จงปฏิเสธ “สิ่งที่ไร้ประโยชน์”
“บุคคลที่ติดตามไปในสิ่งที่ไร้ประโยชน์ก็เป็นผู้ขาดความเข้าใจ.”—สุภา. 12:11.
1. เรามีสิ่งมีค่าอะไรบ้าง และวิธีที่ดีที่สุดในการใช้สิ่งเหล่านี้คืออย่างไร?
พวกเราทุกคนที่เป็นคริสเตียนมีสิ่งมีค่าไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง. สิ่งมีค่าดังกล่าวอาจรวมถึงการมีสุขภาพแข็งแรง, ความสามารถในการคิดที่มีมาแต่กำเนิด, หรือทรัพย์สินเงินทอง. เนื่องจากเรารักพระยะโฮวา เรามีความสุขที่จะใช้สิ่งเหล่านี้ในการรับใช้พระองค์ และโดยวิธีนั้นเราตอบรับคำกระตุ้นที่เขียนโดยการดลใจที่ว่า “จงถวายพระเกียรติยศแด่พระยะโฮวาด้วยทรัพย์ [“สิ่งมีค่า,” ล.ม.] ของเจ้า.”—สุภา. 3:9.
2. คัมภีร์ไบเบิลเตือนอะไรเกี่ยวกับสิ่งไร้ค่า และคำเตือนนี้ใช้ได้อย่างไรในความหมายตรงตัว?
2 ในอีกด้านหนึ่ง คัมภีร์ไบเบิลยังกล่าวถึงสิ่งที่ไร้ค่า และเตือนว่าอย่าใช้ทรัพยากรของเราให้สูญเปล่าไปกับการมุ่งติดตามสิ่งเหล่านี้. ในเรื่องนี้ ขอให้พิจารณาถ้อยคำที่สุภาษิต 12:11 ซึ่งบอกว่า “บุคคลที่ฟื้นดินในเนื้อที่ของตนจะมีอาหารบริบูรณ์; แต่บุคคลที่ติดตามไปในสิ่งที่ไร้ประโยชน์ก็เป็นผู้ขาดความเข้าใจ.” เป็นเรื่องเข้าใจได้ไม่ยากว่าสุภาษิตข้อนี้ใช้ได้จริงในความหมายตรงตัว. หากใครใช้เวลาและพลังงานไปกับการทำงานหนักเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว เขาก็คงมีโอกาสจะมีความมั่นคงทางวัตถุและทางการเงินพอสมควร. (1 ติโม. 5:8) แต่ถ้าเขาใช้ทรัพยากรของตนให้สูญเปล่าไปกับการมุ่งติดตามสิ่งไร้ค่า นั่นย่อมแสดงว่าเขา “ขาดความเข้าใจ” ขาดวิจารณญาณที่สมดุลและแรงจูงใจที่ดี. เป็นไปได้มากทีเดียวว่าคนที่เป็นอย่างนั้นจะขาดแคลนสิ่งจำเป็นในชีวิต.
3. คำเตือนในคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับสิ่งไร้ค่าใช้ได้อย่างไรกับการนมัสการของเรา?
3 แต่จะเป็นอย่างไรถ้าเราใช้หลักการในสุภาษิตข้อนี้กับการนมัสการของเรา? ถ้าอย่างนั้น เราก็จะเห็นว่าคริสเตียนที่รับใช้พระยะโฮวาอย่างขยันขันแข็งและซื่อสัตย์มีความมั่นคงอย่างแท้จริง. เขาสามารถเชื่อมั่นว่าพระเจ้าจะประทานพรแก่เขาในเวลานี้และมีความหวังที่มั่นคงสำหรับอนาคต. (มัด. 6:33; 1 ติโม. 4:10) แต่คริสเตียนที่ถูกสิ่งไร้ค่าชักนำให้เขวอาจทำให้สายสัมพันธ์ที่เขามีกับพระยะโฮวาเสียหายและอาจสูญเสียโอกาสที่เขาจะมีชีวิตนิรันดร์. เราจะหลีกเลี่ยงเหตุการณ์แบบนั้นได้อย่างไร? เราต้องรู้ก่อนว่าสิ่งใดบ้างในชีวิตเราที่ “ไร้ประโยชน์” และพยายามตั้งใจแน่วแน่ที่จะปฏิเสธสิ่งเหล่านั้น.—อ่านทิทุส 2:11, 12.
