“ในขบวนฉลองชัยชนะ”
ขบวนฉลองชัยชนะเคยเป็นการเฉลิมฉลองที่น่าตื่นใจเกี่ยวกับชัยชนะเหนือศัตรู. หนึ่งในบรรดาเกียรติยศสูงสุดที่สภาโรมันมอบให้แก่แม่ทัพผู้มีชัยชนะก็ คือ อนุญาตให้เขาฉลองชัยชนะของเขาด้วยขบวนแห่เป็นทางการอย่างหรูหราเช่นนั้น. อัครสาวกเปาโลได้กล่าวถึงขบวนฉลองชัยชนะสองครั้งในบทจารึกของท่าน. อย่างไรก็ดี ก่อนเราพิจารณาถ้อยคำของท่าน จงลองจินตนาการดูภาพขบวนดังกล่าว. จงนึกภาพฝูงชนเรียงแถวอยู่ข้างถนน ขณะที่ขบวนเคลื่อนไปช้า ๆ ตามถนนเวีย ทรีอุมฟาลิส แล้วขึ้นทางคดเคี้ยวไปสู่วิหารจูปิเตอร์ บนยอดเขาคาพิโทลีนของกรุงโรม.
เจมส์ เอ็ม. ฟรีแมน ผู้คงแก่เรียนได้เขียนไว้ว่า “กลิ่นหอมจากการเผาเครื่องหอมแผ่ซ่านฟุ้งตลบทั่ววิหารและตามถนนต่าง ๆ อากาศอบอวลไปด้วยกลิ่นของเครื่องหอมนั้น. ในขบวนนั้นมีสภาสูงและพลเมืองคนสำคัญ ๆ ของรัฐ ซึ่งโดยการปรากฏตัวของพวกเขาได้ให้เกียรติแก่ผู้ชนะ. ของที่ยึดมาได้จากการสงครามอันมีค่ามากที่สุด เช่น ทองคำ เงิน อาวุธทุกประเภท ธงประจำกอง ผลงานศิลปะที่หายากและสูงค่า และของทุกอย่างที่ทั้งผู้มีชัยหรือผู้พ่ายแพ้ถือว่ามีค่ามากที่สุดนั้น ได้นำมาแสดงให้ชาวเมืองเห็น. พวกเชลยสงครามถูกบังคับให้เดินแถวในขบวนนั้นด้วย. แม่ทัพ ผู้ซึ่งมีคำบัญชาให้ได้รับเกียรติในชัยชนะนั้น ขี่รถรบซึ่งมีลักษณะพิสดาร ลากด้วยม้าสี่ตัว. เสื้อคลุมยาวของเขาปักเย็บด้วยทองคำ และเสื้อคลุมสั้นประดับด้วยดอกไม้. ในมือขวาของเขามีกิ่งใบลอเรล และในมือซ้ายมีคทา ขณะที่บนหน้าผากของเขามีพวงมาลัยใบลอเรลสวมอยู่. ท่ามกลางเสียงร้องตะโกนของพวกทหารและเสียงปรบมือของมหาชน ผู้มีชัยได้ถูกนำผ่านถนนต่าง ๆ ไปยังวิหารจูปิเตอร์ ที่ซึ่งมีการถวายเครื่องบูชา ซึ่งหลังจากนั้นก็มีงานเลี้ยงสำหรับสาธารณชนในวิหารนั้น.”
เปาโลใช้ขบวนฉลองชัยชนะเป็นอุทาหรณ์เมื่อท่านเขียนจดหมายฉบับที่สองของท่านถึงคริสเตียนในเมืองโกรินโธในปี 55 แห่งสากลศักราชของเรา. ท่านกล่าวว่า “ขอบพระคุณพระเจ้าผู้ทรงโปรดนำเรามาในขบวนฉลองชัยชนะร่วมกับพระคริสต์เสมอมา และโปรดให้กลิ่นไอแห่งความรู้ของพระองค์กำจายไปทุกแห่งโดยทางเรา! ด้วยว่าเราเป็นสุคนธรสอันหวานของพระคริสต์แก่พระเจ้าในท่ามกลางคนที่กำลังรอด และคนที่กำลังพินาศ แก่ฝ่ายหนึ่งเราเป็นกลิ่นรสแห่งความตายนำไปถึงความตาย และแก่อีกฝ่ายหนึ่ง เราเป็นสุคนธรสแห่งชีวิตนำไปถึงชีวิต.”—2 โกรินโธ 2:14-16, ล.ม.
