พระยะโฮวาสามารถทำให้คุณมีพลังเข้มแข็งได้
“พระองค์ทรงประทานแรงแก่ผู้ที่อิดโรย, ส่วนผู้ที่อ่อนเปลี้ย พระองค์ทรงประทานกำลังให้.”—ยะซายา 40:29.
1, 2. อะไรเป็นพยานหลักฐานบางประการเกี่ยวด้วยฤทธานุภาพเหลือล้นของพระยะโฮวา?
พระยะโฮวาเป็นพระเจ้า “ทรงฤทธานุภาพอย่างยิ่ง.” เราสามารถเห็นหลักฐานพิสูจน์ “ฤทธานุภาพอันถาวรและความเป็นพระเจ้าของพระองค์” ได้ในความเลิศลอยแห่งการสร้างสรรค์ของพระองค์ในธรรมชาติ. คนเหล่านั้นที่ปฏิเสธไม่รับรู้หลักฐานดังกล่าวเกี่ยวด้วยสภาวะของพระองค์ในฐานะผู้สร้างจึงไม่มีข้อแก้ตัวได้.—บทเพลงสรรเสริญ 147:5; โรม 1:19, 20, ล.ม.
2 ฤทธานุภาพของพระยะโฮวาปรากฏหลักฐานเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่นักวิทยาศาสตร์สำรวจลึกเข้าไปในเอกภพ ซึ่งมีกาแล็กซีมากมายนับไม่ถ้วนแผ่กว้างไพศาลห่างออกไปไกลหลายร้อยล้านปีแสง. ยามค่ำคืนฟ้าโปร่ง ลองมองดูท้องฟ้าสิ คุณคงมีความรู้สึกอย่างเดียวกันกับผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญที่กล่าวดังนี้: “ขณะที่ข้าพเจ้าแลเห็นฟ้าสวรรค์ของพระองค์ บรรดาราชกิจแห่งนิ้วพระหัตถ์ของพระองค์ ดวงจันทร์และดวงดาวทั้งหลายซึ่งพระองค์ได้ทรงจัดทำขึ้นไว้นั้นแล้ว มนุษย์ที่ต้องตายนั้นเป็นผู้ใดเล่าที่พระองค์ทรงระลึกถึงเขา และบุตรมนุษย์เดินดินที่พระองค์จะทรงดูแลเขา?” (บทเพลงสรรเสริญ 8:3, 4, ล.ม.) และพระยะโฮวาทรงใฝ่พระทัยดูแลมนุษย์และพวกเราเป็นอย่างดีเสียจริง ๆ! พระองค์ได้จัดเตรียมแผ่นดินโลกให้เป็นบ้านที่สวยงามสำหรับชายหญิงคู่แรก. แม้แต่ดินก็ยังมีพลัง คือพืชสามารถเติบโตขึ้นจากดิน, ผลิตอาหารที่บำรุงกำลังและไม่มีมลพิษ. มนุษย์และสัตว์ได้กำลังเรี่ยวแรงจากการสำแดงฤทธานุภาพของพระเจ้าวิธีนี้.—เยเนซิศ 1:12; 4:12; 1 ซามูเอล 28:22.
3. นอกเหนือจากสิ่งต่าง ๆ ทางธรรมชาติในเอกภพแล้ว อะไรอีกที่แสดงถึงฤทธานุภาพของพระเจ้า?
3 นอกจากท้องฟ้าเป็นสิ่งน่าพิศวงและพรรณพืชกับพรรณสัตว์บนแผ่นดินโลกยังความชื่นบานแล้ว สรรพสิ่งเหล่านั้นล้วนแสดงให้เราเห็นฤทธานุภาพของพระเจ้า. อัครสาวกเปาโลเขียนดังนี้: “เพราะคุณลักษณะต่าง ๆ ของพระองค์อันไม่ประจักษ์แก่ตาก็เห็นได้ชัด ตั้งแต่การสร้างโลกเป็นต้นมา เพราะว่าคุณลักษณะเหล่านั้นเป็นที่เข้าใจได้โดยสิ่งทั้งปวงที่ถูกสร้างขึ้น กระทั่งฤทธานุภาพอันถาวรและความเป็นพระเจ้าของพระองค์นั้น.” (โรม 1:20, ล.ม.) แต่มีหลักฐานอีกอย่างหนึ่งซึ่งบ่งบอกถึงอำนาจของพระองค์อันควรแก่การเอาใจใส่และการหยั่งรู้ค่าของเรา. คุณอาจประหลาดใจว่า ‘อะไรหรือจะแสดงให้เห็นฤทธานุภาพของพระเจ้ามากกว่าเอกภพ?’ คำตอบคือพระเยซูคริสต์. ที่จริง อัครสาวกเปาโลได้รับการดลใจให้กล่าวว่า พระคริสต์ถูกตรึงนั้น “เป็นฤทธิ์เดชและพระปัญญาของพระเจ้า.” (1 โกรินโธ 1:24) คุณอาจถามว่า ‘ทำไมเป็นเช่นนั้น และสิ่งนี้เกี่ยวข้องอะไรกับชีวิตของฉันตอนนี้?’
