อะริศตาโค—เพื่อนผู้ภักดี
ในบรรดาเพื่อนร่วมงานที่วางใจได้หลายคนของอัครสาวกเปาโลก็มีอะริศตาโค. คุณคิดถึงอะไรเมื่อได้ยินชื่อเขา? คิดถึงอะไรบ้างไหม? คุณจะสามารถบอกได้ไหมว่า เขามีบทบาทอะไรในประวัติของคริสเตียนยุคแรก? ถึงแม้อะริศตาโคอาจไม่ใช่บุคคลในคัมภีร์ไบเบิลที่เด่นซึ่งเราคุ้นเคยมากก็ตาม ถึงอย่างไรเขาก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับหลายตอนที่บรรยายไว้ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก.
ดังนั้นแล้ว อะริศตาโคคือใคร? เขามีสัมพันธภาพเช่นไรกับเปาโล? ทำไมจึงกล่าวได้ว่าอะริศตาโคเป็นเพื่อนผู้ภักดี? และเราอาจเรียนรู้บทเรียนอะไรจากการพิจารณาดูตัวอย่างของเขา?
การปรากฏตัวอย่างกะทันหันของอะริศตาโคในเรื่องราวของพระธรรมกิจการมีขึ้นท่ามกลางเสียงร้องตะโกนและความวุ่นวายของฝูงชนที่คลั่งในเมืองเอเฟโซ. (กิจการ 19:23-41) การทำศาลเจ้าของพระเท็จอะระเตมีด้วยเงินเป็นงานที่ให้กำไรดีสำหรับเดเมเตรียวกับช่างเงินชาวเอเฟโซคนอื่น ๆ. ดังนั้น เมื่อการประกาศของเปาโลในเมืองนั้นเป็นเหตุให้คนจำนวนมากทีเดียวละทิ้งการนมัสการที่ไม่สะอาดของเทพธิดาองค์นี้ เดเมเตรียวจึงปลุกระดมช่างคนอื่น ๆ. เขาบอกคนเหล่านั้นว่า การประกาศของเปาโลไม่เพียงแต่เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงด้านการเงินของเขาเท่านั้น แต่ยังทำให้เป็นไปได้ที่การนมัสการอะระเตมีจะถึงจุดจบด้วย.
เมื่อไม่สามารถหาพบเปาโล ฝูงชนที่โกรธแค้นจึงลากเพื่อนร่วมงานของท่านคืออะริศตาโคกับคาโยอย่างถูลู่ถูกังเข้าไปในโรงละคร. เนื่องจากเขาทั้งสองตกอยู่ในอันตรายทีเดียว เพื่อน ๆ ของเปาโลได้อ้อนวอนท่าน “มิให้เข้าไปในโรงละคร.”
ขอให้นึกภาพตัวคุณอยู่ในสถานการณ์นั้น. เป็นเวลาราว ๆ สองชั่วโมง ฝูงชนที่คลั่งตะโกนไม่หยุดว่า “พระอะระเตมีของชาวเอเฟโซเป็นใหญ่!” การพบว่าตัวเองอยู่ภายใต้การครอบงำอย่างสิ้นเชิงของฝูงชนที่คลั่งอยู่โดยไม่สามารถพูดปกป้องตัวเองได้นั้นคงต้องเป็นประสบการณ์ซึ่งทำให้ตกใจกลัวจริง ๆ สำหรับอะริศตาโคกับคาโย. เขาทั้งสองคงต้องสงสัยว่าตนจะรอดชีวิตมาได้หรือไม่. น่ายินดี เขาทั้งสองรอดมาได้. ที่จริง เรื่องราวของลูกาที่ชัดราวกับตาเห็นได้ทำให้ผู้คงแก่เรียนบางคนให้ความเห็นว่าท่านอาศัยหลักฐานจากประจักษ์พยาน บางทีหลักฐานจากอะริศตาโคกับคาโยเอง.
ในที่สุดนายอำเภอได้ทำให้ความชุลมุนวุ่นวายเงียบลง. นั่นคงต้องทำให้อะริศตาโคกับคาโยโล่งอกเป็นอย่างยิ่งเมื่อได้ยินเขายอมรับอย่างไม่ลำเอียงว่าคนทั้งสองไม่มีความผิด และครั้นแล้วก็เห็นฝูงชนที่อลหม่านรอบตัวเขานั้นสลายตัวไป.