4. ในความหมายกว้าง ๆ สิ่งไร้ค่าคืออะไร?
4 ถ้าอย่างนั้น สิ่งไร้ค่าคืออะไร? ในความหมายกว้าง ๆ สิ่งไร้ค่าอาจได้แก่อะไรก็ตามที่ทำให้เราเขวจากการรับใช้พระยะโฮวาอย่างสุดชีวิต. ตัวอย่างเช่น สิ่งไร้ค่าอาจรวมถึงการหย่อนใจบางอย่าง. แน่นอน การหย่อนใจที่พอเหมาะเป็นประโยชน์. แต่เมื่อเราใช้เวลามากเกินไปกับเรื่อง “สนุก” จนละเลยกิจกรรมที่เกี่ยวกับการนมัสการ การหย่อนใจนั้นย่อมกลายเป็นสิ่งไร้ค่า และส่งผลเสียหายต่อสวัสดิภาพฝ่ายวิญญาณของเรา. (ผู้ป. 2:24; 4:6) เพื่อหลีกเลี่ยงผลอย่างนั้น คริสเตียนพัฒนาความสมดุล คอยระวังเรื่องการใช้เวลาอันมีค่าให้เหมาะสมเสมอ. (อ่านโกโลซาย 4:5.) อย่างไรก็ตาม มีสิ่งไร้ค่าอื่น ๆ ด้วยที่เป็นอันตรายกว่าการหย่อนใจมาก. สิ่งไร้ค่าอย่างหนึ่งที่เป็นอันตรายมากคือพระเท็จ.
จงปฏิเสธพระทั้งหลายที่ไร้ค่า
5. มักมีการใช้คำ “ไร้ค่า” อย่างไรในคัมภีร์ไบเบิล?
5 น่าสนใจ ข้อคัมภีร์ส่วนใหญ่ที่ปรากฏคำ “ไร้ค่า” มักใช้คำนี้กับพระเท็จ. ตัวอย่างเช่น พระยะโฮวาตรัสกับชาติอิสราเอลว่า “เจ้าทั้งหลายอย่ากระทำรูปเคารพ [“พระที่ไร้ค่า,” ล.ม.] สำหรับตัว หรือตั้งรูปแกะสลัก หรือเสาศักดิ์สิทธิ์ และเจ้าทั้งหลายอย่าตั้งรูปศิลาแกะสลักไว้ในแผ่นดินของเจ้าเพื่อแก่การกราบไหว้.” (เลวี. 26:1, ฉบับแปลใหม่) กษัตริย์ดาวิดเขียนว่า “พระยะโฮวาเป็นใหญ่, สมควรจะได้ความสรรเสริญยิ่ง; พระองค์นั้นเป็นที่เกรงกลัวมากกว่าพระอื่นทั้งสิ้น. ด้วยพระทั้งหลายของคนนานาประเทศนั้นเป็นของเปล่า [“ไร้ค่า,” ล.ม.]. แต่ว่าพระยะโฮวาทรงสร้างฟ้าสวรรค์.”—1 โคร. 16:25, 26.
6. เหตุใดพระเท็จทั้งหลายจึงไร้ค่า?
6 เป็นดังที่ดาวิดกล่าวไว้ มีหลักฐานมากมายรอบตัวเราเกี่ยวกับความยิ่งใหญ่ของพระยะโฮวา. (เพลง. 139:14; 148:1-10) ช่างเป็นสิทธิพิเศษสักเพียงไรที่ชาวอิสราเอลมีสายสัมพันธ์กับพระยะโฮวาตามสัญญาที่พระองค์ทรงทำกับพวกเขา! พวกเขาช่างโง่เขลาจริง ๆ ที่ถอยห่างจากพระองค์แล้วไปกราบไหว้รูปแกะสลักและเสาศักดิ์สิทธิ์! ในยามวิกฤติ เห็นได้ชัดว่า พระเท็จเหล่านั้นไร้ค่าอย่างแท้จริง เพราะแม้แต่จะช่วยตัวเองก็ยังไม่มีอำนาจจะทำได้ จึงไม่ต้องพูดถึงการช่วยผู้ที่นมัสการรูปนั้น.—วินิจ. 10:14, 15; ยซา. 46:5-7.