ฤทธิ์เดชปรากฏโดยทางพระบุตรของพระองค์
4. พระเจ้าทรงสำแดงฤทธิ์เดชอย่างไรในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระบุตรของพระองค์?
4 พระเจ้าสำแดงฤทธิ์เดชครั้งแรกสุดเมื่อพระองค์ได้ทรงสร้างพระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียว และสร้างขึ้นตามฉายาของพระองค์. บุตรกายวิญญาณองค์นี้รับใช้พระยะโฮวาในฐานะ “นายช่างที่ชำนาญ” โดยอาศัยฤทธิ์อำนาจที่มีล้นเหลือของพระเจ้าในการสร้างสรรพสิ่งอื่น ๆ ทั้งปวง. (สุภาษิต 8:22, 30) เปาโลเขียนถึงพี่น้องคริสเตียนในเมืองโกโลซายว่า “เพราะโดยพระองค์ สิ่งอื่นทั้งสิ้นถูกสร้างขึ้นทั้งในสวรรค์และที่แผ่นดินโลก สิ่งที่เห็นได้และสิ่งที่เห็นไม่ได้ สิ่งอื่นทั้งสิ้น . . . ได้สร้างขึ้นโดยพระองค์และเพื่อพระองค์.”—โกโลซาย 1:15, 16, ล.ม.
5-7. (ก) ในอดีต มนุษย์ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการสำแดงฤทธิ์เดชของพระเจ้าอย่างไร? (ข) มีเหตุผลอะไรที่เชื่อว่าฤทธิ์เดชของพระเจ้าสามารถปรากฏให้เห็นได้ในกรณีของคริสเตียนสมัยนี้?
5 พวกเราเป็นส่วนของ ‘สิ่งที่ถูกสร้างขึ้นที่แผ่นดินโลก.’ ฉะนั้น ฤทธิ์เดชของพระเจ้าสามารถแผ่มาถึงพวกเราผู้เป็นมนุษย์ได้ไหม? ตลอดเวลาที่พระเจ้าทรงดำเนินการติดต่อกับมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์ บางครั้งพระยะโฮวาได้ประทานกำลังเป็นพิเศษแก่ผู้รับใช้ของพระองค์ เพื่อเขาจะกระทำให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จ. โมเซรู้ว่า โดยทั่วไปมนุษย์ไม่สมบูรณ์มีชีวิตอยู่ได้ 70 หรือ 80 ปี. (บทเพลงสรรเสริญ 90:10) โมเซเองเป็นอย่างไร? ท่านอยู่ได้ถึง 120 ปี กระนั้น “จักษุของท่านยังมิได้มัว, และกำลังก็ยังมิได้หย่อนถอย.” (พระบัญญัติ 34:7) ขณะที่นั้นไม่หมายความว่า พระเจ้าจะยืดอายุผู้รับใช้แต่ละคนของพระองค์ให้ยืนยาวหรือให้กระชุ่มกระชวยถึงขนาดนั้น แต่ก็เป็นข้อพิสูจน์ว่าพระยะโฮวาจะให้กำลังเรี่ยวแรงแก่มนุษย์ได้.
6 การสำแดงพระปรีชาญาณต่อไปอีกของพระเจ้าที่ทรงให้พลังแก่มนุษย์ชายหญิงได้นั้น คือสิ่งที่พระองค์ทรงกระทำกับภรรยาอับราฮาม. “นางซาราเองก็ได้กำลังตั้งครรภ์เมื่ออายุแก่เกินแล้ว, เพราะนางนั้นได้ถือว่าพระองค์ผู้ได้ทรงสัญญาไว้นั้นเป็นผู้สัตย์ซื่อ.” หรือพิจารณาวิธีที่พระเจ้าทรงประทานกำลังแก่ผู้วินิจฉัยและคนอื่นในแผ่นดินยิศราเอล เช่น “ฆิดโอน, บาราค, ซิมโซน, และยิพธา, ดาวิด, และซามูเอล, และผู้พยากรณ์ทั้งหลาย. . . . เมื่อก่อนอ่อนกำลังแล้วก็มีกำลังมากขึ้น.”—เฮ็บราย 11:11, 32-34.