คุณจะรู้สึกอย่างไรหลังจากประสบการณ์เช่นนั้น? คุณจะลงความเห็นไหมว่า การเป็นเพื่อนร่วมงานมิชชันนารีของเปาโลนั้นไม่เหมาะกับคุณ มันอันตรายเกินไป และคงจะดีกว่าถ้าคุณแสวงหาชีวิตที่สงบกว่า? อะริศตาโคไม่ได้คิดอย่างนั้น! เพราะมาจากเมืองเธซะโลนิเก ดูเหมือนว่าเขาทราบดีอยู่แล้วถึงอันตรายของการประกาศข่าวดี. ตอนที่เปาโลเผยแพร่ในเมืองของเขาไม่กี่ปีก่อนหน้านั้น ได้เกิดการจลาจลขึ้นที่นั่นด้วยเช่นกัน. (กิจการ 17:1-9; 20:4) อะริศตาโคยืนหยัดเคียงข้างเปาโลอย่างภักดี.
จากกรีซไปสู่กรุงยะรูซาเลม
หลายเดือนหลังจากการจลาจลของช่างเงิน เปาโลอยู่ในกรีซและกำลังจะลงเรือไปมณฑลซีเรียเพื่อเดินทางไปกรุงยะรูซาเลมตอนนั้น “พวกยูดายก็คิดร้ายต่อท่าน.” (กิจการ 20:2, 3) เราพบว่าใครอยู่กับเปาโลในสภาพแวดล้อมที่เสี่ยงอันตรายเช่นนี้? อะริศตาโคนั่นเอง!
ภัยคุกคามครั้งใหม่นี้เป็นเหตุให้เปาโล, อะริศตาโค, กับเพื่อนร่วมงานเปลี่ยนแผน ทีแรกเดินทางผ่านมณฑลมากะโดเนียก่อน จากนั้นก็เดินทางเป็นช่วง ๆ ไปตามชายฝั่งทะเลของเอเชียน้อยก่อนในที่สุดลงเรือที่เมืองปะตาราไปเมืองฟอยนิเก. (กิจการ 20:4, 5, 13-15; 21:1-3) จุดประสงค์ของการเดินทางครั้งนี้ดูเหมือนว่าเพื่อส่งมอบเงินบริจาคของคริสเตียนในมณฑลมากะโดเนียและมณฑลอะคายะแก่พวกพี่น้องที่ขัดสนซึ่งอยู่ในกรุงยะรูซาเลม. (กิจการ 24:17; โรม 15:25, 26) พี่น้องจำนวนมากเดินทางไปด้วยกัน บางทีเนื่องจากพวกเขาได้รับมอบหมายหน้าที่รับผิดชอบนี้จากประชาคมต่าง ๆ. ไม่ต้องสงสัย คนกลุ่มใหญ่เช่นนั้นคงจะรับประกันความปลอดภัยมากกว่าด้วย.
อะริศตาโคมีสิทธิพิเศษใหญ่ยิ่งในการร่วมเดินทางกับเปาโลจากกรีซไปกรุงยะรูซาเลม. อย่างไรก็ดี การเดินทางคราวต่อมาคงต้องพาพวกเขาเดินทางไกลจากมณฑลยูดายไปถึงกรุงโรมเลย.
การเดินทางไปกรุงโรม
ครั้งนี้สภาพการณ์ต่างกันทีเดียว. เปาโลซึ่งถูกควบคุมตัวอยู่ในเมืองกายซาไรอาเป็นเวลาสองปี ได้อุทธรณ์ถึงซีซาร์ และต้องถูกล่ามโซ่ส่งตัวไปกรุงโรม. (กิจการ 24:27; 25:11, 12) ลองนึกภาพดูสิว่าเพื่อนร่วมงานของเปาโลรู้สึกอย่างไร. การเดินทางจากเมืองกายซาไรอาไปกรุงโรมคงจะยาวนานและทำให้อารมณ์ตึงเครียด และผลจะเป็นอย่างไรก็ยังไม่รู้. ใครจะไปกับท่านได้เพื่อให้การเกื้อหนุนและความช่วยเหลือ? ผู้ชายสองคนถูกเลือกหรือไม่ก็สมัครใจไป. ทั้งสองคืออะริศตาโคกับลูกา ผู้เขียนพระธรรมกิจการ.—กิจการ 27:1, 2.
ลูกากับอะริศตาโคสามารถลงเรือลำเดียวกันในช่วงแรกของการเดินทางไปกรุงโรมได้อย่างไร? นักประวัติศาสตร์จูเซปเป รีชอตติ ให้ความเห็นว่า “สองคนนี้เป็นผู้โดยสารเอกชน . . . หรือมีทางเป็นไปได้มากกว่า ที่เขาได้รับการยอมรับด้วยความกรุณาจากผู้บังคับกองร้อยซึ่งแกล้งทำทีถือว่าเขาทั้งสองเป็นทาสของเปาโล เนื่องจากกฎหมายอนุญาตให้พลเมืองชาติโรมันได้รับการช่วยเหลือจากทาสสองสามคน.” เปาโลคงต้องมีกำลังใจสักเพียงไรที่เขาทั้งสองอยู่ด้วยและให้การสนับสนุน!