ในที่นี้เปาโลและคริสเตียนผู้ถูกเจิมคนอื่น ๆ แสดงไว้ในฐานะเป็นประชากรผู้จงรักภักดีของพระเจ้า “ร่วมกับพระคริสต์.” พวกเขาได้รับการพรรณนาฐานะเป็นเหล่าบุตร ข้าราชการ และทหารที่ดำเนินอยู่ในแถวของพระยะโฮวาและได้รับการนำโดยพระองค์ในขบวนที่หอมอบอวล. (โปรดดูหอสังเกตการณ์ วันที่ 15 กรกฎาคม 1990 หน้า 10-15.) การใช้ขบวนการดังกล่าวเป็นอุทาหรณ์นั้นบ่งชี้ด้วยว่าคนเหล่านั้นที่ปฏิเสธข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้ามีความหวังเกี่ยวกับความตายเท่านั้น. แต่สำหรับเหล่าสาวกผู้ถูกเจิมของพระเยซูช่างต่างกันสักเพียงไร! พวกเขามีความหวังเกี่ยวกับความรอดไปสู่ชีวิตอมตะทางภาคสวรรค์ร่วมกับพระคริสต์. และจะว่าอย่างไรกับสหายผู้ภักดีของพวกเขา ที่ได้อุทิศตัวแด่พระเจ้าด้วย? พวกเขามีความหวังที่น่าปีติยินดีเกี่ยวกับชีวิตในอุทยานทางภาคพื้นโลก ที่ซึ่งพระเจ้า “จะทรงเช็ดน้ำตาทุก ๆ หยดจากตาของเขา ความตายจะไม่มีต่อไป การคร่ำครวญและร้องไห้ และการเจ็บปวดอย่างหนึ่งอย่างใดจะไม่มีอีกเลย.” (วิวรณ์ 21:1-4; ลูกา 23:43) คุณเป็นส่วนแห่งกลุ่มชนที่มีความสุขนี้ไหม?
มีการแสดงภาพที่ต่างกันในโกโลซาย 2:15 [ล.ม.] ที่เปาโลเขียนไว้ว่า “โดยทรงปลดรัฐบาลและผู้มีอำนาจทั้งหลายให้เปลือยเปล่า [พระเจ้า] ทรงประจานพวกเขาขณะทรงได้ชัยชนะ นำพวกเขาไปในขบวนฉลองชัยชนะโดยสิ่งนั้น.” ในที่นี้รัฐบาลและผู้มีอำนาจฝ่ายศัตรูซึ่งอยู่ภายใต้ซาตานพญามารนั้นได้รับการพรรณนาว่าเป็นเชลยและนักโทษในขบวนฉลองชัยชนะ. พระยะโฮวาผู้พิชิตทรงปลดพวกเขาให้เปลือยเปล่าและประจานพวกเขาฐานะผู้พ่ายแพ้. พวกเขาถูกพิชิต “โดยสิ่งนั้น” กล่าวคือ “หลักทรมาน” ของพระคริสต์. ความตายของพระองค์บนหลักจัดให้มีรากฐานสำหรับการขจัด “เอกสารที่เขียนด้วยมือ” (คำสัญญาไมตรีเกี่ยวกับพระบัญญัติ) ออกไป และทำให้มีทางเป็นไปได้สำหรับคริสเตียนที่จะได้รับการปลอดปล่อยจากพันธนาการด้วยอำนาจแห่งความมืดของซาตาน. (โกโลซาย 2:13, 14, ล.ม.) เราน่าจะหยั่งรู้ค่าเสรีภาพฝ่ายคริสเตียนเช่นนั้นสักเพียงไร!