7 ฤทธิ์เดชดังกล่าวอาจเข้ามาดำเนินกิจในกรณีของเราได้เหมือนกัน. เราอาจไม่คาดหวังจะมีลูกเต้าโดยการอัศจรรย์, หรือเราอาจจะไม่ได้แสดงพละกำลังแข็งแรงอย่างซิมโซน. แต่เราจะเป็นคนมีพลังเข้มแข็งได้ เช่นกับที่เปาโลได้กล่าวถึงปุถุชนในเมืองโกโลซาย. ใช่แล้ว เปาโลเขียนถึงผู้ชาย, ผู้หญิง, และเด็ก ๆ อย่างที่เราพบเห็นในประชาคมต่าง ๆ เวลานี้, และท่านบอกว่า คนเหล่านั้น “มีกำลังมากขึ้นทุกอย่างโดย [ฤทธิ์] เดช.”—โกโลซาย 1:11.
8, 9. ในศตวรรษแรก ฤทธิ์เดชของพระเจ้าได้ปรากฏชัดแจ้งอย่างไรในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์อย่างพวกเรา?
8 ระหว่างการทำงานรับใช้ของพระเยซูบนแผ่นดินโลก พระยะโฮวาทรงทำให้เห็นชัดว่า ฤทธิ์เดชของพระองค์ดำเนินงานโดยทางพระบุตรของพระองค์. ยกตัวอย่าง ณ โอกาสหนึ่ง เมื่อฝูงชนพากันมาหาพระเยซูที่เมืองกัปเรนาอูม “ฤทธิ์เดชของพระเจ้า [พระยะโฮวา, ล.ม.] ก็สถิตอยู่ในพระองค์เพื่อจะรักษาเขาให้หายโรค.”—ลูกา 5:17.
9 หลังจากพระองค์ถูกปลุกคืนพระชนม์แล้ว พระเยซูทรงรับรองสาวกของพระองค์ให้แน่ใจว่า เขาจะ ‘ได้รับฤทธิ์เมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์ได้มาสถิตกับเขา.’ (กิจการ 1:8) เป็นอย่างนั้นจริง ๆ! นักประวัติศาสตร์คนหนึ่งรายงานการเปลี่ยนแปลงใหญ่หลังจากวันเพ็นเตคอสเต ปีสากลศักราช 33 เพียงไม่กี่วันดังนี้: “อัครสาวกจึงประกอบด้วยฤทธิ์เดชใหญ่ยิ่ง, และได้เป็นพยานว่าพระเยซูเจ้าได้ทรงคืนพระชนม์แล้ว.” (กิจการ 4:33) เปาโลเองเป็นคนหนึ่งที่ได้รับฤทธิ์เดชเพื่อทำการงานตามที่พระเจ้าทรงมอบหมาย. ภายหลังการเปลี่ยนศาสนาและสายตาของท่านเห็นเป็นปกติแล้ว ท่าน “ยิ่งมีกำลังทวีขึ้น, และทำให้พวกยูดายในเมืองดาเมเซ็กนิ่งอั้นอยู่, เพราะได้แสดงให้เขาเห็นแน่ว่าพระองค์นี้แหละคือพระคริสต์.”—กิจการ 9:22.
10. ฤทธิ์เดชที่มาจากพระเจ้าได้ช่วยอย่างไรในกรณีของเปาโล?
10 แน่นอน เปาโลต้องการกำลังเรี่ยวแรงเป็นพิเศษ เมื่อเรานึกถึงความเข้มแข็งอดทนทั้งฝ่ายวิญญาณและด้านอารมณ์ที่จำเป็นต่อการเดินทางเผยแพร่ถึงสามรอบซึ่งเป็นระยะทางหลายพันกิโลเมตร. นอกจากนั้น ท่านยอมทนรับความยากลำบากหลายอย่าง, ทนการคุมขังและเผชิญการถูกประหารเพราะความเชื่อ. ท่านทนได้อย่างไร? ท่านตอบว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงยืนอยู่ใกล้ข้าพเจ้าและทรงเติมกำลังแก่ข้าพเจ้า เพื่อการประกาศจะสำเร็จครบถ้วนโดยทางข้าพเจ้า.”—2 ติโมเธียว 4:6-8, 17, ล.ม.; 2 โกรินโธ 11:23-27.