7, 8. “ทรัพย์สมบัติ” จะกลายเป็นเหมือนพระได้อย่างไร?
7 ปัจจุบันในหลายประเทศ ผู้คนยังคงก้มกราบรูปเคารพที่มนุษย์สร้างขึ้น และพระเหล่านั้นในเวลานี้ก็ไร้ประโยชน์เช่นเดียวกับในสมัยอดีต. (1 โย. 5:21) อย่างไรก็ตาม นอกจากรูปเคารพแล้วคัมภีร์ไบเบิลยังพรรณนาถึงสิ่งอื่น ๆ ด้วยว่าเป็นพระ. ตัวอย่างเช่น ขอให้พิจารณาคำตรัสของพระเยซูที่ว่า “ไม่มีใครเป็นทาสของนายสองคนได้ เพราะเขาจะชังนายคนหนึ่งและรักนายอีกคนหนึ่ง หรือไม่ก็จะภักดีต่อนายคนหนึ่งและดูหมิ่นนายอีกคนหนึ่ง. เจ้าทั้งหลายจะเป็นทาสของพระเจ้าและของทรัพย์สมบัติด้วยไม่ได้.”—มัด. 6:24.
8 “ทรัพย์สมบัติ” จะกลายเป็นเหมือนพระได้อย่างไร? เพื่อเป็นตัวอย่าง ขอให้คิดถึงหินที่อยู่ตามท้องทุ่งในอิสราเอลโบราณ. อาจนำหินเหล่านั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการสร้างบ้านหรือก่อกำแพง. ในอีกด้านหนึ่ง ถ้าหินนั้นถูกนำมาตั้งไว้เป็น “เสาศักดิ์สิทธิ์” หรือ “รูปศิลาแกะสลัก” หินนั้นย่อมกลายเป็นเหตุที่ทำให้ประชาชนของพระยะโฮวาหลงผิด. (เลวี. 26:1, ฉบับแปลใหม่) คล้ายกัน เงินเป็นสิ่งจำเป็น. เราต้องมีเงินเพื่อจะอยู่รอดได้ และเราสามารถใช้เงินให้เป็นประโยชน์ในการรับใช้พระยะโฮวา. (ผู้ป. 7:12; ลูกา 16:9) แต่ถ้าเราจัดให้การหาเงินสำคัญกว่างานรับใช้ของคริสเตียน เงินก็กลายเป็นเหมือนพระสำหรับเรา. (อ่าน 1 ติโมเธียว 6:9, 10.) ในโลกนี้ที่การแสวงหาความมั่งคั่งร่ำรวยเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับคนทั่วไป เราต้องทำให้แน่ใจว่าเรารักษาทัศนะที่สมดุลในเรื่องนี้.—1 ติโม. 6:17-19.
9, 10. (ก) คริสเตียนมีทัศนะอย่างไรต่อการศึกษา? (ข) การศึกษาสูงมีอันตรายเช่นไร?
9 อีกตัวอย่างหนึ่งของสิ่งที่เป็นประโยชน์แต่อาจกลายเป็นสิ่งไร้ค่าได้แก่การศึกษาฝ่ายโลก. เราต้องการให้ลูก ๆ มีการศึกษาที่ดีเพื่อพวกเขาจะทำมาหาเลี้ยงชีพได้. ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น คริสเตียนที่มีการศึกษาดีสามารถอ่านคัมภีร์ไบเบิลด้วยความเข้าใจที่ดีกว่า, วิเคราะห์ปัญหาอย่างมีเหตุผลเพื่อจะได้ข้อสรุปที่ดี, และสอนความจริงในคัมภีร์ไบเบิลอย่างชัดเจนน่าคล้อยตาม. เพื่อจะได้รับการศึกษาที่ดีต้องใช้เวลา แต่ก็คุ้มค่าที่จะใช้เวลากับเรื่องนี้.
