ (โกโลซาย 1:2, 5, ล.ม.) ถ้าอย่างนั้น เราคิดหรือว่าจะไม่เป็นอย่างนั้นในปัจจุบันซึ่งคริสเตียนแท้ส่วนใหญ่ไม่มีหลักฐานของพระวิญญาณว่าเขาเป็น “ผู้ที่พระเจ้าทรงเลือกสรร บริสุทธิ์และเป็นที่รัก”? (โกโลซาย 3:12, ล.ม.) ฉะนั้น เราไม่ควรลงความเห็นว่ามีอะไรบางอย่างผิดพลาดเป็นพิเศษ ถ้ามีสาเหตุที่จะบ่นว่าเกิดขึ้นในประชาคมของเรา—ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกเจ็บช้ำเนื่องด้วยการกระทำที่ผิดจริง ๆ หรือที่เข้าใจว่าผิด.
11. สาวกยาโกโบเตือนเราให้ตื่นตัวต่ออะไร?
11 คำพูดของยาโกโบ น้องชายต่างบิดาของพระเยซู ก็แสดงให้เห็นด้วยว่าเราต้องคาดหมายว่าเราอาจตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องให้อภัยพี่น้องของเรา อย่างน้อยก็ในบางครั้ง. “ใครบ้างในพวกท่านมีปัญญาและความเข้าใจ? จงให้ผู้นั้นสำแดงการกระทำโดยการประพฤติที่ดีของเขาด้วยใจอ่อนโยนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสติปัญญานั้น. แต่ถ้าท่านมีความริษยาอันขมขื่นและน้ำใจชอบโต้เถียงในหัวใจของท่าน ก็อย่าได้โอ้อวดและมุสาต่อความจริง.” (ยาโกโบ 3:13, 14, ล.ม.) “ความริษยาอันขมขื่นและน้ำใจชอบโต้เถียง” ในหัวใจของคริสเตียนแท้หรือ? ใช่แล้ว คำพูดของยาโกโบแนะไว้ชัดเจนว่าน้ำใจเช่นนั้นปรากฏในประชาคมสมัยศตวรรษแรกและก็จะเป็นอย่างนั้นด้วยในปัจจุบัน.
12. เกิดปัญหาอะไรขึ้นในประชาคมฟิลิปปอยโบราณ?
12 มีตัวอย่างจริงของคริสเตียนผู้ถูกเจิมสองคนที่มีชื่อเสียงดีในการทุ่มเทตัวเองรับใช้เคียงบ่าเคียงไหล่กับเปาโล. คุณอาจจำได้ว่าเคยอ่านเกี่ยวกับยุโอเดียและซุนตุเค สมาชิกประชาคมฟิลิปปอย. แม้ว่าไม่ได้พรรณนาไว้อย่างละเอียด ฟิลิปปอย 4:2, 3 แสดงให้เห็นว่ามีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้นระหว่างทั้งสอง. ปัญหานั้นเริ่มมาจากความเห็นที่ไม่ยั้งคิดและไม่กรุณา, คำพูดของญาติที่อาจมองได้ว่าเป็นการดูถูกดูแคลน, หรืออะไรบางอย่างที่ทำให้เห็นว่าเกิดความริษยาชิงดีชิงเด่นกันไหม? ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุใดก็ตาม เรื่องนี้ได้กลายเป็นเรื่องร้ายแรงจนเปาโลซึ่งอยู่ไกลถึงกรุงโรมได้ยินถึงเรื่องนี้. ความเฉยเมยเย็นชาอาจได้ก่อตัวขึ้นระหว่างพี่น้องหญิงฝ่ายวิญญาณทั้งสอง ทำให้ต่างคนต่างหลีกห่างกัน ณ การประชุมหรือวิพากษ์วิจารณ์อีกฝ่ายหนึ่งอย่างรุนแรงกับเพื่อนของตน.
13. ยุโอเดียและซุนตุเคคงจะพยายามทำเช่นไร ซึ่งให้บทเรียนอะไรแก่เรา?