ลูกากับอะริศตาโคแสดงให้เห็นความรักต่อเปาโลโดยที่ตัวเองอาจต้องได้รับความลำบากและเสี่ยงอันตราย. ที่จริง เขาทั้งสองประสบสถานการณ์ที่คุกคามชีวิตพร้อมกับเพื่อนเชลยเมื่อเรืออับปางที่เกาะเมลีเต (มอลตา).—กิจการ 27:13–28:1.
“เพื่อนร่วมในการถูกจำจอง” ของเปาโล
เมื่อเปาโลเขียนจดหมายถึงชาวโกโลซายและฟิเลโมนในปี ส.ศ. 60-61 นั้น อะริศตาโคกับลูกายังคงอยู่กับท่านในกรุงโรม. อะริศตาโคกับเอปาฟรัศถูกเรียกว่า “ผู้ถูกจำจองด้วยกันกับ” เปาโล. (โกโลซาย 4:10, 14; ฟิเลโมน 23, 24) เพราะฉะนั้น ดูเหมือนว่าอะริศตาโคติดคุกร่วมกับเปาโลชั่วระยะหนึ่ง.
ถึงแม้เปาโลเป็นนักโทษในกรุงโรมอย่างน้อยสองปี ท่านได้รับอนุญาตให้อยู่ภายใต้การควบคุมในบ้านเช่าส่วนตัวซึ่งท่านสามารถประกาศข่าวดีแก่ผู้มาเยี่ยมได้. (กิจการ 28:16, 30) อะริศตาโค, เอปาฟรัศ, ลูกา, และคนอื่น ๆ ต่อจากนั้นได้ปรนนิบัติเปาโล, ช่วยเหลือและค้ำจุนท่าน.
“เครื่องช่วยชูกำลัง”
หลังจากพิจารณาตอนต่าง ๆ ที่มีอะริศตาโคปรากฏอยู่ด้วยในบันทึกของคัมภีร์ไบเบิลที่มีขึ้นโดยการดลใจแล้ว เขาเป็นคนแบบไหน? ตามที่นักเขียนชื่อ ดับเบิลยู. ดี. โทมัสกล่าวไว้นั้น อะริศตาโค “โดดเด่นฐานะเป็นบุรุษที่สามารถเผชิญการต่อต้านและผ่านมาได้โดยที่ยังรักษาความเชื่อไว้และความตั้งใจของเขาที่จะรับใช้พระเจ้าก็มิได้ลดน้อยลง. เขาโดดเด่นฐานะคนที่รักพระเจ้าไม่เฉพาะแต่ในช่วงสุขสบาย ยามตะวันสาดส่องจากท้องฟ้าสีครามเท่านั้น แต่เมื่อถูกสบประมาทและเผชิญมรสุมด้วย.”
เปาโลกล่าวว่า อะริศตาโคกับคนอื่น “เป็นที่หนุนน้ำใจ [“เครื่องช่วยชูกำลัง,” ล.ม.]” (กรีก พาเรโกริ ʹอา) สำหรับท่าน กล่าวคือ เป็นแหล่งแห่งการปลอบใจ. (โกโลซาย 4:10, 11) ดังนั้น โดยการปลอบโยนและทำให้เปาโลมีกำลังใจ อะริศตาโคเป็นเพื่อนแท้ในยามที่ต้องการ. การคบหาและมีมิตรภาพกับอัครสาวกในช่วงเวลาหลายปีคงต้องเป็นประสบการณ์ที่น่าพอใจและเสริมสร้างด้านวิญญาณ.
ตัวเราเองอาจไม่ได้เผชิญสภาพแวดล้อมที่น่าตื่นเต้นทีเดียวอย่างที่อะริศตาโคประสบ. แต่กระนั้น ความภักดีที่คล้ายกันต่อพี่น้องฝ่ายวิญญาณของพระคริสต์และต่อองค์การของพระยะโฮวาเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคนในประชาคมคริสเตียนทุกวันนี้. (เทียบกับมัดธาย 25:34-40.) อาจเป็นได้ว่าเพื่อนร่วมนมัสการที่เรารู้จักนั้นไม่ช้าก็เร็วจะประสบความยากลำบากหรือความทุกข์ บางทีเนื่องจากการสูญเสียคนที่รัก, ความเจ็บป่วย, หรือความยากลำบากอื่น ๆ. โดยการยืนหยัดเคียงข้างเขาและให้ความช่วยเหลือ, การปลอบโยน, และการให้กำลังใจ, เราสามารถประสบความยินดีและพิสูจน์ตัวได้ว่าเป็นเพื่อนผู้ภักดี.—เทียบกับสุภาษิต 17:17; กิจการ 20:35.