10 อย่างไรก็ตาม จะว่าอย่างไรสำหรับการศึกษาสูง ๆ ในวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัย? ผู้คนส่วนใหญ่ถือว่าจำเป็นอย่างยิ่งต้องศึกษาสูง ๆ เพื่อจะประสบความสำเร็จ. กระนั้น หลายคนที่เรียนสูงลงท้ายกลายเป็นคนที่มีความคิดแบบโลกที่ก่อผลเสียหาย. การศึกษาเช่นนั้นทำให้ช่วงเวลาในวัยหนุ่มสาวอันมีค่าสูญเปล่า แทนที่จะใช้ช่วงชีวิตที่มีค่านั้นให้ดีที่สุดในการรับใช้พระยะโฮวา. (ผู้ป. 12:1) คงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ปรากฏว่า ในประเทศที่คนจำนวนมากได้รับการศึกษาเช่นนั้นมีคนที่เชื่อเรื่องพระเจ้าน้อยกว่าทุกยุคทุกสมัย. แทนที่จะตั้งเป้าหมายศึกษาสูง ๆ ในระบบโลกนี้เพื่อจะมีความมั่นคงในชีวิต คริสเตียนไว้วางใจพระยะโฮวา.—สุภา. 3:5.
อย่าปล่อยให้ความปรารถนาทางกายกลายเป็นพระ
11, 12. เหตุใดเปาโลจึงกล่าวถึงบางคนว่า “พระของพวกเขาคือกระเพาะอาหารของเขา”?
11 ในจดหมายถึงชาวฟิลิปปอย อัครสาวกเปาโลชี้ถึงสิ่งอื่นที่อาจกลายเป็นพระได้ด้วย. ท่านกล่าวถึงบางคนที่เคยเป็นเพื่อนผู้นมัสการและกล่าวว่า “มีหลายคนประพฤติตัวเป็นปฏิปักษ์กับเสาทรมานของพระคริสต์ ข้าพเจ้าเคยพูดถึงพวกเขาบ่อย ๆ และตอนนี้ก็พูดถึงพวกเขาอีกด้วยน้ำตาไหล จุดจบของพวกเขาคือความพินาศ พระของพวกเขาคือกระเพาะอาหารของเขา . . . และพวกเขามีใจฝักใฝ่กับสิ่งของบนแผ่นดินโลก.” (ฟิลิป. 3:18, 19) กระเพาะของใครคนหนึ่งอาจกลายเป็นพระของเขาไปได้อย่างไร?
12 ดูเหมือนว่ามีบางคนที่เปาโลรู้จักได้ปล่อยให้ความปรารถนาทางกายมีความสำคัญกว่าการรับใช้พระยะโฮวาร่วมกับเปาโล. บางคนอาจทำผิดพลาดอย่างที่เปาโลกล่าวในความหมายตรงตัว โดยหมกมุ่นเกินควรในการกินการดื่มจนถึงขั้นกลายเป็นคนกินเติบหรือเมาเหล้า. (สุภา. 23:20, 21; เทียบกับพระบัญญัติ 21:18-21.) คนอื่น ๆ อาจเลือกกอบโกยผลประโยชน์จากโอกาสต่าง ๆ ที่มีอยู่ในโลกสมัยศตวรรษแรกอย่างเต็มที่ และด้วยเหตุนั้นจึงเขวไปจากการรับใช้พระยะโฮวา. ขอเราอย่าปล่อยให้ตัวเองอยากใช้ชีวิตแบบที่เรียกกันว่าชีวิตที่ดี จนทำให้เราช้าลงในการรับใช้พระยะโฮวาอย่างสิ้นสุดชีวิต.—โกโล. 3:23, 24.
13. (ก) ความโลภคืออะไร และเปาโลพรรณนาความโลภไว้อย่างไร? (ข) เราจะไม่โลภได้อย่างไร?