13 มีอะไรบ้างไหมที่ฟังดูคุ้น ๆ คล้าย ๆ สิ่งที่เกิดขึ้นกับบางคนในประชาคมของคุณหรืออะไรบางอย่างที่คุณมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย? ปัญหาแบบนั้นอาจมีอยู่ในระดับหนึ่งแม้แต่ในขณะนี้. เราสามารถทำอะไรได้? ในกรณีของสมัยโน้น เปาโลกล่าวกระตุ้นพี่น้องหญิงทั้งสองผู้อุทิศตัวแล้ว “ให้มีน้ำหนึ่งใจเดียวกันในองค์พระผู้เป็นเจ้า.” ทั้งสองอาจได้เห็นพ้องกันที่จะพิจารณาในเรื่องนั้นด้วยกันโดยคุยกันอย่างเปิดอก แสดงความเต็มใจจะให้อภัยกันและกัน แล้วก็เลียนแบบทัศนะให้อภัยของพระยะโฮวาอย่างแท้จริง. ไม่มีเหตุผลที่จะคิดเป็นอื่นนอกจากว่ายุโอเดียและซุนตุเคประสบผลสำเร็จ และเราก็สามารถประสบผลสำเร็จด้วย. ทัศนะให้อภัยเช่นนั้นสามารถนำมาใช้อย่างได้ผลในทุกวันนี้.
สร้างสันติ—ให้อภัย
14. เหตุใดบ่อยครั้งจึงเป็นไปได้และดีที่สุดที่จะเพียงแต่ปล่อยให้เรื่องขัดแย้งส่วนตัวผ่านไป?
14 จำเป็นต้องมีอะไรที่จะให้อภัยเมื่อคุณมีปัญหากับคริสเตียนอีกคนหนึ่ง? กล่าวอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีวิธีง่าย ๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่คัมภีร์ไบเบิลให้ตัวอย่างที่เป็นประโยชน์และคำแนะนำที่ตรงความเป็นจริง. ข้อแนะที่สำคัญอย่างหนึ่ง—แม้ว่าไม่ง่ายที่จะยอมรับและนำไปใช้—คือเพียงแต่ลืมเรื่องนั้นเสีย ปล่อยให้มันผ่านไป. บ่อยครั้งเมื่อปัญหายังคงอยู่ ดังที่เป็นอย่างนั้นระหว่างยุโอเดียกับซุนตุเค แต่ละคนต่างก็รู้สึกว่าอีกคนหนึ่งเป็นฝ่ายผิดหรือต้องรับผิดมากกว่า. ดังนั้น ในสภาพเช่นนั้น คุณอาจคิดไปว่าคริสเตียนอีกคนหนึ่งสมควรถูกตำหนิเป็นส่วนใหญ่หรือเป็นผู้ทำให้เกิดความเสียหายมากกว่า. อย่างไรก็ตาม คุณจะเพียงแต่ปล่อยให้เรื่องนั้นผ่านไปโดยให้อภัยได้ไหม? คุณต้องตระหนักว่าถ้าคริสเตียนอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ที่ต้องรับผิดส่วนใหญ่หรือทั้งหมด ซึ่งมักจะไม่เป็นอย่างนั้นจริง ๆ คุณอยู่ในฐานะที่ดีมากที่จะปล่อยให้เรื่องนั้นผ่านไปโดยให้อภัยและยุติแค่นั้น.
15, 16. (ก) มีคาพรรณนาเกี่ยวกับพระยะโฮวาไว้อย่างไร? (ข) การที่พระเจ้า “ทรงมองเลยความผิดบาป” หมายความถึงอะไร?
15 ขอเราอย่าได้คลาดสายตาไปจากพระเจ้าในฐานะแบบอย่างของเราในการให้อภัย. (เอเฟโซ 4:32–5:1) เกี่ยวด้วยเรื่องแบบอย่างในการปล่อยให้ข้อผิดพลาดผ่านไป ผู้พยากรณ์มีคาเขียนดังนี้: “ใครเล่าเป็นพระเจ้าเสมอเหมือนกับพระองค์, ผู้ทรงยกโทษโปรดบาป, และทรงมองเลยความผิดบาปของหน่วยเดนเลือกแห่งสมบัติตกทอดของพระองค์? พระองค์ไม่ทรงถือโกรธไว้เสมอไป, เพราะพระองค์ทรงปลื้มพระทัยในความเมตตากรุณา.”—มีคา 7:18.
16 ด้วยการพรรณนาพระยะโฮวาว่าเป็นผู้ “ทรงมองเลยความผิดบาป” คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้หมายความว่าพระองค์ไม่สามารถระลึกถึงการผิด โดยทรงมีอาการเสียความจำในบางเรื่องบางลักษณะ. ขอพิจารณากรณีของซิมโซนและดาวิดซึ่งทั้งคู่ทำผิดร้ายแรง. พระเจ้าทรงระลึกถึงความผิดดังกล่าวภายหลังจากนั้นอีกนาน; แม้แต่เราที่ทราบเกี่ยวกับความผิดบางอย่างของทั้งสองก็เพราะพระยะโฮวาทรงให้มีการบันทึกเรื่องดังกล่าวไว้ในคัมภีร์ไบเบิล. ถึงกระนั้น พระเจ้าผู้ทรงให้อภัยของเราแสดงความเมตตาต่อท่านทั้งสอง แต่งตั้งท่านไว้ให้เป็นแบบอย่างแก่เราให้เลียนแบบความเชื่อของท่าน.—เฮ็บราย 11:32; 12:1.