11. เกี่ยวกับฤทธิ์เดชของพระเจ้า เปาโลได้พาดพิงถึงความหวังอะไรสำหรับเพื่อนผู้รับใช้ด้วยกันกับท่านในเมืองโกโลซาย?
11 ดังนั้นแล้ว จึงไม่แปลกที่เมื่อเปาโลเขียนถึง “พวกพี่น้องที่เลื่อมใสศรัทธาในพระคริสต์ที่เมืองโกโลซาย” ท่านได้รับรองกับพวกเขาว่า เขาจะ “มีกำลังมากขึ้นทุกอย่างโดยเดชแห่งสง่าราศีของพระองค์ [พระยะโฮวา], ให้มีความเพียรที่สุด และความอดทนไว้นานด้วยความยินดี.” (โกโลซาย 1:2, 11) แม้นถ้อยคำเหล่านั้นมีไปถึงคริสเตียนผู้ถูกเจิมเป็นประการแรกก็ตาม แต่ทุกคนที่เจริญรอยตามพระคริสต์ย่อมได้รับประโยชน์อย่างใหญ่หลวงจากสิ่งที่เปาโลได้เขียน.
ได้รับพลังเข้มแข็งที่เมืองโกโลซาย
12, 13. สภาพการณ์เบื้องหลังเป็นเช่นไรซึ่งทำให้เปาโลเขียนจดหมายไปยังชาวโกโลซาย และดูเหมือนได้มีการตอบรับอย่างไร?
12 ประชาคมโกโลซาย ซึ่งตั้งอยู่ในมณฑลอาเซียของโรม อาจถูกก่อตั้งขึ้นโดยการประกาศของคริสเตียนผู้ซื่อสัตย์ชื่อเอปาฟรัศ. ดูเหมือนว่าเมื่อเขาได้ข่าวเปาโลถูกคุมขังในโรมประมาณปีสากลศักราช 58 เอปาฟรัศจึงตั้งใจไปเยี่ยมอัครสาวกและหนุนใจท่านด้วยการรายงานเรื่องความรักและความหนักแน่นมั่นคงของบรรดาพี่น้องในเมืองโกโลซายให้ทราบ. อนึ่ง เอปาฟรัศคงได้รายงานตามความจริงเกี่ยวกับปัญหาบางประการในประชาคมโกโลซายซึ่งจำเป็นต้องแก้ไข. เปาโลจึงมองเห็นถึงความเร่งด่วนจะต้องเขียนจดหมายไปยังประชาคมเพื่อให้การหนุนใจและคำแนะนำตักเตือน. คุณก็อาจรับการหนุนใจได้มากเช่นกันจากบท 1 ของจดหมายนั้น เพราะให้หลักฐานว่าพระยะโฮวาทำให้ผู้รับใช้ของพระองค์มีพลังเข้มแข็งได้อย่างไร.
13 คุณสามารถนึกภาพได้ว่าพี่น้องชายหญิงในประชาคมโกโลซายคงรู้สึกอย่างไรเมื่อเปาโลพรรณนาว่าเขาเป็น “พวกพี่น้องที่เลื่อมใสศรัทธาในพระคริสต์.” เขาสมควรรับคำชมเพราะเขา ‘มีความรักต่อสิทธชน’ และ ‘บังเกิดผลอันเนื่องมาจากข่าวดี’ เริ่มตั้งแต่พวกเขาได้เข้ามาเป็นคริสเตียน! คำพูดชมเชยอย่างเดียวกันนี้อาจนำมาใช้กับประชาคมของเราและสำหรับพวกเราแต่ละคนได้ไหม?—โกโลซาย 1:2-8.
14. ความปรารถนาของเปาโลเป็นเช่นไรต่อชาวโกโลซาย?
14 เปาโลซาบซึ้งใจเมื่อท่านรับรายงาน จนท่านได้บอกชาวโกโลซายว่า ท่านเองไม่ได้หยุดที่จะอธิษฐานเพื่อเขาและได้ทูลขอให้เขา “ประกอบเต็มด้วยความรู้ [ที่ถูกต้อง, ล.ม.] ถึงพระทัยของพระองค์ในสรรพปัญญาและความเข้าใจฝ่ายวิญญาณ, เพื่อท่านทั้งหลายจะได้ประพฤติอย่างที่สมควรแก่องค์พระผู้เป็นเจ้า [พระยะโฮวา].” ท่านอธิษฐานขอให้พวกเขา “เกิดผลในการดีทุกอย่าง, และจำเริญในความรู้ถึงพระเจ้า มีกำลังมากขึ้นทุกอย่างโดยเดชแห่งสง่าราศีของพระองค์, ให้มีความเพียรที่สุด และความอดทนไว้นานด้วยความยินดี.”—โกโลซาย 1:9-11.