13 เปาโลยังกล่าวถึงการนมัสการเท็จในแง่อื่นด้วย. ท่านเขียนว่า “ฉะนั้น จงกำจัดแนวโน้มแบบโลกซึ่งปรากฏในอวัยวะของท่านทั้งหลาย คือการผิดประเวณี การประพฤติที่ไม่สะอาด ราคะตัณหา ความปรารถนาที่ก่อความเสียหาย และความโลภซึ่งเป็นการไหว้รูปเคารพ.” (โกโล. 3:5) ความโลภเป็นความอยากได้ใคร่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เราไม่มี. สิ่งนั้นอาจเป็นสิ่งของ หรืออาจเป็นความปรารถนาผิด ๆ ทางเพศด้วยซ้ำ. (เอ็ก. 20:17) เป็นเรื่องสมเหตุผลมิใช่หรือที่จะถือว่าความปรารถนาเช่นนั้นเทียบเท่ากับการไหว้รูปเคารพหรือการนมัสการพระเท็จ? พระเยซูทรงใช้คำที่ทำให้เห็นภาพชัดเพื่อแสดงว่าสำคัญสักเพียงไรที่จะควบคุมความปรารถนาผิด ๆ เช่นนั้นไม่ว่าจะยากเพียงไรก็ตาม.—อ่านมาระโก 9:47; 1 โย. 2:16.
จงระวังถ้อยคำที่ไร้ค่า
14, 15. (ก) สิ่ง “ไร้ค่า” อะไรที่ทำให้หลายคนในสมัยยิระมะยาหลงผิด? (ข) เหตุใดถ้อยคำของโมเซจึงมีค่า?
14 สิ่งไร้ค่าอาจรวมถึงถ้อยคำได้ด้วย. ตัวอย่างเช่น พระยะโฮวาตรัสกับยิระมะยาว่า “พวกผู้เผยพระวจนะเหล่านั้นเผยพระวจนะเท็จในนามของเรา เรามิได้ใช้เขาทั้งหลาย และเรามิได้บัญชาเขาหรือพูดกับเขา เขาเผยนิมิตเท็จแก่เจ้าทั้งหลายเป็นการทำนายที่ไร้ค่า เป็นการล่อลวงของจิตใจเขาเอง.” (ยิระ. 14:14, ฉบับแปลใหม่) พวกผู้พยากรณ์เท็จเหล่านั้นอ้างว่ากล่าวในนามพระยะโฮวา แต่พวกเขาส่งเสริมแนวคิดและสติปัญญาของตนเอง. ด้วยเหตุนั้น ถ้อยคำของพวกเขาจึง “ไร้ค่า.” พวกเขาไร้ค่าและเป็นภัยคุกคามสวัสดิภาพฝ่ายวิญญาณอย่างแท้จริง. ในปี 607 ก่อนสากลศักราช หลายคนที่ฟังถ้อยคำไร้ค่าเช่นนั้นตายก่อนเวลาอันควรด้วยน้ำมือของทหารบาบิโลน.
15 ในทางตรงกันข้าม โมเซกล่าวกับชาวอิสราเอลว่า “เจ้าทั้งหลายจงสนใจในถ้อยคำทั้งปวงเหล่านี้ที่เราได้สำแดงแก่เจ้าทั้งหลายในวันนี้ . . . ด้วยการนี้หาเป็นการเปล่า [“ถ้อยคำอันไร้ค่า,” ล.ม.] ของเจ้าทั้งหลายไม่; แต่เป็นชีวิตของเจ้าทั้งหลาย, และการนี้จะทำให้เจ้าทั้งหลายจำเริญชีวิตนานอยู่ในแผ่นดิน, ซึ่งเจ้าทั้งหลายจะข้ามแม่น้ำยาระเด็นไปปกครองอยู่นั้น.” (บัญ. 32:46, 47) อันที่จริง ถ้อยคำของโมเซได้รับการดลใจจากพระเจ้า. ด้วยเหตุนั้น ถ้อยคำดังกล่าวจึงมีค่าและสำคัญจริง ๆ เพื่อสวัสดิภาพของชนทั้งชาติ. คนที่เอาใจใส่ถ้อยคำของโมเซมีชีวิตยืนนานและรุ่งเรือง. ขอให้เราปฏิเสธถ้อยคำอันไร้ค่าและยึดถ้อยคำแห่งความจริงอันล้ำค่าไว้ให้มั่นเสมอ.
16. เรามีทัศนะอย่างไรต่อคำกล่าวของนักวิทยาศาสตร์ที่ขัดแย้งกับพระคำของพระเจ้า?