17. (ก) แนวดำเนินการเช่นใดที่อาจช่วยเราได้ในการมองข้ามข้อผิดพลาดหรือการกระทำที่ทำให้ขุ่นเคืองของผู้อื่น? (ข) ถ้าเราพยายามอย่างยิ่งที่จะทำอย่างนั้น เรากำลังเลียนแบบพระยะโฮวาอย่างไร? (โปรดดูเชิงอรรถ.)
17 ถูกแล้ว พระยะโฮวาทรงสามารถ “มองเลย”a การล่วงละเมิด ดังที่ดาวิดทูลขอพระองค์ให้ทำครั้งแล้วครั้งเล่า. (2 ซามูเอล 12:13; 24:10) เราจะเลียนแบบพระเจ้าในเรื่องนี้ได้ไหม โดยเต็มใจปล่อยให้การดูหมิ่นดูแคลนและการกระทำที่ทำให้ขุ่นเคืองของเพื่อนผู้รับใช้ซึ่งเป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์นั้นผ่านไป? ลองนึกภาพตัวคุณเองอยู่บนเครื่องบินไอพ่นที่กำลังเร่งความเร็วไปตามทางวิ่ง. มองออกไป คุณเห็นคนรู้จักคนหนึ่งใกล้ ๆ ทางวิ่งกำลังแลบลิ้นปลิ้นตาอย่างไม่สุภาพราวกับเด็ก ๆ. คุณทราบว่าเธออารมณ์ไม่ดีและในใจเธออาจกำลังนึกถึงคุณอยู่. หรือเธออาจไม่ได้นึกถึงคุณแม้แต่น้อย. อย่างไรก็ตาม ขณะที่เครื่องบินตีโค้งเพื่อให้ได้ระดับ คุณบินผ่านหญิงคนนั้นในระดับสูงเหนือเธอ ซึ่งตอนนี้ตัวเธอดูราวกับจุดจุดหนึ่ง. ในชั่วเวลาหนึ่งชั่วโมงคุณก็อยู่ห่างออกไปหลายร้อยกิโลเมตร และกิริยาท่าทีอันชวนให้ขัดเคืองใจนั้นก็ถูกทิ้งไว้เบื้องหลังไกลลิบจากคุณ. ในทำนองเดียวกัน หลายครั้งนับว่าช่วยได้มากที่เราจะให้อภัยถ้าเราพยายามเป็นเหมือนพระยะโฮวา และด้วยความสุขุม ปล่อยให้สิ่งที่ทำให้ขัดเคืองใจผ่านไป. (สุภาษิต 19:11) เมื่อล่วงเลยไปสักสิบปีหรือเมื่อผ่านเข้าไปในรัชสมัยพันปีสักสองร้อยปี คำดูถูกย่อมจะดูเป็นเพียงเรื่องเล็กกระจิริดมิใช่หรือ? ทำไมไม่เพียงแต่ปล่อยให้มันผ่านไปเสียล่ะ?
18. ถ้าดูเหมือนว่าเราไม่สามารถมองข้ามการกระทำที่ทำให้เราขุ่นเคือง เราอาจใช้คำแนะนำอะไรได้?
18 อย่างไรก็ตาม อาจมีบางครั้งอยู่เหมือนกันที่คุณได้อธิษฐานเกี่ยวกับเรื่องนั้นและพยายามให้อภัยแล้ว แต่คุณรู้สึกว่าคุณไม่อาจให้อภัยได้. ถ้าอย่างนั้นจะทำอย่างไร? พระเยซูทรงกระตุ้นให้ไปหาคู่กรณีและพยายามแก้ไขข้อขัดแย้งกันเป็นส่วนตัวเพื่อจะมีสันติสุขกันอีกครั้ง. “ฉะนั้น หากเจ้ากำลังนำของถวายมายังแท่นบูชา และ ณ ที่นั่นเจ้าระลึกขึ้นได้ว่าพี่น้องของเจ้ามีเรื่องขัดเคืองต่อเจ้า จงละของถวายของเจ้าไว้หน้าแท่นบูชา แล้วไป; จงคืนดีกับพี่น้องของเจ้าก่อน, ครั้นแล้ว เมื่อเจ้ากลับมา จึงถวายของถวายของเจ้า.”—มัดธาย 5:23, 24, ล.ม.