ได้รับพลังเข้มแข็งในเวลานี้เช่นกัน
15. พวกเราจะแสดงท่าทีอย่างเดียวกันได้โดยวิธีใด ดังที่สะท้อนให้เห็นจากสิ่งที่เปาโลเขียนถึงชาวโกโลซาย?
15 นับว่าเปาโลได้วางตัวอย่างอันดีจริง ๆ สำหรับพวกเรา! พี่น้องของเราที่อยู่ทั่วโลกต้องการให้เราอธิษฐานเผื่อเขา เพื่อเขาจะอดทนและคงความชื่นชมยินดีอยู่เสมอแม้ประสบความยากลำบาก. เช่นเดียวกับเปาโล เราควรพูดเจาะจงในการอธิษฐานเมื่อเราได้ข่าวว่า พี่น้องในอีกประชาคมหนึ่งหรือในประเทศอื่นกำลังเดือดร้อน. อาจเป็นได้ว่าประชาคมใกล้เคียงประสบภัยธรรมชาติ หรือมีความยุ่งยากบางอย่างฝ่ายวิญญาณ. หรือบางทีคริสเตียนกำลังทนสู้ความยากลำบากในประเทศที่มีสงครามกลางเมือง หรือการเข่นฆ่ากันระหว่างเผ่า. ในคำอธิษฐาน เราควรทูลขอพระเจ้าช่วยพี่น้องของเรา ‘ประพฤติอย่างที่สมควรแก่พระยะโฮวา’ เพื่อบังเกิดผลแห่งราชอาณาจักรต่อไปเรื่อย ๆ ขณะที่เขาอดทนและจำเริญในความรู้ยิ่ง ๆ ขึ้น. ด้วยวิธีนี้แหละ ผู้รับใช้ของพระเจ้าได้รับฤทธิ์เดชแห่งพระวิญญาณของพระองค์ “มีกำลังมากขึ้นทุกอย่างโดยเดชแห่งสง่าราศี.” คุณมั่นใจได้ว่า พระบิดาของคุณจะสดับคำอธิษฐานและทรงโปรดตามที่เราทูลขอ.—1 โยฮัน 5:14, 15.
16, 17. (ก) ตามที่เปาโลได้เขียน พวกเราน่าจะรู้สึกขอบคุณสำหรับสิ่งใด? (ข) ไพร่พลของพระเจ้าได้รับการปลดปล่อยและการให้อภัยในแง่ไหน?
16 เปาโลเขียนว่า ชาวโกโลซายควร ‘ขอบคุณพระบิดาผู้ทรงบันดาลพวกเขาสมกับการมีส่วนได้รับมฤดกกับสิทธชนในความสว่าง.’ ให้พวกเราทำเช่นนั้นเหมือนกัน คือขอบพระคุณพระบิดาทางภาคสวรรค์ที่โปรดให้เราเข้ามาอยู่ในการจัดเตรียมของพระองค์ ไม่ว่าทางภาคสวรรค์หรือทางแผ่นดินโลกภายใต้ราชอาณาจักรของพระองค์. พระเจ้าทรงทำให้มนุษย์ผู้ไม่สมบูรณ์อยู่ในฐานะอันเหมาะสมในสายพระเนตรของพระองค์โดยวิธีใด? เปาโลได้เขียนถึงพี่น้องของท่านซึ่งเป็นผู้ถูกเจิมดังนี้: “[พระองค์] ได้ทรงช่วยเราทั้งหลายให้พ้นจากอำนาจแห่งความมืด, และได้ทรงย้ายเรามาตั้งไว้ในแผ่นดินแห่งพระบุตรที่รักของพระองค์. ในพระองค์นั้นเราทั้งหลายจึงได้รับการไถ่, คือทรงโปรดยกความผิดทั้งหลายของเรา.”—โกโลซาย 1:12-14.