16 เราได้ยินถ้อยคำอันไร้ค่าไหมในทุกวันนี้? แน่นอน. ตัวอย่างเช่น นักวิทยาศาสตร์บางคนกล่าวว่าทฤษฎีวิวัฒนาการและการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ในสาขาอื่น ๆ แสดงให้เห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องเชื่อในเรื่องพระเจ้าอีกต่อไป และบอกว่าทุกสิ่งอธิบายได้ด้วยกระบวนการทางธรรมชาติ. ถ้อยคำยโสโอหังเช่นนั้นควรทำให้เรารู้สึกกังวลไหม? ไม่เป็นอย่างนั้นแน่! ปัญญาของมนุษย์เราแตกต่างจากพระปัญญาของพระเจ้า. (1 โค. 2:6, 7) แต่เรารู้ว่าเมื่อใดก็ตามที่คำสอนของมนุษย์ขัดแย้งกับสิ่งที่พระเจ้าทรงเปิดเผยไว้ คำสอนของมนุษย์เป็นฝ่ายผิดเสมอ. (อ่านโรม 3:4.) แม้มีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ในสาขาต่าง ๆ แต่การประเมินค่าสติปัญญาของมนุษย์ที่คัมภีร์ไบเบิลได้ให้ไว้ยังคงปรากฏเป็นความจริง ที่ว่า “พระเจ้าทรงถือว่าปัญญาของโลกนี้เป็นความโง่เขลา.” เมื่อเทียบกับพระปัญญาอเนกอนันต์ของพระเจ้าแล้ว ความคิดของมนุษย์ถือได้ว่าไร้ประโยชน์.—1 โค. 3:18-20.
17. เราควรมีทัศนะอย่างไรต่อถ้อยคำของหัวหน้าศาสนาแห่งคริสต์ศาสนจักรและพวกผู้ออกหาก?
17 อีกตัวอย่างหนึ่งของถ้อยคำที่ไร้ค่าจะพบได้ในหมู่หัวหน้าศาสนาแห่งคริสต์ศาสนจักร. คนเหล่านี้อ้างว่ากล่าวในพระนามพระเจ้า แต่ถ้อยคำส่วนใหญ่ของพวกเขาไม่ได้อาศัยพระคัมภีร์เป็นหลัก และสิ่งที่พวกเขากล่าวส่วนใหญ่แล้วถือว่าไร้ค่า. พวกผู้ออกหากก็กล่าวถ้อยคำที่ไร้ค่าเช่นกัน โดยอ้างว่ามีปัญญาเหนือกว่า “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” ที่ได้รับการแต่งตั้ง. (มัด. 24:45-47) อย่างไรก็ตาม พวกผู้ออกหากพูดโดยอาศัยปัญญาของตนเอง และถ้อยคำของพวกเขาไร้ค่า เป็นเหตุให้คนที่ฟังพวกเขาหลงผิด. (ลูกา 17:1, 2) เราจะระวังเพื่อจะไม่ถูกคนพวกนี้ชักนำให้หลงผิดได้อย่างไร?
วิธีปฏิเสธถ้อยคำอันไร้ค่า
18. เราสามารถใช้คำแนะนำที่พบใน 1 โยฮัน 4:1 อย่างไร?
18 อัครสาวกโยฮันผู้ชราได้ให้คำแนะนำที่ดีในเรื่องนี้. (อ่าน 1 โยฮัน 4:1.) เราทำตามคำแนะนำของโยฮันเสมอด้วยการสนับสนุนคนที่เราพบในงานประกาศให้ตรวจสอบคำสอนที่เขาได้รับ เชิญเขาให้เปรียบเทียบคำสอนเหล่านั้นกับคัมภีร์ไบเบิล. นั่นเป็นมาตรฐานที่เราเองจะยึดเป็นหลักด้วย. หากมีใครมาพูดให้เราฟังในเรื่องที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ความจริงหรือให้ร้ายประชาคม, ผู้ปกครอง, หรือพี่น้องของเรา เราไม่ด่วนเชื่อทันที. แต่เราจะถามตัวเองว่า “คนที่แพร่เรื่องนี้กำลังทำตามหลักการในคัมภีร์ไบเบิลไหม? เรื่องหรือคำกล่าวหาเหล่านั้นส่งเสริมพระประสงค์ของพระยะโฮวาไหม? คำพูดเหล่านั้นส่งเสริมสันติสุขในประชาคมไหม?” สิ่งใดก็ตามที่เราได้ยินซึ่งทำให้สังคมพี่น้องเสียหายแทนที่จะทำให้เจริญเป็นสิ่งไร้ค่า.—2 โค. 13:10, 11.