19. เราควรมีเจตคติเช่นไร และเราควรหลีกเลี่ยงเจตคติเช่นไรขณะที่เราพยายามสร้างสันติกับพี่น้องของเรา?
19 น่าสนใจ พระเยซูไม่ได้ตรัสว่าให้ไปหาพี่น้องเพื่อให้เขายอมรับว่าคุณเป็นฝ่ายถูกและเขาเป็นฝ่ายผิด. อาจเป็นได้ว่าเขาเป็นฝ่ายผิดจริง. ที่อาจเป็นได้มากกว่าคือ มีข้อผิดพลาดด้วยกันทั้งสองฝ่าย. ไม่ว่าจะอย่างไร เป้าหมายไม่ควรเป็นเพื่อบีบให้คู่กรณียอมแพ้ ประหนึ่งว่าจะต้องให้ยอมศิโรราบ. ถ้านั่นเป็นวิธีที่คุณใช้ในการพูดคุยกัน ก็คงไม่แคล้วต้องพบกับความล้มเหลวค่อนข้างแน่. อีกทั้งเป้าหมายไม่จำเป็นต้องเป็นเพื่อทบทวนรายละเอียดทุกอย่างของความผิดที่เกิดขึ้นจริงหรือที่คิดไปเอง. เมื่อการพิจารณากันอย่างสงบด้วยน้ำใจแห่งความรักแบบคริสเตียนเผยให้เห็นว่ามีข้อเข้าใจผิดกันตรงส่วนสำคัญของปัญหา คุณทั้งคู่ก็จะได้พยายามแก้ไขข้อเข้าใจผิดนั้นให้เรียบร้อย. แต่แม้ว่าการพิจารณานั้นไม่ได้นำไปสู่การเห็นพ้องต้องกันทุกอย่าง จำเป็นเสมอไปไหมว่าต้องเป็นอย่างนั้น? ย่อมดีกว่ามิใช่หรือที่อย่างน้อยก็ตัวคุณเองมีความเห็นว่าคุณทั้งคู่ปรารถนาอย่างจริงใจที่จะรับใช้พระเจ้าผู้ให้อภัยของเรา? เมื่อคุณยอมรับความเป็นจริงอย่างนั้น ก็อาจง่ายขึ้นที่แต่ละคนจะพูดจากใจว่า “ผม (ดิฉัน) เสียใจที่ความไม่สมบูรณ์ทำให้เราขัดใจกันอย่างนี้. ขอให้เรามองข้ามเรื่องนี้ไปเสียเถอะนะ.”
20. เราจะเรียนอะไรได้จากตัวอย่างของเหล่าอัครสาวก?
20 จงจำไว้ว่าเหล่าอัครสาวกก็มีเรื่องขัดใจกัน อย่างเช่นตอนที่มีบางคนในพวกเขาทะเยอทะยานอยากมีเกียรติมากกว่าผู้อื่น. (มาระโก 10:35-39; ลูกา 9:46; 22:24-26) นั่นทำให้เกิดความตึงเครียดขึ้น อาจเกิดความรู้สึกเจ็บช้ำหรือแม้แต่ความขุ่นเคืองใจอย่างมาก. แต่พวกเขาสามารถมองข้ามข้อขัดแย้งเหล่านั้น และทำงานร่วมกันต่อไป. ในเวลาต่อมา คนหนึ่งในเหล่าอัครสาวกเขียนว่า “ผู้ใดรักชีวิตและปรารถนาจะเห็นวันทั้งหลายที่ดี ก็ให้ผู้นั้นเหนี่ยวรั้งลิ้นของตนไว้จากสิ่งที่ชั่วและริมฝีปากไว้จากการพูดหลอกลวง แต่ให้เขาหันหนีจากสิ่งที่ชั่วและกระทำสิ่งที่ดี; ให้เขาแสวงหาสันติสุขและติดตามสันติสุขนั้น.”—1 เปโตร 3:10, 11, ล.ม.
21. พระเยซูทรงให้คำแนะนำที่ลึกซึ้งอะไรเกี่ยวกับการให้อภัย?