17 ไม่ว่าเราจะมีความหวังฝ่ายสวรรค์หรือทางแผ่นดินโลก ทุก ๆ วันเราขอบคุณพระเจ้าผู้ทรงช่วยเราให้รอดจากระบบชั่วที่มืดมนนี้ อันเป็นผลสัมฤทธิ์เนื่องจากความเชื่อศรัทธาของเราต่อการเตรียมการอันล้ำค่าเกี่ยวด้วยเครื่องบูชาไถ่แห่งพระบุตรที่รักของพระยะโฮวา. (มัดธาย 20:28) คริสเตียนผู้ถูกเจิมด้วยพระวิญญาณได้รับประโยชน์จากค่าไถ่ซึ่งนำไปใช้กับพวกเขาในแนวพิเศษ เพื่อเขาจะถูก ‘ย้ายมาตั้งไว้ในแผ่นดินแห่งพระบุตรที่รักของพระเจ้า.’ (ลูกา 22:20, 29, 30) แต่ “แกะอื่น” ก็เช่นกันได้รับประโยชน์จากค่าไถ่แม้ในเวลานี้ด้วยซ้ำ. (โยฮัน 10:16) พวกเขาได้รับการอภัยโทษจากพระเจ้า เพื่อจะอยู่ในฐานะอันชอบธรรมจำเพาะพระองค์เสมือนมิตรของพระองค์. พวกเขามีส่วนร่วมมากมายในการประกาศ “ข่าวดีแห่งราชอาณาจักร” ในสมัยสุดท้ายนี้. (มัดธาย 24:14) ยิ่งกว่านั้น พวกเขามีความหวังอันดีเยี่ยมที่จะเป็นคนชอบธรรมครบถ้วน และมีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์เมื่อสิ้นการปกครองหนึ่งพันปีของพระคริสต์. ขณะอ่านคำพรรณนาที่วิวรณ์ 7:13-17 ดูซิว่า คุณจะไม่เห็นด้วยทีเดียวหรือที่ว่าสภาพการณ์เหล่านั้นพิสูจน์ว่าพวกเขาได้รับการช่วยให้รอดและได้รับพระพร.
18. พระเจ้ายังทำให้การกลับคืนดีในลักษณะเช่นไรสัมฤทธิผลตามที่กล่าวไว้ในพระธรรมโกโลซาย?
18 จดหมายของเปาโลช่วยเราให้ตระหนักว่าเราเป็นหนี้บุรุษผู้ใหญ่ยิ่งเท่าที่โลกเคยเห็นมากสักเพียงไร. พระเจ้าทรงสัมฤทธิผลอะไรโดยทางพระคริสต์? “[นั่นคือ] ให้สิ่งอื่น ๆ ทั้งสิ้นคืนดีกับพระองค์โดยสร้างสันติภาพด้วยพระโลหิตที่พระองค์ได้หลั่งลงบนเสาทรมาน ไม่ว่าสิ่งนั้นอยู่บนแผ่นดินโลกหรือในสวรรค์.” พระประสงค์ของพระเจ้าคือที่จะให้สิ่งสารพัดกลับสมานไมตรีกับพระองค์โดยครบถ้วน ดังที่เป็นเช่นนั้นแต่เดิมทีก่อนการกบฏในสวนเอเดน. ผู้ที่พระยะโฮวาทรงใช้ให้สร้างสรรพสิ่งทั้งปวงก็เป็นองค์เดียวกันกับที่พระยะโฮวาทรงใช้ในขณะนี้เพื่อจะทำให้การกลับคืนดีนั้นสัมฤทธิผล.—โกโลซาย 1:20, ล.ม.
ได้รับพลังเข้มแข็งเพื่อวัตถุประสงค์อะไร?
19, 20. ที่เราเป็นผู้บริสุทธิ์และพ้นจากตำหนินั้นขึ้นอยู่กับอะไร?
19 หน้าที่รับผิดชอบต่าง ๆ ตกอยู่กับคนเหล่านั้นที่อยู่ท่ามกลางพวกเราซึ่งเป็นผู้ที่ได้กลับคืนดีกับพระเจ้าแล้ว. เมื่อก่อนเราเป็นคนบาปและห่างเหินพระเจ้า. แต่บัดนี้ ด้วยความเชื่อในเครื่องบูชาของพระเยซูและด้วยจิตใจของเราที่ไม่ฝักใฝ่สิ่งชั่วอีกต่อไป จริง ๆ แล้ว เราอยู่ในฐานะ “เป็นผู้บริสุทธิ์พ้นจากตำหนิและปราศจากที่จะติได้.” (โกโลซาย 1:21, 22) คิดดูซิ พระเจ้าไม่ทรงละอายพยานเหล่านั้นที่ซื่อสัตย์คราวโบราณฉันใด พระองค์ก็ไม่ทรงละอายพวกเรา ที่เราเรียกพระองค์เป็นพระเจ้าของเราฉันนั้น. (เฮ็บราย 11:16) เวลานี้ ไม่มีใครอาจกล่าวหาพวกเราได้ว่าเรามีชื่อตามพระนามอันเกริกก้องของพระองค์อย่างไม่ถูกต้อง อีกทั้งไม่มีใครอาจกล่าวหาพวกเราว่ากลัวที่จะประกาศพระนามนี้ทั่วโลก!