19. ผู้ปกครองจะตรวจดูให้แน่ใจได้อย่างไรว่าคำพูดของตนไม่ไร้ค่า?
19 ผู้ปกครองก็ได้บทเรียนสำคัญในเรื่องถ้อยคำที่ไร้ค่าด้วย. เมื่อไรก็ตามที่เขาจำเป็นต้องให้คำแนะนำ เขาระลึกเสมอว่าตัวเขาเองมีข้อจำกัดและไม่ถือดีด้วยการให้คำแนะนำโดยอาศัยเฉพาะแต่ความรู้ที่เขาเองได้สะสมไว้. เขาควรอ้างถึงสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลกล่าวเสมอ. กฎที่ดีซึ่งสมควรปฏิบัติตามจะพบได้ในคำกล่าวของอัครสาวกเปาโล ที่ว่า “อย่าเลยขอบเขตที่เขียนบอกไว้.” (1 โค. 4:6) ผู้ปกครองไม่พูดหรือทำเลยขอบเขตที่มีเขียนไว้ในคัมภีร์ไบเบิล. และโดยใช้กฎนี้ให้กว้างขึ้น พวกเขาไม่พูดหรือทำเลยขอบเขตคำแนะนำซึ่งอาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลักที่พิมพ์ไว้ในหนังสือต่าง ๆ จากทาสสัตย์ซื่อและสุขุม.
20. เราจะได้รับความช่วยเหลือให้ปฏิเสธสิ่งไร้ค่าได้อย่างไร?
20 สิ่งไร้ค่า—ไม่ว่าจะเป็น “พระ,” ถ้อยคำ, หรือสิ่งใดก็ตาม—ก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างมาก. ด้วยเหตุนั้น เราอธิษฐานเสมอขอให้พระยะโฮวาช่วยเรามองออกว่ามีอะไรบ้างที่เป็นสิ่งไร้ค่า และเราขอพระองค์ทรงชี้นำให้รู้วิธีที่จะปฏิเสธสิ่งเหล่านั้น. เมื่อเราทำอย่างนั้น ก็เหมือนกับเรากำลังพูดแบบเดียวกับผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญซึ่งกล่าวว่า “ขอให้ลูกตาของข้าพเจ้าเมินไปเสียจากของอนิจจัง [“สิ่งที่ไร้ค่า,” ล.ม.], แต่ให้ข้าพเจ้ากะตือรือร้นในทางประพฤติของพระองค์.” (เพลง. 119:37) ในบทความถัดไป เราจะพิจารณากันต่อไปในเรื่องคุณค่าของการตอบรับการชี้นำจากพระยะโฮวา.
คุณอธิบายได้ไหม?
• ในความหมายกว้าง ๆ เราควรปฏิเสธ “สิ่งที่ไร้ประโยชน์” อะไรบ้าง?
• เราจะหลีกเลี่ยงการปล่อยให้เงินกลายเป็นพระสำหรับเราได้โดยวิธีใด?
• ความปรารถนาทางกายอาจกลายเป็นเหมือนการไหว้รูปเคารพได้อย่างไร?
• เราจะปฏิเสธถ้อยคำที่ไร้ค่าได้อย่างไร?
[ภาพหน้า 3]
ชาวอิสราเอลได้รับการสนับสนุนให้ “ฟื้นดินในเนื้อที่ของตน” ไม่ใช่ให้มุ่งติดตามสิ่งไร้ค่า
[ภาพหน้า 5]
อย่าปล่อยให้ความอยากได้ใคร่มีสิ่งฝ่ายวัตถุทำให้คุณช้าลงในการรับใช้พระยะโฮวา
[ภาพหน้า 6]
คำพูดของผู้ปกครองอาจเป็นคำพูดที่มีค่ามาก