21 ก่อนหน้านี้เราได้สังเกตส่วนหนึ่งของลำดับที่เกี่ยวเนื่องกัน: พระเจ้าทรงให้อภัยบาปมากมายที่เราทำในอดีต ดังนั้นเราควรเลียนแบบพระองค์และให้อภัยพี่น้องของเรา. (บทเพลงสรรเสริญ 103:12; ยะซายา 43:25) แต่มีอีกส่วนหนึ่งของลำดับที่เกี่ยวเนื่องกันนี้. หลังจากให้คำอธิษฐานแบบอย่างแล้ว พระเยซูตรัสว่า “ถ้าท่านยกความผิดของมนุษย์, พระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์จะทรงโปรดยกความผิดของท่านด้วย.” ผ่านไปปีกว่า พระองค์ตรัสซ้ำใจความสำคัญนั้น โดยสอนเหล่าสาวกของพระองค์ให้อธิษฐานว่า “โปรดให้อภัยการบาปของพวกข้าพเจ้า ด้วยว่าพวกข้าพเจ้าเองได้อภัยให้แก่ผู้ที่เป็นหนี้พวกข้าพเจ้า.” (มัดธาย 6:12, 14; ลูกา 11:4, ล.ม.) จากนั้นอีกไม่กี่วันก่อนพระองค์สิ้นพระชนม์ พระเยซูตรัสอีกว่า “เมื่อท่านยืนอธิษฐานอยู่, ถ้าท่านมีเหตุกับผู้หนึ่งผู้ใดจงยกโทษให้ผู้นั้นเสีย. เพื่อพระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์จะโปรดยกความผิดของท่านด้วย.”—มาระโก 11:25.
22, 23. ความเต็มใจของเราที่จะให้อภัยมีผลอย่างไรต่ออนาคตของเรา?
22 ใช่แล้ว การคาดหมายจะได้รับการให้อภัยจากพระเจ้าต่อ ๆ ไปนั้นส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับการที่เราเต็มใจให้อภัยพี่น้องของเรา. เมื่อเกิดปัญหากันเป็นส่วนตัวกับเพื่อนคริสเตียน จงถามตัวคุณเองว่า ‘การได้รับอภัยโทษจากพระเจ้าสำคัญยิ่งกว่าการพิสูจน์ว่าพี่น้องของฉันเป็นฝ่ายผิดในเรื่องการดูถูกและข้อขัดเคืองเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือการกระทำบางอย่างที่สะท้อนถึงความไม่สมบูรณ์ของมนุษย์มิใช่หรือ?’ คุณทราบคำตอบดีอยู่แล้ว.
23 อย่างไรก็ตาม จะว่าอย่างไรในกรณีที่ร้ายแรงกว่าข้อขัดเคืองหรือปัญหาส่วนตัวเล็ก ๆ น้อย ๆ? และเมื่อไรจึงจะใช้คำแนะนำของพระเยซูดังบันทึกที่มัดธาย 18:15-18? ให้เราพิจารณาเรื่องนี้ในบทความถัดไป.
[เชิงอรรถ]
a ผู้คงแก่เรียนคนหนึ่งกล่าวว่า อุปลักษณ์ของคำภาษาฮีบรูที่ใช้ในมีคา 7:18 นี้ “มาจากพฤติกรรมของผู้เดินทางคนหนึ่งที่ผ่านสิ่งต่าง ๆ ไปโดยไม่ได้สังเกตเห็นวัตถุซึ่งเขาไม่ต้องการจะใส่ใจ. แนวคิดที่คำนี้สื่อไม่ใช่ว่าพระเจ้าไม่สังเกตเห็นบาปหรือพระองค์ทรงถือว่าบาปเป็นเรื่องไม่สำคัญ หากแต่พระองค์มิได้หมายบาปนั้นไว้เป็นกรณีเฉพาะพร้อมกับคิดถึงการลงโทษ; การที่พระองค์ไม่ทรงลงโทษ แต่ให้อภัย.”—วินิจฉัย 3:26; 1 ซามูเอล 16:8.
คุณจำได้ไหม?
▫ พระยะโฮวาทรงประทานแบบอย่างไว้อย่างไรให้เราดำเนินตามในเรื่องการให้อภัย?
▫ เราต้องจำอะไรไว้เกี่ยวกับคนที่อยู่ในประชาคม?
▫ ในกรณีส่วนมากแล้ว เราน่าจะสามารถทำอะไรได้ในเรื่องการดูหมิ่นดูแคลนหรือข้อขัดเคืองต่าง ๆ?
▫ หากจำเป็น เราสามารถทำอะไรได้เพื่อสร้างสันติกับพี่น้องของเรา?
[รูปภาพหน้า 15]
เมื่อเกิดข้อขัดแย้งกับเพื่อนคริสเตียน จงพยายามปล่อยให้เรื่องนั้นผ่านไป; เมื่อเวลาผ่านไป เรื่องนั้นก็จะค่อย ๆ จางหายไป