20 กระนั้น จงสังเกตคำเตือนให้ระมัดระวังซึ่งเปาโลเพิ่มเข้าที่โกโลซาย 1:23 ที่ว่า “ถ้าท่านทั้งหลายดำรงและตั้งยั่งยืนมั่นคงอยู่ในความเชื่อ, และไม่โยกย้ายไปเสียจากความไว้ใจในกิตติคุณซึ่งท่านได้ยินแล้ว, ซึ่งได้ประกาศแล้วแก่มนุษย์ทุกคนที่อยู่ใต้ฟ้า.” ดังนั้น ส่วนใหญ่จึงขึ้นอยู่กับการที่เราประพฤติอย่างซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวาเสมอ เจริญรอยตามพระบุตรที่รักของพระองค์. พระยะโฮวาและพระเยซูทรงกระทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อพวกเรามากมายเหลือเกิน! ขอให้เราแสดงความรักต่อพระองค์ทั้งสองด้วยการปฏิบัติตามคำแนะนำของเปาโล.
21. ทำไมเวลานี้เรามีเหตุผลมากมายที่จะรู้สึกตื่นเต้นดีใจ?
21 พวกคริสเตียนที่โกโลซายคงต้องตื่นเต้นดีใจที่ได้ฟังมาว่า ‘ข่าวดีซึ่งพวกเขาเองได้ยิน’ นั้น “ได้ประกาศแล้วแก่มนุษย์ทุกคนที่อยู่ใต้ฟ้า.” สมัยนี้ ยิ่งน่าตื่นเต้นดีใจกว่านั้นอีกเมื่อได้ยินว่าข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรได้ประกาศไปแล้วในขอบข่ายใหญ่โตโดยเหล่าพยานฯจำนวนมากกว่าสี่ล้านห้าแสนคนใน 230 กว่าดินแดน. คิดดูซิแต่ละปี มีผู้คนเกือบ 300,000 คนจากทุกชาติได้เข้ามาคืนดีกับพระเจ้า!—มัดธาย 24:14; 28:19, 20.
22. ถึงแม้นเราประสบความทุกข์ลำบาก พระเจ้าจะทรงทำอะไรเพื่อเราได้?
22 แม้ปรากฏหลักฐานว่าเปาโลติดคุกตอนที่ท่านเขียนจดหมายถึงพี่น้องที่โกโลซาย แต่ท่านไม่บ่นรำพันถึงความทุกข์ยากแต่ประการใด. ท่านกลับพูดอย่างนี้: “บัดนี้ข้าพเจ้ามีความยินดีในการอดทนความทุกข์ของข้าพเจ้าเพราะเห็นแก่ท่านทั้งหลาย.” เปาโลทราบว่าอะไรคือ ‘การมีกำลังมากขึ้นทุกอย่าง, มีความเพียรถึงที่สุดด้วยความยินดี.’ (โกโลซาย 1:11, 24) แต่ท่านรู้อยู่ว่าท่านอดทนได้ไม่ใช่ด้วยกำลังของท่านเอง. พระยะโฮวาทรงให้พลังเข้มแข็งแก่ท่าน. ในทุกวันนี้ก็เช่นกัน พยานฯหลายพันคนซึ่งเคยติดคุกและรับการข่มเหงก็หาได้เสียความยินดีของตนไม่ในการรับใช้พระยะโฮวา. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น เขาได้มาหยั่งรู้ค่าความสัตย์จริงแห่งพระคำของพระเจ้าที่ปรากฏในยะซายา 40:29-31 ดังนี้: “พระองค์ทรงประทานแรงแก่ผู้ที่อิดโรย . . . ผู้ที่คอยท่าพระยะโฮวาจะได้รับกำลังเพิ่มขึ้น.”
23, 24. อะไรเป็นความลับอันศักดิ์สิทธิ์ตามที่กล่าวไว้ในโกโลซาย 1:26?
23 งานรับใช้ประกาศข่าวดีซึ่งรวมจุดอยู่ที่พระคริสต์นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเปาโล. ท่านต้องการให้ผู้อื่นรู้คุณค่าบทบาทของพระเยซูในพระประสงค์ของพระเจ้า ดังนั้น ท่านจึงพรรณนาคุณค่าของงานเสมือน ‘ความลับอันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งทรงปิดซ่อนไว้มาหลายยุคหลายชั่วอายุ.’ กระนั้น ใช่ว่าเป็นความลับตลอดไป. เปาโลกล่าวเพิ่มเติมว่า “แต่เดี๋ยวนี้ได้ทรงโปรดให้เห็นประจักษ์แก่สิทธชนของพระองค์.” (โกโลซาย 1:26) เมื่อเกิดกบฏขึ้นในสวนเอเดน พระยะโฮวาได้ทรงสัญญาจะให้มีสิ่งที่ดีกว่า โดยการบอกล่วงหน้าว่า ‘พงศ์พันธุ์ของหญิงจะทำให้หัวงูฟกช้ำ.’ (เยเนซิศ 3:15) ข้อนี้หมายถึงอะไร? นานนับหลายชั่วอายุ หลายศตวรรษ เรื่องนี้ยังเป็นความลึกลับอยู่. ครั้นพระเยซูเสด็จเข้ามาในโลก และพระองค์ “ได้ทรงนำชีวิตและซึ่งไม่รู้เปื่อยเน่านั้นให้กระจ่างแจ้งโดยกิตติคุณ.”—2 ติโมเธียว 1:10.
24 ถูกแล้ว “ความลับอันศักดิ์สิทธิ์” รวมจุดอยู่ที่พระคริสต์และราชอาณาจักรพระมาซีฮา. เปาโลพูดถึง “สิ่งที่อยู่ในสวรรค์” เป็นการพาดพิงถึงบุคคลเหล่านั้นซึ่งจะร่วมปกครองกับพระคริสต์ทางภาคสวรรค์. คนเหล่านี้จะเป็นเครื่องมือนำพระพรนานัปการมาสู่ ‘สรรพสิ่งที่อยู่บนแผ่นดินโลก’ คือคนเหล่านั้นที่จะชื่นชมในอุทยานตลอดไปบนแผ่นดินโลกนี้. ฉะนั้น คุณคงเข้าใจได้ว่า เหมาะสมเพียงใดที่เปาโลกล่าวพาดพิงถึง “ความมั่งคั่งแห่งข้อลับลึก [ความลับอันศักดิ์สิทธิ์, ล.ม.] นี้.”—โกโลซาย 1:20, 27.
25. ดังระบุไว้ที่โกโลซาย 1:29 เราน่าจะมีท่าทีเช่นไรเวลานี้?
25 เปาโลเฝ้าคอยด้วยใจจดจ่อที่จะมีบทบาทในราชอาณาจักร. กระนั้น ท่านตระหนักว่าไม่ใช่เพียงแต่จะนั่งคอยอยู่เฉย ๆ โดยไม่ทำอะไร. “เพราะเหตุนั้นข้าพเจ้าจึงกระทำการงานด้วย, โดยความอุตสาหะตามการกระทำของพระองค์ผู้ทรงออกฤทธิ์กระทำอยู่ในตัวข้าพเจ้า.” (โกโลซาย 1:29) โปรดสังเกตว่า พระยะโฮวา โดยทางพระคริสต์ได้ทำให้เปาโลมีพลังเข้มแข็งเพื่อท่านจะสามารถทำงานรับใช้อันเป็นการช่วยชีวิตได้สำเร็จผล. พระยะโฮวาทรงสามารถทำอย่างเดียวกันเพื่อพวกเราสมัยนี้. แต่เราควรถามตัวเองว่า ‘ฉันมีวิญญาณแห่งการเผยแพร่อย่างที่เคยมีตอนแรก ๆ เมื่อฉันเรียนความจริงไหม?’ คุณตอบอย่างไร? อะไรจะช่วยพวกเราแต่ละคน ‘ทำงานอย่างขันแข็งและบากบั่นกระทำตามการดำเนินงานแห่งฤทธิ์เดชของพระยะโฮวา’ อยู่เรื่อยไป? จะมีการพิจารณาเรื่องนี้ในบทความถัดไป.
คุณได้สังเกตไหม?
▫ ทำไมเราแน่ใจได้ว่า พระยะโฮวาจะทรงสำแดงฤทธานุภาพของพระองค์เพื่อเห็นแก่มนุษย์?
▫ อะไรคือสภาพการณ์เบื้องหลังถ้อยคำของเปาโลที่โกโลซายบทหนึ่ง?
▫ พระเจ้าทรงดำเนินการอย่างไรเกี่ยวด้วยการกลับคืนดีดังคำกล่าวในโกโลซาย 1:20?
▫ พระยะโฮวาจะทรงทำอะไรให้สัมฤทธิผลผ่านพวกเราโดยฤทธิ์เดชของพระองค์?
[แผนที่/รูปภาพหน้า 8]
เมืองโกโลซาย